นอกจากออฟฟิศและห้องเช่า ทุกวันในเมืองใหญ่ มีที่ไหนอีกไหมที่เรา belong?
“ขณะที่บางคนเลิกงานและรีบกลับบ้าน… บางคนเลือกแวะที่หนึ่งก่อนระหว่างทาง”
ประโยคข้างต้นมาจาก Shinya Shokudō หรือ Midnight Diner (2009 / Midnight Diner: Tokyo Stories, 2019) เล่าเรื่องคนมากหน้าหลายตาที่แวะเวียนมากินข้าวที่ร้านอาหารเที่ยงคืน โดยมีพ่อครัวหรือ “มัส-ตะ” (Master) คอยรังสรรเมนูธรรมดาๆ ชวนน้ำลายสอในทุกอีพี ใครได้ดูก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีสถานที่ประจำคอยพักพิงในเมืองใหญ่ช่วยชุบชูใจได้ไม่น้อย
สารภาพว่าผู้เขียนไม่เคยเข้าใจการหอบสังขารจากที่ทำงานไปร้านอาหารสักแห่งในเวลาหลังเที่ยงคืนหรือการอัปเดตชีวิตที่ร้านกาแฟอย่าง ‘Central Perk’ แทบทุกวันอย่างใน Friends (1994-2004) อาจเพราะเป็นอินโทรเวิร์ตและตอนนั้นยังไม่ได้ออกจากบ้านไปเรียนมหาวิทยาลัยในเมืองใหญ่และต้องทำงานกลางเมืองหลวง
หลายปีผ่านไป เราเป็นเหมือนกับอีกหลายคนที่บ้านเกิดไม่มีงานรองรับกับสายงานที่เรียนมา เราเก็บกระเป๋าเข้ากรุงเทพฯ เช่าหอเล็กๆ ซึ่งมีระยะห่างหลักสิบกิโลเมตรจากที่ทำงาน การไป-กลับทุกวันด้วยขนส่งสาธารณะหลายรูปแบบสไตล์ไทยแลนด์ทำเอาปวดหัวจนไม่อยากไปไหนอีก แต่พออยู่ห้องคนเดียวก็อดใจไม่ไหวที่จะคิดถึงบ้าน ทำได้เพียงไถหน้าจอดูคลิปหมูเด้ง พี่ดำทอมโสด พี่จ๋าหนูขา ครูบาเฮง จุ๊มเหม่ง และบรรดา TikToker ให้ได้พอคลายเหงา หรือพอดูเจ้าชินจังระหว่างกินข้าวก็ห้ามใจตัวเองให้ดูตอนอื่นๆ จนลากยาวไม่ได้ เมื่อตื่นขึ้นมาก็รู้สึกล้าเพราะแสงฟ้าระยะประชิดยามค่ำคืน
ความรู้สึกอยากปิดหน้าจอยังสอดคล้องกับเทรนด์อย่าง JOLO (Joy of logging off) หรือพฤติกรรมของเจนซีที่รู้สึกว่าโซเชียลมีเดียไม่ได้ช่วยให้เหงาน้อยลง เหล่า JOLO จึงปิดคอม ล็อกหน้าจอ และมองหาชีวิตที่จอยฟูลกับคนจริงๆ อันที่จริงเทรนด์นี้ไม่ได้เกิดกับเจนซีเท่านั้นและโซเชียลมีเดียก็ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยว เพราะพูดอย่างยุติธรรม ไม่ว่าใครก็สามารถมีความสุขจากการปิดหน้าจอหรือล็อกออฟจากงานกันทั้งนั้น และโซเชียลมีเดียถือเป็นตัวช่วยให้เราหาสถานที่ที่ใช่กับเราได้เช่นกัน
วันหนึ่ง พฤติกรรมติดจองอมแงมของเราทำให้ได้ดู Midnight Diner อีกครั้ง สิ่งนี้เริ่มทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าสถานที่ที่ทำให้เราผละจากหน้าจอโทรศัพท์และพักสมองจากออฟฟิศยังพอมีไหม เพราะอยู่แต่ห้องก็ดีอยู่หรอก แต่สูดอากาศพบผู้คนบ้าง ก็น่าจะช่วยฮีลใจและร่างกายได้ดีเหมือนกัน
หลังจากเราสำรวจย่านที่อยู่ เราพบว่ามีร้านกาแฟที่เป็นมิตร (แต่ประตูห้องน้ำปิดยากบรรลัย) เรามีร้านลาบข้างหอที่เปิดถึงเที่ยงคืนซึ่งต้มแซ่บพวงไข่อร่อยสุดๆ เรามีบาร์เล็กๆ ในตรอกที่มีเวลาปิดตามใจปรารถนาของลูกค้า และเราก็เชื่อว่าทุกคนในเมืองหลวงก็มีสถานที่เหล่านี้ประโลมข้างกายเหมือนกัน โดยความแตกต่างของสถานที่ข้างต้นกับสถานที่สาธารณะ ห้าง หรือพวก Public space ก็คือการที่เราสามารถเดินไปได้และไม่ไกลจากที่พักมากนัก
