“เราไม่ได้มีเวลาเยอะขนาดนั้น” หนึ่งวันในวงกตของทรงจำของทรงจำของ ‘วีรพร นิติประภา’
สายวันหนึ่งของวันพฤหัสบดี ทีม EQ มีนัดสัมภาษณ์กับแหม่ม-วีรพร นิติประภา ผู้เป็นแม่ นักเขียน นักแสดงรับเชิญประปราย คนจัดเวิร์กชอป ผู้มีความฝันอยากเปิดร้านหมูปิ้ง และผู้ผ่านเหตุการณ์เดือนตุลากับเหตุการณ์พฤษภา อย่างละ 2 ครั้ง
เมื่อถึงคำนิยามว่า เธอเป็นนักเขียนดับเบิ้ลซีไรต์ เธอเป่าปากทันทีพร้อมพูดว่า “ห้ามพูดว่าเป็นนักเขียนหญิงด้วยนะ ไม่งั้นโกรธ” จากนั้นมุมปากก็อมยิ้มพร้อมแววตา
ก่อนกล้องกดอัด ก่อนซาวด์เรคคอร์ดเดอร์กดบันทึก เธอเล่าว่า เพิ่งกลับจากการเดินทางไปงาน ‘Pattani Decoded 2024’ ความประทับใจเหลือล้นจากผู้คนแดนใต้ได้พริ้มพรายบนใบหน้า นักเขียนชุดดำยังแย้มบอกอีกว่า เคยบังเอิญชนแก้วกับพลพรรค Radiohead เมื่อครั้งมากรุงเทพฯ และเธอยังเล่าอะไรต่อมิอะไรอีกมากหลังเทคโนโลยีบันทึกภาพด้วยประกายแห่งความยินดีในชีวิต
“ตอนนี้ทำทุกอย่างเลย เพิ่งซื้อกล้องเมื่อปีที่แล้ว เพิ่งหัดถ่ายรูป ไปเล่นหนังด้วย เล่นซีรีส์ด้วย ใครให้ทำอะไรก็ทำหมด แต่ดูสิว่าพี่แก่แล้ว ตอนที่พี่อายุน้อยๆ พี่ควรจะ explore มากกว่านี้ ควรทำมากกว่านี้ แต่ก็พลาดไป นั่นแหละ เรามักคิดว่าเรามีเวลาเยอะแยะ แต่ไม่ เราไม่ได้มีเวลาเยอะขนาดนั้น”
ในวันนั้น เรานั่งคุยเรื่องชีวิตและสังคมในห้องขาวปิดทึบ ก่อนเดินคุยเรื่องกลวิธีเขียนในสวนสาธารณะ โดยมีหยดแดด ฝนพึมพำ ลูกเอื้อนของลูกนก และผู้คน ซึ่งล้วนเป็นความทรงจำอันมลังเมลืองเบื้องหลังบทสนทนา
ถัดจากนี้คือการปะติดปะต่อเรื่องราวที่ว่านั้น ทั้งของประสบการณ์การก่อร่างให้เด็กคนหนึ่งกลายเป็นนักเขียน และให้ไฟล์บันทึกเสียงเป็นบทสัมภาษณ์
ช่วงนี้ทำอะไรบ้าง
แต่งหน้าทาปากแล้วมาให้สัมภาษณ์คนไง (หัวเราะ) ถ้ามีเดินทางก็จะสนุกหน่อย ได้ไปเปลี่ยนที่ (นิ่งคิด) แต่เดิมไม่ได้เป็นคนมีกิจวัตรอะไรมาก ไม่ได้เป็นคนไปนู่นมานี่ ขี้เกียจใช้ได้ทีเดียว
วัยเด็กของ แหม่ม-วีรพร นิติประภา เป็นยังไง เติบโตมาแบบไหน
พี่เกิดประมาณปี 2505 ประมาณกึ่งพุทธกาล บ้านเมืองก็ราบเรียบดี พี่จำอะไรไม่ค่อยได้เยอะนัก จำได้ว่าเรามีห้างน้อยๆ ไม่ค่อยมีอะไรทำ เราก็อ่านหนังสือ เพราะว่าทีวี 4 ช่องมีละครที่ไม่ค่อยสนุกนัก เรามีหนังสือหนังหาอ่านกันพอสมควรในยามนั้น ที่เที่ยวก็ไม่มี เมืองจะเป็นอีกแบบ แต่ไม่ถึงกับเป็นเมืองหลังเขา เป็นเมืองธรรมดาที่ไม่ค่อยมีอะไร
