คุยกับ ‘ปูเป้-สุพิชชา มั่นคง’ เมื่อไวน์คือเรื่องเล่า และซอมเมอลิเยร์คือนักเล่าเรื่อง
ทำไมเราถึงฟังพอดแคสต์ที่เขาคุยกันเรื่องสนุกๆ ได้เป็นชั่วโมง แถมยังกด EP ต่อไปอย่างไม่ลังเล? อาจเป็นเพราะพลังของ ‘เรื่องเล่า’ มันสะกดให้เราต้องมนต์ท็อปปิกนั้นๆ ตกอยู่ในภวังค์ของการเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ
อีกหนึ่งอาชีพที่มีเรื่องเล่าเป็นน้ำรินเลี้ยง ก็คือ ‘ไวน์ซอมเมอลิเยร์’ (Sommelier) นักเล่า ‘เรื่องไวน์’ ที่คอยแนะนำไวน์ที่ถูกต้องในราคาที่ถูกใจให้นักจิบทั้งหลาย นอกจากจะต้องเข้าใจไวน์อย่างถ่องแท้แล้ว ยังต้องเป็นนักเล่าที่สามารถส่งต่อสตอรี่ของแต่ละขวด ให้ลูกค้าเคลิบเคลิ้มไปกับทั้งรสชาติ และเบื้องหลังเรื่องเล่าที่ชวนลิ้มลอง
เราเลยชวน ‘ปูเป้-สุพิชชา’ ซอมเมอลิเยร์จาก No Bar Wine Bar ที่หลงใหลในการเล่าเรื่อง และอยากให้ไวน์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน มาจิบไวน์คุยกันช่วงกลางวัน เป้พาเราเดินดูร้านและคลังไวน์รอบๆ ก่อนจะกดอัดเสียงและนั่งคุยกัน
ปูเป้เริ่มเส้นทางจากการเรียนเชฟที่โรงเรียนสอนการประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต จับพลัดจับผลูได้เข้ามาอยู่ในเส้นทางไวน์ด้วยแพชชั่น นอกจากเธอจะหลงไหลเรื่องไวน์แล้ว เป้ยังมีอนิเมะเป็นอีกสตอรี่ที่เธอตกหลุมรักมาตั้งแต่เด็กด้วย ดูได้จากกระเป๋าที่ติดเข็มกลัดตัวการ์ตูนจากอนิเมะเรื่องโปรดเอาไว้ทุกมุม แล้วเป้ก็เริ่มรินเรื่องราวเส้นทางของเธอให้เราฟัง
ตกหลุมรักไวน์ตั้งแต่เมื่อไหร่?
“เป้เริ่มจากการเรียนเชฟอาหารฝรั่งเศสค่ะ ช่วงที่เรียนคลาส ‘Food and Wine Pairing’ ได้ชิมไวน์หวานคู่กับอาหาร จิบแรกคือไวน์ปี 2006 ทั้งห้องชอบมาก มันหวานแบบคาราเมลหรือไซรัปเลย เรารู้สึกชอบมากๆ เลยอยากรู้สึกสิ่งนี้เพิ่มขึ้น เพราะคาแรคเตอร์ของไวน์ไม่ได้มีแค่ขาวกับแดง”
โมเมนต์ไหนที่เราตัดสินใจจะเป็นซอมเมอลิเยร์?
“การเดินเข้ามาในสายอาชีพนี้มันไม่ได้เดินเข้ามาแบบ โอเควันนี้ฉันจะเป็นซอมเมอลิเยร์ มันเร่ิมจากเราเป็นคนชอบดื่มก่อน แล้วเพื่อนมาคุยกับเราว่าตอนนี้อาชีพนี้มันขาดแคลนนะ อยากลองทำมั้ย มีโอกาสเข้ามาพอดี
“นอกจากเราจะชอบไวน์แล้ว แล้วอยากให้คนอื่นชอบไวน์เหมือนๆ กับเรา มาฟังสตอรี่ของไวน์แต่ละขวดจากเรา ลูกค้าได้ทำความรู้จักไวน์ และตัวเราเองไปพร้อมๆ กัน เราเลยรู้สึกสนุกกับอาชีพนี้มากขึ้น ศาสตร์ของเครื่องดื่มมันคือการสื่อสารบางอย่าง ทั้งซอมเมอลิเยร์กับผู้ดื่ม และผู้ดื่มกับผู้ดื่มกันเองด้วย”
จะเป็นซอมเมอลิเยร์ต้องเริ่มจากอะไร?