แต่ลองจินตนาการว่าเราอยู่แถบชานเมืองหรือบรรดาชุมชนขยาย (dispersed cities) ที่เต็มไปด้วยหมู่บ้านจัดสรรซึ่งต้องอาศัยพาหนะออกมาถนนหลัก แล้วถนนหลักก็มักมีจุดยูเทิร์นไกลลิบหรือไม่ก็เป็นทางเลียบมอร์เตอร์เวย์ ซึ่งเลนนับสิบยิ่งชวนให้เหงาเศร้าเข้าไปอีก พอจะเข้าเมืองไปอัปเดตชีวิตก็ต้องเสียค่ารถไฟฟ้าชนิดทำเอากลืนน้ำลาย และยิ่งความห่างระหว่างสถานที่ทำงานกับบ้านมากยิ่งขึ้นเท่าไร เราก็ยิ่งต้องการ ‘พื้นที่ตรงกลาง’ เพื่อให้เรารู้สึกไม่เหงาเกินไปมากขึ้นเท่านั้น
Ray Oldenburg นักสังคมวิทยาเมือง เสนอว่าสิ่งที่มนุษย์เมืองๆ ทั้งหลายต้องการคือ “พื้นที่ที่สาม” (Third Space) พื้นที่นี้ต้องเป็นสถานที่ที่ผู้คนรวมตัวได้ง่าย ไม่แพง สม่ำเสมอ และอบอุ่นใจ เป็นทางเลือกที่ทำให้มนุษย์ออกจากหน้าจอ สถานที่ทำงาน (Second Space) และเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้คุณยังไม่อยากกลับบ้านหรือที่พัก (First Space)
คำจำกัดความของ Third Space นั้นง่ายมาก Ray Oldenburg อธิบายว่ามันคือสถานที่ที่ถูกกำหนดโดยลูกค้าประจำเป็นหลัก มีอารมณ์สนุกสนาน และมีความคล้ายคลึงกับคุณลักษณะของ ‘บ้าน’ ที่ดี นั่นคือเป็นพื้นที่ปลอดภัยและพร้อมซัพพอร์ตกัน พื้นที่นี้ยังสามารถเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ร้านหนังสืออิสระ ร้านตัดผมเจ้าประจำ บาร์ลับๆ สภากาแฟยามเช้า หรือจะร้านอะไรก็ได้ที่เรารู้สึกดีกับมัน เขายังเสริมอีกว่า Third Space สะท้อนคุณค่าของประชาธิปไตยและความเป็นท้องถิ่นได้ดีที่สุด
มองเผินๆ Third Space ดูเป็นคำที่เข้าท่าเฉพาะกับเมืองใหญ่เท่านั้น แต่เราคิดว่า ความเหงา ความโดดเดี่ยว รวมไปถึงอารมณ์ของการโหยหาอนาคตที่ดีกว่าและการโหยหาอดีตอันชื่นมื่นในบ้านเกิดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ทำงานต่างถิ่น เพียงแต่ว่าคนกลุ่มนี้ในเมืองใหญ่ๆ มีเยอะเท่านั้นเอง เหมือนกับที่ Georg Simmel นักสังคมวิทยาศตวรรษที่ 19 กล่าวว่า “ไม่มีที่ไหนจะมอบความรู้สึกโดดเดี่ยวและเคว้งเท่ากับการอยู่ท่ามกลางผู้คนในมหานครอีกแล้ว”
ในแง่นี้ ความเหงาเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนมารวมตัวกัน ณ มุมเล็กๆ ของเมืองและมุมจ้อยๆ ของโลก เพียงเพื่อให้ความโดดเดี่ยวในใจได้รับการเยียวยาจากการที่เรารับรู้ว่าไม่ได้อยู่เพียงลำพัง โดยความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางชั่วประเดี๋ยวนั้นเทียบไม่ได้เลยกับการที่เราถูกเยียวยาโดยสถานที่ที่ทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
“คือห้องพักมันก็เซฟโซนแหละ แต่อุดอู้ เป็นแค่ห้องสี่เหลี่ยมๆ”
บ่ายวันหนึ่งเราเจอ ‘เอมี่’ First Jobber จากภาคตะวันออกที่เพิ่งย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เธอเล่าว่า หอที่อยู่ไม่อนุญาตให้มีสัตว์เลี้ยง นั่นยิ่งทำให้รู้สึกตัวคนเดียว
