ด้วยเสียงคลื่นและทำนองของทะเล รู้จัก ‘รองเง็ง’ มรดกวัฒนธรรมของชาวมลายู
~“ลึกลับ พริ้วไหว เบาสบาย อาวรณ์” นี่คือบันทึกความรู้สึกของเรา หลังจากได้ฟังดนตรีรองเง็งครั้งแรกเมื่อราว 2 ปีก่อน ณ มุมเล็กๆ ของมิวสิคสเปซย่านอ่อนนุชอย่าง Brownstone
~ด้วยฝีไม้ลายมือของวงรองแง็งสวนกวีในครั้งนั้น ทำให้เราเก็บบันทึกสุ้มเสียงของแนวดนตรีไม่คุ้นหูนี้ไว้ในใจ ก่อนมีโอกาสทำความรู้จักจริงๆ จังๆ ในงาน Pakk Taii Design Week 2024 เพราะส่วนหนึ่งมีการจัดงาน “รองเง็งสนทนา วงน้ำชาจากอันดามันสู่อ่าวไทย” ซึ่งประกอบด้วย 3 วง ดนตรีรองเง็ง ได้แก่ รองเง็งอัสลีมาลา จากจังหวัดสงขลา รองเง็งคณะพรสวรรค์ ของชาวเลอูรักลาโวยจ และรองแง็งสวนกวี จากจังหวัดกระบี่
~ระหว่างที่บรรยากาศงานปักษ์ใต้และเสียงดนตรีกำลังบรรเลงไป ถัดจากนี้คือเรื่องราวของรองเง็ง รองแง็ง หร้อแห็ง หรือ Ronggeng ดนตรีและส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตแห่งชาวเอเชียอาคเนย์
รองเง็ง : วัฒนธรรมร่วมของชาวเลไร้พรมแดน
~รองเง็งคือดนตรีพื้นบ้านของชาวใต้ในไทย คาบสมุทรมลายูของมาเลเซีย เรื่อยจนถึงเกาะแก่งของอินโดนีเซีย จากทำเลที่ตั้งที่มีลักษณะเป็นหมู่เกาะ ทำให้รองเง็งเป็นศิลปะการแสดงดนตรีที่ถูกถักทอจากหลายวัฒนธรรม ได้แก่ มลายู อินเดีย ขอม จีน เปอร์เซีย และชาติตะวันตกตั้งแต่ยุคบุกเบิกการค้าทางทะเลและยุคอาณานิคม
~การเป็นชุมทางการค้าทางทะเล ยังทำให้ชาวพื้นเมืองในชวา-มลายู รับอิทธิพลทั้งพุทธ คริสต์ พราหมณ์ และโดยเฉพาะอิสลาม แน่นอนว่าการนับถือผียังคงเป็นรากทางความเชื่อของคนท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้ทำให้รองเง็งแต่ละที่มีความต่างในรายละเอียดและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง
~รองเง็งประกอบด้วย 3 เครื่องดนตรีหลัก คือ ฆ้อง ไวโอลิน รำมะนา (ปัจจุบันอาจเป็นกลอง) ซึ่งล้วนชวนให้นึกถึงเสียงคลื่นกระทบหาดและลมกระทบถ้ำ มีรูปแบบการรำมือและรำเท้า มีคำร้องต้นฉบับเป็นภาษามลายู ก่อนที่ชาวชาวไทยมุสลิมจะปรับเป็นภาษาไทยเพื่อร้องรำในถิ่นตัวเอง
