“ชีวิตจริงรอเราอยู่!” ตามหาคำตอบของชีวิตที่เล็กจ้อยและยิ่งใหญ่ ผ่านหนัง 4 เรื่องสุดเรียบง่าย
ชีวิตคืออะไร เราเป็นใคร เกิดมาทำไม
ถ้าตอบแบบตรรกะโลจิกสุดๆ ก็คือ ชีวิตมีค่าคงที่เป็น “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” ที่มีผลรวมเป็น ”42“ ตามปากคำของปัญญาประดิษฐ์ในหนังสือ The Hitchhiker's Guide to the Galaxy (1979)
ส่วนบทสนทนาในหนังสือ Be Fairy, Be Real (2564) ได้ตอบคำถามเทอะทะเว่อวังเหล่านี้เบาๆ ง่ายๆ ผ่านตัวละครว่า “คุณมาจากไหน” “ช่างมันเถอะ” “คุณเป็นใคร” “ช่างมันเถอะ” “คุณเป็นอะไร” “เดี๋ยวก็ได้รู้ หรืออาจไม่รู้ก็ได้ แล้วแต่”
แต่ถึงไม่คิดค้นสมการหรืออ่านหนังสือ เราก็รู้ทั้งรู้ว่าชีวิตเรามีเส้นทางมากกว่านั้น
“ชีวิตก็แค่นี้” “ชีวิตคือการตามหาความฝัน” “ชีวิตคือการที่แม่ชีออกกำลังกาย” ฯลฯ
ไม่มีถูก ไม่มีผิด เพราะคำนี้ช่างกว้างและดูนามธรรมเหลือเกิน ทว่านี่ไม่ใช่คำถามที่ต้องการคำตอบเสมอไป เพียงแต่เป็นสิ่งที่จำเป็น เสมือนจุดเช็คพอยท์ของการเติบโตและมาตรวัดว่าชีวิตเรามีคุณค่าอย่างไร
วันนี้ EQ เลยอยากพาสำรวจหนังในธีมการเดินทางค้นหาไขคำตอบของคำถามระดับอภิมหาจักรวาลปรัชญานี้กัน!
ทั้งตัวละครที่มีเรี่ยวแรงอยากเปลี่ยนโลกสมเป็นวัยรุ่น ตัวละครลอยๆ ล่องๆ สมเป็นวัยทำงานในเมืองใหญ่ ตัวละครที่ต้องจัดการกับความสูญเสีย หรือตัวละครที่พยายามทำความเข้าใจเรื่องยากๆ ในต่างแดน ซึ่งล้วนเป็นเพียงพาร์ทหนึ่งที่ต้องเกิดกับเราทุกคน
"Rushmore" (1998) but don’t forget to slow down.
Max Fischer (Jason Schwarztman) วัยรุ่นไฮสคูลโรงเรียนเอกชนรัชมอร์ เขาแสดงความเป็นวัยรุ่นเอ็กซ์โทรเวิร์ตด้วยการเป็นหัวหน้าทุกชมรมในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น ชมรมภาษาฝรั่งเศส ชมรมหนังสือพิมพ์ ชมรม UN จำลอง ชมรมโต้วาที ชมรมสะสมแสตมป์ ชมรมคัดลายมือ ชมรมฟันดาบ ชมรมเลี้ยงผึ้ง ชมรมดูดาว ชมรมลาครอส ชมรมเทควันโด ชมรมชักว่าว ฯลฯ
อาจเพราะ Max เป็นนักเรียนทุนของโรงเรียน ที่มีเงื่อนไขห้ามสอบตกแม้แต่ครั้งเดียว เขาจึงทะเยอทะยานอยากโดดเด่นสุดๆ จนถึงขั้นตีซี้กับ Herman Blume (Bill Murray) นายทุนใจดีเจ้าของโรงเรียน เพื่อการันตีว่า ถ้าผลการเรียนไม่เอาอ่าวจริงๆ เขาจะยังคงได้ทุนนี้อยู่
