‘Sony Walkman’ จากนวัตกรรมเปลี่ยนโลก สู่เครื่องย้อนเวลาหาวันวาน
~ในปี 2024 โลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี ทำให้การเข้าถึงอะไรๆ ก็ดูง่ายไปหมด อยากฟังเพลงเพลงไหนก็เลือกได้เลย หรืออยากพกเพลงออกไปที่ไหนก็ได้ก็ได้ฟัง อยากดาวน์โหลดหรือสตรีมมิ่งเพลงเท่าไรก็ได้ตามใจ ทว่าถ้าย้อนกลับไปสัก 40 หรือ 50 ปีก่อน หากใครอยากฟังเพลงก็คงต้องนั่งรอฟังจากวิทยุที่บ้าน จนกระทั่งการถือกำเนิดขึ้นของเครื่องฟังเพลงปฎิวัติวงการอย่าง ‘วอล์คแมน’
~Walkman หรือ Sony Walkman คือเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาจากบริษัทโซนี่ จากในอดีตหากอยากพกเพลงไปฟังข้างนอก หลายคนต้องยกลำโพง Boombox ที่ทั้งหนักและเสียงดังไปด้วย ทว่าหลังจากการวางขายวอล์คแมนครั้งแรกก็ทำให้การฟังเพลงของผู้คนยุคนั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เครื่องเล่นเพลงขนาดพกพาที่ทำให้เราสามารถพกเพลงไปเปิดนอกสถานที่ได้ อีกทั้งช่องเสียบหูฟังที่ทำให้เราสามารถฟังเพลงได้อย่างเป็นส่วนตัวและเลือกเพลงได้เองโดยไม่ต้องนั่งรอเพลงจากวิทยุ คำว่า ‘วอล์คแมน’ ถูกบัญญัติใน Oxford Dictionary เมื่อปี 1986 และนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อเรียกเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาที่ไม่ได้จำกัดแค่เครื่องจากบริษัทโซนี่
การเดินทางของวอล์คแมน
~ท่ามกลางสภาพบ้านเมืองยุคหลังสงคราม เข้าสู่ช่วงฟื้นฟูเมืองในหลายประเทศรวมทั้งในญี่ปุ่น อุตสาหกรรมหลายแขนงเริ่มผุดขึ้น หนึ่งในนั้นคือบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า ‘Sony’ จุดเริ่มต้นของวอล์คแมนเกิดขึ้นจากการพัฒนาเครื่องบันทึกเทป ‘Sony Pressman’ ซึ่งวางขายในปี 1977 และได้รับความนิยมในกลุ่มนักข่าวเป็นอย่างมาก ต่อมา ‘Masaru Ibuka’ ผู้ร่วมก่อตั้งโซนี่จึงได้เสนอไอเดียการสร้างเครื่องเล่นเพลงที่เขาสามารถฟังตอนออกไปข้างนอกได้
1979 - เครื่องเล่นเทปแบบพกพารุ่นแรก วันที่ 1 กรกฎาคม เครื่องเล่นเพลงภายใต้ชื่อ Sony Walkman รุ่น TPS-L2 วางขายครั้งแรก ลักษณะเครื่องเทปสีน้ำเงินแถบเงินและปุ่มสีเหลืองอันเป็นเอกลักษณ์ ทีมพัฒนาได้นำ Pressman มาพัฒนาต่อจนเกิดเป็นวอล์คแมน ซึ่งแต่ละรุ่นที่วางขายในแต่ละประเทศนั้นใช้ชื่อต่างกันไป คือ รุ่นที่วางขายในอเมริกาจะใช้ชื่อ Sound About ที่คนไทยหลายคนคุ้นเคย ทางด้านออสเตรเลียและสวีเดนเรียกว่า Sony Freestyle และใน UK ใช้ชื่อว่า Stow Away การวางขายวอล์คแมนทำให้พฤติกรรมการฟังเพลงของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป และเพียงไม่นานก็กลายเป็นที่นิยมทั่วโลก
