จากกราฟิก สู่ช่างไม้ สู่เจ้าของร้านพิซซ่า : เส้นทางชีวิตของ ‘เฉย’ ที่ต้องไม่เฉย จึงจะมี ‘Maru Maru Pizza’
จากกราฟิก สู่ช่างไม้ สู่เจ้าของร้านพิซซ่า : เส้นทางชีวิตของ ‘เฉย’ ที่ต้องไม่เฉย จึงจะมี ‘Maru Maru Pizza’
“Be faithful to the nightmares of your decision” (จงอยู่กับฝันร้ายที่ตัดสินใจเลือกเอง)
ประโยคดังกล่าวนี้เป็นคติประจำใจของ ‘เฉย’ ผู้ผ่านบทบาทอันหลากหลายมาแล้วในหนึ่งชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ นักศึกษาในต่างประเทศ ช่างไม้ เจ้าของร้านพิซซ่า สามี พ่อ และอื่นๆ อีกมากเกินกว่าจะนับ เฉยให้มุมมองในการพูดคุยครั้งนี้ว่าชีวิตคือการก้าวต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ใจต้องการ โดยอยู่กับผลพลอยได้ของการตัดสินใจในแต่ละย่างก้าว ไม่ว่ามันจะนำมาซึ่งสุขหรือทุกข์ก็ตาม
ในเมื่อคุณตัดสินใจที่จะกดเข้ามาในบทความนี้แล้ว ทางเราก็ขอเชิญให้คุณได้รู้จักกับเฉย ที่ไม่อยู่นิ่งเฉย จึงได้มาถึงจุดนี้ของชีวิตที่มีร้านพิซซ่าเป็นของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทอดทิ้งงานไม้ เพราะสำหรับเขา การให้คุณค่ากับศักยภาพของตัวเองก็นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เรียกว่าความสุขเช่นกัน
เห็นว่าเคยทำงานสายกราฟิกมาก่อนด้วย การทำงานของเราในฐานะกราฟิกดีไซน์เนอร์เป็นยังไงบ้าง
ตอนนั้นเราทำโลโก้กับ Information graphic สรุปข้อมูล ซึ่งพอเป็นงานโลโก้ สิ่งที่เราคิดกับสิ่งที่เราสามารถทำได้ก็จะแตกต่างกัน และกระบวนการวาดก็มาเป็นตัวเชื่อมในการคิดของเราว่าอะไรที่เป็นไปได้ อะไรที่เป็นไปไม่ได้ มันก็จะเป็นขั้นตอนแบบนี้ตลอด
“Creative ก็สามารถแปลได้หลายแง่ มันอาจจะหมายถึงความสามารถในการแก้ปัญหาก็ได้ หรืออาจจะเป็นการคิดสิ่งที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อนก็ได้ ซึ่งสำหรับเรา มันคือทุกอย่าง”
แล้วหลังจากนั้นเฉยหันมาสนใจด้านการทำไม้เพราะอะไร
ช่วงที่เราเรียนจบกราฟิกและทำงานที่เมืองไทย มันไม่ได้ตอบสนองหรือตอบโจทย์ความสามารถของเรา และส่วนตัวก็อาจจะประนีประนอมไม่เป็น เพราะเรามีแพชชั่นกับสิ่งที่ทำ เรามองตัวเองแล้วว่าไปในทางนี้ไม่ได้ พออายุใกล้ 30 ก็เลยไปเรียนต่อด้านการออกแบบเชิงอุตสาหกรรม (Industrial design) ที่ฮอลแลนด์ และด้วยความที่ต้องส่งผลงานเป็นชิ้นที่จับต้องได้ เราก็เลยไปเรียนเรื่องไม้กับพี่อีกคนหนึ่งก่อน จุดนี้ทำให้เรากลายเป็น Maker โดยแท้จริง เข้าร่วมเวิร์กช็อปทุกอย่าง ทั้งไม้ พลาสติก เชื่อมเหล็ก ตัดเหล็ก เรียกได้ว่าทุกอย่างที่จำเป็น
มีช่วงหนึ่งที่พีคๆ ก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2018-2019 เราได้จัดนิทรรศการหนึ่งที่ชื่อว่า ‘Transmigration’ จำได้ว่าตอนนั้นเราเพิ่งกลับมาจากสเปนและไฟกำลังแรง เราก็ทำงานไม้ให้เพื่อนและชนะรางวัล Frame award มันทำให้เรามีแรงฮึดในการจัดนิทรรศการเป็นของตัวเอง และเพิ่มสกิลให้กับตัวเองไปเรื่อยๆ ตามเป้าหมายที่มี นิทรรศการของเรามีศิลปินชาวฝรั่งเศสมาร่วมจัดแสดงผลงานด้วย เข้ามาในฐานะเด็กฝึกงานก็จริง แต่เราก็นับถือเขาเป็นศิลปินคนหนึ่งเหมือนกัน
