‘จิบเชียงดาวเคล้าธรรมชาติ’ บ่มชีวิตด้วยความสุขเล็กๆ กับ ไพลิน—พิชญาพัค วงศาสุข และ Day Drinkers Collective
‘เชียงดาว’ เมืองเล็กๆ ในหุบเขาของเชียงใหม่ ที่มักจะไปอยู่ในบทสนทนาของผู้คนที่รักธรรมชาติ หมุดหมายของนักเดินทางทั้งไทยและต่างประเทศ เมืองนี้คือ ‘บ้านเกิด’ ที่เป็นจุดบ่มเพาะความทรงจำวัยเด็กดีๆ มากมายของเรา
เมื่อหลายเดือนก่อนเรามีโอกาสกลับไปบ่มเพาะความทรงจำใหม่ๆ ที่เมืองแห่งนี้อีกครั้ง แต่เราไม่ได้บ่มโมเมนต์ดีๆ ที่บ้านตัวเองเหมือนทุกที เราลองเปลี่ยนไปนั่งเล่นที่สวนหลังบ้านของ Day Drinkers Collective คุยเรื่องสิ่งเล็กๆ ในชีวิต และความใกล้ชิดธรรมชาติกับ ‘ไพลิน-พิชญาพัค วงศาสุข’ ผู้อยู่เบื้องหลังไวน์น้ำผึ้งที่ถูกนิยามว่าเป็น ‘เชียงดาวในขวดแก้ว’ ของ Day Drinkers Collective
คำนิยามนี้ในฐานะคนเจียงดาวแต๊ๆ ไม่เกินจริงเลยสักนิด เพราะนอกจากดอยหลวงกับขาหมูแล้ว อีกสองสิ่งที่เราชอบที่สุดของเชียงดาวคือดอกไม้ (ใครไปเชียงดาวลองลดกระจก ขับรถให้ช้าลง แล้วดูดอกไม้เล็กๆ ข้างทางดูนะ) และสวนลำไยมากมายในซอกซอยหมู่บ้านต่างๆ หนึ่งจิบของ Day Drinkers Collective ดึงเอาภาพดอยหลวง ถนนหนทาง ดอกไม้ ใบหญ้า และที่สำคัญ ‘ผู้คน’ ที่นั่นกลับเข้ามาในความทรงจำของเรา
เราค่อยๆ จิบเชียงดาวทีละนิด ทีละนิด ที่ลานหญ้าเล็กๆ ของไพลิน พวกเราเอาเก้าอี้สนามมาวาง จัดองศาให้เห็นวิวดอยหลวง แม้ว่าฟ้าเริ่มเปลี่ยนสี ดวงอาทิตย์จะใกล้ลับลาแล้ว แต่เรา ไพลิน ชาวเชียงดาวอีกหลายๆ คนที่มานั่งตากอากาศเย็นรอบกองไฟคืนนี้ ยังมี ไวน์ ดนตรี และโมเมนต์ดีๆ เป็นตัวขับเคลื่อนบทสนทนา

ปกติจิบๆ ชิลๆ ที่บ้านบ่อยไหม?
“เราอินดื่มไวน์มาก เพราะว่าเราเอนจอยกับการแบ่งปัน เพราะไวน์ 1 ขวด เราแชร์กับทุกคนและมีบทสนทนาเดียวกัน เครื่องดื่มคือเครื่องดื่มเดียวกัน สิ่งที่ได้คือสิ่งแวดล้อมเดียวกัน เราเลยเอนจอยกับการดื่มไวน์มาก
“พอเราเริ่มทำแบชท์หนึ่ง เราก็ชวนทุกคนมานั่งดื่ม เริ่มจากนั่งดื่มที่ระเบียงบ้าน พอโควิดไปไหนไม่ได้ ก็ดื่มคุยกับเพื่อน ดูพระอาทิตย์ตก มันเอนจอย มันเป็นอะไรที่มันฟูลฟิลมากๆ มันมีบทสนทนาร่วมกัน มันมีการแบ่งปันกัน แล้วบวกด้วยอะไรหลายๆ อย่างของที่นี่ มันให้ความรู้สึกว่าเป็นโมเมนต์ที่ดี”
นี่คือที่มาของคำว่า ‘Collective’ ในชื่อแบรนด์?
