ทำไมเราถึงเชื่อว่าข้าวของบางอย่างกันผีได้?
“ห่มผ้าตั้งแต่หัวลงไปจนถึงเท้า แล้วกำพระแน่นๆ ผีก็ไม่เห็นเราแล้ว”
เราบอกตัวเองในคืนคับขันหลังฟังพี่แจ็ค The Ghost 3 อีพีในหนึ่งคืน ความกลัวยังตกค้างในสมอง เราสวดมนต์ก่อนนอน อธิษฐานขอให้ฝันดี (ไม่มีผีรอบเตียง) แต่ก็ยังสัมผัสได้ว่าผีในเรื่องของคุณๆ ทั้งหลายเมื่อครู่ อาจจะมาเดินดุ่มๆ อยู่แถวบ้าน เราเลยคิดสารพัดวิธีมาประโลมใจระหว่างนอนขดกลัวผีบนเตียงอุ่นๆ ในห้องที่เปิดไฟสีวอร์มๆ
อะไรทำให้เราเชื่อว่าของขลัง (หรือบางทีไม่ขลัง) คุ้มกันเราจากผีได้? หากย้อนกลับไปเมื่อสมัยที่คำว่า ‘วิทยาศาสตร์’ ยังไม่ถูกบัญญัติในคลังคำศัพท์ของมวลมนุษยชาติ เหตุการณ์เหนือธรรมชาติถูกอธิบายด้วย ‘เรื่องเล่า’
ทำไมบนฟ้าถึงมีฝนดาวตก เพราะว่าเทวดากำลังลงมาเกิดน่ะสิ? ทำไมเกิดมามีปาน ก็โดนถีบลงมาจากสวรรค์น่ะสิ ทำไมฟ้าถึงผ่า? ก็เพราะบนฟ้ามีเมขลาถือลูกแก้วล่อให้รามสูรขว้างขวานอยู่น่ะสิ เรื่องธรรมชาติถูกยกระดับให้เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ เล่าปากต่อปาก ตกทอดมาเป็นมรดกทางความเชื่อที่อยู่เหนือกาลเวลา แล้วทำไมประชากรโลกยุค AI ถึงยังเชื่อในสิ่งนี้อยู่ทั้งที่เราหาคำตอบให้สิ่งรอบตัวด้วยวิทยาศาสตร์ได้แล้ว? มาหาคำตอบกัน
วิทยาไสยแบบไทยๆ
ทำไมบ้านเราถึงมีของขลังอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง? เพราะในอดีตไทยเรานับถือ ‘ภูตผี’ หรือศาสนาผีมาก่อน ด้วยอิทธิพลของพุทธ พราหมณ์ฮินดู และความเชื่ออื่นๆ ทำให้เรามีพิธีกรรมและของขลังสืบสานมาจนถึงปัจจุบัน
ย้อนกลับไปในเมื่อ 190 กว่าปีก่อน สังฆราชปาเลอกัวซ์ ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาพำนักอยู่ในไทยเป็นเวลา 24 ปี ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับเมืองไทยชื่อว่า ‘เล่าเรื่องเมืองไทย’ ในปี พ.ศ. 2397 โดยมีตอนหนึ่งที่พูดถึงเรื่องของขลังไว้ว่า คนไทยพกเครื่องรางหลายชนิด ตั้งแต่ลูกประคำ ทองคำหรือเงินร้อยไว้ในด้ายเสก ตะกรุดดอกเล็กๆ ทำด้วยแผ่นโลหะ ผู้หญิงสวมสร้อยสังวาลชุบน้ำมนต์กันแทบทุกคน เพื่อป้องกันตัวเองจากภูติผี สิ่งไม่ดี โรคภัยไข้เจ็บ และอันตรายต่างๆ
และด้วยความเป็น ‘collectivism’ รวมกันเราอยู่แยกหมู่เราท้อแท้ของสังคมในแถบเอเชีย ทำให้เรามักทำอะไรกันเป็นกลุ่ม ผู้เฒ่าผู้แก่ส่งต่อความคิดความอ่านผ่านนามสกุลและชื่ออำเภอ ไทยแลนด์จึงกลายเป็น ‘สังคมนิยมผี’ ที่อุดมไปด้วยเรื่องเล่าเฮี้ยนๆ มาจนถึงทุกวันนี้ เราเป็นประเทศที่ทำหนังผีได้น่ากลัวที่สุดในโลก มีช่องยูทูปผีๆ เยอะnและมียอดวิวเหยียบล้านแทบทุกคลิป จึงไม่แปลกอะไรที่ของขลังจะเป็น supply ที่เติบโตไปตาม demand
