จักรวาลความสัมพันธ์ของคนชาติพันธุ์กับป่า และสายตาความเป็นอื่นของรัฐไทย ผ่านกรณี “บิลลี่ พอละจี” กระเหรี่ยงบางกลอย ณ ใจแผ่นดิน
“พวกเราขออยู่บ้านบางกลอยบนใช้ชีวิตอย่างสงบสุขเหมือนเดิม และเราจะให้ความร่วมมือช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการดูแลป่า เพื่อความมั่นคงของประชาชนและประเทศชาติในอนาคต” - บันทึกฉบับสุดท้ายของบิลลี่ เพื่อเตรียมยื่นถวายฎีกาเรียกร้องสิทธิและการดำรงอยู่ในผืนป่าแก่งกระจาน
เป็นเวลากว่า 10 ปีที่ บิลลี่ - พอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย ณ ใจแผ่นดินแห่งผืนป่าแก่งกระจาน ถูกบังคับให้สูญหาย จากการต่อสู้เพื่อสิทธิและการดำรงอยู่ในผืนป่าแก่งกระจาน ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บนผืนดินแห่งนี้มาอย่างยาวนาน แต่รัฐไทยกลับไล่รื้อและกล่าวหาเพื่อให้พวกเขาออกจากพื้นที่ใจแผ่นดินที่เป็นเสมือนจิตวิญญาณและวิถีชีวิต การรู้จักบิลลี่ในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ให้มากขึ้น อาจต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจถึงวิถีชีวิตและความสัมพันธ์ของคนกับป่าเสียก่อน

จักรวาลความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง
ความเคารพถือเป็นหัวใจของระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติ
สรรพสิ่งที่ดำรงชีวิตล้วนมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน ธรรมชาติที่แวดล้อมตัวมนุษย์ ทั้งผืนดิน แม่น้ำ อากาศ สัตว์ป่า ต้นไม้ หรือแม้กระทั่งสิ่งที่คอยปกปักษ์รักษาที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสของมนุษย์ ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการอธิบายปรากฎการณ์ธรรมชาติของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่ส่งผลให้พวกเขาปฏิบัติตนเคารพต่อธรรมชาติอย่างยิ่ง ด้วยมุมมองธรรมชาติล้วนมี ‘เจ้าของ’ มนุษย์เป็นเพียง “ผู้เข้ามาใช้” และเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น
ธรรมชาติสำหรับชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเป็นสิ่งที่มี ‘จิตวิญญาณ’ ไม่ใช่วัตถุกายภาพที่จับต้องได้ มนุษย์จึงไม่อาจครอบครองธรรมชาติได้ เพราะมนุษย์ไม่มีอำนาจใด มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ปราศจากธรรมชาติ ธรรมชาติจึงเป็นเสมือนผู้มีพระคุณและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ การปฏิบัติตนด้วยความเคารพ ทำสิ่งดีงามตามวัฒนธรรมและแบบแผนประเพณี จะไม่ก่อให้เกิดผลร้ายต่อธรรมชาติ สังเกตได้จากพิธีกรรมที่เป็นสัญลักษณ์ถึงการแสดงออกว่า “ขอใช้” และ “ขอบคุณ” ธรรมชาติเพื่อความสัมพันธ์อันดี มุมมองนี้จึงกลายเป็นพื้นฐานของความรู้ที่ใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติด้วยวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอไม่ใช่แค่บนผืนป่าแก่งกระจานเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงบริเวณภาคตะวันตกของประเทศไทยเช่นเดียวกัน

ไร่หมุนเวียนเกษตรกรรมบนพื้นฐานของการเคารพธรรมชาติ
การทำเกษตรกรรมแบบไร่หมุนเวียน เป็นหนึ่งในองค์ความรู้สำคัญในการดำรงชีพของชาวกะเหรี่ยง ‘ผู้เฒ่า’ หัวหน้าชุมชน มักจะเป็นคนเลือกสถานที่ตั้งถิ่นฐานและทำไร่ผ่านองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่สะสมมา โดยมีเป้าหมายว่า หมู่บ้านจะต้องตั้งอยู่อย่างถาวร สามารถปลูกข้าวให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีผืนดินที่เพียงพอต่อการเพาะปลูกทุกปี จะเห็นได้จากบ้านบางกลอย ณ ใจแผ่นดิน ที่ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญออยู่มากกว่า 100 ปี การตั้งถิ่นฐานถาวรของชาวกะเหรี่ยงจึงกลายเป็นเงื่อนไขหลัก ทำให้ระบบจัดการทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปด้วยความยั่งยืน และมีความมั่นคงเพียงพอให้คนรุ่นหลังดำรงชีวิตอยู่ได้