“การทำงานของเราเหมือนเป็นการลากเส้นผ่านจุดระหว่างวัสดุที่มี สิ่งที่เราทำ และเทคนิคที่เราเลือกใช้ ถ้ามันเชื่อมโยงกันได้ จุดเหล่านั้นก็จะเชื่อมหากันได้ไม่ยากเลย”

ในเมื่อทำงานไม้จนได้จัดนิทรรศการแล้ว เพราะอะไรถึงหันมาทำพิซซ่า
นั่นน่ะสิ (หัวเราะ) ด้วยความที่ชอบทำอาหารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เราทำซาวร์โดว์ขึ้นมาเล่นๆ จำได้ว่ามันน่าตื่นเต้น แต่ทำออกมาได้ห่วยมาก พอดูคลิปสอนทำและเรียนรู้เทคนิคไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงโควิด-19 ที่ว่างมากจนไม่รู้จะทำอะไร อัลกอริทึมก็พาเราให้ไปรู้จักกับการทำพิซซ่า มันทำให้เรานึกถึงตอนไปกินพิซซ่ากับเพื่อนที่ร้าน SAVOY ในญี่ปุ่น ซึ่งเขาขายแบบนาโปลีออริจินัลเลย มีหน้ามาเกริต้ากับมารินาร่า พอกัดเข้าไปหนึ่งคำ เราก็นั่งคิดว่า อ๋อ นี่คือพิซซ่าว่ะ ติดใจเลยว่านี่คือพิซซ่าในอุดมคติ เราชอบพิซซ่าที่มีความเบา บาง กรอบ และมีกลิ่นของการหมักเล็กๆ ตัวซอสกับท็อปปิ้งก็ควรจะไปด้วยกัน เราก็เลยเรียนรู้การทำพิซซ่าสายนีโอ-นาโปลี ซึ่งจะใช้น้ำเยอะและมีเทคนิคการหมักแป้งที่เฉพาะตัว
ส่วนคนที่พาเราเข้าวงการคือพี่ตี๋ เขาเองก็เป็นคนที่เปลี่ยนสายมาเหมือนกับเรา และเป็นช่างพิมพ์ภาพที่เคยได้รับรางวัลมาก่อนด้วย ตอนก่อนที่จะไปเรียนต่อเราก็เคยใช้บริการแก 2-3 ครั้ง พอรู้ว่าแกทำร้านพิซซ่าก็ตามไปชิมและประทับใจมาก ผมโยนสูตรของตัวเองทิ้งเลย แกก็ถ่ายทอดสกิลมาให้เรามากพอที่จะทำมาพัฒนาด้วยตัวเอง จนเริ่มจับทางถูก และกลายมาเป็น Maru Maru Pizza ครับ
กว่าจะทำมาเป็นร้านได้ขนาดนี้ มีเทคนิคอะไรที่ต้องเรียนรู้เป็นพิเศษไหม
ในส่วนของเทคนิค ในตอนนี้ที่เปิดร้านมาแล้วก็ยังเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ นะ ในการที่จะปั้นแป้งโดว์เปียกให้ขึ้นมาเป็นก้อนได้ เราก็ต้องรู้จังหวะ จับทางเขาให้ถูก และทำทุกสเต็ปให้ถูกต้อง เพราะถ้าทำไม่ถูกก็จะเริ่มยากแล้ว แน่นอนว่าเราก็ลองปรับเปลี่ยนวิธีเพื่อหาเทคนิคใหม่บ้าง เราก็ต้องคอยสังเกตดูว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วตัวแป้งจะมีปฏิกิริยายังไง เราก็จะปลดล็อกสกิลไปเรื่อยๆ ตามความรู้ที่มี เพราะถ้าอยู่แต่ในเซฟโซนก็อาจจะไม่รู้เลยก็ได้

ก่อนหน้านี้เฉยเล่าให้ฟังว่าปรับตัวตามฟีดแบคของลูกค้าบ้าง แต่ก็ยังยึดความต้องการของตัวเองเอาไว้อยู่ อยากรู้ว่าเฉยมองฟีดแบคว่ายังไงบ้าง