~นอกจากนี้ รองเง็งถือเป็นดนตรีที่มีแบบแผน ทั้งการบรรเลง การร่ายรำ และการร้อง แต่รองเง็งสายชาวบ้านจะมีลักษณะเป็นมหรสพ คือแสดงไปตามหมู่บ้าน เกาะแก่ง ร้องรำเพื่อประกอบพิธีกรรม เล่าเรื่อความรัก หรือถ่ายทอดความเชื่อ เรื่องเล่า ตำนานพื้นบ้าน ไม่มีแบบแผนตายตัวนัก ขณะที่รองเง็งสายดั้งเดิม จะยึดแบบแผนเป็นที่ตั้ง มีลักษณะของดนตรีราชสำนัก เรียบง่าย ชัดเจน และฟังง่ายกว่า
ต้นกำเนิดจากชวา
อาจฟัง Ronggeng Dance Mixtape จาก Faldi, ดีเจจากอินโดนีเซีย เพื่อเพิ่มอรรถรสในการอ่าน
~จากหลักฐานภาพนูนต่ำในบุโรพุทโธบนเกาะชวา มีภาพฉากการเดินทางของคณะเต้นรำ นักดนตรี และนักเต้นหญิง ทำให้เชื่อได้ว่า รองเง็งมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 8
~รองเง็ง หรือ ‘renggana’ ในภาษาสันสกฤต แปลว่า หญิงผู้เป็นที่รัก แต่บางส่วนเชื่อว่ารองเง็งมาจากคำว่า ‘rwang’ ในภาษาซุนดา หมายถึง ช่องว่าง โพรง หรือรู ซึ่งล้วนเป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิง ขณะที่ ‘ronggeng’ ในภาษาชวา หมายถึง นักเต้นหญิง
~รองเง็งแบบดั้งเดิม คือ การเดินทางจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังหมู่บ้านหนึ่ง โดยใช้รือบับ (เครื่องดนตรีพื้นบ้านแถบมลายู คล้ายซอสามสาย) ฆ้อง และไวโอลิน เป็นเครื่องดนตรีหลัก ซึ่งนักเต้นหญิงต้องเชื้อเชิญผู้ชมมาเต้นรำเป็นคู่และจะได้ทิปหลังเต้นเสร็จ รองเง็งจึงค่อยๆ กลายเป็นมหรสพที่ขับเน้นกามรมณ์เกินขนบธรรมเนียมของราชสำนักชวาในอดีต รองเง็งบางแห่งจึงถูกรับรู้ว่าเป็นการร้องรำที่ข้องเกี่ยวกับการค้าประเวณีและมีภาพจำด้านลบ เมื่อเวลาผ่านไป รองเง็งมีภาพลักษณ์เชิงบวกมากขึ้น จากการถูกใช้ในโอกาสเฉลิมฉลองต่างๆ เช่น งานแต่งหรืองานต้อนรับแขก
~ปัจจุบัน ในอินโดนีเซียมีรองเง็งที่ยังทำการแสดงอยู่ 4 ประเภท คือ
~‘รองเง็งกุนุง’ (Ronggeng Gunung - รองเง็งภูเขา) ถือเป็นรองเง็งเก่าแก่สุด แพร่หลายทางชวาตะวันตก โดยเฉพาะทางใต้ของเมือง Ciamis และบริเวณรอบข้าง ส่วนสาเหตุสาเหตุที่ชื่อรองเง็งภูเขาก็เพราะนักเต้นและนักดนตรีมีพื้นเพจากที่ราบสูง
~‘รองเง็งบูกิส’ (Ronggeng Bugis) มาจากจิเรบอน บริเวณชวาตะวันตกเช่นกัน รองเง็งบูกิสจะสอดแทรกความตลกขบขันขี้เล่นมากกว่ารองเง็งทั่วไป และมีนักเต้นที่เป็นผู้ชายสวมชุดผู้หญิงด้วย
~‘รองเง็งบลันเต็ก’ (Ronggeng Blantek) คือรองเง็งที่พัฒนามาจากการเต้นรำหน้ากากเบตาวี (Betawi Mask Blantek) ซึ่งมีพื้นเพจากจาร์กาตา (ถูกคิดค้นในปี 1930) รองเง็งชนิดนี้จึงเรียกได้ว่ามีอายุน้อยกว่ารองเง็งแบบอื่นๆ