ความมั่นหน้ามั่นโหนกของ Max ค่อยๆ ทำให้เพื่อนๆ หมั่นไส้ และเมื่อเขาเป็นศัตรูหัวใจกับ Herman เพราะดันตกหลุมรักครูสาวคนเดียวกัน ความสัมพันธ์ของทั้งสองก็เริ่มสั่นคลอน พวกเขาแข่งกันเพื่อพิชิตใจเธอ เรื่องเลยเถิดถึงขนาดที่ว่า Max ทำพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำกลางสนามเบสบอลโรงเรียนเพื่อเอาใจครูสาว เขาจึงถูกไล่ออกตามระเบียบ
หนุ่มนักรักต้องจำใจย้ายไปโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งดิบเถื่อนและแน่นอนว่าคนอย่างเขาย่อมเป็นที่หมายตาของแก๊งหลังห้อง เขาจึงรู้สึกท้อแท้ สูญเสียความมั่นใจ และหยุดเรียนแบบไม่มีกำหนด
คืนวันหนึ่ง ขณะช่วยพ่อปิดร้านตัดผม พ่อเอ่ยถามเขาว่า “เมื่อไรจะกลับไปเรียนต่อ ไหนว่าอยากเป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือนักวิชาการ”
“ฝันเฟื่องฮะพ่อ ผมลูกช่างตัดผม” เขาตอบ
“ฟังนะ พ่อเป็นช่าง เพราะพ่อชอบตัดผม แต่ลูกไม่ใช่” พ่อเขาขยับแว่น สวมผ้าพันคอ เดินออกไปท่ามกลางหิมะโรยปราย
Max เริ่มครุ่นคิด ค่อยๆ โฟกัสกับชีวิตใหม่ รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิท (ทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเดียวกัน) สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ ปรับความเข้าใจครูสาว
ถึงที่สุดแล้ว Max ค้นหาตัวเองผ่านการลองทุกอย่างชนิดเอาแต่ใจ ทว่ามันก็ตั้งอยู่บนฐานของการทำให้ดีที่สุดกับทุกกิจกรรมที่เขามีโอกาส จนแล้วจนรอด เขาค้นพบว่าการกำกับละครเวทีคือสิ่งที่เขารัก เป็นศาสตร์ซึ่งรวมทักษะทุกอย่างของเขา ทั้งความชอบเจ๊าะแจ๊ะกับผู้คน ความหลงใหลในศิลปะ รวมถึงเสน่ห์ล้นเหลือในงานเขียนของเขา
ในฉากละครเวทีช่วงท้ายนี้เอง ทุกคนแฮปปี้และยินดีกับการเติบโตของ Max และดูไม่ได้ยี่หระว่าเขาจะเป็นผู้กำกับละครเวทีในอนาคตหรือไม่
โดยส่วนตัว เรารู้สึกรีเลทกับตัวละคร Max เป็นพิเศษ เพราะเรามีพ่อเป็นช่างตัดผมเหมือนกัน ลองทำหลายอย่างด้วยความใจร้อนเหมือนกัน การทำละครเวทีของ Max ก็อินสไปร์ให้เราลองทำหนังสั้นบ๊องๆ ตอน ม.ปลาย (แต่เราไม่ได้คลั่งรักคนที่แอบชอบจนทำพิพิธภัณฑ์ให้นะ) ซึ่งชีวิตของ Max กำลังจะบอกวัยรุ่นอย่างเราๆ ว่า “ช้าลงหน่อย” ไม่ต้อง “Rush More” ก็ได้ เพราะการค้นหาตัวเองคือกระบวนการที่ทำไปได้เรื่อยๆ แล้วจังหวะจะโคลนที่สวยงามสโลว์โมชั่นจะเกิดขึ้นกับคุณเอง ดั่งในช็อตเต้นรำสุดท้ายของ Rushmore, ปิดม่าน
