‘เบิร์ด—ธงไชย แมคอินไตย์’ ศิลปินที่ ‘ส่ง.ความ.สุข’ ให้โบยบินอยู่ในใจคนไทยกว่า 30 ปี
ตื่อ ดือ ดึ๊ด ตึ๊ด ตือ ดื้อ ดือ ดื้อ ดื่อออ~ เสียงดนตรีที่ลอยมาพร้อมวันสิ้นปี ใครอ่านออกเสียงแล้วยังไม่รู้ว่าเพลงอะไร เราจะขอใบ้ๆ ว่าอมตะพอกับ ‘All I Want for Christmas’ ของ Mariah Carey นั่นแหละ ทางตะวันตกมีเพลงของแม่ ทางบ้านเราก็มีเพลงของ ‘พี่’
ใช่แล้ว มันคือเพลง ‘สวัสดีปีใหม่’ ของ ‘เบิร์ด—ธงไชย แมคอินไตย์’ พี่ชายศิลปินเจ้าของเพลงสวัสดีปีใหม่ ที่สยายปีก โลดแล่นอยู่บนท้องฟ้า เป็นมวลความสุข เป็นก้อนกำลังใจ สร้างสรรค์ทั้งงานเพลง งานแสดง และงานเอนเตอร์เทนชาวไทยอีกสารพัดมาอย่างยาวนานกว่า 38 ปี
“ชีวิตพี่เป็นเหมือนหนังสือเล่มหนึ่ง มีหลายย่อหน้า หลายวรรค หลายตอน หลายคำนำ หลายสรุป อยู่ที่ว่าใครอยากเปิดอ่านหน้าไหนมากกว่า” (บทสัมภาษณ์จากรายการสัญญามหาชน ปี พ.ศ. 2542)
จะปีใหม่แล้ว ก่อนจะข้ามไปปีที่ 39 ในวงการบันเทิงของพี่เบิร์ด เราอยากชวนทุกคนมาเปิดอ่านเส้นทางชีวิต จากลูกนกในรังเล็กๆ ที่สลัมบางแค สู่การเป็นนกที่บินถลาอย่างสง่างามของ ‘พี่เบิร์ด’ ของพวกเราไปด้วยกัน
บทที่ 1: ฟูมฟัก
ก่อนจะมาเป็น ‘เบิร์ด ธงไชย’ ที่กางปีกอย่างสง่างาม นกตัวนี้ถูกฟูมฟักมาอย่างดีในรังเล็กๆ ย่านสลัมบางแค เขากระเทาะเปลือกไข่ออกมาเจอโลกกว้างวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2501 มีชื่อภาษาอังกฤษว่า "อัลเบิร์ต แมคอินไตย์" (Albert McIntyre) เขาเติบโตในครอบครัวใหญ่ที่มีพี่น้อง 10 คน เขาเป็นน้องเล็กลำดับที่ 9 ของบ้านที่มีรายได้หลักมาจากการทำดิกชันนารีขาย เงินหมุนเวียนก้นครัวไม่ได้มากมาย บรรดาพี่น้องทั้งหลายจึงต้องช่วยงานคุณพ่อคุณแม่กันอย่างขยันขันแข็ง ทั้งพับถุง เก็บกระป๋องนมขาย และอีกสารพัดอย่างที่ลูกนกเล็กๆ สามารถช่วยก่อร่างสร้างรังได้
แต่เกิดมาเป็น ‘เบิร์ด’ ทั้งที มันก็ต้องมีสปิริตอยากร้องกันบ้าง พี่เบิร์ดในวัยเด็กจึงชอบร้องเพลง เล่นดนตรี ชวนพี่ๆ น้องๆ มาล้อมวงเล่นกีต้าร์ ฟอร์มวงเล็กๆ ชื่อ ‘มองดูเลี่ยน’ กับพี่น้องอีก 7 คนเพื่อเพิ่มความสำราญให้ชีวิตในซอยคับแคบ
“ตอนนั้นไม่ได้มีความคิดว่าจะเป็นนักร้อง จะโด่งจะดังอะไรเลย คิดแต่จะเป็นความสุขให้คนในบ้าน”
(บทสัมภาษณ์รายการป๋าเต็ดทอล์ค วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2565)
แม้วงมองดูเลี่ยนจะเป็นวงที่ฟอร์มเล่นๆ กันเองในครอบครัว แต่พี่เบิร์ดก็มีโอกาสได้ไปประกวดร้องเพลงตามงานต่างๆ ได้โชว์งานแสดงของโรงเรียนอยู่เป็นประจำ ด้วยการถูกฟูมฟักมาในบ้านสายเอนเตอร์เทนเนอร์ ทำให้การสร้างความสุขให้ผู้อื่นอยู่ในสารบบร่างกายของนกน้อยตัวนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร

จนเมื่อพี่เบิร์ดเติบโตเป็นหนุ่มเต็มวัย เข้าเรียนที่วิทยาลัยพาณิชยการธนบุรี เขายังคงเป็นนักร้องนำของวงประจำวิทยาลัย เวทีน้อยๆ ในวิทยาลัยคือจุดสปาร์คจอยเล็กๆ ในการเป็นศิลปินของเขา หลังจากนั้นไม่นานเขาก็เข้าสู่โลกทุนนิยมแบบเต็มตัว โดยเริ่มจากการเป็น ‘พนักงานธนาคาร’ ที่แผนกต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทย สาขาท่าพระ ระหว่างนั้นพี่เบิร์ดก็ไม่ได้ทิ้งแพชชั่นเรื่องการร้องเพลงและการแสดง เขายังรับจ็อบเสริม ถ่ายแบบ ร้องเพลง ถ่ายงานโฆษณา
“ตอนพี่ทำงานธนาคาร นิสัยสันดานไม่ได้ต่างกับตอนนี้เลย พี่ชอบร้องเพลง พี่เป็นตัวภูมิใจของผู้จัดการและพี่ๆ น้องๆ พนักงานที่นั่น ลูกค้านี่พี่ไปเอนเตอร์เทนเขาหมด”
(บทสัมภาษณ์จากรายการสัญญามหาชน ปี พ.ศ. 2542)
แต่เมื่อพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า พี่แกก็ไปรับจ็อบเป็น door man ให้กับดิสโก้เทค ‘ฟามิงโก’ ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ทำให้ได้เจอกับแมวมองตาไวอย่าง ไก่—วรายุฑ มิลินทจินดา ผู้จัดละครที่มาชักชวนให้พี่เบิร์ดออกจากรัง ส่งเขาให้โบยบินสู่โลกวงการบันเทิงไทยด้วยการเดบิวต์เป็นนักแสดงในละครเรื่อง ‘น้ำตาลไหม้’ เมื่อปี พ.ศ. 2526
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้บทบาทใหม่ และความมุมานะในการฝึกซ้อมการแสดง พี่เบิร์ดได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลผู้แสดงสมทบชายยอดเยี่ยมรางวัลเมขลา ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมือง โลกแห่งความฝันของนกตัวน้องกลายเป็นจริงขึ้นมาแล้ว
แต่เขายังมีอีกหมุดหมายที่ต้องไป นั่นก็คือ ‘การเป็นนักร้อง’ เขาจึงเข้าประกวดร้องเพลงเวทีสยามกลการในปี พ.ศ. 2527 และได้รับรางวัลถึง 3 รางวัล โดยหนึ่งในที่ส่งให้เขาชนะการประกวดคือเพลง ‘ชีวิตละคร’ ที่สร้างเส้นทางการเป็นนักร้องในชีวิตจริงให้เขาตั้งแต่วันนั้น ทำให้เขาออกจากงานประจำ และมาทำหน้าที่สร้างความสุขแบบ full-time
“เหมือนมันมีกระแสเรียกบางอย่าง ที่ทำให้พี่รู้ดีว่า ตรงนี้คือที่ของพี่ คือที่ที่เราจะทำให้คนมีความสุขได้”
(จากบทสัมภาษณ์รายการป๋าเต็ดทอล์ค วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2565)
การได้เซ็นสัญญากับสยามกลการ พาเขาไปพบกับ เต๋อ—เรวัต พุทธินันทน์ ผู้ก่อตั้งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และได้ย้ายไปเป็นศิลปินสังกัดแกรมมี่ในที่สุด แล้วชีวิตลิขิตเองของพี่เบิร์ดในฐานะนักร้องในตำนานของไทยก็เริ่มขึ้น
