‘เพชรา เชาวราษฎร์’ จาก ‘เทพธิดาเมษาฮาวาย’ สู่นางเอกหนังไทยเบอร์ 1 ตลอดกาล
ใครที่เป็นแฟนภาพยนตร์ไทยยุคเก่า โดยเฉพาะช่วงยุค 2500 – 2520 ย่อมจะต้องคุ้นเคยกับชื่อ “อี๊ด เพชรา เชาวราษฎร์” นางเอกระดับตำนานที่เคยสร้างผลงานประดับวงการกว่า 300 เรื่อง เธอเปรียบได้กับเทพธิดาแห่งวงการภาพยนตร์ไทยเมื่อกว่า 5 ทศวรรษที่แล้ว
หากเทียบกับยุคปัจจุบันแล้ว ความยิ่งใหญ่ในฐานะนักแสดงของเธอก็คงไม่ด้อยไปกว่า “อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ” นางเอกสาวดาวค้างฟ้าค่าตัวหลักสิบล้าน หรือ “นุ่น วรนุช ภิรมย์ภักดี” นางเอกตลอดกาลแห่งวงการละครทีวี หรือหากจะเทียบกับนักแสดงรุ่นใหม่ ๆ หน่อยก็คงเทียบได้กับ “ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก ลือวิเศษไพบูลย์” นางเอกสาวเจ้าบทบาทที่แค่เห็นชื่อก็การันตีคุณภาพผลงาน
แม้ว่าในปัจจุบัน กาลเวลาจะทำให้ชื่อของเธอห่างไกลจากการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันช่วงที่เธอกำลังโด่งดังเป็นดาวค้างฟ้า แต่สำหรับคนรุ่นเก่า Gen X หรือแม้แต่ Gen Y บางส่วน “แม่อี๊ด” คือหนึ่งในปรากฏการณ์ระดับ “ไอคอนนิค” ที่ยากจะหาใครเสมอเหมือนในประวัติศาสตร์วงการบันเทิงไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังส่งอิทธิพลต่อวงการบันเทิงไทยยุคต่อ ๆ มาอีกด้วย
โดยวันนี้เราจะพาทุกคนไปย้อนสำรวจเส้นทางในวงการมายาของ เพชรา เชาวราษฎร์ รวมถึงย้อนดูผลงานต่าง ๆ ที่ แม่อี๊ด ได้ฝากไว้ในวงการบันเทิงไทยกัน
เด็กคนนั้นโตมาเป็น “อี๊ด เพชรา เชาวราษฎร์”
“เพชรา เชาวราษฎร์” เกิดเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2485 ที่ตำบลน้ำคอก อำเภอเมือง จังหวัดระยอง มีชื่อเกิดว่า “เอก เชาวราษฎร์” และชื่อเล่นว่า “อี๊ด” เป็นบุตรคนที่ 4 จากทั้งหมด 7 คน บิดาเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ส่วนมารดาเป็นคนไทย ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขายและทำการเกษตร จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของเธอเกิดขึ้นตอนเธออายุได้ 15 ปี เธอถูกครอบครัวส่งเข้ามาเรียนหนังสือชั้นมัธยมศึกษาที่กรุงเทพมหานคร โดยพักอาศัยอยู่กับพี่สาวและพี่เขย และด้วยความที่พี่เขยทำธุรกิจร้านเสริมสวย เธอจึงมักจะไปช่วยงานที่ร้านจนลูกค้าหลายคนเห็นว่าเธอมีรูปร่างหน้าตาดีจึงชักชวนให้เธอเข้าประกวด “เทพธิดาเมษาฮาวาย” ประจำปี พ.ศ.2504 โดยเธอใช้ชื่อในการประกวดว่า “ปัทมา เชาวราษฎร์” และสามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศอันดับ 1 มาครองได้
เข้าวงการบันเทิงเพราะคิดว่า “สนุก”
หลังจากชนะเลิศการประกวดเทพธิดาเมษาฮาวาย เธอก็ได้รับการติดต่อทาบทามจาก “ศิริ ศิริจินดา” และ “ดอกดิน กัญญามาลย์” นักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังให้มาร่วมแสดงในภาพยนตร์เรื่อง “บันทึกรักของพิมพ์ฉวี” (2505) ประกบคู่กับพระเอกตลอดกาล “มิตร ชัยบัญชา” ที่ในขณะนั้นยังเป็นแค่พระเอกดาวรุ่ง และนี่ถือเป็นผลงานแสดงและผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกของ เพชรา เชาวราษฎร์ ขณะมีอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น โดยเธอเล่าถึงความรู้สึกในการแสดงหนังเรื่องแรกของตัวเองว่า
“...ตอนแรกคิดว่าน่าสนุกก็เลยลองดู แต่พอมาทำงานจริง เราก็ยืนกลางแดด เอารีเฟล็กซ์มาส่อง กว่าจะได้แต่ละคัต แต่ละวันผ่านไปเราก็คิดในใจว่าเหนื่อยพอกับเลี้ยงควายกลางทุ่งเลย...”