“เริ่มจากการทำความรู้จักกับสิ่งที่ตัวเองดื่มก่อนก็ได้ เช่น สมมติเราชอบไวน์ขาวตัวนี้ เราก็ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจากขวด จากฉลากก่อนก็ได้ ว่าองุ่นที่ใช้มาจากไหน จากนั้นเริ่มอ่านเพิ่มเติมเรื่องสายพันธุ์ได้เช่นกัน แต่เป้คิดว่าการชิมรสชาติ มันสื่อสารได้ดีที่สุด เริ่มจากการทำความรู้จักมันก่อน เรื่องการบริการ การทำให้คนรักในสิ่งที่เรารักมันจะตามมาเอง”
เป็นซอมเมอลิเยร์ต้องมีสกิลอะไรบ้าง?
“สกิลแรกที่ต้องมีคือการสื่อสารค่ะ การทำอาชีพซอมเมอลิเยร์หัวใจของมันคือการพูดคุย เราต้องพูดถึงความจริงของขวดนั้นให้ลูกค้าเข้าใจ เช่น ไวน์ตัวนี้เปรี้ยว เราจะพูดยังไงให้ลูกค้าไม่รู้สึกว่าแก้วนี้กินแล้วเปรี้ยวจนน้ำลายไหล เราอาจจะเปลี่ยนเป็นขวดนี้รสชาติสดชื่นแทน กินแล้วเฟรช หรือไวน์ที่มีกลิ่นดินๆ เราอาจจะต้องพูดให้ซอฟต์ลงว่าเป็นผลไม้ป่า ได้กลิ่นอายน้ำตก เพื่อสร้างภาพในหัวลูกค้า ถ้าเราใช้คำอธิบายคีย์หลักของขวดนั้นได้ดี มันก็จะช่วยให้ลูกค้าเข้าใจสิ่งที่เราจะขายได้มากขึ้น เราต้องพูดให้ขวดนั้นมันมีเสน่ห์ขึ้นมา
“ต่อไปคือฮาร์ดสกิลเลยค่ะ (หัวเราะ) การเปิดขวดสำคัญมากๆ ความรู้เรื่องการเปิดขวดแต่ละชนิด รู้จักแก้วแต่ละแบบ การรินไวน์ เป็นพื้นฐานของอาชีพนี้เลย ทั้งการเช็ด และการล้าง ถ้าให้เปรียบเทียบแก้วเป็นลำโพง ไวน์ก็คือเพลง เราต้องรู้ว่าแก้วแบบไหนสำหรับไวน์อะไร ใช้คู่กันแล้วมันชูรสชาติหรือประสบการณ์ลูกค้ายังไง”
“ต้องเป็นนักชิมที่ดีด้วยค่ะ ส่วนตัวไม่เคยคิดว่าไวน์ไหนอร่อยหรือไม่อร่อย ทุกอย่างมันเป็นไปตามความชอบของคน แต่ในฐานะซอมเมอลิเยร์เราแค่ต้องดูว่ารสชาติประมาณนี้มันเป็นไปตามราคามั้ย คุณภาพต้องตรงตามราคา
“ส่วนเรื่องพาเลตต์ แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ละคนรับรสได้ไม่เหมือนกัน มันค่อนข้าง personal แต่เราต้องจับ balance ของมันให้ได้ เช่น มันฉ่ำแล้วมี acid จบมั้ย ฝาดอย่างเดียวรึเปล่า แต่หลักการทำงานในการเลือกซื้อไวน์ หรือสื่อสารกับลูกค้าเราต้องพูดรสชาติที่เป็นกลางๆ ไว้ก่อน อาจจะใช้ความรู้สึกส่วนตัวมากไม่ได้ เพราะพาเลตต์คนเราไม่เหมือนกัน”
ดูเหมือนต้องจำเรื่องราวแต่ละขวดเยอะมาก ต้องเป็นนักจำที่ดีด้วยมั้ย?
“ใช่ค่ะ ต้องใช้เวลามากๆ ทุกวันที่ทำงานเราต้องเทส by the glass คลุกคลีกับไวน์ที่มีไปเรื่อยๆ อย่างที่ร้านตอนนี้มีเกือบ 400 ฉลาก เราก็ต้องค่อยๆ เรียนสตอรี่ของแต่ละขวดไป ในแต่ละเดือนเราก็ต้องไป wine tasting แต่เป้จะจดโน๊ตไว้ตลอดว่าเป้ได้ลองอะไรมาบ้าง”
จะเป็นซอมเมอลิเยร์ต้องสอบไหม?