ระบบไร่หมุนเวียน เป็นการใช้ป่าไม้เป็นที่ดินในการทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตเป็นเวลา 1 ปี และพักฟื้นตัวเป็นระยะเวลา 5 - 7 ปี เพื่อให้แร่ธาตุในดินกลับมาอุดมสมบูรณ์ แล้วจึงวนกลับมาใช้พื้นที่เดิมอีกครั้ง ระบบไร่หมุนเวียนจำเป็นต้องใช้ความรู้หลายประเภท ได้แก่ 1. ความรู้เรื่องป่า 2. ความรู้เรื่องสภาพอากาศและฝนที่เหมาะแก่การเพาะปลูก 3. ความรู้เรื่องพืชพรรณเพื่อวางผังในการเพาะปลูกและชนิดของพืชที่เหมาะแต่ละฤดูกาล 4. ความรู้เรื่องสัตว์ที่อาจเป็นศัตรูพืชในการทำเกษตรกรรม 5. ความรู้เรื่องสิ่งที่คุ้มครองธรรมชาติ ทุกวิธีการทำไร่หมุนเวียนจำเป็นต้องขอขมาและไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อแสดงถึงความเคารพ
จะเห็นได้ว่าความรู้ในการทำไร่หมุนเวียนนั้นมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันหลายมิติทั้งองค์ความรู้และความเชื่อเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในดำรงชีพ ไม่มีใครเป็นเจ้าของหรือถือครองของที่ดิน เกิดการหมุนเวียนเพื่อให้ป่าไม้และแร่ธาตุในดินฟื้นตัว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่บิลลี่ พอละจี พยายามแสดงให้รัฐไทยเห็นถึงความเกื้อกูลระหว่างคนกับป่าที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงมาโดยตลอด ทั้งการเล่าเรื่องผ่านสารคดีที่ทำขึ้นสู่สาธารณะ และการเรียกร้องผ่านพื้นที่ทางการเมือง
ความสัมพันธ์คนกับป่าที่รัฐไทยไม่อาจเข้าใจ
อย่างไรก็ตาม รัฐไทยไม่ได้มีมุมมองวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนกับป่าเหมือนดั่งชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ความหลากหลายขององค์ความรู้ได้ถูกรวมศูนย์ความรู้และถูกนิยามแบบองค์ความรู้สมัยใหม่ทางวิทยาศาสตร์ และการก่อตั้งของรัฐชาติสมัยใหม่ ทำให้รัฐมีอำนาจสามารถบังคับใช้กฎหมายเหนือสิทธิการอาศัยอยู่ของชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในผืนดินแห่งหนึ่งตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษหรือนานนับร้อยปี รัฐสามารถเป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในเขตแดนของตนเองเพียงผู้เดียว ส่งผลให้สิทธิที่เคยมีของชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมจำเป็นต้องขออนุญาตจากรัฐเสียก่อน ผลจากการบังคับใช้กฎหมายนี้เองส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์
พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติเกิดขึ้นครั้งแรกปี พ.ศ. 2504 หมวด 3 การคุ้มครองและดูแลรักษาอุทยานแห่งชาติ มาตรา 16 ใจความส่วนหนึ่งว่าด้วย การห้ามมิให้ผู้ใดยึดถือครองที่ดิน รวมถึงการสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า และทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ
สิ่งนี้เป็นหนึ่งในความพยายามในการใช้กฎหมายในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ไม่ได้มีเพียงแนวคิดในการอนุรักษ์พืชพรรณหรือสัตว์ป่าเท่านั้น แต่เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้รัฐมีอำนาจเหนือบริเวณพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถไปถึงได้ ความพยายามในการจัดการนี้ทำให้ลิดรอนสิทธิที่มีอยู่ดั้งเดิมของชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่า เบียดพวกเขาให้กลายเป็นคนชายขอบและมองพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่บุกรุกพื้นที่ป่าของรัฐ พร้อมกับขับและไล่รื้อพวกเขาออกจากบริเวณที่อาศัยอยู่มาช้านาน
การจัดการป่าภายใต้แนวคิด “ป่าปลอดคน” ของรัฐผ่านการควบคุมพื้นที่ ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่ามาช้านานจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานและได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินตามที่กำหนด โดยปราศจากการทำความเข้าใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนกลุ่มนี้ ดังเช่นกรณีพื้นที่ใจแผ่นดิน ถิ่นฐานของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่รัฐพยายามให้พวกเขาออกจากพื้นที่เนื่องจากเป็นเขตอุทยานแก่งกระจาน จนนำมาสู่การถูกบังคับให้สูญหายที่เกิดขึ้นกับ บิลลี่ พอละจี
บิลลี่ พอละจี ผู้พิทักษ์สิทธิในการดำรงอยู่ของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย

“พี่บิลลี่บอกว่า ถ้าวันใดวันหนึ่งเขาเดินทางออกมาจากป่าเด็งมาถึงบางกลอยแล้วเขาหายไป ไม่ต้องเป็นห่วง ไม่ต้องตามหาเขา ให้รู้เลยว่าเขาถูกฆ่าตาย” คำพูดของ มึนอ-พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่
ความขัดแย้งที่นำมาสู่การสูญหายของบิลลี่ เริ่มมาจากหลังจากรัฐไทยประกาศตั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ชาวบ้านกระเหรี่ยงบางกลอยที่อาศัยอยู่ ณ ใจแผ่นดินในผืนป่าแก่งกระจานได้กลายเป็นกลายเป็นผู้บุกรุกป่าในเขตอุทยาน ในปี พ.ศ. 2539 เจ้าหน้าที่อุทยานพูดคุยและเจรจากับชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ให้ออกจากเขตที่อยู่เดิมบริเวณใจแผ่นดิน ไปยังบางกลอยล่างผ่านคำมั่นสัญญาว่าจะมอบที่ดินทำกินให้ ชาวกะเหรี่ยงบางส่วนได้ย้ายไปพื้นที่ใหม่ แต่เมื่อย้ายไปจริง ๆ แล้วกลับพบว่า ไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินให้ครบทุกครัวเรือนและที่ดินที่ย้ายไม่สามารถทำการเพาะปลูกหรือเกษตรกรรมได้ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงที่ย้ายออกไปได้ย้ายกลับมา ณ ใจแผ่นดิน ส่งผลให้เป็นชนวนความขัดแย้งกับรัฐไทยมาตั้งแต่ช่วงเวลานั้น
ต่อมาต่อมาปี พ.ศ. 2554 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานสมัยนั้น ได้เริ่มปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรี ทำการจับกุมไล่รื้อพร้อมกับเผาทำลายบ้านและสิ่งปลูกสร้างของชาวกะเหรี่ยงกว่า 98 หลัง เพื่อผลักให้พวกเขาออกจากพื้นที่ใจแผ่นดิน โดยอ้างว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่เป็นชนกลุ่มน้อยที่เข้ามายึดครองพื้นที่ประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายทั้งที่พวกเขามีบัตรประชาชน และกล่าวอ้างว่าครอบครองอาวุธ โดยอาวุธที่กล่าวอ้างเป็นเพียงอุปกรณ์เกษตรกรรมและล่าสัตว์เล็กเท่านั้น หลังจากเหตุการณ์ที่สร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่เป็นอย่างมาก เกิดการเรียกร้องสิทธิในพื้นที่ใจแผ่นดินและการกระทำการของเจ้าหน้าที่อุทยาน
บิลลี่ พอละจี เป็นหนึ่งในผู้เป็นกำลังหลักการพิทักษ์และปกป้องสิทธิให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ตลอดช่วงเวลาที่เกิดความขัดแย้งขึ้น และได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่เพรียง ตลอดช่วงก่อนและเข้ารับตำแหน่งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล เขาพยายามแสดงแก่สาธารณะให้ประจักษ์ถึงวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยตามเรื่องราวที่เล่าไว้ก่อนหน้านี้
แต่ด้วยอคติที่รัฐไทยพยายามยัดเยียดความผิดและความเป็นอื่นให้แก่พวกเขา ทำให้เจ้าหน้าที่อุทยานได้เผาทำลายบ้านและสิ่งปลูกสร้างของพวกเขา ส่งผลให้ปู่ของบิลลี่ที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยและชาวบ้าน 6 คน ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในข้อหานำกำลังเข้ารื้อทำลายเผาบ้านเรือนและทรัพย์สินกว่า 20 ครัวเรือน เป็นเวลาเกือบ 3 ปีหลังจากยื่นฟ้อง ศาลปกครองได้เรียกพยาน นั้นคือบิลลี่ พอละจี เข้าให้ข้อมูลแก่ศาลเพื่อพิจารณาในเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ. 2557
เพียงระยะเวลา 1 เดือนก่อนที่ศาลปกครองนัดหมายพยานเพื่อให้ข้อมูล บิลลี่ พอละจี ได้สูญหายไปในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 โดยคำให้การของชาวบ้านบริเวณบางกลอยกล่าวเพียงว่า พบเห็นบิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคุมตัวที่ด่านมะเร็วเท่านั้น ต่อมาในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2562 พบกระดูกที่คาดว่าเป็นกระดูกของบิลลี่ในถังน้ำมันที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เจ้าหน้าที่ยืนยันการเสียชีวิตโดยไม่ทราบวิธีการ แต่เป็นการเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี เกิดการฟ้องร้องและขึ้นศาลระหว่างนายชัยวัฒน์และพวกอย่างต่อเนื่องว่าเป็นสาเหตุในการฆาตกรรม