พี่โตมากับร้านเช่านิยาย ช่วงนั้นก็อ่าน ‘กฤษณา อโศกสิน’ อ่าน ‘สุวรรณี สุคนธา’ อ่านเรื่อยเปื่อย จนกระทั่งอายุ 8 ขวบ ไปเที่ยวบ้านญาติที่อุดรธานี แล้วไม่มีอะไรทำ ก็ไปหยิบหนังสือของเขามาอ่าน หนังสือเล่มนั้นเขียนว่าวรรณกรรมเยาวชน เรื่อง ‘I am David’ เป็นเรื่องแปลที่ดีมากเรื่องหนึ่ง ในตอนที่เราอายุ 8 ขวบ เราไม่รู้ว่าสงครามโลกคืออะไร เราไม่รู้เรื่องค่ายกักกัน เราไม่รู้เรื่องยิว ซึ่งมันเป็นเรื่องของเด็กยิวที่เกิดในค่ายกักกัน จากนั้นหนีออกตามหาแม่ เดินทางข้ามยุโรปไปที่สวีเดน เรื่องมีแค่นี้ แต่มีการภจญภัยที่สนุก เราก็จำได้เลยว่า ‘วรรณกรรม’ แปลว่า หนังสือดี เป็นหนังสือที่น่าสนใจ
พออายุ 12 ปี ก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม มันเป็นยุคที่หนังสือค่อนข้างเยอะ แล้วเราก็ได้อ่าน ‘มักซิม กอร์กี’ เราได้อ่าน ‘ดอสโตเยฟสกี’ เราได้อ่าน ‘ตอลสตอย’ เราอ่านวรรณกรรมแบบ (เป่าปาก) ชิ้นเอกของโลกนี้เลย แต่มันเป็นวรรณกรรมเพื่อชีวิต ถ้าตัดความเพื่อชีวิตออกไปมันก็ยังเป็นเพชรยอดมงกุฎอยู่ดี
หลังจากนั้นก็คือ 6 ตุลาคม ซึ่งหนังสือที่เคยอ่านหายหมด เพราะมันเขียนโดยคนรัสเซีย ซึ่งถูกมองว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นวรรณกรรมแปลดีๆ ก็หายไปช่วงใหญ่ๆ ช่วงนั้นอ่านเท่าที่มี อ่านซ้ำเท่าที่มี
อ่านซ้ำเท่าที่มี?
เป็นกลไกที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเรียนรู้วิธีการเขียน คนทั่วไปไม่ค่อยคิดว่าการอ่านซ้ำมันสำคัญ คืออ่านรอบเดียว เผลอๆ อ่านเร็ว อ่านลวกเพื่อที่เอาความ แต่ไม่ใช่ ในยุคของพี่เราอ่านเอารสเอาชาติ เราอ่านกันซ้ำซาก เพราะว่าเราไม่มีหนังสืออ่านมากนัก เราอ่านซ้ำในช่วง 6 ตุลาคมถึงหลัง 6 ตุลาคม จนพี่อายุ 20 ถึง 22 ถึงจะเริ่มมีหนังสือมาบ้าง แต่ก็แน่นอน มันไม่ใช่หนังสือการเมือง ไม่ใช่อย่างมักซิม กอร์กี ที่เขียนเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก ไม่เข้มข้นขนาดนั้น
ชอบอะไรในตัวเองช่วงอายุ 20 ตอนต้น
ไม่ชอบตัวเอง พี่เป็นคนแปลกๆ มีคนบอกเสมอว่า ไอ้แหม่มมันบ้าดีว่ะ ตกลงกูดีหรือกูบ้า (หัวเราะ)
ที่เพื่อนบอกว่าเราบ้า ตอนนั้นพี่เป็นคนประมาณไหน
พี่เป็นคนใส่เสื้อยืด กระโปรงชีฟอง รองเท้า ดร.มาร์ติน บูททหาร ตัดผมทรงเกรซ โจนส์ ที่ไถด้านข้าง ผู้ชายไม่จีบอยู่ 3-4 ปี แต่เราไม่รู้สึกว่ามันแปลก
ความจริงในช่วงยุค 90 มันน่าสนใจ วัฒนธรรมไม่ได้มาด้วยตัวเองโดดๆ มันมากับเพลง มากับหนัง มากับวัฒนธรรมตัวอื่น อยู่ๆ เราก็มีวงอินดี้ เรามี Radiohead เรามี Depeach Mode อยู่ๆ ก็มีหนังแบบ Pulp Fiction มีหนังของหว่อง กา ไว ดูเหมือนโลกทั้งโลกมันโตพร้อมกัน แน่นอนเรามีอินเทอร์เน็ต โลกมันเชื่อมโยงกัน เรามี Tower Record เปิดหูเปิดตาพอสมควรทีเดียว แล้วก็มีร้านเช่าวิดีโอ แล้วก็มีหนังใหม่ๆ ซึ่งก่อนหน้านั้นเราไม่มี คือพอมันไม่เข้ามา มันก็ไม่เข้ามา พอมันมาก็มาหมด
