ค้นความสุข หาตัวตน สะสมข้าวของซนๆ ไปกับ ‘รัมภา ปวีณพงษ์พัฒน์’ และ Rumba Bor
"จงหยิบขึ้นมา จงหยิบฉันขึ้นมา"
นี่ไม่ใช่เสียงสะกดจิตจากหนอนต้นอ่อนใบชา แต่เป็นเสียงเรียกจากของในกองพะเนินเทินทึก เวลาเราไปขุดของมือสอง เชื่อว่ายอดนัก thrift หลายๆ คนก็มีหูทิพย์ที่มักจะได้ยินเสียงกระซิบเหล่านี้เหมือนกัน มันคือเสียงของข้าวของธรรมดา ที่อาจจะไม่ได้มีค่าแล้วสำหรับคนอื่น เรียกร้องให้เราตีความมันใหม่ เติมสตอรี่มันเพิ่มด้วยความคิดสร้างสรรค์ของเรา
นัก thrift อีกหนึ่งคนที่เดินตามเสียงเรียกจากข้าวของมาตลอดก็คือ ‘รัมภา ปวีณพงษ์พัฒน์’ เจ้าของแบรนด์ Rumba Bor ที่เดินตามพลังงานของเก้าอี้ตัวเก่าที่คนเขาว่าเชย หยิบเก้าอี้เก่ามาเล่าใหม่ จนออกมาเป็นแบรนด์ดีไซน์ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ที่นิยามตัวตนว่าเป็น ‘a functional art collective’

หลังจากการไปโกดังมือสองหลายวันติด เราเลยเปลี่ยนจุดหมายไปเยือนโกดัง Rumba Bor พื้นที่เสกเก้าอี้เก่าให้คืนชีพ ด้วยสีสัน วัสดุ และความบ้าๆ บอๆ ของรัมภา ตัวต้นเรื่องที่ทำให้เก้าอี้ตัวนี้กลายเป็นงานอาร์ตนั่งได้ที่เพิ่มสีสันให้บ้านใครต่อหลายคน ตามไปคุยกับรัมบ้า เอ้ย รัมภา เรื่องชีวิตสุดบ้าของเธอกัน!
เล่าเรื่อง ‘รัมภา’ ก่อนจะมาเป็น ‘รัมบ้า’ ให้ฟังหน่อย
“ตอนเด็กๆ เรามีสิ่งที่ชอบอยู่ 2 อย่างที่เราชอบคิดเลขมาก และเราก็ชอบระบายสีชอบเหมือนกัน เราโตมาในครอบครัวที่พ่ออยากให้เราไปทำงานแบงค์ชาติ ตอนจบมอปลายเราไม่อยากเรียนต่อนะ จริงๆ อยากไป gap year แต่ที่เมืองไทยมันไม่ใช่เรื่องธรรมดาเท่าไหร่ เราเลยเรียนเศรษฐศาสตร์
“แต่เรียนโดยไม่มีแพชชั่นมันเรียนไม่ได้ เรารู้ว่าเราทำได้แต่ตอนนั้นคือใจแตก ไม่เข้าเรียนเลย เป็นการอยู่นอกกรอบของพ่อแม่ครั้งแรก เราสอบตก สอบซ่อม สอบตก สอบซ่อมอยู่เรื่อย ตอนนั้นเลยแบบ กูไม่เอาแล้วล่ะ ก็เลยไปเที่ยว gap year กลับมาไทยไปทำงานร้านไอติม ไปสอนหนังสือเด็กเล็ก หลังจากนั้นเราก็ไปเรียน Fine Arts ที่ออสเตรเลีย”
เราเปลี่ยนไปไหมหลังจากได้เรียนสิ่งที่เรามีแพชชั่นกับมันจริงๆ?
