ชีวิตที่ถอด ประกอบ ย้าย ไร้คู่มือของ ‘Made by LERT’ เพราะทุกคนควรมีอิสระในการใช้ชีวิต
~“ตกแต่งห้องยังไงดีนะ” คำถามง่ายๆ ของหลายๆ คน อาจผลักให้เริ่มหาเรฟ เซฟรูปจาก Pinterest เซฟรีลใน IG เพื่อเป็นแนวทางเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ตามความต้องการ
~คำถามเดียวกันนี้ ยังทำให้ เกรซ-นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ เจมส์-เลิศพงษ์ แซ่ฉั่ว และ เค้ก-ไอริณ สงวนสิน กลุ่มเพื่อนสมัยเรียนแชร์ความคิด แชร์ไอเดีย และใช้เวลาว่างจากการทำงานประจำ ปลุกปั้นโปรเจกต์ทำเฟอร์นิเจอร์จากความไม่รู้ร่วมกัน นับหนึ่งเรียนรู้ทีละเปลาะ ลองทำ ถกเถียง ลองทำใหม่ ถกเถียง และลองใหม่อีกครั้ง
~เพราะไม่มีใครมีพื้นฐานการทำเฟอร์นิเจอร์ พวกเขาจึงให้ความสำคัญกับการรีเสิร์ชหาแรงบันดาลใจ จนมาสะดุดกับแนวคิด Nomadic Lifestyle หรือวิถีชีวิตที่ไม่ยึดติด เรียบง่าย เปลี่ยนถิ่นฐานไปเรื่อยๆ สะท้อนอิสรภาพของการใช้ชีวิต สอดคล้องกับไอเดียของ Modular Furniture ที่สามารถถอดประกอบได้ เคลื่อนย้ายได้ พับเก็บได้ ซึ่งเป็นตัวตนของพวกเขาที่เผชิญโชคชะตาลมเพลมพัดให้ผละจากเมืองหลวงสู่เมืองเหนือ
~ตลอดบทสนทนาว่าด้วยชีวิตและเฟอร์นิเจอร์ เราพลางตกตะกอนได้ว่า เครื่องเรือนที่เรามีก็ไม่ต่างอะไรกับอวัยวะหนึ่งของการใช้ชีวิต สามารถเติบโตไปพร้อมเจ้าของ จนเรารู้สึกอินสไปร์เล็กๆ ว่าอยากลองทำอะไรเองสักตั้ง!
~ตาม EQ ไปคุยกับ เกรซ เจมส์ และเค้ก สามผู้ก่อตั้งแบรนด์ Made by LERT สตูดิโอออกแบบจากเชียงใหม่ถึงวิธีคิดและแนวทางการใช้ชีวิต ซึ่งอยู่เบื้องหลังชิ้นงานของพวกเขากัน!
01 Living the Moment
~เกริ่นก่อนว่า Made by LERT ก่อตั้งโดยกลุ่มเพื่อนสนิทสามคนสมัยเรียน Communication Design (CommDe) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พวกเขาใช้มุมหนึ่งของบ้านเจมส์เป็นสถานที่ทำงาน (ให้อารมณ์คล้าย Steve Jobs สมัยเริ่มทำ Apple ในโรงรถนั่นแหละ)
~เมื่อ Made by LERT เริ่มขยับขยาย มีลูกค้า เป็นที่รู้จัก ไม่เพียงแต่แบรนด์มีโอกาสเติบโต แต่การใช้ชีวิตของพวกเขาก็เช่นกัน ไกลจากบ้านเกิด 700 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ สู่เชียงใหม่ เมืองที่พวกเขาอยู่อาศัย ทำงาน และใช้ชีวิตในปัจจุบัน
ก่อนทำ Made by LERT ทำอะไรกันมาบ้าง
เค้ก : เราทำดีไซน์ทุกรูปแบบ ครบวงจร ถ่ายรูป ถ่ายวดีโอ กราฟิก ทำแบรนด์ ทำให้ลูกค้าก่อนมาทำของตัวเอง ก่อนหน้านี้เราได้แค่ออกแบบแบรนด์หรือถ่ายรูปให้ แต่เราไม่ได้ช่วยเขาคิด เราให้ค่ากับความคิดและคอนเซ็ปต์โดยรวม แบรนด์เราถูกคิดมาแล้วว่าจะส่งต่ออะไรได้ หรือจะพูดอะไร มันมีคุณค่ากับเรานะ ทำให้อยากตื่นขึ้นมาทำทุกวัน มีแรงขับเคลื่อน
