‘กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ’ กับหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เมื่อเกลียวคลื่น วัยเด็ก เรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
“หลายปีผ่านมา ขณะประจันหน้ากับหมู่ทหารยิงเป้า พันเอกเอาเรเลียโน บวนเดียอดไม่ได้ที่จะระลึกถึงความหลังเมื่อครั้งกระโน้นตอนที่พ่อพาเขาไปรู้จักน้ำแข็ง”
ประโยคข้างต้นเป็นประโยคเปิดนิยาย หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (1967) ที่ผสมสองไทม์ไลน์ในคราวเดียวและเร้าให้เราอยากรู้ว่า พันเอกผู้นี้จะถูกสังหารโดยหมู่ทหารยิงเป้าหรือไม่ กลวิธีแพรวพราวที่เล่าเรื่องของอดีตด้วยสายตาที่เพ่งมองไปอนาคตถือเป็นจุดเด่นของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) นักเขียนนามเขื่องที่ทรงอิทธิพลกับโลกในศตวรรษที่ 20 ด้วยแนวทางของสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical realism) ที่ปรากฏในหนังสือทุกเล่มของเขา นิยายเรื่องนี้ยังเปลี่ยนสายตามองต่ำของชาวโลกต่อลาตินอเมริกาสิ้นเชิง ก่อนส่งให้เขาได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1982
ในบรรดางานทั้งหมด หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (1967) ถือเป็นงานที่โดดเด่นที่สุดของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ หรือ ‘กาโบ’ มันเล่าเรื่องราวว่าด้วยครอบครัวบวนเดีย 7 เจเนเรชั่นที่ชื่อซ้ำกันไปมาเหมือนโชคชะตาที่บรรจบแบบงูกินหาง เชื่อว่าเมื่ออ่านบรรทัดสุดท้ายจบ หลายๆ คนคงพบบรรยากาศสงัดอัศจรรย์ใจพร้อมสายลมวูบๆ ที่หลังหู
เมื่อครั้งกาโบยังมีชีวิตอยู่ นักเขียนรางวัลโนเบลอย่างกาโบไม่ขายลิขสิทธิ์ให้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ด้วยกังวลว่าเทคโนโลยีและความยาวของภาพยนตร์ไม่สามารถถ่ายทอดเนื้อหาในหนังสือได้อย่างครบถ้วน
หลายปีผ่านมา ลิขสิทธิ์ตกสู่ทายาทและโลกของการเล่าเรื่องไม่เหมือนเดิม เมื่อมีสิ่งที่เรียกว่าซีรีส์ ขณะที่หนึ่งตอนของซีรีส์ก็สามารถยาวเกือบเท่ากับภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง และเทคโนโลยีการถ่ายทำก็รุดหน้าไปมาก การดัดแปลงมหากาพย์สักเรื่องจึงไม่ได้น่าท้าทาย แต่น่าลุ้นมากกว่าว่าจะถ่ายทอดความงามของตัวอักษรได้ถึงขนาดไหน ที่แน่ๆ เวอร์ชันคนแสดงของ Netflix ได้ โรดริโก การ์เซีย ลูกชายของกาโบเป็น Executive Producer และยังลงทุนเนรมิตมาก็อนโดขึ้นมาจริงๆ ก็น่าจะพออุ่นใจได้เปลาะหนึ่ง
ในวาระที่ซีซันแรกลงจอสตรีมมิง EQ อยากพาทุกคนไปตามติดชีวิตเด็กชายกาโบ ผู้อ่าน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว จบเสียก่อนที่เขาจะใช้เวลากว่าสิบแปดเดือนเขียนมันซะอีก
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
แปดปีแห่งวัยเยาว์