“พอเรากลับมาเมืองไทยแล้วเจอเพื่อนที่ไม่ค่อยรู้จัก เขาก็จะบอกว่าเราเปลี่ยนไปเยอะเลย จำแทบไม่ได้คาแรคเตอร์เปลี่ยน เราคิดว่าจริงๆ เราอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทางความชอบ หรือเรารู้ตัวเองมากขึ้นมากกว่า เราก็โตมาในกรอบ แต่เราก็มีความเป็นตัวตนของเราอยู่ แค่มันยังไม่ได้ถูกปล่อยออกมาขนาดนั้น ซึ่งตอนนี้เรารู้แน่ๆ แล้วว่าเราต้องการอะไร เราก็ทำในสิ่งที่เราชอบแทนที่เราจะมาคิดว่าทำอย่างนี้ไม่ได้นะ
“เพราะตอนอยู่ซิดนีย์เราใช้ชีวิตค่อนข้างอิสระ พอเรากลับมาเมืองไทย เราช็อกนิดนึงแบบเหมือนอะไรที่เรามองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา มันไม่ใช่เรื่องธรรมดาแล้ว ในกลุ่มเพื่อนเราก็ไม่มีใครโกนขนรักแร้ ไม่ต้องใส่เสื้อในเป็นเรื่องธรรมดา แต่พอกลับมาเมืองไทยมันมีคนทักเยอะขึ้น เราก็แบบ เออว่ะหรือว่ากูต้องเปลี่ยนวะ?
“เราก็พยายามจูนเข้านิดนึง เพราะว่าแต่ก่อนเราเป็นคนที่พูดจาแบบตรงไปตรงมา อาจจะตรงไปตรงมามากเกินไป เข้ามาทำงานแรกๆ ก็รู้สึกว่าเราต้องซอฟท์ลงมานิดนึง เลือกสิ่งที่เราจะต้องจูนเข้ากับวัฒนธรรมไทย ตรงไหนที่เรารู้สึกไม่สบายใจเกินไปเราก็ไม่ทำ
“ตอนกลับมาใหม่ๆ เครียดนะ แต่พอกลับมาทำ Rumba Bor เราได้ทำสิ่งที่เราชอบจริงๆ เราสนุกกับการทำงาน เลยไม่ค่อยเครียดละ เราค่อนข้างสบายใจกับการเป็นตัวของตัวเองในไทยมากขึ้น”
ชอบอะไรในช่วงวัย 20s มากที่สุด?
“เราชอบช่วงซิ่วจากเศรษฐศาสตร์ ก่อนหน้านี้เราอยากไปทำอาร์ต แต่ตอนนั้นรู้สึกเราว่าทำอาร์ตไปจะทำอะไรได้วะ ตอนนั้นอยากเป็นสถาปนิก เลยไปหาคอร์สสั้นเรียนสถาปัตย์ 2-3 เดือนนี่แหละ เพื่อนร่วมรุ่นเป็นน้องเราประมาณ 2 ปี ตอนนั้นได้ทำงานครีเอทีฟเลย แถมได้เจอครูดีด้วย เขาเป็นแรงบันดาลใจให้เราเห็นความไม่ธรรมดาในของธรรมดาๆ
“เขาสอนสถาปัตย์ด้วยการมองลึกลงไปใน material ต่างๆ เป็นสองเดือนที่เปิดโลกให้เราว่ามันมีพื้นที่ในการทำงานครีเอทีฟได้นะ การทำอาร์ตมันไม่ได้ไส้แห้ง ตอนเขามาเมืองไทย เขาทำให้เราเห็นความสวยงามของเมืองไทยมากขึ้น ตอนนั้นเราไปขึ้นแท็กซี่กันใช่ป่ะ เราเจอไอ้ไม้เม็ดๆ ตุ้มๆ บนเบาะที่เอาไว้นวดหลัง ครูเขาก็แบบอันนี้สวยมาก
“เรากลับมามองเมืองไทยจากสายตาคนนอกแล้วมันเปลี่ยนไปจริงๆ นะ ตรงนี้เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เราไปทางครีเอทีฟ”
แล้วอะไรคือจุดเริ่มต้นของงานครีเอทีฟที่ชื่อว่า ‘Rumba Bor’
“เราทำการตลาดให้บริษัท King Kitchen เป็นบริษัททำครัว เราก็เริ่มขยายทีมการตลาด ทีมดีไซน์ ก็เลยคุยๆ กันในทีมว่าอยากทำ product ใหม่ที่มันนอกเหนือจากครัว เราชอบสะสมของ ส่วนใหญ่จะเป็นเก้าอี้ อิฐ แล้วก็โคมไฟ พวก material อะไรต่างๆ
