กายวิภาคของพื้นที่ว่าง ร่างทรงของตัวละคร อุ้ม—วัลลภ รุ่งกำจัด
"ในฐานะนักแสดง เราจำเป็นต้องทำตัวให้ว่างมากที่สุด เพื่อรองรับตัวละครเข้าไป"
อุ้ม—วัลลภ รุ่งกำจัด ไม่ได้จบเอกการแสดงและไม่ได้เรียนฟิล์ม แต่เส้นทางชีวิตกลับเลือกสรรให้เขาสวมบทบาทของบรรดาตัวละครที่มีเสน่ห์ ลึกลับ และมีกลิ่นอายของโชคชะตาที่ชอบเล่นตลกกับมนุษย์ชายขอบ ราวกับร่างทรง (medium) ที่คอยรองรับตัวละครคนธรรมดาเข้าสิงร่าง
หลังจากดรอปเรียนจากสาขาออกแบบภายในของรั้วศิลปากร อุ้มสมัครงานที่ The Film Factory โปรดักชันเฮ้าส์ทำโฆษณาที่มีผู้กำกับมือพระกาฬอย่าง วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง และ เป็นเอก รัตนเรือง วาดลวดลายอยู่
อุ้มทำงานในฝั่งทีมอาร์ตและงานเบื้องหลัง ตอนนี้เองที่เริ่มมีใจเอนเอียงให้การทำภาพยนตร์ กระทั่งเพื่อนสนิทอย่าง กานต์—ศิวโรจณ์ คงสกุล ผันตัวมาเป็นผู้กำกับเต็มตัวกับโปรเจกต์หนังยาวเรื่องแรกอย่าง ที่รัก (Eternity, 2010) กานต์ได้ชักชวนอุ้มไปออดิชั่นรับบท ‘พ่อ’ ในเรื่อง นับเป็นจุดตั้งต้นแรกของเส้นทางนักแสดงอิสระ
ถัดจากนั้น เขารับบทพระเอกไร้ใบหน้าในเรื่อง 36 (2012) หนังยาวเรื่องแรกของ เต๋อ—นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ‘อานัส’ ชายหนุ่มจากเกาะลึกลับใน มหาสมุทรและสุสาน (2015) ชายชาวประมงผมทองผู้ช่วยเหลือชาวโรฮิงญาใน กระเบนราหู (2018) นายทหารหนุ่มในเรื่อง เวลา (Anatomy Of Time, 2021) พนักงานโรงแรมใน Morrison (2023) และล่าสุดกับบทบาทแรงงานข้ามชาติจากเรื่อง Mongrel (2024) ซึ่งถือเป็นการร่วมงานกับทีมงานต่างชาติครั้งแรกของเขา
ทว่าหลังจบโปรเจกต์ เวลา (Anatomy Of Time, 2021) เขาเผชิญสภาวะหมดไฟกับการเป็นนักแสดงอิสระ เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยให้คนอาชีพนี้สามารถอยู่ได้อย่างสวัสดิภาพ ทำให้นอกจากเป็นโปรดิวเซอร์โฆษณาแล้ว เขายังมองหาลู่ทางการใช้ชีวิตใหม่ๆ จนถึงขั้นลงเรียนทำอาหารเพื่อนำใบประกาศนียบัตรสมัครงานที่ต่างประเทศ ช่วงเวลาส่งเมลหางานทำที่เดนมาร์กและฝึกปรือทำอาหารนั้นเอง คือช่วงเวลาที่โปรเจกต์ Mongrel (2024) โผล่เข้ามา และทำให้เขากลับมาสู่เส้นทางการแสดงอีกครั้ง
EQ ใช้จุดตั้งต้นของบทสนทนาเป็น Mongrel ก่อนค่อยๆ ถามไถ่ถึงการเป็นนักแสดงอิสระในดินแดนที่ยากจะจินตนาการถึงศิลปะ รวมถึงความหลงใหลในการถ่ายทอดชีวิตของผู้คน
เล่าเรื่องโปรเจกต์ล่าสุดอย่าง Mongrel (2024) ให้ฟังหน่อย เป็นยังไงบ้าง ท้าทายตัวเราเองขนาดไหน