โลกพ้นวัยเยาว์มาแล้วในวันที่กาโบคลอดออกมา เขาเกิดที่เมืองอาตารากาตา เมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำในเขตไกลปืนเที่ยงทางตอนเหนือของโคลอมเบีย ซึ่งหนึ่งปีหลังเขาเกิด ดินแดนแห่งนี้จะประสบเหตุการณ์สังหารหมู่คนงานของบริษัทผลไม้ (Banana Massacre) ดั่งฉากสำคัญของวรรณกรรมคลาสสิกที่เขาจะเขียนแล้วเสร็จในอีกหลายปีนับแต่นั้น
หลายปีต่อมา กาโบอธิบายภาพอาตารากาตาว่าเป็นหมู่บ้านซึ่งซ่อนตัวอยู่ในบึงและป่าดงดิบบนชายฝั่งทางตอนเหนือของโคลอมเบีย กาโบจดจำกลิ่นของพืชพรรณ เฉดของสีน้ำทะเล ลมพายุไซโคลนที่ทำให้ทุกอย่างปลิวว่อนจนหมู่บ้านอยู่ใต้ฝุ่น อากาสร้อนแผดเผาทรวงอก โศกนาฏกรรมทางธรรมชาติกลายเป็นโชคชะตาอันแยกไม่ขาดจากชีวิตประจำวัน บริเวณนั้นยังมีตำนานของทาส ตำนานของชาวอินเดีย และจินตนาการของชาวอันดาลูเซีย นี่เป็นที่มาของการมองเห็นความมหัศจรรย์ในทุกสิ่งซึ่งจะผลิดอกออกผลในอนาคตที่เชื่อได้ว่า แม้แต่เขาในวัยกระเตาะก็ยากจะจินตนาการ
กาโบใช้ชีวิตแปดปีแรกบนโลกกับตาและยายที่บ้านเกิด เวลาต่อมา กาโบมักย้อนความถึงช่วงชีวิตวัยเด็กที่เติบโตมากับทรานควิลินา อิกวารัน โกเตส เด มาร์เกซ ยายของเขาที่เล่าเรื่องมหัศจรรย์พันลึกของโลกดึกดำบรรพ์ ผีสางในบ้าน และเรื่องงมงายเหนือธรรมชาติให้เขาฟังก่อนนอน รวมถึงบรรดาป้าๆ และครูผู้หญิงสุดทรงเสน่ห์ผู้สอนให้เขาอ่านออกเขียนได้
กาโบเล่าว่าเป็นบรรดาผู้หญิงนี้เองที่มักหาทางออกให้ชีวิตอันสับสนวุ่นวายได้อย่างง่ายดาย เขาไม่ปฏิเสธว่าเพศแม่ฟูมฟักเลี้ยงดูและคอยจับมือนำทางให้เขาผ่านเคราะห์กรรมทั้งหลายแหล่ เขากล่าวกับ พลินิโอ อาปูเลโย เมนโดซา นักเขียนและนักข่าวชาวโคลอมเบียในอีกหลายปีต่อมาว่า “พวกเธอทำให้ผมรู้สึกปลอดภัย ถ้าไม่มีความปลอดภัยนี้ ผมคงทำสิ่งที่มีค่าในชีวิตไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมคงไม่สามารถเขียนหนังสือได้” นั่นทำให้บรรดาตัวละครผู้หญิงที่ชื่อซ้ำกันไปมาในนิยายที่เขาจะเขียนแล้วเสร็จในสิบแปดเดือนมีลักษณะที่เป็นมิตร น่าเกรงขาม และอ่อนโยนไปพร้อมๆ กัน
นั่นแตกต่างจากพันเอกนิโคลัส มาร์เกซ ตาของกาโบและนายทหารพรรคเสรีนิยมผู้พ่ายแพ้ในสงครามพันวัน (Thousand Days’ War ระหว่างปี 1899-1903) อดีตนายทหารเจนศึกมักเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สงคราม อดีตแต่หนหลัง รวมถึงบรรดาความขัดแย้งของขั้วอนุรักษนิยม-เสรีนิยม ขวา-ซ้าย น้ำเงิน-แดง ตามักอดไม่ได้ที่จะเล่าถึงวันวานซึ่งแบกปืนไว้บนไหล่ ไม่รู้ว่าจะไปไหนด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่าจะได้กลับบ้านมารึเปล่า แม่ๆ และเมียๆ ต้องอยู่ที่บ้านราวกับว่ามีชีวิตเพื่อให้มนุษย์ดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป แต่ภายใต้อุดมการณ์อันยุ่งยากและซับซ้อนของผู้ชายหน้าเกรงขามทั้งหลาย เป็นบรรดาคนที่อยู่บ้านนั่นเองที่ช่วยให้เขารอดพ้นจากวันคืนอันโหดร้ายของการผจญโลก
