เซฟโซน เซฟใจ: ทำอย่างไรให้บ้านเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
“บ้านไม่ใช่ Safe zone สำหรับทุกคน” คือประโยคที่เรามักจะได้ยินบ่อยขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งเป็นความจริงที่ครอบครัวไม่ได้หมายถึงความสบายใจเสมอไป เพราะเราทุกคนมีประสบการณ์ชีวิตที่ต่างกัน ลักษณะนิสัยต่างกัน พฤติกรรมการแสดงออกจึงต่างกันตามไปด้วย มันจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะไม่รู้สึก Fit in ในบ้านหลังเดิม ทั้งที่ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ถ้าเราตระหนักถึงความรู้สึกของตนเอง รู้ว่าควรระวัง ควรสังเกต หรือควรทำอย่างไรให้สถานการณ์รอบด้านดีขึ้น ‘บ้าน’ ก็จะสามารถเป็น ‘สถานที่ปลอดภัย’ สำหรับทุกคน
How to Make a Real ‘Home’ : สร้างบ้านด้วยใจ ทำได้ ทำง่าย และควรทำทุกคน
- ยอมรับความผิดพลาดให้เป็น
อันที่จริงแล้ว ข้อนี้เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติทุกที่ ทุกเวลา สำหรับใครหลายคน เราอาจจะถูกสั่งสอนให้ไม่ผิดพลาด หรือป้องกันความผิดพลาดมากที่สุด เพื่อไม่ให้ถูกทำโทษหรือดุด่า เราจะไม่อยากทำแก้วแตกเพราะกลัวถูกแม่ตี ไม่อยากสอบได้คะแนนน้อยเพราะกลัวถูกพ่อหักค่าขนม สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ทำให้เราเรียนรู้มาตลอดว่าข้อผิดพลาดเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ทั้งที่แท้จริงแล้ว การยอมรับความผิดพลาดคือก้าวสำคัญสู่สุขภาพจิตที่ดี ทั้งต่อตัวเราและผู้คนรอบข้าง
การยอมรับความผิดพลาดในที่นี้ หมายถึงการที่เราสามารถยอมรับว่าตัวเองเป็นคนผิด รู้สึกผิดแต่พอดี และมูฟออนจากมันได้ด้วยจิตใจที่สงบ โดยไม่กล่าวโทษผู้อื่น หากเราทำแก้วแตก สิ่งที่สามารถทำได้ก็คือการเอ่ยขอโทษ เก็บกวาดเศษแก้ว และยอมรับว่ามันได้แตกไปแล้ว ไม่โทษใครว่าวางแก้วไว้ไม่ดีเอง ไม่โทษตัวเองว่าซุ่มซ่าม เพียงแค่ตระหนักในใจว่ามันเป็นอุบัติเหตุที่สามารถเกิดขึ้นได้ และเราสามารถไถ่โทษได้ด้วยการซื้อแก้วใบใหม่มาคืน ในขณะเดียวกัน หากอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด เราก็ไม่ควรที่จะต่อว่าใครเกินจำเป็น ไม่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ และยอมรับว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติธรรมดา หากไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเกินจะสามารถให้อภัย
ที่กล่าวมานี้อาจจะฟังดูเล็กน้อย แต่เพียงแค่เราขอโทษให้เป็น ยอมรับผิดให้ได้ โดยไม่ทำร้ายจิตใจของตัวเองและผู้อื่น เพียงเท่านี้บรรยากาศภายในบ้านก็จะดีขึ้นมากทีเดียว นั่นก็เพราะมันคือการที่เราแสดงความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ผ่านการยอมรับนั่นเอง การฝึกพูดคำว่า ‘ขอโทษ’ และ ‘ไม่เป็นไร’ ด้วยใจจริงจึงเป็นสิ่งสำคัญ
