กลับสงขลาบ้านเรา ชวนคุยกับคอมมูนิตี้คนรุ่นใหม่ในเมืองเก่า ที่อยากทำให้ 'บ้านเกิด' เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
~“มันต้อง Find out ตัวเองก่อนว่าอยู่ได้จริงหรือเปล่า บางคนด้วยสายอาชีพก็อยู่ไม่ได้จริงๆ ไม่รู้จะล็อกเขาไว้ทำไม ไปเติบโตที่อื่นเถอะ วันหนึ่งถ้าเหนื่อยล้ากับกรุงเทพฯ เดี๋ยวก็กลับมาเอง”
~ในค่ำคืนหนึ่งของย่านเมืองเก่าสงขลา แอม-พิสุทธิ์พักตร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Grandpa Never Drunk Alone สารภาพกับ EQ ว่า ไม่ได้อยากกลับบ้านเกิดมาสานฝันทำบาร์เท่ๆ แต่คล้ายถูกบีบให้กลับบ้านจากพิษสถานการณ์โควิด-19 เสียมากกว่า ทั้งยังเป็นอันอยู่ไม่ได้ในระยะแรก เมื่อเพื่อนเก่าทยอยแต่งงานมีครอบครัว ขณะที่จำต้องห่างเหินจากสังคมในกรุงเทพฯ เพราะมาตรการล็อกดาวน์
~คำแนะนำของแอมจึงค่อนข้างตรงไปตรงมาและโดนใจเราว่า การเชียร์ให้กลับบ้านเกิดอาจไม่เหมาะกับทุกคนนัก เราควรอยากกลับเพราะตกผลึกแล้วว่าที่ไหนคือบ้าน และหากการเดินทางพาเราย้อนมาที่จุดเริ่มต้นอย่างโฮมทาวน์ ก็ถึงเวลาทำให้มันน่าอยู่ขึ้นด้วยสองมือและหลากหลายประสบการณ์ที่เราตุนไว้ผ่านการใช้ชีวิตที่อื่น
~กว่า 3 ปี หลังจากโควิด-19 สร้างความปั่นป่วน ณ ตอนนี้ บ้านสำหรับแอม คือสงขลา สถานที่ที่เธอยังคงอยากทำอะไรใหม่ๆ เสมอด้วยแววตาเป็นประกาย
~ผละออกจากบาร์สักหน่อย ในความเข้าใจทั่วไป สงขลาคือต้นแบบของเมืองที่อาศัยการมีส่วนร่วมของคนท้องถิ่นในการอนุรักษ์และพัฒนาเมือง ดั่งภาพจำของร้านรวงเก่าแก่ คาเฟ่เปิดใหม่ อาร์ตสเปซสุดคูล ร้านหนังสือลุ่มลึก หรือการเป็นเมืองที่สามารถจัดอีเวนต์ได้อย่างสบายๆ
~สิ่งเหล่านี้ล้วนผลิดอกออกผลจากความพยายามของคนสงขลา โดยอาจขีดเส้นได้ตั้งแต่ปี 2556 เมื่อภาคีคนรักเมืองสงขลาจดทะเบียนเป็นสมาคมอนุรักษ์เมืองเก่าระดับสากล หรือ Songkhla Heritage Trust (บวกกับความพยายามก่อนหน้านั้นไม่น้อย)
~สงขลาค่อยๆ เติบโตจากความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน และประชาชน ขณะเดียวกัน กลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งก็กลับมาทำธุรกิจที่บ้านเกิด บ้างเปิดร้าน บ้างจัดกิจกรรม บ้างทำงานศิลปะ ฯลฯ
~เรื่อยมาจนถึงเป็นเจ้าบ้านในอีเวนท์ Pakk Taii Design Week 2024 “เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567” วันที่ 17-25 สิงหาคม 2567 ณ เมืองเก่าสงขลา
~แต่ใครจะเชื่อว่า สงขลาในภาพลักษณ์ ‘Instagrammable’ หรือถ่ายมุมไหนก็ลงไอจีได้ ครั้งหนึ่งซบเซาลงอย่างน่าใจหาย คล้ายอาการ “เกือบหลับ แต่กลับมาได้”
ก่อนเป็นสงขลา ฉบับ 2024