~‘รองเง็งเดลี’ (Ronggeng Deli) รองเง็งชนิดนี้ได้รับความนิยมในสุมาตรา ใช้เพลงมาเลย์ดั้งเดิมประกอบการขับร้องและการเต้น จากนั้นจะรับส่งบทกลอนที่เล่าเรื่องความรัก ชีวิต และการสรรเสริญเทพเจ้า
~ในอินโดนีเซีย นักเต้นบางคนจะมีบทสวดในภาษาชวาโบราณหรือภาษาซุนดาโบราณ เพื่อขอให้ผู้ชมชอบการแสดงของตน ขณะที่ปัจจุบัน รองเง็งมีการผสมผสานเข้ากับบีทที่ร่วมสมัยมากขึ้น (บางครั้งก็แอบนึกถึงฮิปฮอปเบาๆ)
รองเง็งในปักษ์ใต้ ความหลากหลายที่มากกว่าเส้นแบ่งเขตแดน
~จากงานศึกษาของกลิ่น คงเหมือนเพชร (2554) ระบุว่า นับตั้งแต่อาณาจักรปัตตานีโบราณมีลมหายใจ ‘รองเง็งฝั่งอ่าวไทย’ ก็ถือกำเนิดขึ้นจากอิทธิพลของวัฒนธรรมมลายูโดยตรง รองเง็งฝั่งอ่าวไทยเริ่มจากเป็นที่นิยมในราชสำนักของเจ้านคร มีจังหวะและทำนองดนตรีเรียบง่าย ปัจจุบันได้รับความนิยมน้อยลง เพราะชาวบ้านบางส่วนมองว่า การร้องรำขัดกับหลักศาสนา
~ข้ามมาที่ ‘รองเง็งฝั่งอันดามัน’ มีจุดศูนย์กลางที่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ รองเง็งที่นี่เข้ามาผ่านทางชาวเลและชาวไทยมุสลิม เป็นรองเง็งที่มีลักษณะ ‘ดิบ’ กว่าฝั่งอ่าวไทย ไม่ค่อยพิถีพิถัน แต่ยังมีรูปแบบดั้งเดิมอยู่บ้าง ได้แก่ การบรรเลงดนตรี การร่ายรำ และมีการขับร้องเป็นเพลงปันตุน (Pantun) บทกวีภาษามลายู มักใช้ในการแสดงช่วงท้าย เข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป เช่น
ANAK BURUK DI KAYA LINDANG,
TURUN MANI DI DALAM PALY.
HODOH BURUK DI MATA ORANG,
CANTIK PUTIK DI MATA SAYA
อานะ บือโระ ดี กายา ลินดัง
ตูรน มานี ดี ดาลัม ปายา
ฮูโดะฮ บูโระ ดี มาตา ออรัง
จันเตะ ปูเตะ ดี มาตา ซายา
(แปลว่า) วานรน้อยบนกิ่งไม้ ขยับไต่ลงมาถึงบึงน้ำ
คนอื่น ว่าน่าเกลียด ฉันว่า (เธอ) สวยเสมอ
~อย่างไรก็ดี เพลงปันตุนอื่นอาจมีเนื้อหาที่สัมพันธ์กันก็ได้ ทว่าปัญหาหลักคือ พ่อเพลง แม่เพลง และนายซอ (มือไวโอลิน) ของฝั่งอันดามันมีอายุมากขึ้น ไม่มีรูปแบบการถ่ายทอดผ่านสถาบันการศึกษาเหมือนฝั่งอ่าวไทย เน้นการผูกพักลักจำ จึงหาชมได้ยากขึ้น