- ยอมรับอารมณ์ที่อ่อนไหว
นอกจากยอมรับความผิดพลาดแล้ว การยอมรับอารมณ์ก็เป็นอีกหนึ่งข้อควรทำเช่นกัน เมื่อเราใส่ใจมาก ให้คุณค่ามาก รักมาก การมีอารมณ์ร่วมกับมันมากก็ย่อมเป็นเรื่องปกติ ถ้าเราให้คุณค่ากับการเรียน การสอบได้คะแนนน้อยกว่าที่คาดหวังก็จะทำให้เสียใจกว่าที่เศร้ากับเรื่องอื่น หรือถ้าเรารักและต้องการการยอมรับครอบครัวมาก การทะเลาะกับผู้คนในครอบครัวก็จะทำให้อารมณ์ดิ่งมากกว่าทะเลาะกับคนอื่นๆ และการแสดงอารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าอาย มันกลับเป็นสิ่งที่ไม่ควรเก็บเอาไว้กับตัว เพราะสุดท้ายแล้ว การร้องไห้ เสียใจ โกรธ โมโห หรือแสดงออกถึงความรู้สึกด้านลบ ก็ไม่ได้แปลว่าเราอ่อนแอเสมอไป
การยอมรับอารมณ์อ่อนไหวเองก็ไม่ใช่เรื่องยาก หากแต่ต้องอาศัยความเข้าใจ และไม่ใช้คำพูดในเชิงกล่าวโทษความรู้สึกที่บางครั้งตัวเราเองก็ไม่สามารถห้ามได้ เช่น “กับเรื่องแค่นี้ทำไมต้องร้องไห้ด้วย” “โมโหแล้วยังไงต่อ ฉันต้องขอโทษไหม” “อย่างน้อยเรื่องมันก็ไม่แย่ไปกว่านี้นะ จะเศร้าไปทำไม” ฯลฯ ในทางกลับกัน เราควรสนับสนุนให้มีการแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเหมาะสม ไม่ใช่การโวยวายหรือทำร้ายข้าวของ แต่คือการปล่อยให้ร้องไห้หรือระบายออกมาจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้น กอดปลอบ และช่วยหาทางแก้ไขปัญหา เหล่านี้คือสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกดีขึ้น นอกจากจะช่วยเหลือเรื่องอารมณ์แล้ว การยอมรับรูปแบบนี้ยังจะส่งเสริมความมั่นใจในตนเอง ช่วยให้บุคคลมีวิธีการจัดการตัวเองที่เหมาะสม ไม่ทำร้ายสุขภาพจิต และสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวอีกด้วย
- รับฟัง เข้าใจ และเปิดใจให้กว้าง
จะดีแค่ไหนถ้าทุกคนในบ้านเข้าใจเรา และรักเราในแบบที่เราเป็น – เชื่อว่านี่คือสิ่งที่ใครหลายคนต้องการ เพราะความรักและความเข้าใจคือสิ่งจำเป็นที่จะทำให้มนุษย์เราสามารถก้าวเดินต่อไปได้ ไม่ว่าเราจะเป็นใคร มีลักษณะนิสัยอย่างไรก็ตาม แต่ความรักก็ไม่ใช่สิ่งที่สามารถมีไว้เฉยๆ เราควรจะแสดงออกมาให้ผู้รับสัมผัสได้อีกด้วย แน่นอนว่ามันไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ เพียงแค่แสดงความรักผ่านการรับฟัง เข้าใจ และโอบรับตัวตนของอีกฝ่ายเอาไว้ เท่านี้ก็จะทำให้รู้สึกถึงความรักได้อย่างแน่นอน
เราทุกคนควรจำไว้เสมอว่า การรับฟัง (Listening) ต่างจากการได้ยิน (Hearing) อย่างสังเกตได้ชัด เพราะเราอาจได้รับสารจากผู้พูดแล้ว แต่ไม่พยายามที่จะเข้าใจจริงๆ การฟังที่ดีนั้นควรจะสบตากับผู้พูด ใช้ภาษากาย (เช่น พยักหน้า) ไม่มีการพูดแทรก ไม่ตัดสินหรือด่วนสรุปไปก่อน อย่าเพิ่งรีบใส่ความคิดเห็นของตัวเอง และใช้คำถามแบบเปิดให้มาก เช่น “แล้วเธอทำอย่างไรต่อ” “เธอรู้สึกอย่างไรหลังจากนั้น” “เท่าที่ฟัง ฉันเข้าใจว่าเธอหมายถึง …. แบบนี้ถูกไหม” ฯลฯ
