Self-Esteem สำคัญอย่างไร แล้วทำไมสังคมต้องช่วยกันสร้าง
~ตั้งแต่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์ล้วนรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ก่อเกิดเป็น ‘สังคม’ ทั้งเล็กใหญ่ เรียกได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และสังคมก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา เปรียบเสมือนกับการปั้นดินน้ำมันหลายสีเข้าไว้ด้วยกัน สีที่เป็นตัวตนของเราได้สร้างเฉดใหม่ให้กับกลุ่มก้อนนั้นๆ ในขณะเดียวกัน สีของสังคมก็จะติดตัวเราในชนิดที่แทบไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย
~ดังนั้น สังคมจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่มีต่อ ‘ความมั่นใจในตัวเอง’ และ ‘การนับถือตัวเอง’ (Self-esteem) เราทุกคนจะรู้สึกปลอดภัย เปล่งประกาย และเป็นตัวของตัวเองได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสังคมที่ยอมรับและไม่ตัดสิน – ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเกราะป้องกันใจอย่างไรได้บ้าง?
~บางคนอาจจะสงสัยว่าความมั่นใจในตัวเองเป็นแบบไหน และต้องมั่นใจขนาดไหน จึงจะเรียกได้ว่ามั่นใจจริงๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถวัดได้อย่างเป็นรูปธรรม หนึ่งในการอธิบายความหมายที่ชัดเจนก็คือ ความเชื่อมั่นในตนเอง หมายถึง การรับรู้ความสามารถของตนเอง มีความภาคภูมิใจ กล้าคิด กล้าทำ รวมถึงสามารถปรับตัวและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้ หากจะให้ขมวดความหมายเหลือเพียงประโยคสั้นๆ มันก็คงเป็น ‘การมองตนเองในแง่ดี’ นั่นเอง
~เมื่อเราสามารถมองตนเองในแง่ดีได้แล้ว ความปลอดภัยทางด้านจิตใจก็จะตามมา ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้ด้วยความสามารถของเรา หากมีความมั่นใจในตนเอง เราก็จะไม่กังวลว่าใครมองเช่นไร จะสามารถยอมรับในข้อผิดพลาด และก้าวข้ามความผิดหวังไปได้ไม่ยากเย็น แต่แน่นอนว่าความมั่นใจนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพแวดล้อมหรือสังคมเป็นตัวเสริม มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยพลังใจของเราเพียงคนเดียว หากอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความบั่นทอน ความมั่นใจก็จะถูกขยี้จนแหลกลาญ คนหุ่นดีจะคิดว่าตัวเองย้วย คนเก่งจะคิดว่าตัวเองห่วย คนรวยจะคิดว่าตัวเองยังมีไม่มากเท่าใคร ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่ด้วยทัศนคติเชิงลบที่มี พวกเขาเหล่านี้จึงไม่เคยคิดว่าตนเองดีพอ
~การมีความมั่นใจในตนเองต่ำนั้นสามารถส่งผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะสูญเสียการรับรู้คุณค่าในตัวเอง สูญเสียโอกาส หรือสูญเสียคนรอบตัวเนื่องจากความสัมพันธ์ย่ำแย่ลง ที่สำคัญ มันยังส่งผลต่อสุขภาพจิตใจอีกด้วย ผลงานวิจัยจาก Yale University ภายใต้หัวข้อ ‘Self-esteem in the Hands of Society’ ได้ระบุเอาไว้ว่า คนหนุ่มสาว (โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยประถมสู่มัธยมต้น) มักถูกสังคมหล่อหลอมให้เชื่อว่ารูปร่างหน้าตาคือส่วนประกอบหลักในการประเมินตนเองและผู้อื่น หากขาดความมั่นใจในส่วนนี้ก็อาจนำไปสู่โรคการกินผิดปกติ (Eating disorders) หรือโรคซึมเศร้า (Depression) ได้