เมื่อสิงหาคม พ.ศ. 2565 สำนักอัยการสูงสุดส่งเอกสารถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสั่งฟ้องคดีอาญา นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกอีก 4 คน รวม 4 ข้อหา หนึ่งในนั้นมี การร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อย่างไรก็ตามวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรและพวก กรณีควบคุมตัวบิลลี่ แต่ไม่ส่งตัวให้พนักงานสอบสวนตามขั้นตอน ส่วนข้อหาการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและอำพรางศพศาลยกฟ้องทั้งหมดเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ หลังจากกระบวนการยุติธรรมจบสิ้นเป็นระยะเวลา 10 ปี การสูญหายของบิลลี่ยังคงหาตัวคนกระทำผิดมารับผิดชอบไม่ได้
เมื่อรัฐอาจเปลี่ยนแปลงทั้งหมด สังคมจึงต้องมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง
เหตุการณ์การถูกบังคับให้สูญหายสะท้อนถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนที่รัฐพยายามลิดรอนสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ และความไม่เข้าใจวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างหลากหลาย และการถูกบังคับให้สูญหายของบิลลี่จากการต่อสู้เพื่อสิทธิการดำรงอยู่และทำกินไม่ได้เป็นเพียงกรณีเดียวที่เกิดขึ้นเท่านั้น มีอีกมากว่า 10 กรณีที่ถูกบังคับให้สูญหาย
แม้ปัจจุบันรัฐไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เริ่มมีนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ผ่านการกำหนดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษ เป็นแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อคุ้มครองชาติพันธุ์ทั้งเรื่องสิทธิทำกินและอยู่อาศัย รวมถึงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมสำหรับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม ปัจจุบันปี พ.ศ. 2567 มีพื้นที่ชาติพันธุ์ที่ประกาศคุ้มครองแล้ว 23 พื้นที่ แต่อย่างไรก็ตามพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาทรุนแรงกับรัฐกลับไม่ได้ขึ้นเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิต อาทิ บ้านบางกลอย ณ ใจแผ่นดิน และช่องว่างระหว่างกฎหมายที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการพิจารณาว่าพื้นที่ไหนเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษหรือไม่ ยังคงเป็นดุลพิจนิจของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบบนฐานคิดการมองวัฒนธรรมเป็นองค์รวมทั้งที่วิถีชีวิตของชาติพันธุ์แต่ละพื้นที่ล้วนแตกต่างกัน
อย่างไรก็ตามการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนหรือการร่วมปกป้องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับผืนป่า ไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียทางตรงเท่านั้นที่ลุกขึ้นยืนหยัดต่อสู้ และพยายามเรียนรู้และเข้าใจความสัมพันธ์ของคนกับป่า เราทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและส่งเสียง เพื่อให้ผู้คนตระหนักรู้เป็นวงกว้างมากขึ้นได้ เพราะท้ายสุดป่าไม่ใช่แค่เพียงพื้นที่ที่เป็นวิถีชีวิตของสัตว์เท่านั้น มีกลุ่มคนชาติพันธุ์อีกจำนวนมากที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับป่าเช่นเดียวกัน

อ้างอิง
- วัชระพงศ์ ธนไชยเต็มวงศ์. 2564. สิทธิในที่ดินของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านใจแผ่นดินและบ้านบางกลอยบนในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทย. (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต). ธรรมศาสตร์, คณะนิติศาสตร์, สาขากฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.
- ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. 2534. องค์ความรู้นิเวศน์วิทยาของชุมชนเกษตรกรรมในเขตป่าศึกษา กรณีชุมชนกะเหรี่ยงในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร.วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต). ธรรมศาสตร์, คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา.
- so07.tci-thaijo.org
- amnesty.or.th
- amnesty.or.th
- policywatch.th