“Craft from Home” ป้อน—ฐานิต เจริญพจน์สถาพร กับ สีสัน ผืนผ้า และ Tha Homemade
เราทุกคนมีอาหารที่กินแล้วคิดถึงบ้าน น้ำปั่นที่กินแล้วใจเย็นเหมือนได้นอนตากแอร์ที่บ้าน หรือแม้กระทั่งเสื้อผ้าที่สวมแล้วรู้สึก feel like home ใส่แล้วเป็นตัวเอง สิ่งที่ให้ความรู้สึกนั้นกับเราคือโปรดักต์จาก Tha Homemade แบรนด์เสื้อผ้าบาติก มัดย้อมสีธรรมชาติ และอีโคพรินต์ติ้ง ของ ‘ป้อน-ฐานิต เจริญพจน์สถาพร’ เพื่อนชาวเชียงใหม่ที่เรารู้จักมาตั้งแต่ตอนเรียนมอปลาย
หลังจากเป็นลูกค้าประจำจนได้โปสการ์ดน่ารักๆ จากป้อนมาประดับฝาตู้เย็นเต็มไปหมด วันนี้เรามีโอกาสมาทานข้าว เม้ามอยที่บ้านของป้อนในอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำมาหากินที่สร้างสรรค์ชิ้นงานสุดคราฟต์ของ Tha Homemade
“กินกันเยอะๆ นะไม่ต้องเกรงใจเลยนะลูก” แม่ป้อนบอกเราและทีมงานอย่างยิ้มแย้ม
โต๊ะตัวใหญ่เต็มไปด้วยอาหารเหนือ ผลไม้ และอีกสารพัดของกินเล่น ทั้ง ข้าวซอย ลำไย มะม่วง เงาะ ข้าวต้มมัด ที่แม่ป้อนเตรียมเอาไว้ให้ ที่มุมร่มไม้ของบ้านไม้ทรงล้านนา ที่มาพร้อมใต้ถุนสุดคลาสสิก
วิวมื้อกลางวันของพวกเราคือโซนกลางบ้าน พื้นที่โล่งแต่ร่มรื่น มีผ้าบาติกลายต่างๆ ตากไว้ให้ลมธรรมชาติได้คลอเคลีย มีมุมเพ้นท์ ย้อม ซัก ตาก เห็นการทำงานกับผ้าทุกผืนอย่างใกล้ชิด หลังจากอิ่มหนำสำราญกับมื้อใหญ่กันแล้ว เราก็ขอย่อยอาหารด้วยการนั่งคุยกับป้อนสักหน่อย
ทำไมถึงชื่อป้อน?
“แม่กับพ่อตั้งชื่อให้ จริงๆ ทวดเราชื่อป้อ พ่อเลยแบบเดี๋ยวให้ชื่อ คำป้อน คำแบบที่คนเหนือเอาไว้เรียก ‘อุ๊ยคำ’ แต่แม่กลัวอายก็เลยให้ชื่อ ‘ป้อน’ อย่างเดียว”
แล้วชื่อ Tha Homemade ล่ะ ได้มาจากไหน?
