สูญเสียความเป็นเรา เพราะเขา ‘แซว’ – เรื่องเล็กๆ อันมีผลกระทบยิ่งใหญ่กว่าที่คิด
"การแซวน่ะ ถ้าฝ่ายที่โดนแซวไม่ได้ประโยชน์ ก็ไม่ควรเรียกว่าการแซว ถ้าฝ่ายที่แซวพูดล้อเล่นแล้วพึงพอใจอยู่ฝ่ายเดียว นั่นคือ 'การกลั่นแกล้ง' แล้ว
ในเมื่อเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของคนอื่นเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี ก็ควรต้องยอมรับสิว่า มันคือการกลั่นแกล้ง"
– Kakera (カケラ), มินะโตะ คะนะเอะ
~คงจะมีอยู่หลายครั้งที่เมื่อถูกแซวและรู้สึกโกรธ เราจะถูกใครต่อใครพูดใส่ว่า “ไม่เห็นต้องซีเรียสเลย แค่แซวเล่นเอง” หรือ “แซวแค่นี้ ทำไมต้องโกรธด้วย” ซึ่งมักจะยิ่งสุมไฟของความโมโหให้ลุกโชน และเมื่อดับลง เศษขี้เถ้าของมันก็จะตกค้างอยู่ในใจเราเสมอ เหลือไว้ซึ่งความไม่มั่นใจและสงสัยในตนเองว่า เราเป็นอย่างที่เขาแซวจริงไหม ถูกแล้วหรือเปล่าที่เราจะไม่พอใจ และอื่นๆ อันสามารถส่งผลเสียต่อมุมมองที่ใช้ในการมองตนเอง จนกลายเป็นคนที่นับถือตนเองต่ำ (Low self-esteem) หรือมีปัญหาสุขภาพจิตในที่สุด
~เชื่อว่าร้อยทั้งร้อย เราทุกคนต่างเคยถูกแซวด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการแซวเรื่องรูปร่างหน้าตา สถานะ เรื่องที่เคยพูดหรือทำ และต่างๆ นานาที่จะสามารถหยิบยกขึ้นมาพูดได้ ซึ่งในบางครั้ง การแซวนั้นอาจจะคลุมเครือ ทำให้ไม่มั่นใจนักว่ามันคือการกลั่นแกล้งหรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริง หากคำเอ่ยแซวทำให้เรารู้สึกถูกคุกคามหรือไม่สบายใจ นั่นก็ถือเป็นการกลั่นแกล้งได้แล้ว
~คำพูดหนึ่งจะสามารถเป็นการกลั่นแกล้งได้ก็ต่อเมื่อผู้ฟังรู้สึกเจ็บปวดทางจิตใจ และผู้กระทำยังคงทำต่อซ้ำๆ ถึงแม้ว่าผู้ฟังจะแสดงออกว่าไม่ชอบก็ตาม ในหลายๆ กรณีก็จะมีการโทษผู้ฟังร่วมด้วย ตัวอย่างนั้นก็มีให้พบเห็นได้ทั่วไป เช่น เมื่อไม่นานมานี้เพิ่งจะมีประโยค “I know it’s pink” (ฉันรู้ว่ามันเป็นสีชมพู) ที่ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง โดยมักจะเห็นได้ในช่องคอมเมนต์ TikTok ของผู้หญิงที่มีลักษณะผิวขาวอมชมพู เพื่อแซวสีของอวัยวะเพศและยอดอกของพวกเธอเหล่านั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการแซวรูปแบบนี้คือการคุกคามทางเพศ ทั้งที่ดูเหมือนประโยคทั่วไป แต่กลับมีความหมายที่เป็นภัย และทำให้ผู้ถูกแซวรู้สึกขยะแขยง
~คล้ายกับกรณี “ห อ ม” ซึ่งเคยตกเป็นประเด็นใหญ่บนโลกโซเชียลเมื่อ 4 ปีก่อน ที่คำชมได้กลายเป็นคำแซวเชิงคุกคาม แถมเมื่อผู้ถูกแซวไม่พอใจก็จะโดนกล่าวโทษว่าคิดมากกับคำชื่นชมธรรมดา ขณะที่เจตนาไม่ใช่เช่นนั้นเลย
~แน่นอนว่าการแซวเป็นสิ่งที่สามารถทำในเชิงบวกหรือขำขันได้ เช่น “วันนี้แต่งตัวสวยเชียว มีนัดอะไรหลังเลิกงานเหรอ” “มองอีกนิดตาก็จะหลุดจากเบ้าแล้ว กลัวเขาไม่รู้เหรอว่าชอบ” ฯลฯ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับโทนเสียงที่ใช้ในการพูดและสถานการณ์ว่าเหมาะสมหรือไม่ ผู้พูดและผู้ฟังสนิทกันมากพอหรือเปล่า ไม่อย่างนั้น การแซวก็จะกลายเป็นเรื่องเสียมารยาท หรืออาจเป็นบาดแผลในจิตใจผู้ฟังได้ หากมีการใช้คำพูดที่รุนแรงมากพอ
~ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้คนวัยไหน เพศอะไร ทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากการถูกแซวไม่มากก็น้อย เนื่องจากการถูกแซว หรือถูกพูดย้ำๆ ว่าตัวเราไม่ดีอย่างไร มักจะทำให้เราคิดหรือเชื่อตามคำพูดเหล่านั้น ถึงแม้ว่าจะพยายามห้ามไม่ให้ตนเองคิดแล้วก็ตาม เพราะเราต่างต้องการเป็นที่ยอมรับของสังคม และไม่อยากเป็นในสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาโดยตลอดว่าไม่ดี เช่น “อ้วน” “กุ้งแห้ง” “ดำ” “หน้าปรุ” ฯลฯ ซึ่งเมื่อเราเริ่มที่จะเชื่อในคำพูดจากปากของผู้แซวแล้ว ความกังวลเกี่ยวกับความคิดเห็นที่ผู้อื่นมีต่อตนเองก็จะก่อตัว เกิดเป็นบาดแผลทางใจ (Trauma) ที่จะอยู่กับเราไปตลอด ไม่มีวันลืมเลือน มีแต่จะรู้สึกเจ็บกับมันน้อยลงไปบ้างก็เท่านั้น