Fun fact โรงเรียนเอกชนรัชมอร์ในหนังได้แรงบันดาลใจมาจากโรงเรียนเอกชนเซนต์จอห์น ในเมืองฮูสตันที่ Wes Anderson เคยเรียนและเคยใช้กล้อง super 8 ถ่ายหนังกับเพื่อนนั่นเอง แล้ว Max จะเป็นใครได้อีกล่ะ ถ้าไม่ใช่ Wes ในวัยพลุ่งพล่าน
Lost in "Last Life in the Universe" (2003)
21 ปีที่แล้ว บ่ายวันหนึ่งของวันที่สว่างไสว เคนจิ (ทาดะโนบุ อาซาโนะ) อยู่ในอพาร์ทเมนต์ ณ ดินแดนซึ่งเวลาตามหลังบ้านเกิด 2 ชั่วโมง เขานำหนังสือในห้องมาตั้งกองสูงระดับเข่า ผูกบ่วงและแขวนเชือกเส้นหนึ่งไว้กับเพดาน เขาก้าวขึ้นกองหนังสือนั้น สอดหัวเข้าไปในบ่วงเส้นนั้น แต่ไม่ทันได้ทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นโชคหรือเคราะห์กรรม เสียงออดประตูดังขึ้นอย่างเกรี้ยวกราด พี่ชายยากูซ่าหนีจากบ้านเกิดมาอยู่กับเขาเพื่อกบดาน เขาจึงได้ใช้ชีวิตต่อ 2-3 วัน ระหว่างนั้นมีเรื่องความตาย การฆาตกรรม และเรื่องรัก ก่อนเขาจะถูกจับในดินแดนที่เวลาตามหลังบ้านเกิด 2 ชั่วโมง
ระหว่างนั่งรอในห้องสอบสวน เขาดูดบุหรี่ครั้งแรก พลางคิดถึงน้อย (ดารัณ บุญยศักดิ์) หญิงสาวที่เขาใช้ชีวิตด้วยใน 2-3 วันดังกล่าว และอาจคิดถึงนิด (ไลลา บุญยศักดิ์) น้องสาวของน้อยที่ถูกรถชนตาย
ชีวิตที่ฆ่าตัวตายไม่สำเร็จของเคนจิ จึงคล้ายควันที่ลอยล่องในลูกกรงทึบทึม เพราะบุหรี่ที่ถูกบี้ดับก็ไม่ต่างกับชีวิตตัวละครอื่นที่มีบทสุรปของตัวเอง อันที่จริง ชีวิตเขาลอยเคว้งเหมือนควันบุหรี่ก่อนจะหัดสูบด้วยซ้ำ
บางทีเป้าหมายในชีวิตของเคนจิคือการพิชิตความไม่รู้ การฆ่าตัวตายจึงเสมือนการพยายามเอาชนะความไม่รู้นั้น จนกระทั่งแรงดึงดูดของความเชื่อทำงาน เขาจึงพบคนที่ทำให้อยากมีชีวิตอยู่ต่อ แต่กว่าจะเข้าใจเรื่องนี้ เขาก็สูญเสียอิสรภาพในฐานะพลเมืองเสียแล้ว
คำถามคือ อะไรสำคัญกว่ากัน ระหว่างการค้นพบความหมายของการใช้ชีวิต แต่กลับไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หรือการมีเสรีภาพทุกย่างก้าว แต่กลับไม่มีเหตุผลที่จะอยู่ต่อ
ฟังดูแล้วก็เหมือนจิ้งจกบนเพดาน พวกมันอยู่ในโลกกว้างใหญ่ แต่กลับแน่นิ่งและโดดเดี่ยวในบ้านหลังเล็ก รอวันที่แรงโน้มถ่วงทำงานให้ตกลงมาบนพื้น ไต่ขึ้นผนัง ดักแมลงที่บินเข้าหลอดไฟ และตกลงมา, อีกครั้ง