“ความเป็น collective ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นแค่โปรดักต์นี้เท่านั้น แต่ยังมีสิ่งอื่นๆ ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าจะเป็นอะไรนะ แต่เรารู้สึกว่ามันคือกลุ่ม มันคือคอมมูนิตี้ มันคือเพื่อนเรา เลยกลายเป็น Day Drinkers Collective ในอนาคตอาจมีไลน์อื่นๆ ออกมา เป็นอะไรที่สนุกขึ้น”
แล้วทำไมต้อง Day Drinkers?
“เรามีกฎหมายที่เราจะได้ดื่มหลัง 17.00 น. หรือว่าก่อน 11.00 น. ในภาพรวมคือ ถ้าเราดื่มหนักก็ถึงเที่ยงคืน ตีหนึ่ง อีกวันแฮ้งค์ก็ไม่ไหว แต่ถ้าเราดื่มตั้งแต่กลางวัน ตอนเย็นเมา สองทุ่มนอนละ ตื่นมาสดชื่น เราอยากให้ เอนจอยโมเมนต์ ไม่ใช่ว่าต้องดื่มกันตั้งแต่กลางวันนะ แต่เราคิดว่าเวลาเราดื่ม บางทีเราเอนจอยกับเพื่อนๆ ซึ่งมันไม่ได้จำกัดแค่เวลาตรงนั้น อิตาลียังมี Aperitivo (วัฒนธรรมการดริ้งก์ยามบ่าย) เขายังมีแบบดื่มกันตอนบ่าย ทำไมเรามีบ้างไม่ได้ล่ะ”
จุดไหนที่ทำให้หันมาทำแบรนด์ของตัวเองจริงจัง?
“เราทำงานประจำมาตลอด แล้วก่อนเราลาออกมันเป็นช่วงโควิด ช่วงนั้นเราได้มาอยู่เชียงดาวจริงๆ จังๆ มันมีอะไรที่น่าสนใจมาก ก่อนลาออกเรามีไอเดียอยากทำเกี่ยวกับ Local product ขายออนไลน์ ซึ่งยังไม่รู้ว่าคืออะไร เราจะได้อยู่กับที่บ้าง แต่ไม่ได้มีความรู้ขนาดนั้น จนมาอินเกี่ยวกับ fermentation (การหมัก) การทำ Ginger Beer การสร้าง Life organism ในจาน เหมือนพอโควิดใครๆ ก็หาอะไรทำกัน
“หลังจากนั้น เพื่อนถามว่ารู้จัก mead มั้ย เราไม่เก็ทว่า Mead คืออะไร จนเพื่อนบอกว่าเป็นโปรดักที่ทำจากน้ำผึ้ง ก็ไม่เก็ทอีกอยู่ดี แต่ลองทำเล่นๆ จนมีโอกาสได้ไปซานฟรานซิสโก วิลเลียม (แฟนของไพลิน) พาไปที่่ Meadery ที่หนึ่ง เราก็อ๋อ จริงๆ มันเป็นได้มากกว่าน้ำผึ้ง คือเราสามารถควบคุมโปรดักต์หนึ่งให้เป็นในจุดที่เราอยากจะให้มันเป็นได้ เป็นครั้งแรกที่เราเข้าใจว่ามันสามารถต่อยอดให้เป็นอะไรได้หลายอย่าง
“ซึ่งตอนแรกโคตรตลก เรามีไอเดียว่าอยากทำโปรดัก Non-alcoholic แต่พอเราไปอเมริกา เราก็ไปลอง Non-alcoholic เรานั่งดื่มที่สวนสาธารณะกัน 2 คน นั่งดื่มแล้วมองหน้ากันว่า ‘รู้สึกยังไงบ้างอ่ะ’ แล้ววิลเลียมก็บอกว่า ‘เราจะรู้สึกอะไรวะ มันเป็น Non-alcoholic’ เราก็ ‘เออว่ะ’”
แสดงว่าชีวิตยังต้องการแอลกอฮอล์อยู่?
“จริงๆ เป็นคนไม่อินกับอะไรที่แกสซี (gassy) หรือคอมบูชา (kombucha) ก็ไม่ใช่สาย”
แล้วเปลี่ยนจากการเอ็นจอยกับไวน์มาทำ Mead ได้ยังไง?