หลายปีก่อนหน้ากาโบจรดปากเขียนสิ่งต่างๆ ที่ล้วนแต่เป็นเรื่องของความโดดเดี่ยว ความสันโดษ ความหวาดกลัว ความรัก ความทรมาน เมื่อพันเอกนิโคลัสหรือตาของเขาเสียเสียชีวิตในปี 1937 กาเบรียล เอลิจิโอ การ์เซีย และลุยซา ซานติอาก้า มาร์เกซ อิกวารัน พ่อแม่แท้ๆ ผู้เป็นคนแปลกหน้าต่อกาโบ ณ ตอนนั้น ได้พาเขาย้ายไปเรียนที่บารังก์กิยา เมืองท่าเรือริมน้ำ ก่อนย้ายมาที่เมืองซูเคร เมืองที่พ่อของเขาเปิดร้านขายยา เวลานั้น กาโบได้รับการศึกษาที่ดีกว่าคนทั่วไป ในชั้นมัธยมเขาพบครูพีชคณิตที่สอนวิชาวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (historical materialism) ในข่วงพักกลางวัน ส่วนครูเคมีก็ชอบให้ยืมหนังสือเลนินอ่าน และครูประวัติศาสตร์ก็อดไม่ได้ที่จะเล่าเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นในห้องเรียน ขณะที่เสน่ห์ลึกลับในครอบครัวก็ยังถูกต่อยอดโดยแม่ของเขาที่มักจุดเทียนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คุ้มครองลูกของหล่อนทุกครั้งไปเมื่อขึ้นเครื่องบิน กาโบยังรำลึกถึงแม่ในภายหลังว่า เมื่อทุกคนเติบโตและแยกย้ายกัน แม่ของเขาจะจุดเทียนเกือบตลอดเวลาเพราะไม่รู้ว่าลูกคนไหนกำลังขึ้นเครื่องบินบ้าง
เมื่อจบมัธยม เขาย้ายเข้ากรุงโบโกตาเพื่อร่ำเรียนกฎหมายและผันตัวมาเป็นนักข่าว เขาเน้นย้ำเสมอว่าอาตารากาตาและเรื่องเล่าของตากับยายเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีสำหรับงานวรรณกรรมของเขา แม้จะผูกพันในแง่ความทรงจำกับถิ่นเกิดขนาดไหน แต่งานในฐานะนักข่าวได้ถีบเขาออกไปเห็นโลกยุโรปและอเมริกา (เหนือ) เพียงเพื่อให้ทุกอย่างสุกงอมก่อนจะใช้เวลาสิบแปดเดือนเสก หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ขึ้นมา
สิบแปดเดือนแห่งความ (ไม่) โดดเดี่ยว
ขณะอายุยี่สิบปี กาโบในวัยนักศึกษา เขามีลมหายใจในช่วงเดียวกับเหตุการณ์โบโกตาโซ ปี 1948 หรือเหตุการณ์จราจลหลังจากฆอร์เก เอลิเอเซอร์ ไกตัน ผู้นำพรรคเสรีนิยมและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีถูกสังหาร เหตุการณ์ทางการเมืองในเมืองหลวงนี้เองที่แทรกเป็นเบื้องหลังในนวนิยายที่เขาจะใช้เวลาสิบแปดเดือนเขียนมันขึ้นมา
เหตุการณ์นั้นทำให้หอพักนักศึกษาของเขาถูกเผาและมหาวิทยาลัยถูกปิดไม่มีกำหนด เขาจึงต้องย้ายมหาวิทยาลัย เริ่มทำงานเป็นนักข่าวและคอลัมน์นิสต์ไปพร้อมกับการเรียนกฎหมายจนจบ จากนั้นจึงย้ายมาที่เมืองบาร์รังก์กิยาอีกครั้ง
สองสามปีถัดมา ขณะที่เขาอายุราวยี่สิบสองปี แม่ของกาโบได้ขอร้องให้เขากลับบ้านเกิดที่อาตารากาตาเพื่อขายบ้านที่เขาใช้ชีวิตวัยเด็ก กาโบพบว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย ทุกสิ่งยังเหมือนเดิม ในบทสัมภาษณ์อีกหลายปีถัดมากับนิตยสาร The Paris Review กาโบพูดถึงทริปคืนสู่เหย้าครั้งกระโน้นว่า
“ผมรู้สึกว่าไม่ได้มองไปที่หมู่บ้าน แต่ผมสัมผัสมันราวกับว่าผม ‘อ่าน’ มัน ทุกอย่างที่ผมเห็น เหมือนถูกเขียนไว้เรียบร้อยแล้ว”