“บริษัทที่เราทำงานเขามีโรงงานที่ทำงานร่วมกันอยู่ เราไปเดินดูโรงงานแล้วแบบเก้าอี้ตัวนี้จริงๆ มันอยู่ในโรงงานมานานมากแล้ว เราไปหลายรอบไม่เคยเจอ อยู่มาวันหนึ่งเหมือนบังเอิญมีแสงกระทบเข้ามาในโรงงานพอดี แล้วเก้าอี้มันก็ตั้งอยู่ของมันตรงมุมที่แสงตกกระทบนั้น เราก็แบบเห้ย! เก้าอี้มันสวยดีนะ เราถามเขาว่าเก้าอี้มาจากไหน วิศวกรเขาตอบแบบภูมิใจมากว่าเขาผลิตกันเอง เราเลยถามต่อว่าโมลด์เก้าอี้ยังมีอยู่ไหม เพราะพวกโมลด์พลาสติกมันค่อนข้างแพง
“ก็เลยมาคิดว่าถ้าโมลด์มันยังอยู่ เราอยากเอามาฉีดเพิ่ม พอคุยไปคุยมาจริงๆ เก้าอี้นี้มันทำมาจาก PVC เคยผลิตมาแล้ว แต่เมื่อสิบปีก่อนมันขายไม่ออก เราเลยกลับมาคิดว่าจะเอาเก้าอี้มากระชากยังไงดี
“เราอยากขายเก้าอี้ตัวนี้ให้คนมองเห็นความสวยงามของมันได้อ่ะ มันเป็นมันเหมือน Practice ของเรา ซึ่งก็คือ relational art เราตอบสนองกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว การเอาของเก่ามาทำใหม่แทนที่จะทำของใหม่ออกมาเลย มันเป็นการทำงานแบบ spontaneous อะไรที่เข้ามาในชีวิตเราตอนนี้ เราก็เอาสิ่งๆ นั้นไปทำต่อ
“มันคือ thing power คือวันที่เราเจอเก้าอี้นั้น เหมือนมันเรียกเรา เหมือนมีแรงปะทะกันพอดี จุดนี้แหละคือ Identity ของ Rumba Bor การเอาสิ่งที่มีพลังกับเรามาทำต่อ เพื่อสื่อสารให้คนเข้าใจในสิ่งที่เราพยายามจะสื่อ”

เหมือนเรามีแรงดึงดูดกับสิ่งของ?
“ใช่ เราเคยคิด deep มากๆ ว่าคนเราเจอกับสิ่งที่ไม่แน่นอนตลอดเวลา แต่สิ่งของมันเป็น attachment อย่างหนึ่งที่คนน่ะมีกับสิ่งของอยู่แล้ว ตอนเด็กๆ เราชอบสะสมของที่เรามีความทรงจำบางอย่างด้วย เช่น ของของคุณน้าที่เสียไปแล้วหรือว่าโน้ตที่เพื่อนเขียนให้ ผ้าพันคอที่แม่ส่งมาให้ตอนเราเรียนโรงเรียนประจำอยู่ที่อินเดีย
“เรามาเริ่มสะสมของจริงๆ ช่วงไปเรียน fine arts ตอนนั้นเป็นช่วงที่เราเริ่มอินกับเรื่อง sustainability มากขึ้น ซึ่งช่วงปี 1 เราทำงานอาร์ตเยอะมากๆ ทำพวก installation แล้วเรารู้สึกว่ามันใช้ material ค่อนข้างสิ้นเปลือง จะทำยังไงให้เราสามารถยังทำงานอาร์ตได้อยู่โดยที่เราเอาของเก่ามาใช้ใหม่
“ที่ซิดนีย์เวลาคนจะทิ้งของ เขาก็จะเอาของมาวางไว้หน้าบ้าน คนก็จะเดินๆ เก็บ เราเจอว่ามันมีเก้าอี้เยอะมากเลยที่มันเป็นเก้าอี้แพงๆ ที่สนิมขึ้นแล้ว เราอยากเก็บของพวกนี้มาทำ installation หลังจากนั้นรู้สึกว่าจริงๆ เราไม่ได้ attach กับสิ่งของพวกนี้ แต่ว่าเราเห็นสิ่งของพวกนี้เป็น material ที่เราสามารถเอามาใช้ได้เอาไปเป็น inspiration ต่อ มันทำให้เราตื่นเต้นไปเรื่อยๆ กับงานได้”
ของพวกนี้มีพลังงานบางอย่างที่มาสะกิดใจเรา?