ของขลังแบบแรกคือแบบที่ตั้งอยู่บน ‘ความเชื่อของศาสนา’ แม้ว่าแก่นของศาสนาจะไม่ได้สอนให้ยึดติดกับวัตถุ แต่มนุษย์ที่มีศาสดาและคำสอนเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจแล้ว ก็ยังต้องการสิ่งของบางอย่างที่จับต้องได้อยู่ดี ตะกรุด พระเครื่อง สายสิญจน์ ข้าวสารเสก ผ้ายันต์ ไม้กางเขน จึงถือกำเนิด บางอย่างสามารถฟังก์ชันได้ในตัวเอง และบางอย่างต้องผ่านการประกอบพิธีกรรมเพื่อ activate ระบบ
ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับหน้าที่และวิธีใช้ของเหล่านี้กันอยู่บ้าง จึงอยากพาข้ามไปที่ของขลังแบบที่สอง ที่ไม่ได้ยึดโยงกับความเชื่อทางศาสนา แต่อาศัยสตอรี่และความ DIY
1. แขวน ‘เสื้อสีแดง’ กันผีแม่หม้าย
ความเชื่อนี้มาจากทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทย เริ่มจากผู้ชายในหมู่บ้านค่อยๆทยอยเสียชีวิตในเวลาไล่เลี่ยกันอย่างปริศนา ชาวบ้านจึงเริ่มเอาเสื้อสีแดง ที่เล่าต่อๆ กันมาว่าสามารถกันผีได้ มาแขวนหน้าบ้านหลอกผีแม่หม้ายว่า ‘บ้านนี้ไม่มีผู้ชาย’ จวบจนทุกวันนี้ทางภาคอีสานก็ยังมีสิ่งลี้ลับที่เรียกว่า ‘ผีแม่หม้าย’ ระบาดอยู่เหมือนกัน
2. ห้อย ‘เกือกม้า’ เก่าหน้าบ้าน
ของขลังกันผีปีศาจที่เป็นที่นิยมในภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดลำปางที่มีสารถีรถม้าอยู่มากมาย โดยคนโบราณเชื่อกันว่าม้าเป็นสัตว์พาหนะของพระอินทร์ นอกจากนี้ชาวเหนือยังเชื่อว่าเกือกม้าสามารถป้องกัน ‘ผีกะ’ (ผีในความเชื่อทางเหนือ) ได้อีกด้วยจึงมักเอาเกือกม้ามาเป็นของขลังที่มีกันในหลายๆ บ้าน ว่ากันว่ายิ่งเก่ายิ่งราคาแพง
3. วาง ‘เหรียญ’ บนหัวนอน
เหรียญกลายเป็นของขลังด้วยความเชื่อที่ว่าเราต้อง ‘ซื้อเตียง’ จากเจ้าที่เจ้าทาง หรือภูติผีที่อยู่บริเวณนั้นๆ คนไทยนิยมทำกันเมื่อต้องไปนอนต่างถิ่น ทั้งโรงแรม โรงพยาบาล และที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่บ้านตัวเอง ถือเป็นการทำเพื่อความสบายใจของผู้นอน
4. ใส่ ‘ล็อกเกตบรรพบุรุษ’ หรือ กอด ‘ผ้าเน่าตุ๊กตาเน่า’ ตอนเด็กๆ
อีกสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจเราได้ดีคือ ‘ความใกล้ชิด’ ของคนและสิ่งของที่เราผูกพันตั้งแต่ยังเด็ก จากใกล้ชิดกลายเป็นศักดิ์สิทธิ์ได้ในยามหมดหวัง นอกจากสร้อยพระแล้วคนไทยยังพกพารูปบรรพบุรุษ หรือบางรายอาจพกเส้นผมหรือแม้กระทั่งฟัน และเถ้ากระดูกติดตัว เราจึงมักเรียกหา แม่จ๋า พ่อจ๋า ช่วยลูกด้วย เวลาเจอผี…
นอกจากรูปคนในครอบครัวที่ข้ามมิติไปอยู่อีกภพภูมิแล้ว หลายๆ คน (โดยเฉพาะเด็กๆ) ยังยึดมั่นในข้าวของบางอย่างที่ตัวเองแชร์ความรู้สึกด้วยมากๆ เช่น ผ้าห่มที่ห่มตั้งแต่เด็ก หรือตุ๊กตาที่กอดจนเปื่อย โดยเชื่อว่าน้องเน่า ‘มีจิตวิญญาณ’ และสามารถช่วยให้เราผ่านพ้นช่วงเวลาเลวร้ายไปได้
ทำไมเราถึงเชื่อในข้าวของเหล่านี้?
ในทางจิตวิทยามีสิ่งที่เรียกว่า ‘ความคิดแบบเวทมนตร์’ (magical thinking) อยู่ อธิบายง่ายๆ คือความคิดที่เชื่อว่า การกระทำหรือสิ่งของบางอย่างมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์หรือสถานการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุมของตัวเองให้ไปในทางที่ดีได้ โดยไม่ต้องยึดโยงกับเหตุผลอะไรใดๆ บนโลกนี้
Jane L. Risen ศาสตราจารย์และนักวิจัยจาก The University of Chicago Booth ได้สำรวจหาความเชื่อมโยงระหว่างความคิดแบบเวทมนตร์ และการตัดสินใจของมนุษย์ ในวิจัยหัวข้อ Believing What We Do Not Believe: Acquiescence to Superstitious Beliefs and Other Powerful Intuitions
โดยใช้ทฤษฎี ‘A dual system models’ คือระบบการคิดของมนุษย์ที่มี 2 ขั้นตอนหลักๆ ในการตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยแบ่งออกเป็น System 1: ตัดสินใจด้วยความไวแสง เจอปุ๊บตัดสินใจปั๊บ ขับเคลื่อนด้วยอัตตากับ System 2: คิดนานหน่อยแต่ ขุดเหตุผลมาส่งเสริมการตัดสินใจก่อน โดยผลการวิจัยบอกไว้ว่า ในสถานการณ์ขนหัวลุกที่ตึงเครียดมากๆ ยังไงการคิดแบบ System 1 ก็มาก่อน
โดยปกติ System 2 จะมีหน้าที่ย้ำเตือนเราว่าการคิดแบบ System 1 มันไม่ make sense นะ! แม้มีผู้เข้าร่วมวิจัยจำนวนหนึ่งที่กลับมาตกตะกอนทีหลัง แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่าไม่ว่ามนุษย์เราจะมีการศึกษาสูงส่ง หรือมีความมั่นคงทางอารมณ์มากมายก่ายกองขนาดไหน ในสถานการณ์ที่บีบรัด เรามักตัดสินสิ่งที่อยู่ตรงหน้าด้วยสัญชาตญาณล้วนๆ ไม่มีเหตุผลใดผสม จากคนไม่เคยใส่พระ ไม่เข้าวัดเข้าวา ก็กลายเป็นสุดยอดอาตมานักสวดมนต์ได้ทันที