เจมส์ : เราทำฟรีแลนซ์ ทำกราฟิก ส่วนงานหลักคือที่บ้าน คือเชื่อมเหล็ก ตัดเหล็ก เราต้องเข้าใจในโปรดักที่บ้าน เป็นกึ่งเซล กึ่งช่าง ไปทั่วสุดๆ เมื่อก่อนตอนทำงานคือตื่น 08.00 น. ถ้าต้องออกไปข้างนอกก็คือไปทั้งวัน เลิกงาน 17.30 น. ทำงานจันทร์ถึงเสาร์ เราชอบมั้ย ก็ไม่รู้ เพราะเราถูกบอกมาตั้งแต่เด็กว่า ทำสิ เขาทำมาให้เรานะ เราควรจะรับช่วงต่อ เราถูกพูดใส่มาตั้งแต่เด็ก เราเชื่อว่า เรียนจบมาก็คงกลับมาทำ ไม่เรียกว่าผิดหรอก แต่ไม่คิดให้มากพอ
เจมส์ : เกือบ 2 ปีที่มาอยู่เอง มันเติบโตในหลายด้าน ไม่ใช่ว่าเราขบถกับครอบครัวนะ แต่เราได้เห็นในสิ่งที่เขาพูดหรือสิ่งที่เขาว่าตลอด อ๋อ เข้าใจละว่ามันเป็นอย่างนี้นี่เอง คำพูดเขากลับมาเข้าหัวเรา เราเข้าใจคำพูดพวกนั้นมากขึ้น เจมส์ไม่อยากเป็นเหมือนเขาที่ miscommunicate เจมส์อยากเข้าใจการ communicate นี้ เราอยาก communicate ให้เคลียร์ มีเหตุผล การออกมาทำเองน่ากลัว แต่อย่ากลัว เพราะมันทำให้เราเก่งขึ้นจริงๆ ไม่ใช่ว่าเก่งเท่าคนนู้นคนนี้ เราเก่งกว่าเราเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ความกลัวบางอย่างมันหายไป
เกรซ : เราทำ LERT เพื่อเป็นข้ออ้างไปนู่นไปนี่ ครอบครัวเกรซกับเจมส์เป็นฟีลกงสี ชีวิตเราถูกกำหนดมาทางนี้ทางนั้น LERT ทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างที่เราฝัน ที่เราชอบ มีความ nomadic มากๆ เราอยากมี freedom อยากจะ escape สิ่งเหล่านี้ไหลเข้ามาในงานหมด เช่น ถ้าอยากย้ายอีกทำไงอ่ะ แสดงว่าช็อปเราต้องขยับได้ เครื่อง CNC (Computer numerical control) เราถอดประกอบได้ เราจะเอา CNC ไปตั้งประเทศอื่นก็ได้
เจมส์ : ส่วนไม้มีอยู่ทุกที่ material ทุกอย่างมีอยู่ทุกที่ อยู่แค่ว่าเราจะทำที่ไหน เพราะไอเดียมันอยู่ใน core ของทั้ง 3 คน ก้าวแรกเราก้าวจนขาฉีกเลย จากกรุงเทพฯ มาเชียงใหม่คือฉีกสุดๆ เรารู้สึกว่าเราก้าวได้ไกลกว่านี้อีก ไปได้ไกลกว่ากรุงเทพ-เชียงใหม่
แล้วชีวิตที่เชียงใหม่เป็นยังไง ต่างจากกรุงเทพฯ ไหม
เกรซ : การย้ายออกมาจากเมืองที่เราเติบโต ทำให้เรารู้เลยว่าเราชินกับชีวิตแบบหนึ่งมาก เพราะราว 27 ปีที่เราอยู่กรุงเทพฯ เราชิน เราไปกินกาแฟด้วยเวลา 5 นาที แต่ต้องผ่าน BTS 10 สถานี ในเชิงการทำงานก็เปลี่ยน เราไม่รู้สึกกดดันที่จะต้องคล้อยตามกัน ที่นี่การทำอะไรมันง่าย ด้วยเวลาถูกเซฟ เรามีเวลาสำรวจเยอะขึ้น คนที่นี่ก็น่ารัก เหมือนเวลาคนละ time zone ไม่เร่งรีบเท่า ‘Big city mentality’
