Album Review | The ███████ : Boring Original Nonsense (2018)
ในยุคที่ศิลปินเกิดขึ้นใหม่ราวกับดอกไม้บานสะพรั่ง ทำให้การตั้งชื่อวงให้เป็นที่น่าจดจำจึงเป็นเรื่องท้าทายมาก แต่มันก็ดันมีศิลปินบางกลุ่มที่ตั้งชื่อวงประหลาดออกไปจนเหมือนไม่อยากให้ใครอ่านออก อย่างเช่นวง !!! (อ่านว่า Chk Chk Chk) วงแดนซ์พังก์จากนิวยอร์ก Sunn O))) (อ่านว่า Sun) วงพาวเวอร์แอมเบียนต์จากอเมริกาเช่นเดียวกัน แต่เชื่อไหมที่ประเทศไทยของเราเองก็มีชื่อวงที่อ่านยากมากๆ อย่างเช่น l _ / \ - l _ / \ - (อ่านว่า La - La) และอีกหนึ่งวงที่เราชอบเป็นพิเศษตอนที่ได้เห็นชื่อเป็นครั้งแรก นั่นก็คือ The ███████ (อ่านว่า The Black Codes) ทำให้เราเปิดโลกของการนำคอมพิวเตอร์โค้ดดิ้งมาสร้างเป็นเสียงดนตรีสังเคราะห์เพื่อช่วยสรรค์สร้างสุ้มเสียงที่ล้ำเกินหน้าศิลปินท่านอื่นในบ้านเรา แถมตัวกราฟิกของแต่ละบทเพลงก็เท่ระเบิด ซึ่งตอนที่ปล่อยเพลงออกมาในช่วงปี 2015 เราก็ไม่รู้เขาเป็นใครด้วยและเราเพิ่งจะรู้เมื่อเดือนที่แล้วเองว่า The ███████ ปล่อยอัลบั้มตั้งแต่ปี 2018! เพราะด้วยความที่ชื่อมันเสิร์ชยากมาก เลยท้อทุกครั้งที่จะหยิบมาฟัง จนเกือบลืมไปตามกาลเวลา
ถึงแม้จะผ่านไป 7 ปีแล้วก็ตาม เราอยากขอหยิบอัลบั้มในตำนานมาพูดถึงสักหน่อย อัลบั้มแรกและอัลบั้มเดียวในนาม The ███████ อัลบั้ม Boring Original Nonsense จาก จิม–กานต์ปพนธ์ บุญพุฒ ศิลปินผู้มากความสามารถไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกราฟิกดีไซน์เนอร์ ดนตรี และการเขียนโค้ด จากความสนใจในการค้นหาออริจินัลในเสียงต่างๆ สู่โปรเจกต์ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ทดลองเต็มรูปแบบ ที่ฉีกร่างเก่าของเขาจากศิลปินโฟล์กอคูสติกฟังสบายในชื่อ ‘Snuffivideo’ จากความเชื่อที่มองว่าดนตรีออริจินัลต้องมาจากคนที่เล่นเครื่องดนตรีเหล่านั้นจริงๆ สู่การเดินทางเข้าสู่มิติที่ไร้พรมแดนแห่งคลื่นเสียง พร้อมมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในยุคที่ความออริจินัลแทบไม่เหลือแล้ว ผ่านการบอกเล่าผ่านภาพและเสียงโดยใช้ประสบการณ์ความรู้จากการเรียนดีไซน์และสกิลการเขียนโค้ด สังเคราะห์สุ้มเสียงใหม่ๆ จากโลกดิจิทัล จนเกิดเป็นอัลบั้ม Boring Original Nonsense ขึ้นมา
อีกหนึ่งอย่างที่เรารู้สึกชอบเป็นพิเศษ คือปกอัลบั้มที่ถูกจัดเรียงด้วยแถบสี่เหลี่ยมสีดำบนพื้นหลังขาวสะอาด ที่ได้มาจากการเขียนโค้ดโดยใช้ชุดข้อมูลจาก ‘Firebase’ ซึ่งเป็นเครื่องสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันโดย Google คำนวณผ่าน JavaScript Library (Rune.js) ผ่านชุดข้อมูล 98 ชุดของผู้ฟัง ในช่วง 1 เดือนของวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2560 เพื่อสร้างเป็น Grid แถบสีดำให้สอดคล้องกับชื่อ ‘The Black Codes’ ซึ่งใครอยากรู้ว่ามันคำนวณยังไง ชุดข้อมูลมีอะไรบ้าง บอกเลยว่าไม่รู้เหมือนกัน โดยที่มุมบนขวาจะมีสติกเกอร์ที่มีชื่อของอัลบั้มบนพื้นหลังสี Iridescent ให้ความรู้สึกแบบ vaporwave ที่กำลังเป็นกระแสหลักของงานศิลปะในช่วงปี 2010 เป็นต้นมา ซึ่งอัลบั้มนี้ได้รวบรวมเพลงจากซิงเกิลที่ถูกปล่อยไปในช่วงปี 2015 และมีบางเพลงที่ยังไม่ถูกปล่อยออกมาในตอนนั้นให้ฟังกันอีกด้วย
01 Forever Login
เพลงบรรเลงเพลงแรกที่ถูกเลือกนำมาเปิดอัลบั้ม แค่ชื่อก็กินขาดแล้ว เราคิดว่าคุณจิมต้องเป็นคนชอบเล่นเกมมากแน่ๆ เพราะเราเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตว่าถ้าหากเปรียบชีวิตของคนเราเป็นเกมสักเกมหนึ่ง นี่คือเกม ‘Perma-Permadeath’ (เกมที่มีระบบลบบัญชีของผู้เล่นหลังจากผู้เล่นตายในเกมแบบถาวร) ที่เราถูกบังคับล็อกอินมาเพื่อให้เล่นไปตามระบบของโลกใบนี้ พอด้วยมันเป็นเพลงบรรเลง 100% มันจึงเปิดกว้างในการตีความและจินตนการถึงเรื่องราวของเพลงต่อไปได้ตามใจของผู้ฟังเองเช่นกัน ซึ่งพอผมคิดว่าคอนเซ็ปต์มันเป็นเกมชีวิตแล้ว บวกกับเพลงบรรเลงที่มีกลองแบบระทึกขวัญบนเลเยอร์ของเสียงสังเคราะห์ที่วิ่งผ่านไปมา ทำให้เพลงนี้เปรียบเสมือนปฐมบทของเรื่องราวทั้งหมดที่ให้ได้ล็อกอินเข้าไปฟังโลกแห่งเสียงสังเคราะห์ที่เขารังสรรค์ขึ้นมา
02 ######
ถ้าเห็นแค่ชื่อเพลงเราคงไม่รู้ว่ามันต้องอ่านว่าอะไรแน่ๆ แต่ถ้าได้ดูวิชวลประกอบเพลงนี้ หลายคนน่าจะเริ่มเก็ตว่าตัวอักษร ‘#’ ที่นำมาต่อกันนั้นน่าจะใช้แทนลักษณะของรางรถไฟ กับการบอกเล่าการเดินทางที่มีความสับสนภายในจิตเป็นเพื่อนร่วมทาง ผ่านเสียงบรรยายเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษ เราสามารถสัมผัสได้ถึงการเดินทางแบบไร้จุดหมายของคนคนหนึ่งบนขบวนรถไฟที่ไร้ผู้คน พาร์ทดนตรียังใช้กลองคล้ายๆ กับเพลง Forever Login ดำเนินเรื่องอยู่ แต่คราวนี้มันถูกทำหน้าที่เหมือนกับเป็นพนักงานรถไฟพาเราเข้าสู่ภวังค์อันลึกลับและสับสนตามจังหวะกลองที่ค่อยๆ breakbeat ซิ่งสับแหลกขึ้นเรื่อยๆ ที่ชอบที่สุดคือการเติมสีสันเพลงนี้ให้สว่างมากขึ้นด้วยเสียงสียงแซ็กโซโฟนที่บรรเลงตลอดการเดินทางนี้ ให้ความรู้สึกเคว้งคว้าง ไม่น่าไว้ใจ แต่ก็ยังน่าค้นหาต่อไป
03 56k dreams
ตอนที่ผมเห็นชื่อเพลงนี้ครั้งแรก เราคิดถึงยุคสมัยที่ต้องต่อเน็ตบ้านความเร็ว 56k เพื่อเล่นเกมในช่วงยุค 2000s เราไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าเพลงนี้พูดถึงอะไร แต่บรรยากาศของเพลงทำให้เรานึกถึง BGM ประกอบเกมอย่าง Maplestory หรือ Ragnarok Online ที่ให้ความรู้สึกเหมือนเดินเล่นอยู่ในโลกจำลองคุยกับ npc ค้นหาไอเทมที่ซุกซ่อนอยู่ในเกมเหล่านั้นไปเรื่อยๆ โดยมีเสียงสังเคราะห์ที่คล้ายกับเครื่องเป่าลมไม้บนเลเยอร์ของเสียงซินท์ล่องๆ ให้ความรู้สึกอบอุ่นหัวใจอย่างบอกไม่ถูก
