แม่ ลูกสาว พี่น้อง เพื่อนหญิง : สำรวจคุณค่าและความหมายของความเป็นหญิง ผ่าน 5 คู่ 10 มุมมอง
“ผู้หญิงสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่อยากเป็น” คือหลักการเฟมินิสม์ที่มีมาอย่างยาวนาน และเข้าใกล้ความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น ในวันนี้ที่ผู้หญิงไม่ได้ถูกจำกัดให้เป็นเพียงแม่หรือภรรยาของใครสักคน พวกเธอเริ่มมีสิทธิ์ มีเสียง มีอำนาจในการตัดสินใจ แม้จะยังต้องเผชิญกับคำสบประมาทและข้อกังขาก็ตาม สังคมของเรายังคงขยับไปข้างหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้วยแรงผลักที่แข็งแรงและไม่ย่อท้อของหญิงสาวทั่วทุกมุมโลก
ทางเราขอใช้โอกาสวันสตรีสากลนี้ในการนำเสนอเรื่องราวและทัศนคติอันเป็น ‘โลก’ ของผู้หญิง 5 คู่ 10 คน ที่แตกต่างทั้งในด้านของสถานะ การงาน สังคม ไปจนถึงมุมมองต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเธอทั้งหลายมีร่วมกันคือความภูมิใจในความเป็นหญิง และความรักที่มีต่อเพื่อนหญิงด้วยกัน มาสำรวจความคิดของพวกเธอกันได้ผ่านบทความนี้

Jetaim & Linda - จากแม่สู่ลูกสาว ลูกสาวสู่แม่
ตลอดการสัมภาษณ์ครั้งนี้เต็มไปด้วยความสดใส ด้วยพลังงานอันบริสุทธิ์ของ ‘ลินดา’ สาวน้อยวัยเตรียมอนุบาล และคุณแม่ของเธอ ‘เฌอแตม’ ผู้ยึดถือความสุขของลูกเป็นสำคัญ ทำให้เราเห็นว่าความรักที่แม่มีต่อลูก แต่ความรักที่ลูกมีต่อแม่นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร นับเป็นการส่งต่อความรักและอ่อนโยนจากผู้หญิงสู่ผู้หญิงที่แท้จริง
ทั้งสองคนมี Role model ผู้หญิงที่เป็นแรงบันดาลใจไหม
ลินดา : ไม่มี เพราะลินดาวาดรูปเก่งอยู่แล้ว (ทุกคนหัวเราะ)
เฌอแตม : ไม่มีเลยค่ะ มีแต่ลูก ซึ่งลูกก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราได้เหมือนกัน เพราะบางครั้งเขาก็เข้มแข็งกว่าเรามากๆ เวลาไปโรงเรียนแล้วเจอปัญหาเล็กๆ ก็จัดการเองได้ ต่างจากเราที่ตอนเด็กจะพึ่งพาพ่อแม่มาก ถือว่าลูกเก่งมากค่ะ
การเป็นผู้หญิงมีความหมายยังไงสำหรับเรา
เฌอแตม : เรามองว่าการเป็นผู้หญิงคือการมีความละเอียดอ่อนด้านความรู้สึก ตัวเราเองก็เป็นคนที่คิดเยอะมากก่อนจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ตรงนี้ก็เป็นนิสัยที่ได้จากการมีลูก มันทำให้เราคิดว่าการเป็นผู้หญิงก็ต้องแข็งแกร่งทั้งด้านจิตใจและอารมณ์ รวมถึงทุกอย่างในชีวิตค่ะ
เราชอบจุดไหนของการเป็นผู้หญิง
ลินดา : ชอบหัวใจกับดอกไม้ ชอบที่ได้เจาะหู ได้แต่งหน้าสวยๆ ได้ตวาด (ทุกคนหัวเราะ) หนูชอบเด็กผู้หญิงที่เขาเป็นเด็กดี เด็กผู้ชายบางคนก็เป็นเด็กดี บางคนก็ไม่เป็นเด็กดี หนูไม่ชอบให้ผู้ชายตวาด
เฌอแตม : ถ้าให้คิดแบบเร็วๆ ก็คงจะเป็นการได้ต่อขนตา แล้วก็ชอบทรวดทรงของผู้หญิง แต่ปกติเราไม่ได้โฟกัสเลยว่าการเป็นผู้หญิงดีกว่ายังไง เพราะทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ผู้หญิงกับผู้ชายสามารถทำทุกอย่างได้เหมือนกัน เพียงแค่จุดหนึ่งที่แตกต่างคือเราสามารถอุ้มท้องลูกได้ และได้สัมผัสความเป็นแม่ เรามองว่าตรงนี้คือความโชคดีของผู้หญิงค่ะ
