‘เปิดใจคุย’ กับ 5 ครอบครัว LGBTQ+ ถึงเรื่องความสัมพันธ์และการคุยกันเรื่อง ‘เพศและตัวตน’
~เมื่อพูดถึง ‘การยอมรับในตัวตน’ เราคงต้องตั้งคำถามกับตัวเองกันก่อนว่า เราคุ้นเคยกับการได้รับการยอมรับมากขนาดไหน ภายใต้สังคมที่ไม่ได้ปลูกฝังให้เรากล้าแสดงออกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเมื่อเป็นกลุ่มคนเพศหลากหลาย มีทั้งเด็กชายที่แอบเอาชุดกระโปรงกับเครื่องสำอางของแม่มาเล่น เด็กหญิงผู้มีแฟนสาวแต่จำต้องบอกกับครอบครัวว่าเป็นแค่เพื่อน คนที่เติบโตมาโดยไม่รู้สึกว่าตัวเองตรงกับกรอบของเพศไหน และอีกมากมายที่ไม่ได้พูดออกไป เพราะหวั่นใจในผลตอบรับที่จะตามมา
~อาจเป็นเพราะเช่นนี้ หลายคนจึงเลือกที่จะไม่พูด แต่ใช้การแสดงออกผ่านการกระทำแทน โดยค่อยๆ เฉลยทีละนิดเพื่อดูว่าอีกฝ่ายจะแสดงท่าทีอย่างไร สำหรับบางครอบครัว การได้ซึมซับตัวตนของกันและกันแบบค่อยเป็นค่อยไปก็จะสามารถเปิดใจยอมรับได้โดยปริยาย ทำให้การคัมเอ้าท์ (Come out) ไม่ใช่สิ่งที่ถูกพูดถึงหรือเป็นเรื่องทั่วไปในหมู่คนไทย ในทางกลับกัน สำหรับครอบครัวที่ต้องการให้สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา การคัมเอ้าท์ก็จะสามารถเกิดขึ้นได้
~สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือหลายๆ คนเลือกจะคัมเอ้าท์กับเพื่อนก่อนคนในครอบครัว จากการสำรวจของ Pew Research Center ในสหรัฐอเมริกา 86% ของกลุ่มคนเพศหลากหลายคัมเอ้าท์กับเพื่อนสนิท ในขณะที่ 56% ได้บอกกับแม่ของตัวเอง และมีเพียง 39% เท่านั้นที่บอกพ่อแม่กลุ่มสำรวจกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้คัมเอ้าท์กับพ่อแม่ก่อนเพราะกังวลในท่าทีของการตอบรับ ไม่ได้แปลว่ารักหรือไว้ใจน้อยกว่าแต่อย่างใด
~เมื่อพูดคุยกับคนเพศหลากหลายก็จะสังเกตได้ว่าจุดร่วมของหลายๆ คนคือความรู้สึก ‘กลัว’ ที่ต้องคัมเอ้าท์กับคนในครอบครัว เพราะหากได้พูดออกไปแล้ว ปฏิกิริยาตอบรับก็จะตามมาอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะออกมาในลักษณะของการยอมรับหรือไม่ ซึ่งแตกต่างกันออกไปด้วยประสบการณ์ของแต่ละบุคคล บางคนคุ้นเคยกับ LGBTQ+ และรู้จักเป็นอย่างดี ในขณะที่บางคนยังอาจไม่ค่อยเข้าใจ หรือเข้าใจผิดมาตลอดทั้งชีวิตจนเกิดอคติแอบแฝง ดังนั้น การที่ผู้ปกครองจะโอบรับตัวตนอันแท้จริงของลูก – ซึ่งเป็นด้านที่ไม่เคยได้รับรู้มาก่อน – จึงเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา
~อย่างคุณ ‘ธาริณี’ แม่ของ ‘แสงฟ้า’ ผู้ที่ได้มาเข้าร่วมการสัมภาษณ์กับเราในวันนี้ เธอเป็นแม่ที่รักและหวังดีกับลูกอย่างไม่มีข้อแม้ และเป็นคนหัวทันสมัย แสงฟ้าเองก็รับรู้ในข้อนั้นดี ถึงอย่างนั้น ความกลัวก็ยังแทรกซึมเข้ามาในจังหวะที่ต้องคัมเอ้าท์ว่าตนชอบผู้หญิง เพราะแม่เคยมีความเข้าใจว่าการชอบผู้หญิงเป็นเพียงอารมณ์ชั่ววูบที่จะหายไปในสักวัน
“หลังจากโทรคุยกับคุณแม่ เราก็ร้องไห้ เพราะมันเศร้า เรานึกว่าคุณแม่จะเป็นคนที่มีความคิดกว้างและโมเดิร์นมาก แต่แม่เห็นลูกแล้วรู้สึกว่ามันไม่ได้” – แสงฟ้า
