The Sims เกมสร้างบ้าน สานฝัน ปั้นโลกใบใหม่ – เพราะชีวิตจำลองไม่ทำให้เราเจ็บเลยสักวัน
คุณเล่น ‘The Sims’ (เดอะ ซิมส์) เพราะอะไร?
“เราเป็นคนที่ชอบตกแต่งบ้านมาก ก็เลยชอบ The Sims ที่จะแต่งบ้านยังไงก็ได้ จะเอาสระว่ายน้ำล้อมรอบบ้านก็ได้”
“ชอบที่ได้เล่นเป็นคนที่ตัวเราในชีวิตจริงเป็นไม่ได้ ในชีวิตจริงอาจจะไม่มีผัว แต่ในเกมเราจะมีกี่คนก็ได้”
“พอดีว่ามีสตอรีในหัวเยอะมาก พอได้สร้างซิมส์ขึ้นมาหลายๆ ตัว แล้วสร้างจักรวาลของตัวเองก็สนุกดี”
“บางครั้งความฝันของเราไม่ได้ไปต่อ แต่อย่างน้อยเราจะเป็นอะไรก็ได้ในเกม”
เห็นได้ว่าแต่ละคนมีคำตอบที่ต่างกันเมื่อถามถึงเหตุผลในการเล่น The Sims แต่เมื่อจับใจความดูแล้วจะสังเกตได้ว่ามันเป็นเพราะ ‘เราจะทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ เป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น’ โดยผู้มีอำนาจในการควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างก็คือ ‘เรา’ ด้วยสิทธิ์ในการเลือกรูปร่างหน้าตาและบุคลิกของซิมส์ เลือกสไตล์การตกแต่งบ้าน กระทั่งเลือกเส้นทางการใช้ชีวิตเองได้ มันจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่เกมประเภท Life simulation (เกมจำลองชีวิต) ของ Electronic Arts Inc. นี้จะโด่งดังมาตลอด 23 ปี โดยมีผู้เล่นกว่า 70 ล้านคนทั่วโลก (มากกว่าจำนวนคนไทยทั้งประเทศเสียอีก)
แน่นอนว่ามันไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของความสนุก ความเพลิดเพลิน หรือภาพที่สวยดึงดูดใจ แต่การเล่นเกม – โดยเฉพาะเกมอย่าง The Sims – ได้ให้อะไรกับเราไม่น้อยเลย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกสมอง ฝึกใช้ภาษา เพิ่มสกิลการใช้ชีวิต และต่างๆ อีกมากมายที่มนุษย์เราสามารถซึมซับในขณะเล่น ใครจะคิดว่า การปลุกชีวิตให้ตัวละครในจอสี่เหลี่ยมจะมีอิทธิพลต่อชีวิตคนๆ หนึ่งมากถึงขนาดไหน เพราะมันเป็นทั้งแรงบันดาลใจ โลกบันดาลฝัน และสถานพักพิงใจจากความเหนื่อยล้า
“Life imitates art” คือสำนวนที่ผู้คนต่างพูดกันมาอย่างยาวนาน เพราะเราทุกคนต่างได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะ ซึ่งส่งผลต่อบุคลิก ความคิด และการดำเนินชีวิต คนที่ชอบเล่นเกมเศรษฐีอาจจะชื่นชอบการวางแผนและการเสี่ยงโชค คนที่ชอบเล่น Cooking Mama อาจจะชอบทำอาหาร คนที่ชอบเล่น Stardew Valley อาจจะชอบการแต่งเรื่องราวและความ Nostalgia – แล้วคนที่ชอบเล่น The Sims ล่ะ? ไม่แน่ว่าอาจจะชอบทำภาพจินตนาการให้เป็นจริงขึ้นมาก็ได้
ก่อนเริ่มต้นเขียนบทความอันเรียกได้ว่าเป็น Conversation piece นี้ ผู้เขียนได้กระทำการขุดคุ้ยบทสนทนาต่างๆ เกี่ยวกับ The Sims และได้พูดคุยกับผู้เล่นมาเป็นจำนวนหนึ่ง จึงได้พบว่า ‘แรงบันดาลใจ’ คือหนึ่งสิ่งสำคัญที่ตัวเกมได้มอบให้แก่ผู้เล่นมาแล้วทั่วโลก ด้วยฟังก์ชันที่เอื้ออำนวยให้การวาดฝันไม่ใช่เรื่องเกินตัว แม้ทุกอย่างจะเกิดขึ้นภายในโลกสมมติก็ตาม