“หลังจากกลับมาจากทริปนั้น เรารู้สึกว่าน้ำผึ้งทำอะไรได้อีกเยอะมาก เราเป็นคนไม่ค่อยกินเบียร์ ไม่ค่อยกินอะไรที่ไปโซนไลท์หรือว่า carbonation (กระบวนการที่ทำให้เบียร์มีความซ่า) เยอะๆ พอเรามาเล่นกับ Mead มันเหมือนกับเรา create life ออกมา มันแล้วแต่คุณเลย คุณอยากโปรดิวซ์ให้ไปทิศทางไหน คุณอยากให้มันไปซ้าย คุณก็ต้องทำแบบนี้ อยากให้มันไปขวาก็ต้องทำอีกแบบ สมมุติว่าเราอยากให้มีความ bitter ขึ้นเราอยากให้มันมีความแบบ funky ขึ้น เราทำยังไง เราจะเล่นกับอะไร มันทำให้เราคิดไปเรื่อยๆ
“ปัญหามันมีทุกวัน ทำไมไอ้ตัวนี้มันหยุดหมัก มันเกิดจากอะไร เราก็ทักไปถามคนที่มีความรู้ คือต้องหาไปเรื่อยๆ มันท้าทายเรารื่อยๆ พอเราเริ่มทำอย่างหนึ่งได้ มันก็จะเริ่มสเต็ปต่อไป”
ดูเหมือนว่าบทสนทนาที่ดีเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการดื่มอย่างเดียวรึเปล่า?
“เรารู้สึกว่าการแชร์ริ่งมันมีบทสนทนาเดียวกัน แต่อีกอันที่ทำให้เรา ‘ว้าว’ มาก คือการ fermatation ซึ่งการ fermentation มันคือการ create Life เหมือนโลกอีกใบ พอเราเห็นเขามีชีวิต มันเป็นโลกของเขา เขาก็ใช้ชีวิตปกติไปเรื่อยๆ เหมือนที่เราใช้ชีวิต
“จริงๆ มันมีชีวิตในรูปแบบที่ต่างออกไป ไม่ใช่แค่มนุษย์ ไม่ใช่แค่สัตว์ มันเป็น organism อื่นๆ ที่มันมีความฉลาด มีความ Active มีอะไรในนั้น”
ช่วยขยายความถึงการ ‘create Life’ จากการหมักหน่อยได้ไหม?
“ส่วนตัวเรา เราคิดว่าน้ำผึ้งเป็นโปรดักต์ที่มีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีการพัฒนา คือส่วนใหญ่น้ำผึ้งที่เราได้มา มันจะเป็นผลพลอยได้จากการที่คนเลี้ยงผึ้งเอารังไปไว้ตรงนั้นๆ เพื่อให้ผึ้งผสมเกสร จริงๆ น้ำผึ้งทำอะไรได้อีกเยอะมาก
“ถ้าพัฒนาจุดนี้ ทั้งคุณภาพและคาแรคเตอร์ เราคิดว่ามันจะไปได้ไกลมาก เพราะบ้านเรามีพื้นที่เกษตรกรรม มีฟาร์ม มีนู่นมีนี่ ถ้าเรามีโอกาสพัฒนาน้ำผึ้ง เราคิดว่าบ้านเราจะมีอะไรที่น่าสนใจ
“แล้วผึ้งก็เกี่ยวข้องกับวัฏจักรของธรรมชาติ ถ้ามีการพัฒนา ก็จะส่งผลต่อธรรมชาติด้วย อย่างรส Wild Flower ก็เกิดจากการเอารังผึ้งไปไว้ใกล้ๆ ขอบป่าที่ห่างไกลจากทุกอย่าง มันก็เกิดการผสมเกสรตรงนั้น เกิดชีวิตใหม่ตรงนั้น”

ตอนทำ Mead ครั้งแรก รู้เรื่องพวกนี้มาก่อนมั้ย?
“เสิร์ชกูเกิลสิคะ ไม่งั้นจะเอามาจากไหน (หัวเราะ) เราคิดว่าพอคนเรามีความสงสัยก็ต้องหาในกูเกิลอยู่แล้ว มีการลองผิดลองถูก เป็นเรื่องปกติ แต่พอเราได้โปรดักต์สุดท้าย เราจะพัฒนาโปรดักต์นั้นไปในทิศทางไหนต่อมากกว่า และด้วยความเป็นน้ำผึ้ง มันจะไม่ต่างจากองุ่น ไม่ต่างจากกาแฟ
“คือเราต้องดูว่าโปรดักต์เริ่มต้นรสชาติประมาณไหนและผลลัพธ์สุดท้ายมันจะประมาณไหน เพราะว่า 1 แบทช์ มันใช้เวลาหมักค่อนข้างนานอยู่ แล้วพอมันนาน เราจะเสียเวลามากๆ ถ้าเราไม่รู้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะไปทิศทางไหน ก็มีลองผิดลองถูกแหละ”
หมายความว่าต้องชิมน้ำผึ้งเยอะสุดๆ?