แล้วเริ่มเขียนหนังสือเพราะอะไร
พี่มีลูก ตอนนั้นลูกอายุประมาณ 15-16 ปี และยังไม่ถึงปี 53 นะ ลูกเป็นคนอ่านเยอะ แน่นอนพี่เลี้ยงเขาขึ้นมาเป็นนักอ่านที่เข้มแข็งและเข้มข้น ทุกเช้าเขาก็ตื่นลงมาแล้วถาม “แม่อ่านเล่มนี้ยัง โคตรดี” เราก็หมั่นไส้ ฉันก็ทำได้ เดี๋ยวทำให้ดู เริ่มต้นเขียนสัก 2-3 บท เป็นนิยายรักทิงนองนอย ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันจะพาไปไหน เรายังไม่มีคอนเซปต์ ต้องการแค่แอคลูก แค่นั้นเอง
พอมาเหตุการณ์ปี 53 มีม็อบเหลือง ม็อบแดง ไปไหนไม่ได้ มีการปิดกรุงเทพฯ หรือ Shutdown Bangkok อยู่ 6 เดือน มีม็อบยังทนได้ มันธรรมดา จนกระทั่งมีการล้อมปราบพฤษภาคมปี 53 มีการยิงคนตายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อันนี้ก็ผิดพออยู่แล้ว ความขัดแย้งก็เรื่องนึง ความตายก็เรื่องนึง แต่มันมีคนดีใจ มีคนดีใจที่คนที่คุณไม่รู้จักถูกฆ่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สั่นคลอนความเป็นมนุษย์ของเรา
มันไม่ได้สำคัญว่าเป็นคนพื้นที่ไหนไม่ใช่รึ ไม่สำคัญว่ามีการศึกษาที่ไหนไม่ใช่รึ แต่มันสำคัญว่าเขาเรียกร้องอะไร ซึ่งตอนนั้นก็เป็นไปโดยหลักการ คือเรียกร้องการเลือกตั้ง เรียกร้องนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็ถูกต้อง โรงเรียนก็สอนคุณมาอย่างนี้ แล้วทำไมถึงเกิดสิ่งนี้ขึ้น ทำไมถึงมีคนพยายามล้มกติกานี้
จากนิยายที่เขียนเอาไว้เป็นนิยายรักทิงนองนอย ไม่มีคอนเซปต์ มันก็มีคอนเซปต์ขึ้นมา อะไรทำให้คุณเป็นคนที่คุณไม่ได้เป็น หรือจริงๆ คุณเป็นคนแบบไหนกันแน่ มันเป็นคำถามที่พี่คิดว่า เราควรจะถามตัวเอง เราคือใคร เราต้องการอะไร เราต้องการชีวิตแบบไหน การเมืองแบบไหน ประเทศแบบไหน แต่ว่าพี่ไม่ได้ไปยุ่งเรื่องการเมือง เพราะพี่คิดว่าการเมืองยังเป็นส่วนที่เราเรียกกันว่าชีวิต ดังนั้น พี่ก็ไปมุ่งเรื่องมายาคติ อะไรผลักดันเราให้เป็นอย่างที่เราเป็น ทำไมคนไม่สงสัย ทำไมคนไม่สงสัย
เท่ากับว่าโลกผลักให้เราเขียน หรือเราเขียนเพื่อต้องการอธิบายตรงนั้น
พี่คิดว่าความสงสัย ความต้องการ ความทะยานอยากที่จะเห็นหรืออยากเข้าใจทุกสิ่ง ก็ทำให้พี่เขียน แล้วระหว่างทำงานเขียน ก็เป็นการเดินทางเพื่อทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ แน่นอนแหละว่าพี่ไม่ได้เขียนเรื่องส่วนตัวของพี่ลงในนั้น แต่พี่ไปเขียนเรื่องของ ‘จงสว่าง’ (ตัวละครในเรื่อง พุทธศักราชอัสดงกับความทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ) ซึ่งแน่นอนล่ะ มันจะเป็นใครสักคนในชีวิตไม่มากก็น้อย อาจเป็นพาร์ทหนึ่งของคนบางคน พาร์ทหนึ่งของเรื่องบางเรื่อง อย่างที่พี่บอก บางครั้งจงสว่างไม่ได้เป็นคน แต่คือความเหลื่อมล้ำในเรื่อง คนนี้ไม่ใช่คนเป็นความรัก คนนี้ไม่ใช่คน แต่เป็นความเกลียด มันคือการเดินทางกลับไปกลับมา ซึ่งระหว่างนั้นพี่ต้องการหลายอย่าง เพื่อเอากลับมาเขียน
