สำรวจคอมมูนิตี้การอ่าน ในวันที่ ‘ศิลปะแห่งการอ่าน’ อาจสำคัญกว่าจำนวนบรรทัดที่ได้อ่าน
จริงไหมที่การอ่านกำลังตาย? คนไทยอ่านหนังสือน้อย? หนังสือราคาแพงและการมาถึงของอีบุ๊กจะยิ่งทำให้การอ่านสั่นคลอน?
แน่นอนว่าไม่! ทิ้งวิวาทะ “คนไทยอ่านหนังสือปีละไม่เกิน 8 บรรทัด” ได้เลย (ซึ่งมองนำมุมไหนก็น่ากังขากับกลุ่มตัวอย่าง วิธีวิจัย และจุดประสงค์ของผู้พูด)
แม้เราจะรู้กันอยู่แล้วว่าการอ่านมีประโยชน์ต่อจิตใจและสมอง แต่เมื่อเร็วๆ นี้ บทความ We’re All Reading Wrong ใน The Atlantic ถึงกับบอกว่า เรากำลังอ่านด้วยวิธีผิดๆ ด้วยซ้ำ เพราะเราควรอ่านออกเสียงเพื่อเพิ่มศักยภาพในการอ่านมากที่สุด ทั้งยังกระตุ้นสมองส่วนความทรงจำได้ดีกว่า ถ้าเชื่อตามนี้ การอ่านคงตายตั้งแต่เราไม่ได้ถูกบังคับให้อ่านออกเสียงในวิชาภาษาไทย
ทว่าการอ่านอาจไม่ได้กำลังตาย แต่ ‘Art of reading’ หรือ ‘ศิลปะในการอ่าน’ ต่างหากที่หายใจอย่างหอบเหนื่อย เพราะการสัมผัสตัวอักษรด้วยดวงตา ค่อยๆ ละเลียดทำความเข้าใจ อ่านอย่างละเอียดในสภาพแวดล้อมที่ใช่ หรือการพยายามเข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้ เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงน้อยมาก กระบวนการนี้ต้องอาศัยระยะเวลา เป็นทักษะส่วนตัว เพราะการจะเพลิดเพลินกับวรรณกรรมหรือหนังสือสักเล่ม รวมถึงเข้าใจสารที่ผู้เขียนสื่ออกมา ถือเป็นทั้งอภิสิทธิ์และกระบวนการฝึกฝนของผู้อ่าน
ปัจจุบัน สิ่งที่น่าชื่นใจคือ ผลสำรวจของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าคนไทยใช้เวลาในการอ่านหนังสือเฉลี่ย 113 นาที หรือเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวัน แถมจำนวนผู้อ่านทุกวันยังสูงถึง 45% ขณะที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 มีคนร่วมงานกว่า 1.4 ล้านคน และมียอดขายถึง 480 ล้านบาท
แต่ปัญหาในสังคมเราคือ เราหมกมุ่นกับไม่กี่คำถาม เช่น ทำไมคนอ่านหนังสือน้อย (จนต้องมีอะไรมาพิสูจน์เสมอ) หรือหนังสือปกใหม่มีราคาไม่เป็นมิตร โดยมีราคาเฉลี่ยถึง 400 บาทต่อเล่มในปี 2024 ซึ่งพุ่งเกินค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว คำถามต่อมาคือ ต่อให้ไม่มีปัจจัยของราคา การอ่านหนังสือเป็นรูปเล่มยังสำคัญอยู่อีกหรือไม่ เพราะเราสามารถอ่านเนื้อหาได้จากหลายช่องทาง
แน่นอนว่าการอ่านข่าว บทความ หรือหนังสือผ่านหน้าจอ มันไม่ได้เป็นมิตรกับดวงตาเรามากนัก และหากพูดถึงอีบุ๊กบนอุปกรณ์สำหรับการอ่านโดยเฉพาะแล้ว สิ่งที่เราซื้อคือการซื้อ “สำเนาดิจิตอลฉบับถาวร” (permanent copy of the applicable digital content) ของหนังสือเล่มนั้นๆ ถ้าอ่านเอาเนื้อหาก็คงตอบโจทย์และอีบุ๊กยังมีราคาถูกกว่า แต่ถ้าอ่านในฐานะงานอดิเรก ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การอ่านหนังสือเล่มและได้ยินเสียงเปลี่ยนหน้ากระดาษถือเป็นห้วงอารมณ์เชิงบวก หนำซ้ำ มันยังไม่ต้องการแบตเตอรี่เพื่อเข้าถึงเนื้อหา (จินตนาการว่าคุณอยู่ในเมืองที่ไฟดับยาวนาน คุณต้องหาวิธีฆ่าเวลาและยังต้องหาข้อมูลทำงาน เมื่อมองในมุมนี้ หนังสือเล่มยังค่อนข้างจำเป็นอยู่มาก)
ส่วนคนที่ไม่รู้จะอ่านอะไร หนังสือก็ตอบโจทย์ความไม่รู้นั้นตั้งแต่แรก พูดให้เข้าใจง่ายคือ หนังสือคือตัวช่วยอันดับแรกๆ เพื่อให้เราเข้าใจตัวเองและสังคมรอบข้าง ในจุดนี้เองที่น่าสนใจ การเลือกซื้อหนังสืออีบุ๊กจากร้านค้าออนไลน์คุณจะพบการสุ่มเล่มแนะนำจากอัลกอริทึม ส่วนการไปร้านหนังสือ คุณจะสามารถมองซ้ายมองขวา เจอเล่มที่แอบอยู่ในชั้นล่างสุด เล่มฝุ่นเขรอะที่จ้องตาคุณไม่กะพริบ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากพนักงานขายหรือบรรณารักษ์ได้ มองในแง่นี้ การ (หาเล่มที่อยาก) อ่าน ก็สามารถช่วยให้คุณมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันได้อย่างที่ช่องแชทในสโตร์ออนไลน์ยังไม่ถึงจุดนั้น
ศิลปะของการปล่อยใจไปกับกลิ่นและเนื้อสัมผัสของกระดาษ ยังหมายถึงการทำให้เราพบประโยคที่ใช่ ในช่วงเวลาที่ใช่ ได้ตกตะกอนเนื้อหาในช่วงเวลาที่เหมาะสม บางครั้งระบบนิเวศเหล่านี้อาจเป็นแก่นแท้ของการอ่านซึ่งเพนพอยต์ทั้งหลายชอบบดบังให้เราลืมนึกถึง ทว่ามีวิธีง่ายๆ ไม่ต้องใช้เงินมาก ให้เราเข้าถึงการอ่านที่เปี่ยมไปด้วยอรรถรส
ถัดจากนี้คือวิธีการอ่านที่ไม่ได้ซื้อ จ่าย จบ เพียงอย่างเดียว
1. Book Swap – หาแลก หาอ่าน หาเพื่อน
Book swap – ตรงตามชื่อ มันก็คือการแลกหนังสือนี่เอง โดยเราสามารถแลกกับใครก็ได้ตราบใดที่อีกฝ่ายสะดวกใจ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน แฟน หรือคนรู้จักที่มีรสนิยมในการอ่านใกล้เคียงกัน ร้านหนังสืออิสระและงานหนังสือบางแห่งเองก็จัดกิจกรรมแนวนี้เพื่อให้เราสามารถนำหนังสือเล่มเก่าไปแลกกับอีกเล่มที่น่าสนใจได้ ทำให้บางคนคุ้นเคยกับกิจกรรมนี้อยู่บ้าง หรือบางคนอาจจะไม่เคยได้สัมผัสบรรยากาศของงานกิจกรรมแลกหนังสือ เพราะมันไม่ได้ถูกจัดขึ้นบ่อยนักในที่สาธารณะ แต่ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ที่ผ่านมาก็ได้ตั้งโต๊ะจัดกิจกรรม Book Swap ด้วยเช่นกัน โดยจัดขึ้นเป็นสล็อตเวลา 3 ครั้งต่อวัน และแต่ละครั้งจะเปิดให้แลกหนังสือประเภทนั้นๆ (เช่น วันหนึ่งเปิดให้แลกแนวสืบสวน สยองขวัญ - นิยายวาย - How to จิตวิทยา) ซึ่งนอกจากจะได้หนังสือแล้ว เราอาจจะได้เพื่อนใหม่ที่มีความสนใจเดียวกันก็ได้ หรือหากใครพลาดกิจกรรมนี้ไปแล้ว ร้านหนังสืออิสระอย่าง House of Commons ที่เจริญกรุงก็จัดโซนให้สามารถนำหนังสือมาแลกตรงตู้ที่ทางร้านจัดไว้ได้เช่นกัน เผื่อว่าตอนที่แลกเสร็จแล้วจะได้นั่งอ่านพร้อมจิบเครื่องดื่มแบบชิลๆ
2. Library – ห้องสมุดที่จริงใจ หาได้แทบทุกที่
