“อีสานness คือความภูมิใจ” ชีวิตรสนัวของ อีฟ—ณัฐธิดา พละศักดิ์
ละครทุกเรื่องมีพระนาง ส่งเสริมให้เส้นเรื่องสวยงามตามเรื่องราวชีวิตของตัวเอง อาหารทุกเมนูก็คงเหมือนๆ กับละคร มีวัตถุดิบที่เป็นพระนางของจาน เล่าเรื่องอร่อยให้คนกินได้ขบเคี้ยวและเรียนรู้ปูมหลังของจานนั้นๆ ไปพร้อมกันทีละคำ
วันก่อนเรามีโอกาสได้ลิ้มรส ‘นางเอก’ ของอาหารอีสานอย่าง ‘ปลาร้า’ ซุปตาร์ของจานที่เพิ่มรสนัวให้กับวัตถุดิบสดๆ ที่ร้าน Saole Bangkok ร้านใหม่ล่าสุดของ ‘อีฟ—ณัฐธิดา พละศักดิ์’ เจ้าของร้านอาหารอีสาน ซาวเอกมัย ซาวลาบ ซาวเส้น และ Saole Bangkok ที่หยิบเอางานดีไซน์มาบวกเข้ากับ ‘อีสานness’ จนกลายเป็นรสชาติโลคอลดั้งเดิมที่คุ้นเคยในฟอร์มใหม่ๆ
รสชาติกุ้งแดง กระเทียมดำ และน้ำปลาร้ายังอร่อยติดลิ้น การตกแต่ง ดีไซน์ของทุกสิ่งภายในร้านสะท้อนรสชาติจัดจ้านของอาหาร และ personality ซนๆ แซ่บๆ ของอีฟได้เป็นอย่างดี กินเมนูนัวๆ จนฉ่ำใจแล้ว เราก็มีโอกาสได้นั่งคุยถึงเรื่องชีวิต ตัวตน และการทำเพื่อคนอีสานของเธอ
ก่อนจะมาเป็น ‘อีฟซาว’ เป็นอีฟอะไรมาบ้าง?
“หลากหลายอาชีพมาก จริงๆ เรียนแฟชั่นดีไซน์ ก็เป็นดีไซน์เนอร์ทำงานที่บริษัทญี่ปุ่น แล้วก็เป็นอาจารย์พิเศษสอนแฟชั่นที่มหาลัยฯ หลังจากที่อยู่กรุงเทพฯ ได้ประมาณ 10 ปี ดวงชะตาก็พาให้ต้องกลับไปอยู่ที่อีสาน พอกลับไปอยู่ที่บ้านก็ต้องเปลี่ยนอาชีพใหม่ เพราะว่าแฟชั่นมันคงไม่ได้ทำเงินแน่ๆ ที่อุบลฯ เราทำเสื้อผ้าค่อนข้างราคาสูง ก็เลยต้องหาอาชีพใหม่ที่เหมาะกับพื้นที่ที่นั่น
“เลยดูว่าที่อุบลฯ เขาทำอะไรกัน ส่วนมากทำเกษตร คุณพ่อก็เลยแนะนำให้ขายรถเกี่ยวข้าว เพราะมันยังไม่มีคนทำเป็นไซส์ใหญ่ๆ ออกมาขาย แล้วพอดีเพื่อนที่อังกฤษก็เป็นผู้ผลิต เขาอยากเปิดตลาดที่อุบลฯ ก็ประจวบเหมาะเลย เราได้ไปเรียนกับคุณพ่อเพื่อนที่พิษณุโลก เรียนอยู่เดือนนึงก็เปิดขายรถเกี่ยวข้าว เลยได้เริ่มต้นอาชีพใหม่ด้วยการเป็นคนขายรถเกี่ยวข้าว”
แล้วเลี้ยวกลับมาทำงานดีไซน์ได้ยังไง?
