จุดกำเนิด ‘Autotune’ โปรแกรมจูนเสียงเพี้ยนให้เป็นเพราะ
ในปัจจุบันคงไม่มีใครที่ไม่รู้จักโปรแกรมแต่งเสียงร้องที่เรียกว่า ‘Autotune’ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในอุตสาหกรรมเพลง สามารถปรับแต่งเสียงร้องให้ตรงคีย์ เสียงเพราะ ฟังดูเป็นธรรมชาติ เรียกได้ว่าเป็นโปรแกรมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกแนวดนตรี แต่ถึงอย่างนั้น ในมุมมองของอีกหลายคนก็มองว่า การใช้ Autotune นั้นเป็นการทำลายมนต์เสน่ห์ของดนตรี ทำให้เสียงร้องของคนเหมือนกับเสียงของหุ่นยนต์ จนทำให้บางครั้งเมื่อที่ศิลปินถูกจับได้ว่าใช้ Autotune ช่วยในการร้องเพลง ก็กลายเป็นเรื่องดราม่าขึ้นมาได้ทันที โดยวันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับที่มาที่ไปและเรื่องราวที่น่าสนใจของนวัตกรรมที่เรียกว่า Autotune กัน
ต้นกำเนิด Autotune ที่ไม่ได้เกิดจากนักดนตรี
เชื่อว่าหลาย ๆ คน แม้แต่คนที่อยู่ในแวดวงดนตรีอาจจะยังไม่รู้ว่า ผู้ที่ให้กำเนิดนวัตกรรมเปลี่ยนโลกอย่าง ‘Autotune’ นั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับดนตรีเลยแม้แต่น้อย โดยเขาคนนี้มีชื่อว่า ‘แอนดี ฮิลเดอแบรนด์’ (Andy Hildebrand) เป็นวิศวกรและนักวิจัยของบริษัทขุดเจาะน้ำมันแห่งหนึ่ง ซึ่งงานของเขาส่วนใหญ่มักจะเป็นการขลุกอยู่กับ ‘กราฟ’ ที่แสดงผลขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอดเวลา วันหนึ่งเขานั่งดูกราฟขึ้น ๆ ลง ๆ แล้วก็คิดว่ามันคล้ายกับ ‘ระดับเสียงสูง-ต่ำ’ (Pitch) ของมนุษย์ เขาจึงปิ๊งไอเดียว่า ถ้าหากเราสามารถปรับระดับเสียงสูง-ต่ำให้ลงมาอยู่ในร่องเสียงที่ต้องการได้ ก็จะช่วยให้เราร้องเพลงได้เพราะขึ้น เสียงร้องเพี้ยนก็จะกลายเป็นเสียงเพราะได้ไม่ยาก หลังจากนั้น ฮิลเดอแบรนด์ ใช้เวลาหลายเดือนในช่วงปี 1996 ในการเขียนโปรแกรมประมวลผลสัญญาณดิจิทัล ก่อนจะติดตั้งมันลงในคอมพิมเตอร์ Macintosh ต่อมาในปี 1997 เขาจึงเปิดตัวผลงานของตัวเองในงาน NAMM Show ซึ่งผลงานของเขาได้ไปเข้าตาบริษัท American Antares Audio Technologies นำไปสู่การซื้อกรรมสิทธิ์ไปพัฒนาต่อจนกลายมาเป็นโปรแกรม Autotune อย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
ศิลปินที่ใช้ Autotune ในการบันทึกเสียงคนแรก