อะไรคือความทรงจำเกี่ยวกับความเป็นผู้หญิงของเรา
เฌอแตม : ตอนที่น้ำคร่ำรั่วและต้องทำคลอดค่ะ จำได้ว่ารอคลอดประมาณ 23 ชั่วโมง ทั้งกินยาเร่งและอะไรต่างๆ จากที่ตอนแรกตั้งใจว่าจะเบ่งคลอดก็ต้องเปลี่ยนมาผ่าคลอด เพราะลินดานอนขวางท้อง ตอนตี 5 กว่าๆ หมอก็ตัดสินใจให้ผ่าคลอดด่วนค่ะ ตอนเห็นหน้าลินดาแล้วก็โล่งอก แต่ก็กังวลเรื่องแผลผ่าตัด น้ำนม และต่างๆ นานา เราคงจะจำโมเมนต์นั้นไปตลอดชีวิต เพราะหมอจะต้องใช้แท่งเหล็กยาวประมาณครึ่งแขนสอดเข้าไปกระทุ้งให้น้ำคร่ำแตกออกให้หมด มันทำให้เรากลัวการมีเซ็กซ์ไปเลย แต่เราก็ผ่านช่วงเวลาที่ยากมาได้เพราะมีกาย (แฟน) เขารับฟังทุกเรื่องและเข้าใจเราทุกอย่าง กายทำให้เรารู้สึกว่าจะผ่านไปได้ทุกเรื่องค่ะ
การเป็นแม่เปลี่ยนเราไปยังไงบ้าง
เฌอแตม : เปลี่ยนแทบจะทุกอย่างเลยค่ะ การเป็นแม่ทำให้เรามีข้อดีและข้อเสียเยอะขึ้น ข้อดีคือเราคิดเยอะขึ้น เพราะอยากอยู่กับเขาไปนานๆ ส่วนข้อเสียคือบางทีเราก็หงุดหงิดง่ายขึ้น เพราะไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ด้วยความที่ทั้งทำงานและเลี้ยงลูกไปพร้อมๆ กัน จะทำงานที่ไหนก็ต้องแบกลูกไปด้วย อีกอย่างคือมันทำให้เรามีความคาดหวังในตัวลูกมากขึ้น อยากให้เขาไม่วิ่ง ไม่ดื้อ ซึ่งจริงๆ เขาไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เราหวังไปเองว่าเขาต้องไม่ซน
อยากรู้ว่าพอมีลูกผู้หญิง เราต้องสอนให้เขารู้จักถึงความแตกต่างของเพศไหม
เฌอแตม : จริงๆ ที่เราทำทุกวันนี้ก็ไม่ได้สอนให้เข้าใจเรื่องความแตกต่างตรงนี้เท่าไหร่ แต่จะเน้นสอนให้เขาไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายคนอื่น และให้ช่วยเหลือทุกคนที่เราสามารถช่วยได้ ไม่เคยสอนเขาว่าผู้หญิงต้องเป็นแบบไหน ส่วนหนึ่งก็เพราะลินดายังเด็กเกินกว่าจะเข้าใจ และเรามีเพื่อนเป็น LGBTQ+ เยอะมาก ทัศนคติพื้นฐานกับจริยธรรมของทุกคนก็อยู่บนฐานเดียวกัน เราก็เลยเน้นสอนเรื่องนี้ ไม่โฟกัสเรื่องเพศค่ะ เขาจะโตไปเป็นยังไงก็ขึ้นอยู่กับเขาเลย บางวันลินดาก็พูดว่าอยากเป็นเกย์ (หัวเราะ) มีครั้งหนึ่งที่เขาเห็นเพื่อนเกย์ของเราจุ๊บกันและถามว่าผู้ชายเป็นแฟนกันได้เหรอ เราก็บอกลินดาไปว่าเป็นได้ เพศมีหลากหลายมาก ทุกเพศเป็นแฟนกันได้หมดเลย ลินดาก็เลยถามว่า “ถ้างั้นหนูขอโตไปเป็นเกย์ได้ไหม” เราก็บอกว่าได้ อยากเป็นอะไรก็เป็น
เฌอแตมอยากให้ลินดาโตขึ้นโดยจำว่าเราเป็นแม่และผู้หญิงแบบไหน
เฌอแตม : อยากให้ลูกจำว่าเราเป็นเพื่อนสนิท เพราะเราก็สนิทกับแม่เหมือนกันค่ะ เขาเป็นเหมือนเพื่อนวัยรุ่นคนหนึ่งจริงๆ มีอะไรก็คุยกันทุกเรื่อง สามารถเล่าได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่… แม่ขอเป็นเพื่อนสนิทกับลินดาได้ไหม
ลินดา : ไม่ได้
เฌอแตม : ทำไมล่ะ
ลินดา : แม่จะเป็นเพื่อนสนิทได้ยังไง หนูอยากให้แม่เป็นแม่อะ
เฌอแตม : งั้นแม่เป็นยังไงในสายตาลินดา
ลินดา : เป็นคนสวย เป็นนางฟ้า ช่วยเหลือคนอื่น ไม่ดุหนู
เฌอแตมอยากจะแนะนำอะไรกับผู้หญิงที่เป็นแม่บ้าง
เฌอแตม : น่าจะเป็นการเลี้ยงลูกในแบบที่เขาเป็นค่ะ เพราะเราให้ความสำคัญกับความสุขของลูกเป็นอันดับแรก ถ้าเขาไม่แฮปปี้ เราก็จะหยุดทันที อย่างตอนที่ลินดาเข้าโรงเรียนเตรียมอนุบาล เราก็กังวล เพราะเขาไม่เคยเจอสังคมเพื่อนวัยเดียวกันเลย เคยเจอแต่เพื่อนพ่อกับแม่ เราก็คุยกับกายว่าจะทำยังไงถ้าลูกไม่แฮปปี้ จนได้บทสรุปว่าถ้าลูกไม่มีความสุขก็จะพากลับบ้านเหมือนเดิม เราอยากทำทุกอย่างให้เขามีความสุข เชื่อใจ และรู้สึกมั่นคงในความรักของเราจริงๆ ค่ะ

Bew & Na - มิตรภาพลูกผู้หญิงและความเท่าเทียม
“พี่น้อง ผู้จัดการ เพื่อน และพาร์ทเนอร์ในการแข่งขัน” คือคำนิยามความสัมพันธ์ของ ‘บิว’ และ ‘นา’ รุ่นพี่รุ่นน้องวอลเลย์บอลทีมชาติที่ยืนคู่กันมาตั้งแต่อายุ 16-17 จนถึงปัจจุบันที่เลขนำหน้าขึ้นต้นด้วยเลข 3 เรียกได้ว่าเป็นมิตรภาพอันยาวนานที่ทำให้พวกเธอเป็นราวกับครอบครัวเดียวกัน และเข้าใจกันดีที่สุดในฐานะผู้หญิง
ทั้งสองคนชอบอะไรมากที่สุดเกี่ยวกับการเป็นผู้หญิง
บิว : บิวรู้สึกว่าผู้หญิงเรามีความอ่อนโยน ละเอียดอ่อน เข้าใจถึงความรู้สึกต่างๆ ได้ดี และใส่ใจคนรอบตัวได้มากกว่า มันเป็นสิ่งที่บิวชอบเกี่ยวกับการเป็นผู้หญิงค่ะ
นา : ผู้หญิงเข้าถึงกันง่ายและเข้าใจกันได้ง่ายในเรื่องเล็กๆ มากกว่าค่ะ อาจจะทำให้สนิทกันได้ไม่ยาก
มีอะไรที่ไม่ชอบในการเป็นผู้หญิงไหม
นา : ประจำเดือนมั้งคะ ไม่ชอบพาร์ทนี้ที่สุดเลย
บิว : ใช่เลย รอบเดือน (หัวเราะ) ด้วยความที่เป็นนักกีฬาที่ต้องฝึกซ้อม แข่งขัน มันก็ค่อนข้างกระทบกับงานของเรา ต้องซ้อมน้อยลงมากเลยค่ะ
การเป็นผู้หญิงมีความหมายยังไงสำหรับเรา
บิว : อิงจากคำตอบเดิมที่ว่าผู้หญิงมีความอ่อนโยน บิวรู้สึกว่าในความอ่อนโยนนั้นก็มีความแข็งแกร่งและมั่นคง สามารถรับมือกับสิ่งต่างๆ ได้ค่ะ
นา : สำหรับนา มันคือการสู้ค่ะ อย่างตัวเราที่เป็นผู้หญิงก็สู้มาตลอด
บิวกับนามองว่าอะไรที่คือสิ่งบางครั้งนักกีฬาหญิงก็รู้สึกไม่ปลอดภัยบ้างไหม
บิว : เรื่องเซ็กซ์ค่ะ บางคนอาจจะมองว่าเราเป็นผู้หญิง แต่ทำไมมีกล้ามเนื้อ แต่ว่าแต่ละคนก็มีความคิดไม่เหมือนกัน ตรงนี้ก็เป็นมุมมองของเราค่ะ
การเป็นผู้หญิงหมายถึงการต้องแบกรับอะไรบ้าง
บิว : การเป็นผู้หญิงในยุคนี้ต่างจากสมัยก่อนที่ต้องเป็นแม่บ้านมากๆ แล้วค่ะ สมัยนี้ผู้หญิงสามารถเป็นผู้นำได้ สิ่งที่ต้องแบกรับก็จะแตกต่างกันไปค่ะ
นา : นามองว่าเรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับบริบทชีวิตด้วยค่ะ อย่างตัวนาก็มีครอบครัว งาน หน้าที่ และการแข่งขัน เพราะตอนนี้เราอยู่ในช่วงแข่งที่ต้องโฟกัสกับมันมากๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลอย่างอื่นด้วย
เรามีไอดอลหญิงในดวงใจเป็นของตัวเองหรือเปล่า
บิว : มีนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงที่ชื่อว่ากาบี้ (กาบรีแยลา บรากา กีมาไรส์) เขามีแพชชั่นในวอลเลย์บอลและการแข่งกีฬาคล้ายๆ กับเรา ชอบที่เขาใส่ความทุ่มเทลงไปเต็มร้อยเหมือนกับเราค่ะ
นา : ตัวเรานี่แหละค่ะ เราชอบที่เป็นตัวของตัวเอง และเป็นคนที่พัฒนามาจากศูนย์ ที่มีงานด้านกีฬาได้ก็เพราะว่าเราเป็นตัวเอง นาก็เลยมองว่าตัวเองเป็นไอดอลค่ะ
ถ้าสามารถย้อนเวลากลับไปได้ มีอะไรที่อยากแนะนำให้กับตัวเองในอดีตไหม
บิว : ด้วยความที่เล่นกีฬาก็เลยต้องดูแลร่างกายของตัวเองดีมาก แต่ต้องแบกรับความกดดันของเพื่อนร่วมทีมและคนข้างนอกไปด้วย บิวก็เลยอยากแนะนำตัวเองเรื่องการปลดปล่อยจิตใจ ปล่อยวางจากความกดดันและความพ่ายแพ้ คิดว่าถ้าเราสามารถเรียนรู้มันได้ตั้งแต่เด็กก็จะทำให้ใจเรารับมือกับอารมณ์ได้มากยิ่งขึ้นค่ะ
นา : เหมือนที่พี่บิวพูดค่ะ ตอนเด็กเราอาจจะรับมือกับอารมณ์ของตัวเองไม่ได้มากเท่าที่ควร นาก็เลยอยากที่จะเรียนรู้วิธีการรับมือกับอารมณ์และสถานการณ์ยากๆ ได้เร็วขึ้นค่ะ

Milk & Eye - ความเป็นหญิงที่มาพร้อมแรง Support
เมื่อได้สนทนากับ ‘มิลค์’ Creative freelance จากวงการแฟชั่น กับ ‘อาย’ Freelance stylist และเจ้าของไวน์บาร์ เราก็ยิ่งมั่นใจว่าผู้หญิงมักจะสนับสนุนกันเสมอเมื่อทำได้ ไม่ว่าจะในเวลาสุขหรือทุกข์ก็ตาม พวกเธอเองก็เป็นหนึ่งในหลักฐานของการสนับสนุนนั้น เพราะมีกัน พวกเธอจึงสนิทกันมากขึ้นจากการทำงาน ความสนใจ และอุปสรรคที่ได้พบเจอในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง
ด้วยความที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน เราชอบแชร์อะไรกันบ้าง
มิลค์ : เยอะนะคะ อย่างเรื่องการซื้อของ ซื้อเสื้อผ้า
อาย : แชร์กันกระทั่งว่าจะไปบำบัดจิตแบบไหน ที่ไหนดี (หัวเราะ) ส่วนใหญ่เวลาไปช็อปปิ้งก็จะช่วยกันดูว่าอะไรเหมาะกับใคร
ถ้าอย่างนั้น การมีเพื่อนผู้หญิงแบบนี้มีข้อดียังไงบ้าง
อาย : จริงๆ แล้วมีเพื่อนเพศไหนก็ดีหมด ขอแค่ความสัมพันธ์นั้นไม่เป็นพิษ มันก็รู้สึกดีที่มีคนคอยซัพพอร์ตเราค่ะ
มิลค์ : การมีเพื่อนต่างเพศหรือเพศเดียวกันก็จะทำให้เรามีแรงซัพพอร์ตที่แตกต่างกัน ผู้ชายก็จะซัพพอร์ตได้ดีในเวลาที่เราต้องการตรรกะเหตุผล ส่วนผู้หญิงจะซัพพอร์ตได้ดีในด้านอารมณ์ ทั้งสองก็ถนัดในเรื่องที่แตกต่างกันค่ะ
ทั้งสองคนมองว่าการเป็นผู้หญิงในวงการแฟชั่นเป็นยังไง มันมีข้อดีหรือข้อเสียอะไรบ้าง
อาย : สนุกนะคะ เพราะในวงการนี้มีผู้หญิงค่อนข้างเยอะ เพื่อนกะเทยกับเก้งก็เยอะ ทำให้บรรยากาศตรงนั้นมีความเป็นหญิงค่อนข้างสูงประมาณหนึ่ง เราก็เลยมองว่ามันสนุกและทุกคนก็สนับสนุนกันมากๆ ค่ะ ยิ่งถ้าชอบอะไรเหมือนกันก็ยิ่งดี อย่างเวลาที่นัดกันแต่งตัวสวยๆ ไปทานข้าว หรือเวลาออกกองและเจอเพื่อนร่วมงานที่คุ้นเคยก็จะนัดแต่งตัวกันตามธีมสนุกๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ชายส่วนมากอาจจะไม่ทำ
ในฐานะผู้หญิงที่ทำงานในวงการแฟชั่นทั้งคู่ เรามองว่าเสื้อผ้าส่งผลต่อเรายังไง
มิลค์ : เรามองว่าเสื้อผ้าเป็นส่วนสำคัญของตัวตนของเรา เพราะทุกครั้งที่เลือกเสื้อผ้าชิ้นไหนมาใส่ มันก็เติมเต็มความมั่นใจและตัวตนเราไปด้วย ถือว่าช่วยให้เราชอบตัวเองในวันนั้นๆ ค่ะ