“ในไทยตอนนี้มี WSET (Wine and Spirit Education Trust) เหมือนสากลทั้งโลกเลยค่ะ มีสอบหลายเลเวลด้วย แต่ส่วนมากเท่าที่เป้รู้จักพี่ๆ ในวงการ บางท่านก็เริ่มจากการเป็น service ก่อนแล้วเริ่มทำความรู้จักไวน์มากขึ้น แล้วก็ขยับตัวมาทำงานซอมเมอลิเยร์ สมัยก่อนน่าจะไม่มีการสอบประเภทนี้นะ
“เลเวลแรกๆ ก็เป็นข้อสอบช้อยส์ทั่วไปเลยค่ะ มีข้อเขียนด้วยเล็กน้อย พอเลเวลสามก็เริ่มมีการ blind taste เขาจะไม่ถามลึกว่าองุ่นประเภทนี้มาจากที่ไหน แต่อาจจะเป็นเรื่อง body ของไวน์ ความเข้มข้น หนาบางของน้ำองุ่น เรื่อง acidity ตอนจบว่าเราน้ำลายไหลมากแค่ไหน เพื่อทดสอบว่าพาเลทรับรสของเราคงที่ไหม ถ้าเราสามารถบอกได้ว่าอะไรอยู่ในเลเวลไหน ก็ถือว่าเรามีพาเลตต์ที่ปกติ
“คนทั่วไปที่อยากรู้จักไวน์ก็สามารถสอบได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องสอบเพื่อเป็นซอมเมอลิเยร์เท่านั้น”
มีข้อจำกัดอะไรมั้ยในการเป็นซอมเมอลิเยร์ เราต้องใช้ต่อมรับรสทุกวัน มีวิธีการดูแลตัวเองยังไง?
ข้อจำกัดจริงๆการทำงานเซอร์วิส ยากที่จะได้หยุดตรงกับคนอื่นๆ ได้เจอเพื่อนๆ ครอบครัวจะยากขึ้นค่ะ ปกติงานด้านนี้ไม่ได้หยุดเสาร์ อาทิตย์อยู่แล้วค่ะ และเวลาการทำงานส่วนมากก็ทำงานเวลากลางคืนจะไปเที่ยวหรือเจอใครจะยากนิดหน่อยค่ะ
วิธีดูแลตัวเองก่อนหน้านี้เป้เป็นกรดไหลย้อนค่อนข้างหนักเลย กรดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะดื่มน้ำ ทานข้าว จนหมออยากให้งดแอลกอฮอล์เลยค่ะ เลยมีช่วงนึงงดเลยค่ะ มีแต่บ้วนบ้าง ก็ปรับตัวกินอาหารให้ตรงเวลา แบบว่าไม่กินดึกค่ะ และดื่มน้ำเปล่ามากๆ ก็ดีขึ้นจริงๆค่ะ และเรื่องรสเป้ว่าอันนี้แล้วแต่คนเลยค่ะ
ความท้าทายของการเป็นซอมเมอลิเยร์?
“ช่วงแรกมันกดดัน เราแอบช็อกนิดนึง ไวน์มันมีมูลค่า ลูกค้าจ่ายเงินไปแล้ว เขาอยากได้ไวน์ที่ดีที่สุด เราเลยต้องเลือกอย่างดี ถ้าไวน์มันดันเสียขึ้นมาหรือค็อกหักเราจะทำยังไง ทำยังไงให้ลูกค้าคุ้มค่าที่สุด ไม่ต้องเสียดายเงิน
“แต่ข้อดีของมันคือเราได้รู้จักไวน์เยอะ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ไวน์มันไม่มีวันหมดไปจากโลก เรารู้จักไวน์ 400 ฉลากจากร้านเราแล้ว แต่มันยังมีอีกไวน์อีกเยอะมากๆ นอกร้านให้เราได้ทำความรู้จัก ยิ่งเรารู้จักเยอะ เราก็ยิ่งแนะนำลูกค้าได้ง่ายขึ้น”
เล่าประสบการณ์ทำงานเป็นซอมเมอลิเยร์ครั้งแรกให้ฟังหน่อย
“ทำที่ร้าน fine dining ค่ะ เป็นสไตล์ใส่สูทหน่อย ตอนนั้นเป้อายุแค่ 22 พอเราใส่สูทส่งไวน์แล้วเรารู้สึกว่า มันยากจังที่ลูกค้าจะได้รู้จักสิ่งนี้ สิ่งที่เราอยากสื่อสารมันควรง่ายกว่านี้ เราอยากให้คนเข้าถึงมันได้ง่ายกว่านี้ แต่มันก็สนุกไปอีกแบบนะ เป้ได้สกิลหลายๆ อย่างจากที่นั่น เรื่องการเปิดขวด sparkling มารยาท การใช้คำพูดเอย แต่พอเรามาร้านที่แคชชวลกว่า เราเหมือนเป็นเพื่อนกับลูกค้า วันนี้เหนื่อยมากเลยมีอะไรให้กินมั้ย ก่อนกลับบ้านขอ by the glass แก้วนึงนะคะ มันต่างกันแต่ก็สนุกกันคนละแบบ”
เป้ต้องทำการบ้านยังไงบ้าง?