เกรซ : ตอนเด็กๆ เราชอบปาร์ตี้ เราเลยคิดว่าเป็นดีเจแล้วกัน จะได้เที่ยว แต่พอเราห่างไป ไม่ได้ทำดีเจและมาอยู่ที่นี่ ได้ออกจากเมือง ออกจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ทำให้เราเข้าใจแล้วว่าเพลงคืออะไร เราจะเห็นเลยว่า เพลงแบบนี้มาจากเมืองนี้ ดีไซน์แบบนี้ culture แบบนี้ มีเพลงใต้ มีเพลงแหล่ มีเพลงพูด เพลง World Music เพลงทำให้เราคิดอะไรออก ณ วันที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ เราไปไหนไม่ได้ ย้อนกลับไปโปรเจกต์แรกๆ ของ LERT คือทำบูทดีเจของตัวเอง จุดนี้เป็นหนึ่งใน core idea ของ LERT เหมือนกัน คือการ integrate หรือบูรณาการหลายๆ medium เข้าไป เพราะเราเชื่อว่ามันคือเรื่องเดียวกัน เรารู้สึกว่าดนตรี หนัง ดีไซน์ก็ขับเคลื่อนคนเหมือนกัน แล้วแต่บริบท
เค้ก : ตอนอยู่กรุงเทพฯ ทุกอย่างเป็น routine ซ้ำๆ เราทำงานครีเอทีฟ เราต้องคิด พออยู่ในลูปตลอดเวลา เราก็ทำทุกอย่างเหมือนเดิม คิดเหมือนเดิม พอย้ายมาที่นี่ มันไม่มีลูปนั้น ทุกอย่างถูก destroy ออกไป มีเวลาให้เราอ่านหนังสือเยอะขึ้น ถ้าเกี่ยวกับ LERT เราได้มีพื้นที่ร่วมกัน ถึงเวลาก็นั่งคุยกันได้เลย ทุกอย่าง allow ให้เรามีชีวิตที่สบายขึ้น สมมติเราอยากทำแพทเทิร์นกระเป๋า เราสามารถเดินไปหาคุณลุงคุณป้าได้ พร้อมจะทำทันที โรงงานไม้ก็เต็มไปหมด มันครบ เราออกไปทำรีเสิร์ชง่าย มีกลุ่มคน มีชุมชนที่เขาทำกันอยู่แล้ว
เจมส์ : ตอนมาเชียงใหม่ ไม่ได้มีเสียงตอบรับที่ดีจากทางบ้าน โอเค เราไปไกล แต่มันก็เพื่อตัวเรา ตอนแพ็กของมันกึ่งๆ ดีใจ กึ่งๆ ไม่ดีใจ เพราะเราไม่รู้ว่าจะไปเจออะไร แต่เรารู้ว่ากำลังจะทิ้งอะไร ด้วยความ mix emotion มาก พอได้มาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ทุกวันตื่นมาก็ถามตัวเองว่า ทำอะไรดี ตัวเองก็จะตอบว่า อยากทำอะไรล่ะ เป็นความรู้สึกที่ตื่นเต้น น่ากลัว น่าสนใจ
เกรซ : จริงๆ ทุกเมืองมีข้อดีและข้อเสีย อยู่ที่เราจะ resonate กับเมืองนี้แค่ไหน ที่นี่มี creative community ที่ถูกสร้างขึ้นเรื่อยๆ มี economic ที่น่าสนใจ มีความ spiritual ให้นิดหน่อย ปนไปกับ activity ต่างๆ หลายคนอยากย้ายออกจากกรุงเทพฯ มันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น มีเมืองที่มีคาแรกเตอร์ ถ้าเราชอบคาแรกเตอร์ตรงไหน เราก็อยู่
พอชีวิตเราเปลี่ยนจากที่หนึ่งไปสู่ที่หนึ่ง สิ่งนี้ส่งผลกับความหมายของ 'การใช้ชีวิต' ยังไงบ้าง
