'นางนพมาศ' อุดมคติความงามในคืนวันเพ็ญ
“วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริง วันลอยกระทง”
นอกจากกิจกรรมปิกนิกริมน้ำ เดินสำรวจร้านรวงคึกคัก หรือเลือกซื้อเลือกทำกระทงของตัวเอง (ในแบบที่เป็นมิตรกับระบบนิเวศนะ!) เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงการประกวด ‘นางนพมาศ’ ที่อยู่เคียงคู่คืนเดือนเพ็ญเสมอ
หากเคยขุดคุ้ยหาคำตอบกันมาบ้าง เราคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า นางนพมาศมีเทือกเถาเหล่ากอมาจากไหน และคงรู้ว่านางนพมาศเป็นตัวละครที่ปรากฏในหลักฐานซึ่งเด่นชัดที่สุดใน “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” หรือ “นางนพมาศ” หนังสือที่แต่งขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เรื่องราวนี้ระบุว่า นางนพมาศเป็นสนมเอกของพระร่วง ได้ประดิษฐ์กระทงดอกบัวเพื่อใช้ประกอบพิธีจองเปรียงหรือพิธีบูชาไฟถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอิงมาจากพิธีบูชาไฟถวายเทพเจ้าของพราหมณ์ เป็นจุดเริ่มต้นของการลอยกระทงถึงทุกวันนี้
แต่ถึงอย่างนั้น เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมการลอยกระทงของบ้านเราถึงผูกติดกับเรื่องราวของนางนพมาศ ทำไมเธอถึงมีอิทธิพลต่อเวทีประกวดความงาม เวทีนี้และนางนพมาศกำลังบอกอะไรบ้างเกี่ยวกับวัฒนธรรมของสังคมไทย?
‘นางนพมาศ’ คำที่เพิ่งปรากฏ
หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดเกี่ยวกับนางนพมาศ ปรากฏในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ โดยในส่วนคำนำ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. 2457 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า “ใครๆ อ่านหนังสือเรื่องนี้ด้วยความสังเกตจะเห็นได้โดยง่าย ว่าเป็นหนังสือแต่ในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง แต่งในระหว่างรัชกาลที่ 2 กับที่ 3 ไม่ก่อนหน้านั้นขึ้นไป และไม่เป็นสำนวนภายหลังนั้นลงมาเป็นแน่”
เพราะความต่างถึง 400 ปีระหว่างยุคสุโขทัยกับยุครัตนโกสินทร์ ทำให้สำนวนภาษา การนับปี หรือการกล่าวถึงสิ่งประดิษฐ์อย่างปืนใหญ่ที่ปรากฏในตำรับฯ ล้วนเป็นสิ่งที่ปรากฏในยุคหลังสุโขทัยทั้งสิ้น ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดคือมีการเล่าถึงอเมริกา ชาติเกิดใหม่ที่มีอายุยังไม่ถึง 200 ปี ณ ขณะนั้น
แม้นางนพมาศจะเป็นตัวตนที่เพิ่งปรากฏ (อย่างชัดเจน) ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ประเพณีลอยกระทงจะเพิ่งเกิดขึ้น ถ้าย้อนถึงที่มาที่ไปกันชัดๆ ก็ต้องย้อนไปในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ที่มีการสร้างปราสาทบายนในยุคขอม โดยมีรูปสตรีถือกระทงนำไปลอยน้ำปรากฏบนประติมากรรมหินสลักของปราสาทในเมืองพระนคร
และว่ากันตามตรงแล้ว ‘ลอยกระทง’ คือประเพณีขอขมาแม่น้ำนับตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จากวัฒนธรรมพุทธ-พราหมณ์ แต่อาจเป็นเพราะคำนี้ไม่ได้ปรากฏในจารึกหรือเอกสารสมัยสุโขทัย ทำให้ภาพของการลอยกระทงในปัจจุบันกับในอดีตไม่น่าใช่ภาพจำเดียวกัน