“ยากมากๆ เลยค่ะ เพราะแต่ละครั้งที่เราจะทำความรู้จักไวน์ เราเปิด by glass แต่ละทีก็ราคาสูงมากแล้ว บางทีลูกค้าเปิดไวน์เราก็มีโอกาสได้เทสก่อนบ้าง หรือไปตามงาน testing บ้าง ก่อนเราจะขายเราก็ต้องเตรียมตัวเรื่องพื้นที่ ภูมิอากาศ ระดับนึง เช่น องุ่นนี้ปลูกที่ไหน สภาพอากาศเป็นยังไง ดินนี้ให้อากาศที่เย็นหรือร้อน หมู่บ้านเขาอยู่ตรงไหน อาจจะต้องใช้กึ่งๆ ความคาดเดานิดนึง แต่เราจะเห็นภาพเลยว่าองุ่นนี้จะมีรสชาติแบบไหน
“ถ้าเป็นองุ่นที่ปลูกจากดิน kimmeridgian soil หอยนางรมที่ตายไปแล้ว ไวน์ก็อาจจะมีเค็มปลายๆ อาจมีรสชาติที่ elegant ขึ้น ตรงนี้แหละคือจุดที่เราสามารถคาดเดารสชาติได้ แต่ยังไงเราก็ต้องทำการบ้านเยอะมากๆ เลยค่ะ เพราะมันมีเรื่องภูมิประเทศที่หลากหลายมากๆ ”
กลุ่มลูกค้าตอนนั้นเป็นใครบ้าง?
“เป็นผู้ใหญ่ค่ะ ส่วนมากเป็นคนที่อยากรู้จักไวน์จากพื้นที่ที่ไม่เหมือนกัน ไวน์ Bordeaux ไวน์ Burgundy แล้วแต่ selection ค่ะ กว่าของจะมาถึงที่นี่ กรรมวิธีทำ history ของมัน กว่าจะออกมาเป็นขวดๆ นึง กว่าจะเป็นราคานี้ส่งให้ลูกค้า เราต้องรู้จักของที่เราขาย ไวน์ขวดนึงราคา 4,000 บาท เราพูดแค่ว่า อร่อยค่ะ ไม่ได้ โปรดิวเซอร์คนนี้เป็นใคร เขาทำอะไรมาก่อน เราต้องเล่าได้ว่าหมักแบบไหน บ่มแบบไหน สตอรี่มันสร้างมูลค่าให้ไวน์ได้”
ตัวตนของเราเปลี่ยนไปมั้ยจากการขยับมาทำงานร้านที่มี selections เยอะขึ้นมากๆ อย่าง No Bar Wine Bar?
“ตอนทำงานที่ fine dining เราตั้งคำถามว่าทำไมไวน์ราคาขนาดนี้ แต่เวลากินเราไม่สนุก ทำไมทุกอย่างมันดูยาก
“ตอนนั้นเราต้องเป๊ะมาก ท่าทางการเปิดไวน์ การ service ลูกค้า พอเราเอามา adapt กับการทำงานที่นี่ก็จะต่างกันเล็กน้อย ถ้าที่ No Bar Wine Bar ก็จะชิลหน่อยแต่เราก็ยังต้องเป๊ะ แต่ต้องเป๊ะในแบบที่เข้าถึงง่าย
“เราคุยกับพี่อายว่าเราไม่เคยกินไวน์ที่ร้านเลยสักขวดเลยนะ แต่เราอยากเรียนรู้กับมัน ไวน์ที่นี่มันผ่านฟิลเตอร์ของร้านที่มันโอเคมากๆ ลูกค้าได้เข้ามาจ่ายเงิน 1500 1200 หรือ by glass 350 บาท แต่เค้าได้รู้จักสตอรี่ของมันจริงๆ ”
เป้มีวิธีเล่าสตอรี่ของไวน์ยังไง?
