“ผ่อนบ้านยืนยาว ชีวิตสั้น" สำรวจบ้านในฝันของคนรุ่นใหม่ ในวันที่ค่าครองชีพสูงลิบตา
“You will never own a home. You will rent until you die. But if I'm being optimistic, maybe it's a short living and a rent won't be that high”
เสียงเพลง ‘Home Owning’ ปลอบโยนปนพ้อใจของ Jesse Welles วัยรุ่นชาวอเมริกัน ที่โดนจิตโดนใจชาวเนตทั่วโลก สะท้อนว่า “บ้าน” เป็นสิ่งไกลตัวสำหรับคนรุ่นใหม่ไปเรื่อยๆ
“บ้าน” คำสั้นๆ ที่ได้ยินแล้วรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย เป็นคำที่อนุญาตให้เราพักผ่อน นอนตีพุง ใส่เสื้อตัวโคร่ง หน้าสด ตดไม่ต้องเกรงใจใคร ดูซีรีส์ข้ามคืน ทำอาหารยามเช้า เอี้ยวตัวเกาหลัง เพาะเห็ด เลี้ยงบอนไซ และอีกสารพัดอย่างที่ทำให้เราเป็นเรา
แต่ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสวนทางรายได้ ทำให้ ‘บ้าน’ กลายเป็นสถานที่ที่คนรุ่นใหม่เอื้อมถึงอย่างยากลำบาก
เมื่อราคาบ้าน แพงวันแพงคืน
พื้นที่ที่จำกัดมากขึ้นในกรุงเทพฯ นำมาสู่ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทำให้บ้าน คอนโด หรืออพาร์ทเมนต์มีราคาแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนแซงอัตราการเพิ่มของรายได้ที่เติบโตช้ากว่าถึง 21 เท่า โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรเผยว่า ช่วงปี 2018-2024 ราคาที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี สวนทางค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 1.2 เปอร์เซ็นต์
Bestimate By Baania ให้ข้อมูลว่า บ้านเดี่ยวในกรุงเทพฯ มีราคาต่ำสุดที่ 1.8 ล้านบาท ที่เขตหนองจอก ส่วนรายงานจาก Adecco Salary Guide แสดงอัตราเงินเดือนเด็กจบใหม่ ปี 2566-2567 โดยเด็กจบใหม่ในระดับจูเนียร์ (ประสบการณ์ 0-3 ปี) ของบริษัทเอกชน มีรายเงินเดือนเริ่มต้นที่ 15,000-20,000 บาท
นั่นหมายความว่า ณ วันนี้ คนรุ่นใหม่ต้องใช้เงินเดือนถึง 10 ปี เพื่อซื้อบ้านสักหลังในกรุงเทพฯ (หนำซ้ำยังอยู่ชานเมือง) คิดเป็นกะเพราหมูกรอบ ราคา 60 บาท กว่า 30,000 จาน ลูกชิ้น ไม้ละ 10 บาท กว่า 180,000 ไม้ ไอโฟน 16 ราคา 29,900 ราว 78.60 เครื่อง (ไม่รวมอะแดปเตอร์) และตั๋วดูน้องหมูเด้งที่สวนสัตว์เขาเขียว (ราคาผู้ใหญ่) ใบละ 200 บาท ได้ถึง 9,000 ครั้ง!