นั่นทำให้เราหมกมุ่นหรือเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ไหม
คำถามของพี่คือเราเป็นอะไร ความเป็นมนุษย์ของเราคืออะไร ทำไมเรายอมให้สิ่งนี้ (เหตุการณ์ปี 2553) เกิดขึ้น โอเค การถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่รัฐมันเป็นเรื่องรุนแรงมาก คนที่ตายไม่มีอาวุธและถูกสังหารโดยคนที่ถืออาวุธ
มันเป็นเรื่องรุนแรงในความรู้สึกพี่ แต่ว่าเพื่อนพี่ก็ไปทำ ‘Big Cleaning Day’ กัน เพื่อนพี่ทั้งนั้น มันค่อนข้างสะเทือนใจนิดนึง มันสะเทือนใจเพราะมันร่าเริงด้วย ราวกับว่าเหตุการณ์ร้ายๆ ผ่านไปแล้ว เรามาทำความสะอาดบ้านและเริ่มต้นกันใหม่เถิด โดยที่ไม่มีใครถามคำถามว่า ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐทำอย่างที่ทำ
หลังจากนั้น พี่ก็เริ่มทำงานในอีกลักษณะหนึ่ง เขียนหนังสือออกมาเป็น ไส้เดือนตาบอดฯ อ่านเผินๆ คุณจะไม่เห็นเรื่องการเมืองในนั้นด้วยซ้ำ แต่อย่างที่พี่บอก การเมืองมา การเมืองก็ไป อย่างไรซะเรื่องมันจะคลี่คลายไปในทางใดทางหนึ่ง แต่ความเป็นมนุษย์ของเรานี่สิ พี่ก็เลือกไม่เล่าให้มันเป็นการเมือง แต่เล่าให้มันเป็นอย่างอื่น
เป็นไปได้มั้ยที่จะมีกลไกซึ่งบันทึกทุกความทรงจำเอาไว้ โดยที่ผู้มีอำนาจไม่ใช่ผู้ผูกขาดการเลือกเก็บความทรงจำใดความทรงจำหนึ่ง
อันนี้เป็นประเด็นที่พี่สนใจเป็นพิเศษ พี่สนใจว่าอะไรทำให้เราเป็นเรา อะไรทำให้เราเป็นอื่นที่ไม่ใช่เรา เพราะความเป็นประวัติศาสตร์ทำหน้าที่ตรงนี้เยอะ คุณเกิดมาแล้วเขาก็ติดแท็กเด็กชายเด็กหญิง คุณถูกกำกับเพศสภาพ ประวัติศาสตร์กำกับคุณตั้งแต่วันแรก บัตรประชาชนของคุณจะบอกว่าคุณนับถือศาสนาพุทธ เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย หรือกรุ๊ปเลือดอะไรด้วยซ้ำ
คือประวัติศาสตร์มันมี 2 ชุด ประวัติศาสตร์กระแสหลักกับประวัติศาสตร์เรื่องเล่า ประวัติศาสตร์เรื่องเล่ามันน่าสนใจมาก ถ้าคุณสังเกตในเล่ม พุทธศักราชฯ จะเป็นประวัติศาสตร์เรื่องเล่าหมด อารมณ์ของมันบอกว่าเรารู้สึกยังไงต่อหน้าสถานการณ์นั้นๆ ในวันนั้นๆ ซึ่งจริงๆ แล้วที่เราจำได้น่ะ ความรู้สึกต่างหาก เราจำเนื้อเรื่องไม่ได้ ในที่สุดแล้วเนื้อเรื่องจะถูกกำกับโดยกระแสหลักหรือคนอื่นพูด ก็นำมาสู่ความทรงจำลวง ความทรงจำที่ไม่ได้เกิดขึ้น
