Alec Orachi มนุษย์หลากเฉดที่อยากเติมสีให้เมืองสีเทา
“เราไม่ได้มีแค่สีเดียว เรามีหลายสี”
เหมือนหลุดออกมาจากนิยายเรื่อง ชายไร้สีกับปีแสวงบุญ ของฮารุกิ มุราคามิ เพราะ Alec Orachi นิยามตัวเอง เมือง และงานเพลงด้วย ‘สี’
Alec Orachi หรือ แจ๊กกี้—ศักดิพัฒน์ เจริญสินทวีกุล Rookies Class of 2022 จาก 88rising Radio เริ่มทวงคืนสีเหลืองจากการสวมหมวกนิรภัยและโชว์บนเวที พร้อมความตั้งใจว่าอยากให้งานของตัวเองเปลี่ยนความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อไซต์งานก่อสร้างในเมืองสีเทา อยากให้ทุกคนเห็นสีสันในสังคมสีตุ่น และยังเชื่อว่าการเป็นมนุษย์ที่ดีคนหนึ่ง ไม่สามารถแยกขาดจากคนรอบข้างและความรับผิดชอบต่อส่วนรวมได้
ตั้งแต่เป็นศิลปินนาม Charo บน SoundCloud จนถึง Alec Orachi บนเวทีที่ระเบิดความ “ม่วนมั่ว” ไปทุกหย่อมหญ้า พูดได้ว่าแจ๊กกี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่พาร์ทดนตรี การใช้ชีวิต รวมถึงการสังเกตและให้เหตุผลกับสิ่งรอบข้างอย่างหนักแน่นมากขึ้น
ปลายเดือนสิงหาคม 2024 ที่ชั้นบนของ CD COSMOS วิหารแห่งดนตรีกลางเมือง EQ สัมภาษณ์แจ๊กกี้ในช่วงก่อนออกทัวร์ที่ประเทศจีนและไต้หวัน เราเชื่อว่าสีสันบนเสื้อยืดขาวที่ละเลงไปด้วยความสดใสของดอกไม้ เป็นบทสนทนาตั้งต้นที่ดีรับปีใหม่ ไม่ใช่ผ่านเพียงเฉพาะผลงานเพลงของแจ๊กกี้ แต่ผ่านการเดินทางที่อนุญาตให้ตัวเองลองผิดลองถูกได้เสมอ
ถัดจากนี้ คือการเดินทางของแจ๊กกี้และ Alec Orachi ในขวบปีที่ค้นพบว่าการเป็นศิลปินไม่ได้หมายถึงตัวกูของกูชนิดร้อยเปอร์เซ็นต์
ชีวิตตอนเรียนที่สวนกุหลาบกับเรียนสถาปัตย์ที่ออสเตรเลียเป็นแบบไหน?
“ตอนอยู่สวนกุหลาบก็กลางๆ จะเนิร์ดก็ไม่เนิร์ด ไม่ได้เป็นสายเด็กเกเร อ่านการ์ตูน อยากเตะบอล แต่ไม่กล้าออกไปเตะ เพราะเราไม่ใช่กลุ่มนักเตะบอล มีความ insecure เล็กน้อย เพื่อนกลุ่มเราอ่านการ์ตูนกับเล่นเกมอยู่ในห้อง เราอยู่แค่ตรงนั้น แต่ในจิตใจเรา เราอยากใช้เอนเนอร์จีมากกว่านั้น เล่นดนตรีบ้างแต่ไม่ได้กล้าจนสุดทาง
“ตอนอยู่ออสเตรเลียหนักกว่าเดิม ตอนแรกอยู่โรงเรียนสอนภาษา ก็โอเค เพราะว่าแต่ละคนพูดอังกฤษกันไม่ค่อยได้ ไม่มีใครเก่งกว่าใคร แต่พอเข้าโรงเรียนจริงเจอฝรั่ง รู้สึกโดนทิ้ง รู้สึกว่าเราเป็นคนเอเชียตัวเล็กน่าเกลียด รู้สึกสงสัยในตัวเอง”
ผ่านจุดนั้นมายังไง?