บทที่ 2: สยายปีก
หลังจากเข้ามาอยู่ในร่มของโปรดิวเซอร์มือฉมังอย่าง เต๋อ—เรวัต พุทธินันทน์ แล้ว ปฏิบัติการปั้นนกให้เป็นดาวก็เริ่มขึ้น! ทางแกรมมี่ใช้เวลาบ่มเพาะอัลบั้มแรกอยู่สองปี โดยมีสัญญาว่าพี่เบิร์ดสามารถรับงานอื่นๆ ได้ระหว่างเตรียมตัว ยกเว้นงานเพลง
ช่วงนั้นพี่เบิร์ดมีโอกาสได้เล่นละครทีวีอย่างไม่ขาดสายทั้งในช่อง 3 5 7 9 (ครบทุกช่องในยุคนั้นแล้ว) แถมยังได้ประกบคู่เป็นพิธีกรกับซุปตาร์หญิงอย่าง ตั๊ก—มยุรา ธนะบุตร ในรายการสดแห่งยุคอย่าง ‘เจ็ดสีคอนเสิร์ต’ แต่เมื่อว่างเว้นจากงานจอแก้ว พี่เบิร์ดก็ต้องฝึกซ้อมในห้องอัดอย่างขมักเขม้นกับพี่เต๋อ เขาได้เรียนรู้ เสียงร้องแบบเบิร์ดเบิร์ดที่มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากที่เคยร้องบนเวทีประกวดลิบลับ
ระเบียบวินัย ความใฝ่รู้ และพรสววรค์ที่เขาแสวงมาเองกับมือ กลั่นกรองออกมาเป็นอัลบั้มแรก ‘หาดทราย สายลม สองเรา’ ในปี พ.ศ. 2529 ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ได้ยกย่องให้เป็นอัลบั้มศิลปินชายที่ดีที่สุดแห่งปี โดยมีเพลง ‘ฝากฟ้าทะเลฝัน’ และ ‘ด้วยรักและผูกพัน’ เป็นเพลงฮีโร่ ทำยอดขายกว่า 500,000 ตลับ พ่วงด้วยการจัดคอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งแรก ‘แบบเบิร์ดเบิร์ด โชว์ ครั้งที่ 1’ ซึ่งเป็นคอนใหญ่ไซส์พิเศษครั้งแรกของค่ายแกรมมี่อีกด้วย พี่เต๋อถึงขั้นกล่าวกับทุกคนว่า “ผมอยากจะบอกทุกท่านว่า คนที่ดีใจที่สุดในความสำเร็จของเบิร์ดนั้น ก็คือผมนะครับ”
แต่ถ้าถามถึงอัลบั้มที่เป็นจุดพลิกผันที่สร้างภาพจำและสร้างปรากฏการณ์ ‘พี่เบิร์ดฟีเว่อร์’ ทั่วบ้านทั่วเมือง ก็คงหนีไม่พ้นอัลบั้มสุดไอคอนนิค ที่โดนใจแฟนเพลงทุกเพศ ทุกวัย จนมาถึงทุกวันนี้ นั่นก็คือ ‘บูมเมอแรง’ (พ.ศ.2533) ที่เปลี่ยนสไตล์ easy-listening ของพี่เบิร์ดมาเป็นศิลปินเพลงป๊อปอย่างสมบูรณ์

จริงๆ แล้วเบื้องหลังอัลบั้มสุดป๊อปนั้น คือการโซซัดโซเซของพี่เบิร์ด เพราะก่อนจะปล่อยบูมเมอแรง ตั้งแต่ปี 2527 ก็ยังไม่มีอัลบั้มชุดไหนถึงจุดพีค แตะยอดล้านตลับเลยสักอัลบั้ม พี่เต๋อ เรวัต ถึงขั้นยื่นคำขาดว่าหากอัลบั้มถัดไปไม่สำเร็จ พี่เบิร์ดคงจะต้องอำลาวงการไป แต่ขาลงไม่ได้พาทุกคนดำดิ่งไปด้วย กลับเป็นแรงฮึบให้ทั้งพี่เบิร์ดและทีมให้ฮึดสู้ลองดูสักตั้ง พร้อมแผนปฏิบัติการ ‘ปั้นเบิร์ดใหม่ ให้เป็นดั่งบูมเมอแรง’
“คือยังไงก็ต้องเอาเบิร์ดกลับมาให้ได้ คิดอยู่แค่นั้น พอได้ยินทำนองปุ๊บ ได้ยินคำว่าบูมเมอแรงก่อนเลย ได้ยินคำนี้ ก็เอ๊ะ น่าจะใช่นะ เลยเขียนออกมา” เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ หนึ่งในทีมเขียนเพลงแกรมมี่กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์นิตยาสารผู้หญิง เดือนมีนาคม พ.ศ. 2533
แต่แล้วบูมเมอแรงที่ถูกขว้างไปแรงๆ ก็วิ่งกลับมาเร็วจริงๆ อัลบั้ม ‘บูมเมอแรง’ กลายเป็นจุดเปลี่ยนของพี่เบิร์ดและวงการดนตรีไทยในยุคนั้น ฉีกกรอบดนตรีแบบวงสตริงคอมโบที่ครองวงการอยู่ ด้วยเพลงป๊อปของโซโล่อาร์ตติสต์ครบเครื่องเรื่องร้อง เล่น เต้น เอนเตอร์เทน จนเกิดการบันทึกคอนเสิร์ตไว้บนเทปเป็นครั้งแรก แถมเพลง ‘คู่กัด’ ในอัลบั้มยังถูกนำไปแปลงเป็นภาษาต่างประเทศอีกหลายภาษา
พี่เบิร์ดกลายเป็นศิลปินแกรมมี่คนแรกที่มียอดจำหน่ายเกิน 2 ล้านตลับ โดยสามารถแตะล้านตลับในเพียงแค่ 6 สัปดาห์เท่านั้น ยอดขายรวมของอัลบั้มนี้อยู่ที่ราวๆ 2 ล้านปลายๆ ตลับ เรียกว่าเป็นมหรสพจากศิลปินเดี่ยวที่ครบรสที่สุดที่เคยมีมา มีทั้งคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม และทัวร์คอนเสิร์ตต่อเนื่องในชื่อ ‘มนุษย์บูมเมอแรง’ ต่อด้วยคอนเสิร์ต ‘แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 4’
กระแสความแรงของพี่เบิร์ดยังเผ็ดร้อนทะลุกราฟในปีถัดมา กับอัลบั้ม ‘พริกขี้หนู’ ที่ทำยอดขายกว่า 3.5 ล้านตลับ สมารถทำยอดทะลุล้านตลับภายใน 50 วัน ถือเป็นอัลบั้มที่ขายดีที่สุดในช่วง 90’s และที่พีคสุดๆ ของอัลบั้มแซ่บๆ นี้ก็คือ คอนเสิร์ต ‘แบบเบิร์ดเบิร์ดโชว์ ครั้งที่ 5’ มีรอบโชว์ทั้งหมด 29 รอบ มีผู้ชมกว่า 58,000 คน! ทำสถิติโชว์ที่มีรอบเยอะที่สุดของประเทศไทย ส่งความป๊อปไปเข้าชิงรางวัล International Viewer’s Choice Awards ในงาน MTV Video Music Awards อีกเช่นกัน
นอกจากบทบาทป๊อปสตาร์แล้ว พี่เบิร์ดก็ยังรับบทเป็น ‘โกโบริ’ ทหารหนุ่มญี่ปุ่นในภาพยนตร์เรื่อง ‘คู่กรรม’ (พ.ศ. 2538) ที่ส่งให้เขาได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากงานประกาศผลรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดีในปีเดียวกัน นี่คือ ‘พี่เบิร์ด phenomenal’ ในยุค 90’s ที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ยังไม่มี feed ให้เราเสพข่าว ไม่มีแอปฯ สตรีมมิงให้เราเปิดเพลงฟัง ยุคที่อยากสัมผัสคอนเสิร์ต ต้องซื้อบัตรไปดูเท่านั้น หากให้เทียบความป๊อปของพี่เบิร์ดกับศิลปินในปัจจุบัน เราเองก็ยังคิดไม่ออกว่ามีใคร หรือคอนเสิร์ตไหนที่ยิ่งใหญ่ไปกว่า 29 รอบของอัลบั้มพริกขี้หนูอีกแล้ว!