เช่น “วันนั้นเรากินไอติมสตรอเบอร์รี่กัน อร่อยดี เธอจำได้ไหม” “บ้า เรากินไอติมส้ม” “ไม่ใช่ เรากินสตรอเบอร์รี่” “ไม่ เรากินไอติมส้ม” พอนานๆ ไปพี่ก็เริ่มเชื่อว่าพี่กินไอติมส้ม ความทรงจำลวงมันเกิดขึ้นตลอดเวลา แม้กระทั่งความฝันของเราก็มีส่วน ตกลงมันเกิดขึ้นจริงหรือว่าฉันฝันไป
ความทรงจำเป็นเรื่องน่าสนใจมากๆ เพราะว่าบางครั้ง สิ่งที่หายไปในความทรงจำเป็นตัวที่บอกเหมือนกันว่าเราคือใคร
แล้วถ้าไม่ใช่ประเด็นของความทรงจำ ตอนนี้สนใจประเด็นไหนเป็นพิเศษไหม
เรื่องหนึ่งที่สนใจคือ ความฟั่นเฟือนของสังคมเรา พี่เข้าใจว่าความฟั่นเฟือนมาจากการที่มันมีข้อมูลหายไปและมีข้อมูลที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้นถูกใส่เข้ามา ยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรม เช่น 14 ตุลาคม เป็นเหตุการณ์ใหญ่มาก แต่ว่าเราแทบไม่รู้อะไรกันเลย พฤษภาทมิฬก็เหมือนกัน คุณรู้อะไรเกี่ยวกันมั่ง คุณรู้ตามคำบอกเล่า ประเทศนี้คุณรู้สิ่งที่เขาอยากให้คุณรู้ สิ่งนี้จะสื่อสารความคิดของทั้งสังคมไปในในทิศทางหนึ่ง แล้วก็มีความฟั่นเฟือนเกิดขึ้น
คือแค่ถามคำถาม อะไรทำให้เราไม่ถาม อะไรทำให้เราไม่สนใจว่าเรามาจากไหน เป็นใคร แล้วจะไปต่ออย่างไร อะไรทำให้เราเฉยเมยกับกับทุกอย่าง แล้วถ้าเกิดคุณเชื่อเรื่องชุดหนึ่งได้ คุณก็คงจะเชื่อเรื่องแม่ชีที่ปัดระเบิดไปตกที่ฮิโรชิมาได้ คุณก็เชื่อเรื่องเข้าทรง คุณก็เชื่อแก๊งมิจฉาชีพในอินเทอร์เน็ต เพราะว่าคุณไม่ถามคำถาม เพราะคุณไม่สนใจว่าอะไรเป็นอะไร ความเฉยเมยนี่ก็แปลกประหลาด
พออ่านงาน ไส้เดือนตาบอดฯ ก็ดี พุทธศักราชฯ ก็ดี มันรู้สึกเจิดจ้า เศร้า อาวรณ์ ระคนกันไป ตั้งใจให้เกิดอารมณ์แบบไหนในงาน 2 เรื่องที่ผ่านมา
พี่คงรู้สึกอย่างนั้น มันรวมกับเรื่องส่วนตัวด้วย อย่างที่พี่ว่า เพื่อนพี่ส่วนใหญ่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง เราโตมาด้วยกัน คนพวกนี้ตอนสาวๆ ลิเบอรัลจะตาย เขาก็ดริ๊งก์กับพี่อยู่หลังสวน เขาก็เป็นคนสมัยใหม่ เป็นคนที่น่าสนใจ เปิดกว้าง พอมาถึงเรื่องการเมืองปุ๊บ เฮ้ย ทำไมถึงสนับสนุนอำนาจ การสนับสนุนการฆ่านี่แหละคือการสนับสนุนอำนาจอยู่แล้ว มันไม่เข้ากับพวกคุณเลย มันไม่เข้ากับเด็ก 90s มันไม่เข้ากับคนฟัง Radiohead มันจึงมีความโหยหาอาวรณ์อยู่ในนั้น คงคิดถึงเพื่อนแหละ
(นิ่งสักพัก) สิ่งที่พี่รู้สึกแย่ก็คือ พี่ผ่าน 14 ตุลาคม พี่ผ่าน 6 ตุลา พี่ผ่านพฤษภาทมิฬ แล้วพี่ก็ผ่านปี 53 พี่ก็แน่ใจว่า ไม่ช้าก็เร็วในรุ่นของพวกคุณจะต้องผ่านเรื่องนี้อีก หรือว่าถ้าเราไม่ผ่าน ก็คือเรากลัวมาก เราต้องกลัวขนาดไหน เราต้องอยู่ด้วยความกลัวขนาดไหน แล้วเรารู้ไหมว่าเรากลัว เรารู้ไหมว่าเราไม่ควรจะอยู่ด้วยความกลัว