“ในตัวผม ผมรู้สึก left out แต่ในความเป็นจริง มันไม่ได้ขนาดนั้น เรายังจอย เราออกไปทำนู่นทำนี่ กล้าที่จะทำอะไรมากขึ้น เพื่อนตอนนั้นไม่ได้เป็นพวกเด็กเนิร์ด ผมว่าอาจจะเป็นแค่วัฒนธรรม เรื่องอาหารการกิน ส่วนการเรียนการสอน เขาเปิดกว้างมากกว่า มีอะไรจะพูดในห้องก็พูดออกมาเลย”
เราได้เรียนรู้อะไรจากสถาปัตย์และชีวิตที่ต่างประเทศบ้าง?
“เราได้อะไรจากสถาปัตย์เยอะมาก เป็นฐานในการทำดนตรีตอนนี้เลยก็ว่าได้ ผมเรียนสถาปัตย์ไม่จบ เรียนถึงปี 2 โควิดมา แล้วไม่ได้กลับไปเรียน รู้สึกเฟล
“มันมีโปรเจกต์สุดท้ายที่เราตั้งใจทำไป แต่อาจารย์คอมเมนต์มาว่า เวลาสร้างหรือคิดงานชิ้นหนึ่ง ทุกอย่างมันต้องมีเหตุผลนะ ทำไมบันได ประตู หรือหน้าต่างไปอยู่ตรงนั้น คำตอบของผมตอนนั้นคือ ก็อยากให้อยู่ตรงนี้อะ เป็นความรู้สึก เขาบอกมันไม่ได้ มันต้องมีเหตุผลมากกว่านั้น พอคนเดินเข้ามาตรงนี้ เขาโดนลมยังไง แสงอาทิตย์โดนยังไง กระจกสะท้อนยังไง ผมไม่เก็ตเรื่องนั้น ก็ออกมา
“ต่อมาเราเข้าใจสิ่งที่อาจารย์พูดมากขึ้น เข้าใจความรู้สึกตัวเองมากขึ้นด้วย พอเราเริ่มทำเพลงซีเรียสขึ้น เราได้ใช้หลักการนี้ในการจัดการระบบในวง พอได้แบ็กอัพแต่ละการตัดสินใจด้วยเหตุผล ได้ใช้หลักการของเหตุผล ถ้ามีเหตุผลรองรับสิ่งที่เราตัดสินใจ มันดีกว่าไม่มี”
การเรียนสายดีไซน์ส่งผลกับการทำดนตรีมั้ย?
“คงเป็นเรื่องเหตุผล เรื่องการตัดสินใจ บางเรื่องก็ใช้ความรู้สึกควบคู่ไปด้วย เช่น เรารู้สึกว่าซาวด์นี้ใช่กับความรู้สึกนี้ แต่เราก็ต้องถามหาเหตุผลด้วย ต้องคิดว่าซาวด์นี้เข้ากับคอนเซ็ปต์เพลงทั้งหมดหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าชอบอย่างเดียว ถ้ามันยังดูผิดคอนเซ็ปต์ ผมก็จะเปลี่ยนซาวด์”

ไม่ถามก็ไม่ได้ ทำไมถึงชื่อ Alec Orachi?