เจมส์ : มีความรู้สึกว่า ‘Living’ อยู่ใน process ของการเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา มันไม่มีคำนิยามว่า Living ตอนนี้คืออะไร Living ในอนาคตคืออะไร เจมส์คิดว่ามันจะเปลี่ยนไปหมด Living เหมือนต้องโมเมนต์นั้น ณ เวลานั้น
เค้ก : ในการใช้ชีวิตที่เกี่ยวกับการทำงาน คือต้อง well thought ชอบอะไรที่คิดมาแล้ว ทำให้น้อยที่สุด หลายคนชอบพูดว่า พอโตมาแล้ว มีหน้าที่การงาน มันตื้อ คิดงานไม่ออก อยากกลับไปเป็นเด็ก อยากกลับไปวาดรูปเหมือนตอนอนุบาล เพิ่งค้นพบว่าเราทุกคนควรมีโมเมนต์ที่ลองกลับไปเป็นเด็ก หรือลืมตัวตนของเราบ้าง มันเป็นประโยชน์ในเชิงครีเอทีฟ ถ้าฝึกเอาตัวเองออกจากผู้ใหญ่กลับไปเป็นเด็ก แล้วมาคิดงาน น่าจะสนุก โลกนี้จะมีอะไรสนุกขึ้นอีกเยอะ
เกรซ : สำหรับเกรซ ชีวิตคือการครีเอท เราชอบคิด เราอยากทำ ทำเพื่อให้เราสนุก ซึ่งใจหลักๆ เราชอบส่งต่อไอเดีย ความคิด หรือ energy บางอย่าง ให้คนรู้สึกว่าอยากอยู่ต่ออีกนิดหนึ่ง โลกน่าอยู่อีกหน่อยหนึ่ง เพราะงานครีเอทีฟทุกแขนง ทุก medium ไม่ว่าจะเป็นเพลง หนัง ดีไซน์ มันส่งต่อบางอย่างให้คน มันเป็น legacy เมื่อเราจากไป
02 Made by LERT, Made by Value
~หลายปีก่อน ในมุมหนึ่งของบ้านแถบชานเมืองหลวง พวกเขาแฮงเอาต์กัน คิดถึงการทำอะไรเป็นของตัวเอง จับเข่าคุย และลงมือทำ เริ่มจากสิ่งที่พวกเขาถนัด สิ่งนั้นคือ 'การออกแบบ'
Made by LERT มีที่มาที่ไปยังไง
เค้ก : เราเจอเกรซกับเจมส์ตอนเรียนออกแบบ เค้กชอบการคิดเป็นหลัก ถ้าเป็นเจมส์ก็จะลงมือทำ เค้กจะเป็นฝั่งคิด คอนเซปต์มาก่อนทุกอย่าง ทุกอย่างต้องฟังแล้วน่าทำ เพราะเป็นคนขี้เกียจ จะคิดทุกอย่างให้เสร็จ ทำนิดเดียว ทำให้น้อยที่สุด และมีประสิทธิภาพที่สุด ไม่ใช้แรงเยอะ ไม่ใช้เงินเยอะ เป็นไอเดียหลักในการใช้ชีวิตตลอด (หัวเราะ)
เจมส์ : เราเคยทำฟรีแลนซ์ทั่วไป เก็บเงินได้ก้อนหนึ่งแล้วรู้สึกอยากแต่งห้อง เรารู้สึกว่าเฟอร์นิเจอร์มันแพง เราไม่ไหวด้วยเงินฟรีแลนซ์ที่หามา เราเอาเงินก้อนนั้นไปซื้อเครื่องมือทำเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องมือทำไม้แทน มันเป็นการคิดที่สวนทางกับเฟอร์นิเจอร์สมัยนี้ที่ใช้งาน 3-4 ปี ต้องเปลี่ยนละ ถามว่าถอดประกอบได้ไหม มันถอดประกอบได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะใส่ได้เหมือนเดิม เวลาเสียก็ต้องซื้อใหม่ทั้งชิ้น แต่เรามีคอนเซ็ปต์ว่า ถ้าเสียแค่นี้ ก็เปลี่ยนแค่นี้สิ จะเปลี่ยนทำไมทั้งชิ้น เป็นไอเดียจากตรงนั้นต่อยอดมา