ต้นทางคือแวววาวของอดีต ปลายทางคือ "นคร-สวรรค์" (2018)
บนแม่น้ำที่ขวางระหว่างโลกคนเป็นกับโลกคนตาย บนขีด (-) ที่กั้นระหว่างนครกับสวรรค์ บนแถบตัดต่อที่แยกซีเควนซ์ของฟุตเทจสารคดีกับฟุตเทจภาพยนตร์ บนเส้นแบ่งเหล่านั้น คือ ความพยายามทากาวประสานความทรงจำของลูกที่มีต่อแม่
นคร-สวรรค์ เล่าเรื่องส่วนตัวของ โรส-พวงสร้อย อักษรสว่าง ใช้ความจริงผสมเรื่องเล่า เพื่อเล่าเรื่องก่อนและหลังการเสียชีวิตของแม่ เส้นแบ่งข้างต้นยังปรากฏเป็นรอยสักเส้นตรงสีดำเข้มที่ลากผ่านกลางหลังของ เอย (ประภามณฑล เอี่ยมจันทร์) หญิงสาวในพาร์ทเรื่องเล่า ซึ่งในพาร์ทนี้ ทุกตัวละครพยายามแตะหรือเปิดปากให้เอยพูดสิ่งที่คิดออกมา ต่างจากพาร์ทสารคดีที่โรส (หรือเอยในความเป็นจริง) พยายามเปิดบทสนทนากับคนรอบข้างผ่านเครื่องมือประทับความทรงจำหลายกนิด ทำให้เราเห็นข้อจำกัดของกันและกัน
ในสารคดี เราไม่สามารถออกแบบชีวิตหรือกำหนดชะตากรรมใครได้ เพราะนั่นคือความจริง ส่วนภาพยนตร์ เราสามารถสร้างโลกขึ้นมาใหม่ผ่านบทที่ขีดเขียน พูดในสิ่งที่ไม่มีโอกาส แต่ก็เป็นได้เพียงภาพสะท้อนความจริงหรือให้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด นั่นจึงทำให้ นคร-สวรรค์ น่าทึ่งในแง่การประสานเรื่องเล่าจากสองกระบวนการเข้าด้วยกัน
ซึ่งภายหลังทะเลาะกับอดีตแฟนหนุ่มในโรงแรมแห่งหนึ่งของนครสวรรค์ เอยเป็นอิสระจากเส้นแบ่งบนหลังเธอเอง ด้านหนึ่ง คือสถานภาพแฟน ลูกสาว และผู้หญิงในบ้านเกิดของตัวเอง สู่อีกด้านที่เป็นความอิสระ การโบยบิน และความเป็นไปได้ ซึ่งความคลุมเครือของอนาคตนั้น อาจเทียบได้กับความไกลสุดลูกหูลูกตาของท้องฟ้า หรือวิวจากหน้าต่างบานที่เธอเปิดเองอย่างยากลำบาก
การเดินทางใน นคร-สวรรค์ ของเอย (ในเรื่องแต่ง) และโรส (ในเรื่องจริง) จึงไม่เพียงเป็นการเดินทางเพื่อชำระความรู้สึกของเธอที่มีต่อแม่ ทั้งผ่านงานศพและการจัดเรียงสารคดีจากซาวด์เรคคอร์ด ภาพถ่าย และวิดีโอ แต่ยังเป็นการเดินทางเพื่อ ‘เกิดใหม่’ ของทุกตัวละคร ผ่านแม่น้ำและท้องฟ้าที่สะท้อนบนผิวน้ำเดียวกัน คล้ายคำกล่าวของเฮราคลิตุสที่ว่า “ไม่มีใครก้าวลงแม่น้ำสายเดิมได้เป็นครั้งที่สอง”
From the core of the earth to Bang! in "Memoria" (2021)
“ปัง!”