~ย้อนไปราว 400 ปี สงขลาเป็นศูนย์กลางการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เคยมีทั้งผู้ปกครองชาวชวา กระทั่งกษัตริย์เชื้อสายเปอร์เซีย รวมถึงมีการค้าขายกับชาวฮอลันดา ก่อนถูกผนวกเข้ากับกรุงศรีอยุธยา จากนั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 สงขลาได้รับอิทธิพลจากจีนค่อนข้างสูง ทั้งโรงเรียน โรงสี อาคาร ศาลเจ้า และการก่อสร้างสไตล์จีนปรากฏทั่วมุมเมือง โดยมีร่องรอยสถาปัตยกรรมอิสลามและแบบตะวันตกด้วยเช่นกัน
~ทว่าความเจริญรุ่งเรืองของเมืองสงขลากลับค่อยๆ โรยราอย่างช้าๆ เพราะคนเชื้อสายจีนจำนวนมากที่มีฐานะ มีค่านิยมส่งลูกหลานศึกษาต่อที่ต่างประเทศหรือกรุงเทพฯ เมื่อคนเหล่านั้นเรียนจบ ก็หางานทำในที่ไกลบ้านต่อไป ประกอบกับสถานีรถไฟหาดใหญ่ ถือกำเนิดขึ้นในปี 2467 ศูนย์กลางการค้าจึงย้ายจากเมืองสงขลาไปที่หาดใหญ่ เมืองสงขลาจึงแปรเปลี่ยนสภาพจากฮับเศรษฐกิจ เป็นเมืองที่เน้นการทำประมงซึ่งต้องใช้รถบรรทุกลำเลียงสินค้าเข้าออกสงขลา ประชากรแฝงและผู้ใช้แรงงานจึงเพิ่มขึ้น ขณะที่คนสงขลาส่วนใหญ่ย้ายไปหาโอกาสใหม่ๆ ในหาดใหญ่
~อาคารดั้งเดิมจึงเสื่อมโทรม เมืองไร้ผู้คน บรรยากาศขาดชีวิตชีวา
~แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะปล่อยให้ความรุ่งเรืองในอดีตหลงเหลือเพียงในความทรงจำ หรือพยายามทำให้สงขลากลับไปเป็นเมืองที่เป็นชุมทางทางเศรษฐกิจอีกครั้ง พวกเขาเลือกผสมผสานวัตถุดิบที่มีอยู่ ปรุงเข้ากับยุคสมัยใหม่อย่างกลมกล่อม ทำให้สงขลาเป็นพื้นที่ให้ศิลปินคนรุ่นใหม่ได้ทดลองฝีมือ แลกเปลี่ยน พูดคุย และต่อลมหายใจให้เมือง
~ณ เมืองเก่าสงขลา เราชวนเดินสำรวจ 5 คอมมิวนิตีที่จัดวางตัวเองอย่างอ้อยอิ่งงดงาม หลายคนคือผู้ประกอบการที่เป็นคนสงขลา ทำงานต่างถิ่น ก่อนย้ายกลับมาที่บ้านเกิด ซึ่งพื้นที่ที่พวกเขาสร้าง อาจพร้อมส่งต่อความสร้างสรรค์และบทสนทนาเกี่ยวกับเมืองสงขลาต่อไป
a.e.y.space
~เริ่มจากถนนนางงาม อาคารปูนขาว 2 คูหา โครงสร้างรับหลังคาเป็นไม้ มีช่องลมฉลุที่ชั้นล่าง มีคิ้วปูนงอกออกมาเล็กน้อยเหนือหน้าต่าง สิ่งเหล่านี้สะท้อนสถาปัตยกรรมยุโรป และเป็นที่ตั้งของ a.e.y.space
~ในอดีต ตึกแถวนี้เป็นร้าน ‘หน่ำเด่า’ ภัตตาคารอาหารฝรั่งของชาวจีน ก่อนที่ เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล จะแปลงโฉมเป็นอาร์ตสเปซของชุมชน
~“เราว่าความเก่าที่มันใหม่เป็นสิ่งที่เจ๋ง เหมือนว่าเราสามารถหยิบจับสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่ามันจะดี ไม่ดี เชย เฉิ่ม เก่า เอามา adapt หรือ adjust ใหม่ ให้เป็นรูปแบบใหม่ อาจจะเป็นตึกรามบ้านช่อง หรือแม้แต่ทักษะเก่า งานศิลปะเก่า มันเป็น asset สำหรับคนท้องถิ่นมากๆ ซึ่งจะทำให้ความเก่ากลับมางอกงามได้อีกครั้ง”
~เอ๋บอกกับ EQ ว่า เขาเกิดและเติบโตในสงขลา เรียนที่กรุงเทพฯ ศึกษาต่อที่นิวยอร์ก เมื่อเรียนจบ เขาย้อนกลับมาจับตำแหน่ง Art Director ในเมืองกรุง ก่อนจะกลับสงขลาเพื่อช่วยธุรกิจครอบครัว จากนั้นจึงผันตัวทำธุรกิจโรงพิมพ์และสื่อโฆษณาของตัวเอง และทำ a.e.y.space ในที่สุด