04 Sighhh!
ถ้าบอกว่านี่คือประกอบหนังฆาตกรรมสักเรื่องผมก็เชื่อ เพราะมันให้ความลุ้นระทึกเหลือเกิน โดยเฉพาะเสียงซินท์ลีดในสเกลอาราเบี้ยน ที่ทำให้เรามีความรู้สึกเช่นเดียวกับตอนได้ยินเพลง Karma Coma ของ Massive Attack เวอร์ชั่นฮ่องกง จากหนัง Fallen Angles (1995) ของ Wong Kar-Wai มันให้ความรู้สับสนประมาณนั้นเลย แถมเนื้อหาหลักของเพลงยังพูดถึงของการบรรยาภาพของความสวยงามของสิ่งที่เห็นด้วยตาเสียดิบดี แต่ตีท้ายครัวด้วยความรู้สึกของการกลับมามือเปล่า ไม่สามารถเป็นเจ้าของอะไรที่เห็นได้เลย เห้อ!
05 Delete
เพลงนี้เปิดตัวด้วยเสียงของระฆัง ที่มีเสียงกลองเคาะจังหวะในรูปแบบเดียวกันกับพลงที่ผ่านมา ทำหน้าที่เป็นพื้นหลังอยู่เบื้องหลังเบาๆ ราวกับว่าจะเริ่มพิธีการล้างสมอง ลบความทรงจำเราออกไป ก่อนจะมีริฟฟ์กีตาร์ไลน์อาหรับเป็นตัวปู ก่อนลากเราเข้าสู่ภวังค์เสียงสุดระทึกขวัญแบบเต็มรูปแบบ อาร์ตเวิร์กสื่อสารผ่านการนำสิ่งของมาจัดเก็บในแคปซูลทรงกลมในสไตล์ vaporwave art พร้อมกับตัวเลือกแบบเกม Turn based rpg ว่าเราจะจัดการกับความทรงจำที่เรามีสัมพันธ์ด้วยเหล่านี้ยังไงดี เพลงนี้เป็นแบบเพลงเราที่ชอบมากที่สุดในอัลบั้ม เพราะมันเต็มไปด้วยสุ้มเสียงสังเคราะห์ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังหลากหลายเลเยอร์ เติมแต่งมิติของเพลงให้รู้สึกน่าค้นหาและกดดันสุดๆ
06 Warp Portals
ประตูมิติแห่งเสียงสังเคราะห์ได้ถูกเปิดออกผ่านการใช้ arpeggio ให้เสียงซินท์วิ่งเล่นวนลูป สร้างบรรยากาศไม่น่าไว้ใจขึ้นมา ก่อนจะอัดด้วยเสียงกระหึ่มๆ ของซินท์เบส ตบด้วยเสียงซินท์แพดที่ช่วยทำให้เพลงผ่อนคลายขึ้นก่อนจะเข้าช่วงร้องที่ว่าด้วยเรื่องของการเดินทางไปไหนก็ได้ที่อยากไป ขอแค่มีใครสักคนร่วมทางไปกับเรา ที่เราชอบมากๆ คือมันสามารถรู้สึกได้ถึงช่วงเวลาที่ตึงเครียดและผ่อนคลายชัดเจนมากๆ ถ้าถึงท่อนที่มีเนื้อร้องเพลงก็จะรู้สึกสว่างสุดๆ แต่ถ้าเป็นท่อนที่เพลงบรรเลงก็รู้สึกได้ถึงความตึงเครียดฉิบหาย เหมือนกับกำลังเดินทางข้ามมิติเต็มสปีดแกนวาร์ปที่ไม่รู้จะสิ้นสุดตรงไหน เหมือนลูกเต๋าที่สามารถออกหน้าไหนก็ได้
07 Lagoon
ภาพของลำโพงใต้น้ำที่ส่งคลื่นเสียงไปตามจังหวะเสียงกลอง คลอไปด้วยดนตรีแอมเบียนต์ของเสียงสังเคราะห์หลากหลายชนิด เป็นเพลงที่ฟังสบายที่สุดในอัลบั้มรองลงมาจาก 56k Dreams ให้เราผ่อนคลายลงหลังจาก Warp Portals ว่าด้วยเรื่องความเป็นไปของธรรมชาติและชีวิต ที่ล้วนมีผลกระทบซึ่งกันและกัน ราวกับเป็นการเต้นรำสานสัมพันธ์ไปกับธรรมชาติไปด้วยกัน
08 We’re almost there