“เราเป็นสายดีไซน์จ๋าๆ ตอนทำรถเกี่ยวข้าวก็เอาดีไซน์ใส่เข้าไปนะ ถ่ายแบบใช้นางแบบ คิดแค่ว่าจะทำยังไงให้มันใกล้กับสิ่งที่ตัวเองเป็น สักพักก็รู้สึกว่าอยากทำอะไรที่มีประโยชน์ เพราะว่าที่พี่ทำมันแค่หาเงินตอนที่ขายรถเกี่ยวข้าวธุรกิจมันก็ดี หาเงินได้ เลี้ยงครอบครัวได้ เราก็กินเหล้าแล้วก็ make money ไป วน loop อ่ะมันไม่มีอะไรใหม่
“รู้สึกว่าถ้าชีวิตคนเราเกิดมาแค่หาเงินแล้วก็สร้างความสุขให้ตัวเองแค่นี้ มันดูไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่ คนๆ หนึ่งกว่าจะเกิดมาได้ เราก็มีโอกาสได้ไปเรียนที่ต่างประเทศได้ไปเจอโลกตั้งเยอะตั้งแยะ ได้ไปเจอคนเก่งๆ มากมาย เราน่าจะใช้ความรู้เราทำประโยชน์ ซึ่งจริงๆ ตอนนั้นก็คิดว่าชอบการเป็นอาจารย์ ชอบสอน รู้สึกว่าได้แบ่งปั่นความรู้หรือสิ่งที่เราได้เห็นมาให้คนอื่น
“อยากทำอะไรที่เปลี่ยนอะไรได้ เราเกิดมาหนึ่งชีวิตแล้ว เราสามารถเปลี่ยนอะไรสักอย่าง ทำให้คนอื่นมีชีวิตดีขึ้น หรือตัวเราดีขึ้นด้วยก็น่าจะดี เพราะตอนนั้นแค่ปาร์ตี้ไปวันๆ เราอยากจัดการตัวเองใหม่ เลยพยายามคิดว่าทำอะไรดีที่มันมีประโยชน์”
มันคือการใช้ชีวิตอย่างมีประโยชน์?
“พี่กลัวตายแบบคนไม่จำอะไรเลยอ่ะ เหมือนแบบแค่เกิดมาแล้วก็ useless ไม่ได้อยากเกิดมาใช้ชีวิตดี แล้วก็ตายไปเฉยๆอ่ะ เกิดมาแล้วมันต้องมีประโยชน์กับใครก็ได้ไม่ต้องเยอะมากก็ได้ แต่กับใครสักคนหนึ่ง เราเปลี่ยนชีวิตเขาได้สำหรับพี่คือเป็นแบบนั้น เพราะชีวิตถูกเปลี่ยนหลายจังหวะ มีคนอื่นเข้ามาทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ พี่ก็เป็นคนนั้นเหมือนกัน มีประโยชน์กับคนอื่น เปลี่ยนชีวิตคนอื่นให้ดีขึ้นได้”
ได้ทำสิ่งนั้นสมใจไหม?
