ที่ไหนมีชีวิต ที่นั่นมีเพลงเพื่อชีวิต: ชวนมองการเดินทางของเพลงเพื่อชีวิต เพื่อนยากคู่อุดมการณ์ของมนุษย์
…เธอหวังในชีวิตใหม่ วันสดใสใครๆ ก็ยิ้มให้ แม้คืนนี้จะมืดเท่าไร แม้ว่ามันจะพาไปสู่ที่ใด ครอบครัวของฉันไม่ได้ขอ แต่ตัวฉันเองไม่อาจรอให้ใครพาฉันสู่จุดหมาย จะส่งมันไปจนวันสุดท้าย
เนื้อร้องจากเพลง ‘ลิ่วล้อ’ โดย View From the Bus Tour ที่หากฟังเพลินๆ ก็ดูเป็นเพลงโฟล์คชวนสงบใจ แต่หากมองเนื้อหาดีๆ เราอาจพบความเป็น ‘เพลงเพื่อชีวิต’ ซ่อนอยู่ สิ่งหนึ่งที่เป็นความพิเศษของเพลงแนวนี้ นั่นคือเป็นแนวเพลงที่มีอยู่เฉพาะในประเทศไทย เพราะหากจะแปลตรงตัวเป็นคำว่า ‘For life’ ก็คงไม่มีฝรั่งคนไหนเข้าใจ หรือหากจะพูดทับศัพท์ว่า ‘Phuea Chiwit’ ก็คงต้องอธิบายกันอีกยาว แล้วเพลงเพื่อชีวิตคืออะไรกันแน่? ทำไมถึงมีแค่ในไทย? ที่มาของเพลงแนวนี้เป็นยังไงกันแน่? วันนี้ EQ จะพาไปดูจุดเริ่มต้นและเส้นทางการเดินทางของแนวเพลงที่มีความเฉพาะตัวสุดๆ อย่าง “เพลงเพื่อชีวิต” กัน
โปรดฟังเพลย์ลิสต์ "Art for Life, Art for People" เพื่อประกอบอรรถรสในการอ่าน
{{spotify}}
เพลงเพื่อชีวิตคืออะไร? แล้วทำไมต้องเพื่อ ‘ชีวิต’?
จุดเด่นของเพลงเพื่อชีวิตนั้นถูกพูดถึงในชื่อไปแล้วว่าถูกแต่งมาเพื่อ ‘ชีวิต’ คือมักจะมีเนื้อหาพูดถึงสภาพสังคม การใช้ชีวิต ความลำบาก ความรัก ความสุข หรือประสบการณ์ของผู้แต่ง เพลงเพื่อชีวิตไม่ได้มีข้อนิยามด้านดนตรีที่แน่ชัดว่าต้องใช้ดนตรีแนวไหน เราจึงเห็นการผสานกันทั้งโฟล์ค บลูส์ โซล ร็อก ฯลฯ
แรกเริ่มคือเพลงชีวิต
เท่าที่มีการบันทึกจุดเริ่มต้นของเพลงเพื่อชีวิต ในยุคแรกเกิดขึ้นช่วงหลังการปฏิวัติ 2475 เป็นช่วงที่เริ่มได้รับอิทธิพลเพลงสากลเข้ามาในไทยผ่านนโยบายของคณะราษฎรที่ลดการเรียนดนตรีไทยแท้ลงในปี 2482 เพราะต้องการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยเท่าทันชาติตะวันตกมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยก็ได้รับอิทธิพลของดนตรีแจ๊สและเพลงประกอบการเต้นรำ ผ่านสื่อสำคัญอย่างวิทยุ ทำให้คนรุ่นใหม่ ณ ตอนนั้น นิยมฟังเพลงสากลและศิลปินไทยก็เริ่มใช้ท่วงทำนองของเพลงฝรั่งที่ร้องภาษาไทย เรียกว่า ‘เพลงไทยสากล’
ขณะเดียวกัน ศิลปินอย่าง ‘แสงนภา บุญราศรี’ ก็เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการใช้ดนตรีสากลมาผสานกับเนื้อร้อง แต่เป็นเนื้อร้องที่สะท้อนสภาพชีวิตของชนชั้นแรงงาน เช่น เพลงคนปาดตาล, เพลงกุลีท่าเรือ และเพลงนักหนังสือพิมพ์ จึงเรียกเพลงแนวนี้ว่า ‘เพลงชีวิต’ (แต่ยังไม่มีคำว่า ‘เพื่อ’ นะ)
เพื่อชีวิต เพื่อรับใช้อุดมการณ์
…ขอเยาะเย้ย ทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับมลาย ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน ดาวยังพราย อยู่จนฟ้ารุ่งราง