บทที่ 3: โบยบิน
หลังจากสยายปีกกระจายความสุขให้คนไทยอยู่หลายปี โดยมียอดแตะล้านตลับ 3 อัลบั้ม ทั้ง ธงไชย เซอร์วิส (พ.ศ. 2541), ตู้เพลงสามัญประจำบ้าน (พ.ศ. 2542) และ สไมล์ คลับ (พ.ศ. 2544) พี่เบิร์ดก็ได้บินสู่จุดสูงสุดอีกครั้ง เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2545 ที่ชาวไทยโหยหาเทศกาลงานรื่นรมย์ พี่เบิร์ดปล่อย ‘soundtrack สิ้นปีแห่งชาติ’ อย่างเพลง ‘สวัสดีปีใหม่’ และ ‘แฟนจ๋า’ จากอัลบั้มใหม่ที่ทำเอาคนไทยทั้ง เหนือ กลาง อีสาน ใต้ ต้องพากันลุกเต้น นั่นก็คืออัลบั้ม ‘ชุดรับแขก’ (พ.ศ. 2545) อัลบั้มเต็มลำดับที่ 12 ของเขา
ทำไมอัลบั้มนี้ถึงยิ่งใหญ่? อัลบั้มนี้คือชุดที่เปิดฟลอร์ให้พี่เบิร์ดได้เป็น ‘แดนซ์สตาร์’ แบบเต็มตัว ด้วยหลายๆ เพลงที่มีจังหวะแบบเพลงเต้น และเนื้อเพลงที่ชวนให้คนลุกขึ้นมาโยก โดยเพลงที่ถือเป็นตำนานของยุคนั้นก็คือเพลง ‘แฟนจ๋า’ ที่ได้นักร้องหญิงแห่งยุคถึง 3 ท่าน นัท มีเรีย, จินตรา พูลลาภ และ แคทารียา อิงลิช มาร่วม featuring

สิ่งที่ทำให้คนไทยรักเพลง ‘แฟนจ๋า’ กันแบบสุดๆ อาจเป็นเพราะนี่คือเพลงที่เข้าถึงคนไทยในทุกหย่อมหญ้าได้ด้วย ‘ภาษาถิ่น’ กิมมิกเท่ๆ ที่สร้างบทบาทให้พี่เบิร์ดเป็นหนุ่มเมืองกรุงฯ ใจเกเร ที่เทใจให้สาวๆ ทั่วไทย โดยมี นัท มีเรีย รับบทเป็นสาวใต้ จินตรารับบทเป็นสาวอีสาน และแคทารียารับบทเป็นสาวเหนือ ที่มาขับขานเพลงต้านหนุ่มเมืองกรุงสุดขี้โม้ ทำคนไทยพูด ‘ขี้ตั๊ว ขี้จุ๊ ขี้ฮก’ แทนคำว่า ‘โกหก’ กันอยู่หลายปี ร้องเกะกับเพื่อนกี่ทีก็ต้องแย่งกันเป็น นัท จิน แคท!
