การเดินทางจาก “นคร-สวรรค์” สู่เส้นทางของชีวิตที่ไม่มีสิ้นสุด ของโรส—พวงสร้อย อักษรสว่าง
ไม่ว่าใครก็รู้ดีว่าชีวิตของเราไม่สามารถกำกับหรือกำหนดได้เหมือนกับภาพยนตร์ จึงต้องอาศัยจังหวะเวลาและชะตาในการไหลไปสู่เส้นทางชีวิต ซึ่งประกอบไปด้วยสิ่งที่เลือกและไม่ได้เลือก ‘โรส - พวงสร้อย อักษรสว่าง’ เองก็เป็นหนึ่งในผู้คนเหล่านั้นที่ต้องพบเจอกับเรื่องราวชีวิตต่างๆ มากมาย ความตั้งใจ ความสำเร็จ ความสูญเสีย และความมองโลกอย่างเข้าใจ ทุกอย่างนี้เป็นสิ่งประกอบสร้างให้เธอกลายมาเป็นผู้กำกับและนักเขียนบท เจ้าของผลงานขึ้นชื่ออย่าง ‘นคร-สวรรค์’ อันเปี่ยมไปด้วย ‘เรื่องจริง’ และ ‘เรื่องแต่ง’ ที่มาบรรจบกันอย่างลงตัว
นับได้ว่าบทความสัมภาษณ์นี้เป็นการสำรวจชีวิตและแนวคิดเชิงลึก อันทำให้เราเข้าใจในส่วนประกอบของความเป็นตัวโรสมากยิ่งขึ้น และเมื่อได้ย้อนดูผลงานของเธออีกครั้งก็จะเข้าถึงได้มากกว่าเก่า นั่นคงเป็นเพราะหนังชีวิตเรื่องนี้แทรกซึมเข้าไปในใจของเราหลายคนได้อย่างแท้จริง

ชื่อโรสนี้มีที่มาจากไหน
เมื่อก่อนคุณพ่อกับคุณแม่ทำโรงงานเสื้อวงดนตรี และคุณพ่อก็ชอบวง Guns N’ Roses มาก มันก็เลยเป็นที่มาของชื่อนี้ค่ะ (หัวเราะ)
กว่าจะกลายมาเป็นโรสในทุกวันนี้ เด็กคนนั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง
ถ้าให้เล่าเป็นซีนหนัง ตอนเด็กๆ โรสโตขึ้นมาบนกองหนังสือ มีการ์ตูนขายหัวเราะเยอะมาก เราก็เอามาเล่นติ๊กถูกเหมือนตรวจข้อสอบ รับบทครูแล้วให้ตุ๊กตาบาร์บี้เป็นนักเรียน หรือบางครั้งก็เอาบาร์บี้กับเคนมาเล่นบทดราม่าเลียนแบบหนังละคร คิดว่าจุดที่เราเอาตุ๊กตามาคุยกัน ให้มันพูดไดอะล็อกที่ตัวเราตอนเด็กก็ไม่เข้าใจ มันน่าจะทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ได้
พอโตขึ้นมาหน่อย มันก็จะมีตอนที่คอมพิวเตอร์เริ่มเข้ามา เราก็เล่น The Sims แล้วเล่นเหมือนตอนที่เล่นกับตุ๊กตา ให้ตัวละครออกไปทำงาน ไปกดกริ่งหาเพื่อนบ้านและอะไรต่างๆ มันก็ให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังกำกับอะไรสักอย่าง และไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมหรือตุ๊กตา เราจะชอบเขียนเรื่องราวเอาไว้ด้วย ตอนเด็กก็ชอบวิชาภาษาไทยกับภาษาอังกฤษที่เน้นเขียนมาตลอด
ถึงสังคมบ้านเราจะเชื่อว่าถ้าจะเก่งก็ต้องเรียนสายวิทย์-คณิตเท่านั้น ตัวเราตอนมัธยมก็แหกกรอบที่บ้านด้วยการไปสอบเข้าสายภาษาของโรงเรียนเตรียม มันเป็นครั้งแรกที่ได้เลือกในสิ่งที่สนใจขึ้นมาอีกสเต็ปหนึ่ง และก็ได้อ่านหนังสือที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งบันทึกการเดินทางที่เขียนในสไตล์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นิยายแจ่มใสที่ใช้อิโมติคอนในบทบรรยาย ภาษาเขียนเหล่านี้ก็ค่อยๆ หล่อหลอมความเป็นตัวเราขึ้นมาเรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่สนุกในตอนนั้นก็คือการเขียนไดอารี่ออนไลน์บนเว็บไซต์ของเราเอง และการได้มีเพื่อนในอินเทอร์เน็ต