อาย : เห็นด้วย อีกอย่างคือเสื้อผ้าเป็นสิ่งที่ส่งต่อข้อมูลของเราก่อนที่เราจะเปิดปากพูดด้วยซ้ำ มันสะท้อนให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็นคนแบบไหน มีความชอบเรื่องอะไร
เคยมีประสบการณ์ที่ถูกตัดสินจากคนไม่รู้จักเพียงเพราะภาพลักษณ์ของเราไหม
อาย : ตลอดเวลาเลยค่ะ เราชอบใส่มินิสเกิร์ตไปเต้น บางคนก็จะมองก้นเราแล้วบอกว่าเมาก้นแล้ว เราก็บอกว่ามองไปเลยจ้ะ ฉันสวย (หัวเราะ) มองได้ แค่ห้ามจับ เอาจริงๆ ก็โดนคอมเมนต์แบบนี้มาตลอด เราเองก็แต่งตัวถูกกาลเทศะ ไม่ได้ใส่สั้นเข้าวัดหรือเข้าประชุม แค่บางครั้งคนจะตัดสินเราไปก่อนด้วยการแต่งกาย อย่างมิลค์ก็จะโดนมองว่าเรียบร้อย ส่วนเราโดนมองว่าเซ็กซี่ แรดเลย
มิลค์ : เรารู้สึกว่าบางครั้งคนจะคาดหวังว่าเราต้องเรียบร้อยอ่อนหวานจากการแต่งกาย เขาก็คิดไปแล้วว่าเราจะต้องเป็นคนแบบไหน เพราะแต่งตัวแบบนี้ ทั้งที่บางครั้งเราก็มีมุมเซ็กซี่ แค่ไม่ค่อยใส่ชุดที่ดูเซ็กซี่ในสายตาของสังคมเท่านั้นเอง
อยากบอกอะไรกับคนที่มีมุมมองแบบนี้กับเราและผู้หญิงคนอื่นๆ บ้าง
อาย : Just be kind และอย่าเพิ่งตัดสินเราไปก่อน เท่านี้เองค่ะ อย่าเพิ่งคิดไปก่อนว่าใครจะเป็นยังไง ให้ลองทำความรู้จักกับเขาก่อน แค่นี้เองจริงๆ

Boe & B - Mother Nature ที่ไม่ได้หมายถึงเพียงแม่
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในการได้พูดคุยกับ ‘โบ’ และ ‘บี’ ฝาแฝดที่เป็นดั่งเพื่อนสนิทตั้งแต่วินาทีที่ถือกำเนิด พวกเธอให้นิยามใหม่กับคำว่า ‘Mother nature’ ว่ามันอาจไม่ได้หมายถึงคุณสมบัติของความเป็นแม่เพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึงผู้สร้างของทุกสรรพสิ่ง และเป็นธรรมชาติที่มีแต่ให้ ความเป็นหญิงจึงเป็นเรื่องมหัศจรรย์สำหรับเธอทั้งสองคน
การเป็นฝาแฝดหมายถึงการรู้จักกันมาตั้งแต่เกิดเลยไหม
โบ : รู้จักกันแต่เกิดเลยค่ะ จริงๆ รู้จักกันตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ แค่ว่าตอนนั้นเราจำไม่ได้ เราเกิดห่างกันแค่ 3 นาทีเอง
บี : ใช่ค่ะ และที่บ้านก็จะนับว่าเราเป็นน้อง เพราะครอบครัวคนจีนจะนับฝาแฝดให้คนที่คลอดก่อนเป็นน้อง เราก็คิดว่าเราจะได้รับการเอาใจใส่และเอ็นดูเพราะเป็นน้อง ขำๆ (หัวเราะ)
โบ : ส่วนเรามาสายวิทยาศาสตร์เลยค่ะ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมนับอย่างนั้น ทั้งที่ปกติจะนับให้คนเกิดก่อนเป็นพี่ และด้วยความที่บ้านของเราเป็นครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ต้องบอกว่าอะไรที่เห็นในละครก็ไม่เกินจริงเท่าไหร่ค่ะ การเป็นลูกสาวคนเล็กบ้านคนจีนมีทั้งข้อได้เปรียบและเสียเปรียบ เราก็คิดตรงๆ ว่าสุดท้ายอาจจะไม่เหลืออะไรให้เราเลย แต่ข้อดีคือผู้ใหญ่จะเอ็นดูพวกเรา แต่กลายเป็นเด็กตัวโตอีก ไม่รู้ว่าน่าเอ็นดูจริงหรือเปล่า (หัวเราะ)