“อยู่ดีๆ ก็มีพัฒนาชุมชนโทรศัพท์มาว่าให้ช่วยไปเป็นคณะกรรมการคัดเลือกผู้ประกอบการในอีสานทั้งหมดที่จะไปแสดงงานที่ต่างประเทศ 10 คน เลยได้ไปเห็นงานฝีมือเก่งๆ แบบที่เราไม่ได้หาดูได้ง่ายๆ พอเห็นงานเขาเรารู้สึกว่า เห้ย เราควรได้ทำอะไรด้วยกันหรือเปล่า เราน่าจะได้ products ใหม่ สร้างซีนใหม่ วิธีคิดใหม่ เป็นตัวอย่างใหม่ในอีสาน
“เลยติดต่อกับแม่ๆ ขอไปเยี่ยมบ้าน ขอดูงานเพิ่ม แล้วก็เริ่มรับงานพัฒนาชุมชน เรารู้สึกว่าเราได้ไปเจอคนเก่งๆ ที่อยู่แต่ละจังหวัด ถ้าไม่มีพัฒนาชุมชนไม่มีรายชื่อพวกนี้ เราก็คงไปเองไม่ได้
“หลังจากที่เราแบบสอนสักปีนึงอินมากก็เลยก็เลยตั้งแบรนด์ขึ้นมาชื่อ ‘Foundisan’ เพื่อหาของดีในอีสานทำกับลูกศิษย์ในอุบลฯ รวมถึงเพื่อนๆ ที่กรุงเทพฯ ชวนกันลงพื้นที่เก็บไอเดียงานออกแบบ มีความสุขมากเริ่มรู้สึกว่าจะเป็นอาชีพใหม่เราแล้ว ทำงานกับชุมชนนี่แหละเอาดีไซน์เราไปบวกกับสกิลเขา”
แล้วมาทำอาหารอีสานได้ยังไง?
“เจอโควิด ขายของไม่ได้ ของกองเต็มบ้าน ลูกศิษย์ก็แบบอาจารย์ต้องหาแบบโปรเจกต์ใหม่ที่เราได้เงินเลยเดี๋ยวนี้ งานที่เราทำกับชาวบ้านมันก็ไม่ได้พอเลี้ยงทีมเกือบ 10 คนแล้วก็มีทำได้ไปทำ exhibition
ลูกศิษย์เป็นคนเสนอว่าทำอาหารค่ะ จริงๆ อาจารย์ชอบทำอาหาร เพราะทุกปีพี่จะทำ chef’s table ที่อุบลฯ จริงๆ ก็คือเหมือนหาเพื่อนกินเหล้า แล้วก็ทำอะไรที่ตัวเองถนัด ทำแบบนี้ทุกปีจนเลยเกิดเป็น Zao Isan มันคือจุดเริ่มต้นการหนีตาย”
ทำไมตอนนั้นถึงชอบจัด chef’s table?
“เราชอบอยู่กับความงาม การออกแบบต่างๆ จาน โต๊ะ ทุกๆ อย่างบนโต๊ะอาหาร เราชอบหมดเลย ดอกไม้ หญ้า ของใกล้ตัวที่คนมองไม่เห็นความงาม เราเอามาจัดใหม่ เหมือนเป็นภาพใหม่ที่คนไม่เคยเห็น
“ดินเนอร์ครั้งแรกก็เป็น 10 ปีละ ตอนนั้นคนยังกลัวปลาร้ากันอยู่เลย ไม่มีร้านอาหารอีสานแบบจริงจังหน่อย ไม่มีเลย ตอนนั้นขายหัวละ 4,000 นะ คนก็บินไปกินเหมือนไปกินฮ่องกงกันเลย ซึ่งทุกคนก็แฮปปี้มาก ตอนนั้นทุกจานใส่ปลาร้าหมด เราไม่ได้บอกใครว่าใส่ปลาร้า พอกินเขาก็แบบอร่อยมากๆ เรามาเฉลยทีหลังว่าใส่ปลาร้านะ มีคนโกรธว่าทำไมไม่บอกด้วย แต่เราก็บอกเขาว่า ‘ดีใจด้วยนะกินปลาร้าได้แล้ว’"
ทำไมปลาร้าถึงเป็นวัตถุดิบสำคัญ?