ทั้งนี้ LWS บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า ราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.49 ล้านบาทต่อหน่วย และสำนักงานสถิติแห่งชาติเผยว่า รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของคนไทย ปี 2566 อยู่ที่ 29,030 บาทต่อเดือน เท่ากับว่า คนไทยครอบครัวหนึ่งต้องใช้เงินเดือนทั้ง 15.76 ปี (โดยไม่กินข้าวสักมื้อ) เพื่อครองบ้านสักหลัง ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ค่าใช้จ่ายรายเดือนต่อครัวเรือนเฉลี่ยราว 23,000 บาท สะท้อนได้ว่า ลำพังเงินออมเป็นสิ่งยากเย็นและค่าครองชีพสูงขนาดไหนในบ้านเรา
อาการของความลำบากลำบนที่จะมีบ้านสักหลังยังเกิดขึ้นทั่วโลก เพียงแต่ในประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่า ย่อมใช้เวลาน้อยกว่าในการซื้อบ้านหนึ่งหลังนั่นเอง
นอกจากนี้ Gen Y และ Gen Z ยังมีไลฟ์สไตล์ต่างไปจากคนก่อนหน้า พวกเขามีลูกน้อยลง ย้ายงานบ่อยขึ้น เป็น Gen แห่ง Digital Nomad ที่ย้ายที่ทำงานไปเรื่อยๆ บางครั้งก็ถูกขนานนามว่า ‘Generation Rent’ ที่เน้นเช่า ไม่เน้นซื้อ ซึ่งแม้แต่คนรุ่นใหม่ที่มีเงินก็ไม่อยากซื้อบ้าน เพราะมีข้อผูกมัดเยอะกว่าการเช่า
ตัวอย่างคือ ภาษีที่ดินในญี่ปุ่นคิดเป็นร้อยละ 1.4 ของราคาอสังหาริมทรัพย์ (จินตนาการว่าเราเป็นทายาทคฤหาสน์มูลค่า 100 ล้านบาท เท่ากับเราต้องเสียภาษีที่ดินถึง 1.4 ล้านบาทต่อปี) ขณะที่ยุโรปใต้มีราคาบ้านค่อนข้างคงตัว แต่มูลค่าค่อยๆ ลดลง เพราะราคาบ้านเคยพุ่งสูงสุดขีดมาแล้ว การเป็นเจ้าของบ้านจึงหมายถึงการถือครองทรัพย์สินที่มูลค่าไม่ได้เพิ่ม แถมยังต้องเสียภาษีในอัตราที่โหดระดับญี่ปุ่น ส่วนในไทย การเข้าถึงสินเชื่อบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ก็นับว่ายากขึ้น เพราะนอกจากธนาคารจะตรวจสอบเงินเดือนเราแล้ว พวกเขายังตรวจสอบสถานะการเงินของบริษัทเราด้วย!
แล้วถ้าเราไม่ตั้งเป้ามี ‘บ้าน’ เพื่อลงหลักปักฐานล่ะ ถ้าบ้านไม่จำเป็นต้องมีหลังคามุงกระเบื้องตายตัวล่ะ ถ้าบ้านเปลี่ยนแปลงความหมายและมีลูกเล่นใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับชีวิตคนรุ่นใหม่มากกว่าเดิม ‘บ้าน’ ที่ว่านี้จะเป็นมิตรกับเงินในกระเป๋าและจิตใจเรามากขึ้นไหมนะ
บ้านสำหรับ Young gen คืออะไร
“บ้าน คือที่ที่อยู่แล้วเป็นตัวเอง เป็นที่ถอดหน้ากาก เอนตัวเอนใจ รายล้อมด้วยสิ่งของและผู้คนที่คุ้นเคย”
“ถ้ามีบ้านก็อยากมีบ้านในที่ๆ อากาศดี แต่ไม่อยากห่างตัวเมืองมาก เพราะอยากเจอเพื่อนง่ายๆ”
“บ้านต้องตอบโจทย์ความต้องการบางอย่าง เช่น เลี้ยงหมาได้ มีพื้นที่บริเวณให้ได้ใช้ชีวิต”
“เราอยากให้บ้านเป็นพื้นที่ๆ สามารถผ่อนคลายจากการเหนื่อยล้าได้ทุกรูปแบบ อยากให้เป็นพื้นที่ safe zone กับผู้คนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักได้ เรายินดีต้อนรับทุกคน”