นี่คือส่วนหนึ่งของบทเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ ประพันธ์โดย จิตร ภูมิศักดิ์ ขณะติดคุกในช่วงปี พ.ศ. 2503-2505 จากข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ เพลงชีวิตอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างแยกไม่ขาด จนกระทั่งถูกนำมาใช้ในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เพื่อเป็นการสะท้อนปัญหาในการเมืองไทยและเป็นสื่อจรรโลงใจให้กับผู้ชุมนุม ทำให้เพลงชีวิตได้รับความนิยมและถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย
โดยภายหลังชัยชนะ (ชั่วคราว) ในเหตุการณ์ 14 ตุลา จิตร ภูมิศักดิ์ ได้เขียนบทความเสนอแนวคิด ‘ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน’ อิทธิพลของงานชิ้นนี้ ส่งผลให้เรียก ‘เพลงชีวิต’ ว่าเป็นแนวเพลง ‘เพื่อชีวิต’ มีศิลปินหลายกลุ่มได้ถือกำเนิดขึ้นในยุคนั้นจนกลายเป็นต้นแบบเพลงเพื่อชีวิตอย่างวง ‘คาราวาน’ และ ‘กรรมาชีพ’ เป็นต้น อาจพูดได้ว่าเพลงเพื่อชีวิตเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ถูกส่งต่อกันมาอย่างยาวนานให้เราเห็นจนถึงปัจจุบัน
หลัง 14 ตุลา ใช่ว่าการเมืองจะกลับปกติสุขหรือได้ประชาธิปไตยเต็มใบอย่างที่หลายคนต้องการ ทว่าแรงกดดันทางการเมืองในยุคนั้นก็ยังคงมาคุไม่มีทีท่าว่าจะสงบ จนกระทั่งเหตุการณ์สลายการชุมนุม (สังหารหมู่) 6 ตุลาคม ในปี พ.ศ. 2519 ที่เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งช่วงการชุมนุมนั้นได้มีการแต่งเพลงเพื่อชีวิตมาใช้ในการสื่อสารอุดมการณ์ของผู้ชุมนุมด้วย นอกจากนี้แล้ว การมีขั้วอำนาจโลกจากสองฝั่งคือเสรีนิยมและคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น ทำให้เหล่านักศึกษาที่ถูกมองว่าเป็นคอมมิวนิสต์นั้นต้องลี้ภัยเข้าไปอยู่ในป่า จุดเปลี่ยนสำคัญคือ เมื่อมีผู้คนก็ต้องมีวัฒนธรรม ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าก็ได้นำวัฒนธรรมเพลงเพื่อชีวิตไปกระจายสู่พื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยด้วย เพลงที่ถูกแต่งขึ้นในช่วงนั้นมักจะพูดถึงการใช้ชีวิตที่อยู่ห่างจากบ้าน การไปอยู่ต่างที่แต่ยังคงไว้ซึ่งอุดมการณ์ เช่น เพลงคิดถึงบ้าน (เดือนเพ็ญ) เพลงกำลังใจ และเพลงจากภูพานถึงลานโพธิ์’ เป็นต้น
…ในวันนี้ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์ อาจเงียบหงอย ก็เพียงช่วงรอคอยสู่วันใหม่ วันกองทัพ ประชาชนประกาศชัย จะกลับไป กรีดเลือดพาลล้างลานโพธิ์
ลักษณะการแต่งเพลงเพื่อชีวิตในยุคนี้จึงเสมือนบทประพันธ์กวีหรือการแต่งกลอน หัวใจหลักมักมุ่งไปที่เนื้อร้อง ทำนอง การออกเสียง จึงทำให้เพลงเพื่อชีวิตสามารถขับร้องโดยไร้เครื่องดนตรีได้อย่างไพเราะ และด้วยความที่เพลงเพื่อชีวิตนั้นจะมีทำนองในตัว จึงทำให้สามารถปรับเข้ากับเครื่องดนตรีไ้ด้หลายชนิด นอกจากดนตรีไทยที่ถูกนำมาใช้บ้างอย่างที่เราจะได้ยินจากเพลงส่วนใหญ่ของวงกรรมาชน ยังเป็นยุคที่ได้รับอิทธิพลดนตรีตะวันตกมาบ้างแล้ว เครื่องดนตรีหลักๆ ก็มักจะเป็นกีตาร์ กลอง หรือจะเป็นเครื่องดนตรีชิ้นจิ๋วเสียงแผดชวนเหงาอย่างฮาร์โมนิก้า เพลงเพื่อชีวิตในยุคที่ถูกใช้สำหรับการชุมนุมจึงมักจะใช้ดนตรีที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่มีความหรูหรา มีกลิ่นอายเพลงโฟล์ค และเข้าถึงผู้คนอย่างทั่วถึง แสดงให้เห็นว่าเพลงเพื่อชีวิตเป็นวัฒนธรรมของประชาชนทั่วไปอย่างแท้จริง