หลายๆ คนอาจจะมีภาพจำของห้องสมุดว่ามีแต่หนังสือวิชาการหรือหนังสือเก่าที่เข้าถึงยาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ห้องสมุดที่มีหนังสือใหม่พร้อมการรักษาดูแลให้นั่งสบายนั้นมีอยู่มาก โดยเฉพาะห้องสมุดประชาชนที่มีมากถึง 92 แห่งใน 61 จังหวัด บางแห่งเองก็มีโซนโรงหนังและท้องฟ้าจำลองสำหรับผู้ใช้บริการ หรือหากต้องการสถานที่ที่ทันสมัยขึ้นมาหน่อยก็ยังมี TK Park ที่สามารถนอนอ่านหนังสือได้ มีห้องสมุดดนตรี โรงหนังขนาดย่อม ฯลฯ อุทยานการเรียนรู้นี้พัฒนาและขยายสาขามาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีถึง 29 แห่งใน 22 จังหวัดแล้ว โดยห้องสมุดทั้งสองดังกล่าวก็มีหนังสือรูปแบบ E-book อยู่มากมายให้สมาชิกหยิบยืม เรียกได้ว่าสะดวกสบายมากเลยทีเดียว หรือหากมันยังคงไม่ตอบโจทย์ จะลองไปส่องดูห้องสมุดของมหาวิทยาลัยก็เป็นไอเดียที่ดีเช่นกัน เพราะห้องสมุดของบางมหาวิทยาลัยนั้นเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าใช้บริการ หรือบางแห่งก็ให้ศิษย์เก่าเข้าฟรี มีอยู่ไม่น้อยที่นิสิตนักศึกษาออกมารีวิวว่าห้องสมุดของมหาวิทยาลัยตัวเองเริ่ดมากขนาดไหน แถมเมื่อไปแล้วอาจจะชวนให้ได้นึกถึงช่วงเวลาดีๆ อีกด้วยนะ
ขอแถมอีกสักนิดว่า หากใครอยากสนับสนุนห้องสมุดอิสระที่ไม่ขึ้นตรงกับหน่วยงานใด ก็สามารถแวะไปที่ The Reading Room Bangkok ตรงสีลม ซึ่งนอกจากหนังสือภาษาต่างๆ แล้ว ห้องสมุดนี้ยังมี DVD หนังนอกกระแสให้ยืม รวมถึงจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การเสวนา เวิร์กช็อปศิลปะ ฉายภาพยนตร์ ฯลฯ ต้องบอกว่าบรรยากาศน่านั่งมากทีเดียว
3. Second-hand Books – รับและส่งต่อความสนุกแบบมือสอง
วิธีนี้ยังคงเป็นวิธีที่คลาสสิกและทำได้ไม่ยากเลย โดยอย่างยิ่งในเวลานี้ที่เราจะซื้อขายหนังสือมือสองในแพลตฟอร์มไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, X (Twitter) ฯลฯ หรือหากต้องการจะสัมผัสเล่มจริง ร้านและบูธที่วางขายหนังสือมือสองก็ยังมีอยู่มากมาย เพียงต้องพึ่งดวงสักหน่อยว่าจะเหลือเล่มที่เราสนใจอยู่หรือเปล่าก็เท่านั้น ในบรรดาวิธีต่างๆ ที่ยกมาในบทความนี้ วิธีนี้คงจะนับว่าง่ายที่สุด เพราะหนอนหนังสือมีอยู่ทุกที่ บางครั้งพวกเขา (และเรา) ก็มีหนังสืออยู่มากมาย ทั้งในตู้และกองดอง เมื่อมีมากก็จำต้องระบายของออกมาบ้าง ซึ่งข้อดีก็คือเราจะได้หนังสือมาในราคาถูก และหากเราเป็นฝ่ายขายเองก็จะได้ต้นทุนเพิ่มในการไปซื้อเล่มใหม่ที่เล็งเอาไว้ด้วย เพราะฉะนั้น จะรออะไรอยู่ ถึงเวลานั่งคัดหนังสือสภาพนางฟ้าที่อยากปล่อยให้โบยบินไปหาตู้ของคนอื่น และกำเงินไปคุ้ยกองสมบัติที่พร้อมมาเป็นของเราแล้วล่ะ
หากใครสนใจที่จะไปสัมผัสบรรยากาศร้านหนังสือมือสอง ทางเราขอแนะนำ
- Dasa Book Cafe (สุขุมวิท) : แหล่งรวมหนังสือภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศอื่นๆ แถมยังมีซีดีเพลงยุคเก่าด้วยนะ
- Best Book (สะพานควาย) : ทั้งร้านอัดแน่นไปด้วยมังงะมือสอง ลด 50% จากราคาปก มีตั้งแต่เรื่องดังในตำนานไปจนถึงเล่มใหม่ๆ เลยล่ะ
- ร้านหนังสือกาลครั้งหนึ่ง (อุทัยธานี) : ใครที่กำลังตามหาหนังสือเก่า หนังสือประวัติศาสตร์ วรรณกรรมเยาวชน และหนังสืออื่นๆ ที่อาจหาไม่ได้แล้ว ห้ามพลาดเด็ดขาด