ไม่นานหลังจากนั้น กาโบลงมือเขียน พายุใบไม้ (1955) นวนิยายเล่มแรกในเวลาว่างหลังเสร็จงานจาก El Heraldo สำนักข่าวท้องถิ่นของบาร์รังก์กิยา ในช่วงขณะนั้นเองที่เขารู้ตัวว่าเขาอยากเป็นนักเขียน แต่กว่าเขาจะได้ค่าลิขสิทธิ์ของเรื่องนี้ก็ปาเข้าไปปี 1967 หรือในปีที่ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว คลอดสู่สายตาชาวโลก
ในทศวรรษ 1950 กาโบถูกส่งตัวไปเป็นผู้สื่อข่าวที่ปารีส ที่นั่นเขาได้อ่านวรรณกรรมอเมริกันและวรรณกรรมแปลภาษาฝรั่งเศสมากขึ้น ต่อมาช่วงปลายทศวรรษเดียวกันนั้นจนถึงต้นทศวรรษ 1960 กาโบกลับมาทำงานที่กรุงโบโกตา ย้ายไปทำงานที่นิวยอร์กกับสำนักข่าวที่ได้รับการสนับสนุนจากฟิเดล คาสโตร (ก่อนลาออกในเวลาต่อมา) แล้วจึงย้ายไปเม็กซิโก ซิตี้ แหล่งพำนักที่เขาเขียน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
แต่หลายปีก่อนหน้านั้น ส่วนสำคัญในการเขียนได้ถูกบ่มเพาะไว้ตั้งแต่กาโบยังเป็นวัยรุ่นอยู่ที่เมืองซูเครแล้ว คืนหนึ่งในวัยเยาว์ เขาได้ชักชวน เมอร์เซเดส ราเคล บาร์ชา ปาร์โด วัยสิบสามปีเต้นรำ แต่พ่อผู้เป็นเภสัชกรของเมอร์เซเดสกลับบอกหล่อนว่า “เจ้าชายรูปงามที่จะแต่งงานกับแกยังไม่เกิดหรอก”
สิบสองปีต่อมา เมื่อกาโบกลับมาที่โบโกตา เมอร์เซเดสตกลงปลงใจแต่งงานกับเขา ชายผู้ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้า และเมื่อเวลาผ่านไป เมอร์เซเดสมีลูกชายสองคนกับเขาและเธอยังเป็นไม่กี่คนที่ด่ากราดจอมเผด็จการแห่งคิวบาอย่างคาสโตรได้โดยไม่ติดคุก
วันหนึ่งในปี 1966 ระหว่างเดินทางกับครอบครัว เขาวกรถยนตร์กลับบ้านและลงมือเขียน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว โดยใช้เวลากว่าสิบแปดเดือนหวนรำลึกถึงตาผู้เป็นฝ่ายซ้าย พ่อผู้เป็นฝ่ายขวา เรื่องเล่าของยาย เรื่องราวของแม่ เรื่องพ่อจีบแม่และพยายามเอาชนะใจพ่อตา ประวัติครอบครัว ประวัติของโคลอมเบีย ประวัติของลาตินอเมริกา และอะไรก็ตามที่เขาเก็บสะสมไว้ตลอดอายุสามสิบเก้าปี
เมอร์เซเดสเป็นคนคอยจัดหาอะไรต่อมิอะไรกว่าสิบแปดเดือนที่สามีของเธอง่วนอยู่กับต้นฉบับที่เขาได้อ่านมาแล้วเมื่อวัยเด็ก แน่ล่ะว่าเธอไม่อาจเข้าไปในหัวของคนอื่นและมองเห็นสิ่งที่กาโบมองเห็น เมอร์เซเดสจำนำโทรศัพท์ วิทยุ เครื่องประดับ รถสี่ล้อ และไดร์เป่าผมของเธอเพื่อจ่ายค่าไปรษณีย์ส่งต้นฉบับไปให้บรรณาธิการชาวอาร์เจนตินา คงมีเพียงความเชื่อใจ ลางสังหรณ์ และอะไรก็ตามที่เราคงไม่อาจจินตนาการในช่วงเวลาสิบแปดเดือนนับจากกาโบตัดสินใจยูเทิร์นรถกลับบ้านในวันหนึ่งของปี 1966
หลังจากช่วงเวลาอันยากลำบากกว่าสิบแปดเดือนของเขากับครอบครัวในเม็กซิโก ซิตี้ พวกเขาเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียง กาโบย้ายไปอยู่สเปนในช่วงปี 1967 ถึง 1975 แต่เขายังเก็บบ้านที่เม็กซิโก ซิตี้ และอพาร์ตเม้นท์ในปารีสเอาไว้ เขายังมีคฤหาสน์ในกรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ซึ่งเป็นของขวัญจากจากคาสโตร แน่ล่ะว่ากาโบก็ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งที่นั่นเช่นกัน