“เราชอบการสร้างบ้านใน The Sims มาก เพราะมันทำให้เราได้จินตนาการว่าบ้านที่เป็นของเรา ห้องของเรา เตียงของเราจะเป็นยังไง ซึ่งในชีวิตจริงอาจจะยังทำไม่ได้ แต่เราทำมันในเกมได้”
คงจะมีผู้คนไม่น้อยเลยที่ไล่ตามฝันเอาไว้ในเกมจนรู้สึกคอมพลีทในใจ ด้วยความที่เราสามารถควบคุมทุกอย่างตามใจนึกได้เพียงใช้ไม่กี่นิ้วคลิก ไม่ว่าจะดีไซน์บ้านในฝัน ทำอาชีพที่อยากจะลองทำมาตลอด แต่งตัวแบบที่อาจจะไม่กล้าใส่ ลองใช้ชีวิตหลากหลายรูปแบบ ถือว่าไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ในพจนานุกรม Simlish (บางอย่างก็ด้วยอานุภาพของสูตรโกง) อิสระตรงนี้จึงไม่เพียงแค่เติมเต็มความต้องการ แต่ยังสร้างแรงผลักดันให้เราบางคนได้เข้าใกล้ฝันในโลกแห่งความเป็นจริง เพราะการเพิ่มพลังให้กับความตั้งใจก็อาจนับเป็นการ Manifest ให้ประสบความสำเร็จตามหวัง
“เพราะว่าอยากเป็นบาริสต้ามาตั้งแต่เด็ก สมัยมัธยมที่ติด The Sims มากๆ ก็เล่นเป็นบาริสต้าบ่อยๆ มันทำให้เรามีกำลังใจทำตามฝันเหมือนกันนะ จนตอนนี้ก็ได้เป็นจริงๆ แล้ว”
ในอีกแง่หนึ่ง การเข้าไปอาศัยพักพิงอยู่ในโลกสมมติเป็นการชั่วคราวก็จะช่วยให้ผ่อนคลายจากความเครียด เพราะอย่างน้อยที่สุด ในวันที่เราไร้ซึ่งอำนาจควบคุมชีวิตของตัวเอง เราก็ยังมีชีวิตของซิมส์ที่ทุกอย่างเป็นไปตามใจปรารถนา ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเวลาที่เล่น The Sims หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าแทบจะไม่รับรู้เวลาของโลกภายนอก เพียงแค่ได้สร้างบ้าน สร้างครอบครัว เลี้ยงสัตว์ เล่นกีฬา ทำอาชีพในฝัน เท่านี้ก็ลืมเวลาและปัญหาชีวิตไปในชั่วขณะหนึ่งแล้ว ราวกับว่าได้หลบหนีเข้าสู่อีกมิติที่เราเป็นผู้เลือกเอง
อีกจุดที่น่าสนใจก็คือความไร้ขีดจำกัดของเกมซึ่งอนุญาตให้เราทำอะไรก็ได้ สร้างอะไรก็ได้ และเป็นอะไรก็ได้ โดยไม่ถูกตัดสินจากใครทั้งสิ้น เราสามารถสร้างร้านอาหารกลางคืน คฤหาสน์ Dream house สำหรับเลี้ยงน้องหมานับสิบ สร้างบทให้ตัวละครจิกเปียกันอย่างในละครหลังข่าว หรือจะพัฒนาตัวเองเป็นสุดยอดเชฟที่ทำอาหารสูตรฟื้นคืนชีพให้คนตาย ไม่ว่าอะไรก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริง และเราเองก็เป็นผู้เล่นหลัก ไม่จำเป็นต้องเล่นร่วมกับใครถ้าไม่ต้องการ มันจึงเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แก่ผู้เล่นอย่างเราในการปล่อยของและปล่อยจินตนาการ เพราะต่อให้กลายร่างเป็นแวมไพร์ไปดูดเลือดคนทั่วเมือง ก็จะไม่มีใครได้รับผลกระทบจากการเล่นสนุกนี้เลยแม้แต่น้อย