“ถ้าเราจะตั้งถิ่นฐานสักที่หนึ่งแล้วเรารู้สึกไม่กังวลอะไร เช่น เรื่องพ่อแม่ที่อยู่บ้านเกิด ถ้าเราเคลียร์เรื่องตรงนี้ได้ เราสามารถอยู่ที่ไหนก็ได้”
สารพัดมุมมองของคำว่า ‘บ้าน’ จากมุมมองของคนรุ่นใหม่และ First Jobber ทั้งในและนอกกรุงเทพฯ พวกเขาผูกคำว่าบ้านไว้กับความสบายใจ ความเบาของกิจวัตร การพักผ่อน และอาจไม่ได้ตกลงปลงใจว่าจะลงหลักปักฐานที่ไหน อาจเพราะขึ้นชื่อว่าวัยสร้างตัว ชีวิตจึงเพิ่งเริ่ม
“ตอนนี้ยังชอบความตื่นเต้นอยู่ ยังไม่มีความคิดจะ settle down อยากออกไปเจอโลกกว้าง และผู้คนดีๆ” ติ้ม ในวัย 24 ปี บอกกับ EQ เธอเล่าว่า เธอเป็นคนอุบลราชธานี ปัจจุบันทำงานในรีสอร์ทแห่งหนึ่งบนเกาะพะงัน มองตัวเองใน 5-10 ปี ว่ายังอยากเดินทาง เรียนรู้ผู้คน พออิ่มตัวก็ย้ายที่ใหม่ ถ้าต้องอยู่คนเดียวก็จะอาศัยในคอนโด แต่หากมีครอบครัว จึงค่อยหาบ้านแนวราบสักหลังใช้ชีวิต
“คงหาประสบการณ์ รู้จักผู้คนให้มากกว่านี้ในตอนที่ตัวเองไหว ส่วนการปักถิ่นฐาน การมีทรัพสินย์เป็นส่วนตัว สิ่งนั้นเราค่อยๆ มีได้ สุดท้ายถ้าเราทำอะไรแล้วมีความสุขกับมัน นั่นอาจจะเป็นชีวิตที่เราตามหา” คล้ายกับติ้ม ภู วัย 23 ปี ฉีกยิ้มนิดๆ ระหว่างสนทนากัน เขาเป็นคนรุ่นใหม่จากสงขลา รับงานฟรีแลนซ์ถ่ายรูปถ่ายวิดีโอทั่วภาคใต้ (และภาคอื่น) เขาเคยแชร์กับผู้เขียนว่า การมาทำธุระที่กรุงเทพฯ ไม่กี่ครั้งทำให้เขามั่นใจว่าไลฟ์สไตล์ตัวเองไม่เหมาะกับเมืองใหญ่ ตราบใดที่มีอะไรทำที่บ้านเกิด เขาก็ยังโอเคกับชีวิตตรงนั้น “เรามีความคิดที่อยากไปทุกจังหวัด แต่ไปในนามนักเดินทางไม่ได้เป็นผู้อาศัย เพราะเรารู้สึกว่าสงขลาไม่ขาดอะไรเลย เราโอเคกับชีวิตและการอยู่ที่นี่มากๆ”
ขณะที่ ต๊อบ ชาวนนทบุเรียนที่ยังใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ วัย 25 ปี ฟรีแลนซ์ตัดต่อวิดีโอ กล่าวว่า ตอนนี้ไม่ได้มีความคิดลงหลักปักฐาน หากต้องซื้อ ก็ไม่อยากกู้ซื้อ เพราะไม่อยากเป็นหนี้ ชายหนุ่มผมฟูใส่แว่นหนาเตอะยังไม่ได้อยากมีบ้านของตัวเองในตอนนี้ เขาอาศัยอยู่บ้านแม่ แต่มีแพลนย้ายออกมาอยู่คนเดียวโดยการเช่าหอสักแห่งในอนาคต พร้อมนิยามบ้านในฝันของตัวเองของตัวเองว่า “บ้านที่มีครบ จะดูหนังเล่นเกมก็สามารถทำในบ้านตัวเอง เอาแบบไม่ต้องออกไปข้างนอกเลย ติดบ้าน (หัวเราะ)”
อีกหนึ่งวัยรุ่นต่างจังหวัดวัย 24 ปี ที่เข้ามาทำงานและเช่าหอในเมืองหลวงอย่าง ตอง บอกว่า ในอนาคตอยากมีความมั่นคงและอิสรภาพทางการเงิน ใช้ชีวิตแบบไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน ทำสิ่งที่อยากทำได้ แต่ปัจจุบันมองความเป็นจริงว่า