โปรเจกต์นี้เป็นของ Wei Liang Chiang และ You Qiao Yin ผู้กำกับชาวสิงคโปร์ ที่ไปเรียนและพักอยู่ที่กรุงไทเป ไต้หวัน สิ่งที่เขาสนใจมาตลอดตั้งแต่เริ่มทำหนังสั้นก็คือประเด็นแรงงานข้ามชาติ เขาสนใจการอยู่ร่วมกันของแรงงานข้ามชาติกับพลเมืองของประเทศนั้นๆ แล้ว Mongrel (2024) เป็นหนังยาวที่ตัวละคร ตัวเอก ตัวหลัก ตัวเดินเรื่องเป็นคนไทย สาเหตุที่ตัวละครนี้เป็นคนไทย เพราะว่าไต้หวันในอดีต มีการก่อสร้างรถไฟเส้นทางหลักซึ่งใช้อยู่ตอนนี้ เขาจึงนำแรงงานไทยไปทำงานไต้หวัน แล้วพอเสร็จโปรเจกต์ มีทั้งคนไทยที่กลับมา มีทั้งคนไทยที่อยู่ที่นั่นต่อ เป็นการอยู่แบบผิดกฎหมาย ตัวเอกในเรื่องนี้จึงเป็นคนไทย
ผู้กำกับเขาเคยดูผลงานของเราเกือบทุกเรื่อง ก่อนเราอ่านบท เรายังไม่รู้ว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร แต่เขาเขียนบทจากชื่อเล่นเรา เขามีภาพของเขาว่าตัวละครนี้คือหน้าเรา จริงๆ มีการแคสคนอื่นนะ แต่ท้ายที่สุดแล้วเขาก็ขอให้เราเข้าไปแคสบทนี้ดู มีการแคส 2 ครั้ง แคสครั้งแรกแล้วรู้สึกว่า เขาอยากค้นหา เขาอยาก challenge เราเพิ่ม เพราะบทของตัวละครนี้ต้องการอะไรที่ไปไกลกว่าคาแรคเตอร์ที่เราเคยเป็นมา จึงมีการแคสครั้งที่ 2 มีการเวิร์กช้อปกัน จนกระทั่งเขาเลือกเรา
ในช่วงเวลา 4-5 เดือน ทุกสัปดาห์จะวิดีโอคอลกัน คุยกัน แล้วจึงเดินทางไปเตรียมตัวในเดือนธันวาคม (2023) มีเวิร์กช้อปทุกวัน เจอกับผู้ป่วย เจอกับคนแก่ เจอกับเด็ก เจอกับสัตว์ เรียนขับรถ และเรียนภาษาจีนเพิ่มเติม
มีความแตกต่างจากโปรเจกต์ที่ผ่านมาบ้างไหม
แตกต่าง เพราะเป็นประสบการณ์ที่เรารอคอย เราอยากทำงานกับทีมต่างชาติอยู่แล้ว บางอย่างเราก็รู้สึกว่า ทีมงานไทยมีข้อดีมากกว่า แต่ทีมต่างชาติก็มีข้อดี เช่น สวัสดิการหรือค่าตอบแทน เราอยากให้ทีมไทยมีสวัสดิการที่ดีเหมือนทีมต่างชาติ
แต่ในฐานะนักแสดง ภาษาภาพยนตร์มันเหมือนกัน สิ่งที่เราคุยมันเป็นไวยากรณ์ของภาพยนตร์ เลยรู้สึกไม่ยากในการสื่อสาร
โปรเจกต์นี้มันทำให้เราภูมิใจในฐานะนักแสดง มันดึงศักยภาพเรา มันพาเราไปไกลขึ้น มันผลักดันขีดความสามารถเราได้น่าขนลุกมาก ซึ่งเราไม่คิดว่าจะทำได้ใหญ่และกว้างขนาดนี้
แล้วการเป็นนักแสดงอิสระที่ไทยล่ะ
หลังจาก กระเบนราหู และ Anatomy Of Time เรารู้สึกสิ้นหวังกับสถานะการเป็นนักแสดงอิสระในประเทศไทย เรารู้สึกไม่มีทางออก ไม่ค่อยมีหนทางในการทำงานนี้แล้วสามารถใช้ชีวิตได้ในขั้นพื้นฐาน มันค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เรารู้สึกว่าเราอยากหาเส้นทางใหม่ ก็คือเส้นทางของการทำอาหาร ระหว่างนั้น ก็มีโปรเจกต์ Mongrel เราเลยแฉลบกลับมาทำงานการแสดงต่อ