“ใช่ เหมือนวันนี้เรารู้ว่าเราต้องการ material เราก็จะเดินออกจากบ้าน โดยมันจะมีความรู้สึกว่าต้องไปที่นี่เพราะว่ามีสิ่งของสิ่งบางอย่างรอเราอยู่ มีวันหนึ่งเราเดินมั่วๆ จนไปเจอสตรอว์เบอร์รี (เซรามิกทรงสตรอว์เบอร์รีชิ้นใหญ่) มันเหมือนมีออร่า เรารู้แล้วว่าวันนี้ที่เราต้องเดินออกจากบ้านเพราะอิสตรอว์เบอร์รีมันเรียกเรา เหมือนเป็นการให้สิ่งของ ให้พลังงานรอบตัวมันนำทางเราไปเอง สิ่งของมันมีพลังที่เราไม่เข้าใจ หรืออะไรที่เราคาดไม่ถึงอยู่ ของมันทำให้เราจำเรื่องราวของวันๆ นั้นได้”
ชื่อ ‘รัม-บ้า-บอ’ มาจากความบ้าๆ บอๆ ในการสะสมของด้วยไหม?
“ครอบครัวเราชอบเรียกเราว่า ‘รัมบ้า’ ก็เลยแบบเอาคำนี้มาเขียนเล่นๆ คิดว่าในอนาคตถ้าเราสร้างแบรนด์เราจะใช้คำนี้แหละ ตอนที่เราจะทำเก้าอี้เฌยออกมา เราก็ต้องมานั่งคิดชื่อแบรนด์กัน เราก็เลยมานั่งไล่โน้ตเดิมว่ามีอะไรใช้ได้ ทุกคนก็ช่วยกันคิด แต่สุดท้ายมาสรุปที่ชื่อนี้ เพราะมันเป็นชื่อที่มันจำง่าย”
ถ้าเก้าอี้ Rumba Bor เป็นคนขึ้นมา คิดว่าเขาจะเป็นคนแบบไหน?
“เราว่าเก้าอี้เราไม่ใช่คนเก้าอี้ แต่เหมือนเป็นเหมือนกิ้งก่า มันเปลี่ยนสีไปได้เรื่อยๆ แต่ถ้าให้เปรียบเป็นคนจริงๆ ก็คงเป็นคนที่โตมาในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้าง traditional แต่ได้ออกมาเจอกับชีวิตใหม่ๆ เป็นคนเปิดรับอะไรได้หลายๆ อย่าง แล้วก็มี personality ที่เปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ เพราะตอนนี้เก้าอี้เรามีหลายสี ที่สำคัญต้องเป็นคนที่มีความแรดด้วย
“น่าจะเป็นคนที่เข้าไปอยู่ในซอกไหนก็ได้ เพราะเก้าอี้เราปรับตัวได้กับหลายๆ มู้ดของบ้าน อยู่ตรงนี้ก็ได้ อยู่ตรงนั้นก็ได้ ยกตัวอย่างถ้าเราเอาเก้าอี้สีแจ๋นๆ ไปวางในบ้านเพลนๆ มันก็ทำให้บ้านโดดเด่นได้
“เรามองเก้าอี้ตัวนี้เป็น functional art เพราะเราต้องการสร้างงานศิลปะที่มันใช้งานได้ คือเก้าอี้นี้ไม่ได้เป็นเก้าอี้ตั้งแต่แรก เราคิดว่ามันเป็นการแบบหยิบของเก่ามามาทำใหม่ ซึ่งเรามองมันเป็น conceptual art มันคือการที่คนเอางานชิ้นนี้ไปนั่งได้”
แล้วทำไมถึงเลือกหยิบเก้าอี้เก่ามาเล่าใหม่?
“โมลด์พลาสติกมันแพงมาก คือตัวเก้าอี้ตัวนี้เขาทำโมลด์มาประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นราคาโมลด์ประมาณ 500,000 บาท ถ้าทำตอนนี้น่าจะเกือบล้าน เราก็คิดว่าราจะทำยังไงให้มัน sustainable ที่สุด แล้วความ sustainable มันคือการเอาของเก่ามาใช้ใหม่ด้วย แต่ถ้าเราทำแล้วราคามันแพงเกินไป ขายไม่ได้มันก็ไม่ sustainable กับเราเหมือนกัน
“การเอาเก้าอี้มาทำใหม่มันอยู่ใน Practice เราอยู่แล้ว มันเป็นอะไรที่สนุก แล้วมันเชื่อมโยงกับการตอบสนองกับสิ่งของที่มีอยู่แล้ว หรือว่า energy ของสิ่งของที่เราเจอ รู้สึกว่าการที่ดึงของที่มันมีอยู่แล้วมาทำใหม่อ่ะมันสนุกกว่าการคิดใหม่ การเล่นต่อจากสิ่งที่มีอยู่แล้วมันเวิร์คมากกว่าสำหรับเรา”
ทำไมต้องตั้งชื่อเก้าอี้ว่า ‘เฌย’?
“ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะตั้งชื่ออะไร ตอนแรกเรานึกว่าน้องในทีมตั้ง แต่น้องบอกว่าเราบอกว่ามันเชยมาก ทุกคนเลยบอกให้ตั้งชื่อมันว่าเชยเถอะ แต่เชยสะกดด้วยชอช้างแล้วมันไม่ค่อยเวิร์ค เอาเป็นชอกระเฌอได้ไหม ได้ยินแล้วมันใช่เลย
“พอเราได้ชื่อที่ใช่มันจะมีความรู้สึกข้างในขึ้นมาเลย อย่างแต่ละสีเราก็ตั้งเองบ้าง คนอื่นช่วยแต่งบ้าง อย่างพ่อเราก็มาถามว่าสีแดงมีชื่อรึยัง ขอตั้งว่า ‘แสบตูด’ ได้ไหม เราว่าชื่อมันทำให้มันมีคาแรคเตอร์ขึ้นมา เราชอบงานศิลปะติดตลกอยู่แล้ว เราพยายามเลือกชื่อให้แมตช์กับสี แล้วก็ฮาๆ นิดนึง อย่าง บัวบก ใบเตย ชานม แรด แม่มด จับฉ่าย อะไรแบบนี้”
พูดถึงแรงบันดาลใจคอลเลกชัน Ruam Mitr สุดแจ๋นหน่อย
“เราเป็นคนชอบสีสัน แต่ว่าเราไม่ใช่คนที่สามารถเพ้นท์รูปได้ แต่ก่อนเราทำเซรามิกเราก็เอา glaze มาผสมนู่นผสมนี่กัน ถ้าเราเอา glaze สีขาวกับ glaze สีเขียวมาชนกัน ตรงกลางมันไม่ใช่ว่าจะออกมาเป็นเขียวอ่อน บางทีมันก็แบบกลายเป็นสีอะไรก็ไม่รู้ เราเอาการผสมสีมั่วๆ ของเรามาใช้กับเก้าอี้ตัวนี้
“เราเอาสีพลาสติกรีไซเคิลที่มีอยู่แล้วมาใช้ สีเขียว สีแดง สีดำ สีเหลือง สีน้ำเงิน เอาสีพวกเนี้ยมาลองหยอดมั่วๆ ดูหน้างานโดยที่ไม่ต้องไปคิดว่าเราจะใส่สีไหนกี่เปอร์เซ็นต์นะ เพราะเราทำงานแบบนั้นไม่ได้พอมันมี Structure เราจะคิดไม่ออก เราก็เลยลองหยอดมั่วๆ ไปก่อน กว่าเราจะเห็นว่ามันออกมาเป็นยังไงก็ต้องหยอดไป 2-3 ตัว มันจึงเป็นการเล่นกับความเซอร์ไพรส์ เล่นกับอะไรที่เป็นไปตามธรรมชาติ พลาสติกมันจะถูกหลอมไปในสไตล์ของมันเอง ทุกตัวมันเลยออกมาไม่เหมือนกัน”
มีไอเทมไหนอีกไหมที่อยากเอามาเล่าใหม่ในแบบ Rumba Bor?
“น่าจะเป็น ‘เฌิง’ โปรดักส์ใหม่ที่เพิ่งออกมา มาจากลูกกรง (ทำจากเซรามิก) เราไปหาพวกลูกกรงค้างสต็อกมา ตอนแรกคิดว่าจะสั่งผลิตเอา ไม่ได้คิดว่าจะใช้ลูกกรงค้างสต็อก เราแค่ชอบลูกกรง เห็นลูกกรงตามบ้านแล้วชอบ material มันดูดีแล้วมันก็มีสีให้เลือกค่อนข้างเยอะ รูปร่างก็ต่างกัน มันเหมือนที่เราชอบสะสมอิฐ เราชอบรูปทรงของมัน เราก็เลยลองคิดดูว่าจะเอาลูกกรงนี้มาทำเป็นโปรดักส์ยังไง
“เราชอบสะสมของไทยๆ อยู่แล้ว พวกถาด ดอกรักพลาสติกจากพวงมาลัย เราเลยลองเอาลูกกรงมาวางบนหัวเก้าอี้ หรือจะทำเป็นโต๊ะยังไงก็ให้น้องในทีมช่วยกันออกแบบ เราเป็นคนไอเดียเยอะแต่ไม่ได้มีสกิลในทางคิดฟังก์ชั่นของมัน น้องก็เลยลองเอาแท่งสแตนเลสมายึดน็อตหัวบนล่าง เพื่อยึดไม่ให้มันโคลงเคลง”
อะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำ Rumba Bor?