“ตอนแรกผมใช้ชื่อว่า ‘Charo’ มาจากนามสกุล ‘เจริญศิลป์ทวีกุล’ ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษเป็น Charoensintaweesakul เราตัดมาแค่ ‘Charo’ ทำเพลงใน SoundCloud
“พอถึงจุดที่เราอยากทำเพลงออกไปในโลก Spotify, Apple Music, YouTube ปล่อยจริงจัง ก็ลองเสิร์ชดูว่าชื่อ Charo มีคนใช้หรือยัง แล้วมีคนใช้แล้ว ผมเลยต้องใช้ชื่ออื่น
“เราอยากให้มีตัว CH แทนลายเซ็นต์ของเรา เพื่อนรวมกลุ่มคุยกันได้คำว่า ‘Orachi’ แต่ผมอยากได้คำนำหน้าด้วย เพราะช่วงนั้นเรามองไปที่ชื่อ Bruno Mars ชื่อเขาดูเหมือนคนธรรมดา เราเลยอยากได้คำนำหน้า จนมาจบที่ ‘Alec Orachi’ พูดแล้วมันรู้สึกใช่อ่ะ พูดแล้วมันโฟลว์ ดูเป็นตัวเรา”
พูดถึงเพลงล่าสุดอย่าง ขอSing ขอTry หน่อย
“การทำงานเพลงของผมไม่ได้แน่นอนขนาดนั้น มันมาตามฟีลลิ่ง แล้วค่อยๆ หล่อหลอม เพลงนี้เริ่มจากเพื่อนเล่าให้ฟังเกี่ยวกับ glorify prostitute เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่เขาเคยคุย เขาพูดขึ้นมาว่าสุดท้ายแล้ว ‘You just glorify prostitute’ สุดท้ายเธอเป็นเด็กเสี่ย พอเขาพูดคำนี้ปุ๊บ เราถือกีตาร์อยู่ (ฮัมเพลง) ‘A prostitute ตู้ด ตู๊ด ตู๊ด’ พอได้ความรู้สึกนี้มาผมก็อัดเก็บไว้ เอากลับไปทำจังหวะเพลง พอทำดนตรี ปากมันก็ร้อง ‘ขอร้องขอลอง’ เหมือนคำพวกนี้มันร้องออกมาเอง มีหลายคำออกมา บางคำเราตัดออก บางคำเราเปลี่ยนเข้า แต่คำว่า ‘ขอร้องขอลอง’ คือออกมาเลย เหมือนเป็นสารจากเบื้องบนว่า มึงต้องพูดคำนี้”
ถ้าสารจากเบื้องบนบอกให้ “ขอร้องขอลอง” แล้วเราอยากลองอะไรบ้าง?
“ปักหมุดไม่ได้ว่าเป็นเรื่องอะไร แต่ก็ลองนู่นลองนี่นะ ชีวิตเราไปพร้อมกับมิวสิก ในทุกๆ โชว์ เราจะท้าทายตัวเอง โชว์นี้เราจะขยับมากขึ้น โชว์นี้เราจะเต้นมากขึ้น โชว์นี้เราจะเอนเตอร์เทนมากขึ้น โชว์นี้เราจะไปเล่นกับเพื่อนมากขึ้น
“เราพยายามทำตามที่ซ้อมมา แต่สมมุติเราทำเซตมาสนุกมากแล้ว แต่ความรู้สึกวันนั้นเราไม่ได้รู้สึกสนุก เราจะไม่แบบโกหกความรู้สึกตัวเอง ค่อยๆ พุชเท่าที่พุชได้
“เรามีระบบแบบแผนที่ตั้งไว้เป็นฐาน แต่ผมเป็นสายที่ไม่สามารถเล่นโชว์ซ้ำได้ ทุกครั้งก็ต้องรู้ว่าเราไม่ได้เล่นดนตรีคนเดียว แปลว่าเราต้องมีระบบหรือมีเพลงที่เราต้องเล่นเหมือนกัน และมีพาร์ทที่สามารถมั่วได้ ฟรีได้ เพราะฉะนั้นตอนซ้อม ผมพยายามเร่งซ้อมให้ฐานเราแน่น ถ้าผมร้องผิดหรือผมฟรีสไตล์บนเวที มันจะไม่ได้ดูมั่วหรือเละมาก เพราะเราอยู่บนฐานที่เราซ้อมมา ก็คือเนี้ยบแล้วก็มั่วในเวลาเดียวกัน”
พูดได้มั้ยว่าความ ‘ม่วน’ คือคำนิยามของ Alec Orachi
“ไม่รู้จักคำว่า ‘ม่วน’ เยอะขนาดที่จะพูดได้ว่าม่วนหรือเปล่า แต่ว่ามั่ว เนี้ยบ แล้วก็จริงใจอ่ะ”
เพลงของ Alec Orachi พูดถึงปัญหาชีวิตหลายมิติ แล้วตัวเราในฐานะคนที่ทำเพลงเอง คิดว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน?