เพลงช้าฟังสบายอีกหนึ่งเพลงกับการใกล้สู่จุดสิ้นสุดของเดินทางนี้ กับดนตรีซินท์ป็อปลอยๆ ล่องไปช้าๆ มีเสียงสแนร์ก้องเป็นระยะๆ ที่ฉากหลัง บวกกับเนื้อร้องแค่เพียงหนึ่งประโยค เหมือนการเตือนตนเองว่าเราใกล้ถึงจุดหมายแล้ว คล้ายกับเวลาเราได้ยินเพลง Vangelis - Chariots Of Fire ที่ถูกเอามาใช้ประกอบวีดีโอโอลิมปิกบ่อยครั้ง มันอัดนั้นไปด้วยมวลความเหนื่อยล้าและชัยชนะในเวลาเดียวกัน แต่ว่าเอาจริงๆ แล้ว เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าการเดินทางอันไร้จุดหมายนี้มันจบสิ้นจริงๆ หรือเปล่า หรือเราแค่พูดออกมาเพื่อให้กำลังใจตนเองในตอนที่เราเริ่มไปต่อไม่ไหวแล้ว
09 New Shelter
ฉากจบสุดท้ายของการเดินทางนี้ มีแค่เรากับความอ้างว้าง จากนั้น end credit หนังก็ขึ้นทันที ปล่อยให้เราสัมผัสถึงความว่างเปล่าท่ามกลางดนตรีแอมเบียนต์ ก่อนจะกระแทกหูเราด้วยเสียง noise แตกพร่าแบบไม่มีใยดีในช่วงกลางเพลง พร้อมกับตัดลงแบบดื้อๆ ทิ้งให้เราเคว้งอีกรอบด้วยประโยค “Is there anyone out there?” เป็นการจบการเดินทางของ Boring Original Nonsense โดยสมบูรณ์เพลงสุดท้ายอย่าง New Shelter คือเพลงที่เป็นเพลงภาคต่อจาก Shelter ที่ถูกปล่อยออกมาเป็นซิงเกิลแรกในปี 2015 พูดถึงการดิ้นรนหาที่พักพิงทางจิตใจ เพื่อก้าวไปข้างหน้าต่อ แต่สุดท้ายเราก็ได้รู้บทสรุปว่าจริงๆ แล้วมันเหลือแค่ตัวเราเองในปลายทางนี้ต่างหาก
Boring Orignal Nonsense (2018) ถือเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มที่ทรงคุณค่าและเหนือกาลเวลามากๆ ในแง่ของการทำงานเชิงดนตรีทดลองโดยใช้เสียงสังเคราะห์จากเครื่องดนตรี คอมพิวเตอร์โค้ดดิ้ง การเล่าเรื่องราวภายในจิตใจตัวเอง และการดีไซน์วิชวลเพื่อบอกเล่าเรื่องราวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แทบจะเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มของไทยที่เต็มเป็นด้วยหลายมิติความรู้สึกและสไตล์เพลงที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นจากศิลปินอื่นๆ สุดๆ ในช่วงเวลานั้นและตอนนี้ แม้ว่าในปัจจุบันคุณจิมจะไม่ได้สานต่อโปรเจค The ███████ แล้ว แต่เขายังคนเวียนวนอยู่ในวงการ Coding music และทำดนตรีเบื้องหลัง เราหวังว่าวันหนึ่ง The ███████ จะกลับมาผงาดอีกครั้งในยุคสมัยที่เทคโนโลยีการผลิตเพลงมันบ้าคลั่งไปสุดๆ เราอาจจะได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ของคุณจิมอีกก็เป็นได้ เอาเป็นว่ายังไงก็รอติดตามกันไปก่อน ส่วนใครที่อยากซื้ออัลบั้มนี้เก็บไว้เป็นเจ้าของ ก็ต้องบอกเลยว่าไม่ทันแล้วจ้า แต่ยังสามารถฟังและซื้อ Digital อัลบั้มได้ผ่าน Band Camp ของ The ███████ หรือรับฟังบนยูทูปได้ที่ชาแนล karnpapon boonput ได้เลย