ผู้หญิง ลาตินอเมริกา และโลกที่สาม ภาพสะท้อนกลับไปกลับมาของเมืองกระจก
บทบาทเบื้องหลังของเมอร์เซเดส ในแง่หนึ่งก็เป็นภาพสะท้อนกลับไปกลับมาของอูร์ซูลา อิกวารัน ตัวละครหลักในนิยายที่กาโบใช้เวลาสิบแปดเดือนเขียนขึ้นมา เธอเป็นหญิงแกร่งที่แบกบ้านทั้งหลังไว้ไม่ให้พังทลายเพราะความกระหายอันบ้าคลั่งของคนในครอบครัว อันที่จริงในมุมหนึ่ง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ได้บรรจุโชคชะตาอันร้ายกาจของผู้หญิงลาตินอเมริกา พวกเธอถูกสร้างขึ้นจากความหมกมุ่นและประชากรที่ล้นยุโรปผสมกับชนพื้นเมืองผู้ซึ่งค่อยๆ ถูกทดแทนความเชื่อดึกดำบรรพ์ด้วยเหตุผล มนต์ขลังที่พวกเขาเคยมีได้กลายเป็นอดีตอันแสนห่างไกลราวกับไม่เคยเกิดขึ้น พวกเธอจึงเผชิญความโกลาหลทางจิตใจของบรรดาเจ้าอาณานิคม วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ และผู้มีอำนาจที่จ้องจะตัดสินใจแทนพวกเธอตลอดเวลา
ด้วยเหตุนี้ ใน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว โฆเซ อาร์กาดิโอ บวนเดีย ผัวของอูซูร์ลา จึงย้ำนักย้ำหนาว่า มาก็อนโดจะเป็นสถานที่ที่ทุกคนเท่าเทียมกันและไม่มีใครตัดสินใจแทนผู้อื่น มองดูแล้วนี่ก็เหมือนคำประกาศก้องเชิงการเมืองกลายๆ ของกาโบที่เป็นพวก ‘ซ้ายจัด’ โดยโฆเซ อาร์กาดิโอ บวนเดียถึงขนาดออกแบบเมืองให้บ้านทุกหลังมีระยะห่างจากแม่น้ำเท่ากันและช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม บรรดาลูกหลานเหลนลื่อของเขากลับต้องเผชิญชะตากรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เรเมดิโอส ลา เบยา ลอยขึ้นสวรรค์กลางวันแสกๆ เรเมดิโอส เรนาตา หรือ ‘เมเม’ ถูกบังคับให้บวชชี เรเมดิโอส (เฉยๆ) ก็เสียชีวิตตั้งแต่ยังสาว หรือเรเบกาเด็กสาวลึกลับที่เขารับเลี้ยงราวลูกในไส้ก็เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวไม่ต่างจากเขา
ส่วนนอกผังตระกูลบวนเดีย มีเด็กสาวคนหนึ่งต้องนอนกับชายเจ็ดสิบคนต่อคืนเพื่อชดใช้บาปกรรมที่ลืมดับเทียนจนบ้านวอดวายในค่ำคืนหนึ่ง ยายของเธอจึงพาเธอไปเร่ขายตัวทุกคืนเพื่อนำเงินมาสร้างบ้านใหม่ สิ่งนี้สะท้อนความรุนแรงในโคลอมเบียที่มีประวัติจนถึงปัจจุบัน ทั้งจากสงครามกลางเมือง สงครามยาเสพติด หรือกลุ่มผู้ติดอาวุธ ขณะที่ในทศวรรษ 2010 อัตราความรุนแรงทางเพศในโคลอมเบียก็ยังถือว่าสูงจนน่าใจหาย
หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว กลายเป็นภาพที่สะท้อนกลับไปกลับมาของชะตากรรม ประวัติศาสตร์ โศกนาฏกรรม เรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น ก็ดันเกิดราวเป็นเรื่องปกติในชีวิตสามัญ ทั้งเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้ที่มา กระบวนการหลงลืมของผู้คน หรือการหายตัวไปดื้อๆ ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาดาษดื่นเช่นกัน ภาพของสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลกนานแล้วตั้งแต่ก่อนกาโบเกิด ขณะที่เขามีชีวิต และหลังจากเขาเสียชีวิตในปี 2014
