เฉดสีเขียวและน้ำเงินที่ประกอบขึ้นเป็น ‘ธามม์ - Blue In Green’ ผู้สร้างศิลปะจากของขวัญแห่งธรรมชาติ
“เราไม่ได้จำกัดตัวเองว่าเป็น Florist เพราะยังมีวิธีที่เราจะสนุกกับดอกไม้ได้อีกหลายอย่าง”
หากพูดถึงคำว่า Botanical artist หลายๆ คนก็คงจะไม่คุ้นหูกันสักเท่าไหร่ แต่เมื่อได้เปิดใจชมผลงานของ ‘Blue In Green’ หรือ ‘ธามม์ นีลพนากูล’ ก็คงจะเข้าใจได้มากขึ้นว่าศิลปินอย่างเธอใช้ดอกไม้เป็นสื่อกลาง เพื่อให้ธรรมชาติที่อยู่ตรงหน้าทำงานกับมุมมองและจิตใจของเราได้อย่างแท้จริง
นอกจากจะสวยงามน่าชมแล้ว อีกสิ่งที่น่าสนใจคือการคงไว้ซึ่งความยั่งยืน เพราะพืชพันธุ์และไม้ประดับต้องมีวันเหี่ยวเฉาไปตามกาลเวลา ธามม์จึงยึดมั่นว่าจะสร้างผลงานโดยคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมามากที่สุด และพยายามตอบแทนธรรมชาติในวิธีที่มนุษย์คนหนึ่งจะสามารถทำได้ เราอาจพูดได้ว่าสำหรับเธอแล้ว ดอกไม้ก็คือเพื่อนที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี มากกว่าการเป็นเพียงประติมากรรมที่เกิดขึ้นและสูญไป

ชื่อ Blue In Green นี้ได้มาจากอะไร
สำหรับเรา จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีความหมายเดียว ในตอนแรก มันอาจจะมีแค่ความหมายง่ายๆ ซึ่งก็คือสีของธรรมชาติอย่างท้องฟ้า ต้นไม้ ภูเขา แต่พอเราทำสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ ได้เจอกับผู้คนเยอะขึ้น เราก็ได้ฟังความหมายของสีฟ้ากับสีเขียวที่แตกต่างกันออกไปในมุมมองของแต่ละคน จึงได้รับรู้ว่า Blue in Green ของเขาเป็นยังไง ตอนนี้ก็เลยมองว่าชื่อนี้ไม่ใช่ของเราคนเดียว มันทำให้เราเชื่อมโยงเข้ากับคนอื่นได้ค่ะ
ที่ประทับใจก็คือการที่มีคนมองว่ามันเป็นเฉดสีของธรรมชาติ อย่างภูเขาหรือป่าสีน้ำเงิน หรือการที่สีเขียวมาอยู่รวมกันจนดูเข้มเป็นสีน้ำเงิน มันทำให้เราคิดว่าจริงๆ แล้วสองสีนี้ก็เป็นสีเดียวกัน แค่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เราว่ามันน่ารักดีค่ะ
อะไรทำให้เราได้มาเป็น Blue In Green อย่างทุกวันนี้
ตอนแรกไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมาทำงานกับดอกไม้ เพราะคิดว่าเรายังไม่เข้าใจมันมากพอ และรู้สึกว่ามันไกลตัว ฟุ่มเฟือย และไม่ยืนยาว จึงไม่ได้สนใจมาแต่แรก เราเคยคิดด้วยซ้ำว่าดอกไม้ไม่จำเป็นสำหรับมนุษย์เลย แต่ความคิดตรงนี้ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปตอนที่เข้ามาหยิบจับมัน อาจเป็นเพราะการทำงานกับสิ่งมีชีวิตจะทำให้เราเชื่อมโยงกับมันได้ง่ายกว่าอย่างอื่น ประกอบกับที่เราเคยทำแต่งานเน้นความเร็วเพื่อสนองความต้องการให้ได้เยอะๆ พอตามไม่ทันก็จะรู้สึกเหมือนถูกสูบพลัง และเหมือนว่าชีวิตโดนกลืนหายไปช่วงหนึ่ง มันบังเอิญกับตอนที่เราพยายามหาอะไรสักอย่างทำ จนได้มาเจอกับสิ่งนี้ และมีโอกาสได้เข้าไปทำงานในร้านดอกไม้ พอคิดว่าสนุกดีก็ทำมาเรื่อยๆ ค่ะ ตัวเราในตอนนั้นก็คิดว่าเราจะสามารถเอามันมาทำอะไรได้บ้าง โดยไม่สนว่าจะเป็นดอกไม้ถูกหรือแพง
การทำงานกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถควบคุมอายุขัยได้สอนอะไรให้กับเราบ้าง
มันสอนให้เราไม่เร็วหรือกระด้างเกินไปในการอยู่กับมันค่ะ เพราะแต่ละอย่างก็ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ อย่างเช่น ต้นนี้มีก้านเป็นยังไง ชอบกินน้ำทางไหน เราควรทำยังไงให้เขาอยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ก็มีอีกเยอะที่เราได้มาจากเขา ได้ทั้งเงิน งาน และชีวิต
“ในทางกลับกัน เราไม่ได้ให้อะไรเขาคืนเลย ซึ่งมันยากมากที่จะตอบแทน เราก็เลยพยายามใช้เขาให้คุ้มค่าที่สุด และพยายามที่จะเบียดเบียนธรรมชาติให้น้อยที่สุด การลดใช้ของ Single use และไม่รับงานใหญ่ๆ ก็พอจะช่วยได้บ้าง”