พอโตขึ้นมาถึงช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราก็ต้องครุ่นคิดมากขึ้นว่าอยากจะโตไปเป็นอะไร ซึ่งตอนนั้นวงการโฆษณาเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เราก็เลยสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ลึกๆ ก็ยังไม่มั่นใจว่าตัวเองครีเอทีฟพอไหม ในนั้นก็มีคนที่เก่งกว่าเราอีกเยอะ มันเป็นจุดที่เราคุยกับตัวเองบ่อยมากว่าเราเป็นใคร ตรงนี้คือที่ของเราไหม จนกระทั่งมีโมเมนต์ที่ขึ้นปี 3 และต้องเลือกภาค ตอนนั้นเราเดินไปห้องสอบภาษาอังกฤษแล้วไม่มีชื่ออยู่ในลิสต์ผู้มีสิทธิ์สอบ ตอนนั้นก็เลยไปที่สำนักทะเบียนและพบว่าระบบไม่ได้บันทึกไว้ว่าลงเรียนวิชานี้ มันทำให้เราต้องแก้ปัญหาด้วยการเข้าไปอยู่ภาคฟิล์มที่ใช้คะแนนภาษาอังกฤษน้อยกว่า เพื่อให้เรียนจบภายใน 4 ปี พอมองย้อนกลับไปก็คิดว่ามันคงเป็นพรหมลิขิตบางอย่าง เพราะโมเมนต์นั้นได้เปลี่ยนชีวิตของเราไปเลย จากสายเขียนสู่การเล่าเรื่องผ่านภาพเคลื่อนไหว มันก็ทำให้เราได้รู้ว่าการเล่าผ่านหนังก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไป และเริ่มมองว่ามันอาจจะใช่ทางของเราก็ได้
จุดเปลี่ยนผ่านของการเป็นนิสิตกับคนทำงานคือเราได้เป็นคนจัดอีเวนต์กางจอ หนึ่งในคนที่เชิญมาตอนนั้นก็คือพี่เต๋อ ซึ่งพอเรียนจบ พี่เต๋อก็มาชวนไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ และเป็นจังหวะที่เขามีแผนจะทำหนังเรื่อง ‘36’ พอดี ตอนนั้นก็รู้สึกเหมือนว่าเราต้องเรียนรู้เรื่องการเป็นผู้ช่วยใหม่ทั้งหมด และต้องทำทุกอย่างด้วยธรรมชาติของกองหนังที่มีทีมงานแค่ประมาณ 5 คน แถมยังช่วยอาจารย์ทำหนังเรื่อง ‘The Isthmus’ กับช่วยพี่พงศ์ Hello Filmmaker ถ่าย MV อีก ต้องบอกว่ามันเป็นเส้นทางที่ไม่ได้มาแบบตั้งใจ แต่ก็ตั้งใจเอาไว้ว่าจะดำรงชีพเป็นผู้ช่วยผู้กำกับนี่ล่ะ
แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง เราก็คิดถึงการเล่าเรื่องที่เป็นของตัวเอง และในช่วงอายุ 23-24 ก็อยากจะลองไปอยู่ที่อื่น ก็เลยสมัครเข้ามหาวิทยาลัยไปเยอะมาก ทั้งที่อเมริกา อังกฤษ สก็อตแลนด์ ซึ่งสอบได้ แต่ว่าไปไม่ได้ ซึ่งต้องใช้เงินปีละ 2 ล้าน กว่าจะจบก็ 4 ล้าน เราก็เลยพยายามหาทุน จนสุดท้ายก็ได้ทุนไปเยอรมนี เริ่มจากการเรียนภาษาที่เบอร์ลิน และพออยู่ได้ปีหนึ่งก็ซิ่วไปเข้ามหาวิทยาลัยภาพยนตร์ที่ฮัมบูร์ก เรียนไปด้วย ทำงานที่ร้านอาหารไทยไปด้วย และเริ่มทำหนังยาวเป็นของตัวเอง
“ถ้าพูดเป็นประโยคสั้นๆ หลายคนก็จะมองว่าเก่งจัง สอบติด ได้ทุน ได้ทำหนัง แต่กว่าที่จะมาถึงขั้นตอนนั้นได้ เส้นทางชีวิตก็เต็มไปด้วยเงื่อนไขที่ทำให้เราต้องเดินมาทางนี้เอง”