ยิ่งไปกว่านั้น สภาพสังคมไทยในแต่ละพื้นที่ยังคงมีทั้งปัญหาด้านการเมือง ปัญหาด้านการใช้ชีวิต ยิ่งทำให้เพลงเพื่อชีวิตได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั่วทุกมุมของประเทศไทยจนถูกนำไปรวมกับเพลงท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่
เพื่อชีวิต ในยุคการขยายตัวของทุนนิยม
หลังปี พ.ศ. 2531 เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู เพลงเพื่อชีวิตยังคงทำหน้าที่วิจารณ์การเมืองอยู่ แต่ก็ถูกนำเข้าสู่ระบบธุรกิจมากขึ้น อย่างวง ‘คาราบาว’ ที่เริ่มมีชื่อเสียงในช่วงปลายทศวรรษ 2520 ด้วยการพูดถึงประเด็นการเมือง ภายหลังเข้าสู่ยุคการพัฒนาเศรษฐกิจก็ได้เข้าสู่การเป็นธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด ทั้งการทำก็อปปี้หลายรูปแบบอย่าง เทปคาสเซ็ตหรือซีดี อีกทั้งการเข้ามาจับจองพื้นที่ในวงการเพลงเพื่อชีวิตของวงคาราบาวทำให้เกิดเป็นภาพจำในสายตาคนส่วนใหญ่ว่าเพลงเพื่อชีวิตจะต้อง starter pack เป็นเสื้อหนัง กางเกงยีนส์ รองเท้าบูตส์ ไว้ผมยาว ทั้งๆ ที่ลักษณะเหล่านั้นเป็นเพียงรสนิยมหนึ่งของวงเท่านั้น
ในทำนองเดียวกัน การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อรับใช้ทุนนิยมนี่เองทำให้มีชนชั้นแรงงานจำนวนมากอยู่รวมกันอยู่เป็นสังคมใหญ่ การสร้างร้านอาหาร ผับ บาร์เพื่อชีวิตที่ต้องมีเขาควายแปะไว้ผนังร้านก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เกิดการหลอมรวมกันทั้งวัฒนธรรมเพลงเพื่อชีวิตและวัฒนธรรมเพลงลูกทุ่งที่มาพร้อมกับผู้ใช้แรงงานจากต่างจังหวัด ทำให้เพลงเพื่อชีวิตในยุคนั้นกลายเป็นแรงใจคนทำงานอย่างแพร่หลายและได้รับการตอบรับอย่างดี เวทีความนิยมของคาราบาวได้สร้างภาพจำเหล่านั้นจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของคนหาเช้ากินค่ำ เรียกได้ว่าหากพูดถึงเพลงเพื่อชีวิต จะต้องนึกถึงภาพเขาควายและเพลงของวงคาราบาวขึ้นมาเป็นอันดับแรก
นำมาสู่ข้อสังเกตหนึ่งคือ ศิลปินบางกลุ่มที่สื่อสารสภาพชีวิต ความเป็นอยู่ หรือวิพากษ์สังคมผ่านบทเพลงหลังจากยุคทศวรรษที่ 2520-2530 หรือหลังจากนั้น มักมีภาพลักษณ์ของคาวบอยไว้หนวด ซึ่งภาพลักษณ์นี้ยังทำให้เข้าใจว่าเล่นเพลงแนวเพื่อชีวิตโดยปริยาย
