เป็นมา เป็นไป เป็นไทย เป็นจีน : สำรวจความทรงจำของชุมชนคนไทยเชื้อสายจีนในวันที่อดีตคือวันนี้
เชื่อว่าหากสืบสาแหรกครอบครัวตัวเองขึ้นไป หลายคนคงพบว่าจะมีบรรพบุรุษอย่างน้อยหนึ่งคนที่มีเชื้อสายจีน ตั้งแต่เด็ก แม่บอกกับผมเสมอว่าความเป็นจีนใน DNA ผมน่าจะเหลือแค่เศษๆ เพราะคนเดียวที่มีเชื้อสายจีนในครอบครัวเราก็มีแต่ปู่ของแม่เท่านั้น แม่มักอ้างว่าความเข้มข้นของคนจีนในตัวผมมันน้อย เธอเลยไม่ให้แต๊ะเอีย แต่ผมก็เกาหัวแกรกๆ เพราะเทศกาลตรุษจีนทีไร บ้านแม่จะจัดโต๊ะไหว้บรรพบุรุษเสมอและผมก็ต้องกินไก่รวนเป็นรวนถึงสามวันสามคืน
ในความทรงจำอันน้อยนิดและเรื่องเล่าที่น้อยกว่า อากงของแม่ฝากประวัติอันสั้นกุดไว้เพียงคำบอกเล่าที่ว่า เขามีพี่น้องอีกสองคน พี่ชายคนโตต่อสู้กับชีวิตที่เมืองจีนต่อ น้องชายคนเล็กขึ้นฝั่งที่สิงคโปร์ ส่วนเขาเลือกขึ้นฝั่งที่เมืองไทย และเหมือนหลายต่อหลายคนที่โล้สำเภามา ตลอดชีวิตที่เหลือก็ไม่ได้พบอดีตแต่หนหลังอีกเลย
หลายปีผ่านมา ในบริเวณที่เขาประจันหน้ากับอนาคตอันไม่แน่นอน ในถิ่นแถบซึ่งเชื่อได้ว่าเขาเคยข้องเกี่ยวไม่มากก็น้อย ได้เปลี่ยนโฉมจากชุมชนแออัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุด Instagrammable ทั้งชุมชนตลาดน้อย ถนนทรงวาด และถนนเยาวราช ต่างเชื้อเชิญให้คนยุคหลังถ่ายรูปอัปลงสตอรี่ เรียกได้ว่าย่านชุมชนคนจีนสลัดคราบยุคเสื่อผืนหมอนใบไปแล้วเรียบร้อย
ส่วนคนเก่าแก่และบรรดาลูกหลาน บ้างผสมกลมกลืนกับสังคมตั้งแต่รุ่นสองรุ่นสาม และบ้างก็ย้ายออกไปตั้งรกรากที่อื่นตามเงื่อนไขของชีวิต และเชื่อว่าหากเราเคยไปเที่ยวหรือเยี่ยมเยือนถิ่นแถบนั้น คงรู้สึกเหมือนกันว่าร้านรวงใดใดล้วนมุ่งขายนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนวิถีชีวิตดั้งเดิมนั้นอาจหาได้ยากพอๆ
กับห้องน้ำสาธารณะ
ในช่วงเทศกาลตรุษจีนแบบนี้ EQ ทอดน่องไปตามตรอกซอกซอย ส่องสถาปัตยกรรมไทย-จีนที่ปรากฏตัวอย่างไม่เขินอาย เราอยากพาสำรวจคอมมูนิตี้คนจีนในแถบตลาดน้อย-เยาวราช ที่ยังคงกลิ่นอายของความดั้งเดิมไปพร้อมกับการหวนรำลึกถึงวันวาน ที่มีทั้งวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ พื้นที่ และโชคชะตานับล้านของผู้คนอยู่ในนั้น
01

“เราเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ บ้านหลังนี้บรรพบุรุษสร้างมาให้ลูกหลานอยู่ มันเป็นบ้านของเราเอง แต่ส่วนใหญ่คนที่นี่เช่าบ้านอยู่ พอทำงานหากินจนมีเงิน ก็พาพ่อแม่ออกไปจากตลาดน้อย คนเฒ่าคนแก่ไม่ค่อยไป เขาอยู่ติดกับพื้นที่ เขารู้จักข้างบ้าน รู้จักร้านนั่นนี่ เขาก็อยู่ตรงนี้กันต่อไป เด็กรุ่นใหม่ไปอยู่ข้างนอก รุ่นเก่าก็ยังอยู่แถวนี้”
ภายใต้ชายคาเก๊งจีนในวันฟ้าครึ้ม ภู่-ภู่ศักดิ์ โปษยะจินดา ทายาทรุ่น 8 ของคฤหาสถ์โซ เฮง ไถ่ ซึ่งปัจจุบันเปิดเป็นโรงเรียนสอนดำน้ำ เล่าถึงความเป็นไปของชุมชนตลาดน้อยในปัจจุบัน ก่อนค่อยๆ คลี่ภาพของตลาดน้อยในวัยเด็กพร้อมเจือประกายบางอย่างในถ้อยคำ
“แต่ก่อนตลาดน้อยจะมีบ้านไม้ชั้นเดียวบ้าง สองชั้นบ้าง บางทีมีหลายครอบครัวอยู่ในบ้านหนึ่งหลัง ทุกคนรู้จักกัน ร้านขนมมีอยู่สองร้าน แม่น้ำเป็นสนามเด็กเล่นของเด็กตลาดน้อย เราไม่มีสวนสาธารณะ เราไม่มีสนามหญ้า เด็กแถวนี้จะว่ายน้ำเก่งทุกคน
“ตอนเด็กๆ จะมีขนบธรรมเนียมของตลาดน้อยให้เราเห็นบ่อยๆ อย่างกินเจ ไหว้พระจันทร์ ตรุษจีน มีงิ้ว มียิงปืน ชิงช้าสวรรค์ สนุกมาก แต่ก่อนตลาดน้อยเหมือนถูกลืม ทั้งๆ ที่อยู่กลางกรุงฯ กลางประเทศ อย่างท่อน้ำทิ้งก็เพิ่งมาสร้างได้ 6-7 ปี แต่ก่อนทุกบ้านต่อตรง อย่างเซียงกงก็เริ่มจากตลาดน้อย จากนั้นไปปทุมวัน บางนา แล้วก็รังสิต ก็คนตลาดน้อยนี่แหละ”
ในสายตาของชายวัย 59 ปี คุณภู่เล่าว่า ก่อนช่วงโควิด-19 เล็กน้อย ในรัศมีราวร้อยเมตรจากที่เรานั่งสัมภาษณ์ มีร้านกาแฟถึงกว่า 80 ร้าน ทั้งยังมีโฮสเทล ร้านนวด และอื่นๆ คอยสอดแทรก ถึงจะมองได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกพื้นที่จะมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญคือเปลี่ยนแปลงไปด้านไหน

02
อีกหนึ่งผู้อยู่อาศัยในตลาดน้อยอย่าง เจี๊ยบ-วิมล เหลืองอรุณ ผู้สืบทอดร้านเบาะไหว้เจ้าเฮงเสง รุ่น 3 เล่าว่าตลาดน้อยเป็นแหล่งของคนจีนแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลำ มีศาลเจ้าโจวซือกงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และเซียงกงก็ปิดตัวลงไปเยอะจากการมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งภาพที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเด่นชัด

“ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี พวกเซียงกงปิดไปเยอะ พอเซียงกงดรอปลง ลูกหลานก็เอาบ้านมาทำคาเฟ่ ทำร้านอาหาร เกสเฮ้าส์ รูปแบบเปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวเริ่มเข้ามาเยอะ”