คุณจะสังเกตได้ว่าตัวละครอย่าง ‘จงสว่าง’ เป็นลูกซึ่งไม่ได้เป็นลูก เป็นคนในครอบครัวที่ถูกปฏิบัติ ประหนึ่งไม่ใช่คนในครอบครัว แม้ว่าเส้นเรื่องจะเล่าเรื่องคนจีน แต่จริงๆ แล้วคือพวกเราทั้งหมด ซึ่งเป็นคนนอกของประเทศของตัวเอง เราคือคนนอกของระบบการเมืองของเรา
แสดงว่าการเป็นนักเขียนในยุคนี้จำเป็นต้องเป็นกระบอกให้สิ่งที่เกิดขึ้นรึเปล่า
ไม่ ไม่ ไม่ แต่ว่าจะบอกว่า ประเด็นนี้ไม่ได้อยู่แค่ในการเมืองสภาหรือไม่สภา มันอยู่ในทุกที่ในชีวิตเรา เพราะว่ามันลงมาแบบนี้ (ทำท่าสามเหลี่ยมบนลงล่าง) คุณไม่มีสิทธิเลือกร้านชำที่คุณอยากเลือก คุณไม่มีสิทธิ์เลือกยี่ห้ออื่นที่อาจจะดีกว่าก็ได้ เห็นมั้ยว่าการผูกขาดมันอยู่ในทุกอย่าง คุณมีเท่าที่คุณควรจะมี คุณมีมหาลัย 5 แห่ง แล้วคุณก็จะมีมหาลัย 5 แห่งตลอดกาล คุณมีโรงพยาบาล 10 แห่ง ก็จะมี 10 แห่งตลอดกาล คุณจะได้รับแค่นี้ ไม่มากไม่น้อยกว่านี้ แล้วคุณก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันมีอะไรดีกว่านี้ ก็ไม่มีช้อยส์น่ะ จะรู้ได้ยังไง เราก้มหน้าก้มตาทำงานหาเลี้ยงชีพ เงินเดือนออกก็ไปกินปลาส้ม ปลาแซลมอนบุฟเฟ่ต์ นี่เป็นชีวิตที่ดีไหม ตอนเด็กๆ เราเคยถามกันมั้ยว่า ชีวิตที่ดีคืออะไร
แล้วสำหรับวีรพร ชีวิตที่ดีคืออะไร
(กระซิบ) รัฐสวัสดิการ ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ได้รับการรองรับเมื่อร่วงหล่น ง่ายๆ แค่นี้เลย ทันทีที่คุณมีรัฐสวัสดิการที่รองรับดีพอ ยังไม่ต้องเลอเลิศนะ คุณจะกล้าทำ กล้าฝัน คุณจะเป็นประชากรคุณภาพ แต่ถ้าเกิดคุณไม่มีรัฐสวัสดิการที่ดีพอ คุณจะต้องเกาะติดกับงานที่คุณไม่ชอบเพื่อดูแลบุพการีที่คุณไม่มีปัญญาจะดูแล แทนที่รัฐจะดูแลให้ เป็นต้น
คุณจะต้องเลือกชีวิตของคุณตอนอายุ 18 แล้วต้องเรียนให้จบใน 25 เพราะว่าพ่อแม่ไม่ไหวแล้ว เพื่อคุณจะได้เลี้ยงดูตัวเอง แล้วกลับไปเลี้ยงดูพ่อแม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเรียนของเรามันแพงเกินไป พ่อแม่ต้องใช้ทรัพยากรครึ่งหนึ่งเพื่อซัพพอร์ตลูกจนเรียนจบ พอเรียนจบเสร็จก็ขึ้นวัฏจักรใหม่ คุณจะทำยังไงล่ะ คุณต้องทำงานหาเงินให้พ่อแม่ แล้วคุณจะเลือกเป็นคนอย่างที่คุณเป็นได้มั้ย ความหลงใหลใฝ่ฝันของคุณคืออะไร คุณจะเดินทางท่องโลกได้มั้ย จำกัดจำเขี่ยแท้
แล้วคุณต้องทำงานที่คุณไม่ชอบ วันหนึ่งคุณก็เงยหน้าขึ้นมาเป็นเจ้านายที่คุณไม่ชอบ เป็นคนที่คุณไม่ชอบ แล้วชีวิตมันคืออะไร อย่างดีนั่นแหละค่ะ กินปลาส้ม มีแฟนสักคน มีบ้านสักหลัง ผ่อนแล้วก็ไม่สามารถจะออกจากงานได้ เพราะตอนที่คุณเริ่มผ่อน มันอยู่ใกล้ที่ทำงาน แต่ผ่อนๆ ไปคุณย้ายไม่ได้ เพราะค่าโดยสารแพงเกินไป ทุกอย่างมันล็อก มันอึดอัด