ความพิเศษอีกอย่างของยุคนี้ คือการตีความคำว่า ‘เพื่อชีวิต’ ให้แตกต่างจากช่วงแรกที่มักจะมีดนตรีเรียบง่าย ใช้เพียงไม่กี่คอร์ด และมีกลิ่นอายเพลงโฟล์คที่ชวนให้รู้สึกระทม อ้างว้าง และโศกเศร้า สู่การนำมาให้ความหมายใหม่ว่า การพูดถึงปัญหาชีวิตนั้นไม่จำเป็นต้องระทมเสมอไป คนจนสามารถมีความสุขได้ สามารถยิ้มสู้ และสามารถหัวเราะให้กับปัญหาได้ โดยจะใช้ดนตรีที่มีความ ‘โจ๊ะ’ อย่างสามช่า เร็กเก้ หรือร็อกมาทำให้อารมณ์โดยรวมของดนตรีนั้นไม่อมทุกข์ชวนเหงาจนเกินไป ถือเป็นการตีความในรูปแบบใหม่และเป็นการพยายามสื่อสารว่า ‘คนจนไม่จำเป็นต้องอมทุกข์อีกต่อไป’
…คนใช้แรงงาน พวกฉันนั้นมิเคยหมด เหงื่อที่รินหยดรดร่างผ่านยังพสุธี ด้วยหนังหุ้มเนื้อ กอบเกื้อเอื้ออารี แรงงาน แรงงาน มีแจกจ่ายไปทั่วแดน…
นอกจากเรื่องการใช้แรงงาน อีกหนึ่งประเด็นที่มาพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจนั่นก็คือปัญหาสิ่งแวดล้อม กล่าวคือยิ่งเมืองขยายก็ยิ่งต้องบุกป่า ทำให้ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเริ่มเข้ามามีพื้นที่ในเนื้อเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งทำให้เห็นว่าคำว่า ‘เพื่อชีวิต’ นั้น คงไม่ได้หมายถึงแค่ชีวิตมนุษย์ เช่น เพลง ‘สืบทอดเจตนา’ โดยคาราบาว ที่มีเนื้อเพลงเกี่ยวกับการทำงานและอุดมการณ์ของนักอนุรักษ์อย่างสืบ นาคะเสถียร
แล้วตอนนี้เพลงเพื่อชีวิตยังมีชีวิตอยู่มั้ย?
หากถามว่าเพลงเพื่อชีวิตยังมีอยู่มั้ย ก็คงต้องบอกว่ามี เพียงแต่ว่าเพลงเพื่อชีวิตที่เราโตมานั้นมักจะอยู่ในยุคหลัง พ.ศ. 2531 ซึ่งคือยุคฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้เนื้อหาของเพลงเพื่อชีวิตในยุคนี้เน้นไปที่การใช้ชีวิต การหาเลี้ยงปากท้อง การทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว ความรัก ความลำบาก จนเริ่มถูกทำให้ออกห่างจากการเมืองอย่างเห็นได้ชัด บวกกับการถูกทำให้เป็นธุรกิจมากขึ้นจนทำให้จิตวิญญาณของเพลงเพื่อชีวิตนั้นถูกลดทอนไปตามกาลเวลา ซึ่งดูจะขัดกับความต้องการและอุดมการณ์ของกลุ่มคนที่คิดค้นเพลงเพื่อชีวิตมาในช่วงแรก
อีกประเด็นหนึ่งคือ คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันมีความสนใจประเด็นสังคม การเมือง และดูจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของแนวเพลงเพื่อชีวิต คนเหล่านี้มักจะเสพทั้งผลงานและอุดมการณ์ของศิลปิน กล่าวคือทัศนคติจะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดคุณภาพผลงานของศิลปิน ในยุคแห่งข้อมูลอันมหาศาลที่โซเชียลมีเดียสามารถกระจายเรื่องราว รวมถึง ‘ขุด’ เหตุการณ์ในอดีตได้ หลายคนจึงเลิกฟังเพลงเพื่อชีวิตไป เนื่องจากมุมมองทางการเมืองนั้นแตกต่างจากศิลปิน และเนื้อหาเพลงที่ศิลปินบางส่วนเคยร้อยเรียงเป็นบทเพลงเพื่อชีวิตนั้น ไม่ได้ตรงอุดมการณ์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่
ถึงอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าเพลงเพื่อชีวิตจะหายไปจากสารบบเพลงไทยเสียทีเดียว อาจเป็นเพราะปัญหาด้านสังคมและการเมืองที่ยังคงค้างคามาอย่างยาวนานจนเพลงเพื่อชีวิตต้องกลับมาทำหน้าที่รับใช้อุดมการณ์เช่นเดียวกับยุคเดือนตุลา เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาในยุคที่การเมืองไทยระอุ เกิดการต่อต้านกันทั้งสองฝ่าย จึงได้มีการนำเพลงเพื่อชีวิตมาขับร้องหล่อเลี้ยงอุดมการณ์ฝั่งต่อต้านอำนาจนิยม อย่างการใช้เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือจะเป็นเพลงเพื่อชีวิตยุคใหม่อย่างเพลง ‘เราคือเพื่อนกัน’ โดยวง ‘สามัญชน’ รวมถึงเพลงเพื่อชีวิตอื่นๆ อีกมากมาย มาเป็นสื่อกลางที่ใช้เชื่อมโยงและสร้างอุดมการณ์ร่วมให้กับผู้คน
ตราบใดที่ยังมีชีวิต เพื่อชีวิตจะไม่ตาย
ก็ใช่ว่าเพลงเพื่อชีวิตในยุคหลังจะขายวิญญาณให้กับทุนนิยมและอำนาจนิยมไปเสียหมด เพียงแต่ว่าในปัจจุบันนั้น การมองสังคมไม่สามารถมองได้เพียงมุมเดียวอีกต่อไปแล้ว การสะท้อนปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นล้วนมาจากความคิดของศิลปินที่มีความเป็นปัจเจก บ้างอาจจะมองปัญหาในแบบนึง บ้างก็มองไปอีกแบบ จึงทำให้เพลงเพื่อชีวิตในยุคนี้ดูจะไม่ได้เป็นกลุ่มก้อนทางความคิดเพียงไม่กี่กลุ่มเหมือนอย่างเช่นในอดีต อีกทั้งวิธีการนำเสนอในรูปแบบใหม่ๆ แนวดนตรีใหม่ๆ รวมถึงวิธีการสื่อสารที่ต่างไปจากอดีต ทำให้เพลงเพื่อชีวิตมีความหลากหลายมากเกินกว่าจะสามารถรวมเป็นแนวเดียวได้ เพลงร็อกก็สามารถพูดถึงปัญหาสังคมได้ เพลงแร็ปก็พูดถึงปัญหาสังคมได้ หรือแม้กระทั่งเพลงป็อปก็พูดถึงปัญหาสังคมได้
เมื่อคำว่า ‘เพื่อชีวิต’ ไม่ใช่เพียงแนวเพลง หากแต่คืออุดมการณ์และแนวคิด จึงทำให้ในปัจจุบันนั้นเราจะพบเห็นความเป็น ‘เพลงเพื่อชีวิต’ ที่ไม่ใช่แค่ใส่เสื้อหนัง กางเกงยีนส์ รองเท้าบูตส์ ยกตัวอย่างเพลงที่อาจะเรียกได้ว่ามีอุดมการณ์ของความเป็นเพื่อชีวิตสอดแทรกอยู่ อย่างเพลง ‘ไม่มีคนบนฟ้า’ โดย T_047 และไผ่ ดาวดิน ที่ถูกแต่งขึ้้นในช่วง พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีขบวนการต่อต้านเผด็จของกลุ่มคณะราษฎร 2564 อีกทั้งมีเพลงแร็ปจากศิลปินกลุ่ม ‘Rap Against Dictatorship’ อย่างเพลง ‘ประเทศกูมี’ และเพลง ‘ปฏิรูป’ เป็นต้น หรือจะเป็นเพลง ‘คxยประเทศเหี้ย (Land of Sh*t)’ ของวง ‘หมีน้อย’ ที่แสดงความเห็นไว้อย่างที่ดูจะไม่ค่อยเหมือนหมีน้อยเท่าไหร่ นอกจากนี้ ในประเด็นสังคมอื่นๆ ก็มีวงอย่าง ‘ไททศมิตร’ ที่แอบมีกลิ่นอายความเป็นเพลงเพื่อชีวิตในแบบเก่า โดยเพลงของไททศมิตรนั้นได้พูดถึงปัญหาสังคมอย่างการพลัดถิ่นของแรงงาน การใช้ความรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่น ปัญหาของคนทำอาชีพกลางคืน ประเด็น LGBTQ+ และปัญหาอื่นๆ ที่แฝงอยู่ในสังคมไทย