เราคงไม่มีทางรู้จริงๆ ว่าภาพกิจกรรมลอยกระทงของคนทั่วไปเมื่อครั้งก่อนรัตนโกสินทร์เป็นอย่างไร หรือมีประกวดสาวงามนางนพมาศประจำตำบลรึเปล่า เพราะการเข้าถึงตัวหนังสือยังถูกกำกับโดยบางชนชั้นและสถานะทางสังคมนั่นเอง
จากบทวิเคราะห์ของกำพล จำปาพันธ์ ในบทความ “ลอยกระทง นางนพมาศ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ กับประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในวรรณกรรมสุโขทัย” (2565) ได้อธิบายอีกมุมมองของตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์อย่างน่าสนใจ
เขาอธิบายว่า กลุ่มอำนาจใหม่ในช่วงรัตนโกสินทร์ไม่ได้มาจากตระกูลขุนนางชั้นสูงในสมัยอยุธยา สายตาของพวกเขาจึงมองหาเรื่องราวที่เสริมความชอบธรรมในการปกครองของตนเอง สุโขทัยจึงดูเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพราะอาณาจักรเก่าแก่ที่แฝงด้วยเรื่องราวปลดแอกตนเองจากขอม หรือการมีกษัตริย์เชื้อสายพระร่วงผู้รวบรวมความเป็นปึกแผ่นให้อาณาจักร ไม่ต่างจากเรื่องราวที่พวกเขาร่วมมือกับพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบพม่าและสถาปนาอำนาจตัวเองหลังจากนั้น
หากเราได้มีโอกาสอ่าน ‘ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ นอกจากจะพบหลายวรรคที่เน้นย้ำถึงความงาม คุณความดี ความฉลาด และความเพียบพร้อมของนางนพมาศ วรรคที่สรรเสริญพระร่วงเจ้าก็มีหลายท่อนไม่แพ้กัน ซึ่งการย้อนกลับไปสร้างความชอบธรรมจากความรุ่งเรืองก่อนยุคอยุธยา ทำให้คนค่อยๆ จินตนาการถึงประวัติศาสตร์อันเรืองรองของสุโขทัย ก่อนยึดถือว่านั่นเป็นประวัติศาสตร์รากเหง้า เป็นจุดตั้งต้นทางประวัติศาสตร์ผ่านหลักฐานศิลาจารึกและปฏิบัติตามประเพณีลอยกระทงตามวรรณกรรมเกิดใหม่ที่มีข้อถกเถียงมากมาย
กล่าวได้ว่า ตัวตนของนางนพมาศเกิดจากกระบวนการเหล่านี้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิด ‘สุโขทัยนิยม’ (Sukhothai-ism) ตั้งแต่ยุคสมัยของสมเด็จฯ กรมพระยากำรงราชานุภาพ (พ.ศ.2405-2486) จนถึงยุคสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรก พ.ศ.2481-2487, ครั้งที่ 2 พ.ศ.2491-2500) ที่เน้นนโยบายด้านชาตินิยม ประวัติศาสตร์ในแบบเรียนจึงวางเรียงไทม์ไลน์จากสุโขทัย อยุธยา จนถึงกรุงเทพฯ อย่างสมูทลื่นไหล
ภาพจำของนางนพมาศจึงเป็นบุคคลในสมัยสุโขทัย เป็นผู้ประดิษฐ์กระทง เป็นสาวงามในยุค ‘พ่อปกครองลูก’ อันเป็นภาพฝันสุดแสนศิวิไลซ์อันเลือนรางในอดีต และอาจกกล่าวได้ว่า วันลอยกระทงที่เคียงคู่กับนางนพมาศอยู่มาจนถึงปัจจุบันด้วยกระบวนการเหล่านี้
เมื่อหญิงที่ดีไม่ถูกนับว่าเป็นสปีชีส์เดียวกับผู้ชาย
หากเรามองตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นวรรณกรรมยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่มีฉากหลังคือสมัยสุโขทัยแล้ว สิ่งนี้คือความคิดของผู้แต่งที่มีต่อสังคมในยุคสุโขทัย โดยใช้แว่นตาในสมัยรัตนโกสินทร์