เรามองว่าฟีดแบคกับความพึงพอใจส่วนตัวมันมาคู่กันนะ ความคิดของคนก็เป็นส่วนที่เราควบคุมไม่ได้ อย่างเวลาทำงานไม้ก็เหมือนกัน เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนที่มาดูงานรู้สึกยังไงบ้าง ต่อให้มีฟีดแบค บางครั้งเขาอาจจะสุภาพเกินกว่าที่จะพูดความจริงกับเราก็ได้ ยอมรับเลยว่ามันก็สำคัญในการที่เรารู้ว่าลูกค้ารู้สึกยังไง แทนที่เราจะมีความสุขอยู่คนเดียว เราก็อยากให้เขามีความสุขกับผลงานของเราด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วเวลาที่ลูกค้ากินพิซซ่าของเราแล้วสีหน้าดูมีความสุข นั่นก็เป็นฟีดแบคที่เห็นได้ชัดแล้ว แต่กับงานไม้ก็จะแตกต่างกัน บางครั้งเราไม่ได้รับฟีดแบคเลยด้วยซ้ำ ทั้งที่เราเองก็ต้องการมันมาหล่อเลี้ยงชีวิต เพราะเราก็อยากใช้มันในการหาเลี้ยงชีพได้ด้วย
แน่นอนว่าการทำร้านอาหารก็ต้องเจอกับความท้าทายเยอะ ปกติเราจะรับมือกับเรื่องยากๆ ยังไง
สกิลการแก้ไขปัญหาจะมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ขึ้นตามช่วงอายุอยู่แล้ว เพราะไม่มีทางที่ทุกอย่างจะเป็นไปตามความคาดหวังของเรา อีกอย่างคือเราก็คงไม่อยากอยู่ในโลกที่ทุกอย่างง่ายไปหมด เพราะเราก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับชีวิตเลย ถ้าดูโลโก้ของร้าน Maru Maru Pizza นั่นก็วาดโดยลูกสาวของเรา ในขณะที่เรานั่งซีเรียสกับชีวิต ลูกก็วาดตัวการ์ตูนกับพิซซ่าทับภาพที่เราวาด ซึ่งก็ทำให้เราฉุกคิดได้ว่า เออว่ะ อันนี้คือชีวิต จะซีเรียสไปไหน เราก็ดึงเอามาใช้เป็นโลโก้ รอบๆ ตัวเราก็มีแต่รูปที่ลูกวาด เพราะมันเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ซีเรียสเกินไป

“ความวุ่นวายเป็นสิ่งสวยงามสำหรับเรานะ จริงๆ แล้วทุกอย่างมีลำดับขั้นตอนของมันหมด แค่มีความยุ่งยากเกินกว่าที่มนุษย์อย่างเราจะเข้าใจได้ แต่เรื่องของโชคชะตาก็อาจจะอยู่กึ่งกลางระหว่างความวุ่นวายกับการควบคุม”
คติประจำใจของเฉยที่ว่า “Be faithful to the nightmares of your decision” มันมีทางไหมที่เราจะสามารถอยู่กับฝันร้ายนั้นได้
มีอยู่ช่วงหนึ่งนะที่ชีวิตลำบาก และเราก็ไม่มีความสุขกับมัน เพราะสิ่งที่เราทำไม่ได้ออกผลขนาดนั้น เราเองก็มองว่าตัวเองไม่ได้ก้าวหน้าไปทางไหน แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราเลือก และบางปัญหาก็คลี่คลายได้ด้วยตัวมันเอง โดยที่เรายังใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม
เอาเข้าจริง ในบางการตัดสินใจ เราก็ไม่เคยคิดว่าจะมาถึงจุดนี้ อย่างการทำร้านพิซซ่าก็เป็นการปลดล็อกศักยภาพของตัวเองเหมือนกัน เราแค่คิดว่าตัวเองจะต้องเรียนรู้ จะต้องทำอย่างนู้นอย่างนี้ และสุดท้ายมันก็กลายมาเป็นอย่างที่เห็น ความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับการตัดสินใจก็เข้ามาหาเรา เช่น เราไม่มีเวลาทำงานไม้หรือสิ่งต่างๆ ที่อยากทำ ตัวเราเองก็ไม่รู้ด้วยว่าชีวิตจะพาไปทางไหน แต่มันยากแค่ตอนที่เริ่มต้น เหมือนเวลาจะกระโดดลงน้ำ มันยากตอนที่ตัดสินใจกระโดด แต่พอลงน้ำไปแล้วก็จะว่ายต่อได้ เราก็แค่ปรับตัวไป เดินหน้าต่อ
“ความสุขเป็นผลพลอยได้ของการใช้ชีวิต การใช้ชีวิตก็ต้องตามมาด้วยทุกข์และสุข เพราะฉะนั้นก็อย่ากลัวการทำสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ”