‘แปลกตาและกล้าลอง’ Primshalyn กับ การออกแบบงานศิลปะที่สวมใส่ได้
ใครๆ ก็เคยผ่านช่วงวัยเด็กที่เราจินตนาการข้าวของต่างๆ รอบตัวว่าเป็น ‘แฟชั่นไอเทม’ ตั้งแต่เอาผ้าขนหนูมาทำเป็นชุด เอากิ๊บหนีบผมมาทำเป็นต่างหู เอาริบบิ้นติดกล่องของขวัญมาทำเครื่องหัว และอีกสารพัดข้าวของที่เราหยิบเอามันมามิกซ์แอนด์แมตช์ชุดเก่งที่ไม่ได้ใส่ไปนอกบ้านสักที
จะเชื่อไหมถ้าเราจะบอกว่า วันนี้มีคนเอาของเหล่านั้นมาทำเป็นชุดสำเร็จแล้วนะ ใส่ได้จริงด้วย! เราไปเจอกับชุดสุดล้ำเหล่านี้ที่งาน O.R.G.Y. (Our Revolution for Greater Youth) 2024 นิทรรศการที่รวมงานจากครีเอทีฟและศิลปินรุ่นใหม่ในไทย ที่จัดโดย iwannabangkok และ แกลเลอรี่ ATT19
ทั้งไฟแช็ก ริบบิ้นติดกล่องของขวัญ โบว์ผูกผม กิ๊บหนีบผม กบเหลาดินสอ ลูกอม ห้อยเรียงกันอยู่ในห้องจัดแสดง ดูๆ แล้วเหมือนงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ยังไงอย่างงั้น พอได้เดินเข้าไปดูใกล้ๆ ถึงจะรู้ว่ามันคือชุดที่สวมใส่ได้จริง เป็นคอลเลกชั่นที่ออกแบบโดย Primshalyn หรือ ‘ปริม—ภาณุมาศ จันทรา’ ศิลปินและแฟชั่นดีไซน์เนอร์ไฟแรงที่เพิ่งจบการศึกษาจากรั้วคณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบเครื่องแต่งกาย มหาวิทยาลัยศิลปากร
หลังจากแชะภาพงานศิลป์ที่สวมใส่ได้เป็นที่เรียบร้อย เราก็มีโอกาสได้คุยกับปริมเรื่องแรงบันดาลใจในการขมวดรวมแฟชั่นและศิลปะไว้ในเสื้อผ้าที่ทั้ง ‘แปลกตาและกล้าลอง’ เซ็ตนี้กัน

เป็นยังไงบ้างกับการจัด exhibition ครั้งแรก?
ตื่นเต้นมากๆ เลยค่ะ ตอนพี่มุก (พรทิพย์ อรรถการวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง แกลเลอรี่ ATT 19) ทักมา เราต้องเขียนอธิบายงาน ต้องไปติดตั้งงานเราที่แกลเลอรี่ ต้องคิดว่าเราจะจัด display งานเรายังไง จะจัดให้มันโล่งๆ ไปเลย หรือเราจะเติมอะไรลงไป ต้องคุยกับพี่มุกจนออกมาเป็นงานแสดงนี้ค่ะ
เริ่มชอบแฟชั่นตั้งแต่ตอนไหน?
เรามีคุณยายเป็นช่างเย็บผ้า เห็นยายอยู่กับจักรเย็บผ้าตั้งแต่เด็ก การเป็นช่างเย็บผ้ารายได้ก็ไม่เยอะ เราเห็นคุณยายทำงานหนักมาก เราก็เลยคิดว่าถ้าเรามีจักรเย็บผ้า เราน่าจะสร้างอะไรได้ ที่มันเป็นมากกว่าการเย็บผ้าเฉยๆ ก็เลยจับผ้ามาลองใช้จักรเย็บ เริ่มจากทำชุดรีไซเคิลประกวดกันที่โรงเรียน แล้วมันก็ชนะ ก็เลยคิดว่าเราสามารถมาทางนี้ได้ ก็เลยเริ่มสนใจเกี่ยวกับแฟชั่นค่ะ จนมาสมัครเรียนต่อที่กรุงเทพฯ
เจอตัวตนตั้งแต่ตอนเรียนแฟชั่นเลยไหม?
