‘เพิร์ธ-หฤษฎ์ ศรีขาว’ กับนิทรรศการ ‘Imago’ การเขียนซ้ำบนภาพทรงจำที่เคยพร่าเลือน
“ผีเสื้อจำวันวานตอนเป็นดักแด้ได้ไหม?”
ความทรงจำมีความเสถียรมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นแค่เมฆก้อนกระจัดกระจายที่ลอยไปมา คอยเวลาที่จะเลือนรางไปจากสารบบร่างกายของเราในที่สุด? แล้วถ้าความทรงจำเหล่านั้นไม่ถูกชำระล้างด้วยตัวเราในปัจจุบัน มันจะส่งผลยังไงกับจิตใจและเรือนร่างของเราที่ยังหลงเหลืออยู่บนโลก?
นี่คือประโยคที่วิ่งวนในหัวเราขณะนั่งพื้น ดูนิทรรศการ ‘Imago’ ของ ‘เพิร์ธ-หฤษฎ์ ศรีขาว’ ศิลปินและนักเก็บความทรงจำบนภาพถ่าย ที่ฝากผลงานเกี่ยวกับสิ่งรอบตัว การเมือง สังคม และตัวตนไว้มากมาย
ในงานนี้ เพิร์ธเลือกหยิบ ‘ความทรงจำ’ และ ‘สิทธิเหนือภาพถ่ายของตัวเอง’ มาหลอมรวมกันบนภาพเคลื่อนไหว โดยมี ‘ศิลปะบำบัด’ เป็นตัวกลางในการปลดเปลื้องเรื่องราวที่ค้างคา และทวงคืนสิทธิ์ในการกำหนดความหมายให้กับภาพถ่ายที่เคยถูกฉกฉวยไปใช้ในอดีต
“สุดท้ายแล้วผีเสื้อกระดาษจากเหตุการณ์ไม่น่าจดจำในอดีต จะกลายเป็นแสงตกกระบนพื้น คิดว่า healing มันอาจจะทำงานแบบนั้น”
จอใหญ่ฉายภาพเคลื่อนไหวสะท้อนเงาปีกผีเสื้อ ความทรงจำ การเยียวยา การเปลี่ยนผ่านของเพิร์ธที่หลอมรวม medium ต่างๆ เข้ากับเส้นความทรงจำบางๆ ได้อย่างงดงาม
“มันเป็นเหมือนกับประโยคกว้างๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาเกี่ยวกับเรื่องฝังใจ ความทรงจำ และการเยียวยา” เพิร์ธกล่าว
เรานั่งลงกับเพิร์ธ กด record แล้วปล่อยให้บทสนทนาไหลไปกับภาพเคลื่อนไหวตรงหน้า
ทำไมงานเราถึงยึดโยงกับ ‘ความทรงจำ’?
“จริงๆ เพิร์ธเป็นคนมีปัญหาทางด้านการจำตั้งนานแล้ว งานส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับความทรงจำในวัยเด็กที่มันหายไป ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มทำความเข้าใจกับการหายไปของมันและก็โอเคกับมันมากขึ้น
“ตอนแรกรู้สึกไม่ปลอดภัยมากๆ ที่รู้สึกว่าความทรงจำมันหายไป แสดงว่ามันมีอะไรบางอย่างที่แย่มากๆ หรือความทรงจำมันควรเป็นภาพสะท้อนที่แม่นยำของความจริงในอดีต แต่ว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น มันเหมือนการที่เราเห็นแสงที่มันตกกระทบ แล้วมันก็มีการเลี้ยวเบน มีการหักเห มีการพร่าเลือนของแสง แล้วมันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ คิดว่าความทรงจำมันน่าจะทำงานในลักษณะนั้น
“ในขณะเดียวกัน มันเข้ามาอยู่ในร่างกาย แล้วมันก็ทำให้เราเป็นเราในปัจจุบันและในอนาคต การมีอยู่ของมันมี effect กับเรายังไง น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่ามันเป็นอะไรกันแน่ เพราะจริงๆ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”
กลับไปจัดการความทรงจำที่พร่าเลือนนั้นยังไง?