“Tha Homemade มาจากชื่อ ‘ฐา’ เราชื่อจริงว่า ฐานิต ช่วงมอปลายเพื่อนๆ เรียกเราว่าฐา ก็เลยเอาชื่อมานำหน้า มาบวกกับคำว่า Homemade คือเหมือนเราผลิตที่บ้านเราเอง ทุกกระบวนการมาจากคนในบ้านเราไม่ว่าจะการทำ การคิด ทุกอย่างเสร็จในบ้าน แล้วขยายไปเรื่อยๆ ถึงคนในหมู่บ้าน เราก็เลยตั้งชื่อว่า ‘Tha Homemade’”
เล่าจุดเริ่มต้นของ Tha Homemade ให้ฟังหน่อย
“ตอนแรกๆ ไม่คิดเลยว่าจะมาทำตรงนี้ คิดแค่ว่าอยากเรียนศิลปะ แล้วช่วงประมาณปี 2 เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างที่เราหยุดปิดเทอม รู้สึกว่าอยากทำอะไรสักอย่าง เพราะว่ามันหยุดตั้ง 6 เดือน แม่ก็เลยเสนอว่าลองทำอะไรขายดีไหม
“ตอนแรกอยากเริ่มจากบาติก แต่รู้สึกว่ามันยากที่จะเริ่มคนเดียว เทคนิคมันเยอะ ก็เลยเริ่มจากมัดย้อม ให้แม่ช่วยสอนแล้วก็ดูมาจากในเน็ตบ้างอะไรบ้าง แล้วก็เริ่มไปขายที่ถนนคนเดิน ตอนนั้นหลักๆ ทำกระเป๋าผ้า จนลูกค้าถามว่าไม่ทำเสื้อผ้าบ้างเหรอ ก็เลยเริ่มทำ จากนั้นก็อยู่กับมันยาวเลย”
ซึมซับสกิลจากที่บ้านมาตั้งแต่เด็กเลยไหม?
“เราอยู่กับบาติกมาตั้งแต่จำความได้เลย ช่วงมอต้นเราเริ่มมาช่วยพ่อกับแม่ทำช่วงปิดเทอม เริ่มจากช่วยแต้มสี ตอนนั้นเด็กอยู่ เอาจริงขี้เกียจไม่อยากทำงานทั้งวัน เลยไปรีดผ้าแทน ส่วนลายแรกๆ ที่ได้ฝึกทำคือพวกผ้าบาติกลายดอก ที่บ้านเน้นงานลายดอก ถ้ายากขึ้นมาหน่อยก็เป็นสไลด์สี บ้านเรามักใช้ผ้าไหมผสมฝ้าย ผ้าใยกัญชง มีทั้งลายดอกและกราฟิกต่างๆ”
เอาความรู้จากพ่อแม่มาปรับใช้กับ Tha Homemade ยังไงบ้าง?
“รู้สึกโชคดีที่เราไม่ได้เริ่มทุกอย่างจากศูนย์ทั้งหมด เรายังมีอุปกรณ์และความรู้ที่ต่อยอดมาจากพ่อแม่ เราแค่ปรับเปลี่ยนทุกอย่างไปตามยุคสมัยให้มันเข้ากับแบรนด์เรา
“แม่เราจบแฟชั่นและสิ่งทอโดยตรง เขาจะช่วยแนะนำเรื่องการทำผ้า การตัดเย็บ แต่พ่อเค้าเคยเป็นสถาปนิกมาก่อน พอเข้ามาทำตรงนี้แล้วเห็นว่ามันทำเป็นอาชีพที่อยู่รอดได้ เขาเลยออกจากงานมาทำบาติกกับแม่เต็มตัว องค์ความรู้ส่วนใหญ่ก็อาจจะได้มาจากพ่อด้วย เขาเป็นคนออกแบบลายผ้า เพราะหลังๆ แม่ขยับมาดูงานบริหารคนเสียส่วนใหญ่”
รูทีนการทำงานที่บ้านในแต่ละวันเป็นยังไง?
“เรากับแม่ตื่นมาก็จะดูน้องหมาก่อนเลย พาน้องไปเดิน ไปกินข้าว ส่วนพ่อเค้าจะตื่นมาดูบริเวณบ้านทั้งหมดก่อน ดูความเรียบร้อยของพื้นที่ทำงาน เพื่อให้ช่วง 8.00 น. พนักงานก็จะเข้ามาทำผ้า สายหน่อยแม่ก็จะออกไปรับผ้าจากช่างแต่ละบ้าน ไปส่งต่อช่างอีกคนหนึ่งรับงานต่อ หลักๆ พ่อจะดูการผลิต แม่จะคุยกับช่างในชุมชน หลังจากนั้นเราก็จะเข้ามาดูร้านในเมือง ตอนกลางคืนเราก็จะมาคุยกันเรื่องออเดอร์จากหน้าร้าน วันนี้ขายอะไรไปบ้าง อะไรหมดสต็อกต้องทำเพิ่มบ้าง”
เคยคิดมั้ยว่าจะมาทำงานกับที่บ้าน?