~1984 - ครั้งแรกของซีดี วอล์คแมนทุกรุ่นที่ผ่านมานั้นเป็นเครื่องเล่นเพลงในรูปแบบเทปคาสเซ็ต แต่เนื่องด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างแผ่นซีดี ทางโซนี่จึงได้วางขายเครื่องเล่นซีดีแบบพกพาครั้งแรกภายใต้ชื่อ ‘Discman’ โดยรุ่น D-50 หรือ D-5 (แล้วแต่ประเทศที่วางขาย) คือ Discman รุ่นแรก ทำให้เราสามารถพกแผ่นซีดีออกไปเปิดเเพลงฟังข้างนอกได้ นอกจากนี้ในปีหลังๆ ยังมีเครื่องเล่นเพลงในรูปแบบใกล้เคียงกันอย่างรุ่น Sony MZ-1และ MZ-2P ซึ่งเป็นเครื่องเล่น Minidisc
~1999 - ยุคใหม่ในรูปแบบ Digital วอล์คแมนหน้าตาแปลกใหม่อย่างรุ่น NW-MS7 ถูกวางขายเป็นครั้งแรก ความโดดเด่นของรุ่นนี้คือเป็น Digital Format ที่ทำให้เหล่าวัยรุ่นวินโดว์ XP สามารถดาวน์โหลดเพลงจากอินเทอร์เน็ตใส่เมมโมรีการ์ด หรือนำเพลงจากแผ่นซีดีใส่ในเมมโมรีการ์ดเพื่อนำมาเปิดในเครื่องนี้ได้ ในยุคหลังจากนี้ เรียกได้ว่าส่วนใหญ่จะเป็น Digital Format แทบทั้งหมด ทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการลงสนามของคู่แข่งอย่าง Ipod นอกจากนี้ยังมีเรื่องความสะดวกของการส่งผ่านไฟล์เพลงที่เป็นเพียงการก็อปปี้จากหนึ่งเครื่องไปสู่อีกเครื่อง เกิดวัฒนธรรมใหม่ๆ ของวัยรุ่นยุคนั้นอย่างการไปบ้านเพื่อนเพื่อก็อปปี้เพลง หรือการดาวน์โหลดเพลงที่ไม่ค่อยจะถูกลิขสิทธิ์นักจากหลายหลายช่องทางธรรมชาติเท่าที่ชาว Y2K จะหาได้
~2009 ถึงปัจจุบัน - จากนวัตกรรมเปลี่ยนโลกสู่ของสะสม ในช่วงเวลานี้ได้มีการวางขาย X Series ที่มีความเป็นดิจิทัลคล้ายกับสมาร์ทโฟนที่เราใช้กันอย่างการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ หรือการใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ทั้งนี้เนื่องจากการเข้ามาของนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถทดแทนวอล์คแมนได้ จึงทำให้วอล์คแมนหันไปเน้นจุดขายเรื่องคุณภาพเสียงและประสบการณ์การฟัง อีกทั้งมีการทำ exclusive series ต่างๆ โดยเน้นไปที่การทำให้วอล์คแมนเป็นของสะสมสำหรับสาวกโซนี่
นวัตกรรมเปลี่ยนโลกสู่ส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน
~ปฏิเสธไม่ได้ว่านวัตกรรมที่เรียกว่าวอล์คแมนได้ปฏิวัติวงการฟังไปอย่างสิ้นเชิง อย่างที่บอกไปว่าแต่เดิมเราต้องคอยยกลำโพง Boombox ออกไปข้างนอก ไม่ก็ต้องนั่งรอฟังวิทยุว่าจะเปิดเพลงที่เราชอบเมื่อไร แต่สิ่งที่วอล์คแมนได้สร้างขึ้นให้กับคนรักดนตรีในยุคนั้นก็คือ ‘ความสะดวก’ และ ‘ความเป็นส่วนตัว’ ทำให้วอล์คแมนกลายเป็นวัฒนธรรมของวัยรุ่นยุคนั้นทั้งในญี่ปุ่นเองและไปจนถึงอเมริกาก็ยิ่งทำให้วอล์คแมนกลายเป็นส่วนนึงของชีวิตวัยรุ่นในหลายประเทศ ทั้งเดินเล่น เล่นสเก็ตบอร์ด ปั่นจักรยาน หรือกิจกรรมอย่างอื่นก็ล้วนต้องมีวอล์คแมนติดสอยห้อยตามคนละเครื่อง