~ความกังวลเองก็เป็นรากฐานที่ทำให้เรามีความกลัวในหลากหลายสิ่ง ทั้งความกลัวที่จะพบเจอผู้คนใหม่ๆ กลัวความคิดของผู้คนรอบข้าง หรือแม้แต่กลัวที่จะให้โอกาสตนเอง เหล่านี้คือสัญญาณของความวิตกกังวล (Anxiety) ที่จะพัฒนาไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิตอย่างโรควิตกกังวลได้ คนที่ถูกล้อเลียนว่าอ้วนมาตลอดชีวิตก็มักจะกลัวการเริ่มต้นความสัมพันธ์ (โดยเฉพาะในความสัมพันธ์แบบคู่รัก) เพราะไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายจะชอบตนจริงหรือไม่ กลัวที่จะถูกกลั่นแกล้งซ้ำในหมู่เพื่อนใหม่ กลัวว่าเสื้อผ้าสวยๆ จะไม่เข้ากับหุ่น ใส่แล้วอาจจะโดนล้อ หรือกระทั่งคิดว่าไม่มีเหตุผลที่จะพยายามทำอะไรเพื่อตัวเอง เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สามารถดีพอ ความคิดเหล่านี้เองที่ครอบงำจิตใจของเหล่าผู้คนที่ถูกแซวจนสูญเสียความมั่นใจ ไม่เป็นตัวของตัวเอง มองโลกในแง่ร้าย และกังวลในความคิดเห็นที่ผู้อื่นมีต่อตัวเองตลอดเวลา ถ้าหากว่าการพูดแซวหรือล้อเลียนมีน้ำหนักมากเกินกว่าที่ผู้ฟังจะรับไหว การปลีกวิเวกจากสังคม การติดสารเสพติด การทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่การฆ่าตัวตายก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน
~นอกจากนี้แล้ว คนที่ถูกกลั่นแกล้งอยู่บ่อยครั้งมักจะมีอารมณ์อ่อนไหว ไม่มีสมาธิ สูญเสียความสนใจในสิ่งที่เคยชอบ ทานอาหารน้อยหรือมากผิดปกติ รู้สึกว่างเปล่า และปลีกตัวออกจากสังคม ซึ่งเป็นอาการเด่นของโรคซึมเศร้า (Depressive disorder) จริงที่โรคซึมเศร้าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่การแซวที่รุนแรงหรือการกลั่นแกล้งก็เป็นตัวกระตุ้นให้มันก่อตัวขึ้นได้เช่นกัน หลากหลายงานวิจัยได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้วว่าผู้ป่วยโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้ามักมีประวัติเคยถูกกลั่นแกล้งในวัยเด็ก ซึ่งเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งมีแนวโน้มเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าสูงกว่าเด็กที่ไม่เคยถูกกลั่นแกล้งถึง 2.77 เท่าทีเดียว
~ดังนั้น การแซวที่ผู้ฟังไม่พึงพอใจจึงไม่ใช่เรื่องล้อเล่น แต่เป็นเรื่องที่ควรตระหนักให้มาก เพราะหนึ่งคำพูดของเรานั้นมีผลกระทบต่อผู้อื่นอยู่เสมอ หรือหากเป็นผู้ที่กำลังถูกแซว และรู้ตัวว่าเริ่มจะรับคำพูดร้ายๆ ไม่ไหว การสื่อสารจะสามารถช่วยได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกับผู้พูดโดยตรง หรือสื่อสารกับผู้ที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ เช่น เพื่อน คนรัก ครูอาจารย์ ครอบครัว หัวหน้า รวมถึงนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ เพื่อตัดวงจรการกลั่นแกล้ง และตัดมุมมองที่ไม่ดีให้หายไป เราจึงจะสามารถมีความสุขกับการเป็นตัวเองได้มากยิ่งขึ้น และมีความมั่นใจมากกว่าที่เคยเป็นมา เพราะสุดท้ายแล้ว คนที่รู้จักและจะรักเราได้มากที่สุดก็คือตัวของเราเอง ไม่ใช่สิทธิ์ของใครที่จะตัดสินในความเป็นเราได้เลย
อ้างอิง
- Know Your Meme
- McLean Hospital
- Roth DA, Coles ME, Heimberg RG. The relationship between memories for childhood teasing and anxiety and depression in adulthood. J Anxiety Disord. 2002;16(2):149-64. doi: 10.1016/s0887-6185(01)00096-2. PMID: 12194541.
- Ye Z, Wu D, He X, Ma Q, Peng J, Mao G, Feng L, Tong Y. Meta-analysis of the relationship between bullying and depressive symptoms in children and adolescents. BMC Psychiatry. 2023 Mar 30;23(1):215. doi: 10.1186/s12888-023-04681-4. PMID: 36997959; PMCID: PMC10061722.