“เป้ว่าเราใช้ความรู้สึกของเราเป็นตัวเล่าเรื่องด้วย ถ้าพูดแต่ facts อย่างเดียว ไม่ว่าพารากราฟที่ท่องมาจะยาวแค่ไหนก็ตาม แต่คุณไม่มีความรู้สึกร่วมไปกับไวน์เลยก็คงจะไม่ได้ บอกไปตามจริง ดินนี้เป็นแบบนี้ องุ่นนี้เป็นแบบนี้ อีกชั้นที่เป้ต้องคิดคือแล้ว facts เหล่านี้มันให้ความรู้สึกอะไรกลับมา แล้วเป้ก็แอดเพิ่มไปว่า มันจะให้ความหอมเพิ่ม มันจะ floral มากขึ้นหน่อย วันนี้ถ้าเหนื่อยๆ เป้ว่าลองเป็นอะไรสดชื่นๆ ดีมั้ย พอเราใส่ความรู้สึกลงไปมันทำให้เราจำทั้งของที่เราขายได้ จำทั้งลูกค้าที่เราส่งต่อให้ได้ด้วย
“การจับมู้ดของลูกค้าในแต่ละวันก็สำคัญนะ บางทีเราเอามาจับกับคาแร็คเตอร์ของไวน์ เช่น ถ้าลูกค้าดูเศร้าๆ มาร้านเราเค้าก็น่าจะอยากรู้สึกดีขึ้น เราก็อาจจะลองหาไวน์ที่มีสตอรี่น่ารักๆ ไม่เครียด เป้เคยดูซีรีส์เรื่องนึงมาชื่อ Itawon Class พ่อในเรื่องเค้าสอนลูกว่า ‘พอมีความสุขเหล้าหวาน ตอนเศร้าเหล้ามันขม’ เราเลยรู้สึกว่าถ้าเขาเศร้ามา เขาดื่มอะไรก็ขมไปหมด เราเอาใจใส่เค้านิดนึง ดูแลเค้าดีหน่อย อย่างน้อยเค้าจะได้ความสบายใจกลับไป ไวน์สดชื่นๆ อาจช่วยให้เค้ารู้สึกดีขึ้น หรือเราให้ขนมหวานเขาเพิ่ม ก็เป็นการเติมเต็มความรู้สึกเขาอีกทางหนึ่ง”
สิ่งที่น่าจดจำที่ลูกค้าเคยพูดกับเป้?
“ล่าสุดมีลูกค้าจากสงขลามาที่ร้าน No Bar Wine Bar เขาบอกว่าที่นี่ทำให้รู้ว่าไวน์มันไม่ได้ยากอย่างที่คิด เราพยายามเข้าใจเขา เขาเคยกินแบบไหน เขาควรลองอะไร ร้านเรามีอีเวนต์อะไรบ้าง คือทุกคนที่เดินเข้ามาที่ร้านนี้ จำทุกคนในร้านได้ ไม่ว่าจะเป็นเป้ พี่ๆ service พี่ๆ หลังบาร์ เชฟ เมเนอเจอร์ ทุกคนมีตัวตนที่นี่ เรารู้สึกว่ามันทำให้ลูกค้าสนิทกับเรา เหมือนเขาได้มาเจอเพื่อน
“ที่ร้านเราไม่มี dress code ของทีม เราใส่อะไรก็ได้ที่เป็นเรา เราสื่อสารตัวตนจริงๆ ของเราไปถึงลูกค้าได้ มันทำให้ลูกค้ารู้จักเราจริงๆ ไม่ผ่านยูนิฟอร์มอะไรที่ดูเข้าถึงยาก”
ต้องกินไวน์เป็นเท่านั้น ถึงจะเอ็นจอยกับไวน์ได้จริงมั้ย?