อนึ่ง พื้นที่ปลอดภัยแห่งนี้ยังสามารถใช้เป็นพื้นที่ระบายความขุ่นมัวในจิตใจ ดังที่ได้กล่าวไปว่า จะทำอะไรก็ไม่มีใครเดือดร้อนจากการกระทำของเราในเกม ถึงจะปั้นซิมส์หน้าตาคล้ายกับคนที่เกลียดในชีวิตจริงแล้วจับแต่งตัวให้ดูตลกก็ไม่เป็นไร งานวิจัยที่มีชื่อว่า Psychological analysis of “The sims 3” computer simulation game discourse: opportunity to create models of sustainable behavior ยังระบุไว้ว่า The Sims อนุญาตให้เราบงการสิ่งที่ยากจะทำในชีวิตจริง ความคิดที่ว่าเรามีสิทธิ์และอำนาจจึงจะช่วยลดความวิตกกังวลลงได้ ข้อดีตรงนี้อาจนำไปใช้เป็นตัวช่วยเรื่องการบำบัดทางจิตใจ ถึงไม่การันตีว่าจะเวิร์กสำหรับทุกคน แต่หากลองแล้วรู้สึกดีขึ้นก็นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดี
จากที่ได้กล่าว (เวิ่น) มาจนถึงตรงนี้แล้ว บางคนอาจจับสังเกตได้ว่า The Sims นั้นเป็นพื้นที่สำหรับการ ‘ทดลอง’ อันจัดได้ว่าจีเนียส หลายคนใช้ประโยชน์ของเกมในการซ้อมทำสิ่งต่างๆ ก่อนที่จะไปลองทำในโลกแห่งความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น ลองเปิดคาเฟ่เล็กๆ ดูว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง ต้องเจอลูกค้าแบบไหน ถ้าตกแต่งโดยใช้ผนังกับพื้นสีนี้จะออกมาเป็นอย่างไร สิ่งนี้เป็นหนึ่งตัวเลือกในการใช้ประกอบการตัดสินใจได้ในระดับหนึ่ง แน่นอนว่าไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการดำเนินชีวิตวิถีซิมส์นั้นยังถือว่าง่ายกว่ามาก เราไม่ต้องนั่งดมกลิ่นสีในขั้นตอนก่อสร้าง ไม่จำเป็นต้องทุ่มพลังกายในการขนวัตถุดิบเข้าร้าน และไม่ต้องจัดการกับลูกค้าด้วยตัวเอง แค่ต้องใช้แรงจากกล้ามเนื้อมัดเล็กในการคลิกปุ่มที่ปรากฎขึ้นมาเท่านั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีประโยชน์อยู่พอตัว หากใช้อย่างมีวิจารณญาณ
นอกจากเรื่องการสร้างร้านหรือทดลองทำงานในสายอาชีพต่างๆ แล้ว ยังมีสิ่งที่สามารถลองทำได้อีกมากมายในโลกของ The Sims ทั้งในเรื่องของการแต่งหน้าแต่งตัว ตกแต่งบ้าน บริหารการเงิน จำลองการใช้ชีวิตแบบที่มีความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ๆ ฯลฯ บางข้ออาจจะฟังดูไม่ยากหรือไม่จำเป็นต้องลองทำในเกมดูก่อน แต่เชื่อเถอะว่ามันช่วยส่งเสริมมุมมองให้เห็นภาพชัดขึ้นได้อย่างที่อาจนึกไม่ถึงเลยทีเดียว
“ตอนเด็กๆ เราชอบแต่งนิยายมาก แต่ถ้าให้คิดภาพตัวละครออกมาก็ยาก เราวาดรูปไม่เก่งด้วย ตอนนั้นใช้ The Sims ปั้นหน้า ทำผม แต่งตัวให้เป็นคาแรคเตอร์ของเราขึ้นมา”
“เราไม่ค่อยมั่นใจในหุ่นของตัวเองเท่าไหร่ แต่ The Sims ให้ปรับแต่งหุ่นเป็นแบบไหนก็ได้ และหมุนดูได้หลายมุม เราก็เลยปั้นซิมส์ที่หุ่นกับสีผิวเหมือนตัวเองขึ้นมาแล้วให้ลองใส่ชุดหลายๆ แบบ จะได้ดูว่าแต่งตัวแบบไหน ใส่เครื่องประดับอะไรแล้วสวย มุมไหนดูเป็นยังไง อาจจะไม่เป๊ะมาก แต่ก็พอใช้ได้”
ตัวอย่างทั้งหมดในบทความนี้ถือเป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่ง แต่ตัวเกมยังมีประโยชน์กว่านั้นอีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการเรียนรู้ ผลงานวิจัยเรื่อง Virtual environments for social skills training: the importance of scaffolding in practice กล่าวเอาไว้ว่าเกมที่สามารถจำลองสังคมและมีความเสมือนจริงจะช่วยฝึกฝนสกิลการเข้าสังคมให้กับผู้ที่มีโรคแอสเพอร์เกอร์ (Asperger’s Syndrome) ที่ต้องอาศัยการขัดเกลาทักษะการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับผู้คน มันจึงเป็นไปได้ว่าการเล่น The Sims น่าจะช่วยได้ไม่มากก็น้อย