“เยอะ เยอะแบบน้ำตาลขึ้นหน้าเลย ด้วยความที่เราเล่นกับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากๆ การควบคุมมันยากมาก ซึ่งการซื้อน้ำผึ้งแต่ละครั้ง เราต้องมีการเทสหน่อยว่าเราชอบคาแรคเตอร์นี้นะ เพราะเราคิดว่าผลลัพธ์หรือ End Product มันน่าจะได้ประมาณไหน แล้วโปรดักของเราก็ง่ายมาก มันคลาสสิก คือเราทำเป็น Still Wine หรือ Honey Wine พอเราดื่ม คาแรคเตอร์จะโชว์เลยว่ามันคือน้ำผึ้งอะไร ถ้ามันสวิง ก็จะเห็นชัดมาก ซึ่งน้ำผึ้งมีความสวิงอยู่แล้ว เพราะว่ามันมาจากธรรมชาติ
“สมมุติปีนี้ดอกไม้ของต้นนี้เยอะกว่าอีกต้นหนึ่ง คาแรคเตอร์ของน้ำผึ้งก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเป็นพวกดอกลิ้นจี่ ดอกลำไย มันจะค่อนข้างสม่ำเสมอเพราะว่ามันจะต้องมีเรณูของดอกนั้นๆ จำนวนหนึ่งอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นพวกดอกไม้ในป่า มันจะมีลูกเล่นที่จะต้องช่วงนี้เท่านั้น ต้นปีดอกนี้บานนะ รสจะเป็นคาแรคเตอร์นี้นะ พอเริ่มมีฝนตก คาแรคเตอร์น้ำผึ้งดอกไม้ป่าก็จะเป็นคาแรคเตอร์นี้นะ แล้วพอปลายปีอาจจะออกขมหน่อยๆ เพราะเป็นน้ำผึ้งที่ได้จากดอกคาแรคเตอร์นี้ ดอกไม้ป่าจะสวิงสุด”
ถ้าวัตถุดิบหลักอย่างน้ำผึ้งต้องอาศัยวงจรของธรรมชาติ แล้วการทำ Honey Wine ออกมาสักขวดต้องอาศัยอะไรบ้าง?
“เรารับจบทุกอย่าง สเกลเราไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น คือยังเป็นสเกลเริ่มต้นอยู่ รูทีนของเราเลยไม่ได้ตายตัว แต่ถ้าสมมุติเป็น Fermentation Day หรือวันที่ต้องหมัก ตื่นมาเราจะเริ่มเตรียมตัวละ คือ 2 วันจะเป็นการเตรียมการหมักเลย ถ้ายิ่งอันใหญ่ มีจำนวนเยอะ เราต้องทำ 14-15 แบทช์ เพื่อดัมป์ลงไปในนั้น (ชี้ไปที่ถังใบใหญ่) แล้ว หลังจากนั้น ทั้งวีคเราต้องดูแล้วว่ากระบวนการการหมักมันเฮลตี้มั้ย รูทีนจะเป็นวีคมากกว่า ถ้าสัปดาห์ไหนเป็น Fermentation Week เราจะยุ่งมาก คือเราต้องทำ เราต้องเตรียม ต้องเช็ค ต้องดูสต็อกน้ำผึ้ง ต้องนู่นต้องนี่ เสร็จเราก็เริ่มหมัก พอมันอยู่ในขั้นตอนนี้ เราก็ต้องแน่ใจว่ามันเฮลตี้มั้ย ไปต่อได้ไหม หลังจากนั้นก็เป็นงานของเขา (จุลินทรีย์ในถัง)
“พอหมักเสร็จ อีกวีคคือการ Clearing Racking ทำให้มัน Transfer Racking ให้มันออกมา หรือว่าบางทีก็ใช้เวลาหลายเดือนเลย อีกส่วนคือการบรรจุขวด ซึ่งจะยุ่งรองจาก Brewing Day หรือวันหมัก ที่เหลือก็จะตอบแชทหรือคุยงาน”
เหมือน Day Drinkers Collective ทำในคอนเซ็ปต์ Natural Wine ทำไมใช้คอนเซ็ปต์นี้และมันต่างจากไวน์ปกติยังไง?