“การมาดื่มไวน์แค่กินเข้าไปก็คือกินได้แล้ว แค่มาสนุกกับเพื่อนก็เติมเต็มวันนั้นของคุณได้แล้ว ไม่จำเป็นต้อง ‘เห้ย รู้เปล่าว่าดื่มไรอยู่?’ ไม่จำเป็นต้องรู้ แต่ถ้ารู้ว่าชอบอะไรแล้ว ครั้งหน้าถ้ามาอีก เราก็สามารถแนะนำต่อได้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดความว่าเรากินเป็นหรือไม่เป็น แค่โมเมนต์นั้นกินแล้วมีความสุขก็พอแล้ว”
แสดงว่าต้องเจอนักจิบมือใหม่ที่ร้านเยอะ มีวิธีแนะนำไวน์ยังไง?
“ส่วนมากจะบอกว่าอยากได้ไวน์ที่กินง่าย ส่วนตัวเป้ว่าไม่มีตัวไหนที่กินยากหรือง่าย โอเคเราอาจจะเจอบางตัวที่กินยาก แต่มันต้องยากแต่กินได้ เป้จะถามก่อนว่าเขาชอบรสชาติแบบไหน ชอบติดหวานไหม ชอบฝาดไหม ชอบแดงหรือขาว หรือถ้าเขาไม่เคยกินไวน์เลย เราอาจจะถามดูก็ได้ว่า เวลากินชานมไข่มุกกินหวานกี่เปอร์เซ็นต์ เอาความหวานมาเทียบกันดู ค่อนข้างชิลมากๆ ในการเลือกไวน์ที่นี่”
เราจะทำยังไงให้ไวน์เข้าถึงได้ง่ายสำหรับคนรุ่นใหม่?
“เวลาเป้ชวนเพื่อนมาร้านไวน์ เพื่อนก็จะเขินๆ เอ๊ะ เรากินตัวไหน ราคาไหนดี เป้ว่าเรื่องราคามันพูดถึงกันได้ บอกงบมาเลยเดี๋ยวเราหาไวน์ที่คุณจ่ายไหวให้ได้เลย คนรุ่นใหม่น่าจะเข้าถึงไวน์ได้ง่ายกว่าในร้านที่เป็นกันเอง ไม่ได้มีชุดสูทมากั้นระหว่างเรากับลูกค้า
“ไวน์เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของคนรุ่นใหม่นะเป้ว่า มาเดตกันไวน์มันอาจจะทำให้โมเมนต์ต่างๆ ดีขึ้น บรรยากาศเอย service เอย มันทำเขาจำวันนั้นได้ จำไวน์ได้ จำเราได้ ปัจจัยหลายๆ อย่างรวมกัน ไวน์มันโรแมนติก และเป็นเครื่องดื่มที่ใช้ความรู้สึกเยอะ เวลาเรามาดื่มไวน์กับเพื่อนเราก็แชร์ความรู้สึกนั้นกันเป้ว่าตรงนี้สำคัญ”
ถ้าต้องนิยามเส้นทางการเป็นซอมเมอลิเยร์ของเราด้วยคำๆ หนึ่ง เป้อยากนิยามมันว่าอะไร?
“การเอาใจใส่ มันคือการแชร์ความรู้สึกกับคนที่อยู่ตรงหน้า คำนี้ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ไหน เพื่อน พี่ที่ทำงาน ครอบครัว ลูกค้า ถ้าเราเข้าใจว่าวันนี้เขารู้สึกยังไง มันอาจจะช่วยให้การเลือกไวน์มันง่ายขึ้น การเข้าอกเข้าใจคน มันเหมือนเป็นการดูแลเขาอีกแบบหนึ่ง
“จริงๆ มันคือสิ่งที่เป้ชอบที่สุดในการได้เป็นซอมเมอลิเยร์ และเป็นคำที่สำคัญกับเป้ในฐานะคนๆ หนึ่ง เป้เอาไว้นิยามทุกๆ อย่างที่เป้ทำเลยค่ะ”
เห็นว่าเร็วๆ นี้จะทำ podcast เกี่ยวกับไวน์ด้วย แอบเล่าให้ทีม EQ ฟังก่อนได้มั้ย?