ส่วนที่มาของชื่อ “เพชรา เชาวราษฎร์” นั้น ดอกดิน กัญญามาลย์ เป็นผู้ตั้งให้เพราะมองว่า “ปัทมา” ชื่อเก่าที่ใช้ตั้งแต่ตอนประกวดเทพธิดาเมษาฮาวายนั้นเรียบง่ายเกินไป ไม่เป็นที่จดจำ ซึ่งเธอก็ใช้ชื่อ เพชรา เชาวราษฎร์ โลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงเป็นเวลากว่า 16 ปีเต็ม
“มิตร-เพชรา” ตำนานคู่จิ้นเคมีล้นจอ
หลังมีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรก ชื่อของ เพชรา เชาวราษฎร์ ก็เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่แฟน ๆ รวมถึงคนในวงการบันเทิง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “เจน จำรัสศิลป์” นักข่าวบันเทิงชื่อดังที่ประทับใจในดวงตากลมโตคู่งามของนางเอกดาวรุ่งดวงใหม่คนนี้ถึงขั้นตั้งฉายาให้อย่างอลังการว่า “นางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง”
ต่อมาเธอก็ มีผลงานภาพยนตร์ใหม่อีกหลายเรื่อง ได้แก่ “ดอกแก้ว” (2505), “หนึ่งในทรวง” (2505) และ “อ้อมอกสวรรค์” (2505) ซึ่งในเรื่อง อ้อมอกสวรรค์ นั้น เธอได้กลับมาประกบคู่กับพระเอกคนแรกคือ มิตร ชัยบัญชา อีกครั้ง หลังจากนั้นทั้งคู่ก็ได้แสดงภาพยนตร์ร่วมกันอีกหลายเรื่อง เช่น “แพนน้อย” (2506), “อวสานอินทรีแดง” (2506), “นกน้อย” (2507) ฯลฯ ด้วยความที่ทั้งคู่เข้าวงการห่างกันแค่ไม่กี่ปี มีเคมีการแสดงที่เข้ากันได้ดีจนเหมือนเล่นด้วยกันมาหลายปี คนหนึ่งดูเป็นหนุ่มมาดเข้มอบอุ่น คนหนึ่งเป็นนางเอกสาวแสนอ่อนหวานบอบบางน่าทะนุถนอม จึงกลายเป็นที่มาของตำนานพระเอก-นางเอกคู่ขวัญ (สมัยนี้ก็คือ “คู่จิ้น”) “มิตร-เพชรา” ที่ว่ากันว่าเป็นคู่ขวัญคู่แรก ๆ ของเมืองไทย และยังถือเป็นคู่ที่โด่งดังที่สุดคู่หนึ่งในประวัติศาสตร์วงการบันเทิงไทยอีกด้วย
กระแสความโด่งดังของคู่ขวัญ มิตร-เพชรา มีต่อเนื่องยาวนานกว่า 7 ปี ว่ากันว่ายุคนั้นขอแค่มีชื่อ มิตร-เพชรา อยู่บนโปสเตอร์หนัง แฟน ๆ ก็พร้อมควักกระเป๋าซื้อตั๋วเข้าไปชมโดยไม่อ่านเรื่องย่อเลยด้วยซ้ำ ครั้งหนึ่งเคยมีแฟนหนัง มิตร-เพชรา ในต่างจังหวัดรวมตัวกันเหมารถเมย์เพื่อเดินทางเข้าไปดูหนังในตัวเมือง แต่พอมาถึงหน้าโรงกลับปรากฎว่าไม่มีหนังของ มิตร-เพชรา เข้าฉายในเวลานั้น ทั้งหมดก็ตีรถเมล์กลับต่างจังหวัดทันที โดยหนึ่งในผลงานที่ถือเป็นไอคอนนิคของทั้งคู่ก็คือเรื่อง “มนต์รักลูกทุ่ง” (2513) ซึ่ง มิตร ชัยบัญชา รับบทเป็น “คล้าว” ส่วน เพชรา เชาวราษฎร์ รับบทเป็น “ทองกวาว” หนังสามารถทำรายได้ทั่วประเทศไปแบบถล่มทลายถึง 13 ล้านบาท (ในยุคที่ก๋วยเตี๋ยวชามละไม่ถึง 1 บาท) และยืนโรงฉายติดต่อกันนาน 6 เดือนเต็ม