เสียงดังลั่นปลุกให้ Jessica (Tilda Swinton) ตื่นกลางดึกในช่วงก่อนเข้าฤดูฝนของประเทศโคลอมเบีย เธอเป็นคนสกอตแลนด์ กำลังทำธุรกิจกล้วยไม้ที่เมืองเมดิยิน - เมืองใหญ่อันดับสองรองจากกรุงโบโกตา คงเป็นเพราะสถานะคนนอกและภาษาสเปนพอถูๆ ไถๆ เธอจึงมีอาการตื่นๆ กับการใช้ชีวิตในโคลอมเบีย จนกระทั่งเสียง “ปัง!” ในหัวเริ่มส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ทำให้เธอต้องคุยกับคนมากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจสิ่งนี้
วันหนึ่ง Jessica ติดต่อหนุ่มซาวด์เอนจีเนียร์นามว่า Hernán (Juan Pablo Urrego) เพื่อให้เขาสังเคราะห์ “เสียงที่ดังก้องเหมือนมาจากแกนกลางโลก จากนั้นก็หดลง เหมือนแท่งคอนกรีตที่หล่นลงบ่อโลหะซึ่งรายล้อมไปด้วยน้ำทะเล” ทว่าเมื่อความสัมพันธ์ของทั้งสองแนบชิดมากขึ้น ในวันซึ่งอากาศดูปลอดโปร่ง Jessica กลับพบว่า Hernán หายตัวไปราวกับไม่เคยมีตัวตน
ส่วนในวันที่เธอไปเยี่ยมน้องสาวที่โรงพยาบาลเมืองโบโกตา จู่ๆ แตรรถในที่จอดก็ดังระงมราวถูกผีสิง ทว่าไม่มีใครได้ยิน และขณะข้ามถนน Jessica ตระหนักว่าเธอไม่ใช่คนเดียวที่ได้ยินเสียง “ปัง!” ลึกลับ แต่ยังมีเด็กหนุ่มอีกฟากที่ล้มตัวหมอบทันทีที่เสียงในหัวเธอทำงาน จนทำให้คนแถบนั้นงุนงง แต่ Jessica เพียงหยุดมอง ครุ่นคิด และเดินไปใช้ชีวิตของตัวเองต่อไป
ไม่นาน เธอย้ายมาที่เมดิยินตามที่ตั้งใจไว้ ก่อนพบ Hernán (Elkin Díaz) คนเดิม แต่อยู่ในวัยที่แก่กว่าเสียอย่างนั้น ซึ่งระหว่างที่ Hernán ขอดเกล็ดปลาอยู่ เขารำพึงรำพันว่า เพราะเขาจำได้ทุกอย่าง เขาจึงต้องมีขอบเขตให้ตัวเองว่าควรเห็นอะไรบ้าง นั่นทำให้เขาไม่ได้ออกจากเมดิยินเลย สิ่งนี้ทำให้นึกถึงหมู่บ้านมากอนโดในนวนิยาย หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (1967) ที่เคยมีฝนอันยาวนานกว่า 14 ปี และประวัติศาสตร์การล้อมฆ่าลูกจ้างโรงงานกล้วยที่ถูกลืมเลือน เมื่อนำมาซ้อนทับกับเมดิยิน ใน Memoria ก็มีช่วงเวลา ‘ก่อนและหลัง’ ฝนตกอันยาวนาน กระทั่งมี ‘เสียงเตือน’ ที่ไม่ถูกได้ยินเหมือนกัน
