‘Mongrel’ ภาพสะท้อนการต่อสู้กันของ ศีลธรรม ความอยู่รอด และความหวังอันริบหรี่ในชีวิต ‘ผีน้อย’
เราได้มีโอกาสไปดู Mongrel รอบแรกที่เทศกาลหนัง World Film Festival of Bangkok ครั้งที่ 16 เมื่อวันก่อน ในช่วง session Q&A กับนักแสดง อุ้ม-วัลลภ รุ่งกำจัด นักแสดงไทยที่รับบท ‘อุ้ม’ ตัวละครหลักในเรื่องนี้ ได้ตอบคำถามเรื่องที่มาของการกระทำบางอย่างของตัวละคร ไว้ด้วยประโยคที่ทำให้เราอยากกลับบ้านมารีบปั่นต้นฉบับบทความนี้
“ผมว่าหนังเรื่องนี้ได้ทำหน้าที่ตั้งคำถามแล้ว ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันคืออะไร หลังจากนี้เป็นงานของคนดูในการตีความ”
เรารีบจดวรรคทองด้านบน กลับบ้าน เปิดคอม ลงมือตีความจุดเราสนใจที่ในหนังทันที (ตามที่พี่อุ้มบอกเลย)
ก่อนจะไปตีความด้วยกัน เราขอแนะนำหนังเรื่องนี้ให้ทุกคนอ่านคร่าวๆ
Mongrel คือภาพยนตร์กำกับโดย Chiang Wei Liang ผู้กำกับชาวไต้หวัน ซึ่งเป็นโปรเจกต์ร่วมทุนของสิงคโปร์ ฝรั่งเศส และไต้หวัน นำแสดงโดย อุ้ม-วัลลภ รุ่งกำจัด นักแสดงที่สร้างผลงานไว้มากมาย กับเรื่องล่าสุด Morrison (2023) ได้ร่วมงานกับทีมงานต่างชาติ ความพิเศษของตัวบทคือการเริ่มเขียนบทโดยใช้ชื่อเล่นจริงๆ ของ ‘อุ้ม’ เป็นตัวเอก
นอกจากนี้ยังมี อัจฉรา สุวรรณ์ นักแสดงอิสระที่เคยฝากผลงานดีๆ อย่าง ดาวคะนอง (2016) มาร่วมสมทบในบทบาท ‘ไหม’ แรงงานไทย โดย Mongrel ได้คว้ารางวัล Special Mention ในสาย Camera d’Or สำหรับผู้กำกับที่ทำหนังยาวเรื่องแรกที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2024 ที่ผ่านมา
และกำลังจะเข้าฉายรอบสุดท้ายวันที่ 13 พ.ย. 2567 นี้ ที่เทศกาล World Film Festival of Bangkok
หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของ ‘อุ้ม’ (วัลลภ รุ่งกำจัด) คนไทยที่ตกอยู่ในสถานะแรงงานเถื่อนร่วมกับแรงงานไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์คนอื่นๆ ในแคมป์คนงานแสนเบียดเสียดแถบเชิงเขาในชนบทที่ไต้หวัน เลี้ยงชีพด้วยการออกไปทำงานดูแลผู้สูงอายุและผู้พิการตามบ้าน ‘คนชนชั้นล่าง’ ที่ต้องปากกัดตีนถีบ ไม่มีเวลามากพอที่จะเจียดเวลามาดูแลคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด
อุ้มเป็นทั้งพี่ใหญ่ในแคมป์ที่แรงงานไทยฝากฝังชีวิต และเป็นมือขวาของ ‘เฒ่าแก่’ หรือบอสที่เป็นคนพาแรงงานผิดกฏหมายเข้ามา เขาดูแลผู้สูงอายุ คนป่วย และเด็ก ในหลายๆ ครอบครัวตามที่เฒ่าแก่จัดหาให้อย่างละเอียดละออ จนเริ่มมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับแต่ละบ้าน
ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ เฒ่าแก่จึงบีบบังคับให้อุ้มพัวพันกับงานสีเทาที่เริ่มกัดกร่อน ‘ความเป็นมนุษย์’ ของตัวเองเรื่อยๆ แถมยังไม่จ่ายค่าแรงให้กับแรงงานในแคมป์ทุกคน เพื่อนแรงงานทุกคนต่างเร่งเร้าให้เขาช่วยจัดการเรื่องเงิน เฒ่าแก่เองก็บังคับให้เขามองข้ามมัน และทำงานที่ลึกๆ เขาเองต่อต้าน จุดเริ่มต้นของความบาดหมางที่ทำให้อุ้มต้องเลือกระหว่าง ‘ศีลธรรมและความเป็นมนุษย์’ กับ ‘การอยู่รอด’ ก็เริ่มขึ้น