ซึ่งตอนที่อยู่เยอรมนี งาน Singapore International Film Festival ก็เปิดให้คนที่ทำหนังเรื่องแรกส่งผลงานไป เราก็มีแมททีเรียลอยู่บ้างจากตอนที่แม่ชวนไปหาพ่อที่สงขลา อันนั้นถ่ายด้วยกล้องดิจิทัลธรรมดา แล้วก็มีแชทกับข้อความของแม่ที่บันทึกเอาไว้ เรามองว่ามันเป็นคุณค่าอย่างหนึ่งของการบันทึก และเป็นการบอกเล่าความเชื่อมโยงของเรากับโลก จึงนำไปนำเสนอกับโปรเจกต์เขาว่าเรามีแพลนจะทำสารคดีนี้ โดยมีพาร์ทที่เป็นฟิคชั่นเข้ามาประกอบด้วย เมนเทอร์ที่เป็นพี่ใหม่ อโนชาเองก็อยากทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นจริง เราจึงได้ทำด้วยกัน
จำได้ว่าช่วงที่เคสติ้ง แม่เข้าโรงพยาบาลแล้วก็เสียไปอย่างรวดเร็ว จึงไม่ได้ทำหนังเรื่องนั้น แต่ได้ไปช่วยรุ่นน้องเขียนเรื่องสั้นกับเพื่อน และได้เขียนเรื่อง ‘นคร-สวรรค์’ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้เขียนถึงแม่ และเพิ่งได้ตกตะกอนว่าแม่ไม่อยู่แล้ว จึงแต่งเรื่องที่ตัวละครไปลอยอังคาร โดยใส่ส่วนหนึ่งที่เป็นความจริงลงไปด้วย จากนั้นก็ไปคุยกับพี่ใหม่อีกรอบว่าอยากทำหนังเรื่องนี้ โดยใช้ของที่เราบันทึกไว้ก่อนแม่เสีย ตรงนี้เป็นที่มาของนคร-สวรรค์
พอเป็นสารคดีกึ่งฟิคชั่น ตัวโรสเองก็ได้เข้าไปเป็น Performer ในเรื่องนั้นด้วย ส่วนตัวมองว่ามันเป็นยังไง
ชอบนะ เราว่ามันเหมือนกับเวลาที่อ่านหนังสือหรือดูหนังแล้วรู้สึกว่าผู้กำกับหรือนักเขียนคนนี้ต้องเอาความเป็นตัวเองใส่ลงไปด้วย ไม่อย่างนั้นก็คงจะเขียนไม่ได้ขนาดนี้ ไม่ได้แปลว่ามันต้องเป็นเรื่องที่มาจากตัวเขาหรือเป็นความจริงไปเสียทั้งหมด แต่รายละเอียดที่ทำให้เรื่องนั้นต่างไปจากเรื่องอื่นๆ ก็คงมาจากความจริงในชีวิตของผู้เล่า อยู่ที่ว่าเขาจะเปลือยตัวเองออกมาแค่ไหน เลือกที่จะใช้ฟิคชั่นเป็นเปลือกที่หุ้มเรื่องจริงไว้มากแค่ไหน
แล้วขั้นตอนการเขียนของโรสเป็นยังไงบ้าง
เราว่าการเขียนของเราเป็นเรื่องปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันสุดๆ คิดอะไรออกก็จดไว้ก่อน ซึ่งการจดในที่นี้ไม่ใช่เพื่อสุนทรียะอย่างเดียวด้วย แม้แต่เหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้นก็จดเอาไว้ก่อน ก้อนเล็กๆ เหล่านี้ก็นำมาสู่อะไรบางอย่าง Free-writing มันก็ช่วยได้ในเวลาที่คิดอะไรไม่ออก เราแค่เอาสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาแทนกระดาษเปล่า และการพิมพ์บนคีย์บอร์ดกับเขียนด้วยปากกาก็ให้ความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน ขั้นตอนการเขียนงานแต่ละสไตล์ของเราจึงจะไม่เหมือนกันเสียทั้งหมด ขึ้นกับตัวเราด้วยว่าสนใจอะไร อย่างตอนนี้ความสนใจส่วนตัวก็มีหลากหลาย แต่ที่ชัดเจนคือการทำงานกับนักแสดง การหาเรื่องมาเล่า กระทั่งองค์ประกอบต่างๆ ที่เราสนใจเรียนรู้มากขึ้น อย่างเช่น การใช้เสียง สกอร์ การเล่าเรื่องโดยใช้เสียง ซึ่งแตกแขนงออกมาจากเรื่องที่เราสนใจอยู่ก่อนแล้ว
สำหรับโรส การเล่าเรื่องดูจะสำคัญพอสมควร ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
เรามองว่ามันเป็นการที่ทำให้มนุษย์อย่างเราๆ มีชีวิตต่อไปได้อีกรูปแบบหนึ่ง หนังทำให้เราได้แรงบันดาลใจ และสะท้อนให้ได้ทบทวนชีวิตของตัวเอง แค่เล่าเรื่องให้ตัวเองฟังก็เป็นการปูเส้นทางให้ได้เติบโตแล้ว ทุกคนลองเขียนไดอารี่หรือกลับไปดูรูปเก่าๆ กับผลงานเก่าๆ ของตัวเองก็ได้ มันอาจจะมีทั้งความรู้สึกที่คิดว่าเราทำอะไรลงไป หรือความคิดที่ว่าเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้อีกแล้ว มันก็จุดประกายคำถามได้เหมือนกันว่าตัวเราในวันนี้จะทำอะไรต่อ ทุกอย่างที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ก็เป็นสิ่งที่ประกอบร่างสร้างเป็นตัวเราขึ้นมาเหมือนกัน

การเป็นมนุษย์คืออะไรสำหรับเรา
อืม…การเป็นมนุษย์ (หยุดคิด) คำว่า ‘การเกิดมาเป็นมนุษย์’ อาจจะฟังดูยิ่งใหญ่ เราทุกคนก็เกิดมาเป็นมนุษย์อยู่แล้ว แต่อะไรคือสิ่งที่ทำให้เราอยากตื่นขึ้นมาอีก สิ่งที่อยากทำในวันพรุ่งนี้คืออะไร มีอะไรบ้างที่ทำสำเร็จแล้วจะเหมือนได้ติ๊กถูกให้กับตัวเอง ซึ่งทุกอย่างนี้ก็ดำเนินต่อไปตราบใดที่เรายังไม่ตาย เราจึงมองว่าการเป็นมนุษย์ก็คือการหาว่าจะทำอะไรในแต่ละวัน มันอาจจะเป็นเรื่องธรรมดาอย่างการกินหรือนอน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นการทำอะไรที่มากกว่ากิจวัตรประจำวัน อย่างการทำหนัง การเรียนรู้เพิ่มเติมในสิ่งที่ชอบ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ แค่รู้อะไรที่ไม่เคยรู้จากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นการต่อยอดไปสู่อนาคตได้แล้ว
ถ้าอย่างนั้น การใช้ชีวิตคืออะไร
อาจจะคล้ายกับที่ตอบไป สำหรับเรา มันคือการที่เรารู้ว่ามีอะไรที่อยากจะทำต่อไป อยากสนุกกับอะไร อยากท้าทายหรือตื่นเต้นกับอะไรอีกบ้าง ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองทำได้ แต่ทำได้ในที่นี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเก่งมากหรือสุดยอด แค่ผ่านเรื่องราวในชีวิตต่างๆ มาได้ก็ถือว่าโอเคแล้ว
โรสชอบอะไรในการเรียนรู้ ทั้งในห้องเรียนและการใช้ชีวิต
ด้วยความที่เราเองก็เป็นอาจารย์ เวลาที่สอนก็จะเน้นสอนให้ปฏิบัติ ให้นักศึกษาเรียนรู้จากความผิดพลาดของเรา และให้เขาลองเรียนรู้ด้วยการทำเอง เพราะสิ่งที่ไม่เวิร์คสำหรับเราก็อาจจะเวิร์คสำหรับเขา ในอีกแง่หนึ่ง เราก็ได้ไอเดียใหม่ๆ จากความคิดของพวกเขาด้วยเหมือนกัน มันเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดจากคนต่างช่วงวัย ชอบตรงนี้เหมือนกัน
“การเรียนรู้ที่ง่ายที่สุดคือการที่เรามองย้อนกลับไปและคุยกับตัวเอง ทบทวนความคิดให้เข้าใจว่าเรารู้อะไรจากตอนนั้น และจะทำยังไงต่อไปในอนาคต”

ส่วนตัวมองว่าการได้ทำงานกับคนเยอะๆ เป็นอะไรที่น่าสนใจไหม
เราว่ามันน่าสนใจเพราะคนแต่ละคนก็มีคาแร็กเตอร์ที่ไม่เหมือนกัน และหาไม่ได้จากคนอื่นๆ เพราะแต่ละคนก็มีพื้นฐาน ประสบการณ์ชีวิต และความชอบที่แตกต่างกัน ทั้งหมดก็สร้างเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่เหมือนใครขึ้นมา แน่นอนว่าเราก็เหมือนๆ กันในเรื่องของอารมณ์อยู่แล้ว ทุกคนมีรัก โลภ โกรธ หลง แต่วิธีการจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นก็ไม่เหมือนกัน เรามองว่าตรงนี้เป็นมุมที่น่าสนใจ
ช่วงนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอะไรบ้าง
การคุยกับคนนี่แหละ ช่วงนี้ก็จะคุยกับคนที่หลากหลายมากขึ้น อาจจะเป็นคนที่มาจากวงสังคมเดียวกัน แต่พอได้เจอกับคนที่เปิดมุมมองใหม่ๆ มันก็น่าสนใจ อย่างล่าสุดที่จะได้ไปจัด Performance ที่สงขลา พอโจทย์คือการเล่นกับพื้นที่เปิด นักแสดงทั้ง 3 คนก็คุ้นชินกับการใช้เสียงที่เป็นปกติ แต่พอมาเล่นในพื้นที่เปิด เราก็ต้องคิดว่าจะใช้เสียงปกติยังไงให้ไม่ปกติ จะส่งเสียงดังยังไงให้ไม่ดูเหมือนตะโกน เราก็เลยชวนพี่ปูเป้ที่เป็นนักแสดงและผู้กำกับมาทำ Voice training เขาก็ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องเสียงและวิธีการที่ไม่คุ้นชิน จุดนี้ก็พัฒนาผลงานของเราได้เหมือนกัน
เวลาแคสติ้ง สิ่งที่โรสมองหาในความเป็นมนุษย์คืออะไร
การแคสติ้งก็มหัศจรรย์มากๆ เหมือนกันนะ บางครั้งก็เจอที่มีคนเดินเข้ามาแล้วรู้สึกว่าใช่เลย เพราะเขามีออร่าหรือมวลพลังงานบางอย่างที่อธิบายได้อยาก และอยากให้เขาลองพูดบทที่เราเขียนมากๆ ในขณะเดียวกันก็มีคนที่อาจจะยังไม่คลิกตั้งแต่แรก แต่พอเขาอ่านบทให้ฟังแล้วก็รู้สึกเมื่อกี้เราตัดสินไปก่อนเอง สิ่งหนึ่งที่ชอบในการแคสติ้งคือการที่ตัวละครในกระดาษได้มีชีวิตจริงๆ และบางครั้งเราอาจจะไม่ได้มองหาคนที่ดีที่สุด แต่หาคนที่เข้ามาเป็นชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่เข้ากันได้มากที่สุด
แล้วเราทำยังไงให้อารมณ์ของเขากับเราแมทช์กันบ้าง
จริงๆ เราว่านักแสดงก็มีวิธีการและขั้นตอนเป็นของตัวเอง การที่จะได้มาซึ่งมวลอารมณ์นั้นก็มาจากการตีความของเขา ซึ่งเราก็ต้องดูว่ามันคือสิ่งเดียวกันกับที่อยู่ในตัวอักษรของเราหรือเปล่า ในเวลาเดียวกันก็ชอบที่ได้เห็นเรื่องราวของเราเติบโตไปอีกทางหนึ่ง ชอบที่นักแสดงหาวิธีการแสดงหรือพูดในแบบที่เรานึกไม่ถึง แต่ก็สร้างบรรยากาศของตัวละครขึ้นมาได้ในแบบของเขาเอง การให้นักแสดงได้เลือกก็น่าสนใจ นอกเหนือจากการที่ผู้กำกับเป็นคนเลือกเอง
ถ้าให้พูดถึงใครสักหนึ่งคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเรา คนๆ นั้นคือใคร
ขอพูดแบบรวมๆ ได้ไหมว่าแรงบันดาลใจคือกลุ่มคนที่ทำอะไรสักอย่างด้วยความมุ่งมั่นสุดๆ เราชื่นชมคนที่มุ่งมั่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ ชอบปลูกต้นไม้ก็จะปลูกอยู่อย่างนี้ ชอบทำหนังก็จะทำอยู่อย่างนี้ เรารู้สึกว่าเขาต้องใช้แรงมหาศาลในการทำให้สำเร็จ เพราะเราเองก็ยังชอบทำในสิ่งที่หลากหลาย การที่เขาตั้งใจทำสิ่งหนึ่งและทำมันให้ดีจึงน่าชื่นชมมากสำหรับเรา