“ยังนึกภาพตัวเองซื้อบ้านไม่ออก ด้วยปัจจัยเรื่องความพร้อมหลายอย่าง เช่น รายได้ปัจจุบันที่ไม่คล่องตัวขนาดนั้น ถ้าเราจะใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนเป็นหลักแหล่ง เราต้องมั่นใจในระดับนึง ไม่อยากเป็นหนี้ ถ้าไม่มั่นใจจริงๆ ว่าเคลียร์ได้”
ในช่วงที่ชีวิตเพิ่งตั้งไข่ เห็นได้เลยว่าการคิดถึงบ้านในอนาคตของตัวเองยังดูเป็นสิ่งที่ห่างไกล อาจเพราะเรากำลังอยู่บนพาร์ทที่ต้องหางานที่ใช่ วิถีชีวิตที่โดน เรียนรู้ผู้คน และทำความรู้จักกับสังคมใหม่ๆ ซึ่งเมื่อเราค้นพบตัวเองแล้ว ก็อาจจะทำให้การ settle down หรือลงหลักปักฐานกับบ้านสักหลัง เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ทำยังไงให้ทุกคนมีวิมานเป็นของตัวเอง
คงเป็นเรื่องดีไม่น้อย ถ้าหากเรามีบ้าน (ที่อยากได้) เป็นมรดกจากพ่อแม่ อากง อาม่า ฯลฯ บ้านหลังนั้นยังต้องตั้งอยู่ในทำเลที่ดี ไม่ไกลจากแหล่งงาน เดินทางสะดวกสบาย เพราะเราคงไม่ต้องปวดหัวกับการเก็บเงินซื้อหรือสรรหาที่อยู่อาศัยของตัวเอง
ถ้าเป็นอย่างหลัง เราควรถามตัวเองให้แน่ใจว่าอยากอยู่บ้านแบบไหน คำนวณรายรับรายจ่ายของตัวเอง เลือกสินเชื่อบ้านที่เหมาะสม มีดอกเบี้ยในอัตราที่เราสามารถผ่อนชำระได้ ต่อรองค่าใช้จ่ายอย่างค่าจดจำนอง ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และค่าจิปาถะกับเจ้าของหรือสถาบันทางการเงินให้เรียบร้อย และควรเก็บเงินเข้าบัญชีฝากประจำ เพียงเท่านี้ บ้านในฝันก็จะไม่ไกลเกินเอื้อม ซึ่งหลังจากเราผ่อนไปแล้ว 20-30 ปี ในวันที่บ้านเป็นของเราอย่างเบ็ดเสร็จ เราก็จะมีชีวิตในวัยเกษียณที่มั่นคงเสียที
อีกเทรนด์ที่เป็นไปได้ คือการซื้อบ้านร่วมกัน ดั่งในสหรัฐอเมริกา ผู้ซื้อบ้านหน้าใหม่กลับเป็นคนรุ่นใหม่ ข้อมูลจาก Attom Data Solution บริษัทวิเคราะห์ด้านอสังหาริมทรัพย์ชี้ว่า ตั้งแต่ปี 2014-2021 มีจำนวนผู้ซื้อบ้านและคอนโดร่วมกันเพิ่มขึ้น โดยเป็นเจ้าบ้านที่มีนามสกุลต่างกันเพิ่มถึง 771 เปอร์เซ็นต์ ส่วนธุรกิจ Home Sharing ที่เจ้าของบ้านที่เป็นผู้สูงอายุคัดเลือกผู้เช่าระยะยาวที่เป็นคนรุ่นใหม่ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน
แต่ความเป็นขั้นเป็นตอนข้างต้น ย่อมมีอุปสรรคมากมายระหว่างบรรทัด ตัวกลางที่ช่วยได้ดีที่สุดจึงเป็นรัฐบาลที่อาจออกนโยบายช่วยเหลือคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจซื้อบ้านหลังแรก เช่น การลดหย่อนภาษี การลดค่าธรรมเนียมในกลุ่มบ้านที่มีราคาไม่เกิด 3 ล้านบาท เป็นต้น และหากมีสวัสดิการที่โอบอุ้มชีวิตอย่างค่ารักษาพยาบาล หรือเพียงระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ก็อาจช่วยเพิ่มเงินออมในกระเป๋าให้คนรุ่นใหม่ฝันถึงบ้านได้เช่นกัน
เพราะการมีที่อยู่ที่มั่นคง ผู้คนก็ย่อมมีศักยภาพในการหารายได้เพิ่มเติม มีแรงทำอย่างอื่นที่เป็นบูมเมอแรงย้อนกลับมาทำให้สังคมดีขึ้นได้นั่นเอง