ทางฝั่งเพลงต่างประเทศถึงแม้จะไม่ได้มีแนวเพลง ‘เพื่อชีวิต’ แบบชัดเจนเหมือนไทย (แน่นอนล่ะเพราะต่างประเทศไม่มีภาษาไทย) จึงไม่สามารถสะกดคำว่าเพื่อชีวิตได้… แต่จิตวิญญาณของความเป็นเพื่อชีวิตตามคำนิยามของคนไทยอย่างการพูดถึงปัญหาสังคมและการเมืองก็ยังคงมีให้เห็นในเพลงต่างประเทศ เป็นไปได้ว่าการจัดหมวดหมู่โดยเนื้อหานั้นไม่ใช่การสื่อสารที่เป็นสากลสำหรับทุกคน อีกทั้งการสื่อสารโดยใช้เพียงความรู้สึกที่ส่งผ่านเสียงดนตรีนั้นไม่จำเป็นต้องถอดรหัสความหมายหรือตีความเหมือนอย่างการอ่านเนื้อเพลง จึงทำให้ดนตรีฝั่งตะวันตกนั้นไม่ค่อยนิยมจัดหมวดหมู่เพลงโดยใช้เนื้อหาเป็นเกณฑ์ สรุปก็คือมีดนตรีตะวันตกหลายแนวที่ใช้เนื้อเพลงวิจารณ์สังคม
อย่างที่บอกไปว่า ถ้าที่ไหนมีปัญหาสังคม ที่นั่นก็ย่อมมีการใช้ศิลปะสื่อสารปัญหานั้น โดยเพลงที่แต่งออกมาก็จะวิพากษ์สังคมแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละประเทศ หรือแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น อย่างวัฒนธรรมฮิปปี้ (Hippie) ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็นเพื่อเรียกร้องสันติภาพให้กับประเทศที่กำลังเกิดสงคราม ศิลปินที่หลายคนต้องเคยได้ยินอย่าง The Beatles ก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมขับเคลื่อนวัฒนธรรมนี้ด้วยเช่นกัน
การต่อต้านสงครามและรัฐบาลมีต่อมาเรื่อยๆ จนเกิดเป็นวัฒนธรรม ‘พังก์’ ในยุคหลัง 70s ที่มีอุดมการณ์ต่อต้านรัฐ และกระแสหลักของสังคมซึ่งมีวงอย่าง Sex Pistol, The Clash, Green Day, Sham 69 และ The Adverts เป็นต้น อีกทั้งต่อมาเพลงอย่าง Zombie ของ The Craberries ที่คุ้นหูคนไทยและถูกนำมารีมิกซ์ใหม่จนแทบไม่เหลือสารเดิมที่ศิลปินต้องการสื่อเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร อีกทั้งการพูดถึงปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างเพลง Pass the Dutchie ของ Musical Youth ที่บ้างก็ถูกมองว่าเป็นเพลงเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งก็แล้วแต่คนจะตีความ หรือจะเป็นทางฝั่งอเมริกาอย่างเพลง I Against I ของ BAD BRAINS ที่มีเนื้อหาวิจารณ์การเมืองในสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีเพลง Killing in the Name โดย Rage Against Machine ที่แต่งขึ้นในช่วงเหตุการณ์ชายผิวดำชื่อ Rodney King ถูกเจ้าหน้าที่ 4 นายทำร้ายร่างกาย และกลายเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมอเมริกาในช่วงนั้น
สิ่งสำคัญคือเพลงในยุคหลัง มีข้อจำกัดของดนตรีที่ลดลงเรื่อยๆ เราจะเห็นการนำดนตรีร่วมสมัยมาผสานกับสิ่งอื่นเพื่อก้าวข้ามขอบเขตของประเภทดนตรีคอยกำหนดและชี้นำให้เราทำเพียงอย่างใดอย่างนึง กล่าวคือ เมื่อข้อจำกัดด้านดนตรีนั้นน้อยกว่า เราจึงเห็นอะไรแปลกใหม่มากขึ้น อย่างการนำดนตรีไทยผสมกับตะวันตก นำเพลงร็อกมาผสมกับหมอลำ รวมถึงการนำเนื้อเพลงที่ลึกซึ้งเข้าถึงจิตใจซึ่งเป็นหัวใจของเพลงเพื่อชีวิต มาร้อยเรียงเข้ากับดนตรีร่วมสมัย ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพลงแนวไหน ก็สามารถมีเนื้อเพลงที่พูดถึงชีวิตได้