~“บางทีศิลปะเหล่านั้นมันอยู่ใกล้ตัว จนเราไม่รู้สึกว่ามันมีค่า”
~ประสบการณ์การอาศัยอยู่ในเมืองไซส์เล็ก กลาง ใหญ่ ค่อยๆ ทำให้เขารู้สึกว่าตนเป็นคนตัวเล็กคนหนึ่ง และค่อยๆ ถักทอตัวตนให้แข็งแรงเรื่อยมา เขามองบ้านเกิดในมุมใหม่ด้วยช่วงวัยที่เปลี่ยนไป เขาพบว่าสถาปัตยกรรมในเมืองสงขลาคือสิ่งที่มีเสน่ห์ และเริ่มตั้งคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากนำศิลปะมาจัดแสดงที่เมืองเงียบๆ อย่างสงขลาในกว่าสิบปีก่อน
~แต่ที่สำคัญ การมองเห็นโอกาสใหม่ๆ ยังมาจากแรงซัพพอร์ตจากคนรอบข้าง ซึ่งเอ๋ได้รับเมื่อกลับมาโฮมทาวน์
~“คิดว่าถ้าอยู่กรุงเทพฯ ก็อาจไม่ได้ทำอะไรแบบนี้ เพราะเมืองค่อนข้างใหญ่และตัวเราเล็กมาก พอเราอยู่ที่นี่ ไม่ใช่ว่าตัวเราใหญ่จนคับนะ แต่เรารู้สึกว่า เราเห็นโอกาสเต็มไปหมด”
~ความตั้งใจของเอ๋คือ การทำให้ a.e.y.space เป็นพื้นที่ตรงกลางเพื่อส่งเสริมงานศิลปะให้เข้าสู่ชุมชน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น 5 จาก 11 กิจกรรม WORKSHOP FESTIVAL #2 ของงาน Pakk Taii Design Week 2024 ล้วนจัดขึ้นใน a.e.y.space เช่น MOSSIATA จัดสวนในขวดแก้วหรือสวนถาด, FAKE FLORIST ประดิษฐ์ดอกไม้โดยเทคนิค deconstruction หรือ LIFEWITHNATUREFLOWER สร้างสรรค์สร้อยและกิ๊บหนีบผมด้วยเทคนิคเรซิน UV
~ความโปร่งโล่งและมีช่องแสงเพียงพอ ทำให้บริเวณชั้นหนึ่งมักเป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะและงานกิจกรรมที่มี ‘ชุมชน’ เป็นพระเอกหลัก เช่น การจัดเวิร์กชอปสเก็ตช์ภาพให้เด็กมัธยมต้นในสงขลา โดย Bangkok Sketcher และ Urban Sketching หรือการจัดนิทรรศการ ‘LUNATIQUE’ ผลงานจากศิลปินยุคใหม่ที่ตั้งคำถามต่อการมีอยู่และไม่มีอยู่ ผ่านศิลปะการจัดวางและภาพถ่ายอีโรติก หรือเพียงจัดฉายภาพยนตร์ก็ยังทำได้
~ส่วนบริเวณชั้นสองถูกจัดเป็นที่พำนักของศิลปิน (Artist in Residence) และสามารถเป็นสตูดิโอขนาดย่อมได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินได้พำนัก ผลิตผลงาน และใช้ชีวิตในเมืองสงขลา ซึ่งแน่นอนว่าสามารถจัดแสดงงานที่ชั้นล่างได้
~จากการเดินทางหวนกลับมาคล้ายบูมเมอแรง ทำให้เอ๋และ a.e.y.space กลายเป็นฟันเฟืองหนึ่งของเมืองเก่าสงขลา ที่ค่อยๆ ขับเคลื่อนคอมมิวนิตีศิลปะ เพิ่มทางเลือกกิจกรรมของคนในพื้นที่ และส่งต่อไวบ์เหล่านี้กระจายไปทั่วสงขลาและจังหวัดอื่นในภูมิภาค
ที่ตั้ง : 140-142 ถ.นางงาม อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา 90000
IG : @aeyspace
Website : aeyspace.com
Grandpa Never Drunk Alone
~เขยิบออกมาจากวงการศิลปะ ใกล้กับประตูเมืองเก่าสงขลา ริมถนนนครใน บาร์ ‘Grandpa Never Drunk Alone’ เชื้อเชิญสายดื่มตั้งแต่ยามบ่าย
