ขนาดเฟอร์นิเจอร์นิ่งๆ ยังขบถสำเร็จมาแล้ว! รู้จัก Surrealist Furniture ชีวิตแหกกรอบจากเฟอร์นิเจอร์เหนือจริง
จำได้ไหมว่าตัวเองแหกกฎครั้งล่าสุดเมื่อไหร่? “เรียนจบต้องหางานมั่นคง” “30 แล้วแต่งงานหรือยัง” “แต่งงานมานานแล้วเมื่อไหร่จะมีลูกล่ะ” เคยนึกสงสัยหรือเปล่าว่าทำไมเราต้องทำตามล่ะ ชีวิตมีแค่เส้นทางเหล่านี้เท่านั้นเหรอ? งั้นแหกกฎเป็นขบถบ้างหน่อยจะเป็นไร เพราะรู้ไหมว่าขนาดเฟอร์นิเจอร์ที่ตั้งไว้นิ่งๆ ก็ยังเคยขบถสำเร็จมาแล้ว!
เมื่อใดที่คนเรียกร้องให้เฟอร์นิเจอร์เป็นมากกว่าสิ่งของที่มีฟังก์ชั่นเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในบ้าน เมื่อนั้นก็คือจุดเริ่มต้นของ ‘เซอร์เรียลลิสม์ เฟอร์นิเจอร์’ (Surrealist Furniture) รูปแบบของเฟอร์นิเจอร์สุดครีเอทีฟที่แหกกฎและฉีกกรอบของความเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่เราคุ้นเคย
วันนี้เราจะพาทุกคนไปสำรวจความเป็นเฟอร์นิเจอร์ในแต่ละยุคสมัย ไปจนถึงการเกิดขึ้นของเฟอร์นิเจอร์สุดเซอร์เรียล รูปแบบที่อาจเปลี่ยนภาพจำของเราต่อเฟอร์นิเจอร์และชีวิตให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ก่อนเป็นเฟอร์นิเจอร์สุดเซอร์เรียล
ความหมายโดยทั่วไปแล้ว ‘เฟอร์นิเจอร์’ เป็นคำนิยามถึงวัตถุที่สามารถเคลื่อนย้ายและออกแบบเพื่อตอบสนองการใช้งานในกิจกรรมของมนุษย์ แต่หากจะย้อนไปถึงความเป็นมาของเฟอร์นิเจอร์ในแต่ละยุคสมัยแล้ว แน่นอนว่าเฟอร์นิเจอร์นั้นมีขึ้นมาก่อนชื่อเรียกของมันเสียอีก
มนุษย์เราผูกโยงกับสิ่งประดิษฐ์นี้ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในยุคหินเป็นการนำหินมาตั้งเรียงและประกอบกันเป็นรูปร่างของตู้ ชั้นวาง และเตียงตามแบบที่เราพอจะนึกภาพได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นตัวบ่งบอกว่ามนุษย์ต้องการวัตถุอำนวยความสะดวกมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ แต่ถึงอย่างนั้นวัตถุเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีความสลักสำคัญอะไรมากไปกว่ามีไว้เพื่อใช้งาน และถึงแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนให้หน้าตาของเฟอร์นิเจอร์เปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน แต่ก็ดูเหมือนว่าวัตถุนี้มีเพียง ‘สไตล์’ ที่เปลี่ยนไป แต่กลับไม่เคยหลุดออกจากกรอบเดิมๆ
เรื่อยมาจนถึงยุคนี้ เรานิยามฟอร์มของเฟอร์นิเจอร์ปัจจุบันว่าเป็น ‘โมเดิร์น’ (Modern) หรือ ‘ร่วมสมัย’ (Contemporary) แน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นกรอบจำแนกแยกแยะให้เรารู้ถึง ‘รูปแบบที่ตายตัว’ ของความเป็นเฟอร์นิเจอร์ แต่ความเข้าใจนี้ก็ได้ถูกท้าทายขึ้น เมื่อแนวคิดของลัทธิเหนือจริงกำลังจะบอกว่า เฟอร์นิเจอร์สามารถเป็นได้มากกว่ารูปแบบอันตายตัวที่เราเคยรู้จัก นำมาสู่การเกิดขึ้นของเซอร์เรียลลิสม์ เฟอร์นิเจอร์
“I believe in the future resolution of these two states, dream and reality, which are seemingly so contradictory, into a kind of absolute reality, a surreality, if one may so speak.”