บี : พูดตรงๆ เลยว่าการเป็นลูกสาวคนเล็กในบ้านคนจีนที่มีพี่น้องเยอะๆ จะถูกจำกัดอะไรไว้หลายอย่างมาก เช่น เป็นน้องสาวคนเล็กต้องเรียบร้อย ต้องน่ารักน่าเอ็นดู เราอาจจะไม่ต้องแบกรับอะไรบางอย่างที่พี่คนโตต้องเจอ แต่การเป็นน้องก็ทำให้พวกเราต้องมาแก้ปมในใจด้วยเหมือนกันค่ะ
การเป็นผู้หญิงมีความหมายยังไงสำหรับเราทั้งสองคน
โบ : หมายถึงทุกอย่างเลยค่ะ เพราะเราเป็นผู้หญิงและภูมิใจกับมัน ความเป็นผู้หญิงมันแทรกซึมไปถึงทุกอณูของการเป็นอยู่ของเราเลย มันสวยงามที่พวกเราต้องผ่านความยากลำบากต่างๆ มาโดยไม่ได้แสดงออกถึงมันทั้งหมด แต่ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว ผู้หญิงก็มีความกล้าที่จะพูดมากขึ้น เด็กยุคใหม่ก็กล้ายิ่งกว่าเดิม เรามองว่ามันเป็นอะไรที่เจ๋งมาก มองเห็นอนาคตที่ดีได้เลยค่ะ
บี : อย่างที่โบบอกว่าผู้หญิงก็คือเรา เพราะเราเกิดมาเป็นผู้หญิงที่ไม่สามารถเลือกเพศกำเนิดได้ และเราก็ค่อยๆ เรียนรู้เรื่องเพศสภาพที่หล่อหลอมให้เราเติบโตขึ้นมาเป็นคนคนหนึ่ง ในยุคสมัยก่อน ผู้หญิงก็จะถูกจำกัดกรอบเอาไว้เยอะมาก อย่างการที่ผู้ใหญ่เชื่อว่าผู้หญิงต้องแต่งงานก่อนอายุ 30 แต่มันไม่เป็นอย่างนั้นเลยค่ะ ทุกวันนี้เราเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นเลยว่าต่อให้ไม่แต่งงานก็แฮปปี้ได้ ไม่เป็นอย่างที่ใครเขาว่าไว้เลย
เราชอบอะไรเกี่ยวกับการเป็นผู้หญิงบ้าง
โบ : เราว่าการเป็นผู้หญิงมันสนุก ถ้าเปรียบเป็นจานสี ผู้หญิงก็สามารถเป็นได้ทุกสี ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้นะคะ ทุกวันนี้เพศก็มีหลากหลาย เราไม่อยากตัดสินหรือมองว่าใครมีแค่ด้านสองด้าน มันมีหลายด้านมาก เราทุกคนจึงควรเข้าใจความรู้สึกของตัวเองเยอะๆ เราชอบมากที่ผู้หญิงสามารถแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาได้ดี ไม่ได้ทำร้ายใคร อาจจะเพราะถูกสอนให้ไม่ใช้ความรุนแรง ผู้หญิงมีความเป็น Mother nature เหมือนความเป็นธรรมชาติที่มีแต่ให้จริงๆ
บี : อีกสิ่งที่ชอบคือความละเอียดอ่อน ความรอบคอบ และความอ่อนโยนบางอย่างที่ผู้ชายก็อาจจะมี แต่น้อยกว่าผู้หญิงที่มีสิ่งนี้โดยสัญชาตญาณอยู่แล้ว ผู้หญิงทำให้โลกและคอมมูนิตี้มีความสวยงาม อีกอย่างคือพูดเรื่องอารมณ์กันได้มาก ต่างจากผู้ชายที่จะเน้นตรรกะเหตุผล ซึ่งก็มีข้อดีเหมือนกัน เราแค่มองว่าการละเอียดอ่อนต่ออารมณ์จะทำให้เราเชื่อมโยงกันได้มากขึ้นค่ะ
บีกับโบทำงานในวงการเพลงที่ทำให้ได้เจอผู้หญิงหลากหลาย มีอะไรที่อยากจะแชร์กันไหม
บี : เก่งค่ะ (หัวเราะ) พอเราพูดถึงผู้หญิงในวงการดนตรี โดยเฉพาะวงการสากล เราก็จะมองเห็นปัญหาเรื่องการตัดสินและการจำกัดกรอบของการเป็นผู้หญิงเยอะมากๆ หลังๆ เราก็จะเห็นศิลปินออกมาพูดถึงตัวตนที่จริงแท้ของตัวเองมากขึ้น และแสดงมันออกมาให้คนทั่วโลกเชื่อมโยงกับเขาได้ เรามองว่าหลายคนในวงการก็เคารพพวกเขาเพราะอย่างนี้เหมือนกัน