~ห้องสี่เหลี่ยมกับแสงไฟเรื่อแดงผสานแสงธรรมชาติภายนอก บาร์มีสภาพเป็นร้านกาแฟ 5 เมนู อันได้แก่ ลาเต้ อเมริกาโน่ มัทฉะลาเต้ อัฟโฟกาโต้ และคราฟต์โคล่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะผลจากการล็อกดาวน์ปิดผับบาร์ในช่วงโควิด-19 จึงเพิ่มช่องทางหารายได้จากการขายกาแฟนับแต่นั้น
~ดังนั้นหากมาในช่วง 6 โมงเย็น เราอาจได้กาแฟ แอลกอฮอล์ หรือแผ่นป้ายหน้าร้านที่บอกว่า “ไปเซิร์ฟ เดี๋ยวมานะ” เพราะถัดออกไปไม่ไกล หาดชลาทัศน์ เป็นอีกสถานที่เย้ายวนสำหรับชาวเซิร์ฟ เราอาจโต้คลื่นในทะเล ไถสกิมบอร์ดบนหาด หรือเซิ้งกับแผ่นเซิร์ฟสเก็ตบนพื้นคอนกรีตริมหาดก็ได้
~หากไม่ใช่ทาง เราอาจขับมอเตอร์ไซค์เล่นรอบเมืองสงขลา ขี่รถวนรอบเกาะยอ นั่งพักให้หายเหนื่อยที่จุดชมวิวเขาเก้าเส้ง แล้วจึงมานั่งคุยกับบาร์เทนเดอร์ก็ได้
~Grandpa Never Drunk Alone ถูกปลุกปั้นจาก ออม-พิชชาภา และ แอม-พิสุทธิ์พักตร์ ที่กลับสงขลาบ้านเกิด เริ่มทำร้านจากคอนเซ็ปต์ที่ว่า “เพราะชอบกินเหล้ากับปู่”
~แอมเล่าให้ EQ ฟังว่า ความตั้งใจแรก คือการมาช่วยน้องสาวตกแต่งร้านและทำเมนู จากนั้นจะกลับทำงานต่อที่กรุงเทพฯ ทว่ามาตรการล็อกดาวน์ทำให้การเดินทางเป็นอัมพาต ประกอบกับสงขลามีแต่ร้านเหล้าซึ่งไม่ถูกจริตและไม่เป็นมิตรกับสายอโลนมากนัก เธอจึงตัดสินใจหอบไลฟ์สไตล์จากชีวิตก่อนหน้า มาไว้ที่ Grandpa ซะเลย
~“เราคิดว่าเราทำเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้ ไลฟ์สไตล์เราเป็นแบบนี้ เราก็จะทำแบบนี้ มันเป็นความชอบเรา แล้วจะดึงดูดคนที่เหมือนกันมาเอง เหมือนป้าขายข้าวแกงที่อยู่ได้เพราะว่ามีคนชอบรสชาติของป้า ถ้าเราบอกว่าอยากกินแบบคนกรุงเทพฯ ป้าเปลี่ยนเถอะ มันก็ไม่ใช่”
~ก่อนหน้าร้าน Grandpa แอมเคยเปิดบาร์ที่หัวหินและเริ่มทำซีนหนังอาร์ตและดนตรี แต่พบว่าไม่เวิร์ค ซึ่งต่างจากสงขลาที่ทุกคนทำด้วยใจ ซัพพอร์ตกันเองได้
~“มันต้อง Find out ตัวเองก่อนว่าอยู่ได้จริงหรือเปล่า บางคนด้วยสายอาชีพก็อยู่ไม่ได้จริงๆ ไม่รู้จะล็อคเขาไว้ทำไม ไปเติบโตที่อื่นเถอะ วันหนึ่งถ้าเหนื่อยล้ากับกรุงเทพฯ เดี๋ยวก็กลับมาเอง เหมือนพี่เอ๋ (แห่ง a.e.y.space) ที่พอเหนื่อยล้า เขาก็กลับมาเอง”
~ระหว่างบทสนทนาในค่ำคืน แอมชี้ไม้ชี้มือพร้อมให้ข้อมูลว่า โซนที่ตั้งของร้านเคยเป็นย่านโคมแดง ซอยด้านข้างเคยเป็นซ่อง เพื่อรองรับชาวประมงที่ขึ้นฝั่ง และในหลายปีถัดมา เธอนิยามเหล่าผู้คนที่แวะเวียนมาในร้านนี้ว่า “เหมือนร้านคนเหงา เพราะมีคำว่า Alone อยู่ ก็เลยดึงดูดคนเหงา (หัวเราะ)”
~ขณะที่ ‘ชาวปู่’ (คำใช้เรียกลูกค้าของร้าน) มากมายกำลังเม้าท์เมืองอย่างเมามัน แอมเผยว่า ในอนาคตอยากทำ Beach Club ที่รวบรวมกีฬาริมหาดเอาไว้ หากเกิดขึ้นจริง เธอเชื่อว่าไวบ์ร้านอาหารริมทะเลจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งบรรยากาศ การบริการ การตกแต่ง และความสะอาด