เกรซ : คำว่า LERT มาจากชื่อจริงของเจมส์ ตอนเริ่ม LERT เราแฮงเอาต์กันในห้องเก็บของที่บ้านเจมส์ ซึ่งทำโรงงานเชื่อมเหล็ก เราก็ทำโลโก้ ทำเสื้อ ทำนามบัตร CI มาก่อนทุกอย่าง แล้วนั่งคุย โอเค เดี๋ยววันนี้จะทำชั้นกัน เราไม่เคยทำธุรกิจ สตูดิโอ หรือแบรนด์ เราไม่รู้สเต็ป แต่เรารู้ว่าแพ็คเกจต้องสวย เราทำแพ็คเกจเป็น เราก็เอาเงินทั้งหมดที่มี ซึ่งรวมกันน้อยนิดมาก เราบอกเจมส์ว่า กูขอทำกล่อง กล่องนี้จะทำให้เราขายได้ เราจะเป็นแบรนด์เดียวในไทยที่กล่องเฟอร์นิเจอร์สวยและ flat pack ได้ เราปรินต์กล่อง จากนั้น เราต้องถ่ายรูปเว้ย เราถ่ายรูปเป็น ก็ไปเช่าสตูดิโอ
เจมส์ : เราแชร์สตูดิโอกับเพื่อนที่ทำแบรนด์เหมือนกัน ค่าเช่าจะได้ถูกลง แล้วเราเช่าครึ่งวันด้วย เราประหยัดงบก่อน
เกรซ : เงินที่เราลงไปกับชิ้นแรก คือหมดเลย เราคิดว่าขายได้แน่ เพราะภาพสวยมาก Visually stunning ใช่ Direction ใช่ ถูกใจทุกอย่าง ออกขายปุ๊บ ขายได้ 2 ตัว จากเพื่อนเจมส์คนหนึ่ง เพื่อนเกรซอีกคนหนึ่ง
เจมส์ : เป็นเพื่อนสายซัพพอร์ต (หัวเราะ)
แล้วขั้นตอนการทำงานของ LERT หลังจากนั้นล่ะ
เกรซ : จากนั้นเราทำชั้นต่อ ซึ่งมี process อีกเกือบ 2 ปี เกรซกับเจมส์จะนั่งวนแค่ ทำยังไงให้คนใช้งานประกอบได้โดยไม่ใช้นอตสักตัว ไม่มีเครื่องมือสักอย่าง เขาสามารถประกอบได้ด้วยมือ มันต้องสวย วัสดุที่ทำต้องมีความยั่งยืน ต้อง flat pack ได้ แข็งแรง และ timeless เรานั่งทะเลาะ ขยับอันนี้สูงขึ้น ลดอันนี้ลง เรานั่งอยู่ในห้องนั้น หมกมุ่นกับแต่ละมิลลิเมตร เค้กสามารถประกอบได้โดยไม่ให้ instruction ได้มั้ย แต่วันนี้เกรซกับเจมส์ไม่ทะเลาะกันแล้ว เพราะ LERT ซีเรียสเกี่ยวกับการทำ nomadic living และทุกอย่างพิสูจน์ให้เห็น ณ วันที่เราย้ายมาเชียงใหม่ ทุกอย่างในห้องนั้นถูกแพ็คแล้วส่งมาที่นี่
หัวใจของ LERT คืออะไร และการไม่ได้มีพื้นฐานทำเฟอร์นิเจอร์โดยตรงมันยากขนาดไหน
เกรซ : หัวใจของเราคือ ต้องถอดประกอบได้ ต้องเปลี่ยนใจได้ ต้องง่าย material ต้องน้อย เรามีคีย์เวิร์ดเต็มไปหมด ด้วยความที่เราเรียนดีไซน์ แต่ไม่ได้เรียนเฟอร์นิเจอร์ เราก็ไม่รู้ขนาดนั้น วันหนึ่งเราเจอหนังสือชื่อ ‘Nomadic Furniture’ ของ Victor Papanek เราเปิดปุ๊บ โอ้โห เหมือนเห็นตัวเอง พอเราอ่านเพิ่ม รีเสิร์ชเพิ่ม มันมี pioneer เหล่านี้อยู่แล้ว ความ nomadic หรือความยุคหนึ่งที่คนสร้างบ้านเองก็ได้ ทำเฟอร์นิเจอร์เองก็ได้ อ๋อ มีมาแล้ว เราไม่ได้ใหม่ กลายเป็นเสาหลักของ LERT ว่า ต้องมีอะไรบ้างเพื่อบอกว่านี่เป็น nomadic หรือเป็น modular ซึ่งก็คือ เราจะทำชั้นให้คนประกอบได้และเข้าใจว่าสิ่งนี้ย้ายได้ เปลี่ยนใจได้ โดยไม่ต้องอธิบาย