นอกจากชื่อเสียงในประเทศแล้ว กระแสความโด่งดังของคู่ขวัญ มิตร-เพชรา ยังกึกก้องไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน รวมถึงฮ่องกง และไต้หวัน ทั้งสองได้ร่วมแสดงในภาพยนตร์กำลังภายในของฮ่องกงเรื่อง “อัศวินดาบกายสิทธิ์” (2513) ที่กำกับการแสดงโดย “เฉิน เลียก ปิน” ร่วมกับนักแสดงชื่อดังฝั่งฮ่องกงอีกหลายคน ทำให้ทั้งคู่ได้รู้จักกับดาราดังระดับแถวหน้าของเอเชียในยุคนั้นอย่าง “เจียง ปิง” และ “เดวิด เจียง” โดยเฉพาะในรายของ เดวิด เจียง ที่มีความสนิทสนมกับ มิตร-เพชรา มากเป็นพิเศษ
เพชราเคยเล่าถึงความสัมพันธ์ของพวกเขากับซูเปอร์สตาร์ชาวฮ่องกงรายนี้ว่า ทุกวันหลังการถ่ายทำ เดวิด เจียง จะพาพวกเขาทั้งคู่ไปทานอาหารที่ร้านอาหารจีน บางคืนก็สังสรรค์กันจนถึงเที่ยงคืนจนเธอต้องขอตัวไปพักผ่อนก่อน ส่วน มิตร ก็ยังคงสังสรรค์กับ เดวิด เจียง ต่อจนดึกดื่น จนกระทั่งวันที่ เดวิด เจียง ทราบข่าวการจากไปของ มิตร ชัยบัญชา เขาถึงกับหลั่งน้ำตาให้สัมภาษณ์สื่อฮ่องกงว่าเขาเสียใจในการสูญเสียครั้งนี้ของคนไทยมาก หลังจากที่ มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิต เดวิด เจียง ก็ยังคงมีโอกาสไปมาหาสู่กับ เพชรา ทั้งในเรื่องงานและเรื่องส่วนอีกหลายครั้ง เช่น ร่วมกันถ่ายปกนิตยสาร “โลกดารา” ฉบับที่ 22 ประจำวันที่ 15 มีนาคม 2514 รวมถึงในตอนที่ เดวิด เจียง เดินทางมาถ่ายทำภาพยนตร์ที่ประเทศไทยเมื่อช่วงปี พ.ศ.2514 เขาก็ได้แวะไปทักทาย เพชรา เป็นการส่วนตัวถึงในกองถ่ายหนังเรื่อง “สื่อกามเทพ” (2514) อีกด้วย
โศกนาฎกรรม “อินทรีทอง” ปิดตำนานคู่จิ้น มิตร-เพชรา
แม้ว่า มิตร-เพชรา จะเป็นดาราคู่ขวัญกันในจอเงิน แต่ในชีวิตจริง ทั้งคู่มีความสนิทสนมกันแบบพี่ชายคนโตกับน้องสาวคนเล็ก โดย เพชรา เชาวราษฎร์ เคยเล่าถึงความสัมพันธ์ของเธอกับ มิตร ชัยบัญชา ว่า “...รู้สึกว่าเขาเหมือนพี่ชายคนโตของเราที่เคยปกป้อง คุ้มครองเราด้วย รู้สึกปลอดภัยเวลาได้แสดงคู่กับเขา...” จนกระทั่งช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ.2513 ระหว่างที่ทั้งคู่กำลังถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “อินทรีทอง” มิตร ชัยบัญชา กลับประสบอุบัติเหตุตกจากเฮลิคอปเตอร์จนเสียชีวิตขณะถ่ายทำฉากแอคชั่นแบบไม่ใช่ตัวแสดงแทน ปิดตำนานคู่จิ้นคู่ขวัญ มิตร-เพชรา ไปแบบช็อคหัวใจแฟนด้อมทั่วฟ้าเมืองไทย เหลือไว้เพียงผลงานแสดงที่ทั้งคู่มีร่วมกันเกือบ 200 เรื่อง
แม้เวลาจะล่วงเลยไปกว่า 5 ทศวรรษ แต่ เพชรา เชาวราษฎร์ ก็ยังระลึกถึงพระเอกคู่ขวัญของเธออยู่เสมอ โดยในงานอุทิศส่วนกุศลเนื่องในโอกาสครบรอบ 51 ปี การจากไปของ มิตร ชัยบัญชา เธอก็ได้มาร่วมงานและพูดถึงอดีตพระเอกผู้ล่วงลับว่า