“การมาอยู่กรุงเทพฯ อยู่ไกลบ้าน (บ้านในความหมายทางจิตใจนะ) มันรู้สึกไม่มีอะไรเลย เรามาเอาตัวรอดล้วนๆ ห้องพักกลายเป็นเซฟโซน แต่ก็ไม่ใช่ของเราจริงๆ หันไปไม่เจอแม่ ไม่เจอแมว มันมีความแยกขาดทางจิตใจ ส่วนที่ทำงาน แค่คิดก็พะอืดพะอม
“เราคิดถึงบทสนทนาที่คุยกับป้าร้านข้าวเดิมๆ คนธรรมดาๆ อากาศ ธรรมชาติ การรับแดด กลิ่นของคน กลิ่นของดิน เราคิดถึงกลิ่นดินหน้าบ้านมากๆ”
ส่วนคนที่ทำงานต่างถิ่นอย่าง ‘หิน’ ในวัย 24 ปี เผยว่าที่ที่เขาไปประจำคือสวนสาธารณะและไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ถ้าเราได้เป็นตัวเขาเราเอง นั่นก็อาจเป็นแหล่งพักพิงในชีวิตได้
เขาเป็นคนภาคใต้ เรียนภาคเหนือ ทำงานที่ภาคอีสาน ชีวิตข้องเกี่ยวกับกรุงเทพฯ น้อยมาก มองเผินๆ ชีวิตของเขาอาจไม่ได้เร่งรีบมากนัก แต่เนื้องานนักสังคมสงเคราะห์ที่ต้องพบเจอผู้คน ก็ทำให้เขาต้องหาที่ที่ได้ปล่อยตัวเองเหมือนกัน
“เราทำงานให้คำปรึกษา จึงได้รับทั้งความคิด ความรู้สึกต่าง ๆ จากผู้ใช้บริการ ซึ่งเขาไม่ผิด แต่ความอยากให้เขาโอเค ทำให้เกิดความกดดันตามมา จะโทรไปหาครอบครัว บางทีครอบครัวก็ว่างไม่ตรงกับเรา เพราะหน้าที่การงานต่างๆ การไปสวนสาธารณะเพื่อวิ่งเลยทำให้เราปลดปล่อยตัวเองจากความคิด เพราะเหนื่อย (หัวเราะ) เราโชคดีที่ชอบวิ่งและการวิ่งสามารถทำได้ทุกที่ การอยู่ต่างเมืองของเราเลยปรับตัวได้ง่าย”
ขณะที่พราวในวัย 25 ปี อดีตคนทำงานสาย NGO และคนเขียนคอนเทนต์ที่ใช้ชีวิตกรุงเทพฯ โซนเหนือ เธอเล่าว่ากำลังถึงทางแยกของชีวิตวัยทำงานและมีแพลนเก็บกระเป๋ากลับบ้านเกิด ซึ่งห้องสมุดและ Co–Working Space เป็นพื้นที่ที่เธอชอบไปเป็นประจำ เพราะชอบใช้เวลากับการเขียนงานที่นั่น ช่วยเพิ่มความ productive แล้วยังไว้นัดเจอเพื่อน ทำกิจกรรม จัดเวิร์กชอปเล็กๆ ได้
“พื้นที่พวกนี้ (Third Space) สำคัญนะ มันช่วยทำให้เมืองมีชีวิตและผู้คนสามารถ ‘belong with your spirit’”
จะว่าไปแล้ว ข้อดีอย่างเดียวของกรุงเทพฯ ที่เราต้องยอมรับ ก็คือการมีคอมมูนิตี้และร้านรวงหลากหลาย ทำให้เรารู้สึกได้มีอิสระในการตัดสินใจ แต่เมืองที่มีประชากรแฝงเป็นอันดับ 1 เสมอมา ก็สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างชนิดที่คนเล็กๆ อย่างเราไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร ทั้งการกระจายอำนาจ แหล่งงาน ขนส่งสาธารณะในเมืองใหญ่แห่งอื่น ฯลฯ สิ่งเดียวที่ทำได้คงต้องรอเข้าคูหาอีกครั้งในปี 2570 นั่นน่าจะพอทำให้เราได้เห็นการมี Third Space ในเมืองอื่น และให้คนได้อยู่ First Space อย่างบ้านได้ตามที่ต้องการ
แต่เมื่อชีวิตยังเลือกไม่ได้ขนาดนั้น การหา Central Perk หรือ ร้านอาหารเที่ยงคืน ฉบับตัวเองก็อาจช่วยประคองใจเราไปก่อน เคล็ดลับคือลองปิดแมพ เปลี่ยนเส้นทางระหว่างที่พักกับที่ทำงาน ให้หัวใจทำหน้าที่แทนสมอง และเราอาจพบความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของค่ำคืน
อ้างอิง