“เป้มีโอกาสไป wine tasting มาค่ะ แล้วไปเจอน้องคนหนึ่งชื่อต้นหอม เป็นซอมที่เด็กมากๆ อายุ 22 พอได้เจอคนที่อายุไล่เลี่ยกัน เลยคิดว่าเราน่าจะแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับไวน์ได้ เรามีสิ่งที่คิดไม่เหมือนกันหลายๆ อย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่เราคิดเหมือนกันคือ เราอยากให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักไวน์มากขึ้น เข้าถึงไวน์ได้ง่ายขึ้น ให้ไวน์เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มในชีวิตประจำวันของคนรุ่นใหม่
“เป้อยากทำให้เรื่องไวน์มันย่อยง่าย เช่นในหนังเรื่องนี้มีไวน์อะไร ไวน์แต่ละขวดถ้าเป็นคนจะมีคาแรคเตอร์แบบไหน เล่าเรื่องผ่านตัวองุ่น เรื่องไวน์ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน แต่ก็มีสายเนิร์ดด้วยเช่นกันน้องต้นหอมจะมี channel ย่อยในช่องหลัก พูดเรื่องอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์ของไวน์ด้วย เราถนัดกันคนละเรื่อง แต่มีเป้าหมายเดียวกัน”
นอกจากไวน์แล้ว เป้ยังมีอย่างอื่นที่ spark joy ในชีวิตอีกไหม?
“ช่วงนี้ที่อินมากๆ ก็การ์ตูนญี่ปุ่นค่ะ เริ่มชอบมันตั้งแต่ ป.4 ดูประปรายตามช่องเก้า ตั้งแต่ยังไม่มีให้ดูในยูทูป แต่พอเจอเพื่อนๆ ที่ดูเหมือนกัน คิดเหมือนกัน เรารู้สึกว่ามันเชื่อมเรากับคนได้ ทำให้เรารู้จักเพื่อนคนนั้นมากขึ้น มันรีเลทกับไลฟ์สไตล์ของเป้นะ บางทีลูกค้าที่ร้านก็แนะนำการ์ตูนให้ดูเหมือนกันค่ะ
“เป้เองก็คอสเพลย์เองด้วย สะสมมังงะ ซื้อแผ่นซีดีถูกลิขสิทธิ์เลย เพราะทุ่มเทกับมันมากๆ ตั้งแต่เด็ก พออยู่มหาลัยก็ดูการ์ตูนตามซีซั่นเลยค่ะ มีลิสต์ไว้ด้วยว่าเรื่องไหนต้องดู ชอบเรื่องที่ดราม่าเป็นพิเศษ การเมืองอะไรแบบนี้ก็ชอบค่ะ Attack on Titan ก็ชอบ
ทำไมถึงชอบดูอนิเมะที่มีความดราม่าเป็นพิเศษ?
“ความดราม่ามันให้ความรู้สึกว่าเราสัมผัสถึงตัวละครได้มากขึ้น ชอบพวกที่ดูแล้วร้องไห้น้ำตาซึม ชอบความลึกซึ้งของเรื่องนั้นๆ ชอบเวลาที่ดูแล้วมัน reflect กับชีวิตเรา เหมือนที่น้าต๋อยเซมเบ้บอกว่า การ์ตูนมันไม่ไร้สาระหรอก มันให้อะไรกลับมาเสมอ”
มีเรื่องไหนที่ชอบเป็นพิเศษไหม?
“เรื่อง Sousou no Frieren คำอธิษฐานของการจากลา ค่ะ มันให้ข้อคิดชีวิตมากๆ พอเราเสียบางอย่างไป เราจะกลับมาคิดว่าทำไมตอนเรามีของสิ่งนั้นอยู่เราไม่ดูแลรักษาให้ดีกว่านี้ ใส่ใจมันมากกว่านี้ ทำให้เราคิดได้ว่าทำอะไรอย่าไปเสียดายเมื่อวาน เหมือนคำที่ว่า ทำวันนี้ให้ดีที่สุด”
เห็นว่าเป้มีคอมมูนิตี้คนชอบอนิเมะด้วย เล่าเรื่องราวเฟรนด์ชิพของเพื่อนๆ ในคอมมูนี้ให้ฟังหน่อยได้มั้ย?