แม้ว่าความคิดแบบเวทมนตร์ ดูจะเป็นสิ่งที่ยึดโยงกับกับศาสนาพอสมควร แต่จริงๆ แล้ว กลุ่มคนที่เป็นอเทวนิยม หรือกลุ่มคนที่ไม่เชื่อในศาสนาเองก็มีสิ่งนี้อยู่ในตัวเช่นกัน
Cambridge University ได้ทำวิจัยเรื่อง ‘การท้าทายโชคชะตา’ โดยผู้เข้าร่วมแบ่งออกเป็นทั้งกลุ่มคนที่นับถือศาสนาและกลุ่มอเทวนิยม คนที่ไม่เชื่อในการมีอยู่ของศาสนากลับรู้สึกอึดอัด อ้ำอึ้ง กับการพูดหรือทำอะไรบางอย่างที่ท้าทายให้สิ่งแย่ๆ เกิดขึ้นกับตัวเองพอๆ กับคนที่นับถือศาสนา เช่นการตะโกนขึ้นฟ้าว่า “พรุ่งนี้ขอให้ข้าตายห่าตายโหง” หรือการพูดอะไรมั่นใจเกินจนนำความซวยเข้ามาแทน
แม้วิทยาศาสตร์จัดให้ผลลัพธ์ของการพกพาของขลังเป็น ‘เรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยเหตุและผล’ และเป็นเพียงกลไกเอาตัวรอดในเชิงจิตวิทยาที่พบได้ทั่วไปในมนุษย์ทุกคน
Bruno Latour นักปรัชญาและนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส เห็นแย้งกับสิ่งนี้ โดยกล่าวว่าเครื่องรางของขลังคือส่วนสะท้อนการดำรงอยู่ของมนุษย์ เวลาที่มนุษย์ใช้ของขลัง ของสิ่งนั้นจะทำให้ผู้ใช้รู้สึกถึงพลังอำนาจ ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ ทำให้มนุษย์มั่นใจในการดำรงอยู่ของตนเองมากขึ้น
เราอาจต้องเปลี่ยนแว่น ใช้เลนส์ของวัฒนธรรมในการอ่านค่าของขลังแทน ไม่ว่าเราจะเชื่อในอภินิหารของสิ่งเหล่านี้หรือไม่ โดยเฉพาะในบริบทสังคมไทยที่ขับเคลื่อนด้วยศาสนา ความเชื่อ และเรื่องเล่า สิ่งเหล่านี้เป็นมากกว่านั้น
เส้นบางๆ ระหว่าง ‘เชื่อ’ กับ ‘งมงาย’
อย่างไรก็ตามความเชื่อแบ่งได้เป็นสองแบบ แบบที่นำไปสู่เรื่องดีๆ และอีกแบบที่พาเราลงเหวไปกับมัน การชุบชูใจในวันที่ไร้ทางออกด้วยความเชื่อและข้าวของเหล่านี้แบบสุดโต่งเกินไป จนเลือกแก้ไขปัญหาทุกอย่างด้วยของขลัง ข้ามไปสู่แดนของความ ‘งมงายไม่ลืมหูลืมตา’ อย่างที่เราเห็นกันได้แทบจะทุกเที่ยงในรายการข่าวชื่อดังทางช่องโทรทัศน์น้อยสี ก็เป็นอีกด้านของมีดคมกริบด้ามนี้
หากเราจะโยงความเชื่อ (จนงมงาย) เข้ากับความเหลื่อมล้ำและระบบการศึกษาของไทย ก็ดูจะสมเหตุสมผลดี เพราะปัจจัยหลักที่ทำให้ความคิดแบบเวทมนตร์เบ่งบาน คือ ‘จิตใจห่อเหี่ยวสิ้นหวัง’ ที่มีอยู่ในครัวเรือนที่มีสภาพคล่องทางเงินทองและการเล่าเรียนฝืดเคืองกว่าบ้านคนมีอันจะกิน
นายแพทย์ ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับในบทสัมภาษณ์หนึ่งไว้เรื่องความงมงายในสังคมไทยไว้ว่า
“ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง มันทำให้คนกลุ่มใหญ่กลายเป็นคนที่ขาดความหวัง ขาดความมั่นคงในชีวิต ภาวะแบบนี้จะเป็นภาวะที่คนเราหันไปสู่ความงมงายได้ง่าย เราจะเห็นชัดเลยว่าประเทศที่ยิ่งความเหลื่อมล้ำน้อย ภาวะแบบนี้ก็จะน้อย และในมุมกลับกัน ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งประเทศไทยก็ติดอันดับต้น ๆ ของโลก ก็จะมีมาก เราจึงไม่ค่อยแปลกใจหรอกว่า ทำไมประเทศไทยมีความงมงายมาก”
แต่ถ้าย้อนมองกลับไปที่วิจัยของ Jane L. Risen อีกที ความคิดแบบเวทมนตร์เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกชนชั้น เราจึงเห็นตั้งแต่ ดาราแถวหน้า คนในวงการแพทย์ แม้กระทั่งนักวิทยาศาสตร์ หรือคนในประเทศโลกที่หนึ่งซึ่งมีรัฐสวัสดิการเพรียบพร้อม ก็หันมาพึ่งพาวัตถุเหล่านี้ ไม่ต่างกับคนไทย
อาจเพราะ เครื่องรางของขลังเคลื่อนที่ไปพร้อมกับชีวิตเรา คุณค่าของเหล่านี้จะปรากฏผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ที่คนในสังคมเจอ สะสมเป็นประวัติศาสตร์ที่ดำรงอยู่ในของสิ่งนั้นไปโดยปริยาย ถ้าผ้าผืนนี้เคยเซฟเราจากผีใต้เตียง มันจะถูกเล่าต่อ ส่งสารไปยัง พี่ ป้า น้า อา เพื่อน พี่ข้างบ้าน คุณค่าของผ้าก็จะยิ่งทวีคูณ เกิดเป็นความสัมพันธ์ ‘คนไทยและของขลัง’ ที่แยกกันไม่ออก สิ่งสำคัญคือมันเป็น ‘กาวเชื่อมคนในสังคม’ ก่อให้เกิดวัฒนธรรมย่อยใหม่เรื่อยๆ
สิ่งที่ทำให้ความเชื่อเหล่านี้ยังคงอยู่จนทุกวันนี้ มีข้าวของโคตรขลัง อุปกรณ์มูเตลูสำหรับคนสู้ชีวิต ขายออนไลน์มากมายในแทบจะทุกแอปฯ ไปจนถึงธุรกิจมู ระดับพันล้านที่หมุนเวียนเม็ดเงินด้วยความศรัทธา อาจไม่ใช่อะไรไกลตัวเลยนอกจาก ‘ความหวัง’ ลึกๆ ของมนุษย์ที่แค่อยากมีชีวิตดี กินอิ่ม นอนหลับ (ฝันดีไม่มีผีรอบเตียง) รับทรัพย์สิ้นเดือน
สุดท้ายแล้วเราเชื่อว่าการพึ่งพาตัวเองเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดสำหรับมนุษย์ แต่เมื่อโลกาภิวัฒน์บีบรัดให้เราต้องเอาตัวรอด ทำงานให้ไว ฟื้นตัวให้เร็ว สู้แดด สู้ฝน ทนผีสางนางไม้ ของขลังคงเป็นเหมือน gadget เสริม ตอบสนองการเยียวยาใจ และการแก้ไขปัญหารอบตัว ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนของชีวิตเท่านั้นเอง
อ้างอิง
- Silpamag
- Jane L. Risen
- Job van Wolferen, Yoel Inbar และ Marcel Zeelenberg
- ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
- มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย นครปฐม
- Sanook