โบ : โบมองว่าผู้หญิงในวงการงานสร้างสรรค์แบบนี้ที่ต้องนำตัวตนมาใช้ผลิตอะไรสักอย่าง คนกลุ่มนี้คือคนที่ตามหาเส้นทางของตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งมันก็จะเป็นทางที่โดดเดี่ยวมากๆ เพราะเราไม่ได้เดินตามทางที่สังคมบอกให้เดิน ถ้าเราทำแบบนั้นก็จะเดินได้ แต่สิ่งหนึ่งที่สังเกตคือศิลปินโกหกตัวเองไม่ได้ และต้องยึดมั่นในตัวตนให้ได้มากที่สุด นั่นคือสิ่งที่เรารักในตัวศิลปินค่ะ มันเป็นอะไรที่สวยงามและให้แรงบันดาลใจกับเรามาก ไม่ใช่เฉพาะศิลปินหญิง ศิลปินชายก็สามารถทำได้เหมือนกัน แค่เรามองว่าผู้หญิงต้องทำงานหนัก เพราะถ้าเปรียบเป็นเกม มันก็เป็นเกมที่มีผู้ชายเป็นผู้เล่นเยอะกว่า ถ้าขาดความร่วมมือของผู้ชายกับ LGBTQ+ ก็จะคงจะมาถึงจุดนี้ยากเหมือนกันค่ะ

Phatt & Sira -ไม่ว่าจะเพศอะไร เราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์
การไม่ปฏิเสธความเป็นหญิง และมองทุกคนบนฐานของความเป็นมนุษย์ คือบทสรุปที่เราได้จากการพูดคุยกับ ‘ปัทม์’ นักเขียนและเจ้าของช่อง TikTok ‘ปัทม์ขอให้เป็นวันที่ดีนะคะ’ และ ‘สิรา’ โปรดิวเซอร์หญิงผู้มีอุดมการณ์ตั้งมั่นเพื่อสังคมที่ก้าวหน้า พวกเธอทั้งสองคนเป็นเพื่อนสนิทที่รู้จักกันมาตั้งแต่ช่วงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย จนถึงปัจจุบัน
การเป็นผู้หญิงคืออะไรในความหมายของทั้งสองคน
สิรา : ตอนที่ได้ยินคำถามก็รู้สึกว่ายากมาก เพราะเราเกิดและเติบโตมาในสังคมนี้พร้อมกับเพลง It's a Man's World และถูกสอนว่าเจ้าของโลกใบนี้เป็นผู้ชาย การเป็นผู้หญิงถือเป็นอะไรที่ดูเล็กจ้อยไปเลย จนสุดท้ายเราก็มาเข้าใจว่าการเป็นผู้หญิงคือการมี Motherhood ซึ่งไม่ได้หมายถึงการเป็นแม่เพียงอย่างเดียว ผู้หญิงจะอยากเป็นอะไรก็ได้ ดังนั้น ถ้าให้นิยามผู้หญิง เราก็คงอธิบายว่าเป็นสิ่งที่เป็นได้ทุกอย่าง คือความเชื่อมั่นค่ะ
ปัทม์ : เห็นด้วย มันเป็นสิ่งที่เราต้องตั้งคำถามว่าแต่ละคนตั้งนิยามเอาไว้ว่ายังไง เพราะแต่ละคนก็เป็นเจ้าของเรื่องเล่าของชีวิตตัวเอง เรื่องราวของใครคนนั้นต้องเป็นคนเล่าเอง ไม่สามารถเล่าแทนกันได้ สำหรับเรา การเป็นผู้หญิงขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์และจิตวิญญาณ เราทุกคนก็มีทั้งความเป็นหญิงและความเป็นชายรวมกัน เพราะฉะนั้น การเป็นผู้หญิงจะเป็นยังไงก็แล้วแต่คนๆ นั้น เรามองว่าการเป็นหญิงคือการทำตามหัวใจของตัวเอง
ผู้หญิงที่เป็นแรงบันดาลใจของเราคือใคร
ปัทม์ : ขอตอบว่าบาร์บี้จากเรื่อง Fairytopia แล้วกันค่ะ เอเลน่าคือนางฟ้าที่บินไม่ได้ และต้องต่อสู้กับความคิดของตัวเองว่าถ้าปีกนั้นแลกมากับการทำไม่ดีกับคนอื่น เธอจะยังอยากได้ปีกอยู่ไหม เอเลน่าก็บอกว่าไม่อยากได้ปีกนั้น ขอเลือกเป็นตัวเอง ซึ่งสุดท้ายก็มีปีกเป็นของตัวเอง เรามองว่าบาร์บี้คือสัญลักษณ์ของการสู้เพื่อมีชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องมีเจ้าชาย เรายกให้บาร์บี้เป็นไอดอลด้านศรัทธาในตัวเอง และเป็นไอดอลของเด็กผู้หญิงหลายๆ คน