“เราชอบคอนเซ็ปต์ของ Natural Wine เพราะมันไม่จำกัดเราในสเกลใดสเกลหนึ่งว่า คุณต้องเป็นซ้ายหรือต้องเป็นขวา คุณอาจจะชอบอะไรก็ได้ เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจ
“เรามี Natural Wine ต่างๆ ในท้องตลาด แต่เรายังไม่มีอะไรที่มาจากจากที่นี่ จากไทยจริงๆ และการที่เราทำ เราไม่ได้ผ่านเครื่อง เราเล่นกับเทคนิคตรงนั้นมากกว่า มันเป็นธรรมชาติ เราใช้เทคนิคที่เราคิดว่ามันคลาสสิกที่สุด ก็คือจบในขวด First fermentation หรือการหมักครั้งแรกมันจบในขวดจริงๆ เราคิดว่ามันเป็นความสนุกมากกว่า
“ในส่วนของคอนเซ็ปต์ เรารู้สึกว่าพาเลตต์ของคนที่ดื่ม Natural Wine จะเป็นพาเลตต์ที่เปิดมากขึ้น คือไม่ได้บอกว่าไวน์แดงต้องเป็นประมาณนี้ คาแรคเตอร์นั้น ไม่ใช่ Natural Wine ทุกขวดที่เราชอบเหมือนกัน แต่ก็มีคนเปิดใจ
“Natural Wine มันคือ low-intervention (การปรุงแต่งที่น้อยที่สุด) คนที่ชอบคือเขาชอบในคอนเซ็ปต์ เหมือนคุณกินอาหารออร์แกนิก บางทีมันไม่ได้อร่อยทุกจาน หรือทำไมกินคลีน คือหลายคนซื้อคอนเซ็ปต์ แต่ natural Wine น่าสนใจตรงที่มันเปิดกว้าง เปิดพาเล็ตต์ของคน ไม่ได้จำกัดที่พาเลตต์เรา มันอาจจะเข้ากับคนยุคใหม่ๆ ที่ไม่ได้จำกัดว่าคุณต้องกินแบบนั้นนะ คุณต้องกินแบบนี้นะ แต่เรากินเพราะว่าเราเอนจอย เราชอบมากกว่า”
แล้วมาจบที่ 5 รสชาตินี้อย่าง Wild Flower, Longan, Lychee, Rosedelic และ Pet nat ได้ยังไง?
“มันน่าสนใจมาก พวกคาแรคเตอร์ของน้ำผึ้งที่เราทำ เราจะไม่ชูคาแรคเตอร์ของเขาเด่นๆ หรืออาจจะ Co-fermentation (การหมักผลไม้ -ในที่นี้คือน้ำผึ้ง- สองชนิดขึ้นไปในการทำไวน์) ซึ่งคาแรคเตอร์ของน้ำผึ้งชัดเจนมาก ชัดเจนจนรู้สึกว่าไม่มีใครหยิบจุดนี้เข้ามา
“ทุกคนรู้จักน้ำผึ้ง แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าคาแรคเตอร์ของดอกไม้มันต่างกันนะ รสชาติน้ำผึ้งแต่ละตัวมันต่างกันจนเรารู้สึกว่า พอมันมาอยู่ในสเกลที่เป็นเครื่องดื่ม มันทำให้เราเห็นรสชาติชัดขึ้นว่า อันนี้คือดอกไม้ป่านะ ซึ่งเราก็ทำตัวคลาสสิก 4 ตัว จะมีตัวเดียวที่เป็น co-fermentation ก็คือ Rosedelic ที่ทำกับออร์แกนิกดอกกระเจี๊ยบ เราเอามาใช้เพื่อลองลูกเล่นอื่นๆ แล้วมีตัว Pet Nat ที่เป็นน้ำแร่ธรรมชาติ ถ้ามี carbonation จะเป็นประมาณนี้
“5 กลิ่นที่เราทำเราอยากจะให้มันเป็นภาพแทนของพื้นที่อยู่แล้ว เราจะไม่พยายามรบกวนกับรสชาติของเขาเยอะ จะมีความเป็นออริจินัลของน้ำผึ้งนั้นๆ อาจจะมีผสมนู่นนี่บ้าง แต่จะไม่รบกวนคาแรคเตอร์ของดอกนั้นๆ”

Day Drinkers Collective ให้อะไรกับเราบ้าง?