ธามม์คิดว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังทำกับคุณค่าของมันคืออะไร
สำหรับเรา มันคือการที่เราได้ทำอะไรผ่านสิ่งนี้ และมีคนที่เห็นมัน เท่านี้ก็โอเคแล้ว และอย่างที่บอกว่าจะดีมากถ้าเราสามารถทดแทนให้กับธรรมชาติได้ ซึ่งตอนนี้ก็ยังยากที่จะทำ ก็เลยพยายามใช้วัสดุให้น้อย หันมาใช้ของเหลือกับวัสดุทางธรรมชาติมากขึ้น เพื่อให้มันยั่งยืนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เวลาที่จัดดอกไม้ เห็นว่าทั้งผิวสัมผัสและรูปทรงต่างๆ จะถูกผสมเข้ากัน ตรงนี้ธามม์มีกระบวนการคิดยังไง เห็นอะไรในธรรมชาติบ้าง
ถ้าถามว่าเห็นอะไร เราเห็นความสมบูรณ์แบบของมันที่เป๊ะเกิน ต้องบอกว่าเวลาที่จัดดอกไม้ เราจะเห็นรูปทรงของมันที่เป็นธรรมชาติมาก แต่สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ตาเราคิดไปเองว่าธรรมชาติ จริงๆ แล้วมันถูกทำให้กลายเป็นอย่างนั้น เพราะมันยากมากที่ต้นไม้ทั่วไปจะโตขึ้นมาเป็นรูปทรงที่สวยถูกใจคนทั่วไป บางครั้งต้นไม้ก็แทงกิ่งออกมาตรงๆ แต่เราจะคิดกันไปเองว่ามันต้องโค้งงอถึงจะเป็นธรรมชาติ เราจึงดัดให้มันดูเป็นรูปทรงธรรมชาติแบบที่เข้าใจ เท่านั้นเอง (หัวเราะ)
ถ้าอย่างนั้น สิ่งที่พยายามจะทำคือการดัดรูปทรงขึ้นมาใหม่ หรือทำให้มันกลมกลืนมากกว่ากัน
เราไม่ได้พยายามทำอะไรแบบนั้นเลย (หัวเราะ) สำหรับเรา ดอกไม้ก็มีกฎเกณฑ์ของมันอยู่ เหมือนเวลาที่จัดดอกไม้ ภาพรวมจะออกมาดูเป็นธรรมชาติมากๆ แต่เราจัดตามกริดที่ตั้งเอาไว้ วิธีเดียวกันกับที่เรามอง Landscape แค่จับมันมาใส่คอนเทนเนอร์

ที่ธามม์อธิบายเอาไว้ในการจัดแสดงผลงาน…?
ด้วยความที่เราทำงานตรงนี้ หลายคนก็มักจะถามว่างานแต่ละชิ้นมีคอนเซ็ปต์อะไร ด้วยความที่เราทำมันขึ้นมาด้วยตัวเอง และทำทุกวันจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา เราก็จะนึกถึงคอนเซ็ปต์น้อยลง และคิดมากขึ้นว่าเราทำได้ตามที่ต้องการหรือยัง คงเพราะเรามองว่ามันเป็นกิจวัตรประจำวันไปแล้ว และมองว่าการทำงานให้ได้ผลลัพธ์สำคัญกว่าการเล่าเรื่องที่มาจากกรอบความคิดค่ะ แน่นอนว่าเวลาได้รับคอมมิชชั่นมา เราก็ต้องนึกถึงคอนเซ็ปต์เอาไว้บ้าง แต่ในขั้นตอนการทำงานก็จะค่อนข้างลื่นไหลไปตามจังหวะของมันเอง
“เราสามารถเล่าได้ว่างานชิ้นนี้มีขั้นตอนการทำยังไง ใช้วัสดุแบบไหน ทำมาจากอะไร แต่ก็ขึ้นอยู่กับคุณด้วยว่าอยากจะมองเห็นมันยังไง ผลงานก็สามารถเล่าเรื่องได้ด้วยตัวของมันเอง”
เห็นว่าธามม์เองก็ชอบเวลาที่มีคนพูดถึงตัวผลงานเหมือนกัน
เราชอบเวลาที่ได้ยินคนบอกเล่าความรู้สึกตอนเห็นผลงานของเรา บางคนอาจจะบอกว่าน่ากลัวจัง ซึ่งมันอาจจะเกี่ยวกับประสบการณ์ที่ผ่านมาของเขาก็ได้ หรือบางคนอาจจะมีมุมมองใหม่ว่าพืชก็สามารถเอามาทำแบบนี้ได้ด้วย พอได้เห็นและได้ยินว่าแต่ละคนรู้สึกยังไง เราก็คิดว่ามันมีคุณค่าทั้งหมดค่ะ เหมือนกับที่ดอกไม้ไม่ได้บอกเราว่าต้องจัดมันยังไงถึงจะสวย เราเองก็ไม่บังคับให้ใครมองว่าผลงานเป็นยังไง ผู้ชมสามารถนิยามตามแบบของตัวเองได้เลย