~รองเง็งอีกชนิดในไทยคือ ‘รองเง็งตันหยง’ โดยรองเง็งชนิดนี้ดัดแปลงมาจากฝั่งอันดามัน ประยุกต์ร่วมกับกลิ่นอายของหนังตะลุง มโนราห์ หรือลิเกเข้าไปในจังหวะทำนอง มีเนื้อรองเป็นภาษาไทย มีโครงสร้างสัมผัสแบบเพลงกล่อมเด็กภาคใต้ เอกลักษณ์คือ คำร้องที่ขึ้นด้วยคำว่า “ตันหยง” หมายถึง “ดอกพิกุล” แล้วจึงตามด้วยเนื้อเพลง หรืออาจขึ้นด้วยต้นไม้ดอกไม้ชนิดอื่นก็ได้ อาทิ
ต้นเหร่
หลบบ้านไม่รอดเสียแล้วเด
ถูกเหน่น้ำตาปลาดุหยง
คดข้าวสักหวัก
คิดถึงคู่รักกินข้าวไม่ลง
ถูกเหน่น้ำตาปลาดุหยง
กินข้าวไม่ลงสักคำเดียว
~(เหน่ = เสน่ห์, ปลาดุหยง = ปลาพะยูน, หวัก = จวัก)
~วรรคตอนนี้พูดถึงความรัก โดยเปรียบเทียบว่า คิดถึงคนรักจนกินข้าวไม่ลง รักเขาสุดๆ คล้ายถูกเสน่ห์จากน้ำตาปลาพะยูน เครื่องรางของขลังที่มีคนเคยใช้ปลุกเสกทำน้ำมันพราย เพราะเชื่อว่าน้ำตาบริสุทธิ์จากสัตว์หายากชนิดนี้มอบความรักความเสน่หาให้มนุษย์ผู้ละโมบได้
~ส่วนทำนองหลักของรองเง็งจะประกอบด้วย 3 โครงสร้างหลัก คือ
~‘ส่วนหัวของเพลง’ หรือทำนองที่ใช้เริ่มต้นก่อนคำร้อง นายซอจะสีไวโอลินเดี่ยวๆ ก่อนเข้าสู่ทำนองหลักของลาฆู (Lagu - เพลง) แล้วจึงตามด้วย ‘ส่วนกลาง’ ซึ่งเป็นช่วงที่มีคำร้องทั้งหมด บางช่วงจะเว้นการขับร้องเพื่อให้เสียงไวโอลินสอดแทรกเลี้ยงอารมณ์ขึ้นมา วนไปเรื่อยๆ จนทำนองหลักจบ แล้วจบท้ายด้วย ‘ส่วนท้าย’ ที่ไม่ใช่ทำนองหลักของเพลง แต่แม้ทำนองระหว่างช่วงต่างกัน นายซอก็อาจใช้โน๊ตตัวหลักคล้ายกัน เป็นการส่งสัญญาณว่าเพลงใกล้จบลง ซึ่งเพลงรองเง็งส่วนใหญ่จะบรรเลงอยู่ในบันไดเสียง A, AM, C, G, GM, EM และ D เป็นหลัก ทำให้มือไวโอลินสะดวกในการเล่นเพลงรองเง็ง
~ส่วนจังหวะในรองเง็ง เกิดจากการรับเอาจังหวะระบำเท้าของยุโรปผสมจังหวะกลางของอาหรับ สิ่งนี้คือลักษณะในอินโดนีเซียและมาเลเซีย เมื่อรองเง็งมาถึงฝั่งอันดามัน จังหวะจึงผสมกับรำมะนา แต่ยากที่จะบ่งบอกความเร็วช้าในแต่ละเพลง เพราะนักดนตรีไม่อาศัยตัวโน้ตในการบรรเลง ใช้เพียงประสบการณ์เท่านั้น
รองเง็งในมาเลเซีย ส่วนหนึ่งของการสร้างชาติ
~รองเง็งของมาเลเซียเป็นส่วนหนึ่งของดนตรีมาเลย์แบบดั้งเดิม โดยดนตรีรองเง็ง อินัง (Inang) และโจเกต (Joget) ถือเป็นกลุ่มศิลปะการแสดงเต้นรำทางสังคม ดนตรีทั้ง 3 ประเภท ประกอบด้วยการเต้นรำและการร้องเพลงปันตุน ใช้ไวโอลิน แอคคอเดี้ยน เรบานา (เครื่องดนตรีมาเลเซีย มีลักษณะคล้ายกลอง) และฆ้องทองเหลือง ความแตกต่างคือ รองเง็งมีจังหวะที่ช้ากว่าอินังและโจเกต