“ปลาร้ามันอยู่ในคนอีสานทุกคน แค่มันไม่ได้ถูกขุดออกมา ตอนที่ทำครั้งแรกๆ อ่ะพี่ยังไม่รู้เรื่องการทำนะ เพื่อนที่ชื่อกาย อ่ะเป็นคนแนะนำพี่ เขาบอกว่าจริงๆ แล้วยายพี่ทำอาหารอร่อยมาก พี่โคตรโชคดีเลยที่มี chef’s table อยู่ที่บ้าน พี่ได้กินทุกวัน ยายเอาผักข้างทาง ปลาที่ชาวบ้านหามา มาทำกับข้าวสดๆ
“เราได้กินของสดกว่าเพื่อน บวกกับยายหรือแม่นมที่อยากทำอาหารดีๆ ให้คนที่เขารัก มันไม่ใช่เรื่องเงินน่ะ แต่มันเป็นเรื่องใจ เมื่อก่อนพี่กินข้าวนอกบ้านทุกวันเลย ไม่เคยเห็นค่ายาย จนเพื่อนชี้ให้เห็นนี่แหละ เขาบอกว่าก่อนที่พี่จะทำอะไร พี่ต้องรู้ว่าวัตถุดิบที่บ้านมีอะไรบ้าง
“เมื่อก่อนไปเดินตลาดกับแม่ ไม่ได้รู้สึกเอ็นจอยเลย แต่พอไปกับกายเราก็บอกเขาไปว่าผักอันนี้พี่กินกับอะไร เอาไว้ลวกกินกับปลานึ่ง ผักนี้ต้องกินหน้าฝน เขาอยู่กับเราเป็นปี ระหว่างนั้นเหมือนเราได้ทำรีเสิร์ชไปในตัวเลย”
ตอนเริ่มทำร้านใหม่ๆ ลงมือเองหมดเลยไหม?
“เราก็เอาทั้งทีมที่ทำรถเกี่ยวข้าวนี่แหละมาช่วย เรียกเขามาคุยว่าจะเปลี่ยนทำร้านอาหาร เราไม่ได้อยาก lay off ใคร หรือเขาจะออกไปทำแบบที่เขาถนัดก็ได้ แต่ถ้าจะไปด้วยกัน ก็เรียนรู้ใหม่ด้วยกัน ขึ้นรถตู้แล้วไปรีเสิร์ชด้วยกัน ตอนนั้นทุกคนบอกไปก็ไป เราเริ่มทำรีเสิร์ช ขับรถไปชิมไป สุดท้ายก็แกะสูตรจากยายจุยแม่นมเรา แกบอกทำไมไม่ทำตั้งนานแม่จะยืนเป็นเชฟให้เลย ตอนนั้นเราใช้เวลาประมาณ 3 เดือนเพื่อแกะสูตรจากยาย”
เล่าเรื่องตอนปั้นสูตรปลาร้าของตัวเองให้ฟังหน่อย
“ปลาร้ามันคือนางเอก มันต้องไม่เหมือนคนอื่น มันต้องเป็นปลาร้าที่เราชอบมากๆ อยู่กับ มันได้ไปจนตายได้ พี่ต้มปลาร้าจนตัวเป็นกลิ่นปลาร้า ปกติพี่กินข้าวนอกบ้าน พ่อก็จะชอบไปกินข้าวกับพี่ แต่ตั้งแต่พี่ทำ Zao Isan พ่อก็ไม่ไปร้านส้มตำ บ่นไม่เอา เบื่อๆ บ่กินแล้ว เวลาไปร้านส้มตำก็ถามเขาว่าทำปลาร้ายังไง ขอความรู้ไปเรื่อยๆ กินจนทุกคนขอเบรค ไม่ไหวแล้ว จนเปิดร้านแล้วก็ยังไม่ได้สูตรที่ถูกใจ ปรับไปปรับมาระหว่างทางจนเจอ ตั้งแต่นั้นมาก็ใช้สูตรเดิมมาจนถึงตอนนี้ แฮปปี้มากๆ เพราะมันกินกับผลไม้ได้ มันทำให้คนไม่กินปลาร้ากินได้”
ความอีสานในตัวเข้มข้นขึ้นไหม หลังจากทำร้านอาหาร?