“ฉันเชื่อว่าในอนาคต ทั้งสองสภาวะ คือความฝันและความจริงที่ดูจะขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงนี้ จะถูกหลอมรวมกันกลายเป็นความจริงโดยสมบูรณ์ เป็นสภาวะเหนือจริง หากจะเรียกเช่นนั้นก็ตาม” Andre Breton, Manifesto of Surrealism (1924)
กล่าวได้ชัดเจนว่าจุดเริ่มต้นของแนวคิดทางศิลปะนี้ เริ่มต้นมาจากวรรณกรรมที่ถูกตีพิมพ์ในชื่อ Manifesto of Surrealism (1924) ที่เขียนโดย อังเดร เบรอตง (André Breton) นักกวีและนักวิจารณ์ที่ผู้นำของลัทธิเหนือจริง โดยเทคนิคที่เขามักใช้ในงานเขียนเรียกว่า ‘การเขียนโดยอัตโนมัติ’ (Automatic Writing) มันคือการเขียนอย่างรวดเร็วที่ไหลไปอย่างอิสระ ซึ่งต่อมาได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เข้ากับงานศิลป์ในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะจิตรกรรมแห่งลัทธิเหนือจริง
ภายใต้ความอลหม่านในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีศิลปินกลุ่มเล็ก ๆ ที่ยังรักษาจินตนาการ และความเป็นไปได้ให้กับโลกที่ดูแสนจะสิ้นหวัง ซึ่งก็คือ ‘กลุ่มดาดา’ (Dada Movement) ที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามและโต้ตอบความโหดร้ายของสงครามผ่านศิลปะ บทกวี และการแสดง
ค่านิยมเดิมได้ถูกท้าทาย ด้วยความเชื่อในสัญชาตญาณและความไม่สมเหตุสมผล เมื่อสิ่งนี้กลายเป็นกระแสนิยม จึงนำมาสู่รากฐานให้กับ ‘เซอร์เรียลลิสม์’ (Surrealism) หรือ ‘ศิลปะลัทธิเหนือจริง’ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ ปารีสในปี 1924
“แปลกประหลาด พิลึกพิลั่น สับสนงุนงน น่าค้นหา”
นี่คงเป็นส่วนหนึ่งของคำจำกัดความที่ผู้เขียนมีต่อความเป็นเซอร์เรียลลิสม์ แนวคิดทางศิลปะนี้ให้ความสำคัญกับการปลดปล่อยจินตนาการที่อยู่ภายใต้จิตไร้สำนึก (Unconscious mind) มักจะใช้ทฤษฎีของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) มาเป็นแนวทางในการอธิบายโดยเฉพาะหนังสือเรื่อง The Interpretation of Dreams (1899) ที่ว่าด้วยการตีความความฝันที่เกิดขึ้นในยามที่จิตไร้สำนึกทำงานในยามหลับ ว่ากันง่ายๆ คือ ศิลปะที่ถูกสื่อสารออกมาจะมีความเป็นอิสระและอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ของโลกความเป็นจริงคล้ายความฝัน หรือจะเรียกว่าเป็นสิ่ง ‘อัตโนมัติ’ ที่ถูกถ่ายทอดออกมาโดยไร้ซึ่งสิ่งคัดกรอง
แนวคิดนี้ไม่ได้ถูกใช้อยู่แค่ในงานจิตกรรมเท่านั้น แต่ยังแทรกซึมไปยังงานศิลป์แขนงต่างๆ จนนำมาสู่การตั้งคำถามถึงขีดจำกัดการดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ว่าจริงๆ แล้ว จำเป็นหรือไม่ที่เฟอร์นิเจอร์จะต้องมีรูปลักษณ์ตามรูปแบบที่เป็นอยู่ ‘เซอร์เรียลลิสม์ เฟอร์นิเจอร์’ จึงเป็นการท้าทายรูปแบบของความเป็นเฟอร์นิเจอร์ โดยการจับต้นชนปลายสิ่งที่ไม่น่าจะเข้ากันได้ ให้กลายเป็นผลงานศิลปะอันแปลกตาที่ต่างไปจากสุนทรียภาพแบบเดิมๆ
และหากมีคำถามว่า แล้วเฟอร์นิเจอร์เซอร์ๆ นี่มันต้องเป็นยังไงล่ะ? สำหรับผู้เขียนนั้นคงจะตอบว่าเป็นอะไรก็ได้ที่ยังตอบโจทย์ฟังก์ชันการใช้งานในฐานะเฟอร์นิเจอร์อยู่นั่นแหละ และเพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพของความ ‘อะไรก็ได้’ มากขึ้น เราจึงขอแนะนำลิสต์สุดเก๋ของเซอร์เรียลลิสม์ เฟอร์นิเจอร์ ให้ทุกคนได้รู้จักกัน