“รู้สึกว่าร่างกายพยายามหาวิธีในการกลับไปทำงานกับเหตุการณ์ที่มันยังไม่ถูกทำความเข้าใจอีกรอบหนึ่ง มันเป็นเหตุผลที่น่าสนใจที่ร่างกายและสมองหรือว่าสารเคมีอะไรหลายๆ อย่างในร่างกายมันบังคับให้ตัวเราแบบ ‘ไม่ได้นะมึงต้องดูสิ่งนี้’ จะมองผ่านไปไม่ได้
“รู้สึกว่าสังคมหรือองค์ความรู้ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นมันพัฒนาไปมันก็ทำให้พ่อแม่เรียนรู้อะไรบาง แล้วมันก็น่าจะง่ายขึ้นกับผมในการที่จะพูดเรื่องที่มันดูยาก ถ้าเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็เลยรู้สึกว่าจำเป็นต้องแก้ไขสิ่งที่มันเกิดขึ้น ก็เลยไปทำศิลปะบำบัด”
เล่าเรื่องการทำศิลปะบำบัดให้ฟังหน่อย
“ตอนแรกยังไม่ได้เชื่อว่ามันจะเวิร์ค จริงๆ เคยไปหานักจิตบำบัดมาก่อนแล้ว มีคำถามเยอะมาก
จนมาทำศิลปะบำบัด ซึ่งคนที่ทำศิลปะบำบัดกับผมไม่ใช่จิตแพทย์ เขาเป็นรุ่นพี่ซึ่งความสัมพันธ์มันจะมี bias อยู่ ไม่สามารถเป็นผู้รักษาและผู้ถูกรักษาได้เพราะรู้จักกัน เลยตกลงว่า โอเค ความสัมพันธ์เราน่าจะเป็นเหมือนกับรุ่นพี่รุ่นน้องที่มาติวเข้ามหาลัย
“เขาสอนให้ใช้เครื่องมือทางศิลปะเข้าไปดูบาดแผลของตัวเองข้างใน ตอนแรกก็ไม่รู้สึกว่ามันจะเวิร์ค เพราะมันง่ายมาก ก็คือนอนแล้วก็พยายามที่จะถามตัวเอง มันมาจากรากของ Soma คือเราเห็นตัวเองจากข้างใน แค่พยายามฟังร่างกายว่ามันมีตรงไหนที่เราไม่สบายใจและความไม่สบายใจมันเกิดจากความเจ็บปวดที่มันผนึกอยู่ตรงส่วนไหนของ anatomy”
จากศิลปะบำบัด กลายมาเป็นงานนี้ได้ยังไง?
“งานมันเริ่มต้นจากเอกสารเกี่ยวกับเรื่องตอนนั้น ที่ผมรวบรวมเอาไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งสุดท้ายก็ไม่แข็งแรงพอที่จะไปต่อ ตั้งใจจะฟ้อง 2 ครั้ง ครั้งแรกก็ล้มเหลว ครั้งที่ 2 ก็ล้มเหลว มันก็เลยมี material เยอะมาก
“ยอมรับว่าโกรธมากที่ข้อมูลของเราถูกโพสต์ในอินเทอร์เน็ต โดยที่เราไม่ยินยอม เราโกรธที่แบบทำไมตอนนั้นไม่มีคนช่วยเราเลยวะ มันมีความโกรธและความอัดอั้นบางอย่าง
“เราเริ่มต้นด้วยการเอาเอกสารทั้งหมดไปหาพี่ออมนักทำศิลปะบำบัด ไม่รู้จะทำยังไงกับมัน มันใหญ่มาก สิ่งที่ทำกันก็คือฉีกให้มันเล็กลง ฉีกไปเรื่อยๆ แล้วก็ขยำ แล้วก็เอาดินมากลบ มันเลยออกมาเป็นตัวละครแรกที่อยู่ในหนังครับ ไอ้ก้อนกลมที่มีตาผุดขึ้นมา ตัวละครนั้นเหมือนเป็นตัวละครแรกเลยที่เราสามารถคุยกับมันได้ตอนทำศิลปะบำบัด
“ตอนแรกกลัวมันมากเลยนะ โห มันมีตาเยอะมาก เพราะมันคือตาของคนอื่นที่มาดูเรา คิดว่าหลังจากที่ทำศิลปะบำบัดพร้อมๆ กับทำงานนี้ไปด้วย วิธีการจัดการกับไอ้ material กองใหญ่ๆ มันก็ซับซ้อนมากขึ้น อ่อนโยนมากขึ้น และสุดท้ายมันก็ถูกเปลี่ยนรูปทรงได้จริงๆ เปลี่ยนข้างในได้จริงๆ สุดท้ายแล้วมันกลายเป็นสิ่งอื่น”
อยากเล่าอะไรผ่านงานนี้?