ตอนเข้ามหาลัยฯ แรกๆ เราไม่รู้หรอกว่าเราชอบอะไร เราเป็นใคร เราถนัดอะไร เรารู้แค่เราวาดรูปเก่ง เราวาดงานแฟชั่นได้ แล้วก็ทำงานอาร์ตได้ ความเป็นตัวเองมันเริ่มมาจริงๆ เกือบปี 3 ปี 4 ตอนใกล้จะจบ ช่วงที่เราได้ทำคอลเลกชันของตัวเองจริงๆ แล้วเราได้ทำหลายอย่าง มันทำให้เรารู้ว่าแนวงานของเรามันจะประมาณนี้นะ มันจะมีสไตล์แบบนี้ แล้วเราก็แบบ Keep Going พอทำไปเรื่อยๆ จะรู้เองว่าตัวตนของ
เรามันเป็นยังไง เพราะว่ามันถูก Express ผ่านงานเราหมดเลย
ถ้าต้องนิยามตัวตนและแนวงานด้วยคำหนึ่งคำ
‘แปลก’ ค่ะ ใช่เป็นคนแปลกๆ มันแปลกตั้งแต่งานยัน personality เลย (หัวเราะ)
พอรู้แนวตัวเองแล้ว ใส่มันลงไปใน thesis เลยไหม?
ตอนแรกเราทำเป็น ready-to-wear (เสื้อผ้าแบบสำเร็จรูปที่พร้อมใส่) ไปเสนอที่ห้อง thesis แล้วไม่ผ่านเลยสักเซ็ต มันเลยเป็นโจทย์ที่เราต้องกลับมาค้นหาตัวเอง เริ่มจากการค้นหาสไตล์งานหรือสิ่งที่เราชอบลึกๆ ว่าเราอยากจะ express อะไรผ่านงาน เราใช้เวลาอยู่กับตัวเองส่วนมาก เพื่อหาว่าจริงๆ แล้วเราชอบ อะไรเราสนใจอะไร แล้วเราอยากตื่นมาแล้วอยากทำอะไรทุกวัน มันก็นำไปสู่การรีเสิร์ชที่เอามารวมกับประสบการณ์ส่วนตัวที่เราไปพบไปเจอมา เราเอาประสบการณ์มามิกซ์รวมกันออกมาเป็นงานของตัวเอง
ประสบการณ์ไหนที่ spark ไอเดียคอลเลกชั่นนี้?
ตอนนั้นได้ทุนไปที่ฝรั่งเศส ก็เลยไปดูโมนาลิซ่า ตื่นเต้นมากคนเข้าแถวเต็มเลย พอไปดูแล้วก็แบบ เอ๊ะ! ทำไมเห็นของจริงนะแล้วมันไม่ได้ฟีลเลย มันควรจะตื่นเต้นกว่านี้ป่ะ ก็เลยคุยกับเพื่อนว่า หรือมันเป็นเพราะเราเห็นผลงานที่เป็นผลงาน kitsch ตามอินเตอร์เนตกันจนชินแล้ว ก็เลยเอาไอเดีย kitsch art ตรงนี้มาเป็นตัวตั้งต้นทำ thesis
ทำไมต้องคำว่า ‘kitsch’?
มันมาจากภาษาเยอรมันที่แปลว่า ดูราคาถูก งานก็อปปี้ ถูกเอามาทำซ้ำเยอะๆ ในเชิงพาณิชย์ จนดูไร้รสนิยม เราเลยใช้คำนี้เป็นสารตั้งต้น เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นคำที่มีหลายมุมมอง มุมมองบวกก็มี มุมมองลบก็มี มุมมองลบก็คืองานเรามันดูธรรมดา เห็นได้เกลื่อนกลาด แต่ถ้ามองแง่บวกก็คืองานเรามันป๊อปปูลาร์ขึ้นมาค่ะ
เรารู้สึกว่ายิ่งเราขุดลงไปในคำนี้ ไอเดียมันก็ยิ่งใหญ่ขึ้น ยิ่งเยอะขึ้น เยอะขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเราเริ่มจาก kitsch แล้วมันก็ไปพ่วงกับการหาความหมายของศิลปะหรือการให้คุณค่างานศิลปะ จากนั้นไอเดียมันก็ลึกขึ้นเรื่อยๆ เลยค่ะ
ได้เรียนรู้อะไรระหว่างที่เราดิ่งลงไปในไอเดียนี้?
เรารู้สึกว่าศิลปะมันเกี่ยวกับมุมมองของคน จริงๆ แล้วศิลปะมันขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองยังไงค่ะ
จากไอเดียนามธรรมหน่อยๆ กลายมาเป็นชิ้นงานที่จับต้องได้ได้ยังไง?