Boomerang Desk (1969/1970) by Maurice Calka
มาเริ่มต้นกันที่ โต๊ะบูมเมอแรง (Boomerang Desk) ผลงานการออกแบบของ Maurice Calka ศิลปินชาวฝรั่งเศส เฟอร์นิเจอร์ที่ยังคงฟังก์ชันของโต๊ะทำงานเอาไว้ แต่เปลี่ยนดีไซน์ให้ดูทะเล้น สนุกสนาน ด้วยการออกแบบเป็นรูปทรงของ ‘บูมเมอแรง’ วัตถุสุดสวิงที่ยิ่งเขวี้ยงแรงยิ่งกลับมาเร็ว และหนึ่งในความพิเศษของมันคือความลิมิเต็ดอิดิชั่นนั่นแหละ เพราะผลิตออกมาเพียง 40 ตัวในโลก ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ได้ครอบครอง คือ George Pompidou ประธานาธิบดีคนที่ 19 ของฝรั่งเศส นี่คงจะเป็นตัวอย่างของเซอร์เรียลลิสม์ เฟอร์นิเจอร์ ที่ดูเข้าใจง่ายและไม่ซับซ้อนมากนัก แต่ในขณะเดียวกันก็มีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นและแตกต่างจากโต๊ะทำงานทั่วๆ ไป
PRATONE (1971) by Gufram
เชื่อได้เลยว่าถ้ามองด้วยตาเปล่า คงไม่มีใครเชื่อแน่ๆ ว่าสิ่งนี้สร้างมาเพื่อเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ได้จริง นี่คือ PRATONE (1971) รูปลักษณ์ของเก้าอี้นอนหรือเบาะนั่งสุดแปลกตาที่ถูกปล่อยออกมาตั้งแต่ยุค 70’s ผู้ออกแบบได้รับแรงบันดาลใจมาจากสนามหญ้าสีเขียวที่เปรียบเสมือนเบาะนั่งธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นวัตถุที่สร้างจากสิ่งที่สังเคราะห์ขึ้นมา แสดงถึงสิ่งที่ขัดแย้งกันในเชิงประชดประชัน เรียกได้ว่าเป็นเก้าอี้ที่มีหน้าตาล้ำสมัยไปมากเมื่อเปรียบกับยุคที่มันถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา นี่ถือเป็นหนึ่งในสินค้าชูโรงที่รู้จักกันดีของ Gufram บริษัทเฟอร์นิเจอร์สุดแปลกแหวกแนวที่ท้าทายกรอบเดิมๆ ของเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว
Surreal Furniture (2008) by Lila Jang
คอลเลกชัน Surreal Furniture (2008) โดย Lila Jang มีรูปลักษณ์เป็นเฟอร์นิเจอร์สไตล์ฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 18 ที่ถูกเพิ่มเติมความเหนือจริงด้วยรูปทรงที่บิดเบี้ยวและพองโต เธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากปัญหาพื้นที่ใช้สอยที่มีอย่างจำกัดภายในอพาร์ทเม้นท์เล็กๆ ของตัวในเองกรุงปารีส รวมถึงความต้องการของเธอที่อยากจะหลีกหนีออกจากกิจวัตรประจำวันที่จำเจในชีวิตจริง และจากดีไซน์ของโซฟาอันชวนฉงนนี้ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่บ่งบอกถึง ‘ความเหนือจริง’ ได้อย่างเด่นชัด มันทำให้ผู้เขียนนึกถึงผลงานอันโด่งดังของ Salvador Dalí หนึ่งในศิลปินลัทธิเหนือจริงที่มีชื่อเสียงที่สุด ภาพนั้นมีชื่อว่า The Persisitence of Memory (1931) เป็นรูปภาพของนาฬิกาเหลวที่กำลังหลอมละลายเป็นรูปทรงอันบิดเบี้ยว โดยเขาได้รับแรงบันดาลใจจากการเห็นเนยก้อนกำลังละลายหลังมื้ออาหาร สื่อถึงความไม่แน่นอนของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น
Spun Chair (2010) by Thomas Heatherwick
สำหรับ Spun Chair (2010) เป็นเก้าอี้หมุนได้ 360 องศา รูปทรงของมันทำให้นึกถึงลูกข่างยักษ์ได้ไม่ยาก ออกแบบโดย Thomas Heatherwick นักออกแบบชาวฝรั่งเศส ตัวเก้าอี้ถูกดีไซน์เพื่อให้สามารถรองรับสรีระของผู้นั่ง ในขณะเดียวกันก็สามารถหมุนไปรอบๆ ได้อย่างสมมาตร เรียกได้ว่านอกจากเป็นเฟอร์นิเจอร์เพื่อพักผ่อนแล้ว ยังสามารถเป็นเฟอร์นิเจอร์เพื่อความบันเทิง สนุกสนาน นับเป็นฟังก์ชั่นเก๋ๆ ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามใจต้องการได้ดีทีเดียว