“แต่ฝ่ายบุรุษซึ่งเป็นคนมีทรัพย์สมบัตินั้น ย่อมหาอนุภริยาด้วยสินจ้างสินถ่ายไว้เป็นบริวารยศ แม้มีบุตรธิดาก็นับเป็นตระกูบิดาฝ่ายเดียว อันว่าฝ่ายสตรีภาพนั้น แม้เป็นคนบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ ผู้ใดน้ำจิตโลเลลุอำนาจแก่กามคุณไปร่วมสังวาสด้วยบุรุษสินจ้างสินถ่าย ซึ่งใช้สอยการงานในบ้านเรือนก็ดี และเป็นหญิงงามเมืองก็ดี อันบุตรธดาของหญิง ๒ จำพวกนี้ มหาชนมีความรังเกียจนัก เรียกว่าคนอนาจาร ย่อมจ้างถ่ายไปใช้เป็นคนเลี้ยงช้างม้าโคกระบือ ซักตากผ้าผ่อนเก่าเสียโดยมาก” —จากบท ‘ว่าด้วยตระกูลต่างๆ’ ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์
แปลไทยให้เป็นไทยคือ ผู้ชายที่ร่ำรวยมีหลายเมียได้ แต่ผู้หญิงต่อให้รวยหรือมีทรัพย์สินแค่ไหน ถ้ามีผัวมากกว่าหนึ่งย่อมเป็นหญิงงามเมือง ไม่น่าคบหา มีจิตใจเลวร้าย ดังนั้น แหล่งที่มาของอำนาจไม่ใช่เรื่องของ ‘ทุน’ หรือ ‘ทรัพย์สิน’ แต่เป็น ‘เพศ’ ซึ่งปัจจัยเงินๆ ทองๆ ดูจะเป็นเพียงส่วนเสริมเท่านั้น
ความต้อยต่ำของสถานะความเป็นหญิงในสังคมโบราณของไทย ยังสอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่าด้วย ‘ท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ หรือนามเดิมคือ ‘แจ่ม’ น้องสาวของสมเด็จพระเพทราชา ผู้เป็นหนึ่งในนางสนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แม้มีชาติตระกูลสูงศักดิ์และมีตำแหน่งใหญ่โต แต่เธอมีเรื่องฉาวโฉ่โดยคบชู้กับเจ้าฟ้าน้อย พระอนุชาของพระนารายณ์มหาราช รวมถึงยังมีความสัมพันธ์กับชาวต่างชาติในหมู่บ้านโปรตุเกส เมื่อเรื่องแดงขึ้น เธอจึงถูกประหารชีวิตโดยการโยนให้เสือกิน ส่วนเจ้าฟ้าน้อยถูกตัดสินให้ประหารด้วยท่อนจันทน์ แต่กรมหลวงโยธาทิพขอพระราชทานอภัยโทษ เขาจึงลงเอยด้วยการถูกเฆี่ยนเท่านั้น
ทั้งจากแง่มุมของวรรณกรรมและเรื่องราวของท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) เราจะเห็นความเข้มข้นของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในนามของบุญบารมี และไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นเพศหญิง (หรือชาย) ที่ออกนอกกฎเกณฑ์จากศูนย์กลาง ย่อมถูกลงโทษชนิดไม่มีโอกาสยื่นอุทธรณ์
แล้วความดีงามที่ดูป่าเถื่อนยังมีอยู่ถึงทุกวันนี้ไหม คงไม่ แต่คอนเซ็ปต์ของ ‘บุญบาป’ ที่ติดกับเครื่องเพศมนุษย์ยังคงมีอยู่
คล้ายคลึงกับคำอธิบายระบบเพศภาวะในสังคมไทยของ Penny Van Esterik นักมานุษยวิทยา ที่กล่าวว่า อวัยวะไม่ใช่สิ่งเดียวที่ระบุเพศภาวะในสังคมอุษาอาคเนย์เฉกเช่นกรอบคิดของตะวันตก แต่ยังมี “วิญญาณ กรรม และใจ” ที่เป็นองค์ประกอบว่าบุคคลนั้นๆ เป็นใครและมีความแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร
หากกล่าวอย่างยุติธรรม สิ่งนี้เป็นการใช้เลนส์ของคนยุคปัจจุบันมองไปยังอดีต โดยเฉพาะจากหลักฐานจากตำรับฯ ซึ่งไม่ได้สะท้อนภาพของทุกช่วงชั้นในสังคมของสมัยนั้นอย่างปราศจากข้อเถกเถียงทั้งหมด
สิ่งที่น่าคิดต่อคือ แล้วเราจะประกวดนางนพมาศไปทำไมกัน?