เจี๊ยบนั่งนึกย้อนวัยเด็กบริเวณด้านหน้าตู้กระจกที่เก็บเบาะไหว้เจ้าหลากสีสัน
“หน้าบ้านพี่เป็นตลาดสดเลยแหละ เป็นบ้านไม้หมดเลย มีเด็กเยอะมาก แต่ละหลังก็จะแบ่งซอยเป็นห้องๆ ห้องหนึ่งก็อยู่เป็นครอบครัวหนึ่ง คนเยอะมาก ตอนเด็กๆ เวลาปิดเทอมก็จะขายของหน้าบ้าน
“พ่อแม่เป็นคนจีน เขาจะสอนเราค้าขายตั้งแต่เด็ก ขายน้ำ ให้คนเช่าหนังสือในบ้านอ่าน ส่วนเบาะไหว้เจ้าเริ่มจากอากงที่มาจากเมืองจีนประมาณ 100 กว่าปีแล้ว ก็ทำพวกที่นอนหมอนมุ้ง สมัยก่อนเราจะใช้มุ้งเยอะ เพราะยังไม่มีมุ้งลวด รุ่นอากงก็จะทำอยู่ตรงนั้น แต่พอมารุ่นที่ 2 แม่ก็จะทำพวกเบาะไหว้เจ้า เพราะมุ้งไม่ค่อยนิยมละ ใช้กันน้อยลง
“เบาะไหว้เจ้าจะยังใช้เอกลักษณ์ของดอกโบตั๋น ซึ่งเป็นดอกไม้มงคลของคนจีนที่มีความหมายดี แล้วมันสื่อถึงความสวยงาม มีมงคล แม่ก็เอาดอกโบตั๋นมาทำเบาะไหว้เจ้า แล้วมันมีสีแดง ซึ่งศาลเจ้ากับคนจีนชอบสีแดงๆอยู่แล้ว”
คล้ายกับภู่ เจี๊ยบมองว่าตลาดน้อยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคนมากหน้าหลายตาเข้ามาเยอะ ดังนั้น สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างป้ายบอกทาง ห้องน้ำสาธารณะ และความปลอดภัยของคนในชุมชนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกัน เธอก็ไม่ได้ยึดติดว่าการทำเบาะไหว้เจ้าต้องส่งต่อไปที่รุ่นลูกหลานของเธอเท่านั้น หากแต่อาจส่งต่อไปที่คนที่สนใจมากกว่า

03

ถัดออกมาจากย่านตลาดน้อย ที่ตรอกชัยภูมิซึ่งเชื่อมระหว่างถนนทรงวาดกับถนนเยาวราช วิเชียร สุขกมลสันติพร วัย 61 ปี กำลังง่วนกับการนวดแป้งซาลาเปาในตึกแถวติดศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเซี้ยอึ้งกงที่แสงอาทิตย์สะท้อนละอองนับล้านซึ่งบรรจุความรุ่งเรืองในอดีตไว้ วิเชียรเป็นทายาทรุ่น 4 ของตึกแถวห้องนี้และเขาก็เล่าถึงวัยเด็กด้วยน้ำเสียงเจือสุขล้นปรี่ในวันวาน
“ตรอกนี้ราชการเขาตั้งว่า ‘ตรอกชัยภูมิ’ มันทะลุจากทรงวาดไปเยาวราชได้ จะไปออกหลังวัดชัยภูมิ เป็นซอยเล็กๆ สมัยก่อนเป็นซอยหมาเยี่ยว มันจะออกไปตรงโรงงิ้วไซฮ้อ ชื่อที่ชาวบ้านตั้งเจะเรียกว่าวงโหล่โกย ก็คือตรอกเตา แต่จริงๆ ไม่มีเตา มันเป็นคำแผลงมาจากวงหลิ่วโกย วงลิ้วก็คือที่เที่ยว คนมาสำมะเลเทเมา เพราะสมัยก่อนสำเพ็งขายของ ทรงวาดเป็นแหล่งขายเกษตร พวกจับกังเยอะ ข้ามไปก็เป็นตลาดเก่า มันเป็นแหล่งการค้าหมดเลย ตรอกซอกซอยมันจะเป็นที่คนงานอยู่ คนงานเที่ยว ในช่วงก่อนปี 2500 มีโรงฝิ่น มีสำนักโคมเขียวโคมแดง คือเวลาคนไปเที่ยวซ่องโสภีนี เขาจะแขวนโคมไว้ โคมเขียวว่างนะ โคมแดงมีคนใช้บริการ เขาจะแบ่งเป็นห้องเล็กๆ มีเตียงเดียว ไม่มีประตู มีแค่ผ้าม่านกั้น คนก็จะพรวดพราดไม่ได้ ก็ต้องดูสัญลักษณ์
“มันเป็นชุมชนแออัด คนจีนมาตอนแรกก็สร้างเนื้อสร้างตัว อยู่กันห้องเล็กๆ ทั้งครอบครัว บ้านข้างๆ ผมอยู่กัน 10 ครอบครัว บ้านหลังหนึ่งเดินกันเกือบ 70-80 คน การค้าขายมันโล่ง ในจังหวะที่แต่ละคนโตก็ไปทำตรงนู้นตรงนี้ ขยายไปเรื่อย อันนี้คือเมื่อ 40-50 ปีก่อน
“ความเปลี่ยนแปลงมันเรื่องธรรมชาติ แต่เปลี่ยนแปลงในด้านไหน สมัยก่อนมีห้างสรรพสินค้า มีร้านนาฬิกา มีทุกอย่าง มีภัตตาคารแต้จิ๋ว มีภัตตาคารกวางตุ้ง มีร้านแบบบ้านๆ มีหมด แต่สักพักหนึ่ง รถติด ร้านก็เริ่มทยอยย้ายออกไปข้างนอก ค่าเช่าแพง ก็ต้องย้ายหรือขายกิจการ มันเรื่องธรรมดา”

ทวดของวิเชียรมาจากเมืองจีน อยู่ในกลุ่มถือศีลกินเจตลอดชีวิต มีขนบธรรมเนียมต่างๆ มากมาย แต่ก็จางหายไปในรุ่นของวิเชียร ซึ่งถือเป็นความปกติที่รุ่นลูกหลานจะค่อยๆ ซึมซับวัฒนธรรมไทยหรือกระทั่งตำราภาษาอังกฤษ ทำให้ความเป็นจีนที่ผูกติดมาเหลือน้อยลงไปตามกาลเวลา
“เสน่ห์ของชุมชนคนจีนคือความเอื้ออาทร เรารู้วัฒนธรรมเรา มันคือการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของเรา เราคิดถึงท่านเราไหว้ หรือไหว้เจ้า ไม่ใช่มูเตลูนะ ไม่ได้ขอนู่นขอนี่ จุดธูป 5 บาทขอถูกหวยรางวัลที่ 1 มันไม่ใช่ การไหว้เจ้าต้องยึดถือคุณธรรม เป็นการสอนโดยอ้อม ให้คุณต้องมีความเผื่อแผ่ ถ้าคุณมี คุณต้องเผื่อแผ่ต่อชุมชน”
04

แดดบ่ายโมงจับท้องฟ้า เราเดินตามกลิ่นชามาถึงร้านใบชา ก.มุยกี่ โดยมี ณฐพล หิรัฐสาโรจน์ ชายวัยกลางคนท่าทางกระฉับกระเฉงคอยเตรียมสำรับ ‘กงฟูฉา’ หรือศิลปะชงชาแบบประณีตพิถีพิถันอยู่
“น้ำแรกเป็นการปลุกชา” เขากล่าวพร้อมเทน้ำร้อนที่ล้างใบชารอบแรกออก นอกจากเสมือนสะดุ้งให้ความแห้งของใบชาคลายตัว อีกนัยหนึ่งคือล้างถ้วยทำความสะอาด โดยกลิ่นของใบชาจะดีที่สุดที่น้ำสามหรือน้ำสี่
ณฐพลเป็นรุ่น 3 ของร้านชาที่มีประวัติยาวนานกว่า 117 ปี แรกเริ่ม ปู่ของเขาขายชานำเข้าจากเมืองจีนด้วยการหาบเร่ ตั้งใจเก็บออมเงินในเมืองไทยเพื่อซื้อที่ในบ้านเกิด แต่เมื่อประเทศจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ค.ศ. 1911 ครอบครัวของเขาจึงจำเป็นต้องลงหลักปักฐานในไทยนับแต่นั้น
“บ้านเกิดปู่มีเทือกเขาหนึ่งชื่อว่า ‘เทือกเขาเฟิ่งหวง’ บนเขาจะปลูกชาตันฉง ปู่ก็จะมีความรู้เรื่องชาอยู่ระดับหนึ่ง พอเมืองจีนมีปัญหาเรื่องความอดอยาก ก็อพยพมาเมืองไทย อยู่กับญาติพี่น้องใน 2 ปีแรก หลังจากนั้นก็เข้ามากรุงเทพฯ มาหางานทำ เริ่มใช้ความรู้เกี่ยวกับใบชา โดยรับชามาขาย รับชามาแบ่งบรรจุ แพ็คเป็นห่อๆแล้วก็หาบออกไปขาย หลายปีต่อมาก็มาเช่าที่ตรงนี้เปิดร้านตั้งแต่นั้นมา
“คนจีนที่มาอยู่เมืองไทยสมัยก่อน เขามาทำงานเก็บเงิน เก็บหอมรอมริบ กะว่าวันหนึ่งกลับไปอยู่เมืองจีน เหมือนคนต่างจังหวัดที่มาทำงานในกรุงเทพฯ ก็หวังว่าวันหนึ่งจะส่งเงินกลับไปซื้อที่ซื้อทาง วันหนึ่งจะกลับไปอยู่ต่างจังหวัด แต่ปู่ผมมีเงื่อนไขคือเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จีนเป็นคอมมิวนิสต์ ทุกอย่างเข้ารัฐ เราก็กลายเป็นคนอยู่ที่นี่ล่ะ”
ชากึ่งหมัก ‘ลิ้นนกกระจอก’ ถูกเสิร์ฟเคียงคู่กับบทสนทนาและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมากมาย ไล่ตั้งแต่การเคาะโต๊ะด้วยปลายนิ้วเมื่อผู้อาวุโสเทชาให้คนที่อายุน้อยกว่า เพราะเชื่อว่าเมื่อครั้งจักรพรรดิจีนปลอมตัวเป็นสามัญชนและชงชาให้ลูกน้อง ตามธรรมเนียมต้องหมอบกราบคารวะเสียยกใหญ่ แต่เพราะอยู่ท่ามกลางชาวบ้าน พวกเขาจึงเพียงเคาะโต๊ะเบาๆ แทนเพื่อไม่ให้เอิกเกริก หรืออย่างสรรพคุณของชาที่ช่วยล้างไขมันในเส้นเลือด มีคาเฟอีนน้อยกว่ากาแฟ นิยมดื่มหลังอาหาร และยังเป็นเครื่องดื่มถวายเทพเจ้ารูปแบบหนึ่งด้วย
“มีคำกล่าวในภาษาจีนซึ่งแปลเป็นไทยว่า น้ำหนึ่งให้ศัตรูกิน ก็คือน้ำที่ไม่ต้องการ ให้คนที่เราไม่ชอบกิน น้ำ 2 ให้ภรรยากิน แล้วน้ำ 3 เรากินเอง จริงๆ มันได้ถึงน้ำ 4 5 6 ไปเรื่อยๆ แต่รสชาติมันจะเริ่มดรอป กินชามันสนุกตรงนี้ แต่ละน้ำรสชาติชาจะเปลี่ยนแปลง”

05
ในห้องแถวสี่คูหาริมถนนเจริญกรุง เราได้แวะเวียนมาที่ร้านแต้เล่าจิ้นเส็งเบเกอรี่ ร้านขนมขนมเปี๊ยะ ขนมไหว้พระจันทร์ ขนมไหว้เจ้า และขนมตามเทศกาล
กลิ่นหอมของไส้ขนมหลากชนิดและกลิ่นแป้งที่กรุ่นจากเตาใหม่ๆ เชื้อชวนให้เราได้มีโอกาสคุยกับ เสริมชัย ตฤติยศิริ รุ่น 4 ร้านแต้เล่าจิ้นเส็ง สาขาตลาดน้อย ที่ให้ข้อมูลถึงความเปลี่ยนแปลงของชุมชนคนจีนผ่านขนมนานาชนิดที่วางเรียงรายอยู่ในตู้

“ผมเกิดที่เยาวราช โตที่เยาวราชจนปี 1970 ก็ย้ายมาที่นี่ ตอนนั้น 5-6 ขวบ ครอบครัวย้ายมาเปิดโรงงาน เพราะว่าที่เยาวราชโรงงานมันเล็ก ไม่ไหว ช่วงนั้นถนนเจริญกรุงยังมีรถราง ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้านำเข้า ทุกสิ่งทุกอย่างจะนำเข้าหมด นำเข้ามาจากญี่ปุ่น ผลไม้กระป๋อง เห็ดกระป๋อง หรือช็อกโกแลต จนถึงใกล้ๆ 1980 ทุกอย่างเมืองไทยเริ่มทำเองได้”
อดีตสจ๊วตเผยต่อว่า เคล็ดลับความอร่อยของขนมของแต้เล่าจิ้นเส็ง คือหัวใจของคนทำและหัวใจของเจ้าของ แต่แน่นอนว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ขนมบางอย่างก็อาจมีหน้าตาและรสชาติที่เปลี่ยนไปบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ กานต์ ตฤติยศิริ ลูกชายคอยเสริมเติมแต่ง แต่ขนมมงคลดั้งเดิมก็ยังคงมีอยู่เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน
หลังจากโจ้ สุนัขประจำร้านหายคึกและป่วนทุกคน เสริมก็ค่อยๆ เล่าถึงเทศกาลของคนจีนในรอบ 1 ปีที่ขนมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้
“ในช่วงตรุษจีนจะมีวันหนึ่งที่เจ้าที่ขึ้นสวรรค์ไปรายงานเง็กเซียนฮ่องเต้ บอกว่าบ้านหลังนี้เป็นยังไง ไหว้เขายังไง รายงานปุ๊บ เขาก็จะอวยพรให้ หลังตรุษจีน 2-3 วัน เจ้าจะลงจากสวรรค์ แล้วมาดูแลบ้านเรา ส่วนใหญ่เราจะซื้อขนมจันทร์อับไปไหว้เทพ เพราะว่าวัตถุดิบเป็นธัญพืชหมด ตอบแทนพระแม่ธรณี เพราะมีงา ถั่ว ข้าว แล้วก็ฟักเชื่อม รองลงมาก็คือขนมเปี๊ยะ มีหลายขนาด บางคนเขาก็จะซื้อขนาดเล็ก 3 ชิ้น แล้วก็ไปวางในจาน
“เทศกาลตรุษจีนคือเทศกาลรวมญาติ เหมือนกับเทศกาลสงกรานต์ของคนไทย สมมุติว่าลุงมีลูกหลานเยอะ อย่างแรกคือต้องเตรียมเงินซองแดง แต๊ะเอียแจกลูกหลาน อันดับสอง ก็คือกับข้าวต้องเต็มโต๊ะ ที่สำคัญคือต้องมีถาดขนม อาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่เป็นของแห้งหมด อาจจะเป็นก๋วยจี๊เอย เม็ดบัวเชื่อมเอย จะตั้งไว้เป็นออเดิร์ฟก่อนเริ่มรับประทานอาหารกินกัน มีเลี้ยงน้ำชาอะไรกันไป แต่ว่าตรุษจีนสมัยนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เพราะว่าคนจีนรุ่นลุงจะไม่ค่อยอะไรกับเรื่องมากินโต๊ะด้วยกัน มาร่วมแชร์กัน