~คล้ายในอินโดนีเซีย ก่อนรองเง็งจะถูกสถาปนาเป็นหนึ่งในดนตรีประจำชาติ รองเง็งเคยเป็นเพียงการร้องรำที่หญิงชนชั้นล่างเต้นรำกับผู้ชายต่อหน้าธารกำนัล ก่อนจะค่อยๆ เปลี่ยนไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และช่วงหลังทศวรรษที่ 1960 เมื่อมาเลเซียได้รับเอกราช คนทั่วไปเข้าถึงการฟังวิทยุได้มากขึ้น เพลงและดนตรีพื้นบ้านมาเลเซียจึงถูกแพร่กระจายอย่างทั่วถึง และแน่นอนว่าเพลงที่ได้รับการออกอากาศต้องมีส่วนแสดงถึงเอกลักษณ์ของประเทศ
~ขณะที่ในปีนัง วงรองเง็งมักแสดงในเทศกาลเฉลิมฉลองเทพเจ้า เช่น ดาโต๊ะกง (Datuk Gong) เทพท้องถิ่นผู้เป็นที่เคารพของชาวจีนในมาเลเซีย เชื่อกันว่าเทพองค์นี้ชอบรองเง็งและมโนราห์ (ในไทย) มากกว่างิ้วจีน
~และจากงานศึกษาของ Tan Sooi Beng (2006) ชี้ว่า รองเง็งในมาเลเซียมีความแนบชิดกับกระบวนการสร้างชาติขึ้นมา ละเว้นองค์ประกอบบางอย่าง และแยกออกจากความเป็นพื้นบ้านในที่สุด
~อย่างไรก็ดี รองเง็งคือดนตรีพื้นบ้านที่คอลแลปนับแต่ตั้งอยู่ในทำเลการค้าและพบปะวัฒนธรรมที่หลากหลายทั่วโลก ความร่วมสมัยและความดั้งเดิมจึงอาจชัดขึ้นหากเรามองที่วัฒนธรรมอื่นที่เหนือจากดนตรี เช่น ภาพยนตร์
รองเง็งในภาพยนตร์ ภาพแทนของผู้ถูกกดทับ ภาพสะท้อนของสังคมในอดีต
~จากที่กล่าวไปแล้วว่า รองเง็งบางแห่งในอดีตมีภาพจำที่ไม่ดีนัก เพราะผู้ชายบางส่วนซื้อนักเต้นผู้หญิงกิน ทั้งยังมีภาพของความรุนแรง และนักเต้นส่วนใหญ่ยังมีรูปร่างอวบอ้วนไม่ตรงบิวตี้สแตนดาร์ดในปัจจุบัน
~ทว่ากว่าจะเป็นรองเง็งนั้น เด็กผู้หญิงต้องเริ่มฝึกตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เรียกว่า ‘เล็งเกอ’ (Lengger) ส่วนการขยับจากขั้นเล็งเกอเป็นรองเง็ง คนๆ นั้นต้องเชื่อมต่อเชื่อมโยงกับ ‘อินธัง’ (Indhang) จิตวิญญาณแห่งความงามอันสมบูรณ์แบบ สำหรับสังคมโบราณแล้ว นักเต้นรองเง็งจึงฉายภาพของความงามและความศักดิ์สิทธิ์ แต่เมื่อธรรมเนียมของรองเง็งคือ นักเต้นหญิงต้องโยนผ้าคลุมไหล่เชิญให้ผู้ชายร่วมเต้นรำกับเธอ และเมื่อเต้นเสร็จแล้ว ผู้ชายคนนั้นก็ควรให้เงินเธอ ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงจึงเป็นเพียงแกนกลางของพิธีกรรม ส่วนผู้ชายจะเน้นปาร์ตี้และปล่อยเนื้อปล่อยตัวเสียมากกว่า