“อินโทรเวิร์ตบ้าง เอ็กซ์โทรเวิร์ตบ้าง สลับกัน เราพยายามบาลานซ์ให้ตัวเองสว่าง ซึ่งด้านหม่นของเราก็คือ ปัญหาความรัก ปัญหาความฝัน ปัญหาจากสังคม ต้องมีที่ให้ได้ระบายกับสิ่งนี้ สำหรับเราก็คือดนตรี ถ้าเป็นการทำดนตรีสมัยก่อน มีอะไรเราก็พูดไปเลย ไม่ต้องเขียน อย่างอัลบั้ม FREE 2 GO ผมพูด อัด ร้องไปเลย แทบไม่ได้เขียน แต่ถ้าเป็นยุคนี้จะเขียนไว้ก่อนหรือว่าอัดทีละท่อน แล้วใช้ความคิดเพื่อให้ออกมาเป็นเพลง พอผลงานทำเสร็จ ไอ้ความรู้สึกดาร์กๆ ที่ผมรู้สึก มันเหมือนหายไปเลย”
แล้วระหว่างฟรีสไตล์กับเขียนไว้ก่อน แบบไหนช่วยระบายอารมณ์ได้ดีกว่ากัน?
“มันทำงานคนละแบบ ถ้าระบายอารมณ์ ฟรีสไตล์ยังไงก็ถูกจุด แต่มันคือการระบายอารมณ์ ถ้าอยากแก้ปัญหา ก็ต้องอีกเรื่องหนึ่ง ต้องมานั่งคิด
“ถ้าเรามีคอนเซ็ปต์ มีสิ่งที่จะพูด เราต้องตีกรอบมันหน่อย เพราะมันไม่ใช่เพลงที่เราฟังคนเดียว มันเป็นดนตรีที่คนอื่นอาจจะอยากฟังด้วย พยายามทำให้มันอยู่ตรงกลาง แต่ยังเป็นเรื่องของเราอยู่ ถ้าระบายก็คือเติมเต็มเรา แต่ไม่รู้ว่าเติมเต็มคนอื่นหรือเปล่า
“พอเริ่มผ่านการเดินทาง ก็ค่อยๆ ตกตะกอนว่า บางทีเราอาจไม่ต้องระบายในเพลงก็ได้ เราระบายกับเพื่อน คนรู้ใจ พี่น้อง หรือใครก็ได้ มันดีกว่า คนรอบข้างจะได้รู้ด้วยว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหน เราอยู่ยังไง”
พูดถึงพี่น้อง การเติบโตมาในบ้านที่มีแต่ศิลปินอย่างแซมบัค (Zambug) หรือจีเนียส (LEPYUTIN) ทำให้เราอยากเป็นนักดนตรีด้วยหรือเปล่า?
“มีส่วน พ่อชอบฟังเพลงสากล ตั้งแต่เด็กเขาจะให้เราเรียนเปียโน แต่ไม่มีใครติดเปียโน พอถึงยุคพี่ชายอิน Arctic Monkeys เขาเริ่มเล่นกีตาร์ เราก็เล่นเบส น้องก็ตีกลอง มันเป็นการเดินทางของแต่ละคนมาด้วยกันครับ ผมคิดว่าถ้าแค่คนเดียวคงไม่ได้มาถึงจุดนี้ แต่ละคนเห็นกัน ช่วยอินสไปร์กัน”
มีโอกาสที่สามพี่น้องจะรวมวงกันไหม?
“มันใกล้ละ ตอนนี้เป็นการเดินทางของแต่ละคน ผมอยากให้เวลามันใช่จริงๆ”

เพลงของ Alec Orachi คือแนวอะไร? ยังเหมือนน้ำอัญชัญรึเปล่า?