แม้การผสมผสานวัฒนธรรมจากหลายๆ ภาคเข้าไปในตัวเนื้อเพลง ดนตรี มิวสิควิดีโอ และท่าเต้น จะค่อนข้างใหม่ แต่พี่เบิร์ดก็ไม่หวั่น ตั้งใจติวเข้มทุกคนเพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด เพื่อคงมาตรฐานแบบเบิร์ดเบิร์ดเอาไว้ ในรายการสัญญามหาชน ปี พ.ศ. 2545 พี่เบิร์ดพูดถึงความตั้งใจและเป้าหมายของการปั้นอัลบั้ม ‘ชุดรับแขก’ ไว้ว่า
“เบิร์ดตั้งใจมากๆ เราดูทีวีแล้วกระแสของโลกมันเปลี่ยนไป ฝรั่งเข้ามาเต็มไปหมด เราทำไมไม่เอาของเรามาโชว์กัน ในกรุงเทพฯ เด็กที่มาจากต่างจังหวัดมักจะอายที่จะพูดภาษาตัวเอง การเอาภาษาแต่ละภาคมาทำเพลง เสน่ห์มันจะเกิด ไม่ใช่แค่เรื่องสำเนียง แต่เป็นการทำเพลงของแต่ละภาคด้วย
“เพลงนี้คืองานดีไซน์ มันโมเดิร์นมากๆ มันไม่ใช่ลูกทุ่ง ลูกกรุง หรือหมอลำ เราหยิบทุกอย่างมานิดๆ หน่อยๆ แทนที่จะเป็นเสียงไวโอลิน เราก็มีสะล้อซอซึงเข้ามา จริงๆ กระแสของโลกมองมาทางเมืองไทย เอเชียหมด ถ้าเรามีของดีแล้วเราเก็บเอาไว้ก็ไม่มีใครเห็น ไม่ว่าจะเป็นดนตรี เสียงร้อง หรือภาษา เรามีครบหมดเลย”
นอกจาก ‘แฟนจ๋า’ แล้ว เพลงอื่นๆ ในอัลบั้มก็กลายเป็นเพลงฮิตติดชาร์ตไม่ต่างกัน ทั้ง ‘มาทำไม’ duet คู่กับจินตรา พูนลาภ เพลง ‘ต้องโทษดาว’ ที่ยังครองใจคนแอบรัก และที่สำคัญสุดคือเพลง ‘สวัสดีปีใหม่’ ที่กลายเป็นเพลงข้ามปีที่ถูกเปิดวนซ้ำๆ อัลบั้มนี้ทยานสู่ยอดขายกว่า 8 ล้านชุด แตะยอดล้านชุดแรกภายในสามสัปดาห์ ทีมจึงต้องรีบจัดคอนเสิร์ต ฟ.แฟน ทันทีในสัปดาห์ที่ 4
หลังจากปรากฏการณ์แฟนจ๋าเบิร์ดมาแล้วจ่ะ พี่เบิร์ดก็ยังคงไม่ทิ้งความตั้งใจที่อยากจะดึงเอาความเป็นไทยมานำเสนอในมุมมองใหม่ๆ อีก โดยได้ปล่อยเพลง ‘โอ้ละหนอ my love’ จากอัลบั้ม ‘วอลุม วัน’ (พ.ศ. 2548) โดยนำกลิ่นอายปักษ์ใต้บ้านเราเข้ามาใส่ ทั้งตัวดนตรี เนื้อเพลง เสียงร้อง และท่าเต้นยอดฮิตที่ใครๆ ก็เต้นได้ทันทีเมื่อเสียงร้อง ‘โอ้ โอ้ละหนอ น้องรอดีๆ เรื่องเป็นอย่างนี้ต้องใช้เวลา~’ ดังขึ้น
อัลบั้มนี้ถูกขนานนามว่าเป็นอัลบั้มที่หลากหลายที่สุดอัลบั้มหนึ่งของพี่เบิร์ด ทั้งผสมผสานความเป็นไทยลงไปในทุกอณู ในเชิงดนตรีแล้วยังมีการผสมผสานแนวบลูส์และฮิปฮอปที่มีความสมัยใหม่ขึ้นเข้ามาใส่ในอัลบั้ม โดยมีบรรดานักแต่งเพลงแนวหน้าที่มาจากความถนัดหลายแบคกราวด์เข้ามาร่วมงาน ทั้ง ขันเงิน เนื้อนวล และโจอี้บอย เรียกได้ว่าพี่เบิร์ดไม่ได้บินอยู่เหนือกาลเวลา แต่บินตามทางลมของยุคสมัยที่เปลี่ยนทิศตลอด
บทที่ 4: ถลาเล่นลมค้างฟ้า