~“จะทำให้เห็นว่าห้องน้ำที่ดีสำหรับการอยู่ริมทะเลมันเป็นยังไง มีที่ล้างตัว มีที่ฝากกระเป๋า มีที่ฝากอุปกรณ์กีฬา เราคือเมืองทะเลนะเว้ย”
~ความเด็ดอีกอย่างคือข้อความเล็กๆ ใต้ป้ายชื่อร้าน ความว่า “My friend are getting married, I’m getting drunk” คอนทราสต์กับความอ้อยอิ่งเงียบสงบของเมืองสงขลาเป็นอย่างดี แม้อาจเพื่อปลอบตัวเอง แต่ก็เป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่า ชาวสงขลาหรือชาวปู่ต่างถิ่น ไม่จำเป็นต้องเดินตามบรรทัดฐานที่สังคมขีดไว้ และย่านเมืองเก่าไม่ได้มีเพียงร้านรวงยามกลางวันให้เช็คอินเท่านั้น
~ระหว่างจิบค็อกเทล มือโอบแก้ว และสมองคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ แวบหนึ่งเราอาจตะกอนได้ว่า สงขลาคล้ายภาพสะท้อนของวัยเด็กในช่วงอายุที่ล่วงเลยวัยรุ่น เป็นชีวิตที่ผ่านการรีโนเวท การเดินทางในต่างถิ่น เพียงเพื่อกลับมาที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง
~ในแก้วเหล้า แถวบ้านหลังเก่า เราอาจพบว่าตัวตนของเราถูกสร้างไว้เสร็จสรรพตั้งแต่วัยเยาว์
Grandpa Never Drunk Alone เปิดทุกวัน 18.00-24.00 น.
ที่ตั้ง : 263 ถ.นครใน ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา 90000
ยับ เอี่ยน ฉ่อย
~มีเมือง ย่อมต้องมีห้องสมุด
~‘ยับ เอี่ยน ฉ่อย’ ถือเป็นห้องสมุดแห่งแรกในโครงการห้องสมุดประจำเมือง ดำเนินงานสนับสนุนโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มูลนิธิวิชาหนังสือ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ และชาวสงขลา
~ในปี 2019 เกล้ามาศ ยิบอินซอย เจ้าของโกดังข้าวเก่าบนถนนนครนอก ยกพื้นที่ให้โครงการพัฒนาระบบหนังสือต้นแบบ ก่อนในปี 2022 โกดังข้าวในสมัยรัชกาลที่ 7 จะเปลี่ยนโฉมเป็นห้องสมุดยับ เอี่ยน ฉ่อย
~เชื่อว่าสิ่งที่เตะตาย่อมเป็นเสาหนังสือกลางอาคาร ที่ตั้งเป็นเกลียววงกลมล้อมเสา เว้นช่องไฟเป็นลายตารางหมากรุก สิ่งนี้คือจุดเด่นของผู้พบเห็นภายนอก แต่เสาหนังสือยังช่วยเสริมความแข็งแรงให้เสาอาคารที่เป็นจุดเดินชนกระแทกได้ง่ายและมีความอ่อนไหว เพราะเดิมที ห้องสมุดแห่งนี้เป็นโกดังรับฝากข้าวสารเพื่อส่งขายต่อในที่ต่างๆ จึงมีร่องรอยตะไคร่น้ำตามผนังและต้องทะนุถนอมเป็นพิเศษตามฉบับอาคารอนุรักษ์
~ห้องสมุดแตกต่างจากร้านหนังสือในแง่ที่ว่า ห้องสมุดเก็บข้อมูลลายลักษณ์อักษรและหลักฐานที่ผ่านการรับรอง ให้ข้อมูลเมืองสงขลาอย่างครบถ้วนกระบวนความ เป็นแหล่งอ้างอิงทำวิจัย และมีบรรณารักษ์คอยให้คำแนะนำ (แต่ก็มีหนังสือในหมวดนวนิยาย-ความเรียงด้วยนะ) นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสงขลาแก่ชุมชน ชาวบ้าน ภาคธุรกิจ หรือนักท่องเที่ยวได้อย่างครบถ้วน
~เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่บนถนนนครนอก พื้นที่ด้านหลังของยับ เอี่ยน ฉ่อย จึงเป็นพื้นที่โล่งติดทะเลสาบสงขลา มีเรือนไม้แยกออกจากตัวอาคาร สามารถอ่านหนังสือ ถ่ายรูป และเป็นสถานที่ทำกิจกรรมได้หลายรูปแบบ ยับ เอี่ยน ฉ่อย จึงมีเสน่ห์ทั่งในแง่ฟังก์ชันการใช้งาน สถาปัตยกรรม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และคงจะดีไม่น้อย หากทุกชุมชนมีห้องสมุดเป็นของตัวเอง
ยับ เอี่ยน ฉ่อย เปิดทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น. (ปิดวันจันทร์-อังคาร)
ที่ตั้ง : 213, 215 ถ.นครนอก ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา 90000
FB : facebook.com/YipInTsoiLibrary/
Nusantara Songkhla
~“สงขลามีแกลอรี่แล้ว มีห้องสมุดแล้ว มีงานกราฟิกดีไซน์แล้ว เราคนนึงที่รู้จักดนตรี เราก็เลยทำเรื่องเกี่ยวกับดนตรีผ่านการทำร้านแผ่นเสียง”
~ปฏิเสธไม่ได้ว่า อีกหนึ่งคอมมิวนิตีที่ทำให้เมืองรื่นรมย์มากขึ้นคือ ‘เสียงเพลง’ ซึ่งความตั้งใจข้างต้นของ ปอ-ไพโรฒ ดำคง ผสมผสานกับความหลงใหลในเสียงเพลงของ ยูโกะ-Yugo Tham เป็นที่มาของ ‘Nusantara Songkhla’ ร้านขายแผ่นเสียง ร้านชา และคาเฟ่บนถนนนครใน
~นอกจากนี้ Nusantara ยังเป็นร้านฝาแฝดกับ 22 Nakhonnok Listening Bar บนถนนนครนอก ที่มีเจ้าของเดียวกัน แต่เปิดต่างช่วงเวลากัน Nusantara จะครองโสตประสาทของคุณในช่วงกลางวัน ส่วน 22 Nakhonnok จะโอบกอดคุณในยามค่ำคืน
~Nusantara หรือ นูซันตารา มาจากภาษาชวา เป็นคำที่ประกอบจากคำว่า “นูซา” หมายถึง หมู่เกาะ ส่วน “อันตารา” หมายถึง รอบนอก เมื่อรวมกันจึงแปลว่า หมู่เกาะรอบนอก สื่อถึงหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซีย และดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้อาณาจักรโบราณมัชปาหิต
~ขณะที่ตำแหน่งของสงขลาติดกับสามจังหวัดชายแดนใต้และได้รับอิทธิพลจากมลายูไม่น้อย Nusantara จึงไม่ได้มีกลุ่มลูกค้าเพียงคนไทยเท่านั้น แต่กลับมีลูกค้าต่างชาติมากมาย โดยเฉพาะบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างชาวมาเลเซีย
~“ที่นี่ค่อนข้างโชคดีด้วยที่ใกล้กับมาเลเซีย แล้วคนมาเลฟังแผ่นเสียงเยอะกว่าคนไทย เพราะเขาฟังเพลงฝรั่งอยู่แล้ว เรามีลูกค้าจากฝั่งมาเลเซียเยอะ มาจากปีนัง มาจากเคดาห์ หรือเมืองอื่นในละแวกที่ไม่ได้ไกลจากที่นี่”
~นอกจากแผ่นเสียงเพลงต่างชาติที่ขายได้แล้ว ปอบอกกับ EQ ว่า สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ คนมาเลเขาก็ฟังเพลงไทยเหมือนกัน
~“มีคนมาซื้อเพลงไทยด้วยนะ แล้วเป็นเพลงไทยใหม่ๆ หมายความว่าเพลงไทยใหม่ๆ เป็นที่รู้จักในมาเลเซีย ถ้าเกิดเขาจะซื้อของอย่างแผ่นเสียงไทย แต่ก่อนอาจต้องไปกรุงเทพฯ แต่ตอนนี้เขาสามารถขับรถมาหาดใหญ่ มาสงขลา เพื่อซื้อเพลงพวกนี้ได้เลย”