หากใครยังคิดว่าการก่อร่างสร้างตัวในเกมเป็นเรื่องไร้สาระ เราคงต้องขอค้านว่าไม่เลยสักนิด เพราะ Will Wright พ่อผู้ให้กำเนิด The Sims ก็พัฒนาตัวเกมขึ้นมาหลังจากสูญเสียบ้านในเหตุการณ์เพลิงไหม้ จึงเกิดไอเดียว่ามันคงจะดีถ้าผู้คนสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ขึ้นมาได้จากศูนย์ อนึ่ง การเล่นเกมเพื่อปลดปล่อยความเครียดก็ยังดีต่อสุขภาพจิต แถมอาจทำให้เราได้ตกผลึกความคิดบางอย่างที่คาดไม่ถึงมาก่อน ถ้าอย่างนั้นยังรออะไรอยู่ ไป Sul Sul ทักทายซิมส์ของเรากันเลยดีกว่า!
Fun facts
- ชื่อ The Sims ได้รับแรงบันดาลใจมาจากคำว่า Simulation ที่หมายถึงการจำลอง สื่อถึงฟังก์ชันของเกมที่ให้ผู้เล่นใช้ชีวิตจำลองในโลกของซิมส์
- ไอคอนรูปทรงคล้ายเพชรสีเขียวบนหัวของซิมส์เรียกว่า Plumbob และสกุลเงินที่ใช้ในเกมก็คือ Simoleon (§)
- Simlish คือภาษาที่ซิมส์ใช้ในการสื่อสารกัน ซึ่งแต่ละคำมีความหมาย ไม่ได้ผสมตัวอักษรขึ้นมามั่วๆ แต่อย่างใด มันมีคำศัพท์และแกรมม่าอันเกิดจากการผสมกันของภาษาที่หลากหลาย หากลองสังเกตดูจะจับแนวทางได้ว่า คำที่ซิมส์ใช้ในการแสดงความรักนั้นสำเนียงคล้ายกับภาษาฝรั่งเศสที่ขึ้นชื่อว่าโรแมนติกที่สุดในโลก และคำที่แสดงถึงพลังบวกก็จะฟังดูคล้ายภาษาสเปน
- ในช่วงเริ่มแรกของการพัฒนาเกม The Sims เป็นเพียงแค่เกมสร้างบ้านเท่านั้น ตัวละครซิมส์ได้ถูกเพิ่มเข้ามาในภายหลังเพื่อให้สามารถใช้พื้นที่และสิ่งของต่างๆ ภายในบ้านได้
- ตัวละคร The Sims มีความคล้ายมนุษย์ในชีวิตจริงมาก เพราะมันเองก็มีพื้นฐานความต้องการเดียวกันกับมนุษย์ทั่วไป อ้างอิงจากทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of Needs) ที่อธิบายเอาไว้ว่ามนุษย์มีความต้องการอยู่ 5 ลำดับขั้นด้วยกัน โดยที่ลำดับต่ำสุดต้องได้รับการเติมเต็มเสียก่อน จึงจะถูกกระตุ้นให้มีความต้องการในขั้นที่สูงขึ้น เรียงตามลำดับดังนี้ ความต้องการพื้นฐานทางด้านร่างกาย (อาหารและน้ำ ที่พักอาศัย ยารักษาโรค) > ความมั่นคงปลอดภัย > ความรักและสังคม > ความเคารพและยกย่องนับถือตนเอง > การบรรลุเป้าหมายชีวิต
อ้างอิง
The Fact Site
The Gamer
Accelingo
Kerr, Steven & Neale, Helen & Cobb, Sue. (2002). Virtual environments for social skills training: The importance of scaffolding in practice. Annual ACM Conference on Assistive Technologies, Proceedings. 104-110. 10.1145/638249.638269.
Voronaya, Victoria. (2022). Psychological analysis of “The sims 3” computer simulation game discourse: opportunity to create models of sustainable behavior. E3S Web of Conferences. 363. 10.1051/e3sconf/202236304015.