“ไม่เลย พ่อแม่เราก็ไม่เคยคิดหวังว่าเราจะมาทำอะไรกับที่บ้าน อย่างน้องชายเรา เขาก็มีด้านที่เขาถนัด ใครชอบอะไรก็แล้วแต่ เป็นเราที่ชอบตรงนี้เอง มันพอดี ก็ยังนึกไม่ออกว่าถ้าเราไปทำงานอย่างอื่นข้างนอกที่ไม่ใช่งานของเราเอง มันจะเป็นยังไง”
ได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานกับครอบครัว?
“ก็มีเถียงกันบ้าง ไม่บ้างอ่ะ บ่อยเลยแหละ แต่เราสามารถอยู่กับเขาได้ บางทีก็คุยเป็นพ่อแม่ บางทีก็คุยกันเป็นเพื่อนเลย (หัวเราะ) การทำงานกับพ่อแม่มันไม่ง่ายแต่ไม่ยาก มันต้องอาศัยการพูดคุย เขาทำงานตรงนี้มาก่อนเรา มันเลยต้องพยายามจูนกันหน่อย
“อย่างเรื่องลายผ้า Tha Homemade บางทีพ่อแม่ก็อยากทำลายในแบบของเขา แต่เราว่าวัยรุ่นอาจจะไม่ใส่ลายนี้แล้วมั้ง ก็คุยกัน ลดทอนอะไรได้บ้าง เขาไม่ได้ถูกเสมอไป เราก็ไม่ได้ถูกเสมอไป เถียงกันบ้าง แต่มันต้องมีตรงกลาง ก็ต้องอยู่กันไปเพราะเราตัดสินใจแล้วว่าเราจะทำสิ่งนี้ ก็ต้องช่วยกัน”
นอกจากพ่อแม่แล้วยังมีใครอีกบ้างที่ทำงานด้วยทุกวัน?
“พี่ๆ ที่เราเจอกันที่นี่ก็คือช่างทำลายผ้า ที่อยู่ในละแวกเดียวกัน พี่ต้นรับผิดชอบทุกอย่าง นัดคือคนทำลายผ้าเหมือนกันกำลังฝึกสกิลอยู่ ป้าตุ๊กก็ทำเกี่ยวกับผ้าเหมือนกัน
“ยังมีป้าๆ ในหมู่บ้านคนอื่นๆ อีก ป้าไข่ช่างแพทเทิร์น น้าจันทร์เป็นช่างตัดเย็บ ป้าทรเป็นคนตัดเย็บเหมือนกัน ป้าลินกับป้าดำเป็นช่างตีเกล็ด ป้าเล็งก็ตัดเย็บเหมือนกัน และมียายอีกคนที่คอยเช็กความเรียบร้อยของทุกอย่างและช่วยรีดผ้า
“แม่เราเป็นคนเริ่มต้นชวนทุกคนมาทำ พี่ๆ ป้าๆ เขาบอกว่าทำงานอยู่ที่บ้านมันก็ดี ไม่ต้องออกไปข้างนอก ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ เราก็เลยรู้สึกว่ามันก็เป็นอย่างหนึ่งที่เราภูมิใจนะ เหมือนเราได้ช่วยส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนของอาชีพคนในชุมชน ไม่ต้องออกไปกระเสือกกระสนหางานทำในเมืองกัน”
ดูเหมือนป้อนจะช่วยให้เพื่อนบ้านได้อยู่บ้านกันมากขึ้นนะ
“แม่มาเล่าให้ฟังว่าที่ตลาดเช้า หรือที่คนเหนือเขาเรียกว่า ‘บ้านกาด’ ป้าๆ ที่เขาเอาของมาขายแล้วบอกแม่ว่า ดีจังช่วงนี้มีคนทำงานกับป้อนเยอะขึ้น คนแก่มีงานทำ พวกที่ยังวัยรุ่นก็เริ่มมาทำกับเราบ้าง
“เรารู้สึกดีที่เค้าไม่ต้องไปหางานทำไกลบ้าน ช่วงพักก็กลับไปกินข้าวเที่ยงที่บ้าน เสร็จก็กลับมาทำงาน เค้าได้ใช้ชีวิตกับคนที่บ้านเยอะขึ้น เราก็ดีใจ”
บ้านในนิยามของป้อน?