“พี่ว่าเรื่องความอีสานพี่แข็งแรงมากนะ แต่สังคมมันบีบเรา แม่พี่ก็จะกล่อมพี่ว่าให้เรียนเก่งๆนะ แล้วเข้าไปอยู่ในกรุงเทพฯ ไปอยู่เมืองนอก สังคมมันกล่อมให้เราไม่เป็นตัวของตัวเอง มันไม่บอกให้เราภูมิใจ
“พี่ก็เหมือนคนอีสานทั่วไป ออกจากอีสานไปแล้วก็ลืมบ้านเกิด ฉันจะไปอยู่เมืองนอก ฉันจะไม่กลับมาที่นี่แล้ว แต่พอโจทย์ชีวิตมันคือ make Isan people proud ตัวเราเองก็ต้องพราวกับมันเองก่อน เอาจริงพี่ไม่เคยรู้สึกว่าอีสานต่ำต้อยอะไรเลยนะ แต่เพื่อนรอบข้างพี่เป็นหมดเลย พี่พูดอีสานตั้งแต่เกิดแต่แค่พูดภาษาไทยที่โรงเรียนแค่นั้น อยู่ที่บ้านพูดอีสานหมด พูดกับคนอื่นพูดอีสานหมด มันเลยไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นปมด้อยหรืออะไร อาจจะเพราะที่บ้านแข็งแรงมากๆ ด้วยแหละ แล้วอาหารก็อร่อยมาก มันไม่มีอะไรไม่ดี
“ตอนไปสอนที่มออุบลฯ มันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้พี่อยากทำอาหารอีสาน หนึ่งในคลาสที่พี่สอน เด็กก็ไม่ได้รู้สึก ไม่มีใครอยากอยู่บ้าน เวลาทำคอนเซ็ปต์ หรือหา inspiration ทำเรื่องข้างนอกหมด ทำเรื่องอื่นหมดไม่มีใครทำเรื่องตัวเองเลย ไม่มีใครรู้จักตัวเองเลยสักคน หมู่บ้านตัวเองมีอะไรดี รากเหง้าตัวเองคืออะไร มันมีความงามอะไรในนั้น ก็ต้องค่อยๆ ปั้นเด็กไปเรื่อยๆ”
ความงามอีสานในสายตาอีฟเป็นแบบไหน?
“พี่มองหาความงามได้เก่งนะ พี่รู้ว่าอะไรงามของถูกชิ้นนี้มันสามารถสวยได้ มันคือการมองอีกแบบหนึ่ง แล้วเราทำอีกแบบหนึ่ง วางในอีกรูปแบบหนึ่ง อันนั้นคือความถนัด แต่เด็กคนอื่น นิสิตคนอื่นไม่มีสิ่งนั้น ดังนั้นเราต้องช่วยเขา ซึ่งมันก็เป็นเรื่องเดียวกันกับซาวอีสานที่เอาสิ่งที่คนมองว่ามันสกปรก ไม่ค่อยยอมรับ มาทำยังไงให้คนยอมรับ มันเป็นเรื่องเดียวกันหมดเลย
“ความเป็นอีสานมันแข็งแรงมาตั้งแต่แรก มันแค่ไม่ถูกเล่าว่ามันเจ๋งมากๆ เลยแค่นั้นเอง แค่วิธีการเล่ามันมันเล่าอีกแบบ มันถูกเล่าให้ดูน่าสงสาร มันเล่าให้ดูจน พี่ก็เลยต้องเป็นเสียงนึงที่เล่าอีกแบบ เล่าในแบบที่เอาอีสานมาบวกดีไซน์เข้าไป มันเลยกลายเป็นมุมมองใหม่
“ความงามรอบตัวก็เหมือนเดิม ไม่ต้องไปหาอะไรไกลตัว อย่างเราไปเจอกระติ๊บ เราจะทำยังไงให้กระติ๊บ สวย เจอเสื่อจะทำยังไงให้เสื่อสวย จริงๆ ไม่ต้องไปใส่ดีไซน์ใหม่เลย แค่วางให้มันถูกที่ถูกเวลา”
แล้วความงามของอาหารอีสานล่ะ?