ถ้าอย่างนั้น เราควรใช้ชีวิตเพื่ออะไร ความเป็นมนุษย์ควรจะหมายถึงอะไร
เป็นคำถามที่ยากมาก มันปัจเจกมาก แน่นอนแหละ พี่เป็นพวกบูมเมอร์ เราจะยุ่งอยู่กับคุณค่าของคนต่อรัฐ เป็นพลเมืองที่สมบูรณ์แบบ ถัดมาถึงยุคอินดี้ ความหมายมันก็เปลี่ยนไป เราต้องการเป็นคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกในแง่ต่างๆ พี่คิดว่า gen X เป็นแบบนั้น พี่ไม่แน่ใจ แต่พอมาถึงรุ่นคุณ (gen Z - ผู้เขียน) การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มันเป็นส่วนๆ ไม่มีมวลรวมว่าโลกนี้ต้องการคนแบบนี้
ค่อนข้างแน่ใจว่าหลายๆ คนที่พี่พบเจอตั้งแต่รุ่นพี่ไล่ลงมาล้วนแสวงหาความหมายของชีวิต การมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย ซึ่งรวมไปถึงการสร้างงานศิลปะ ทำอาหารอร่อยๆ มีใครสักคนท่องเที่ยว เดินทางรู้จักโลก
หากย้อนกลับไปแชร์หรือคุยกับตัวเองในอดีตได้ อยากบอกอะไรกับตัวเอง
ถ้าพี่อายุน้อยกว่านี้ พี่น่าจะบอกรักผู้ชายคนนั้น แล้วถ้ามันจะดูถูกความรักของเรา ก็ช่างมัน
มีอะไรที่เสียดายอีกไหม
ถ้าพี่รู้ว่าชีวิตมันจะสั้น พี่รู้ว่าความเป็นมนุษย์มันจะเปราะบางขนาดนี้ พี่จะทำทุกอย่างเลย ในตอนอายุน้อยๆ พี่แบกโลก คิดนู่นคิดนี่ ไม่น่าทำอย่างนี้ เราไม่ทำอย่างงั้นเดี๋ยวเขาจะเสียใจ เดี๋ยวเราจะเสียใจ เดี๋ยวใครต่อใครจะเสียใจ เอาเข้าจริงๆ ไม่มีใครเสียใจกับเราทั้งนั้น (หยุดสักพัก) เศร้ามั้ย อันนี้เศร้าจริง ฉันคิดว่าเขาจะ ‘damn care’ แต่เปล่า
(นิ่งสักพัก) พี่ใช้เวลากับลูกเยอะมาก ก็ยังรู้สึกว่าน้อยไป แต่อันนี้เป็นเรื่องของแม่ๆ แหละ ยังไงมันก็ไม่พอ ยังไงมันก็ไม่พอหรอก
ตอนนี้มีความสุขกับอะไร
เช้าวันหนึ่งได้ตื่นขึ้นมาก็ดีใจแล้วนะ การหายใจเข้าทุกๆ วัน เช้านี้ยังอยู่ ฉันยังอยู่ตรงนี้ พี่ว่านั่นน่าจะดีแล้ว พี่มองทุกอย่างต่างออกไปจากที่เคยมองเหมือนกัน อย่างเวลาฝนตก พี่ก็นั่งมองมันเหมือนมองครั้งแรก เพราะไม่แน่ใจ มันอาจเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้ ฉันอาจจะไม่ตื่นพรุ่งนี้ก็ได้
ระหว่างทำงานพี่ได้ทุกอย่างที่พี่อยากได้ พี่เรียนรู้ รู้จักตัวเอง เข้าใจชีวิต เข้าใจโลกใบนี้ เข้าใจผู้คน เข้าใจความเปราะบางและเข้มแข็ง เข้าใจการเป็นมนุษย์ เรื่องเหล่านี้สำคัญ สำคัญจนพี่มีความรู้สึกว่า พี่โชคดีที่ในที่สุด ‘in the very end’ เมื่ออายุ 50 ปี พี่เลือกเป็นนักเขียน พี่ไม่ต้องใช้วัย 60 ของพี่สวัสดีวันจันทร์ สวัสดีวันอังคาร พยายามสอดแทรกตัวเองเข้าไปในโทรศัพท์ของคนอื่น แล้วบอกว่า “I'm still alive.”