“บ้านถ้ามันไม่มีคนก็คงจะเงียบเนาะ บ้านก็คือสถานที่ ที่มีผู้คนที่เรารักอยู่ มีน้องหมา เราก็ชอบอยู่บ้านนะ เวลาใครชวนไปไหนบางทีก็แบบ อยากกลับบ้านแล้วว่ะ (หัวเราะ)
“เมื่อก่อนบ้านเราไม่ได้มีโซนทำงานเยอะเท่าทุกวันนี้ ทำเฉพาะตรงโซนใต้ถุนบ้าน ไม่ได้มีโซนแยกออกมาทำผ้าเลยแบบทุกวันนี้ แต่ไม่มีช่วงไหนเลยที่ไม่มีคนเข้ามาทำงาน บ้านเราไม่เคยเงียบ มีคนเข้าออกตลอด เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เราเป็นเด็ก ถ้าสมมุติเราอยู่คนเดียวมันก็รู้สึกเงียบ บ้านมันต้องมีคนด้วยถึงจะเป็นบ้าน”
โมเมนต์ไหนที่รู้สึกว่าถึงความหมายจริงๆ ของคำว่า ‘บ้าน’
“การพูดคุยกันมั้ง แค่คำว่า ‘กินข้าวรึยัง’ ก็รู้สึกถึงบ้านได้แล้ว หรือเราอาจจะอยู่ด้วยกันจนมันเกินคำว่าบ้านไปแล้ว”
อะไรทำให้ป้อนมีความสุขบ้างในแต่ละวัน?
“อยู่กับหมาเลย อยู่กับอะไรเล็กๆ แค่ลูกค้าชอบงานเรา ลงงานเราในไอจี แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว ได้กินข้าวอร่อยๆ อยากกินอะไรก็ได้กิน แค่นี้ก็มีความสุขมากๆ แล้ว วันเสาร์อาทิตย์ได้กินข้าวด้วยกันกับที่บ้านก็ดีมากแล้ว”
คำว่า ‘บ้าน’ คำหนึ่งพยางค์สั้นๆ ที่เราทุกคนตีความต่างกันออกไป สำหรับบางคนมันอาจไม่ได้หมายถึงบ้านที่เป็นสิ่งปลูกสร้าง บ้านที่มีรั้วรอบขอบชิด แต่กลับเป็นผู้คน ความทรงจำ และกิจกรรมที่ทำให้ ‘บ้าน’ หลังนั้นไม่เงียบเหงา
การได้มาเยี่ยมบ้านของป้อน สถานที่ที่สร้างลวดลายและสีสันให้ Tha Homemade ทำให้คำนิยามของคำว่า ‘บ้าน’ สำหรับเราชัดเจนขึ้น เหมือนกับวรรคทองที่มาจากชื่อเพลงของ Elvis Presley นั่นแหละ “Home is where the heart is” อาจจะฟังแล้วดู cliche แต่ถ้าอ่านแล้วแปลดีๆ เราว่านี่แหละความหมายจริงๆ ของคำนี้