รถบ้าน เรือบ้าน วิถีชีวิตตามฤดูกาล ทางเลือกใหม่ในอนาคต
แล้วจะเป็นยังไงถ้าเราไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ไม่ต้องผ่อน ไม่ต้องเสียค่าบำรุงรักษาบ้าน แต่เสียแค่ค่าจอดรถและค่าน้ำมันก็พอแล้ว
ภาพรถแวน DIY ค่อยๆ ปรากฏตามโซเชียลมีเดีย เพราะเหล่าครีเอเตอร์จำนวนไม่น้อยทำคอนเทนต์เกี่ยวกับ #vanlife พร้อมพาทัวร์บ้านเคลื่อนที่แสนอบอุ่นกะทัดรัด ดั่ง @abigailmartiin หรือ Abigail Martin, TikToker สัญชาติอเมริกา เธออธิบายว่ารายได้หลักมาจากการเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ และทำงานเสริมตามฤดูกาล (seasonal worker) เพื่อเก็บเงินมาใช้ชีวิตอิสระกับรถคู่ใจ ใครจะรู้ว่าเมษายนปีที่แล้วเธอตกงานประจำหลังจากตกแต่งรถบ้านไปไม่นาน แต่ด้วยความอิสระทางที่อยู่อาศัยนี้เอง ทำให้เธอออกไปรับงานได้ทั่วประเทศโดยไม่ต้องกังวลเรื่องที่อยู่อาศัย สอดคล้องกับข้อมูลจาก Redfin เว็บไซต์ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า คุณต้องมีรายได้เฉลี่ย 4 ล้านบาทต่อปี จึงจะสามารถมีบ้านสักหลัง ทว่าปัจจุบัน รายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ล้านบาทเท่านั้น
ส่วนสารคดี รถบ้าน ที่อยู่ทางเลือกของคนจีนในเมืองใหญ่ เผยภาพชีวิตของ ทวิกกี้ เหอ พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในจีนที่อาศัยอยู่ในรถบ้านที่มีชื่อว่า YOLO (You Only Live Once) พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน จากการเสียค่าเช่าห้องพักรวมบิลค่าใช้จ่ายอื่นๆ ประมาณเดือนละ 12,000 บาท กลายเป็นเสียค่าจอดรถเพียงเดือนละ 2,800 บาท เทรนด์นี้เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ที่ทำงานในเมืองใหญ่ของจีน เพราะห้องชุดในเมืองใหญ่มีราคาถึง 300,000 บาทต่อตารางเมตร แต่การออกรถบ้านใช้เงินเพียง 1 ล้านต้นๆ เท่านี้ก็สามารถเป็นเจ้าของพื้นที่ส่วนตัวได้อย่างแท้จริง ทั้งยังตอบโจทย์อนาคตที่ไม่แน่นอนของชีวิตการทำงานด้วย
หรืออย่าง @rokabringsflowers ที่นำเสนอไลฟ์สไตล์สุดคราฟต์บนเรือน่ารักแบบตะโกน ‘Roka’ Roksana Trzencinska ใช้ชีวิตบนเรือขนาด 40 ฟุต เรียกอีกชื่อว่า Narrow Boat พ่วงด้วยเรือลำจิ๋วอีกหนึ่งลำสำหรับปลูกดอกไม้โดยเฉพาะ เธอเป็นคนโปแลนด์ เคยเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำและหวาดกลัวแบคทีเรีย เธอเอาชนะความกลัวนั้น ย้ายมาอยู่ลอนดอน เริ่มธุรกิจจัดดอกไม้ (1 ปอนด์จากทุกการขาย 1 ช่อ จะถูกนำไปบริจาคให้องค์กรการกุศลด้วยนะ) ตอนนี้เธออยู่ตามลำน้ำสาขาของลอนดอนบนเรือ กิจวัตรคือ เล่นกับแมว ทำอาหารกินเอง ปลูกดอกไม้ ทำงานคราฟต์ และปั่นจักรยานไปขายดอกไม้ตามตลาด