การฟังแบบที่ว่าไปดังกล่าวคือ ‘Active listening’ หรือก็คือการฟังอย่างตั้งใจ ทำให้ผู้พูดรู้สึกว่าตนได้รับความสนใจอย่างเต็มที่ ไม่ถูกมองข้าม และได้รับความเข้าอกเข้าใจ ส่งผลให้ในครั้งต่อไปที่มีเรื่องอยากจะเล่า ผู้พูดจะเปิดใจกับผู้ที่ฟังด้วยความตั้งใจและไม่ตัดสินมากกว่า หากลองฝึกใช้วิธีนี้กับผู้คนที่บ้าน เชื่อเลยว่าอย่างน้อยตัวเราจะรู้สึกว่าได้ฟังอะไรมากขึ้นจากที่เคย และคนเล่าจะสบายใจกับเรามากขึ้นอีกเป็นเท่าตัว ถือว่าเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้ผล เพราะไม่มีใครไม่อยากจะถูกเข้าใจ
- เพียงเปลี่ยนคำพูด Mood & Tone ก็เปลี่ยน
“ใช้คำพูดผิด ชีวิตเปลี่ยน” คือวลีที่มีมาอย่างยาวนานและยังคงเป็นจริงอยู่เสมอ เพราะการเลือกใช้คำพูดก็สามารถทำให้โทนของประโยคเปลี่ยนไปได้ทันที หนึ่งในคำที่ผู้คนมักใช้และส่งผลให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง คือคำว่า “ทำไม” อย่างที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ทั้งในละครและในชีวิตจริงคงเป็น “ทำไมกลับบ้านดึก” “ทำไมไม่ทำแบบนี้” “ทำไมต้อง …. ด้วย” ฯลฯ ซึ่งหลายๆ ครั้ง การตั้งคำถามลักษณะนี้มักจะมาพร้อมกับน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ด้านลบ หรืออาจเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ เพราะตัดสินไปเองในใจแล้วว่าอีกฝ่ายทำด้วยเหตุใด
แต่เพียงแค่เปลี่ยนจาก “ทำไม” เป็น “เพราะอะไร” พร้อมปรับโทนเสียงให้นุ่มนวลก็จะสามารถสัมผัสได้ถึงความแตกต่าง อย่างเช่น “ทำไมกลับบ้านดึก” ที่ได้กล่าวไป หากเปลี่ยนเป็น “วันนี้กลับบ้านดึกจัง เล่าให้ฟังได้ไหมคะ/ครับว่าเพราะอะไร” หรือ “เวลากลับบ้านดึกแบบนี้เราเป็นห่วง คราวหลังส่งข้อความมาบอกก่อนได้หรือเปล่า” (โปรดอ่านด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล ไม่ใช้อารมณ์) เท่านี้ก็จะดูอ่อนโยนลงมาก และไม่ใช้อารมณ์เป็นตัวนำอีกด้วย
ทั้งหมดที่ได้แนะนำมานี้ อาจจะต้องใช้เวลาไม่มากก็น้อยในการปรับ แต่การค่อยเป็นค่อยไปก็เป็นเรื่องปกติ เพราะการกระทำที่ทำจนชินก็จะไม่สามารถเปลี่ยนไปได้ในทันที อย่างไรก็ตาม หากการพูดคุยและรับฟังด้วยความเข้าใจยังไม่ได้ผล การเข้าพบนักจิตวิทยา นักบำบัดทางจิต หรือจิตแพทย์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้เพื่อขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เป็นฝ่ายที่ทำให้บรรยากาศในบ้านชวนอึดอัดหรือไม่ก็ตาม และขอให้คิดเอาไว้เสมอว่า ‘บ้าน’ หรือ ‘ครอบครัว’ ไม่จำเป็นต้องหมายถึงคนที่ให้กำเนิดเรา แต่ยังสามารถเป็นใครก็ได้ ที่ทำให้เรารู้สึกสงบใจและเป็นตัวของตัวเอง