สิรา : มันอาจจะเป็นอะไรที่ซ้ำซากจำเจ แต่ไอดอลของเราคือคุณแม่ จริงที่เราอาจจะไม่ได้โตมาอย่างดี แต่เราโตมาด้วยมือของคนที่พยายามจะเลี้ยงเราให้ดีที่สุด และเลี้ยงเรามาด้วยความเชื่อมั่น เขาเชื่อว่าต่อให้พรุ่งนี้โลกจะระเบิดไป อย่างน้อยวันนี้ก็ให้สิ่งที่ดีที่สุดกับเราได้ และเขามีทัศนคติที่ไม่ต้องการผู้ชาย อยู่ได้โดยไม่พึ่งพาใคร เป็นตัวแม่ (หัวเราะ)
เราชอบอะไรในการเป็นผู้หญิงบ้าง
ปัทม์ : การมีเพื่อน (หัวเราะ) เรารู้สึกว่ามันทำให้เรามีเพื่อนง่าย ตรงนี้แต่ละคนก็จะมองต่างกันไป แต่สำหรับเรา เรามองว่าสังคมผู้หญิงจะมีความชีวิตชีวา มีความหลากหลาย จะเป็นอะไรก็ได้ ชอบที่มันทำให้เรามีเพื่อนเยอะ สนุกค่ะ
สิรา : เราคิดว่าเราชอบพลังของความเป็นหญิง (Feminine energy) ต่อให้ใครจะมองว่าเป็นสิ่งที่อ่อนแอ เรากลับมองว่ามันมหัศจรรย์มาก เพราะต่อให้ใครจะถูกเลี้ยงมาให้มีความเป็นชายมากเท่าไหร่ เราก็จะมีความเป็นหญิงแฝงในตัวอยู่ดี และความเป็นหญิงจะเป็นอะไรก็ได้ มันคือการไม่มีพันธะ เป็นอิสระ มันเป็นจุดแข็งสำหรับเรา
ถ้าอย่างนั้น ความท้าทายของการเป็นผู้หญิงคืออะไร
ปัทม์ : ส่วนตัวรู้สึกว่าเราต้องพิสูจน์คุณค่าของตัวเองเยอะเพื่อที่จะได้รับการยอมรับจากสังคม และในด้านของความสัมพันธ์ ผู้หญิงมักจะถามว่าตัวเองดีพอสำหรับอะไรสักอย่างหรือยัง คำว่า ‘ดี’ ก็จะมีบรรทัดฐานที่แตกต่างกันออกไปอีก แต่ละคนก็เจอความท้าทายคนละแบบ ไดนามิกก็จะมีตัวอย่าง เช่น ลูกชายและลูกสาวคนจีนที่สอบตก ความท้าทายของเขาก็จะแตกต่างจากคนอื่นมากๆ หรือบางคนถูกสอนว่าต้องสวยตามบิวตี้สแตนดาร์ด ต้องทั้งสวยและฉลาด ซึ่งไม่ใช่แค่ต้องทำให้พอได้ แต่ต้องทำให้ดีที่สุด เราไม่ค่อยชอบการที่ต้องพิสูจน์ตัวเองค่ะ
สิรา : เราไม่รู้ว่าฝั่งผู้ชายจะคิดอย่างนี้ไหม แต่เราคิดว่าการเป็นหญิงทำให้เราถูก Stereotype ง่ายมาก แค่เกิดมาก็ต้องเจอกับสุภาษิตสอนหญิง ทั้งที่เราไม่เคยเห็นสุภาษิตสอนชายเลย มันทำให้ผู้หญิงมีคู่มือที่จำกัดการใช้ชีวิตอยู่ตลอดเวลา ต้องสวย ต้องผิวขาว ต้องดูดี ซึ่งก็จะไปสอดคล้องกับคำตอบของปัทม์ที่ว่าเราต้องพิสูจน์ตัวเอง ความยากคือการที่เราจะต้องก้าวข้ามกรอบของสังคม โดยที่ไม่ยอมให้ใครมาชี้นิ้วว่าต้องเป็นอะไรถึงจะดี
คิดว่าสังคมควรจะเป็นยังไง มีมุมมองแบบไหนต่อเพศหญิง ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี
ปัทม์ : เรามองว่าสังคมควรเพิ่มทางเลือกและพื้นที่สำหรับผู้หญิง โดยเฉพาะในเชิงโครงสร้างการทำงานที่ผู้หญิงยังค่อนข้างที่จะถูกตัดสิน เราอยากให้ผู้หญิงได้มีชีวิตที่เลือกได้ มีพื้นที่ และมีโอกาสรองรับ
สิรา : คำตอบของเราก็จะคล้ายกับปัทม์ เพราะเรากำลังทำงานกับด้านนี้ และเห็นว่าไม่ว่าจะในสถาบันหรือวงการอะไรก็ตาม สัดส่วนของผู้หญิงยังมีน้อยมาก สังคมไม่จำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้เฉพาะผู้หญิงก็ได้ แต่ขอให้เปิดรับทุกคนในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ปฏิบัติกับผู้หญิงให้เท่ากับผู้ชาย เท่านี้เราก็จะมีสิทธิในการแสดงออกเยอะขึ้นมาก และจะทำให้ผู้หญิงใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นค่ะ สรุปคือมองคนให้เท่ากันก็พอ