นางนพมาศกับงานประกวด ภาพเลือนรางของความเท่าเทียม
หากตัดจุดกำเนิดของการประกวดนางนพมาศที่ผูกติดกับศาสนาพุทธ-ฮินดู ข้อถกเถียงของเวทีนพมาศก็ดูไม่ต่างจากเวทีนางงามทั่วโลก (Beauty Pageant) มากนัก
ข้อถกเถียงหลักคือ เวทีการประกวดความงามยังมีความจำเป็นอยู่ไหม? เราจะคัดเลือกผู้หญิงเพียงคนเดียวเพื่อเป็นตัวแทนคนทั้งโลกไปทำไม? กองประกวดพยายามโอบรับความหลากหลายมากเกินไปหรือเปล่า?
การประกวดยังคงเป็นเรื่องของการจัดการตัวเองเพื่อให้ถูกมองโดยผู้อื่น เพราะฉะนั้น มาตรฐานความงามหรือ Beauty Standard จึงขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์และกติกากองประกวด
หากจำกรณี Steve Harvey อ่านชื่อผู้ชนะรายการ Miss Universe ผิดคนในปี ค.ศ. 2015 ได้ Jessica Valenti เขียนวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนใน The Guardian ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตอกย้ำว่าผู้เข้าร่วมประกวดไม่ได้มีค่ามากไปกว่าตัวอักษร ถูกทดแทนได้ และเป็นเพียงการแข่งขันเพื่อชิงวัตถุที่แวววาวที่สุดในห้องอย่างมงกุฎ การประกวดนางงามจึงเป็นเพียงการย้ำเตือนถึงสิ่งที่ผู้หญิงไม่ต้องการจะได้รับ สิ่งนี้ไม่ควรมีอยู่ในอนาคต และหากจะอ้างว่าเวทีประกวดสามารถให้โอกาสในชีวิตกับคนสักคนได้ ก็ต้องบอกว่าสิ่งนั้นแลกมากับค่าใช้จ่ายมหาศาล
ขณะที่อีกด้านมองว่า โจทย์ของความงามเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัย ปัจจุบันมีเวทีที่เน้นเรื่องเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น เวทีที่โอบรับความหลากหลายทางเพศ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การเน้นย้ำถึงสิทธิสตรี หรือการเป็นภาพแทนของประเทศ อย่างที่ Rhonda Garelick เขียนใน The New York Times ว่า เพียงแค่การดิ้นรนของผู้เข้าประกวดก็เพียงพอแล้วที่ทำให้เราเห็นว่าพวกเธอมีจิตใจเปี่ยมคุณธรรม พยายามเป็นตัวแทนของประเทศของเธอ ไม่เห็นแก่ตัว และไม่แคร์กับการยิ้มหรือเดินบนรองเท้าส้นสูงอย่างยากลำบาก
ขณะที่จุดร่วมของทุกเวที (รวมถึงนางนพมาศ) คือเกณฑ์การตัดสินที่คล้ายๆ กัน ได้แก่ การตัดสินจากความงามและบุคลิกภาพ กิริยามารยาท ความสามารถพิเศษและการตอบคำถาม ซึ่งอาจเป็นการตอบสนองมุมมองแบบผู้ชาย (male gaze) ที่ผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุแห่งการจ้องมองเพื่อตอบสนองแรงปรารถนาและแฟนตาซีบางอย่าง