คำว่า ‘มหัศจรรย์’ ใน ‘สัจนิยมมหัศจรรย์’ จึงมีลักษณะเหมือนห้องทดลองของเมลกีอาเดสที่บรรจุทั้งความรุ่งโรจน์และความล่มสลายไว้ในละอองธุลีอากาศที่มักดลบันดาลให้โชคชะตาที่เกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นชนิดซ้ำๆ ซากๆ กับคนนับล้าน อีกทั้งมาก็อนโดยังเป็นภาพรางๆ และเงาสลัวๆ ที่สะท้อนไปมาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ดั่งความฝันของโฆเซ อาร์กาดิโอ บวนเดียที่ฝันเห็นบริเวณที่มีการสร้างมาก็อนโดว่า “ตรงนี้จะมีการก่อตั้งเมืองที่เต็มไปด้วยเสียงจอแจพร้อมบ้านหลังต่างๆ ที่สร้างด้วยกระจก”
ความสะท้อนไปมาอาจสอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ของกาโบกับ New Left Review หลายปีก่อนหน้าเขาเสียชีวิต เมื่ออนุรักษนิยมเสื่อมโทรมและเสรีนิยมเป็นสิ่งโบราณในโลก กาโบเชื่อว่ามีทางเลือกอื่นๆ บางทีอาจมีมากเท่ากับจำนวนประเทศในทวีปอมเริกา “เราสามารถใช้ประโยชน์จากความสำเร็จของทวีปอื่นๆ ตลอดระยะเวลาทางประวัติศาสตร์อันแสนวุ่นวายได้ แต่เราไม่ควรลอกเลียนผลงานเหล่านั้นแบบอัตโนมัติเหมือนที่เราทำมาจนถึงตอนนี้”
ในวันที่เขาเลิกหวังจะเห็นชายทะเล โฆเซ อาร์กาดิโอ บวนเดียหมายมั่นให้พื้นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำใกล้บึงอันซ่อนตัวจากโลกเป็นสถานที่แห่งอิสระ สันโดษ และรุ่งเรืองในแบบของมัน แต่ลูกชายคนโตที่ชื่อเดียวกับเขาดันลากเส้นบนที่ดินและใช้สิทธิ์ของผู้ก่อตั้งหมู่บ้านผูกขาดการออกโฉนดทำกิน แต่ก็อาจเป็นเพราะโฆเซ อาร์กาดิโอ บวนเดียเองที่ไม่ได้เลี้ยงลูกชายให้โตมาอย่างนึกถึงความสุขของคนอื่นและนี่ก็เป็นตัวอย่างชั้นดีว่าการตัดขาดจากโลกไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรก็ตามที่อยู่ในทวีป ประเทศ หมู่บ้าน ครอบครัว หรือแม้กระทั่งตัวเราได้ ดั่งประโยคคำทำนายท่อนสุดท้ายที่ว่า
“พงศ์พันธุ์ที่ถูกจองจำให้อยู่ในหนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวนั้นไม่มีโอกาสเป็นหนที่สองบนผืนปฐพีนี้”
อ้างอิง
- Gabriel García Márquez (Author), David Streitfeld (Editor). (2015). Gabriel Garcia Marquez: The Last Interview: and Other Conversations (The Last Interview Series). New York: First Melville House printing
- การ์เซีย มาร์เกซ, กาเบรียล. หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว. กรุงเทพฯ: บทจร, 2564.
- britannica.com
- nobelprize.org
- the101.world
- ft.com
- theparisreview.org
- courier.unesco.org
- jacobin.com
- remarkablewomenstories.com