~‘มาร์ค’ เองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่รู้สึกกลัวเมื่อต้องคัมเอ้าท์ เพราะถูกถามขึ้นอย่างกะทันหัน ด้วยความที่ไม่อยากโกหก ‘อ้อ’ คุณแม่ของเขา มาร์คจึงตอบกลับไปตามตรงว่าเขาเป็นเกย์ ทั้งที่กังวลว่าแม่จะคิดอย่างไร เนื่องจากทัศนคติเกี่ยวกับ LGBTQ+ ที่ยังไม่เปิดกว้างเท่าไหร่นักในช่วง 20 กว่าปีก่อน
“ตอนนั้นกลัวว่าเขาจะทิ้ง กลัวว่าเขาจะไม่รักหรือรับไม่ได้ด้วย เพราะว่าผมสนิทกับพ่อแม่มาก ก็เลยไม่อยากทำให้เขาผิดหวัง ตอนนั้นร้องไห้กันทั้งคู่เลย แม่บอกว่าไม่ว่าอย่างไรก็รักลูก” – มาร์ค
~โชคดีที่เรื่องราวการคัมเอ้าท์ของทั้งแสงฟ้าและมาร์คได้ลงเอยด้วยความรัก ต่อให้ต้องใช้เวลาในการเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับเพศ แต่เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดี ลูกบางคนจึงยังตัดสินใจที่จะเก็บเงียบ และอาจเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ฉันควรคัมเอ้าท์กับคนที่บ้านไหม” “ถ้าไม่ได้พูดไปจะถือว่าโกหกหรือเปล่า” เป็นความจริงที่การเปิดเผยเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศหรือเพศวิถีของตัวเรานั้นไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องทำ และไม่ใช่เรื่องผิดที่จะเก็บเรื่องนี้เอาไว้ในใจ อย่างไรก็ตาม ในวันที่เราสามารถยอมรับความเป็นตัวเองได้แล้ว ความต้องการที่จะบอกให้คนสำคัญรับรู้ก็สามารถเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา เพราะคงไม่มีใครไม่อยากได้รับการยอมรับจากคนสำคัญของชีวิต จะบอกว่ามนุษย์เราต้องการสิ่งนี้ไม่ต่างจากอาหารก็คงไม่ผิดนัก
~เมื่อหันกลับมามองในมุมของผู้ปกครองที่มีลูกเป็นคนเพศหลากหลาย จากที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากปากของเหล่าพ่อแม่ที่เข้ามาพูดคุยกับพวกเรา ก็สามารถรับรู้ได้ทันทีว่ามีความยอมรับอยู่ในนั้น อย่าง ‘หน่อย’ คุณแม่ของ ‘น็อท’ ที่รับรู้ได้ว่าลูกเป็นเกย์ แต่ไม่เคยเอ่ยปากถาม เพราะไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร ชอบเพศไหน น็อทก็ยังเป็นลูกที่แม่ภาคภูมิใจไม่เคยเปลี่ยน
“แม่ไม่เคยถามค่ะ เพราะไม่ว่าลูกจะเป็นอะไรก็รักเขาเสมอ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่น็อทอายุ 16 ปี เคยบอกเขาว่า ไม่ว่าลูกจะเป็นอะไร แม่ก็ยอมรับ ขอแค่ให้เป็นคนดีก็พอค่ะ” – หน่อย
~ในอีกแง่มุมหนึ่ง พ่อแม่ก็ต้องการการยอมรับจากลูกด้วยการไม่ปิดบังหรือผลักไสเช่นกัน เพราะการเผยตัวตนให้อีกฝ่ายได้รับรู้ก็คือการสื่อถึงความไว้เนื้อเชื่อใจ พ่อแม่ที่ใส่ใจในความรู้สึกของลูกจึงมักจะอยากรับรู้ถึงความเป็นไปอยู่เสมอ พร้อมเคารพในสิ่งที่ลูกเป็น ต่อให้ไม่เข้าใจตั้งแต่คราวแรกก็ตาม – เป็นความจริงที่ในสังคมไทยยุคปัจจุบัน น้อยคนที่จะเข้าใจเกี่ยวกับ LGBTQ+ อย่างถ่องแท้ แม้แต่คนในคอมมูฯ เองก็ยังไม่รู้จักครบทุกตัวอักษรย่อ ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องแย่ ขอแค่อยู่บนพื้นฐานของความเคารพก็เพียงพอ
