โรงเรียนของเราน่าอยู่ ถ้าคุณครู เพื่อน และเรา ร่วมมือกันสร้างสถานที่ปลอดภัย
โรงเรียน หรือ สถานศึกษา เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองและที่หลบภัยสำหรับบุคลากรและนักเรียนหลายๆ คน ด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสม แต่หากพูดถึงความปลอดภัยทางด้านจิตใจ เราทุกคนก็คงมีความคิดเห็นต่างกัน ด้วยระบบปัจจุบันที่ครูคนหนึ่งทำหลายหน้าที่ อาจทำให้ไม่สามารถดูแลเด็กทุกคนได้อย่างทั่วถึง ปัญหาบางอย่างจึงไม่สามารถถูกทำให้หายไปได้ เช่น การกลั่นแกล้ง ล้อเลียน เรียนตามเพื่อนไม่ทัน ฯลฯ วันนี้ EQ จึงจะชวนมาดูกันว่า เราจะทำอย่างไรได้บ้าง ให้โรงเรียนกลายเป็นสถานที่ปลอดภัยทางใจสำหรับทุกคน
1. สร้างความเชื่อใจ ไร้กังวล
ความเชื่อใจ คือสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ โดยอย่างยิ่งในสังคมปิดอย่างโรงเรียนและห้องเรียน สำหรับเด็กวัยรุ่นซึ่งถือเป็นช่วงอายุที่อ่อนไหวต่อสิ่งรอบตัวง่ายแล้ว บ้านและโรงเรียนนั้นแทบจะเป็นโลกทั้งใบ เพราะมันคือสองสถานที่ที่ต้องใช้เวลาทั้งวันในการอยู่กับมันมากที่สุด ตั้งแต่ยังแบเบาะจนสำเร็จการศึกษา วงสังคมที่สามารถวางใจและแสดงความเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่จึงสำคัญในการเสริมสร้างสุขภาพจิตที่แข็งแรง
ในส่วนของการสร้างสังคมที่มีความเชื่อใจ ครูอาจจะสามารถทำให้มันเป็นไปได้มากกว่านักเรียน เนื่องจากมีอำนาจในการจัดการเรื่องราวต่างๆ ในห้องเรียน ซึ่งในฐานะผู้ใหญ่ ข้อควรทำก็คือ
- เปิดประตูให้กว้างไว้เสมอ – ‘ประตู’ ในที่นี้หมายถึงประตูใจที่พร้อมจะเปิดรับนักเรียนเมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ หรือต้องการคำปรึกษา สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือการรับฟังโดยไม่ตัดสินไปก่อน และให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยแล้ว ยังถือเป็นการปลูกฝังให้เด็กปฏิบัติแบบเดียวกันกับคนรอบตัวอีกด้วย
- ทำในสิ่งที่พูดเอาไว้และรักษาสัญญา เพื่อปลูกฝังความรับผิดชอบให้กับนักเรียน และเพื่อให้นักเรียนเข้าใจว่าความเชื่อใจสามารถสร้างได้ด้วยคำพูดและการกระทำ
- จัดกิจกรรมให้นักเรียนรู้จักกันและกันมากขึ้น เพราะห้องเรียนหนึ่งอาจมีขนาดที่ใหญ่ หรือเด็กสร้างสังคมเล็กที่มีการเกาะกลุ่มสูง ส่งผลให้ไม่รู้จักเพื่อนคนอื่นๆ มากพอ เมื่อสนิทกันมากขึ้นแล้ว ความเชื่อใจก็จะสร้างขึ้นได้ไม่ยาก
- เอาใจใส่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ปฏิบัติหรือพูดคุยกับเด็กคนใดคนหนึ่งมากเป็นพิเศษ เพราะไม่ควรมีเด็กคนใดคนหนึ่งเป็น “คนโปรด” ของครู เนื่องจากเด็กจะรู้สึกว่าเข้าถึงเรายากยิ่งขึ้น และอาจเกิดการแบ่งแยกในห้องเรียน (ยกเว้นในกรณีที่มีเด็กที่ควรได้รับการช่วยเหลือ เช่น เป็นบุคคลทุพพลภาพ หรือพัฒนาการล่าช้า)
2. มีน้ำใจ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
“ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” อาจฟังดูเป็นประโยคขายฝัน หากแต่สำคัญอย่างมาก ในเมื่อมีนักเรียนอยู่มากมายที่ถูกระบบการศึกษาทอดทิ้ง ไม่ว่าจะในแง่ของการเรียน หรือในแง่ของการปกป้องทางจิตใจ
ปัจจุบันนี้ ด้วยระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีการแข่งขันสูง เด็กนักเรียนถูกกรอกความรู้เข้าสมองในแบบที่แม้แต่ผู้ใหญ่ก็อาจรับไม่ไหว แต่ก็ต้องรับไว้ เพื่อให้มีสิทธิ์เข้าเรียนในคณะที่ต้องการ หรือเพื่อให้มีเครื่องรับประกันอนาคตที่สวยงาม ความเห็นอกเห็นใจจึงเป็นสิ่งที่หลงลืมกันได้ง่าย ในวันที่จำเป็นต้องแย่งชิงโควต้าและที่นั่งอันมีจำกัด ไม่เพียงเท่านั้น หลายโรงเรียนยังเชิดชูเด็กเก่ง พร้อมทั้งฝังใจเชื่อว่าเด็กไม่เก่งก็จะเป็นเช่นนั้นอยู่วันยังค่ำ ทั้งที่เรายังใช้ไม้บรรทัดเพียงเล่มเดียวในการวัดความเก่งและฉลาดของทุกคน
สิ่งเล็กๆ ที่เราจะสามารถทำได้ในสถานการณ์เช่นนี้ คือการส่งเสริมแรงสนับสนุนทางสังคม (Social support) ซึ่งก็คือหนึ่งในกำลังหลักที่จะช่วยให้เราทุกคนผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากไปได้ การมีเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขและสังคมรอบด้านที่มีความช่วยเหลือเกื้อกูลจึงสำคัญ ในการที่จะประคับประคองให้ทุกคนไปถึงฝั่งร่วมกัน เพียงแค่จัดกลุ่มเรียนเสริม ทำกิจกรรมสานความสัมพันธ์ เป็นกำลังใจให้กันในเวลาที่ย่อท้อ เหล่านี้คือสิ่งที่มีค่า ซึ่งจะผลักให้คนๆ หนึ่งมีอนาคตและมุมมองต่อโลกที่ดีได้
3. ปลูกฝังการโอบรับความแตกต่าง
บ่อยครั้งที่เราจะเห็นเด็กล้อเลียนกันเพราะความแตกต่าง โดยเฉพาะเมื่อความแตกต่างนั้นเป็นเรื่องน่าอับอายตามกรอบสังคมรูปแบบเก่า เช่น “อ้วน” “หน้าสิว” “ตุ๊ดแต๋ว” “โง่” ฯลฯ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องน่าอายเลยแม้แต่น้อย เพียงแค่ชุดความคิดอันฝังรากลึกยังคงเป็นเรื่องยากที่จะกำจัด เพราะมันถูกปลูกฝังกันมาหลายต่อหลายรุ่น แม้ในปัจจุบันที่มีการรณรงค์เรื่องการเคารพความแตกต่างมากขึ้นแล้วก็ตาม
ถึงอย่างนั้น มนุษย์เราก็สามารถที่จะเรียนรู้ใหม่ได้ อิงตามตัวอย่างที่ยกไปข้างต้น เราอาจเกิดมาพร้อมกับความคิดที่ว่าต้อง “ดูดี” “เป็นคนตรงเพศ” และ “ฉลาด” ถึงจะดี แต่เราก็สามารถเรียนรู้กันใหม่ว่า ความสวยงามเป็นเรื่องปัจเจก รสนิยมและการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างไม่ใช่เรื่องแปลก และระบบการศึกษาปัจจุบันก็ไม่แฟร์ที่วัดค่าความฉลาดของคนเพียงแค่ด้านวิชาการ
ข้อนี้เป็นอีกข้อที่สามารถทำได้ทุกคน ไม่ว่าเราจะเป็นใครก็ตาม ถ้าหากการเปลี่ยนชุดความคิดเก่ายังคงเป็นเรื่องยาก ขอให้พึงคิดเอาไว้เสมอว่า เราไม่จำเป็นต้องเข้าอกเข้าใจไปเสียทุกอย่าง แต่การเคารพนั้นจำเป็นที่จะต้องแสดงออกมา เพียงแค่เคารพความแตกต่างของผู้อื่น ไม่มองด้วยสายตาที่ตัดสิน เท่านี้ก็ถือว่าเป็นก้าวสำคัญ ซึ่งจะนำเราไปสู่ความเข้าใจในที่สุด
“สายรุ้งสวยได้เพราะมีหลายสี ความแตกต่างจึงเป็นสิ่งสวยงามเช่นกัน”