มาถึงจุดนี้ เราอยากชวนทุกคนมาลองตีความ (แบบ free-form) และมองลึกไปในชีวิต ‘ผีน้อย’ กลุ่มแรงงานที่หลุดกรอบการดูแลของประเทศตัวเอง ไปเผชิญกับความไม่แน่นอนในต่างแดน เหมือน ‘ผี’ ที่ไร้ตัวตน และได้รับการปฏิบัติอย่างไร้ค่าทารุณ ด้วยความเป็นมนุษย์ที่มี ‘น้อย’ จนแทบจะไม่เหลือของนายจ้าง ผ่านหนังเรื่อง Mongrel กัน
แสงกระพริบสีน้ำเงินแดง เสียดแทงความเป็นมนุษย์
*บทความส่วนนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์*
หากใครได้มีโอกาสไปดูในโรงแล้ว (หรือดูจากใน teaser ก็น่าจะเห็นภาพ) จะเห็นว่าผู้สร้างหนังให้สีแดงและน้ำเงินสลับกันเข้ามามีบทบาทเสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นแสงสะท้อนที่ใบหน้าของตัวละคร หรือองค์ประกอบของแต่ละซีน ทำให้เราฉุกคิดถึงความหมายลึกๆ ที่ซ่อนอยู่ใต้สีสดบนซีนมืดดำของหนังเรื่องนี้
เริ่มกันที่ ‘สีน้ำเงิน is the darkest color’ เราน่าจะทราบกันดีว่าคำว่า ‘blue’ หรือสีน้ำเงิน/ฟ้า มักถูกเปรียบเปรือยเป็นความทุกข์ การใช้สีน้ำเงินในเรื่องนี้ อาจเป็นสัญลักษณ์ (symbol) ของความหม่นหมองของแรงงานไทย ในการเรียกร้องสิทธิ์ความเป็นมนุษย์ เห็นได้จากตัวละคร ‘ไหม’ (อัจฉรา สุวรรณ์) ที่มักสวมเสื้อสีน้ำเงินเข้ม เมื่อเธอต้องเผชิญหน้ากับอุ้ม เพื่อเรียกร้องให้เขาทำในสิ่งที่แรงงานไทยต้องการ
“เฒ่าแก่เขาเป็นอะไรกับพี่วะ พี่ถึงทำร้ายพวกเราเพื่อเขาได้”
แต่อีกมุมหนึ่ง สีน้ำเงินก็เปรียบเป็น ‘ศีลธรรม’ ที่แรงงานต้องการได้รับจากนายจ้าง เอาเข้าจริงศีลธรรมก็เป็นแค่เศษทรายก้นกระเป๋าของเฒ่าแก่ ที่เห็นมนุษย์ด้วยกันเป็นแค่สินค้าซื้อขาย ทำเงินให้ตนรอดตายไปวันๆ
ในขณะเดียวกัน เราจะเห็นสีน้ำเงินในตัวละครอุ้ม จากแจ็คเก็ตลายขวางสี น้ำเงิน-ขาว-แดง-ขาว-น้ำเงิน (นี่มันสีตรงข้ามของธงชาติไทยชัดๆ) เขาสวมใส่ความทุกข์และความสิ้นหวังที่มีในฐานะแรงงานที่ถูกขูดเลือดขูดเนื้อตลอดจนจบเรื่อง แล้วสีแดงสดล่ะ หมายถึงอะไรได้บ้าง? เรามองว่าสีแดงเป็นตัวแทนของ ‘การเอาตัวรอด’ หรือสิ่งที่เขาในฐานะแรงงานไร้ที่ไปต้องทำ แม้มันจะเป็นสิ่งที่ขืนขัดกับเบื้องลึกและตัวตนที่แสนละมุนละม่อมของตัวเอง
เสื้อลายธงชาติกลับตาลปัตรนี้ เปรียบเหมือนเป็นความขัดแย้งภายใน (inner conflict) ของอุ้ม ที่ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างสองสิ่ง ‘ที่ควรทำ’ กับ ‘ที่ต้องทำ’ และยังสื่อถึงการเป็น ‘คนนอก’ ในประเทศตัวเอง ของคนชนชั้นล่างชายขอบที่ถูกดันจนหลุดกรอบ ออกมาเป็นแรงงานในต่างแดนด้วยเช่นกัน
หนึ่งซีนที่ทำให้เราเห็นภาพการใช้สีแดงชัดเจน คือการผูกสีแดงเข้ากับสิ่งที่อุ้มได้รับจากเฒ่าแก่ อย่างเซ็ต Happy Meal สีแดงจาก แมคโดนัลด์ ที่เฒ่าแก่ซื้อให้เขาหลังจากเสร็จงาน สำหรับเรามันเป็นโมเมนต์ตลกร้ายสุดๆ เมื่อนายจ้างที่เอารัดเอาเปรียบค่าแรง ยื่นถุง ‘มื้อที่สุขที่สุดสีแดงคาดด้วยตายิ้มหยีๆ สีเหลือง’ ให้กับแรงงานเถื่อนที่ตนไม่เห็นค่า เพื่อยาใจให้อุ้มทำงาน (สีเทาๆ) ให้ต่อไป