พี่ยังตื่นเช้าเหมือนเด็กอายุ 12 กระโดดลงกระไดมาแล้วก็เขียนได้ เขียนไม่ได้ก็อีกเรื่อง แน่นอนมันมีวันที่ตอนบ่ายพี่จะลบทั้งยวง แต่พี่ก็เชื่อว่านักเขียนต้องมีแบบฝึกหัดเหมือนงานอื่นๆ คุณทำเสร็จเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น พี่โชคดีที่งานพี่ได้รับการยอมรับในระดับที่สามารถเป็นอาชีพได้ แค่นั้นเอง แต่ถามว่า พี่เป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่มากไหม ไม่อ่ะ
คำถามสุดท้าย เขียนหนังสือยังไงให้เสร็จ
นักเขียนไทยทั่วไป เขียนกัน 1 ปี 1 เล่ม วีรพร 3 ปีต่อเล่มโดยเฉลี่ย เล่มใหม่ของพี่นี่ 4 ปีแล้วยังไม่ไปไหนเลย แต่ถามว่าเขียนให้จบเหรอ พี่คิดว่าเขียนๆ ไปมันก็ต้องจบรึเปล่าวะ ถ้ามันไม่จบก็ฆ่าตัวละคร พอฆ่าหมดแล้วมันก็ต้องจบเองใช่มั้ย เพราะมันตายหมด (ฉีกยิ้ม)
(ถึงตรงนี้ กล้องหยุดบันทึก ไวร์เลสหยุดทำงาน ความทรงจำยังเรคคอร์ดต่อ)
ในไหวเอนของต้นก้ามปูที่มีแดดรอนๆ เปื้อนผิวใบไม้ แสงฉายทับลูบไล้ร่างอุ่นของผู้คนที่เยื้องย่างออกมานั่งเล่น นอนเล่น ดีดกีต้าร์ วิ่ง และสนทนา
วีรพรกระชับแว่น เล่าถึงความประทับใจในหนัง Aftersun (2022) การอ่านแล้วอ่านเล่ากับหนังสืออย่าง เจ้าชายน้อย การประดิษฐ์คำอย่าง ‘ฝนพึมพำ’ หรือการเล่าเรื่องลูกที่ย้ายไปอยู่แคนาดา เราโบกมือลากันก่อนพระอาทิตย์ตกไม่นานนัก
หลายสัปดาห์ผ่านไป ความรู้สึกหลังจากบทสนทนายังไม่ถูกจัดแจง ด้วยอาจเกิดจากสิ่งที่เราหยุดคิดสักพักแล้วถูกตั้งคำถามอีกครั้ง นั่นคือ ชีวิตคืออะไรและทำไมเราอยู่ในสังคมที่เฉยเมยนัก
ระหว่างวันเหล่านี้ เราเผลอคิดไปว่า โชคชะตาอันร้ายกาจจะบันดาลให้อดีตเกิดขึ้นอีก ทั้งเหตุการณ์บ้านเมืองและเหตุการณ์ส่วนตัว เราอาจไม่มีปัญญาเลี้ยงดูคนที่เรารัก เราอาจต้องกินข้าวยี่ห้อเดียวไปตลอดชีวิต หรือผู้มีอำนาจจะตัดต่อความทรงจำพิกลอีกครั้งและอีกครั้ง ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนพล็อตนิยายดิสโทเปียสักเล่ม
หากแต่ชีวิตไม่ได้อยู่ในแบบร่างนิยายของนักเขียนและเราไม่ใช่ตัวละครใดตัวละครหนึ่งของใคร ไม่ใช่หรือ