“ตอนนั้นผมไม่รู้จักว่ามีสไตล์อะไรบ้างด้วยซ้ำ เราเลยพูดว่าเราเป็นสไตล์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนน้ำอัญชัน
“หลังจากนั้น พอได้มานั่งคิด ได้เดินทางเรื่อยๆ ผมเริ่มเข้าใจแล้วว่า ทำไมตอนนั้นถึงพูดว่าน้ำอัญชัน เหมือนตัวผมอาจจะเป็นสีฟ้า ความสบาย ความชิล แต่เรามีความโกรธเหมือนกัน แล้วความโกรธเป็นสีแดง พอบวกกันก็เป็นเรา และตอนนั้นยังไม่กล้าพูดเหมือนตอนนี้ มันเลยหม่นอยู่กับตัวเอง กลายเป็นสีม่วงไป ตอนนี้พอเก็ตแล้วว่า เราไม่ได้มีแค่สีเดียว เรามีหลายสี”
วันนี้เห็นตัวเองเป็นสีอะไร?
“วันนี้ก็ม่วง เหลือง สีอัญชันมะนาว (มองไปที่เสื้อตัวเอง) แต่ผมมีสีเหลืองอีกสีหนึ่ง สีเหลืองเป็นสีแห่งความรับผิดชอบ ถ้าผมเป็นสีฟ้า ผมจะชิล แต่พอเราเริ่มทำเพื่อคนอื่น เราจะไม่ได้อยู่ในโหมดสีฟ้า เราจะเป็นสีเหลือง มีเอนเนอร์จี”
ทำไมถึงมองว่าสีเหลืองเป็นตัวแทนของความรับผิดชอบล่ะ?
“มันมาจากช่วงที่เริ่มเรียนรู้ตัวเอง เริ่มหาเหตุผลให้กับสิ่งที่เราทำ ทำไมเราถึงใส่รองเท้าแตะคู่นี้ ทำไมเราถึงใส่ถุงเท้า ทำไมเราถึงใส่กางเกงขายาว ทำไมเราถึงใส่เสื้อตัวนี้ ทำไมเราต้องใส่หมวก
“พอเริ่มลงลึกถึงเหตุผลกับสิ่งต่างๆ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันและได้ออกมาใช้ชีวิต เรารีเซตทุกอย่างใหม่หมด เวลาขับรถในประเทศไทย เรารู้สึกว่าเมืองมีสีโคตรเทา เมืองสีเทามากๆ แล้วสีที่ผมสังเกตเห็นชัดที่สุด คือสีเหลืองของลูกศรและสีเหลืองตามขอบถนน มันไม่มีเหตุผล แต่มองเห็นชัดด้วยสายตาของตัวเองตอนนั้น
“เหลืองถัดไปคือเหลืองของไฟจราจร แล้วก็เห็นหมวกคนงานก่อสร้าง สังเกตเขามากขึ้น”
เหมือนสีเหลืองจะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของชีวิตด้วยรึเปล่า?
“ผมให้ความหมายกับตัวเองด้วยแหละว่าเรารู้สึกเป็นสีฟ้า แต่มันแอบอิงกับเรื่องสมัยเด็กๆ ด้วย เราเล่นกับพี่น้อง เราดูคาเมนไรเดอร์ พี่ชายผมจะเป็นสีแดง สีแดงโหดสุด ผมก็จะเป็นสีน้ำเงิน เพราะสีน้ำเงินเก่งเป็นอันดับสอง แล้วน้องก็จะเป็นสีเขียว
“พอผมเริ่มสังเกตเห็นสัญญาณไฟ แดง เหลือง เขียว คือแดงกับเขียวเหมือนพี่น้องเรา ประกอบกับตอนนั้นผมใส่หมวกเหลืองพอดี พอเห็นสัญญาณไฟ เรารู้สึกเหมือนสัญญาณฮีโร่สามพี่น้อง
“เหมือนถ้าให้ความความหมายกับตัวเอง เราเป็นสีฟ้า แต่พอเราใส่หมวกเหลือง เรามีแรงอยากทำเพื่อคนอื่น สีเหลืองอาจจะครอบคลุมหน่อย”
อยากรู้ว่าทำไมหยิบหมวกเหลืองมานำเสนอความเป็นตัวเรา?