แน่นอนว่ากรรมการ กองเชียร์ คนสนับสนุน คนวิพากษ์วิจารณ์ และทุกสายตาที่จับจ้อง ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของคำตัดสินที่มีต่อเรือนร่างของผู้เข้าประกวด คำว่าผู้ชายในที่นี้จึงไม่ได้หมายถึงเพศ (sex) แต่คือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ (patriarchy) ที่ค้ำจุนให้ความเป็นหญิงในผู้หญิงถูกสงวนไว้ ต้องรักษาให้บริสุทธิ์ คล้ายฝันหวานที่ไม่อยากให้จบลง
ตัดภาพมาโฟกัสสังคมไทยสักนิด หากอ้างอิงจากหนังสือ “วิธีคิดเรื่องเพศวิถีของไทย” (2551) ของวราภรณ์ แช่มสนิท เราอาจกล่าวได้ว่า การประกวดนางนพมาศสะท้อนความพยายามของรัฐไทยให้ผู้หญิงมีค่านิยมรักนวลสงวนตัว เป็นส่วนหนึ่งของ ‘วัฒนธรรมอันดีของชาติ’ และผู้ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนออกจากมาตรฐานก็มักถูกประณาม หากจะมีนโยบายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ก็ทำไปเพื่อความทันสมัยตามเวทีโลกเท่านั้น
ในอีกมุมหนึ่ง การประกวดนางนพมาศ ก็กำลังสะท้อนความสัมพันธ์ในครอบครัวของสังคมไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากผู้หญิงและมีผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง แม้ศูนย์กลางที่ว่านั้น ก็มองได้เช่นกันว่าพวกเธอชดเชยหรือทดแทนความไม่เท่าเทียมในตำแหน่งแห่งที่ในสังคม โดยการมีส่วนร่วมในปริมณฑลพิธีกรรมแทน ทั้งการเป็นเจ้าภาพในงานบวชลูกชายของผู้เป็นแม่ การทำอาหารแจกแขกเหรื่อในงานศพญาติ การทำอาหารถวายพระในวันพระใหญ่ หรือการที่หญิงงามต้องแต่งชุดไทยเพื่อประกวดนางนพมาศ
หากย้อนกลับไปที่สิ่งพื้นฐานที่สุด ถ้าเราเชื่อว่าทุกคนมีความดีงามตามฉบับของตัวเองแล้วทำไมจู่ๆ ถึงมีใครก็ไม่รู้มาบอกว่าเราต้องมีมาตรฐานแบบไหนจึงจะเป็นผู้ชนะ หรือทำไมต้องมีเงื่อนไขเต็มไปหมดถึงจะเป็นคนดีได้ล่ะ?
อ้างอิง
- thepeople.co
- wikipedia.org
- silpa-mag.com
- silpa-mag.com
- nytimes.com
- firstpost.com
- theguardian.com
- Penny Van Esterik. 2000. “Modeling Thai Gender Relations” in Materializing Thailand. New York : Berg Publishers. pp. 201-225.
- Wazir Jahan Karim. 1995. “Bilateralism and Gender in Southeast Asia” in ‘Male’ and ‘Female’ in Developing Southeast Asia. Ed. Wazir Jahan Karim. Washington DC : Berg Publishers. pp. 35 - 44.
- วราภรณ์ แช่มสนิท. 2551. “วิธีคิดเรื่องเพศวิถีของไทย”. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (วปส.) มหาวิทยาลัยมหิดล.
- “นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์”. (2508). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ภักดีประดิษฐ์.