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา พี่เบิร์ดเพิ่งฉลองวันเกิดครบรอบ 66 ปีไปหมาดๆ ความสดใสและเอเนอร์จี้ที่ต้องการสร้างความสุขให้คนไทยของเขาไม่เคยจางตามขวบปีที่เพิ่มขึ้น จนถูกขนานนามว่าเป็น “ดาวค้างกรุ” (พ.ศ. 2548) “ป๋าพันปี” (พ.ศ. 2550) และอีกหลากหลายชื่อเล่นที่สื่อไทยตั้งให้
ในปีที่ 37 ของการถลาเล่นลมอยู่บนน่านฟ้าวงการบันเทิงไทย พลังงานของเขายังเต็มหลอดไม่ต่างจากอัลบั้มแรกๆ พริกขี้หนูเม็ดเล็กยังคงเผ็ดร้อน อย่างผลงานเพลง ‘รักเอ๋ย’ ที่ปล่อยเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งจะทำยอดแตะ 100 ล้าน views ไปหยกๆ ทาง Youtube หรือจะเพลงที่ยังคงคอนเซ็ปต์ยกระดับวัฒนธรรมไทยผ่านเสียงร้องและทำนองเพลง อย่างเพลง ‘ฟ้อนทั้งน้ำตา’ (พ.ศ. 2566) ที่ถูกถ่ายออกมาในแบบพี่เบิร์ด สนุก มีกลิ่นอายความเป็นไทย ฟังแล้วใจฟูเหมือนเดิม
สำหรับเรา “แฟนจ๋าฉันมาแล้วจ้ะ อยู่นี่แล้วนะ เขยิบมาใกล้ๆ” ไม่ได้เป็นแค่เนื้อเพลง แต่พี่เบิร์ดคือศิลปินที่ขยับเข้าใกล้แฟนๆ ของเขาขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวัน เมื่อก่อนอาจจะเป็นการออกทัวร์ ตอบจดหมาย แต่ยุคนี้พี่เบิร์ดก็ขยับมาเล่น Tiktok จอยรายการใหม่ๆ ทาง Youtube เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของแฟนคลับอยู่เรื่อยๆ ยิ่งถ้าใครตามฟังบทสัมภาษณ์ของพี่เบิร์ดช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าพลังงานบวกและข้อคิดจากทุกประโยคของพี่เบิร์ดนั้น เติมเต็มบางอย่างในใจของแฟนเพลงอยู่เสมอ

สิ่งที่ทำให้พี่เบิร์ดกลายเป็นศิลปินที่ timeless สุดๆ คือผลงานที่หลากหลาย เพลงที่มีครบทุกอารมณ์ จะสุขเศร้า เหงา ซึ้ง หรือตลกเฮฮา สถานการณ์ไหนเราก็สามารถ press play เพลงของเขาได้หมดไม่ว่าจะเป็นช่วงไหนของชีวิต นอกจากผลงานต่างๆ แล้ว ระเบียบวินัย ความใฝ่รู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด และความถ่อมตนของพี่เบิร์ด เป็นแบบอย่างในการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตให้เราหลายๆ คน
พี่เบิร์ดได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ 2565 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง) โดยกระทรวงวัฒนธรรม แต่อีกตำแหน่งที่คนไทยมอบให้เขามานานแล้วนั่นก็คือ ‘พี่ชายแห่งชาติ’ ไม่ระบุปี เพราะเขาจะยังเป็นพี่เบิร์ดคนดี โบยบิน ส่ง.ความ.สุข ให้เราไปอีกแสนนาน
ว่าแล้วก็อย่าลืมเปิดเพลง ‘สวัสดีปีใหม่’ และ ‘ส.ค.ส’ ของพี่เบิร์ดในคืน countdown กันล่ะ สวัสดีปีใหม่นะทุกคน!
อ้างอิง
TrueID
Matichon
Sumup
Bangkokbiz
สัญญามหาชน (2542)
สัญญามหาชน (2545)
ป๋า เต็ด ทอล์ค (2565)