~จนในยุคนั้นเราสามารถพบเห็นวอล์คแมนไปโผล่ในสื่อทั่วไป ราวกับว่ามันเป็นอีกส่วนนึงของร่างกาย อย่างรายการซิตคอมยุค 90s ชื่อ The Fresh Prince of Bel-Air นำโดย Will Smith เรื่องราวของวัยรุ่นอเมริกาจากฟิลาเดลเฟียที่ถูกส่งให้ไปอยู่กับญาติที่แมนชันเบลแอร์ ที่เรามักจะเห็น Will Smith พกหูฟังคล้องคอในหลายสถานการณ์ ทำให้เราเห็นว่าวอล์คแมนกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของวัยรุ่นยุคนั้นไปแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นก็ไม่ใช่แค่เพียงวัยรุ่นทั่วไปที่อยู่แค่ในหนังเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงคนดังอีกหลายคนในยุคนั้นด้วยที่ใช้วอล์คแมนกันอย่างทั่วถึง
~อีกหนึ่งอย่างที่แสดงให้เห็นว่าวอล์คแมนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในช่วงเวลานั้นจริงๆ นั่นก็คือการใช้เป็นพร็อปในหนังยุคนั้นหลายเรื่อง ยกตัวอย่างหนังที่หลายคนรู้จักอย่าง The Terminator ที่ฉายในปี 1984 ถึงแม้จะเป็นเครื่องเล่นเพลงจากค่าย Toshiba แต่อย่างที่ได้บอกไปว่าวอล์คแมนถูกใช้เป็นคำเรียกเครื่องเล่นเพลงพกพาโดยไม่ได้จำกัดแบรนด์
~อีกเรื่องคือ Ghostbuster ที่ฉายในปี 1989 ซึ่งเครื่องวอล์คแมนในเรื่องนี้เป็นรุ่น WM-A39 ซึ่งวางขายในปีก่อนหน้าที่หนังฉาย
~หรือจะเป็นฝั่งญี่ปุ่นกับหนังแนว Coming of Age ที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง All About Lily Chou-Chou ฉายปี 2001 โดยผู้กำกับ Shunji Iwai เรื่องราวในเรื่องนี้เล่าผ่านตัวละครวัยรุ่นที่เชื่อมโยงกันด้วยเพลงของศิลปินที่ชื่อ Lily Chou-Chou โดยเราจะเห็นวัฒนธรรมการใช้วอล์คแมน (Discman) ของวัยรุ่นในยุคนั้น ทั้งการใช้แผ่นซีดีเพลงหรือการให้เพื่อนยืมแผ่นซีดีเพื่อฟังเพลง ในฉากนั่งรถไฟเราจะเห็นโมเดลวอล์คแมนที่สึดะใช้นั้นเป็นรุ่น D-E404 ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น
~นอกจากนี้ ภาพยนตร์ในยุคหลังที่มีเซตติ้งหรือบรรยากาศในยุคก่อนปี 2000 ก็ได้มีการใช้วอล์คแมนเป็นพร็อปเพื่อสื่อถึงภาพการใช้ชีวิตของผู้คนและบรรยากาศเก่าๆ ในยุคนั้น อย่างเรื่อง Super 8 ที่ฉายในปี 2011 แต่เนื้อเรื่องนั้นได้เกิดขึ้นในปี 1979 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่โซนี่วางขายวอล์คแมนรุ่นแรกนั่นก็คือรุ่น TPS-L2
ยุคสมัยเปลี่ยน ความนิยมก็เปลี่ยน
~หลายคนอาจยังไม่เคยรู้ว่าโซนีนั้นเคยโดนฟ้องสิทธิบัตรของวอล์คแมน โดยเรื่องราวเริ่มต้นเมื่อปี 1980 ชายจากเยอรมันชื่อ Andreas Pavel ได้ฟ้องร้องบริษัทโซนี่ในข้อกล่าวหาที่ว่าโซนี่ละเมิดสิทธิบัตรและลอกเลียนแบบเครื่อง ‘Stereobelt’ ซึ่งเป็นเครื่อง Portable audio ที่เขาเป็นคนออกแบบและจดสิทธิบัตรไว้ตั้งแต่ปี 1977 ทั้งสองฝั่งต่างก็สู้คดีกันมาเรื่อยๆ เป็นเวลามากกว่า 20 ปี จนสุดท้ายในปี 2003 ทั้งโซนี่และ Pavel ก็ได้ไกล่เกลี่ยกัน โดยสัญญาการไกล่เกลี่ยในครั้งนี้ถือว่าเป็นความลับ เราจึงไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่าโซนี่ต้องจ่ายให้กับ Pavel ไปมากน้อยเพียงใด แต่ถึงอย่างนั้นหากพูดเรื่องผลกระทบด้านชื่อเสียงเองก็คงต้องมีสั่นคลอนบ้าง