การเป็นนักแสดงอิสระในไทย โปรเจกต์และบทมันไม่หลากหลายมากพอ ค่อนข้างเป็นอะไรที่คล้ายๆ เดิม แค่เปลี่ยนอะไรนิดๆ หน่อยๆ มันไม่ได้ระเบิดจินตนาการ หรือมีตัวละคร หรือมีบทใหม่ๆ ที่ชวนให้เกิดการท้าทายกับทีมงานและนักแสดง ทำให้เราจำเป็นต้องเสพงานที่เป็นปกติ ในขณะเดียวกัน เราก็ถามหาความใหม่จากประเทศด้วยเหมือนกัน แต่ภาพยนตร์ไทยคงประมาณนี้ อยู่ที่เดิม ไม่มีพื้นที่ เราเชื่อว่าบุคลากรหรือนักแสดงไทยหลายคนมีความสามารถ แต่เขาแค่ขาดโปรเจกต์ ขาดบทที่ดึงศักยภาพของเขา
แต่ไกลกว่าการเป็นนักแสดงก็คืออาชีพคนทำงานศิลปะ สิ่งที่ขาดแล้วมันเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องสู้อย่างมาก คือการสนับสนุน ถามว่าใครจำเป็นต้องสนับสนุน เราต้องถามว่าสังคมเรา ประเทศเรา เห็นคุณค่างานศิลปะที่ไม่ใช่ศิลปะดั้งเดิมมั้ย หรือเราเห็นคุณค่ากับทรัพยากรคนทำงานศิลปะอื่นๆ มั้ย ถ้าเราคิดว่าจำเป็นและเราเห็นคุณค่า มันก็ควรจะต้องมีการสนับสนุน
แน่นอนว่าการสนับสนุนมันคือ budget (งบประมาณ) ซึ่งแปลว่ากระทรวงใดกระทรวงหนึ่งต้องมี budget สำหรับสิ่งเหล่านี้ไว้ ถ้าเกิดองค์กรนั้นๆ ตอบว่ามี budget เราก็ต้องมาดูอีกทีว่า budget พวกนั้นกระจายไปที่ไหนบ้าง
สุดท้ายปลายทางก็คือประชาชน ประชาชนคือคนเสพ เราเชื่อว่างานศิลปะทำให้มนุษย์มีความสมบูรณ์มากขึ้น เรารู้อยู่แล้วว่าประเทศเรามันปากกัดตีนถีบ ต้องสู้เพื่อจะมีชีวิตรอด แต่เราก็เชื่อว่าเวลาที่คนรู้สึกผ่อนคลายกับงานศิลปะ มันทำให้เขามีกำลังใจหรือทำให้เขามีจินตนาการฝันถึงชีวิตที่ดีมากขึ้น
ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นหน่อย เริ่มคิดอยากเป็นนักแสดงตั้งแต่เมื่อไร
ไม่เคยคิด แต่ชอบดูหนังตั้งแต่ตอนเรียนออกแบบภายใน ที่ศิลปากร แถวนั้นจะมีร้านเฟม วิดีโอ ให้เช่าซีดี ดีวีดี หนังทางเลือก เราชอบไปเช่าดูเรื่อยๆ มันทำให้รู้จักหนังอีกแบบหนึ่ง คือตอนเด็กๆ เรารู้ว่ามีหนังฮ่องกง มีหนังไทยเมนสตรีม แต่ร้านเฟม วิดีโอ จะมีหนังทางเลือก หนังเทศกาล ซึ่งหนังพวกนี้มันเปิดความคิด เปิดจินตนาการดี
สนใจอะไรในหนังทางเลือกเหล่านั้น
ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองชอบดูหนังประเภทที่ไม่ได้เข้าใจทั้งหมด มันช่วยให้เราดูจบแล้วต้องมาตีความ มาคิดต่อ บางทีความคิดก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ นะ เราประสบพบเจออะไรแล้วเราก็ตีความใหม่ เราชอบพื้นที่แบบนี้
หนังประเภทนี้ทำให้เราสงสัยกับตัวละครว่า ทำไมเรารู้สึกเชื่อว่าเขาเป็นมนุษย์จริงๆ มันซ้อนกันระหว่างความ cinematic กับชีวิตจริง สิ่งที่ชอบมากที่สุดก็น่าจะเป็น เรารู้สึกว่าเขาเป็นใครก็ได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งการแสดงออก การพูด การไม่พูด เป็นสิ่งที่ดึงดูดเรามากๆ
‘นักแสดง’ ในนิยามของวัลลภคืออะไร