เค้ก : inspiration ตั้งแต่แรก คือ Ken Isaacs ที่ทำ living structure เราเห็นแล้วรู้สึกว่าวันหนึ่งจะต้องทำแบบนี้ให้ได้ เป็นไอเดียของการ self-sustain หรือการพึ่งพาตัวเองโดยสร้างเฟอร์นิเจอร์แบบง่ายๆ ไม่ต้องไปซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่ fixed มา มันคือไอเดียของการปลูกผักกินเอง เหมือน Permaculture ซึ่งเค้กอยากใส่เข้ามาในแบรนด์ให้คนได้สัมผัส ในยุคนี้เราต้องพึ่งพาหลายอย่าง เรายังอยู่ในระบบนี้ แต่ถ้าเราพึ่งพาตัวเองได้มากที่สุด มันคืออิสรภาพนะ
เกรซ : มันก็มาถึง ‘Plank System’ เสาอันนี้คือหัวใจที่ทะเลาะกันมา 2 ปี มีแค่นี้จริงๆ
เจมส์ : ขนาดจะสั่งทำยังทะเลาะกันอยู่เลย สั่งมาแล้วล็อตแรกยังมีแก้ เป็น “Never ending process.”
เกรซ : เสานี้ถูกคิดมาแล้วว่า ความสูงเท่านี้จะใส่ไวนิลได้ จะใส่ของทุกอย่างที่คนส่วนมากใส่ พอเราลดลงมาครึ่งหนึ่งมันจะถูกใส่เทปคาสเซต หรือหนังสือการ์ตูน หรือ amplifier ได้ ลดลงมาอีกจะใส่อะไรได้บ้าง ถูกคิดมาทุกอย่างจากไลฟ์สไตล์ของทุกคน เรามั่นใจใน product มากว่า well thought
เจมส์ : แม้กระทั่ง process ในการทำจะเหลือไม้เยอะมั้ย เราจะเหลือไม้น้อยที่สุด อัดให้เยอะที่สุด เราบอกลูกค้าตลอดว่า ถ้าลูกค้าซื้อไซส์นี้ ซื้อไซส์นี้ดีกว่า มันคุ้มต่อราคาที่เขาจ่ายมากกว่า เราเองก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่องราคาด้วย มันต้องจับต้องได้
เกรซ : modular หรือ nomadic furniture ควรเป็นสิ่งที่คนสามารถเข้าถึงได้ ใน process ที่เราตั้งใจทำและตั้งใจคิด ทุกครั้งที่ลูกค้าประกอบได้ เขาได้ใช้อีก เขาเข้าใจว่ามันลดหรือเพิ่มอะไรได้ โคตรมีความสุขเลย
แล้ว LERT อยากให้คนใช้งานรู้สึกยังไง
เค้ก : รู้สึกเหมือน Living Thing เราควรเข้าใจว่าโต๊ะ เก้าอี้ หรือเตียงของเราใช้ material อะไร ประกอบยังไง จะถูกรีไซเคิลที่ไหน พังแล้วเราจะซ่อมยังไง เป็นพื้นฐานที่เราทุกคนควรรู้ สมมติว่าซื้อชั้นนี้ไป ไม่ใช่ว่าตั้งไว้ สวย พัง แล้วขายต่อ
เกรซ : เราอยากให้รู้สึกมี freedom ในการใช้ชีวิต “Created for you to create.” คือคำนี้เลย เช่น เราทำชั้นเพื่อจัดแสดงของ พี่จะทำอะไรมาทำเลย เพราะชั้นเราต่อขึ้นไปได้ วันหนึ่งพี่ไม่อยากทำแล้วก็ลดลงมา เรารู้สึกว่าทำให้คนได้ใช้ชีวิต โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าตู้ Mid-Century หลังนี้รับน้ำหนักได้แค่ 50 กิโลกรัม
เค้ก : LERT ออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อให้คนรู้สึกมีครีเอทีฟ มันอาจไม่ใช่โต๊ะที่เนี้ยบที่สุด เก้าอี้ที่นั่งสบายที่สุด หรือชั้นที่สวยที่สุด แต่พอเรามองมันแล้ว เรารู้สึกว่าเราคิดออก มีอิสระ