“อาหารอีสานมันคือความซื่อ มันซื่อมาก การใช้วัตถุดิบก็ซื่อๆ ง่ายๆ เพราะอาหารอีสานมันทำง่ายมากรสชาติก็ซื่อๆ มันอร่อยเพราะมันสด มันอร่อยเพราะมันกินตามฤดูกาล
“พี่อยู่กรุงเทพฯ ไปร้านอาหารอีสาน มันไม่ใช่อาหารอีสานอ่ะ มันเป็นร้านอาหารอีสานสำหรับคนเมืองรสชาติเปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยน ความงามก็เปลี่ยน ซุบมะเขือมันคือซุบมะเขือแค่ใส่ถ้วยแค่นั้นแล้วทานกับผักหรืออะไรก็ได้ ทำยังไงให้มันงามในแบบที่ทำให้คนยังนึกถึงบ้านเฮา ไม่ใช่แบบไปอยู่ในถ้วยจานที่มันไม่คุ้นเคย
“อาหารที่ซาวมันจะบิดแค่นิดเดียวเอง เรียงผักใหม่ วางผักใหม่ถ้วยก็เป็นถ้วยที่ทำที่อุบลฯ นั่นคือการเอาของที่เขาคุ้นเคยมาใช้ คนอีสานเขาเห็นดินนี้มาตั้งแต่เกิดอ่ะ แต่ไม่เคยเห็นว่าดินนี้จะมาเป็นจานได้ ไม่เคยเห็นดินนี้จะมาเป็นถ้วยได้ มันคุ้นเคยแต่มันไม่คุ้นเคยนั่นคือความงามของซาว”
ระหว่างแฟชั่นกับอาหาร อะไรยากกว่ากัน?
“ร้านอาหารง่ายกว่าเยอะมาก พี่เลิกทำแฟชั่นเพราะแฟชั่นมันไม่เคยเห็นค่าคนทำงานข้างหลัง ในยุคก่อนน่ะนะ ซึ่งตอนนี้เหมือนเทรนด์มันมาแบบ ยูต้องให้ value คนที่อยู่ข้างหลัง แต่ตอนสมัยนั้นน่ะ เธอเป็นโรคมะเร็ง เธอตายไปเธอก็ตายไป เธอไม่เคยเรียกร้องอะไรได้
“สมัยนั้นพี่ทำเสื้อยืดขาย ค่าเย็บเสื้อยืดตัวละ 5 บาทอ่ะ แต่พี่ขาย 2,000 ใครที่กินดีอยู่ดีอ่ะ? ก็แค่แบบข้างล่างไม่มีใครกินดีอยู่ดีเลย ทำงานแล้วแค่ตายทิ้ง คนที่ทำงานกับพี่ตายทิ้งเยอะมาก ตายแบบตายเฉยๆ อ่ะ เป็นมะเร็ง นอนน้อย พักผ่อนน้อย หัวใจล้มเหลว มันเลยทำให้รู้สึกว่า Industry นี้มัน toxic มากมันไม่มีสามารถลืมตาอ้าปากได้ยกเว้นดีไซน์เนอร์กับเจ้าของบริษัท
“แต่มันก็เป็นโชคชะตานะ มันทำให้พี่ได้ไปเจอที่ใหม่ พอเริ่มอาชีพใหม่ก็รู้สึกว่าดีจัง พี่ก็เลยเริ่มอาชีพใหม่ไปเรื่อยๆ พี่รู้สึกว่าพี่อยากจะทำตัวมีประโยชน์ อยากทำอาชีพที่มันทำให้คนลืมตาอ้าปากได้ พอทำร้านอาหารปีแรกพนักงานกู้เงินซื้อบ้านได้ ซื้อรถได้ มันต่างกันเยอะ เราช่วยคนจริงๆ”
เหมือนเป็นการทำร้านอาหารอีสานเพื่อคนอีสานเลย