- เชียงใหม่บุ๊ค (เชียงใหม่) : อีกหนึ่งในร้านหนังสือเก่าที่มีคุณค่าและให้ราคาดี มียันนิตยสารยุค 70s วรรณคดี สารานุกรม วาทกรรมการเมือง ฯลฯ เรียกได้ว่าครบครัน
- แมวผีบุ๊ค (ขอนแก่น) : ร้านอิสระอายุกว่า 10 ปีที่มีผลงานให้เลือกสรรมากมาย ซึ่งนอกจากจะได้หนังสือติดมือกลับบ้านไปแล้ว อาจจะได้ลูบน้องแมวประจำร้านอีกด้วย
- หนัง(สือ)2521 Bookhemian (ภูเก็ต) : ร้านหนังสือกึ่งคาเฟ่ที่มีเมนูอันได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรม ซึ่งมีจัดกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะ ดนตรี และภาพยนตร์บ้างเป็นครั้งคราว
- Hornbill Bookshop & Cafe (หนองคาย) : ร้านหนังสือภาษาอังกฤษมือสองที่มีแมวน้อยน่ารักสองตัวเป็นพนักงานต้อนรับ และยังมีคุกกี้แฮนด์เมดสุดอร่อยไว้เคี้ยวระหว่างเลือกหนังสือด้วย
4. Book Club – เพราะอ่านคนเดียวอาจไม่ฟินเท่า
เมื่อพูดถึงคำว่า Book club บางคนอาจนึกถึงชมรมรักการอ่านในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย หรืออาจจินตนาการไปถึงฉากใน Sky Castle ที่ทุกคนต้องเล่าความประทับใจเกี่ยวกับหนังสือที่อ่านทุกสัปดาห์ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องทำให้มันมีความตึงเครียดเหมือนในซีรีส์เลย เพียงแค่พบปะสังสรรค์กับเพื่อนในกลุ่ม และแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือที่อยากนำเสนอ และจะให้ยืมหนังสือกันเองก็ได้ กฎเกณฑ์จะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ที่สมาชิกในกลุ่มตกลงยินยอม หากไม่รู้จะเข้าร่วมชมรมหนังสือที่ไหน เราจะเป็นผู้จัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเองก็ยังได้ แน่นอนว่าข้อดีของมันก็คือการสร้างบทสนทนาหัวข้อใหม่ๆ ในกลุ่มคนที่เรารู้จักและไม่รู้จัก สนุกไปกับการป้ายยา (และถูกป้ายยา) ถ้าโชคดี อาจจะได้คนจากชมรมมาเป็นเพื่อนในพาร์ทอื่นของชีวิตด้วย เช่น @readmeagnn กลุ่มที่เลือกหนังสือทุก 5 สัปดาห์และเปิดให้จอยกันตามคาเฟ่หรือสวนในกรุงเทพฯ หรือ @nongkhaiandfriends.library ร้านหนังสือในหนองคายที่กำลังมีโปรเจกต์ Book Club สัญจร ในเดือนพฤศจิกายน และถึงแม้ว่า Book club ที่ไม่ใช่กลุ่มปิดในประเทศไทยยังคงหายาก และบางแห่งก็ยังจัดเป็นเพียงกิจกรรมประจำปี หากมันมีจัดขึ้นสักครั้งก็อย่าลืมที่จะไปเข้าร่วมกัน เผื่อว่าวันไหนที่กิจกรรมเป็นที่รู้จักมากขึ้น วงการหนังสือก็จะขยับขยายจนเฟื่องฟูขึ้นมาอีกครั้ง
ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวทางในการเข้าถึงหนังสือ ทั้งในมิติของราคาและในมิติของการอ่าน คอมมูนิตี้เหล่านี้อาจทำให้เราเข้าใจความหมายระหว่างบรรทัดเพิ่มเติม ส่วนการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ผ่านตัวอักษรก็ทำให้เราเรียนรู้ชีวิตที่มากกว่าความหมายตรงตัวของน้ำหมึก การอ่านจึงไม่ใช่อะไรเลย หากแต่เป็นการยกระดับจิตใจผ่านการรดน้ำใส่หัวสมอง ไม่ใช่เพื่อความบันเทิง เบิกบาน หรือถมอัตตาให้เต็มเปี่ยม แต่อาจง่ายดายเพียงให้เราได้ไตร่ตรองอะไรบางอย่างร่วมกัน
อ้างอิง