เกรซ : แต่วันนี้ medium เราคือเฟอร์นิเจอร์ ในอนาคตเราอยากให้ความรู้สึกนี้ไปต่อในทุกๆ อย่างที่เราทำ
เค้ก : เหมือน LERT อยากเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนได้ทำสิ่งต่างๆ ให้รู้สึกถึงคำว่า free ไม่ว่าจะเป็น system ที่เราคิดขึ้นมา หรือโรงหนังที่เราย้ายไปได้ทุกที่ เราอยาก allow ให้คนได้ใช้ชีวิตแบบ nomadic จริงๆ สิ่งเหล่านั้นเป็นวัตถุ เป็นโปรดักก็จริง แต่มันมี philosophy เบื้องหลังสิ่งนั้น
03 Living Space, Living Cinema
~เดือนสิงหาคม ในงาน Pakk Taii Design Week ปี 2024 ที่สงขลา พวกเขาขนโครงสร้างขนาดใหญ่ขึ้นรถมาจากแดนเหนือ เพื่อประกอบโรงภาพยนตร์ในดงสถาปัตยกรรมจีนและอาคารเก่าแก่ สำหรับโครงสร้างไม้สีเข้มนั้น มองเผินๆ ก็คล้ายหนังกลางแปลง หรือไม่ก็โรงหนังสแตนอโลนที่มีล้อไปที่ต่างๆ แต่มองอีกแง่ ก็คล้ายพระธุงค์ปักกลดตามสถานที่ต่างๆ เช่นกัน
ทราบมาว่าตอนนี้มีโปรเจกต์ ‘Dhutanga Cinema’ ทำไมถึงขยับแตะโครงสร้างที่ใหญ่ระดับโรงหนัง
เกรซ : เริ่มจากการตั้งคำถามว่า เป็นไปได้มั้ยที่เราจะทำ medium ใหญ่ขึ้นโดยใช้หัวใจเดิม แล้วก็คิดว่า space อะไรที่มันทำงานกับเรา คนอื่นเข้าใจ space นี้ และอยู่ใน community อยู่แล้ว ซึ่งมีไม่กี่อย่างหรอก เราตกผลึกได้ว่า เราอยากลองทำโรงหนังที่สามารถถอดประกอบได้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Dhutanga Cinema ที่มาจากภาษาบาลี มาจากคำว่าธุดงค์ ซึ่งชื่อไทยของเราคือ ‘ธุดงค์รามา’
เค้ก : ในหลายพื้นที่ไม่ได้มีโรงหนัง ถ้าเราสามารถพาโรงหนังเดินทางไปได้ มันคงเป็นโกลของการทำสิ่งที่พับเก็บได้ น่าจะเป็นอะไรที่ดี
เกรซ : เคยได้ยินจากคนที่พังงา เขาบอกว่าต้องขับรถไปดูหนังที่ภูเก็ต สมมติหนังจะฉายอีก 2 ชั่วโมง ขับรถไปชั่วโมงกว่า ขับกลับอีกชั่วโมง หายไปแล้วครึ่งวัน เพราะ experience ของโรงหนังมันแทนกันไม่ได้ เราได้นั่งอยู่กับคนไม่รู้จัก ขำพร้อมกัน หรือร้องไห้พร้อมกัน experience แบบนี้มันช่างศักดิ์สิทธิ์เหลือเกิน เราอยากพับเก็บมัน แล้วไปกางได้ทุกที่
เจมส์ : ตอนแรกเราถูกชวนทำที่กรุงเทพฯ แต่พี่จากทีม Pakk Taii Design Week เขาอยากได้มาก เขาให้คุณค่าฟิล์มมาก มันดูลำบากนะ จากเหนือสุดมาใต้สุด แต่พอเราได้เห็นซีน ได้เห็นไซต์ ได้เห็นโครงสร้างมาอยู่กับตึกเก่าที่สงขลา เรามาตั้งอยู่หน้าบ้านเขาเลย ไม่ต้องให้เขามาหาเรา เราไปหาเขาแทน การที่ป้าๆ ลุงๆ เดินมาแถวนี้มันง่าย เพราะเขาก็เดินอยู่แล้ว ไม่ต้องเดินทางไกลเข้าเมืองเพื่อดูหนัง