“เหมือนที่คุยเมื่อกี๊ เราเริ่มสังเกตเห็นหมวกเหลือง เราเจอหมวกเหลืองจากที่ร้านหนึ่ง หยิบมาใส่แล้วรู้สึกใช่ เหมือนเรากำลังสร้างฐานบางอย่างผ่านศิลปะให้มัน ไม่ได้หยุดที่หมวกเหลือง แค่ตอนนี้ยังอยู่ที่หมวกเหลือง เพราะว่าเรากำลังเดินทางอยู่ มีอีกหลายๆ อาชีพที่ผมเริ่มสังเกต อยากให้คุณค่ามากขึ้น เช่น คนทำงานเก็บขยะ หรือ รปภ. ผมเห็นมากขึ้นและกำลังหาวิธีนำเสนอพวกเขาผ่านงานของผม ผมพยายามบวกศิลปะกับความเป็นจริง กับวัสดุในชีวิตจริง”
ทำไมถึงอยากนำคนหลายๆ อาชีพมานำเสนอผ่านงานของตัวเอง?
“ผมได้มานั่งคิดว่า เราอยากเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่เราไม่มีเงินหรือมีอะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ฉับพลัน (ดีดนิ้ว) สิ่งเดียวที่ผมมีและสามารถทำได้ก็คือศิลปะ ใช้ความรู้สึกส่งไป
“อย่างหมวกเหลือง สมัยก่อนผมไม่เคยมองคนทำงานก่อสร้างแบบที่ผมมองตอนนี้ ไม่เคยเห็นคุณค่า ขับรถไปเห็นไซต์งานก่อสร้าง ผมเห็นแค่การทำให้รถติด เรามองว่าเรากำลังทำดนตรีให้เราสมัยก่อน ดนตรีอาจจะไม่ได้พูดถึงเขา (คนงานก่อสร้าง) แต่เราส่งความรู้สึกถึงเขาผ่านหมวกเหลืองที่เราใส่ สมมุติคนฟังได้รับรู้ความรู้สึกสนุก ถ้าเราใส่หมวกนี้ให้ความรู้สึกคนฟังอย่างนี้ พอเขาเห็นคนใส่หมวกเหลืองทำงานด้านนอก เขาก็อาจจะรู้สึกแตกต่างจากเดิม รู้สึกขอบคุณมากขึ้น
แล้วถ้าไม่เป็นหมวกเหลืองล่ะ อยากใช้วัสดุไหนสื่อสารเรื่องราวที่เราเห็นอีกบ้าง?
“ผมเริ่มศึกษาเรื่องขยะ ผมรู้สึกว่าถ้าจัดการเรื่องขยะได้ เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่อยากรู้เรื่องมากกว่านี้ กำลังบ่มอยู่
“คนทำงานเก็บขยะน่าสนใจมากๆ ถ้าเราออกจากบ้าน เราเหยียบพื้นลงไป เรานึกถึงคนทำงานก่อสร้างก่อนอยู่แล้ว พื้นที่เราเหยียบ ตึกที่เราอยู่ ถนนที่เราใช้ ทุกอย่างมาจากคนทำงานก่อสร้างหมด ไม่ว่าจะหมวกเหลืองหรือหมวกอะไรก็ตาม มันมาจากพวกเขา พอทุกอย่างสร้างเสร็จ ประเด็นต่อไปคือการดูแลรักษา ก็คือคนทำงานเก็บขยะ แล้วก็การรักษาความปลอดภัย… ตำรวจ (นิ่งคิด) เอาพี่รปภ. ดีกว่า
คิดว่าเพลงของ Alec Orachi จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้มั้ย?
“หวังว่านะ พยายามทำเท่าที่ทำได้ครับ”

ถ้าไม่ได้เป็นศิลปิน อยากทำอะไร?
“ที่รู้สึกนะ อยากทำอยู่ 2 อาชีพ คือ รปภ. กับคนเก็บตั๋วรถเมล์ รู้สึกว่าได้เจอคนเยอะดี ได้คุยกับคน ได้อยู่ด้านนอก ได้ฝึกบาลานซ์ ติดแค่ฝุ่นที่แย่มาก อาจเป็นเพราะเรามีพริวิเลจที่ทำให้รู้สึกแบบนี้ แต่เรารู้สึกแบบนี้จริงๆ”
ดูเหมือนว่าแจ๊กกี้จะชอบสังเกตผู้คนเป็นพิเศษ อยากทราบว่าความเป็นมนุษย์ในมุมมองของแจ๊กกี้คืออะไร?
“ถ้า ณ ตอนนี้ ผมรู้สึกว่าเป็นการใช้ชีวิตอยู่เพื่อคอมมูนิตี้ เพื่อสังคม และช่วงนี้ผมเพิ่งเริ่มสงสัยว่ามนุษย์เราแม่งเกิดมาจากอะไร
“ไม่รู้ผิดหรือเปล่า ผมลองรีเสิร์ชคร่าวๆ มาว่า สัตว์ทุกตัวมีต้นกำเนิดจากเซลล์เดียวกัน ค่อยๆ วิวัฒนาการมา สุดท้ายแล้วเรา มด หมา ทุกตัวแม่งคือสัตว์ตัวเดียวกัน แต่พอมนุษย์เหมือนสัตว์ที่ฉลาดที่สุด มีมันสมอง สร้างอะไรก็ไม่รู้เยอะแยะ เมื่อเราเป็นสัตว์ที่สร้างเยอะขนาดนี้ มันก็เป็นความรับผิดชอบหนึ่ง เราต้องมีสำนึกหรือทำเพื่อส่วนรวม
“เราอาจจะเริ่มทำเพื่อมนุษย์ด้วยกันก่อน ไม่ว่ามันจะเล็กน้อยแค่ไหน ผมว่าความเป็นมนุษย์คือการอยู่เพื่อคนรอบข้าง เพื่อส่วนรวม”
มองว่ามีอะไรบ้างที่ต้องแลกเพื่อให้เป็นศิลปิน?
“คงเป็นการเสียสละพาร์ทอาร์ตทิสต์เพื่อเป็นอาร์ตทิสต์ฟูลไทม์ สุดท้ายแล้วผลลัพธ์มันดีนะ คาดไม่ถึง ทำให้เราเติบโต จะเรียกการเสียสละก็ได้ แต่มันก็เป็นการลงทุนด้วย
“การเป็นอาร์ตติสท์สำหรับผม มันต้องได้ทำ 100% ปล่อยอารมณ์ทั้งหมดของเราออกไปในการทำงาน ถ้าการเป็นศิลปินหมายถึงต้องได้ปล่อยสิ่งที่ตัวเองมี 100% ทุกอย่างมาจากกู ผมว่าสิ่งที่เสียสละเพื่อให้ผมได้ทำสิ่งนี้ไปยาวๆ ก็คือการลดความเป็นอาร์ตติสท์ลงบ้าง ไปทำงานหลังบ้าน ไปคุยกับคน ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเอง 100%
“อย่างเพลง ขอ Sing ขอ Try ตอนแรกไม่ได้มีเสียงกลอง จึกๆๆๆ ที่ให้ความรู้สึกฮิปฮอปยุค 2000s ผมไม่ได้เห็นสิ่งนั้น แต่พี่วิน (วิน–วิธวินท์ อมรรัตนศักดิ์) โปรดิวเซอร์เห็น เขาก็เสริมไป ผมว่าถ้าไม่มีเสียงกลองคนอาจจะไม่รู้สึกเท่านี้”
ถ้าสามารถฝากข้อความถึงตัวเองในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า อยากบอกอะไรกับตัวเอง
“ค่อยๆ ไป ใจเย็นๆ ฟังคนรอบข้างด้วย อย่าหลุด”