~แสงไฟอ่อนเหลืองละเลียดไปกับเฟอร์นิเจอร์ไม้วินเทจสีน้ำตาล ช่วยทำให้การเลือกหยิบ เลือกเสพ และคัดสรรแผ่นเสียงสักแผ่น ย่อมมีความรู้สึกแตกต่างจากการหยิบของใส่ตะกร้าร้านค้าออนไลน์ พื้นที่ออฟไลน์ยังทำหน้าที่นำคนรักแผ่นเสียงมาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน และการมีเมนูเครื่องดื่มก็กระตุ้นให้คนเข้าร้าน โดยไม่ต้องรับแรงกดดันว่า ต้องสอยแผ่นเสียงติดไม้ติดมือกลับไป ซึ่งท้ายสุดย่อมนำบรรยากาศดีๆ มาสู่ชุมชน
~ในมุมของคนพื้นที่ที่กลับมาทำธุรกิจที่บ้านเกิด ปอชี้ว่าการทำงานด้วยใจจะทำให้ความเป็นเมืองและความเป็นชุมชนน่าอยู่ขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
~“มันไม่มีธุรกิจ เราทำ (ร้านแผ่นเสียง) เพราะเราชอบ แค่อยากจะทำ แค่อยากให้สงขลาเป็นอย่างที่เราคิด แค่อยากให้เพื่อนที่อยู่กรุงเทพฯ มาเที่ยวที่นี่แล้วรู้สึกว่ามันดี มันสนุก มันมีอย่างนี้ด้วยนะ คนจากญี่ปุ่น หรือเพื่อนจากอังกฤษที่มาเที่ยวจะได้เห็นสิ่งใหม่ นอกจากบ้านเก่า ก๋วยเตี๋ยวอร่อยแล้ว มันยังมีควาร่วมสมัยที่อยู่กับเมืองได้”
~“Do something that you know, I mean knowledge and passionate about it. Not only business” ยูโกะกล่าวเสริม
~ปัจจุบัน Nusantara มีแผ่นเสียงไล่ตั้งแต่ยุค 60-80 มีหลากสไตล์ ทั้งแจ๊ส ป๊อบ ร็อค กระทั่งเวิลด์มิวสิค ราคาตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักพัน และมีแพลนจะขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับแผ่นเสียงอย่างครบวงจร
~“ในอนาคต ถ้าคัลเจอร์นี้มันเพิ่มมากขึ้น เราอาจจะมีงาน Festival ดีๆ มีงานดนตรีดีๆ มาก็ได้” ปอทิ้งท้าย
Nusantara Songkhla เปิดบริการทุกวัน เวลา 12.00-20.00 น. (ปิดทุกวันอังคาร)
22 Nakhonnok Listening Bar เปิดทุกวันพฤหัสบดี-อาทิตย์ เวลา 18.00-24.00 น.
ที่ตั้ง : 261 ถ.นครใน ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา 90000
FB : facebook.com/people/Nusantara-Songkhla
IG : @nusatara.ska
dot.b
~ความเจ๋งของร้านหนังสือในตึกทรงชิโน-ยูโรเปียน อายุ 80 ปี บนถนนนครใน คือเปิดเที่ยงวัน ปิดเที่ยงคืน และเพียงแสดงบัตรนักเรียน-นักศึกษา ก็รับส่วนลดหนังสือไปเลย 10%
~แม้ร้านหนังสือไม่ได้มอบผลกำไรอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในปัจจุบัน แต่กลับทำให้เมืองมีความเป็นเมืองมากขึ้นอย่างยากจะปฏิเสธ
~dot.b ชั้น 1 เรียกได้ว่าเป็นร้านหนังสือเต็มตัว ขณะที่ชั้น 2 มีเก้าอี้และโต๊ะถูกจัดวางสำหรับนักอ่าน รวมถึงเป็นพื้นที่เล่นบอร์ดเกม แหล่งซ่องสุมสนทนาของวัยรุ่นในพื้นที่ และเป็น space สำหรับจัดอีเวนต์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