~ดังนั้น เราจึงจะเห็นได้ว่ารูปร่างหน้าตานั้นมีผลมากต่อความมั่นใจในตัวเอง สอดคล้องกับผลสำรวจจากดัชนีชี้วัดความมั่นใจในตนเองของคนไทย (Self-Confidence Index) ของเมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย ซึ่งสำรวจในประชาชนทั่วไปจำนวน 1,000 คน ผู้มีอายุตั้งแต่ 18-55 ปี ค้นพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อความมั่นใจในตัวเองของคนไทยมากที่สุดก็คือรูปลักษณ์ภายนอก (27.7%) นอกเหนือจากนี้ยังมีสังคมรอบตัว (18.9%) ทัศนคติ (18.7%) การงานและการเรียน (14.8%) สุขภาพ (13.9%) และการเงิน (9%) ตามลำดับ
~ตั้งแต่แบเบาะจนโตเป็นผู้ใหญ่ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมได้ปลูกฝังค่านิยมความงามให้กับเรามาโดยตลอด โดยเฉพาะบรรทัดฐานความงามแบบยึดเอายุโรปเป็นศูนย์กลาง (Eurocentric) เช่น ผิวขาว ตาโต จมูกโด่ง โหนกแก้มเล็ก ฯลฯ ตามฉบับคนขาว และยังสร้างบรรทัดฐานแบบใหม่ที่ผิดจากธรรมชาติของมนุษย์ เช่น รักแร้และขาหนีบขาวเนียน ใบหน้าไม่มีรูขุมขน คอไม่มีรอยพับ ร่างกายไร้ขน หน้าท้องไม่ป่องนูน ถึงแม้ว่าเพิ่งจะทานอาหารมื้อใหญ่มาก็ตาม มีผู้คนมากมายที่ถูกล้อเลียนเพียงเพราะไม่ตรงต่อมาตรฐานความงาม ซึ่งระบบทุนนิยมก็ได้ใช้ประโยชน์จากค่านิยมเหล่านี้ในการเสาะหาผู้บริโภคที่อยากปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ แค่ก้าวเท้าเดินออกไปนอกบ้าน เราก็จะเห็นป้ายโฆษณาบนพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะตามท้องถนน รถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า และคลินิกเสริมความงามที่ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ซ้ำร้ายที่ในปัจจุบัน เพียงเข้าโซเชียลมีเดียก็จะเห็นอินฟลูเอนเซอร์ที่คอยสร้างคอนเทนต์แนะนำหัตถการความงามที่ผู้ติดตามให้ความสนใจ ถึงแม้จะอันตรายก็ตาม อย่างเช่นการตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งมีทั้งฝั่งที่ต่อต้าน และฝั่งที่สนใจอยากจะลองทำ ทั้งหมดทั้งมวลที่สังคมสร้างขึ้นมานี้กดทับผู้คนให้สูญเสียความมั่นใจในตนเองอย่างร้ายกาจ จนพร้อมเสี่ยงอันตรายเพื่อให้ได้รับการยอมรับ
~ที่ได้กล่าวมานี้ยังไม่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ อันช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตนเอง ที่ผู้คนต่างไขว่คว้าเพื่อให้ได้มันมา ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่พยายามเอาตัวเองไปอยู่ในแวดวงสังคม อ่านหนังสือจิตวิทยาพัฒนาตัวเองเสริมทัศนคติ อ่านหนังสือหรือทำงานอย่างเอาเป็นเอาตาย ศึกษาหุ้นและกองทุน ทานอาหารเสริมสุขภาพอยู่ไม่ขาด และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแน่นอนว่ามีด้านดี เพียงแต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง การพยายามทำตามบรรทัดฐานของสังคมโดยเชื่อว่ามันจะทำให้ตนเป็นที่ยอมรับ มีความมั่นใจในตนเอง และมีความสุขได้จริงๆ เสียที เหล่านี้จะทำให้เราเหนื่อยล้าทั้งทางกายและจิตใจ จนอาจล้มพับไปแม้ยังไม่ถึงเส้นชัยที่วาดไว้
~เพราะฉะนั้นแล้ว เพื่อให้เรามั่นใจในตนเองได้อย่างยั่งยืนโดยที่ไม่ต้องพยายามทำเรื่องชวนเหนื่อยที่ว่ามา เราจึงต้องป้องกันจิตใจของตนเอง และไม่ส่งต่อความ toxic ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
~ในส่วนของการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองนั้นอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่เป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนได้ ไม่ว่าเราจะเป็นใครก็ตาม หากต้องการเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองแล้ว สิ่งที่ทางเราแนะนำให้ลองทำ มีดังนี้
- เปลี่ยน ‘การตำหนิตัวเอง’ ให้เป็นการ ‘พูดคุยกับตัวเอง’ : แทนที่จะด่าทอตัวเองด้วยคำพูดร้ายๆ การทบทวนตัวเอง เรียนรู้ในข้อผิดพลาด และไม่ทำซ้ำ จะเป็นการกระทำที่ได้ผลมากกว่าเสมอ