“ได้เห็นความสำคัญของ storytelling เพราะเรารู้สึกว่าเก้าอี้ตัวนี้มันมีความพิเศษอยู่แล้ว แต่พอมันมีสตอรี่ว่ามันเป็นเก้าอี้เชยๆ เมื่อ 10 ปีที่แล้วที่ถูกเอามาทำใหม่ เก้าอี้นี้มันมีแค่ตัวเดียว แต่ละตัวมันไม่เหมือนกัน พอเราสามารถสื่อสารพวกนี้ออกไปให้กับผู้ฟังได้ มันทำให้เก้าอี้มีค่าสำหรับเขาอีกอย่างคือเราได้เรียนรู้ว่าเทรนด์ในเมืองไทยก็แบบมีพื้นที่ให้ความ kitsch แบบนี้เหมือนกัน”

อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดในการได้ใช้ชีวิตในแบบ รัม (บ้าๆ บอๆ) ภา?
“มันไม่ค่อยเครียดดีนะ เราชอบที่เรามองของที่คนอาจจะมองว่าเป็นของธรรมดา แต่เรามองเห็นความสวยงามในของสิ่งนั้นได้ เราสนุกกับตรงนี้ มันเหมือนเราเพ้อเจ้อกับตัวเองได้ง่ายๆ” (หัวเราะ)
การเป็นมนุษย์ในนิยามของรัมภาคืออะไร?
“เราคิดว่าแบบมันเป็นการ Connect กับตัวเอง เราเข้าใจความรู้สึกตัวเอง เราสามารถควมคุมอารมณ์ตัวเองได้ ถ้าเราคุมไม่ได้อย่างน้อยเราก็รู้ตัวว่าเรารู้สึกอะไร และสามารถสื่อสารสิ่งที่เราคิดออกไปได้ การสื่อสารมันไม่ได้ง่าย และไม่ได้ทำได้ตลอดเวลา แต่ขอแค่เราได้ connect กับร่างกายตัวเอง กับธรรมชาติ
“เมื่อวานเราไปถ่ายงาน รู้สึกเหนื่อย พอเดินไปข้ามสะพานลอยไปแล้วเจอทุ่งหญ้าเขียวๆ ทีมงานเขาบอกให้เราหันหน้าไปมองป่า ตอนนั้นเราสัมผัสพลังงานได้เยอะ มันมีตอนหนึ่งที่เขาให้เดินตรงหญ้า เราบอกเขาว่าพี่หนูขอถอดรองเท้าได้ไหม?
“การเป็นมนุษย์คือการ connect กับโลกใบนี้ แล้วมันก็มีคอนเซ็ปต์หนึ่งที่เราเพิ่งได้ยินมาไม่นานนี้ว่าการ connect กับสิ่งแวดล้อมก็คือการ connect กับตัวเองด้วย คือถ้าเราไม่สามารถ connect กับตัวเองได้เราก็ไม่สามารถ connect กับสิ่งแวดล้อมได้”
“การว่ายน้ำทะเลมันรีชาร์จเรามากเลย มันมีช่วงนึงที่เราเครียด ตอนนั้นเราทำงานในครัวตั้งแต่ 5:00 เสร็จงาน 15:00 แล้วทุกวันหลังเลิกงานเราก็จะเดินไปว่ายน้ำที่ทะเล นอนให้คลื่นมันซัดจากเท้าไปหัว เหมือนมันชาร์จพลังงานในตัวเรา”
ยังมีอะไรบ้าๆ บอๆ ที่อยากทำอีกไหม?
“เราอยากทำพร็อบมาก อยากทำงานหลังเวที ตรงตึกเรือนขวัญ (อาคารเก่าของบริษัท) อยากทำโชว์รูมหรือสเปซที่เป็นพื้นที่สำหรับแสดงงานครีเอทีฟที่เกี่ยวกับ sustainable และพวก material แปลกๆ เราอยากทำงานกับชุมชนด้วยนะ ที่เราไปเรียนอาร์ตเพราะเราอยากเอาของไทยมาประยุกต์ใหม่ ต้องค่อยๆ ทำกันไป”