~dot.b ก่อตั้งโดย โก้-ธีระพล วานิชชัง คนสงขลาที่ร่ำเรียนในหาดใหญ่ ทำงานในกรุงเทพฯ และกลับมาเปิดร้านกาแฟ dot ที่หาดใหญ่ เมื่อตึกใกล้หมดสัญญาเช่า เขาจึงตัดสินใจมองหาทำเลใหม่ในเมืองสงขลา ก่อนได้ตึกของเพื่อนแม่ในราคาเช่าที่ไม่แพงนัก เปิดร้านกาแฟ dot บนถนนนครนอก โดยหลังร้านกาแฟมีพื้นที่เชื่อมกับตึกอีกแห่งซึ่งทะลุออกถนนนครใน และที่แห่งนั้น โก้ตัดสินใจเปิดเป็นร้านหนังสือเมื่อต้นปี 2023
~“ตั้งแต่ทำร้านกาแฟที่หาดใหญ่ เราเอาทุกอย่างที่ชอบมารวมกันในที่เดียว แต่ที่เลือกเปิดร้านกาแฟก่อน เพราะมันเข้าถึงง่ายกว่า ส่วนการกระโดดไปเปิดร้านหนังสือโดยไม่มีความรู้ ไม่มีคอนเนคชั่น มันก็ค่อนข้างยาก”
~ท่ามกลางงานวรรณกรรม งานแปล งานเขียนเชิงสังคม ประวัติศาสตร์ และการเมือง ตั้งตระหง่านเรียงรายบนชั้นว่าง โก้เล่าต่อว่า เป็นเวลาประจวบเหมาะพอดี เพราะร้าน dot.b ถือว่ากำเนิดจากความช่วยเหลือของ เอ๋-อริยา ไพฑูรย์ เจ้าของร้านหนังสือ “ร้านหนังสือเล็กๆ” ที่ย้ายถิ่นฐานจากสงขลาไปยังเชียงใหม่ เอ๋มอบหนังสือล็อตใหญ่และคำแนะนำต่างๆ สงขลาจึงยังคงมีร้านหนังสืออิสระจนถึงปัจจุบัน
~“เราตั้งร้านชื่อ Dot (.) ก็คือตั้งใจให้มันเป็น ‘จุด’ เพื่อให้คนที่เข้ามาใช้สามารถต่อยอดได้”
~โก้ชี้ว่าการทำ Third Place หรือพื้นที่อิสระให้คนผ่อนคลายเป็นความตั้งใจที่มีเสมอมาตั้งแต่การทำร้านกาแฟครั้งแรกที่หาดใหญ่ และแน่นอนว่า dot.b ในปัจจุบันตอบความตั้งใจนั้นได้อย่างดี
~“อยากสร้างสเปซที่เปิดโอกาสให้ทุกคน อย่างเมื่อก่อนไม่มีร้านบอร์ดเกมในเมือง ไม่มีร้านหนังสือในเมือง เราเชื่อว่าสิ่งพวกนี้มันสร้างคุณค่าให้กับเมืองได้ นั่นคือสิ่งที่ทำอยู่ แค่ร้านเปิดไปเรื่อยๆ ก็ทำให้เมืองมีชีวิตแล้ว ถ้าร้านแบบนี้อยู่ได้ แสดงว่าเมืองมันมีอะไร”
~เขาย้ำอีกครั้งว่า “ไม่รู้ว่าเป็น mission ใหญ่โตรึเปล่า เพราะพวกนี้ไม่เห็นผลใน 1-2 ปี และร้านหนังสืออาจต้องใช้เวลา 5-6 ปี ถึงจะรู้ว่าการที่คนเข้าร้านวันนี้ จะมีผลกับเขายังไงใน 10 ปีข้างหน้า”
~อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าชื่นใจคือ กลุ่มลูกค้าหลักของ dot.b เป็นนักเรียน-นักศึกษา ไวบ์เหล่านี้บอกกลายๆ ได้ว่า สงขลายังคงเป็นเมืองที่อบอุ่นและเป็นมิตรกับคนรุ่นใหม่ รวมถึงมีการเติบโตที่น่าสนใจทีเดียว
ร้าน dot.b เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.00-24.00 น. เสาร์-อาทิตย์ 10.00-24.00 น.
ที่ตั้ง : 115 ถ.นครใน อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา 90000
FB : facebook.com/dot.b.bookstore
IG : @dot.b.bookstore
อ้างอิง
- Heritage Trust กับการพัฒนาย่านเมืองเก่าสงขลา
- readthecloud.co
- cont-reading.com
- readthecloud.co
- adaymagazine.com
- facebook.com/adaymagazine
- thepeople.co