เกรซ : จากโต๊ะตัวเดียวที่เริ่มกัน 3 คน กลายเป็นโรงหนังใหญ่ขนาดนี้ โห เราทำอะไรวะเนี่ย แต่มันอยู่ใน DNA เรา เป็นอีก challenge ของเราในทีมที่ไม่ได้ใหญ่มาก เพราะเราไม่รู้เรื่องพวกนี้ เราเลยกล้าทำ
ต่างจากการทำ LERT ไหม
เค้ก : ที่จริงมันก็คือ Plank ของชั้นเรานี่แหละ แต่เป็นเวอร์ชั่นโรงหนัง
เกรซ : เก้าอี้ถอดได้ พับได้ ประกอบได้ภายในในกี่นาที โครงสร้างประกอบใช้เวลากี่วัน เสาถอดยังไงให้ขึ้นรถได้ ไม้ต้องเสียบยังไง ลำโพงเราถอดได้ไหม ทุกอย่างจะต้องเปลี่ยนได้ เพราะเราไม่รู้ว่าต้องไปไหน ตอนนี้มันเกิดเคสว่า ในปัตตานีเราอาจต้องเล็กลง เพราะไซต์ของงานเล็กลง
เจมส์ : เวลาเราสร้างอะไรขึ้นมา เราเริ่มจากไอเดียหลักตลอด แล้วค่อยขยายมันออกมา คือต้องไปไหนได้ จะต้องหน้าตายังไง ซึ่งภาพที่เห็นทั้งหมดก็เป็นการออกแบบมาให้มันย้ายได้
การถอดประกอบและขนย้ายได้ ถือเป็นแนวทางเดียวกับการใช้ชีวิตของเราไปแล้วหรือเปล่า
เค้ก : แนวคิดพวกนี้ (nomadic และการธุดงค์) ถูกคิดขึ้นมาในยุคหนึ่ง เป็นแนวคิดที่อยากให้ทุกคนหลุดจากการพึ่งระบบ เราทุกคนพึ่งตัวเองได้ เรามี living space ของตัวเองได้ เราสร้างเฟอร์นิเจอร์ของตัวเองได้ เรามีสวนของตัวเองได้ มันมีความ Eco Living ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับ LERT ที่อยากให้ทุกคนสัมผัสคำว่า “Freedom” เค้กอยากให้มันถูกส่งต่อผ่านโปรดักของเรา หรืออะไรที่ง่ายๆ คนสามารถซื้อไปตั้งที่บ้านได้ รู้สึกถึงคำว่าอิสระในการใช้ชีวิต ผ่านโต๊ะ ตู้ เตียง มันเป็นอะไรที่ง่ายมากเลย
เจมส์ : เพิ่ง unlock มาไม่นาน เมื่อก่อนเจมส์เป็นคน plan ahead แล้วพอไม่เป็นอย่างนั้น เจมส์จะไม่ฟังก์ชัน ตอนนี้รู้สึกว่า แค่ทำไม่ได้ ก็แก้สิ สมมติเราเจาะไม้พลาด ตัดใหม่สิ อย่าปวดหัวเพราะมันเป็นรู ทำอะไรไม่ได้แล้ว ทำต่อไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันจะพาเราไปอยู่ที่ที่ไกลกว่า แค่ทำ อย่างน้อยเรากำลังทำอยู่ มันกำลัง progress แค่ทำ ทำ ทำ ทำ ทำ ทำ ทำ ทำ ทำไปเรื่อยๆ นี่แหละคือ philosophy ของเรา
เกรซ : เราคงไม่ได้อยู่นานมาก เราเอาอะไรไปไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทิ้งไว้อาจจะ inspire ใครได้ อย่างที่บอกว่าเราไปสะดุดเจอหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งเหมือนสิ่งที่เราคิดอยู่ในใจมาตลอด หมายถึง Victor Papanek ที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่หนังสือเล่มนั้นมันเปลี่ยนเรา แน่นอนไม่รู้ว่าจะทำได้ขนาดไหน จะ impact ขนาดไหน แต่เราอยากทำให้ได้
ส่องงานสุดคราฟต์และสำรวจโปรเจกต์ต่างๆ ของ Made by LERT ได้ทาง
FB : Made by LERT
IG : @madebylert