“มันทำให้พี่ยิ่งอยากทำอีสาน empire ให้มันแข็งแรง ทำให้คนของเราสามารถไปอยู่กับคนอื่นแล้วเขาเติบโตได้ไม่จำเป็นต้องอยู่กับเราตลอด ที่ซาวมันไม่มีใครเป็นเชฟมาก่อนนะ มาสอนกันที่นี่ เหมือนเป็นโรงเรียนรับเข้ามาแบบยังไม่ต้องเป็นอะไรเลย ขอแค่เป็นคนอีสานแล้วอยากทำงานเข้ามาเลย
“แล้วสอนแบบสอนจริงๆ เหมือนโรงเรียนน่ะ ส้มตำไม่ต้องทำเป็น เดี๋ยวสอนเอง งานนี้มันเลยทำให้เรารู้สึกมีค่า พี่อยากเห็นทุกคนเก่ง เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โตไปด้วยกันกับเรา อยากเห็นทุกคนไปเฉิดฉายสักที่ ไปปล่อยของออกแสงของตัวเองได้”
แล้วช่วงนี้มีโปรเจกต์ใหม่ๆ ให้เรียนรู้เพิ่มไหม?
“Saole โปรเจกต์ใหม่ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้อีกเหมือนเดิม พี่ไปทำป๊อปอัปคิทเช่นที่มิลานกับพี่บอย (บอย-วรรณศิริ คงมั่น co-founder แบรนด์กระเป๋า BOYY) แล้วก็ป๊อปอัปที่ลอนดอนกับ Smoking Goat ทำให้เราได้ไปเจอ ingredient ดีๆ ทะเลดีๆ แต่เรากินแล้วแบบของเขาดีจัง แต่มันขาดรสชาติที่เราชอบ แล้วเราคิดว่าคนน่าจะชอบ อยากเอาซีฟู้ดดีๆ มาใส่วัตถุดิบของเราเข้าไป คนน่าจะว้าว เพราะที่ไทยยังไม่มีร้านซีฟู้ดสวยๆ ที่คนมาเดทกันได้ ส่วนมากมันเหมือนสวนอาหาร
“เราจะทำยังไงให้ซีฟู้ดมันไม่ใช่แค่น้ำจิ้มซีฟู้ด มันมีอย่างอื่นอีก ทะเลไกลคนอีสาน มันเลยมีค่ามากๆ สำหรับคนอีสาน ท้าเลยให้ถามเด็กอีสานเลยว่าถ้าให้เลือกที่ที่ิอยากไปในวันเด็กจะไปไหน เรามั่นใจว่า 80% จะบอกว่าทะเล เพราะหลายคนไม่เคยเห็นทะเล เวลาไปทะเลต้องซื้อปูใส่รถเยอะๆ เอามาแจกญาติพี่น้อง
“คนอีสานเองทำงานระยองหรือใต้เยอะมากๆ รู้สึกว่าเราได้ทำสิ่งที่คนอีสานมองเห็นว่ามันคือสิ่งมีค่า แล้วเราก็ทำในแบบที่เราเป็น ใส่ดีไซน์เข้าไปเหมือนเดิม มันเหมือนเราเลี้ยงสัตว์นะ มันมีชีวิต ฤดูกาลนี้มีอะไรกินบ้าง เดือนนี้มีอะไรบ้าง จะทำเมนูอะไร จะจัดการเขายังไง ถ้าปลานี้หมดต้องกินอะไรแทน มันต้องวางแผนทั้งปีเลยว่าฤดูกาลไหนเราต้องทำอะไรบ้าง คล้ายๆ กับการคุยกับชาวนาชาวไร่ที่อีสาน แต่ต้องมาคุยกับชาวประมงแทน ต้องออกเรือบ้าง เราเมาเรือมากๆ แต่มันต้องลงเรือซื้อใจไปหากุ้งหาปลา มันเริ่มต้นใหม่หมดเลย เรียนรู้ใหม่หมดเลย รสชาติใหม่ๆ วัตถุดิบใหม่ๆ