Straight Line Designs Inc. (since 1985)
จะเป็นยังไงถ้าเฟอร์นิเจอร์มีชีวิตขึ้นมา? นี่คืองานออกแบบของ Straight Line Designs Inc. สตูดิโอเฟอร์นิเจอร์สุดครีเอทีฟที่ตั้งอยู่ในเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา โดดเด่นด้วยรูปทรงของดีไซน์ที่แต่งเติมลักษณะเฉพาะของมนุษย์เข้าไป ทำให้ตู้ โต๊ะ หรือนาฬิกาลูกตุ้มดูเหมือนกำลังมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ และหากใครเป็นแฟนค่ายอนิเมชั่นอย่างดิสนีย์ แน่นอนว่าคงจะนึกเทียบเคียงถึงอนิเมชั่นเรื่อง Beauty and the Beast ได้ไม่ยาก โดยเนื้อหาในเรื่องเกี่ยวกับความรักของเจ้าชายอสูรกับหญิงสาว โดยมีบริวารของเขาที่ถูกสาปให้กลายเป็นสิ่งของที่มีชีวิตอยู่ด้วยนั่นเอง
C! Bench / O! Stool (2024) by Oh!dinary
ถ้าจะบอกว่าเก้าอี้สแตนเลสเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สุดจะไทยคัลเจอร์ก็คงจะไม่ผิดนัก เรียกได้ว่าเป็นเก้าอี้สารพัดประโยชน์เลยทีเดียว ถูกเอามาใช้งานได้ทุกสถานการณ์ มีให้เห็นตั้งแต่ตั้งอยู่ริมข้างทาง ร้านอาหารข้าวแกง ไปจนถึงใช้สอยในครัวเรือน แต่ผลงานการออกแบบจาก Oh!dinary แบรนด์สัญชาติไทยก็ได้ผลิกโฉมให้เก้าอี้ที่ดูแสนจะธรรมดา กลายมาเป็นดีไซน์สุดป็อป กับ C! Bench ม้านั่งแคปซูลทรงลอน และ O! stool ซิกเนเจอร์ดีไซน์ที่ได้รางวัลการันตีจากเวทีระดับนานาชาติอย่าง Asia Architecture Design Awards ให้เป็นการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ดีที่สุดประจำปี 2024 นับว่าเป็นหมุดหมายที่ดีของงานเฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทยที่จะโลดแล่นสู่สายตานานาชาติ รวมถึงเป็นการต่อยอดวัสดุที่สุดจะธรรมดา ให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าในท้องตลาดได้ด้วย
นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของความเป็นไปได้ของเฟอร์นิเจอร์แบบเหนือจริงนี้ การมีอยู่ของมันอาจจะเป็นสิ่งที่สามารถย้ำเตือนเราได้ว่า การลองแหกกฎออกมาจากสิ่งเดิมๆ ดูบ้าง เป็นการเปิดโอกาสเพื่อพบเจอกับความเป็นไปได้ใหม่ๆ เส้นทางใหม่ๆ หรือชีวิตในรูปแบบใหม่ๆ ที่เราเรียกได้เต็มปากว่านี่คือสิ่งที่เราต้องการ โดยไม่ได้มีสังคมมาเป็นตัวกำหนด
เฉกเช่นเดียวกับเฟอร์นิเจอร์ จากยุคหินที่เป็นเพียงหินจัดวางให้รูปทรงคล้ายตู้ จากวัตถุที่มาประกอบกันเพื่อตอบสนองฟังก์ชัน และเริ่มมีดีไซน์ที่เปลี่ยนไปตามค่านิยมของยุคสมัย ซึ่งก็เป็นสิ่งน่าตื่นเต้นเหลือเกิน ที่การมาถึงของเซอร์เรียลลิสม์ เฟอร์นิเจอร์ เปรียบเสมือนตัวแทนของความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่อนุญาตให้เราสนุกกับมันได้อย่างไม่มีสิ้นสุด
อ้างอิง
surrealistdigest.com
tate.org.uk
onlinedesignteacher.com
human.yru.ac.th
metmuseum.org
tate.org.uk
theartstory.org
ngthai.com
theaterseatstore.com
historicenvironment.scot
modernism.ro
collectiononline.design-museum.de
dezeen.com
aadawards.com
noveltystreet.com
stoolinc.com