ของแต่ละชิ้นที่เราหยิบมาทำงานตอนคัดเลือกกันมันมีหลายอย่างมากๆ ให้ทั้งเพื่อน ทั้งอาจารย์ช่วยกันเลือก หยิบๆ เอาจากของที่เห็นๆ กันอยู่แล้ว แล้วมาโหวตกันว่าทำไมต้องเป็น 5 ชิ้นนี้ มันจะมีชิ้นที่เป็นโบว์ริบบิ้นของขวัญ โบว์สีแดง ขี้กบเหลาดินสอ ไฟแช็ก แล้วก็กิ๊บหนีบผมค่ะ ไอเทมพวกนี้เราเห็นกันบ่อยจนชินตา ก็เลยดึงความรู้สึกตรงนั้นมาทำเป็น thesis ค่ะ
ทำไมต้องเป็นของ 5 ชิ้นนี้?
มันต้องเป็นข้าวของที่เห็นแล้ว เห้ย! นี่มันสิ่งนี้นี่นา มันจะมีความ nostalgia อยู่ในคอนเซ็ปต์นิดนึง เราไม่ได้มีสตอรี่กับของแต่ละอย่างขนาดนั้น แต่ไอเดียมันปิ๊งขึ้นมาเองตอนเราคิดงาน เลยคิดว่าคนอื่นเห็นของพวกนี้แล้วน่าจะคุ้นเคยกับมันเหมือนกับเรา
เล่า process ตั้งแต่ออกแบบจนถึงลงมือสร้างชุดจริงขึ้นมาให้ฟังหน่อย
เริ่มจากตอนสเก็ตช์ภาพค่ะ ตอนแรกก็วาดมาเว่อร์ๆ เลย แต่พอต้องเอามาทำเป็นชุดจริงๆ มันมีหลายเรื่องที่ต้องคิดหนักหน่อย ทั้งน้ำหนักชุด หรือวัสดุที่ใช้ หรือการทำโครงสร้างของแต่ละชุดขึ้นมา ที่สำคัญที่สุดคือการทำให้มันใส่ได้จริง และยังคงความเป็นชิ้นงานครีเอทีฟอยู่
แต่ละชุดมีกิมมิกยังไงบ้าง?
เริ่มจากชุดโบว์สีฟ้าก่อนเลย เพราะเป็นชุดที่ชอบมากๆ ชุดหนึ่ง ชุดนี้ทำค่อนข้างยาก ต้องขึ้นโครงใหญ่มากๆ มีการแบบปรับแก้ไซส์หลายรอบ ตอนแรกทำมาแล้วมันเล็กไป ก็เลยเพิ่มให้มันใหญ่ขึ้น วัสดุเป็นไฟเบอร์กลาสทั้งชิ้นเลยหนักพอสมควร ต่อมาเป็นชุดโบว์สีแดง ชุดนี้จะมีดีเทลฟันซิปรูดสีทองๆ ซึ่งต้องหล่อมือทีละชิ้นเลย ก็คือจะละเอียดมากๆ

ส่วนชุดกิ๊บผมก็เป็นอีกชุดที่ชอบ ชุดกิ๊บมาคู่กับผมจริงๆ ได้ไอเดียมาจากห้อง thesis อาจารย์เขาบอกว่ามีกิ๊บผมแล้วก็ต้องมีผมจริงไปด้วยเลยสิ ของมันต้องมาคู่กัน ก็เลยออกมาเป็นชุดนี้ ตอนแรกมีหลายเวอร์ชั่นมาก ตั้งแต่กิ๊บเฉยๆ จนผมแบบพริ้นท์สกรีน จนสุดท้ายออกมาเป็นชุดนี้ค่ะ

อีกชุดคือตัวกบเหลาดินสอ ตอนแรกตั้งใจอยากทำเป็นไม้จริงๆ ให้คนสวมใส่ได้ ตอนทำมันเลย challenge เรามากๆ ว่าจะใช้วัสดุอะไรดี ทดลองหลายวัสดุมากๆ เลยค่ะ กว่าจะออกมาเป็นชุดนี้ ชุดไฟแช็กก็ใช้วัสดุหลากหลายค่ะ แต่ส่วนใหญ่เป็นพลาสติก PVC

ส่วนชุดที่ชอบที่สุดคือชุดเก้าอี้ค่ะ ไม่ได้อยู่ในเซ็ต thesis แต่ที่ชอบเพราะเป็นชุดที่สามารถนั่งได้จริงๆ ตอนออกแบบต้องขึ้นโครงให้แมตช์กับสรีระร่างกาย มันมีฟังก์ชันที่สามารถนั่งได้ พับเก็บได้ ความยากคือการทำให้มันใช้ได้จริงแต่ยังคงความสวยงามของมันเอา
อะไรคือสิ่งที่ท้าทายที่สุดตอนทำ?