“ดื่มสนุกมาก จะไม่สนุกหรือสนุกเรารู้สึกว่ามันพาเราไปเจอหลายๆ คน เราเจอคนที่เราไม่คิดว่าจะเจอผ่านสิ่งเหล่านี้ เราได้ไปหลายๆ ที่ ได้ไปนำเสนอท้องถิ่นของเรา
“ล่าสุดไปสิงคโปร์มา เราบอกเขาว่า 1 ขวดตรงนี้ น้ำที่อยู่ในขวด น้ำผึ้งที่อยู่ในขวด อากาศที่อยู่ในขวด หรือแม้แต่ยีสต์ มาจากบ้านเรานะ หลังบ้านเราเลย มาจากเชียงดาว มันเหมือนกับว่าเราใส่ทุกอย่างจากเชียงดาวลงในขวดนี้และพวกคุณกำลังดื่มมันอยู่
“สมมุติว่าเราพูดถึงแต่ละพื้นที่ พูดถึงเชียงดาว พูดถึงเชียงใหม่ พูดถึงเชียงราย เราเห็นภาพ เราได้ยินเสียง แต่การที่เราจะลิ้มรสสิ่งนั้นมันไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วทำผ่านอาหารเหรอ โอเคอาหาร กว่าจะไปถึงที่อื่นมันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าผ่านขวดที่อยู่บนโต๊ะล่ะ มันว้าวสำหรับเรามาก แล้วมีคนชอบ มีคนที่คอยซัพพอร์ต เรารู้สึกฟิน ถ้าไม่ทำตัวนี้เราก็ไม่มีโอกาสไปพูดถึงขนาดนั้น สิ่งนี้มาจากเชียงดาว น้ำมาจากน้ำที่บ้าน เราใช้ยีสต์ธรรมชาติ อากาศที่บ้าน น้ำผึ้งก็มาจากแถวนี้
“วันนั้นไปพูดแล้วรู้สึกว้าว แบบเรากำลังกลืนมันอยู่อ่ะ เหมือนเรามองรูปถ่ายหรือฟังสตอรีของสถานที่นั้นๆ แต่ตอนนี้คุณดื่มมันได้ เป็นอีกวิธีหนึ่งในการ appreciate”
คำถามสุดท้าย ตอนนี้มีความสุขกับอะไรอีกบ้าง?
“เราเริ่มมีความสุขกับอะไรที่มันเล็กๆ แต่ก่อนจะเป็นเรื่องทำนองว่าได้งาน ได้เงิน ตอนนี้บางทีเรามี testing bottle เยอะมาก 1 แบทช์ เราจะเก็บ testing ไว้ส่วนหนึ่ง ถึงเวลาเพื่อนมา โอเค ทำไมเราไม่เปิด เราเอนจอยด้วยกันดีกว่า หรือว่าแค่ทำวันงานนั้นเสร็จ แค่ทำให้หลังคาน้ำไม่รั่ว ก็เอนจอยแล้ว มันเล็กมากๆ ไม่ได้มองเป็นเรื่องใหญ่ แค่ส่งกล่องไปกรุงเทพฯ ส่งไปสิงคโปร์ได้ เราแฮปปี้แล้ว มันเป็นอีกหนึ่งสเต็ป แต่เราก็ appreciate กับโมเมนต์เล็กๆ มากขึ้นด้วย”
ฤทธิ์ไวน์น้ำผึ้งรสรื่นทำให้บทสนทนาในคืนนั้นลื่นไหลเป็นพิเศษ ระหว่างทางกลับตัวเมืองเชียงใหม่ เราลดกระจกลงสูดกลิ่น ‘เชียงดาว’ เข้าเต็มปอด ปล่อยให้ไอเย็นผ่านเส้นผมสัมผัสผิว ไวน์ที่เราได้จิบ บทสนทนาที่เราได้แลกเปลี่ยน ผู้คนที่เราได้พบปะที่บ้านของ Day Drinkers Collective ทำให้เราเห็นความสวยงามของสิ่งเล็กๆ มากขึ้น
ชีวิตเราจริงๆ อาจจะไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการได้อยู่ในพื้นที่ที่เรารัก ทำสิ่งที่เรารัก เพื่อให้คนอื่นๆ รักในสิ่งที่เรารักเหมือนกับเรา แค่นี้ทุกๆ วันของชีวิตก็มีความหมายมากพอ Cheers to life!