หากมองว่าหัวใจสำคัญของมันมีเพียงอย่างเดียวคือการพูดถึงประเด็นสังคม ไม่แน่ว่าเพลงในเพลลิสต์ของหลายคนตอนนี้ก็อาจจะมีสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าเพลงเพื่อชีวิตอยู่เช่นกัน
ถึงแม้กาลเวลาจะเปลี่ยน ดนตรีจะเปลี่ยน แต่หัวใจหลักของเพลงเพื่อชีวิตก็คือเนื้อหาที่เข้าถึงจิตใจผู้คนได้อย่างลึกซึ้ง หลายครั้งที่เรากังวลว่าการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยจะทำให้เพลงเพื่อชีวิตหายไป ทว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงของสังคม หากแต่เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคม เพลงเพื่อชีวิตจึงจำเป็นต้องคงอยู่เพื่อทำหน้าที่ในการสะท้อนเสียงของคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านั้น สุดท้ายแล้ว ตราบใดที่มนุษย์ยังมีความรู้สึก มีสำนึก มีความคิด เพลงเพื่อชีวิตก็คงไม่จากเราไปไหน เพราะความทุกข์ ความเศร้า ความรัก ความสุข ความสำเร็จ และอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นความเป็นมนุษย์นี่แหละที่จะหล่อเลี้ยงเพลงเพื่อชีวิตให้อยู่ตลอดไป
อ้างอิง
- ลือชัย จิรวินิจนันท์ (2532). เพลงเพื่อชีวิต การนำเสนออุดมการใหม่ (ศึกษาเฉพาะช่วง 14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- ธีระวัฒน์ ประกอบบุญ (2546). เพลงเพื่อชีวิตกับภาพสะท้อนทางสังคมไทย วิเคราะห์เนื้อหาเพลงเพื่อชีวิตในช่วงปี พ.ศ. 2535-2540. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- อาภากร โรจนบุรานนท์ (2552). การสื่อสารทางการเมืองผ่านเพลงเพื่อชีวิต กรณีศึกษาวงคาราวานและวงคาราบาว (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช). Ir.stou. https://ir.stou.ac.th/bitstream/123456789/666/1/118811.pdf
- เกรียงไกร ทองจิตติ. (2560). การกล่อมเกลาทางการเมืองผ่านบทเพลงเพื่อชีวิตช่วงปี พ.ศ. 2516 - 2519. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์, 3(2), 11-22
- จรูญรัตน์ สุวรรณภูสิทธิ์ (2531). การศึกษาบทเพลงเพื่อชีวิตที่เกี่ยวข้องกับขบวนการนักศึกษาช่วง 2516-2519. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- นภัสวรรณ จันทรเสนา (2566). การสร้างอัตลักษณ์ความเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิต: กรณีศึกษากลุ่มศิลปินไททศมิตร. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
- ณัฏฐณิชา นันตา (2562). วาทกรรมเพลงเพื่อชีวิตในบริบทการเมืองไทย (พ.ศ.2525-2550) (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย). kpi.ac.th. https://kpi.ac.th/knowledge/research/data/332
- Krithep, T. (2023). The Evolution of Protest songs from The Era of People’s Party in 1932 to The Era of People’s Party in 2020. Journal of Music and Performing Arts, Khon Kaen University, 5(1), 53–76.
- wikipedia.org