~แม้ว่า “Not all นักเต้นรองเง็ง” จะขายเรือนร่าง แต่นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น และถูกพูดถึงในภาพยนตร์เรื่อง Nji Ronggeng (1969) ภาพยนตร์สัญชาติอินโดฯ ที่ฉายภาพสังคมชวาในทศวรรษ 1930 เล่าเรื่องนักเต้นรองเง็งผู้หญิงคนหนึ่งที่เต้นรำประกอบพิธีกรรมขอบคุณเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์หลังการเก็บเกี่ยว ลูกชายจากทั้ง 2 คนจาก 2 แคนดิเดตผู้นำหมู่บ้านขั้วตรงข้ามต่างตกหลุมรักเธอ คือดาดังและโอฮิม ดาดังเอาชนะใจเธอด้วยความรัก ขณะที่โอฮิมต้องการเอาชนะเธอด้วยอำนาจและเงินทองเหมือนรองเง็งคนอื่น ทว่าเธอแตกต่างและการเป็นรองเง็งเสมือนการเป็นร่างทรงที่เชื่อมโลกปัจจุบันกับโลกวิญญาณบรรพบุรุษ เพื่ออธิษฐานขอให้หมู่บ้านอุดมสมบูรณ์
~ส่วน Darah dan Mahkota Ronggeng (1983) ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยาย Ronggeng Dukuh Paruk ของ Ahmad Tohari (1982) เล่าเรื่องของ Srintil หญิงสาวเชื้อสายรองเง็งที่ต้องเข้าพิธี ‘bukak klambu’ หรือพิธีมอบพรหมจรรย์ให้ผู้ชายคนไหนก็ตามที่จ่ายเงินสูงสุด แต่ Srintil ได้มีความสัมพันธ์กับหนุ่มคนรักก่อนหน้านั้นแล้ว ความน่าสนใจคือ หากเธอต้องการเป็นรองเง็งเพื่อรักษาประเพณีและสถานะความเป็นรองเง็ง เธอก็ต้องมอบร่างกายให้กับคนที่ไม่ได้รัก (หรือคนที่ให้เงินมากสุดนั่นแหละ)
~Srintil ยอมรับเงื่อนไขนั้น ในการเต้นรำครั้งแรกกับคู่ครองตามธรรมเนียมของเธอ เรียกว่าพิธี ‘bedah bumi’ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้หมู่บ้านมีความอุดมสมบูรณ์ และหลังจากนั้นรองเง็งจะกลายเป็นสมบัติสาธารณะ เป็นเสมือนเทพีในร่างมนุษย์ที่มีความศักดิ์สิทธิ์และมอบความชุ่มชื้นแก่หมู่บ้าน
~รองเง็งจึงไม่ได้มีความหมายเป็นเพียงนักเต้น หรือเป็นวัฒนธรรมทางดนตรีที่ผสมผสานวัฒนธรรมหลายสัญชาติ หากแต่มีรากเหง้าของการนับถือธรรมชาติและผีบรรพบุรุษ (animism) ภายใต้เนื้อหนังมังสา รองเง็งสาวอาจมีความภาคภูมิใจในการแสดงและได้เป็นรองเง็ง หากแต่นี่ก็สะท้อนการถูกกดทับหลายชั้นในประวัติศาสตร์ คือ เป็นประเพณีที่มอบความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ในการบูชาเทพเจ้าเพื่อความอุดมสมบูรณ์ วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่ประเมินค่าร่างกายของพวกเธอ และชั้นสุดท้าย อาจเป็นความคาดหวังที่ต้องการให้ความดั้งเดิมได้รับการสืบทอดต่อไป