และอีกซีนที่ใช้ ‘สีแดง’ ได้อิมแพ็คสุดๆ คือตอนที่อุ้มต้องนั่งรถไปกับเฒ่าแก่ เพื่อไปรับตัวแรงงานไทยผิดกฏหมาย ก่อนลงรถไปฉกตัวแรงงาน เขาสวม ‘มาส์กสีแดง’ เพื่อป้องกันไม่ให้ศีลธรรมและความเป็นมนุษย์ที่เพรียกร้องจากข้างในเล็ดลอดออกมา
ดังนั้นการสาดแสงกระพริบสีน้ำเงินแดงสลับกันไปในหลายๆ ฉาก หรือแม้กระทั่งไฟกระพริบสีน้ำเงินแดงที่สว่างวาบออกมาจากหูฟังใหม่ที่เฒ่าแก่ซื้อให้อุ้ม สื่อให้เห็นถึงความอัดอั้นที่อุ้มต้องแบกรับทั้งสองสีไว้บนบ่า การปะปนกันของความอ่อนโยนและใจลึกๆ ที่อยากดูแลทุกคนให้ดีที่สุด ทั้งเพื่อนแรงงานและลูกค้าของเขา กับความแปดเปื้อนจากงานสีเทาที่เขาต้องจำใจทำ เพื่ออยู่รอดและเอาใจบอสของตัวเอง
คนบกพร่องดูแลคนบกพร่อง
แรงงานข้ามชาติ ประกอบอาชีพ caretaker เพื่อทำเงินให้กับกลุ่มค้ามนุษย์ เป็นบทบาทที่ย้อนแย้งและเยือกเย็น
‘การดูแล’ ใครสักคนในช่วงเวลาที่บอบบางที่สุดในชีวิต ถือเป็นสิ่งล้ำค่าสำหรับมนุษย์คนหนึ่ง อีกแง่หนึ่งคือการเสริมองค์ประกอบเพื่อเติมเต็ม ‘ความเป็นมนุษย์’ ให้กับผู้ที่ได้รับการดูแล ให้เขาได้ กิน นอน มีชีวิตที่ใกล้เคียงมนุษย์ปกติมากที่สุด
ในบริบทของอุ้ม ตอนที่พระอาทิตย์ยังสาดแสง เขาดูแลผู้เปราะบางอย่างสุดความสามารถ ป้อนข้าว ป้อนน้ำ อาบน้ำ หรือแม้กระทั่งสำเร็จความใคร่ให้ เมื่อพระจันทร์ขึ้นมาแทนที่บนท้องฟ้าพร้อมกับเมฆดำมืดสนิท เขากลับรับใช้นายหน้าค้าแรงงานด้วยการฉกฉวยสิทธิและความเป็นมนุษย์จากเพื่อนแรงงานด้วยกันไป (แม้จะไม่ได้อยากทำก็ตาม)
ความย้อนแย้ง (irony) นี้สะท้อนให้เห็นความ ‘ไม่สมบูรณ์’ หรือ ‘ความบกพร่อง’ ของเขา ชีวิตที่ไม่ใช่สีดำ หรือสีขาว แต่เป็นสีเทาขมุกขมัวของความบกพร่องด้านการเงิน อาชีพ และอีกร้อยล้านปัจจัย ที่เกิดจากการไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงของประเทศแม่ ทำให้เขาไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ต้องดั้นด้นมาทำอาชีพเทาๆ ที่เขาไม่ได้อยากทำ
“งานที่นี่ก็ง่ายๆ อยากได้รับการดูแลแบบไหน ก็ดูแลพวกเขาในแบบนั้น”
บทบาท caretaker ของอุ้ม คือตัวแทนแรงปราถนาของชนชั้นแรงงาน ที่โหยหา ‘การดูแล’ จากรัฐ อุ้มเองก็ถูกกักขังในวังวนของชีวิตที่ต้องตรากตรำและโดดเดี่ยว ถูกกัดเซาะจากความเห็นแก่ตัวของคนที่อยู่เหนือเขาในระบบห่วงโซ่อาหาร จนเหลือความเป็นมนุษย์เพียงแค่เศษเสี้ยวน้อยนิด ไม่สมบูรณ์ บอบบาง บิดเบี้ยว ไม่ต่างอะไรจากคนที่เขาดูแล
สุดท้ายแล้วชีวิตการเป็นแรงงานข้ามชาติผิดกฏหมายในไต้หวัน ก็เปรียบเหมือนแสงกระพริบท่ามกลางฉากหลังที่มืดมน สว่าง ดับ สว่าง ดับ สว่าง ดับ เป็นสัจธรรมชีวิต ให้คนดูอย่างเราได้คิดต่อว่า คนชนชั้นล่างที่ถูกมองข้ามในสังคม ก็ไม่ต่างอะไรกับแสงริบหรี่เหล่านี้ ไม่สว่างมากพอที่จะมีใครเห็นค่า แต่ก็ไม่มืดมิดจนดับสูญ ตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์และยังหายใจกันอยู่ ก็ต้องตรากตำสู้เพื่ออยู่รอด
Mongrel เข้าฉายรอบสุดท้ายวันที่ 13 พ.ย. นี้ ที่เทศกาล World Film Festival of Bangkok จองตั๋วดูได้เลยที่แอปฯ SF cinema