“นิทรรศการนี้มันก็เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ ผมมีความอัดอั้นกับการถูกคอนโทรลหรือถูกฉกฉวยอะไรบางอย่าง
“จริงๆ ไม่ได้คิดว่าคนจะต้องรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไม่ดี เพราะเชื่อว่าหลายๆ คนก็น่าจะผ่านอะไรบางอย่างที่ตัวเองพยายามที่จะผ่านมันน่ะ ไม่ว่าสิ่งนั้นมันจะเป็นอะไรก็ตาม แต่คิดว่าสิ่งที่ให้ความสำคัญคือความเชื่อและความหวังที่เรามีร่วมกันในการ healing ตัวเอง
“อย่างงานนี้ ผมภูมิใจมากเพราะเพราะมันคือผีเสื้อกระดาษที่ผมตัดจากกองเอกสารนั้นจำนวน 300 กว่าตัว สุดท้ายแล้วผีเสื้อกระดาษที่เกิดจากเรื่องราวที่เราพยายามจะก้าวผ่านมันไป จะกลายเป็นแสงที่ตกลงบนพื้นน่ะ คิดว่า healing มันอาจจะทำงานแบบนั้น
“มันทำงานกับวัตถุดำๆ ที่ดูน่าเกลียด แล้วเราเปิดแสงให้มันเข้ามาแล้วมันสะท้อน วัตถุดำๆ นั้นให้กลายเป็นแสงสว่างอะไรบางอย่าง คือมันมีการ transform จากประสบการณ์ที่มันโดดเดี่ยวมาเป็นแสงและเงาที่สร้างบทสนทนาบางอย่าง
“งานทุกชิ้นในนี้น่าจะเป็นแค่กระบวนการที่เราพยายามจะเปลี่ยนสิ่งที่มันน่ากลัวให้กลายเป็นสิ่งที่เราไม่กลัวมัน ไม่ว่าจะเป็นแบบเปลี่ยนข้อความที่มันแย่มากๆ กลายเป็นผีเสื้อกระดาษ กลายเป็นแสง เปลี่ยน footage ที่น่ากลัวมากๆ ให้มันกลายเป็นภาพยนตร์ เปลี่ยนภาพถ่ายที่มันดูแข็งทื่อมากๆ ให้มันไปพริ้วไหวในน้ำ”
ชอบ Medium ไหนที่สุด?