เราชอบให้ความหมายกับตัวเองว่า นักแสดงคือคนที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดและสื่อสารทุกอย่างของตัวละครนั้น สื่อสาร message จากผู้กำกับที่ต้องการถ่ายทอดไปถึงคนดู มันทำหน้าที่เหมือนร่างทรงที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดอะไรบางอย่างจาก script ไปถึงคนดู
มีตัวละครไหนที่ประทับร่างแล้วรู้สึกเชื่อมโยงเป็นพิเศษไหม
ไม่รู้ว่าโชคดีหรือเปล่า แต่ว่าทุกตัวละครผ่านการทำการบ้านจนถึงขั้นว่าเราเชื่อในตัวละครนี้ พอถึงจุดหนึ่งมันซ้อนกันพอดี คงมีเส้นทางหรือการเตรียมตัวที่ทำให้เข้าไปตรงนั้นเอง
แล้วทำการบ้านหรือเตรียมตัวเพื่อเข้าถึงตัวละครนั้นยังไงบ้าง
ขอเล่าถึงแคมปัสหนึ่งที่ต่างประเทศก่อน คือมีเวิร์กช้อปที่เบอร์ลิน เขาให้เรากับเพื่อนเลือกสวมบทบาทเป็นสัตว์หนึ่งตัว สัตว์ที่เราเลือกคือเต่า เพราะเราค่อนข้างขี้เกียจ (หัวเราะ) แต่สิ่งที่ค้นพบคือ เป็นครั้งแรกที่เราไม่รู้สึกว่าเราเป็นวัลลภ เรารู้สึกว่าเราเป็นเต่า คิดแบบเต่า เคลื่อนไหวแบบเต่า เป็นครั้งแรกที่เราเจอพื้นที่ว่างเปล่า ก่อนกระโดดเข้าไปเป็นตัวละคร
เราพยายามหาบุคคลที่มีความใกล้เคียงกับตัวละครนั้นมากที่สุด แล้วศึกษาพฤติกรรม ซึ่งในชีวิตปกติ เราชอบสังเกตมนุษย์ เพราะรู้สึกว่าน่าจะใช้ประโยชน์ในอนาคตได้ เราก็เก็บไว้ ผสม หาเพิ่ม ให้เป็นตัวบุคคลจริงๆ ขึ้นมา จนเราเชื่อว่าคนนี้เป็นคนจริงๆ ที่เราสามารถเห็นในชีวิตประจำวันได้
เวลาเราทำการบ้าน ก่อนเริ่มถ่าย เราจะมีโน้ตไว้ เพราะการถ่ายทำมันไม่สามารถเรียงเรื่องตั้งแต่วันที่ 1 ไปถึงวันที่ 10 บางทีวันแรกเราอาจถ่ายวันที่ 10 ในหนังก่อน ดังนั้น เราจะโน้ตไว้ สมมุติว่าเป็นเหตุการณ์ที่ 10 เกิดอะไรขึ้น ความรู้สึกตัวละครคืออะไร ก็จะมีคีย์โน้ตไว้
อีกอย่างหนึ่งคือเรามีเพลย์ลิสต์ของแต่ละซีนสำคัญ เวลาเราเตรียมตัวเราก็จะรู้ เพลงนี้มันทำให้เรากระโจนเข้าไปสู่ตัวละครหรือกระโจนเข้าไปสู่สถานการณ์นั้นได้เร็ว เช่น โน้ตไว้ว่าอันนี้เป็นซีน 84 พรุ่งนี้จะถ่ายซีนนี้ วันนี้เราก็เตรียมตัวกับมัน เวลาอยู่ที่เซต เราก็จะสแตนด์บายอยู่เงียบๆ อยู่ในเพลย์ลิสต์ของเรา พอถึงเวลามันก็จะโชคดีตรงที่เข้าถึงง่าย เรารู้สึกว่า เพลงมันคือประตูที่เราเปิดเข้าไปในสู่ตัวละคร
ตอนที่เราฟังเพลงหรือเพลย์ลิสต์ของตัวละครนั้นๆ มันทำงานกับความรู้สึกของเรายังไง
เวลาเราอ่านบทหรือเราฟังเพลง มันทำให้เรามีพื้นที่เปล่า แล้วเราก็ไหลไปกับความรู้สึกของบทของเพลง มันสนุกตรงที่เราไม่ได้รู้สึกบังคับตัวเอง เราปล่อยให้มันพาเราไป แล้วเราก็สังเกตว่า ดวงตาข้างซ้ายเรารู้สึกยังไง ท้ายทอยเรารู้สึกยังไง กล้ามเนื้อก้อนไหนที่ฟังท่อนนี้แล้วมันกระตุก ถ้าปล่อยไหลไปแล้วเรารู้สึกอยากตะโกน เราก็ตะโกน หรือท่อนนี้ทำให้รู้สึกอยากกลั้นหายใจ เราก็กลั้นหายใจ อยากเพ่งอะไรก็เพ่ง
การแสดงทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้นรึเปล่า
มีส่วนเยอะนะ มันทำให้เราตั้งใจสังเกต สังเกตความรู้สึก สังเกตอารมณ์ สังเกตร่างกาย สังเกตลมหายใจ เราคิดว่ามันช่วยเยอะ แต่เราไม่แน่ใจว่า มันช่วยให้เรารู้จักตัวเองหรือเปล่า (หัวเราะ) คงช่วยให้รู้จักร่างกาย รู้จักร่างกายทั้งของเราเองและของคนอื่นๆ
การสวมบทบาทบ่อยๆ ทำให้ตัวตนของเราเปลี่ยนไปไหม
เราว่ามันไม่ได้เปลี่ยน แต่มันอาจเปลี่ยนก็ได้นะ การสวมบทบาททำให้เรารู้สึกว่า เราอยากเข้าใจเหตุผลหรือสาเหตุที่อยู่ภายใต้การแสดงออกของคนๆ นั้นในฐานะมนุษย์ว่าเพราะอะไร เขาไปเจออะไรมา หรือเรื่องที่เขาแบกมันคืออะไร เรื่องที่เขามีความสุขคืออะไร ทำไมเขาอารมณ์สวิง ทำไมเขารู้สึกเกรี้ยวกราด เราอยากเข้าใจมนุษย์ ไม่ได้แปลว่าใจดีนะ แต่อยากเข้าใจ อาจจะเป็นความเห็นแก่ตัวด้วยก็ได้ เพราะมันเป็นวัตถุดิบของเรา แต่เราอยากเข้าใจจริงๆ
ในฐานะนักแสดงที่เป็นวัลลภ รุ่งกำจัด ยิ่งเราเข้าใจหรือรู้จักรู้จักมนุษย์มากขึ้น เรายิ่งจำเป็นต้องทำตัวให้ว่างมากที่สุด ว่างแบบที่ไม่ใช่วัลลภด้วย ควรจะว่างมากๆ มันไม่ควรจะมีความคิดใดๆ ควรเป็นพื้นที่เปล่าเพื่อรองรับมนุษย์ รองรับตัวละครนั้น เข้าไปทำความรู้จัก แล้วก็ทิ้งในขณะเดียวกัน
แล้วตัวตนจริงๆ ของ ‘วัลลภ รุ่งจำกัด’ เป็นแบบไหน
เราคิดว่าตัวเราไม่ค่อยมี Identity อะไรมั้ง หมายถึงว่าเราใช้ชีวิตง่าย ไม่ได้โดดเด่นอะไร ตื่นมาชอบกินกาแฟ ชอบเข้าไปดูสวน ดูต้นไม้ จับใบไม้ ชอบทำอาหาร ชอบกินอาหาร มันง่าย มันเลยรู้สึกว่าไม่มีมีผลกับกระทบกับตัวเรา
แต่ถ้าถามว่าอะไรที่เป็น Identity ของเรา เราก็อยากให้เราเป็นพื้นที่ว่างนี่แหละ เพื่อรองรับสิ่งนี้ (ผู้คนและตัวละคร-ผู้เขียน) อยากให้คนจดจำเราแบบนั้นมากกว่า เราชอบตัวเราในเวอร์ชั่นพื้นที่เปล่าๆ
ทำไมถึงรักการแสดง
เราชอบความกล้าๆ กลัวๆ ในฐานะนักแสดง มันคือความงามในการสร้างชีวิตของตัวละครให้สมบูรณ์มากขึ้น ทุกครั้งที่ทำงานนี้มันรู้สึกขนลุกตลอดเวลา มันรู้สึกมีพลัง รู้สึกมีความสุขที่ได้ถ่ายทอดบางอย่าง
พูดจากใจจริงๆ ไม่ได้รู้สึกอยากดัง แต่รู้สึกอยากมีโอกาสทำหน้าที่ถ่ายทอดอะไรบางอย่างไปเรื่อยๆ
อะไรคือแรงผลักดันชีวิตตอนนี้
แรงผลักดันของเราคือ การมีโอกาสทำสิ่งที่เรารักมัน ชอบมัน หลงใหลมัน มีโอกาสทำสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ จนตาย และจะดีมากๆ ถ้าสิ่งนั้นช่วยให้เรามีชีวิตปกติได้ในฐานะคนๆ หนึ่ง สามารถเลี้ยงชีพได้ ดูแลครอบครัวได้ ดูแลพ่อแม่ได้ ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย แต่มันไม่ง่าย