“...ก็คงยังจำได้เพราะว่าถือว่าเขาเป็นผู้มีพระคุณมากที่สุดคนหนึ่งในชีวิตของเรา เขาเป็นพระเอกที่กำลังดัง กำลังมีชื่อเสียง แล้วเราก็มาจากไหนไม่รู้อะไรประมาณนี้ได้แสดงคู่กับเขา แล้วเขาก็เหมือนกับเป็นคนที่ปกป้องคุ้มครองเรามากเหมือนกันค่ะ ในบางครั้งบางโอกาสมันก็เสี่ยงสภาวะสิ่งแวดล้อมสารพัดที่จะมีกับตัวเรา จึงเป็นดาวรุ่งใหม่เป็นไก่อ่อนอยู่ในวงการมันก็นานพอสมควร...”
บัลลังก์นางเอกหนังไทยเบอร์ 1 ที่ต้องแลกกับ “ดวงตา”
แม้ว่ากระแสคู่ขวัญ มิตร-เพชรา จะปิดฉากลงในปี พ.ศ.2513 แต่หลังจากนั้น เพชรา เชาวราษฎร์ ก็ยังคงโด่งดังในบทนางเอกภาพยนตร์เบอร์ 1 ของเมืองไทยต่อเนื่องอีกหลายปี ได้ประกบคู่กับพระเอกชื่อดังระดับแถวหน้าของเมืองไทยในยุคนั้นเกือบทุกคน เช่น สมบัติ เมทะนี, ไชยา สุริยัน, ลือชัย นฤนาท ยอดชาย เมฆสุวรรณ, กรุง ศรีวิไล ฯลฯ โดยในช่วงที่เธอโด่งดังมากที่สุดระหว่างปี พ.ศ.2513 – 2521 ว่ากันว่าแต่ละเดือนเธอมีคิวถ่ายหนังเกือบ ๆ 20 เรื่อง เฉลี่ยแล้ววันหนึ่งต้องเข้ากองถ่ายหนังวันละไม่ต่ำกว่า 2 เรื่อง จนเธอได้รับอีกหนึ่งฉายาว่า “ราชินีจอเงิน” โดยเธอเคยเล่าถึงการทำงานในวงการบันเทิงของตัวเองไว้ว่า
“...สมัยนั้น แสดงภาพยนตร์เรื่องแรกได้รับค่าตัว 3 พันบาท และเคยได้ค่าตัวสูงสุด 5 หมื่นบาท ช่วงที่เข้าวงการใหม่ ๆ ดิฉันอดนอนไม่เป็น พอถ่ายหนังไปถึงเที่ยงคืนก็ง่วง พูดไม่รู้เรื่องแล้ว...ช่วงที่มีงานเยอะ ดิฉันถ่ายหนังทุกวัน วันละ 2 เรื่อง ถ่ายทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่เคยเล่นตัวเลยค่ะ แต่งานเยอะมากจนไม่มีเวลาจริง ๆ แม้แต่เวลาพักผ่อนยังไม่มี"
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เธอมีคิวถ่ายหนังแน่นเอี้ยดตลอดก็เพราะเธอเคารพและเกรงใจผู้กำกับหลาย ๆ คนที่อยากให้เธอร่วมแสดงในหนัง แม้จะเป็นแค่บทรับเชิญซึ่งก็มีตั้งแต่บทเด็กสลัมไปจนถึงบทเจ้าหญิง แต่ขอเพียงมีชื่อเธอแปะอยู่บนโปสเตอร์หนังก็เพียงพอจะทำให้ผู้ชมยอมจ่ายเงินซื้อตั๋วได้แล้ว ส่งผลให้เธอต้องวิ่งรอกถ่ายหนังไม่หยุดตลอดทั้งวันต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี
ท่ามกลางความสำเร็จและความโด่งดังในฐานะนางเอกหนังอันดับ 1 เพชรา เชาวราษฎร์ เริ่มมีปัญหาทางด้านการมองเห็นตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการพักผ่อนน้อยเพราะต้องวิ่งรอบถ่ายหนังตลอดทั้งวัน และต้องรับบทร้องไห้หนัก ๆ อยู่บ่อยครั้ง ในกองถ่ายภาพยนตร์มักจะเปิดไฟสว่างจ้า และใช้แผ่นสะท้อนแสงเพื่อลบเงาบนใบหน้าขณะถ่ายทำ ทำให้ดวงตาของเธอต้องเจอกับแสงจ้าตลอดทั้งวันติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี นานวันเข้าดวงตาของเธอทั้งสองข้างก็เริ่มมีปัญหา แม้จะไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา แต่เพราะหลาย ๆ ครั้งเธอติดคิวถ่ายหนังทำให้ไม่ได้ไปตามหมอนัด จนอาการเข้าขั้นวิกฤติ นอกจากนี้เธอมีอาการแพ้ยาที่ใช้รักษาอย่างรุนแรงจนเกิดผลข้างเคียง โดยเธอเคยเล่าถึงอาการป่วยของตัวเองในช่วงนั้นไว้ว่า สุดท้ายในปี พ.ศ.2521 หลังจากถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “ไอ้ขุนทอง” (2520) เธอก็ตาบอดสนิททั้งสองข้างและต้องประกาศวางมือจากงานแสดงทั้งหมด ปิดตำนานนางเอกตลอดกาลของวงการภาพยนตร์ไทยหลังโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงนานกว่า 16 ปี
อิทธิพลของ เพชรา เชาวราษฎร์ ที่มีต่อวงการภาพยนตร์ไทย
แม้ว่า เพชรา เชาวราษฎร์ จะต้องปิดฉากอาชีพการแสดงของตัวเองในวัยไม่ถึง 40 ปี ซึ่งถือว่าเร็วมากสำหรับนักแสดงที่เคยมีดีกรีเป็นถึงนางเอกหนังตัวท็อปของวงการ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดระยะเวลากว่า 16 ปีที่เธอโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิง อิทธิพลที่เธอมีต่อสังคมและวงการบันเทิงไทยในยุคนั้นรวมถึงยุคต่อๆ มาก็ไม่ใช่น้อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแฟชั่นการแต่งหน้าและการแต่งตัวที่สาว ๆ ในยุคนั้นต่างก็อยากมีคิ้วโก่งโค้งสวยดุจคันธนู นัยน์ตาหยาดเยิ้มหวานฉ่ำ ทรงผมหากไม่ไว้ผมแกละสองข้าง ก็ต้องซอยสั้น หรือไม่ก็เกล้าสูงเป็นมวยโต แต่งชุดที่เธอสวมใส่ในภาพยนตร์ ที่สำคัญคือข้างใบหูต้องมีจอนโค้งซึ่งถือภาพจำของเธอในยุคที่โด่งดังถึงขีดสุด นอกจากนี้ ผลงานภาพยนตร์ที่เธอเคยร่วมแสดงหลายเรื่องได้กลายเป็นผลงานคลาสสิกขึ้นหิ้งของวงการภาพยนตร์ไทย อีกทั้งยังมีอิทธิพลต่อวงการภาพยนตร์ในยุคต่อ ๆ มาอีกด้วย
อย่างภาพยนตร์ “มนต์รักลูกทุ่ง” เวอร์ชันต้นฉบับปี พ.ศ.2513 ที่นอกจากจะทำเงินถล่มทลายแล้ว ยังกลายเป็น Pop Culture ของยุค โดยเพลงประกอบภาพยนตร์ มนต์รักลูกทุ่ง หลายเพลงยังคงติดตราตรึงใจคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น มนต์รักลูกทุ่ง, สิบหมื่น, สาวนาคอยคู่, นกร้องน้องช้ำ, หนุ่มพเนจร เป็นต้น โดยเฉพาะเพลง “มนต์รักลูกทุ่ง” ที่แต่งโดย “ไพบูลย์ บุตรขัน” และร้องโดย “ไพรวัลย์ ลูกเพชร” กลายเป็นเพลงลูกทุ่งสุดอมตะมาจนถึงปัจจุบัน การันตีความยิ่งใหญ่ด้วยรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานฯ พ.ศ.2514 และรางวัลเพลงไทยลูกทุ่งยอดเยี่ยมด้านทำนอง และด้านคำร้อง พิฆเนศทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 1 พ.ศ.2539