น่าจะเป็นเรื่องวัสดุที่ใช้ค่ะ เพราะใช้ไฟเบอร์กลาส และอะไหล่แต่ละชิ้นเราก็ต้องหล่อเอง เราไม่ได้ใช้เครื่องมือเครื่องใช้อะไรเลย ขึ้นโครงทุกอย่างด้วยมือ ปั้นด้วยมือ แล้วก็หล่อเอาทีละชิ้นๆ แล้วค่อยเอาทุกอย่างมาประกอบกันออกมาเป็นชุด
ได้สกิลใหม่ๆ อะไรมาบ้างระหว่างทำชุดด้วยมือ?
มันต้องใช้มากกว่าสกิลการทำเสื้อผ้า มันต้องมีสกิลงานช่าง การทำสี การขึ้นโครง ทุกอย่างเลยค่ะ
แต่ว่าปริมโชคดีมากที่มีคุณพ่อเป็นช่าง เป็นช่างฝีมือหลายอย่าง เขาก็มาช่วยกันทำ ก็ถือว่าเป็นผลงานที่เราได้ใช้เวลากับครอบครัวด้วย เปอร์เซ็นต์ในการจ้างงานต่อคือน้อยมากๆ ส่วนใหญ่เราทำเองเกือบ 80% เลยค่ะ
สำหรับปริมแฟชั่นกับศิลปะเป็นเรื่องเดียวกันไหม?
Art กับ fashion มันไปด้วยกันได้ แม้ว่าเราจะออกแบบสิ่งที่มัน creative มากๆ แต่เรายัดมันลงไปในแฟชั่นได้ แค่ต้องคำนึงถึงหลายๆ อย่างค่ะ เราต้องเวิร์กให้มันอยู่ด้วยกันได้ อย่างคอลเลกชัน thesis ของเรา ตอนคิดคอนเซ็ปต์อยากให้มันเป็นเหมือนงานอาร์ตที่สวมใส่ได้ จริงๆ ก็ไม่ได้จัดหมวดหมู่ว่ามันคือแฟชั่นประเภทไหน แค่คิดว่าอยากทำคอลเลกชันนี้ให้เหมือนงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ที่คนสามารถสวมใส่ได้
ประสบการณ์ไหนที่ทำให้อยากสร้างงานอาร์ตที่สวมใส่ได้?
น่าจะตอนไปพิพิธภัณฑ์ที่ปารีส เรารู้สึกว่าเรายังไม่เห็นอาร์ตเวิร์คที่คนใส่ได้จริงๆ เลยคิดอยากจะทำขึ้นมาเอง
ฟีดแบคงานเป็นยังไงบ้าง?
ฟีดแบคมันก็เจอทุกรอบล่ะค่ะแต่ว่ามันก็ทำให้เราแบบเห็นมุมมองของคนอื่นว่างานของเรามันเป็นยังไงในสายตาของคนอื่น เราว่ามันดีเพราะว่ามันช่วยพัฒนาให้งานเราดีขึ้นเรื่อยๆ
การเป็นศิลปินกับการเป็นดีไซน์เนอร์ ต่างกันยังไงในมุมมองปริม?
ดีไซน์เนอร์เราต้องรับฟังความเห็นคนอื่น แต่ถ้าเราเป็นศิลปินเราทำในแนวของตัวเองไปเลย ตอนนี้เราอยู่ตรงกลางระหว่างสองสิ่งนี้
มีอะไรที่อยากทำอีกไหมช่วงนี้?
เราอยากทำเสื้อผ้าที่สามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกมนุษย์ออกมาได้จริงๆ คล้ายๆ กับงาน abstract ก็อาจจะไม่เชิง เราอาจจะขึ้นเป็น artwork ขึ้นมาก่อนแล้วค่อยทำเป็นเสื้อผ้า
ถ้า collab กับใครก็ได้ อยากทำกับใคร?
พี่ติ้ว วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ค่ะ เคยปรึกษาพี่เขาตอนทำ thesis ก็เลยออกมาเป็นงานนี้
เป้าหมายในการเป็นศิลปินของปริมคืออะไร?
อยากทำงานศิลปะเพิ่ม และอยากแชร์ให้คนเห็นว่ามันยังมีคนคิดแบบนี้อยู่นะ คิดเหมือนยู คนที่คิดอะไรง่ายๆ แต่มีอิมแพ็ค