“มันเริ่มจากเป้เล่นเกมออนไลน์ช่วงโควิดค่ะ เพื่อนที่รู้จักชวนเพื่อนที่เรียนด้วย เพื่อนต่างโรงเรียน ต่างชั้นปีกันมาจอยในห้อง discord ห้องหนึ่ง ตอนแรกคุยกันเรื่องเกมแล้วลามมาเรื่องการ์ตูน ทุกคนในห้องคือเป้ไม่เคยเห็นหน้ากันเลย เราแชร์ความชอบด้วยกัน เป้ไม่ได้ขอเฟสบุ้คอะไรเลย นัดเจอกันก็คือ อ๋อ คนนี้สินะโปรไฟล์การ์ตูนที่คุยกันมานาน ส่วนใหญ่จะสิงอยู่มาบุญครองหรือคาราโอเกะญี่ปุ่น
“เพื่อนกลุ่มนี้เราไม่ได้เอาเรื่องส่วนตัวลงไปในความสัมพันธ์เลย hobby คือ hobby เราคุยกันแค่เรื่องการ์ตูนล้วนๆ เวลาเราคุยกัน เจอกัน เราสนุกกับเรื่องนี้สุดๆ เอาเรื่องงานมาคุยก็ไม่ใช่ เศร้าเลย จะมาเจอกันทำไม พาร์ทไหนเป็นเรื่องส่วนตัวเราก็ make space กับมัน”
“ตอนนี้พวกเราเล่นดนตรีกันอยู่ เราเป็นพวกดูเรื่องไหน อินเรื่องนั้น เรียนกีต้าร์เพราะดูการ์ตูนเรื่อง xx ความชอบเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเรื่องที่เราดู เพื่อนเป้เล่นกลอง เล่นเบสเพราะได้แรงบันดาลใจจากอนิเมะ เป้เองก็ชอบร้องเพลงอนิเมะอยู่แล้ว เลยคิดว่าอยากเปิดอีกช่องนึงเกี่ยวกับอนิเมะและเพลงที่เราชอบ”
ทำไมถึงทำช่องนี้?
“เป้ชอบร้องเพลง กินข้าว ตากผ้า เข้าห้องน้ำ กวาดพื้นที่ร้าน เช็ดแก้วก็ร้องเพลง เลยอยากลองทำดู โดนบิ๊วท์ด้วยแหละค่ะ แต่เราไม่ได้มีมิชชันว่าอยากให้มันออกมาเป็นยังไง แค่ได้ลองทำสิ่งนี้ก็แฮปปี้แล้ว ดีกว่าไม่ได้ลอง”
เป้ในบทบาท ‘ไวน์ซอมเมอลิเยร์’ กับเป้ในบทบาท ‘anime fan’ มีจุดไหนที่เหมือนกัน?
“เราเป็นคนใช้ความรู้สึกเยอะกับทั้งสองอย่าง ไวน์เราก็ใส่ความรู้สึกเราลงไปเวลาเล่าเรื่อง ดูการ์ตูนเราก็ใส่ตัวเองลงไปในการ์ตูนเลย เราชอบที่ได้ใส่ความรู้สึกเราเองลงไปในทุกการกระทำ
“การเป็นซอมเมอลิเยร์ทำให้เรานึกถึงการ์ตูนเรื่องหนึ่งชื่อ Oshi no Ko เกิดใหม่เป็นลูกโอชิ เราชอบตัวละครที่ชื่อไอ เค้าเป็นไอดอลที่ดังมากๆ เค้าคิดว่า ‘ความรักคือการโกหก’ สิ่งที่เขาแสดงบนเวทีมันคือความรักจริงรึเปล่า จนเขาเจอกับคนรอบข้างที่น่ารัก ได้เจอกันความรักจริงๆ ที่ไม่ใช่ความรักเพื่อผลประโยชน์ สายตาเขาในการทำงานคือเปลี่ยนไปเลย คือมันแสดงออกมาทางสายตา สีหน้า ท่าทางของเขา ตอนทำงาน
“เป้รู้สึกว่าการทำงานตรงนี้ มันไม่ได้มีแค่ไวน์กับปูเป้ แต่มันมีทุกคนทำให้เราสนุก ทั้งร้านเอย การแต่งตัวในแต่ละวันเอย การ service ที่เราทำแต่ละวันมันไม่ใช่เรื่องโกหก เราไม่ได้ฝืนยิ้มทำงานเลย เราก็เป็นมนุษย์ บางวันเศร้าได้ แต่เรายังสนุกกับการทำงานทุกวัน”
อะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองจากทั้งสองบทบาท?
“เป้ว่ามันคือสังคมที่น่ารัก ได้เจอคนที่เป้รัก ทั้งไวน์และอนิเมะ เรารักและอยากซัพพอร์ททุกคนเหมือนที่ทุกคนซัปพอร์ตเป้”
แวะเวียนไปฟังเรื่องเล่าจากปูเป้ได้ที่ No Bar Wine Bar
ติดตามโปรเจคพอดแคสต์ ‘วันวันของไวน์’ ได้ทาง oneoneofwine
หรือจะไปฟังเพลงอนิเมะจากเป้กันได้ทาง paeyuni