“แต่ละทะเล แต่ละภูเขา มีรสชาติไม่เหมือนกัน มันเหมือนเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่หมดเลย เช่นเดียวกับอีสานเลย แต่ละจังหวัดรสชาติก็ไม่เหมือนกัน มันเลยสนุก ได้อะไรใหม่ๆ ก็อยากหามาให้คนอื่นได้กินเหมือนที่เราชอบ”
เหมือนอีฟจะชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในชีวิต
“ใช่ พี่ไม่เชื่อว่าทุกคนเกิดมาเก่ง พี่ไม่ใช่คนเก่งมาแต่เกิด ทุกอย่างเกิดจากความพยายามและโชคที่เจอคนเก่งทำให้เราเก่งเร็ว พี่ชอบอยู่กับคนเก่ง เขาช่วยเราเยอะเหมือนวันนี้เรายืนได้ น้องที่ไม่เก่งก็มาอยู่กับเรา เราก็พาเขาไปด้วย
“ความโชคดีของพี่คือ พออยู่ใกล้คนเก่งแล้วเราก็เก่งตาม ชีวิตเราดีขึ้นเพราะเราเป็นแบบนั้น เราก็เลยอยากเราคิดว่ามันน่าจะเวิร์คกับคนอื่นด้วยเหมือนกัน ซึ่งมันก็เวิร์คนะ น้องในทีมอยู่ดีๆ ขึ้นมาเป็นเชฟได้ตอนเจอกันวันแรกยังหั่นผักไม่เป็นเลย ยิ่งเห็นคนหน้าบ้านพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ตอนนี้เริ่มเรียนภาษาจีนแล้ว เหมือนทุกคนเริ่มพัฒนาตัวเอง พี่รู้สึกว่าการที่เราไม่รู้อ่ะมันเป็นข้อดี เพราะพอไม่รู้มันทำให้เราพยายามมากๆ ถ้ารู้อ่ะพี่อาจจะไม่กล้าก็ได้ มนุษย์มันเรียนรู้ได้ พี่อาจจะชอบเรียนรู้มั้ง การเป็นมนุษย์มันตื่นเต้นที่แบบได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทุกวัน”
สำหรับอีฟการเป็นมนุษย์คืออะไร?
“มนุษย์เป็นได้หลายอย่างมากเลย มันทำให้เราได้ทดลอง มนุษย์มันพร้อมเรียนรู้อ่ะถ้าไม่ปิดตัวเองนะมนุษย์มันเปิดรับสิ่งใหม่ตลอดเวลา มันทำเรื่องบ้าๆ ทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ พี่เลยรู้สึกว่าการเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่มีค่ามากแล้วมันสามารถจะไปทางไหนก็ได้ ทางเข้าสู่พระธรรมก็ได้ คือมันเรียนรู้ได้หมด ไม่ใช่แค่อาหาร ไม่ใช่แค่แฟชั่น มันมีอะไรให้เรียนรู้เยอะมากบนโลกใบนี้”
แล้ว ‘อีสานness’ ในมุมมองของอีฟ หมายถึงอะไร?
“ตอบไม่เคยตรงกันเลยสักครั้ง (หัวเราะ) สำหรับพี่มันคือความภูมิใจ เราเปลี่ยนอะไรได้เยอะมากเลย เราเปลี่ยนคนที่ไม่มีอาชีพให้มีอาชีพ เราเปลี่ยนวัตถุดิบที่คนไม่เห็นค่าให้คนแบบ เห้ย! อร่อย! ซึ่งจริงๆ มันมีค่ามานานแล้ว แต่แค่คนไม่เคย oh this is gooood! แค่นั้นเอง”