4. แค่ตักเตือนอย่างเหมาะสม ก็สร้าง Growth Mindset ได้
มีสำนวนหนึ่งในภาษารัสเซียกล่าวเอาไว้ว่า น้ำร้อนที่ทำให้มันฝรั่งอ่อนนุ่ม คือน้ำร้อนเดียวกันที่ทำให้ไข่ต้มแข็งขึ้น เป็นการเปรียบเปรยว่าแรงกดดันหรือการพูดจาแรงๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับทุกคน – เราสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าจริงตามนั้น เพราะมีหลากหลายสถานการณ์เหลือเกินที่เข้ามาพิสูจน์ให้เห็น ซึ่งไม่ว่าใครก็ต้องเคยพบเจอ
บ่อยครั้งที่เราจะเห็นได้ว่าการตำหนิหรือการกดดันสามารถส่งผลออกมาสองแบบ หนึ่งคือทำให้แข็งแกร่งขึ้น สองคือทำให้อ่อนแอลง การดุเด็กคนหนึ่งอย่างแรงอาจทำให้ความผิดนั้นไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก แต่เมื่อทำแบบเดียวกันกับเด็กอีกคน การดุด่านั้นอาจกลายเป็นแผลใจ ทำให้เติบโตขึ้นเป็นคนที่กลัวความผิดพลาด ขาดความมั่นใจในตนเอง หรือมีภาพจำเลวร้ายเกี่ยวกับผู้ออกปากว่าในชนิดที่ยากจะลบล้าง
ในฐานะครู เพื่อนร่วมชั้น หรือใครก็ตาม หากเราเห็นว่าใครสักคนทำผิด สิ่งที่สามารถปฏิบัติเพื่อส่งเสริมทัศนคติที่เติบโต (Growth mindset) มีดังนี้
- ชี้ข้อผิดพลาดให้เห็นว่าไม่ดีอย่างไร ส่งผลกระทบต่อใครหรืออะไรบ้าง
- อธิบายว่าผู้ที่ทำผิดสามารถแก้ไขสถานการณ์อย่างไรได้บ้าง และให้โอกาสในการเอ่ยปากขอโทษ
- หากเป็นครู ควรให้บทลงโทษนักเรียนอย่างเหมาะสมต่อความผิดที่ได้ก่อ เช่น เขียนจดหมายแสดงความสำนึกผิดเพื่อทบทวนการกระทำของตนเอง ทำเวรแทนเพื่อน หรือทำจิตอาสา ฯลฯ
- ชมเชยเมื่อผู้กระทำรับผิดชอบต่อความผิด เป็นการปลูกฝังว่าการรับผิดชอบเป็นสิ่งที่ดี และเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ควรทำ
แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ควรจะทำด้วยความละมุนละม่อม และอยู่บนฐานของความเข้าใจว่าเราทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ การตักเตือนอย่างเหมาะสมนั้นเป็นเรื่องที่ควรทำเสมอ โดยเฉพาะกับวัยกำลังเรียนรู้ เพราะดอกไม้จะเบ่งบานด้วยสายฝน ไม่ใช่สายฟ้า การลงโทษหรือตำหนิอย่างรุนแรงจึงมักจะไม่ได้ผลในระยะยาว แต่การพูดคุยและเสริมความเข้าใจต่างหาก ที่จะทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ผู้อำนวยการ ครู นักเรียน หรือแม้กระทั่งผู้ปกครองเองก็ตาม เราทุกคนต่างมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่น่าอยู่ภายในรั้วโรงเรียน ถึงจะต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่ก็คุ้มค่า ในเมื่อสิ่งที่จะได้รับคือสุขภาพจิตที่ดีอันส่งผลยาวนานไปถึงอนาคต อีกสเต็ปหนึ่งที่จะช่วยให้สร้างความปลอดภัยทางจิตใจได้ ก็คือการมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่โรงเรียนในประเทศไทยเริ่มใส่ใจส่วนนี้มากขึ้น ทางเราเองก็อดที่จะคาดหวังไม่ได้ว่า โรงเรียนไทยยุคใหม่จะสร้างประชากรที่สุขภาพใจแข็งแรงได้มากขึ้นจริงๆ
อ้างอิง