หากมองอีกมุม ต้นกำเนิดของเสียง “ปัง!” ก็มีอาการคล้ายเสียงอื้ออึงเอาชีวิตรอดของการถูกปิดปาก และนั่นทำให้คนนอกผู้ไม่ได้มีอะไรข้องเกี่ยวกับดินแดนนี้ ทั้งยังหลงทิศหลงเวลา จึงได้ยินเสียง “ปัง!” เพราะไม่ได้ถูกตัดต่อความทรงจำ ส่วนฉากชวนเหวอสุดท้ายก็เป็นปริศนาที่ว่า ‘ยานแม่’ พาตัว Jessica หรือแหล่งกำเนิดเสียง “ปัง!” กลับดาวกันแน่
เส้นทางของ Jessica จึงเป็นเส้นทางสัจนิยมหัศจรรย์ที่ภูตผีมีชีวิต คนหายกลับมาได้ บรรยากาศพิลึกพิลั่นกับเจ้าโชคชะตาที่ชอบเล่นตลก และมีเพียงเสียง “ปัง!” ในหัวที่ผลักให้เธอเดินทาง ส่วนในมุมที่ธรรมดาเรียบง่ายที่สุด Jessica ก็สะท้อนความมั่นคงในการตามหาสิ่งที่เธอรับรู้แจ่มชัด โดยไม่มีใครเข้าใจสิ่งนั้นเลยแม้แต่คนเดียว
หากเรามองให้ดีแล้ว ทั้งหมดถูกเชื่อมร้อยด้วยชีวิตที่คนๆ หนึ่งต้องจัดการกับสถานการณ์เฉพาะหน้าในแต่ละช่วงวัย แม้โจทย์ของแต่ละคนจะดูต่างกันลิบลับ แต่พวกเขาก็มีชีวิตยันช่วง end credit สิ่งนี้ยืนยันว่า เป้าหมายในชีวิตของพวกเขา ไม่ได้จบอยู่แค่ในหนัง
“วันหลังก็คือวันหลัง วันนี้ก็คือวันนี้” ตัวละคร ฮิรายามะ (Koji Yakusho) จาก Perfect Days (2023) ย้ำเตือนว่า เราควรอยู่กับปัจจุบัน ทำเท่าที่ทำได้ เอนจอยกับสิ่งที่มีอยู่ ซึ่งคงเป็นพาร์ทที่ทุกคนคงมีในชีวิตเมื่อถึงจุดอิ่มตัว
“เรามาจากเทพนิยายและกลายเป็นสิ่งมีชีวิต นี่เป็นชีวิตจริงรึเปล่าน่ะเหรอ ไม่ มันเป็นแค่หนังเรื่องหนึ่ง ถอยกล้องออกไปหน่อย” ภาพค่อยๆ ซูมออก จนเห็นทั้งนักแสดงและทีมงาน
“พวกเราเป็นภาพ ความฝัน รูปถ่าย พวกเราไม่ได้อยู่ตรงนี้ โอ้ เหล่านักโทษเอ๋ย! พวกเราจะทำลายภาพลวงตา นี่คือภาพมายา! ลาก่อนภูเขาศักดิ์ศิทธิ์ ชีวิตจริงรอเราอยู่!”
ประโยคสุดท้ายในเรื่อง The Holy Mountain (1973) เป็นคำบรรยายของนักเคมีในเรื่องและเป็นวจนะของ Alejandro Jorodowsky ผู้กับกับชาวชิลีระดับตำนาน ซึ่งการเบรกฟอร์มของหนังในเรื่องนี้ก็เป็นการบอกเป็นนัยว่า ต่อให้หนังสักเรื่องจะเลอเลิศแค่ไหน ก็ไม่อาจเทียบเท่าชีวิตจริงที่รอเราอยู่นอกจอสี่เหลี่ยม
ราวกับว่า ชีวิตไม่ใช่หนังแค่เรื่องเดียว แต่คือกระบวนการที่อาศัยหนังหลายเรื่อง ประสบการณ์หลายปี การตัดสินใจหลายหน โดยในวันที่เราอิ่มตัวแบบตัวละครฮิรายามะ หรือมองขาดแบบชายชราชาวชิลี เราก็คงมีปรัชญาที่เรียบง่ายประจำใจและแบ่งปันกับคนรอบข้างได้ แต่กว่าจะถึงวันนั้น ชีวิตต้องไปต่อ!