ความเป็นหญิง คนชายขอบ และการทุบกำแพงชนชั้น : ‘แมรี่ แจ็คสัน’ เบื้องหลัง NASA ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ถูกลืมเลือน
เมื่อพูดถึงนักวิทยาศาสตร์ จะมีชื่อของนักวิทยาศาสตร์หญิงโผล่ขึ้นมาในหัวเราสักกี่คน
นั่นไม่ใช่เพราะว่าผู้หญิงไม่มีความสามารถมากพอที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือไม่ใช่เพราะพวกเธอไม่มีความสนใจทางด้านวิชาการ แต่เป็นเพราะสังคมยุคหนึ่งเกรงกลัวเกินกว่าที่จะให้ผู้หญิงคนหนึ่งมีชื่อเสียงเหนือชาย โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงคนนั้นมีผิวดำ และไม่มีอำนาจที่จะต่อกรกับอคติทางชนชั้น ไม่ว่าจะชนชั้นทางเพศหรือเชื้อชาติ

อย่างไรก็ตาม คนที่ก้าวข้ามคำสบประมาทและสายตาดูถูกเหล่านั้นได้ คือหญิงผิวดำชาวแอฟริกัน-อเมริกันผู้มีมันสมองอันยอดเยี่ยมอย่าง ‘แมรี่ วินสตัน แจ็คสัน’ (Mary Winston Jackson) วิศวกรหญิงที่สร้างความสำเร็จให้แก่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันในนามขององค์การนาซ่า (NASA) ด้วยการส่งยานอวกาศอพอลโล 11 ทะยานสู่ฟ้าโดยสวัสดิภาพ ส่งให้อเมริกาได้เป็นประเทศแรกที่ขึ้นเหยียบดวงจันทร์ อันเป็นหมุดหมายแห่งพัฒนาการของมนุษยชาติที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์
เราคงจะสังเกตได้ว่า เมื่อพูดถึงอพอลโล 11 หลายคนมักจะนึกถึงชื่อของนีล อาร์มสตรองก่อนเป็นคนแรก แต่น้อยคนนักที่จะนึกชื่อของแมรี่ และเหล่าคณิตกรหญิงที่เปรียบได้ว่าปิดทองหลังพระ พวกเธอคงจะไม่ได้รับความสนใจมากมาย หากไม่ได้ภาพยนตร์เรื่อง ‘Hidden Figures’ ที่ฉายแสงไปยังสตรีผิวดำแห่งศูนย์วิจัยแลงลีย์ในเวอร์จิเนีย
แน่นอนว่าละครก็ไม่ต่างจากชีวิตจริงเสียเท่าไหร่ โดยอย่างยิ่งในด้านของการกีดกัน ที่แม้เวลาจะผ่านไป กำแพงที่ขวางกั้นความสำเร็จของสตรีชายขอบก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องทุบทำลายกันแบบไม่หยุดมือ
การทลายกำแพงและความกดขี่
หากเคยรับชม Hidden Figures มาแล้ว หลายคนอาจจะต้องนั่งถอนหายใจและกำหมัดกับฉากที่ตัวละครหลัก (ผู้เคยมีลมหายใจอยู่จริง) อย่าง ‘แคทเธอรีน จอห์นสัน’ ‘โดโรธี วอห์น’ และตัวแมรี่เองต้องเจอกับความไม่เท่าเทียมแบบนาทีต่อนาที ต่อให้บางสิ่งจะเป็นเรื่องที่ถูกเติมแต่งเพื่อเพิ่มอรรถรส เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสิ่งที่พวกเธอเผชิญนั้นไม่เป็นความจริง เมื่อสำรวจการเป็นไปของสังคมในยุค 40’s ที่ผู้หญิงยังถูกมองว่าควรอยู่บ้านเลี้ยงลูก และคนดำยังถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นล่างที่ไม่ควรยืนเทียบข้างคนขาว
การแบ่งแยกที่เห็นได้ชัดที่สุด เห็นจะเป็นการแยกพื้นที่เฉพาะของคนขาวและคนดำ (Racial segregation) เช่น การมีอยู่ของห้องน้ำของคนขาว ห้องน้ำของคนดำ หรือ รถบัสของคนขาว รถบัสของคนดำ โดยผู้คนจะไม่สามารถใช้พื้นที่เหล่านี้ปะปนกันได้ และสร้างชุดความคิด ‘ของฉัน-ของแก’ มาเป็นเวลานับศตวรรษ จริงที่การแบ่งแยกนี้ถูกยกเลิกไปแล้วในปี ค.ศ. 1948 แต่สังคมก็ยังใช้เวลาในการปรับตัว ค่อยๆ เปลี่ยนกฎไปทีละรัฐสองรัฐ ยากที่จะมัดรวมเป็นเนื้อเดียวกันได้ในทันที
ด้วยเหตุนั้น แมรี่และสาวน้อยใหญ่นักคณิตกรจึงต้องอยู่ในพื้นที่จัดสรรสำหรับผู้หญิงผิวดำตรงฝั่งตะวันตก ศูนย์วิจัยแลงลีย์ในเวอร์จีเนีย น้อยนักที่พวกเธอจะได้ใช้ชีวิตอย่างทัดเทียมกับผู้ชายผิวขาว ซึ่งถือเป็นประชากรส่วนมากในสถานที่ทำงานของเธอ หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เราคงต้องขอยกฉากในตำนานฉากหนึ่งของ Hidden Figures ซึ่งเป็นซีนที่แคทเธอรีนตะโกนอย่างเหลืออดจากการต้องเดินไปใช้ห้องน้ำหญิงของคนดำอันสุดจะห่างไกลและต้องใช้เวลาเป็น 40 นาทีต่อรอบ ในความเป็นจริงแล้ว แมรี่คือคนที่เคยเผชิญกับเหตุการณ์นี้ เพราะการแบ่งแยกห้องน้ำมีอยู่จริง และมันสร้างความลำบากให้กับแมรี่และผู้หญิงทุกคนที่นอกจากจะต้องใส่กระโปรงกับรองเท้าส้นสูง พวกเธอยังต้องเดินไกลเพื่อที่จะได้ปลดทุกข์สักครั้งหนึ่ง ส่งผลให้การทำงานมีอุปสรรคไปอีกขั้นหนึ่ง หากเทียบกับชายคนขาวที่ได้รับการอำนวยความสะดวกทางด้านนี้มากกว่า
ในส่วนของตำแหน่งหน้าที่การงานนั้น เราแทบไม่ต้องเดาก็รู้ว่าแมรี่ต้องพบกับคำสบประมาทมากมาย เธอเคยถูกปฏิเสธการเลื่อนตำแหน่งงานที่แผนกวิศวกรรมการวิเคราะห์และการคำนวณในปี ค.ศ. 1958 เพียงเพราะเป็นผู้หญิงผิวดำ ในปีต่อมา แมรี่จึงยื่นคำร้องเพื่อให้ได้เข้าเรียนในหลักสูตรฝึกอบรมวิศวกรรมที่วิทยาลัยเวอร์จิเนียตะวันตก ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่มีแต่คนขาว แต่สุดท้ายก็ดั้นด้นจนสำเร็จการศึกษาในปี ค.ศ. 1961 และได้กลายมาเป็นวิศวกรหญิงคนแรกขององค์กร NASA
นอกจากนั้นแล้ว ผู้หญิงในยุคสมัยของแมรี่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุม มีเพียงแค่บุคคลสำคัญที่ล้วนเป็นชายผิวขาวที่สามารถก้าวเข้าออกห้องประชุมได้อย่างเป็นอิสระ โดยไม่มีเหตุผลอะไรที่รองรับระเบียบการนี้เลยแม้แต่น้อย แต่ไม่อนุญาตเพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อนเท่านั้น อนึ่ง มันอาจทำลายเชิงชายที่ถูกวางภาพไว้ให้เป็นช้างเท้าหน้าของครอบครัวและประเทศชาติในเวลานั้น การที่ผู้หญิงมีสิทธิ์ใช้ปากเสียงในที่ประชุมจึงเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งแทบไม่ได้รับการยอมรับ อย่างไรก็ตาม แมรี่และเพื่อนสาวของเธอก็กรุยทางสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้สำเร็จ ด้วยมันสมองกับสองมือที่พิสูจน์ให้เห็นว่าสตรีก็มีดีไม่แพ้บุรุษ

ความสำเร็จอันมาเยือนในที่สุด
ความไม่ย่อท้อและความปราดเปรื่อง คือสองสิ่งที่นำพาความก้าวหน้ามาสู่ NASA ด้วยฝีมือของแมรี่ รวมถึงหญิงสาวนับหลายชีวิตในองค์กร นอกจากจะส่งนักบินอวกาศทั้ง 3 (นีล อาร์มสตรอง, บัซ อัลดริน, ไมเคิล คอลลินส์) ไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ได้โดยสวัสดิภาพแล้ว แมรี่ยังเป็นบุคคลผู้มีคุณูปการอย่างมากในวงการวิทยาศาสตร์ เธอเข้าร่วมโครงการอวกาศอันเป็นโปรเจกต์ใหญ่อย่าง Mercury, Gemini และ Apollo เพื่อพัฒนาเครื่องบินอวกาศ รวมถึงระบบการนำทางสู่จักรวาล
ไม่เพียงเท่านั้น แมรี่ยังบุกเบิกความสำเร็จให้กับผู้หญิงคนอื่นๆ อย่างเธอ ที่ต้องผ่านอุปสรรคและข้อพิสูจน์มากมายกว่าจะประสบความสำเร็จ และอาจเพราะเหตุนี้ แมรี่จึงย้ายแผนกไปทำงานบริหารทรัพยากรมนุษย์ใน ค.ศ. 1979 เธอได้ลบเส้นกั้นแบ่งระหว่างเพศและเชื้อชาติ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการเลือกปฏิบัติ และเพิ่มความเท่าเทียมภายในองค์กร ผลักให้เงาได้รับแสงสปอตไลต์ จนสุดท้ายเธอก็ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจคนสำคัญแห่งโลกวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์
แม้แมรี่จะเกษียณไปในปี ค.ศ. 1985 และเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 2005 ชื่อของเธอก็จะยังคงอยู่ตลอดกาล ด้วยคำยกย่องที่ไม่มีวันเงียบหาย เมื่อปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา NASA ได้ตั้งชื่อสำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ว่าแมรี่ แจ็คสัน ตามชื่อของเธอ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีที่เคยสร้างเอาไว้แก่มนุษยชาติ นอกจากนี้แล้ว ยังตั้งชื่อถนนหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ว่า ‘Hidden Figures Way’ เป็นการสรรเสริญสตรีผิวดำผู้เป็นวิศวกรของพวกเขาอีกด้วย ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทัศนคติทางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ต่อให้ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายของสตรีนับล้าน โดยหนึ่งในนั้นก็คือแมรี่ วิศวกรหญิงคนแรกขององค์กรบริหารการบินและอวกาศ
“สุภาพสตรี ภรรยา แม่ ผู้มีมนุษยธรรม และนักวิทยาศาสตร์” - คำจำกัดความของแมรี่ โดย Langley Researcher

แรงบันดาลใจไม่รู้จบ
เมื่อหนทางถูกเปิดเอาไว้แล้ว ผู้หญิงก็หลั่งไหลเข้ามาสู่สาย STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) มากยิ่งขึ้นแบบนับไม่ถ้วน จนเกิดแคมเปญขึ้นต่างๆ นานาอันมีจุดมุ่งมายที่จะพัฒนาศักยภาพสตรี และผลักดันความเท่าเทียมทางเพศในสถานที่ทำงาน เพียงแค่คลิกเสิร์ชก็จะพบว่ามีอยู่หลายองค์กรทีเดียว อีกหนึ่งแรงสนับสนุนที่เพิ่งจะเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คือแคมเปญ ‘Imagine a world with more women in science’ (#EveryVoiceInScience) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ที่ต้องการเน้นย้ำความสำคัญถึงการมีอยู่ของผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์ และต้องการเสริมสร้างจำนวนของพนักงานหญิงให้ใกล้เคียงกับจำนวนของพนักงานชายในสายงานนี้มากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน ผู้หญิงยังเป็นเพียง 1 ใน 3 ของกลุ่มผู้ที่ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ และค่อยๆ ลดน้อยลงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอย่างน่าประหลาดใจ และในบางประเทศก็มีนักวิจัยหญิงเพียง 10% เท่านั้น มันจึงค่อนข้างยากที่จะพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศและการเป็นอยู่ของผู้หญิงในสายงานที่มีผู้ชายเป็นส่วนมาก อย่างไรก็ดี UNESCO ได้เน้นย้ำว่าทุกคนสามารถเข้าร่วมแคมเปญดังกล่าวได้ ด้วยการตอบคำถามที่ว่า “จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงในสายงานของเราบ้าง หากผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมกับวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น” และติดแฮชแท็ก #EveryVoiceInScience บนโซเชียลมีเดีย แม้จะผ่านวันของผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์มาแล้ว มันก็ยังไม่สายเกินไป เพราะการสนับสนุนความเท่าเทียมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา
ตลอดทั้งบทความนี้ เราคงจะเห็นได้ว่าความยากนั้นไม่ได้สื่อถึงความเป็นไปไม่ได้ แมรี่ได้กลายเป็น ‘สตรีผิวดำคนแรก’ ทั้งในวิทยาลัยและองค์กร NASA ด้วยความพยายามที่มีมาตลอดชีวิตของเธอ แม้จะโดนดูถูก ปฏิเสธ และไม่ได้รับการให้คุณค่ามาตั้งแต่แรก แมรี่ก็ค่อยๆ พาตัวเองขึ้นไปสู่จุดที่ไม่มีใครคิดว่าผู้หญิงหรือคนดำทั่วไปจะสามารถทำได้ แมรี่ได้กลายเป็นสตรีชื่อก้องโลก และถูกมองด้วยสายตาที่ชื่นชมจวบจนถึงทุกวันนี้ ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังทิ้งเส้นทางเอาไว้เด็กหญิงจำนวนมากเดินตามอย่างมีความหวัง ผู้เขียนเองก็ขอสรรเสริญผู้เป็นดั่งแรงบันดาลใจนี้ และขอให้สตรีทั่วโลกได้ก้าวสู่ฝันเช่นเธอ
อ้างอิง