ปี 2024 มีเรือแบบ Roka ทั่วสหราชอาณาจักรราว 35,000 ลำ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งข้อมูลในปี 2020 ราคาบ้านเฉลี่ยในลอนดอนสูงถึง 685,200 ปอนด์ แต่เรือมีราคาเฉลี่ยเพียง 57,000 ปอนด์ (การรีโนเวทปรับปรุงอยู่ที่ 15,000-150,000 ปอนด์! ความต่าง 10 เท่านี้ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์) และยังไม่รวมค่าจอดเรือรายปี ค่าใบรับรอง ค่าประกัน ไหนจะค่าเชื้อเพลิง ค่าบำรุงรักษา ค่าจิปาถะอื่นๆ อีก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวมกันหลักหมื่นปอนด์ ดังนั้นจึงมีบริการเช่าเรือ ลองเรือ (ลองอยู่อาศัยก่อนตัดสินใจเช่าหรือซื้อจริง) และการเปิดให้พักเหมือนกับโรงแรม บางคนจึงเลือกเช่าอยู่ในช่วงฤดูร้อน และใช้ชีวิตปกติในฤดูอื่นๆ
ขณะนี้ #vanlife มีจำนวนโพสต์กว่า 17 ล้านครั้งใน IG #narrowboatlife กว่า 1.4 แสนบนแพลตฟอร์มเดียวกัน สะท้อนว่าคนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับวิถีชีวิตใหม่ๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราต้องกระโดดออกที่อยู่ที่แน่นิ่ง สู่ที่อยู่ยานพาหนะ แต่การใช้ชีวิตตามฤดูกาลก็เป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจ สามารถสลับสับเปลี่ยนไปมา อาจหล่อเลี้ยงความมีชีวิตชีวา และยืดหยุ่นมากกว่า
โดยเฉพาะเมื่อข้อมูลจาก Climate Central คาดการณ์ว่า หากอุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงขึ้น 1.5-3 องศาเซลเซียส (ซึ่งเป็นไปได้) ภาคกลางของไทยจะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น นอกจากปาดเหงื่อกับราคาบ้านแล้ว คนรุ่นใหม่ยังต้องกุมขมับกับธรรมชาติและความไม่แน่นอน ซึ่งการไม่ปักหลักหรือคำนึงถึงภาวะโลกรวนให้หนัก ก็ดูเป็นสิ่งสำคัญกับชีวิตสมัยใหม่
เมื่อบ้านกลายเป็นวิถีชีวิต
เราจะเห็นได้ว่า ทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจ ค่าแรง ธรรมชาติ และความต้องการส่วนตัวของคนรุ่นใหม่ ล้วนผลักดันให้บ้านมีความหมายในการอยู่อาศัยที่ไม่ได้อยู่ในสภาพแช่แข็งและนิ่งเงียบอีกต่อไป
ถ้าเราถอยออกมาจากวิธีคิดแบบ American Dream สักนิด ผละออกมาจากกรอบสังคมสักหน่อย บ้านจะไม่ใช่แค่สถานที่ที่เราต้องก้าวออกจากประตูทุกเช้าและกลับมาเมื่ออาทิตย์ลับขอบฟ้า แต่บ้านเป็นร่มใหญ่ที่กำหนดวิถีชีวิต หรือเป็นเพียงมุมหนึ่งของโลกที่อนุญาตให้เรายิ้มแฉ่งหรือร้องไห้ขี้มูกโป่งก็ได้
ท้ายสุด แม้เงินในบัญชีจะยังตอกหน้าเราอยู่ว่าบ้านในฝันช่างห่างไกลในโลกความเป็นจริงเหลือเกิน แต่มุมมองนอกกรอบการเงินเหล่านี้นี่แหละ ที่อาจเป็นจุดเริ่มบนเส้นทางกลับ ‘บ้าน’ ของตัวเอง และอาจทำให้ Jesse Welles เขียนเพลงเกี่ยวกับ Dream Come True บ้างก็ได้