- หัดชื่นชมตัวเองในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทุกวัน : ไม่จำเป็นต้องรอให้ทำเรื่องใหญ่ๆ สำเร็จแล้วจึงชื่นชม แต่สามารถทำได้เลยตอนนี้ เช่น วันนี้แต่งตัวสวยมาก ทำสิ่งที่ตั้งใจไว้เสร็จตั้งหลายอย่าง ไม่ลืมรดน้ำต้นไม้ ฯลฯ
- ทำบันทึกหรือเขียนไดอารี่เกี่ยวกับความสำเร็จของตนเอง : การทำเช่นนี้จะทำให้เราสามารถนึกย้อนถึงความทรงจำที่ดีได้ เมื่อเปิดบันทึกมาอ่านอีกครั้งก็จะภูมิใจในตนเอง
- เสริมสร้างวิจารณญาณในการเสพสื่อ : ไม่หลงเชื่อในทุกสิ่งที่สื่อต้องการนำเสนอ เช่น การรีทัชรูปคนดังให้ดูดีเกินจริง ควรกลั่นกรองข้อมูลที่ได้รับอยู่เสมอ
- ลองทำ Social Detox : ลบแอปฯ โซเชียลมีเดียออกจากโทรศัพท์สักระยะหนึ่ง อาจใช้เวลาเป็นวันหรือสัปดาห์ จนกว่าจะรู้สึกดีขึ้นแบบไม่ฝืนตนเอง
- อยู่กับผู้คนที่มองโลกในแง่ดี มีพลังบวก : การถูกรายล้อมด้วยผู้คนที่มองโลกในแง่ดี ชอบพูดสิ่งดีๆ จะทำให้เราได้รับอิทธิพลให้คิดเชิงบวกง่ายขึ้น
~และหากสิ่งที่ได้แนะนำนั้นฟังดูทำยาก ไม่ต้องกังวลไป เพราะความมั่นใจในตัวเองก็สามารถก่อขึ้นผ่านการมองเห็นคุณค่าและช่วยผลักดันความมั่นใจให้กับผู้อื่นเช่นกัน
- หัดชื่นชมผู้อื่นจากใจจริง : หากมีความรู้สึกในแง่ดีกับใครก็อย่าเขินอายที่จะเอ่ยชม เช่น ผมทรงใหม่เข้ากับเธอมาก ลายมือสวยจัง ทำงานเนี้ยบมากเลย ฯลฯ
- ‘ฟัง’ มากกว่า ‘พูด’ เคารพความคิดเห็นของกันและกัน : การรับฟังใครสักคนและเคารพความคิดเห็นนั้นสามารถเสริมสร้างพลังใจได้มากกว่าที่คิด เพราะมันเท่ากับการยอมรับตัวตนของคนๆ นั้นไปด้วย
- ไม่ตัดสินใครโดยผิวเผิน : หากใครเปิดใจเล่าอะไรให้ฟัง หรือเวลาที่ใครเล่าเรื่องของบุคคลที่สาม จะดีกว่าหากไม่ด่วนตัดสินหรือปักใจเชื่อ เพราะจะถือว่าเป็นการไม่เคารพในตัวบุคคล
- เสริมสร้างความคิดเชิงบวก : ยกตัวอย่างเช่น มองเห็นคุณค่าในสิ่งของหรือการกระทำเล็กๆ เอ่ยขอบคุณทุกครั้งเมื่อมีโอกาส ยอมรับความผิดพลาดและไม่เอ่ยโทษใคร ฯลฯ
- ให้ความช่วยเหลือในส่วนที่ช่วยได้ : เพื่อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และมั่นใจว่าตนอยู่ในสังคมที่ดี ไม่ต้องเผชิญหน้ากับทุกอย่างเพียงลำพัง
- หากอีกฝ่ายเป็นคนใกล้ชิด ให้บอกรักเป็นประจำ พร้อมเหตุผลว่าทำไมถึงรัก : เช่น บอกรักแม่ที่คอยรับฟัง บอกรักพ่อที่ทำอาหารอร่อยๆ ให้ทาน
~สำหรับบทสรุปครั้งนี้ เราคงบอกได้เพียงแค่ว่า การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในสังคมนั้นเริ่มได้จากตัวเราที่เป็นส่วนเล็กๆ และยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายอีกด้วย ถึงแม้มันจะไม่สามารถสำเร็จได้ภายในเวลาไม่กี่วัน แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะสังคมมีอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ในการหล่อหลอมตัวตนของเราทุกคน การเสริมสร้างความปลอดภัยและมั่นใจในตนเองจึงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ควรทำร่วมกัน เพื่อให้ไม่มีใครที่รักตัวเองน้อยลง
อ้างอิง
- ไทยรัฐ
- McGill University
- นิ่มอนงค์ พิมเสน. (2538). ผลของการให้คาปรึกษาแบบกลุ่มต่อการพัฒนาความเชื่อมั่นในการ ปฏิบัติการพยาบาลจิตเวชของนักเรียนพยาบาลวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (การบริหารการศึกษา). ขอนแก่น : มหาวิทยาลัย ขอนแก่น.
Nuland, S. B., & Kanouzi, J. (n.d.). Self-Esteem in the Hands of Society. https://bioethics.yale.edu/sites/default/files/files/SELF%20ESTEEM%20IN%20THE%20HANDS%20OF%20SOCIETY-1.pdf