“เทศกาลต่อไปก็คือเทศกาลไหว้สิงโตน้ำตาลเจดีย์น้ำตาล สามคือเทศกาลไหว้บรรพบุรุษก็คือวันเชงเม้ง ต่อมาก็เริ่มเข้าปลายปี ก็คือเทศกาลสารทจีน เทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลกินเจ กินเจเสร็จก็เป็นเทศกาลแต่งงานคนจีนส่วนใหญ่นิยมแต่งงานตอนปลายปีกับต้นปี การแต่งงานก็จะใช้ขนมหมั้นขันหมาก ปกติใช้หมั้น 2 ห่อ ขันหมาก 2 ห่อ แต่ก่อนเขาจะใช้ตะกร้า แล้วก็มีคนแบกหามไป คนที่แบกเขาก็จะได้เงิน ส่วนใหญ่บ่าวสาวไม่ขาดทุนหรอก มาสั่งขนม 400 บาท เวลาไปแจกญาติผู้ใหญ่ของพ่อแม่ผู้หญิง พอไปแจกพร้อมซองแต่งงาน เขาก็จะเอาใบแต่งงานออกแล้วก็ใส่เงินเข้าไป ขนมแค่ 400 ได้กำไรละ”
“ร้านนี้จะเรียกว่าเป็นร้านขายขนมมงคลดีกว่า ไม่ใช่ขนมเปี๊ยะอย่างเดียว” เสริมสรุป

ภายใต้กระแส Gentrification หรือการทำให้เป็นย่านผู้ดีจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในถิ่นแถบตลาดน้อย ทรงวาด เจริญกรุง เยาวราช (หรือที่อื่นของประเทศ) ไม่เพียงแต่เกิดสิ่งที่เรียกว่า คนเก่าย้ายออก คนใหม่ย้ายเข้า แต่วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมต่างๆ ก็ถูกปรับเปลี่ยนไปด้วย
ทำให้ภาพจากมือถือของนักท่องเที่ยวที่ออกสู่โลก ก็อาจมีเพียงอาภรณ์ด้านนอกของกำแพงที่เคยบรรจุเรื่องราว ประวัติศาสตร์ และรากเหง้าของถิ่นแถบนั้นไว้
สำหรับผมแล้ว หากมีคนมาถามเรื่องความทรงจำเกี่ยวกับตรุษจีน ผมคงไม่สามารถเล่าอะไรที่สนุกๆ เท่ากับคนที่พบเจอตามรายทาง one day trip ข้างต้น มีเพียงเรื่องเล่าเก่าๆ ในสองพารากราฟแรก และเรื่องเล่าใหม่ๆ (สำหรับผม) ในส่วนที่เหลือของบทความ
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีนั้นมีอยู่ไม่น้อย แต่การเปลี่ยนแปลงที่เบียดขับให้คนไร้ความมั่นคงก็มีอยู่ถมไป สิ่งสำคัญคือคนในแต่ละยุคมีสิ่งที่ต้องสู้แตกต่างกัน หน้าที่ของเราอาจเป็นการมีชีวิตอยู่รอดเพื่อถ่ายทอดความทรงจำ ก้อนความคิด และบทเรียนจากวันวานแก่กัน การมีอะไรให้หวนคิดถึงจึงอาจเป็นสิ่งที่ยึดโยงยุคสมัย พื้นที่ และโชคชะตานับล้านของผู้คนเอาไว้ด้วยกัน ในแง่นี้ สิ่งเดียวที่เราสูญเสีย จึงอาจเป็นเพียงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของของเซ่นไหว้บรรพบุรุษก็ได้