~แต่การต่อลมหายใจให้กับมรดกวัฒนธรรมใดใด ย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงในสิ่งนั้นๆ ขณะที่รองเง็งในหนังอินโดฯ ปัจจุบันอย่าง Ronggeng Kematian (2024) นักเต้นรองเง็งกลายสภาพเป็นผีสุดเฮี้ยนที่ตามหาว่าใครเป็นคนฆ่าเธอ มองในแง่หนึ่ง นี่คือการทวงความยุติธรรมทั้งของตัวเธอและคืนสถานะศักดิ์ศรีของความเป็นรองเง็งก็ว่าได้
รองเง็ง : ความเป็นสากลใน World Music
~แน่ล่ะว่า ‘รองเง็ง’ ถูกจัดเป็น World Music ด้วย 2 เหตุผลหลัก
~หนึ่ง-รองเง็งไม่ใช่ดนตรีจากโลกตะวันตกและมีความเป็นท้องถิ่น
~สอง-หากเราไปร้านขายซีดี/แผ่นเสียง รองเง็งย่อมถูกจัดในหมวดหมู่ World Music
~แต่สำหรับนักมานุษยวิทยาดนตรีแล้ว ‘World Music’ อาจไม่ใช่คำที่รื่นหูสักเท่าไร เพราะเป็นเพียงคำจำแนกดนตรีที่ไม่ได้มาจากโลกตะวันตก มีความฉาบฉวย เป็นเพียงการจำแนกสินค้าอย่างหยาบๆ เพราะการจะรับรู้ดนตรีอย่างเต็มอรรถรส ย่อมอาศัยประสบการณ์ร่วมในวัฒนธรรมนั้นๆ ที่ให้กำเนิดดนตรีขึ้นมา
~ดังที่ Terry E. Miller นักมานุษยวิทยาดนตรี ผู้เขียนหนังสือ World Music : A Global Journey เคยแสดงทรรศนะไว้ว่า เราถูกตั้งเงื่อนไขให้หัดจำแนกแบบแผน โครงสร้าง รวมถึงตรรกะในเสียงที่ได้ยิน ฉะนั้น เราจึงคุ้นเคยดนตรีในวัฒนธรรมเราและบอกได้ว่า อะไรคือเสียงรบกวน อะไรคือเสียงที่ไม่คุ้นชิน ซึ่งในคำนำของหนังสือเล่มดังกล่าว มีท่อนที่น่าสนใจว่า เทปหรือซีดีที่เราฟังอย่างตั้งใจอาจฉายแสงสว่างไปยังบางมุมของโลกได้ ซึ่งหากไม่ทำอย่างนั้น มุมนั้นของโลกยังคงเป็นมุมที่ไม่คุ้นเคยต่อไป
~รองเง็งจึงไม่ได้เป็นเพียงคลื่นเสียงทางดนตรีเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพของวัฒนธรรมหนึ่งที่ผู้คนในอุษาอาคเนย์ใช้ร่วมกัน เป็นมุมหนึ่งของโลกที่มนุษย์แชร์เครื่องดนตรี ภาษา เครื่องแต่งกาย และชุดคุณค่าบรรทัดฐาน ปรับเปลี่ยนไปตามเวลาและพื้นที่ของตน เป็นเครื่องยืนยันว่าโลกกว้างกว่าเพลงป๊อบ ร็อค แจ๊ส ฯลฯ และมนุษย์มีความหลากหลายขนาดไหน
~ในท้ายสุด การเชื่อมร้อยของผู้คนผ่านตัวโน้ต รสนิยม และความหลงใหลในคลื่นเสียงทั้งคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ย่อมเป็นตัวกำหนดก้าวต่อไปของรองเง็ง