~สำหรับบางครอบครัว ผู้ปกครองเองก็ต้องใช้เวลาในการปรับความเข้าใจ เนื่องด้วยความคิดเห็นที่แตกต่าง จากกรอบแนวคิดในสังคมที่เขาได้เติบโตมาพร้อมกับมัน ซึ่งแน่นอนว่าสามารถปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยได้ เพียงต้องอาศัยเวลาบ้างเท่านั้น ธาริณีเองก็ต้องผ่าน “กระบวนการย่อยข้อมูล” ตอนที่ได้รับรู้ว่าแสงฟ้าชอบผู้หญิงและนิยามตนเองว่าเป็นนอนไบนารี เธอรู้สึกว่ายังเข้าไม่ถึงความเป็นตัวตนของลูกในทันที แต่ในขณะเดียวกันก็ยินดีที่แสงฟ้าชัดเจนในตัวเอง โดยไม่เก็บซ่อนมันไว้
“เราชอบให้คนเป็นตัวของตัวเอง ชอบให้คนแสดงออก แต่พอเป็นลูกของเราเอง มันมีกระบวนการย่อยข้อมูลอยู่…เหมือนเราจะสบายใจเมื่อลูกค้นพบตัวเอง และชัดเจนว่าตัวเองเป็นอะไร” – ธาริณี
~สิ่งหนึ่งที่อยากให้ผู้ปกครองผู้กำลังอ่านบทความนี้คำนึงถึงก็คือ การคัมเอ้าท์นั้นต้องใช้ความกล้าเป็นอย่างมากสำหรับบางคน และการที่ลูกบอกให้รับรู้ นั่นหมายความว่าเขารู้สึกว่าสามารถพูดออกมาได้นั่นเอง มันจึงเป็นโอกาสดีที่จะกระชับสายสัมพันธ์ในครอบครัว ด้วยการเคารพและยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ลูกก็ยังเป็นลูกคนเดิม ไม่ว่าจะมีอัตลักษณ์ทางเพศใด ชอบเพศไหน หรือไม่มีแรงดึงดูดทางเพศก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่ได้มาจากผลของการเลี้ยงดูรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพราะอัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีไม่ใช่สิ่งที่สามารถเลือก หรือปรับเปลี่ยนให้เป็นอื่นได้
~ในฝั่งของลูกเอง หากท่าทางหรือคำตอบรับของพ่อแม่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ถือว่าการที่ได้พูดออกไปก็นับว่าเป็นการยอมรับในตัวเองแล้ว ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ มันจึงเป็นเรื่องน่าภูมิใจที่สองเท้าก้าวไปอีกสเต็ปหนึ่ง เมื่อพูดแล้วก็ทำได้เพียงปล่อยให้เวลาทำหน้าที่ของมัน เพราะหากความรักนั้นมีอยู่จริงในครอบครัว การเปิดใจยอมรับก็จะเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากมายเลย และหากสามารถหย่อนความคาดหวังลงเสียหน่อย เราก็จะไม่ต้องแบกความรู้สึกอันหนักอึ้งเอาไว้จนเหนื่อยใจ
~สุดท้ายนี้ เราคงสามารถพูดได้ว่าการคัมเอ้าท์นั้นเป็นเรื่องปัจเจกที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะพูดหรือไม่พูด หรืออาจสื่อสารออกไปด้วยวิธีที่ต่างกัน บางคนชอบการพูดอย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่บางคนชอบแสดงออกผ่านการกระทำมากกว่า ซึ่งไม่มีมาตรวัดว่าถูกหรือผิดเลย เพียงแค่เราทุกคนควรเคารพกันและกัน เข้าอกเข้าใจ ให้เวลา และไม่ตัดสิน ครอบครัวก็จะสามารถหันมากอดกันได้ด้วยความรักที่ปราศจากการทำร้าย เพราะฉะนั้น คงถึงเวลาที่เราจะหันมาถามกับตัวเองแล้วว่า วันนี้เราพูดคุยกับคนในบ้านมากพอแล้วหรือยัง?
อ้างอิง