ตัวภาพยนตร์ มนต์รักลูกทุ่ง ยังมีการนำมารีเมกสร้างใหม่อีกหลายครั้ง แบ่งเป็นภาพยนตร์ 3 ครั้ง, ละครโทรทัศน์ 4 ครั้ง และละครเวที 1 ครั้ง และแทบทุกครั้งที่มีการรีเมกใหม่ บท “ทองกวาว” นางเอกของเรื่องที่เคยแสดงโดย เพชรา เชาวราษฎร์ ก็มักจะได้นักแสดงหญิงที่กำลังโด่งดังในช่วงนั้น ๆ มารับบทนี้เสมอ ไม่ว่าจะเป็น “น้ำผึ้ง ณัฐริกา ธรรมปรีดานันท์” ในเวอร์ชันละครทีวี ปี 2538, “กบ สุวนันท์ คงยิ่ง” ในเวอร์ชันละครทีวี ปี 2548, “อุ้ม ลักขณา วัธนวงศ์ศิริ” ในเวอร์ชันภาพยนตร์ ปี 2553 รวมถึงในละครทีวี (ซีรีส์) เวอร์ชันล่าสุดที่เพิ่งออนแอร์ไปสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ก็ได้นักแสดงสาวลูกครึ่งขวัญใจสาววายอย่าง “ชาล็อต ออสติน” มารับบทดังกล่าว โดยสาวชาล็อตเคยให้สัมภาษณ์ถึงความกดดันในการรับบท ทองกวาว ไว้ว่า
“...ด้วยความที่เวอร์ชั่นก่อน ๆ ตัวละครทองกวาวคือ ทำได้ดีมาตลอด เราเลยรู้สึกว่าห้ามต่ำกว่ามาตรฐาน ต้องไม่เท่าหรือว่าสูงกว่ามาตรฐาน ถือเป็นตัวละครที่เป็นตำนาน เป็นตัวละครที่ไม่ใช่ใครก็ได้ ต้องเหมาะจริงๆ ที่จะสามารถถ่ายทอดตัวละครออกมาได้ว่านี่คือ ทองกวาว ในเวอร์ชั่นใหม่และเก่ายากมาก ๆ แต่ก็ทำออกมาได้ค่ะ…”
นอกจากนี้ หนัง มนต์รักลูกทุ่ง ยังมีอิทธิพลต่อหนังไทยที่มีฉากหลังเป็นท้องที่ชนบท และเล่าเรื่องคนบ้านนอกในยุคต่อ ๆ มา ทั้งในแง่คอสตูมการแต่งกาย ทรงผม ไปจนถึงวิถีชีวิตของคนบ้านนอก ตัวอย่างเช่น “แผลเก่า” (2520), “ครูบ้านนอก” (2521), “ลูกอีสาน” (2525) หรือแม้แต่หนังในยุคเรา ๆ อย่าง “แหยมยโสธร” (2548) ก็มีกลิ่นอาย มนต์รักลูกทุ่ง อยู่ไม่น้อยเช่นกัน
อีกเรื่องที่สร้างภาพจำให้กับเพชราคือภาพยนตร์ในตระกูล “อินทรีแดง” ดัดแปลงจากนวนิยายแนวสายลับ/ซูเปอร์ฮีโร่ของ “เศก ดุสิต” มีด้วยกัน 6 เรื่อง ซึ่ง มิตร ชัยบัญชา เล่นเป็นพระเอกทั้งหมด และในจำนวนนี้มีถึง 3 เรื่องที่ได้ เพชรา เชาวราษฎรณ์ มารับบทนางเอก ได้แก่ “อวสานอินทรีแดง” (2506), “ปีศาจดำ” (2509) และ “อินทรีทอง” (2513) ซึ่งหนังตระกูลอินทรีแดงทั้ง 3 เรื่องนี้เองที่ทำให้การแต่งหน้าและทรงผมสไตล์ เพชรา เชาวราษฎรณ์ ที่ต้องมีอายไลเนอร์เข้ม ๆ จนชิดตา ต้องรวบผมสูงเป็นมวยโต เปิดหน้าผากกว้าง และมีจอนโค้งรับกับใบหูทั้งสองข้าง ได้กลายเป็นแฟชันสุดปังของสาว ๆ ในยุคนั้น
เก็บตัวจากวงการบันเทิงนาน 40 ปี