“น่าจะเป็นสีฝุ่นลงบนกระดาษ ความพิเศษของงาน animation นี้มันก็คือการปริ้นท์รูปแบบ Negative ลงบนกระดาษซึ่งมันจริงๆ ไม่ต้องปริ้นท์ก็ได้ แต่ว่าผมทำมาตั้งแต่เด็กแล้ว เป็นกับกระบวนการเปลี่ยนสีให้เป็นสีตรงข้าม เพราะว่าเราไม่ต้องการให้คนอื่นเห็น เราต้องการเห็นมันคนเดียว
“แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องการทำให้มันจับต้องได้ นั่นคือสาเหตุที่เราปริ้นท์แล้วสีมันก็เป็นสีตรงข้ามของโลกนี้ แล้วก็สีฝุ่น ซึ่งเราก็กึ่งๆ เลือกสีไม่ได้เพราะว่าในความเป็นจริงแล้วสีที่เราเลือกมันจะเป็นตรงข้ามกับสีที่เราใช้
“มันน่าสนใจเพราะว่าในเวลาบำบัด เขามักจะเชิญชวนให้เราใช้มือที่เราไม่ถนัด เพราะว่ามือที่เราถนัดเราจะควบคุมมันได้ ซึ่งพอผมระบายมันไปเรื่อยๆ แล้วผมไปถ่ายซ้ำ มันก็กลายเป็นสีที่ผมไม่คิดว่ามันจะเป็น รู้สึกว่ามันพิเศษ กระบวนการมันคือการทำซ้ำมันไปเรื่อยๆ
“ซึ่งไอ้วิธีการทำซ้ำไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ทำให้มันเป็น animation มันก็จะเป็นเหมือนกับซ้ำไปเรื่อยๆ แต่ว่าพอมันเป็น animation มันมีการเคลื่อนที่ของเวลาจากจุด A ไปจุด B แล้วผมรู้สึกว่ามันสำคัญมากกับการที่เราจะก้าวผ่านบางอย่าง เราต้องมีอำนาจในการทำเวลาของเราให้เคลื่อนที่ เหมือนกับอำนาจในการบอกว่าจุด A คืออดีตจุด B คือจุดที่เรากำลังจะไป
“ภาพยนตร์ที่เราทำเองมันมีอำนาจตรงนี้ชัดเจนมากๆ”
เข้าใจตัวตนในอดีตมากขึ้น?
“จริงๆ footage ที่มันค่อนข้าง explicit มากๆ ในวิดีโอเนี่ย การปะทะครั้งแรกของผมกับมันน่ะมันคือที่เยอรมันดินแดนไกลๆ เลย แล้วมันคือ footage ที่เคยถูกเอาไปใช้โดยที่ผมไม่ยินยอม มีคนเอาไปฉายในเทศกาลศิลปะ
“ซึ่งการปะทะกันมันทำให้ผมไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นตรงหน้า เด็กคนที่ผมเห็นน่ะมันดูไม่ใช่ผม เราไม่เข้าใจว่าทำไมถึงทำอย่างนั้น เหมือนกับผมปล่อยให้เด็กคนนี้โดดเดี่ยวไปเลยเพราะว่าผมไม่อยากที่จะยุ่งเกี่ยว ผมอยากที่จะลบมันไป
“ตอนที่ผมทำศิลปะบำบัดอยู่ ผมได้ยินเสียงตัวเองในอดีต มันเป็นเสียงที่สุภาพและอ่อนโยนมากเลย ถามผมว่า ‘ไปอยู่ไหนมา?’ เสียงในตัวเองเมื่อเรากลับไปหาเขา
“ผมมักจะเรียกแทนผมในวิดีโอว่า ‘เด็กคนนั้น’ แต่ว่าอาทิตย์ที่แล้วผมเรียกว่า ‘ตัวผม’ รู้สึกว่ามันมีการ reconnect อะไรบางอย่าง อยู่ๆ ก็รู้สึกไม่กลัวแล้ว ตั้งแต่ 18 จนถึง 28 ตลอด 10 ปีเหมือนอยู่ในความกลัวตลอดเวลา แม้กระทั่งตอนที่ทำสิ่งนี้อยู่ แต่อยู่ๆ มันก็ไม่กลัวแล้ว”
สุดท้ายผีเสื้อกระดาษ ก็จะกลายเป็นแสงแวววับที่ตกกระทบลงบนพื้น การกลับไปพูดคุยกับตัวตนเก่า ภาพความทรงจำที่ผ่านการเขียนซ้ำด้วยตัวตนใหม่ ปลดปล่อยเราจากเรื่องราวที่ฉุดรั้ง ทิ้งบทเรียนให้เราได้วิพากษ์สิทธิเหนือภาพลักษณ์และเรื่องราวของตนเอง
นิทรรศการ ‘IMAGO’ เปิดให้เข้าชมถึงวันเสาร์ที่ 30 พ.ย. 2567 (พุธ-เสาร์ 13:00–18:00) ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY
ติดตามผลงานของเพิร์ธต่อได้ที่ IG: @haritsrikhao