~วอล์คแมนมียุครุ่งเรืองและครอบครองตลาดเครื่องเล่นเพลงพกพาตั้งแต่วางขายครั้งแรกในปี 1979 จนถึงปี 2000 ต้นๆ ซึ่งเป็นยุคที่แพลตฟอร์มดิจิทัลเริ่มเติบโต อย่างการลงมาเล่นในตลาดเครื่องเล่นเพลงของผู้นำด้านเทคโนโลยีจากอเมริกาอย่าง Apple ที่เริ่มวางขาย Ipod ในช่วงปี 2001 อีกทั้งการเข้ามาของอินเตอร์เน็ต มือถือ หรือการใช้ไฟล์เพลงดิจิทัลอย่าง MP3 ที่ถึงแม้วอล์คแมนจะมีการพัฒนารุ่นที่รองรับไฟล์ดิจิทัลเหล่านี้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในช่วงเวลานี้มีผู้เข้าแข่งขันและตัวเลือกมากมายในตลาดเครื่องฟังเพลง จึงทำให้ความนิยมของวอล์คแมนนั้นไม่สามารถเทียบเท่าช่วงเวลายุค 80s หรือ 90s
~อีกทั้งในยุคหลังๆ มานี้เนื่องจากการฟังเพลงนั้นเน้นไปที่แพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นส่วนใหญ่ วอล์คแมนรุ่นหลังก็หันไปด้านดิจิทัลเช่นกันอย่างการทำเครื่องเล่นเพลงในฟอร์แมต mp3 อีกทั้งจุดขายหลักของวอล์คแมนในเรื่องความสะดวกในการพกพาและความเป็นส่วนตัว ก็มีตัวเลือกอื่นๆ อีกมากมายเข้ามาแข่งขัน ทั้ง Ipod หรือมือถือ
~ในรุ่นหลังๆ มานี้โซนี่จึงได้สร้างจุดขายใหม่ของวอล์คแมนให้มีความเฉพาะกลุ่มมากขึ้นโดยสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นของสะสมหรือเป็นสินค้า Luxury ที่มีราคาสูงให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความ Loyalty รักในสินค้าของโซนี่และเครื่องเล่นพกพาคลาสสิกชิ้นนี้ อีกทั้งยังเน้นไปที่จุดขายเรื่องคุณภาพเสียงระดับสูงสำหรับคนที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์การฟังเพลง
~โดยช่วงเปลี่ยนผ่านที่เห็นได้ชัดคือตั้งแต่ยุคหลังปี 2010 ช่วงการวางขาย X Series เป็นต้นมา หรือที่เห็นได้ชัดใน Signature Series อย่าง WM1ZM2 Walkman® ที่มีราคาถึง 119,990 บาท พูดได้ว่าก็อาจจจะแพงไปจริงๆ สำหรับเครื่องเล่นเพลง หากใครไม่ใช่สาวกตัวยงก็อาจจะต้องขอผ่าน
~ถึงแม้ในปี 2024 วอล์คแมนไม่ได้รุ่งเรืองเท่ายุค 80s หรือ 90s เพราะโลกสมัยใหม่มีทางเลือกมากมายในการฟังเพลง แต่ถึงอย่างนั้นด้วยทั้ง brand loyalty ของเหล่าสาวกโซนี่ และกระแส Nostalgia ที่เริ่มกลับมาเป็นที่นิยม เราจึงยังคงพบความครึกครื้นในร้านเครื่องใช้ไฟฟ้ามือสอง ที่ถึงแม้แกดเจ็ตเหล่านี้ดูจะตกยุคไปแล้วแต่ก็ยังคงมีความพิเศษในตัวของมันเองซึ่งหาไม่ได้จากแอปสตรีมมิงเพลงในยุคปัจจุบัน สุดท้ายแล้วเครื่องฟังเพลงที่ดูเก่าและมีร่องรอยความทรงจำเหล่านี้ยังคงมีคุณค่าในฐานะของสะสม เครื่องแสดงความรุ่งเรื่องของวงการสร้างสรรค์ในยุคอนาล็อก และไทม์แมชชีนสู่อดีตสำหรับใครหลายคน
อ้างอิง
https://www.moon-audio.com/blog/the-evolution-of-the-sony-walkman
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Sony_Walkman_products
https://stereo2go.com/forums/threads/walkmans-in-movies.8/
https://en.wikipedia.org/wiki/Stereobelt
https://www.slashgear.com/756445/the-fascinating-history-of-the-walkman/