ปัจจุบัน “แม่อี๊ด” ในวัย 82 ปี ได้ใช้ชีวิตช่วงบั้นปลายอย่างสงบสุขกับครอบครัว โดยเธอสมรสกับ “ชรินทร์ นันทนาคร” อดีตนักร้อง นักแสดง และศิลปินแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2518 จนกระทั่ง ชรินทร์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2567 ในวัย 91 ปี โดยตลอดระยะเวลาที่เธอหายหน้าหายตาไปจากวงการบันเทิงนานกว่า 40 ปี เธอปรากฏตัวต่อสาธารณะน้อยมาก เรียกว่าแทบจะนับครั้งได้ ซึ่งเธอเคยเปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้เธอเก็บตัวว่า “...ตอนหลัง ๆ ที่ไม่สบายนาน ก็ไม่มั่นใจตัวเองเพราะตัวเองดูตัวเองไม่ได้ ก็เลยไม่ค่อยมั่นใจตัวเองที่จะไปไหน จะไปทำอะไรอย่างนี้ค่ะ ก็ต้องเก็บตัวหน่อย...” แต่ก็มีบางช่วงที่เธอออกมาปรากฏตัวและก็มักก็จะได้รับความสนใจจากสื่อและประชาชนเสมอ เช่น ช่วงปี พ.ศ.2544-2548 เธอปรากฏแต่ “เสียง” ในฐานะนักจัดรายการวิทยุคลื่นลูกทุ่ง FM ให้แฟน ๆ หนังรุ่นเก่าได้หายคิดถึง ก่อนที่ในปี พ.ศ.2552 เธอจะปรากฏตัวออกสื่อเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ในฐานะพรีเซนเตอร์แบรนด์เครื่องสำอาง “มิสทีน” ซึ่งกว่าที่เธอจะยอมตกลงต้องมีการเจรจากันถึง 9 ครั้ง และรายได้ทั้งหมดเธอได้บริจาคให้การกุศล
จากนั้นในปี พ.ศ.2561 เธอก็ได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” สาขาภาพยนตร์ ซึ่งถือเป็นเกียรติยศสูงสุดในฐานะนักแสดงที่เคยฝากผลงานมากมายไว้กับวงการบันเทิงไทยชนิดที่ยากจะหาใครมาเปรียบเทียบได้
ทั้งหมดนี้คือชีวิตและการเดินทางบนถนนที่มีชื่อว่าวงการบันเทิงของ “นางเอกนัยน์ตาหยาดน้ำผึ้ง” เพชรา เชาวราษฎร์ แม้ว่าในปัจจุบัน เธอจะไม่ได้มีผลงานแสดงในวงการบันเทิง ทำให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ที่รู้จักเธอมีอยู่น้อยมาก แต่นั่นก็ไม่อาจปฏิเสธความจริงได้ว่า ครั้งหนึ่งเธอคือนางเอกหมายเลข 1 ของเมืองไทย อีกทั้งภาพยนตร์ที่เธอร่วมแสดงหลายๆ เรื่องถูกยกให้เป็นหนังไทยคลาสสิกที่ทรงคุณค่าในปัจจุบัน
ผลงานกว่า 300 เรื่องที่เธอเคยร่วมแสดง มีกว่า 56 เรื่องที่ถูกนำมารีเมกสร้างใหม่ในยุคต่อๆ มา ซึ่งถือว่าเธอเป็นนางเอกหนังไทยที่มีผลงานถูกนำมารีเมกสร้างใหม่มากที่สุดคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ และด้วยเหตุนี้เองเธอจึงได้รับการยกย่องจากแฟน ๆ รวมถึงคนในวงการบันเทิงทั้งเก่าและใหม่ให้เป็น “หยาดเพชร” แห่งวงการภาพยนตร์ไทย
ที่มา
- th.wikipedia.org
- fapot.or.th
- thethaiger.com
- hilight.kapook.com
- matichon.co.th
- facebook.com/ThaiMoviePosters
- facebook.com/photo
- th.wikipedia.org
- thaibunterng.fandom.com
- raremeat.blog