แม้ว่า Autotune จะเริ่มเปิดตัวสู่สายตาชาวโลกตั้งแต่ปี 1997 แต่ในอุตสาหกรรมดนตรีนั้น การใช้โปรแกรม Autotune เข้ามาช่วยในการบันทึกเสียงศิลปินเป็นครั้งแรก ว่ากันว่าเกิดขึ้นในปี 1998 ในเพลง ‘Believe’ ของ ‘เฌอริลีน ซาร์กิเซียน’ (Cherilyn Sarkisian) หรือ ‘แชร์’ (Cher) ศิลปินที่ถูกยกให้เป็นหนึ่งในตัวแม่ตัวมารดาแห่งยุค 1990’s ซึ่งเพลง ‘Believe’ ประสบความสำเร็จอย่างมาก มียอดขายทั่วโลกกว่า 10 ล้านชุด คนในอุตสาหกรรมเพลงต่างทึ่งกับประสิทธิภาพของโปรแกรม Autotune ที่สามารถปรับแต่งเสียงร้องของศิลปินได้ดังใจนึก เกิดเป็นผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมเพลงที่เรียกว่า ‘Cher Effect’ ทำให้ต่อมามีศิลปินดังอีกหลายคนที่เริ่มใช้ Autotune ในการบันทึกเสียง ไล่ตั้งแต่ ‘เจอนิเฟอร์ โลเปซ’ (Jennifer Lopez) ที่ใช้ Autotune ในเพลง ‘If You Had My Love’ ในปี 1999 ก่อนที่ ‘ที-เพน’ (T-Pain) ซึ่งเป็นนักร้องฮิปฮอปคนแรกที่นำ Autotune ไปปรับใช้ในเพลงแนวฮิปฮอปและอาร์แอนด์บีของเขาในอัลบั้ม ‘Rappa Ternt Sanga’ ในปี 2005 จนสร้างผลกระทบต่อวงการเพลงแนวฮิปฮอปเรียกว่า ‘T-Pain Effect’ ส่งผลให้โปรแกรม Autotune นิยมใช้อย่างแพร่หลายในหลากหลายแนวดนตรี ไม่ว่าจะเป็น ฮิปฮอป, อาร์แอนด์บี ป๊อบ ไปจนถึงเพลงร็อก โดยเฉพาะแวดวงเพลงฮิปฮอปและอาร์แอนด์บีที่ช่วงระหว่างปี 2005-2010 ถือเป็นยุคทองของการใช้ Autotune ในเพลงฮิปฮอปและอาร์แอนด์บีเลยก็ว่าได้ มีการใช้ Autotune ในหมู่ศิลปินระดับโลกอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ‘สนูป ด็อกก์’ (Snoop Dogg) ในเพลง ‘Sexual Eruption’, ‘ลิล เวย์น’ (lil wayne) ในเพลง ‘Lollipop’, ‘คานเย่ เวสต์’ (Kanye West) ในอัลบั้ม ‘808s & Heartbreak’, ‘บล็กอายด์พีส์’ (The Black Eyed Peas) ในเพลงฮิตอย่าง ‘Boom Boom Pow’ เป็นต้น
Autotune ในวงการเพลงไทย
ในวงการเพลงไทย, autotune เริ่มถูกนำเข้ามาใช้ในการบันทึกเสียงและการแสดงสดในช่วงปี 2000s เช่นกันแต่ไม่ได้มีการใช้งานอย่างแผร่หลาย และไม่มีบันทึกที่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้นำเข้ามา หรือเป็นกลุ่มแรกที่ใช้ แต่สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าการนำ Autotune มาใช้จริงๆ คาดว่าเริ่มจากในกลุ่มนักร้องผู้มีแนวเพลงที่หลายคนเรียกว่าเพลงแนว "อินเตอร์" ในช่วงปี 2000s เช่น 'ทาทา ยัง' (Tata Young) จากอัลบั้ม 'I Believe' ในปี 2004 หรือศิลปินคู่อย่าง ‘ไซน่า ดอลส์’ (China Dolls) จากปี 2001 รวมถึงศิลปินหน้าใหม่อื่นๆ ในช่วงนั้น ด้วยแนวเพลงที่ทันสมัยขึ้น และมีความเป็นสากลมากขึ้น ทำให้เกิดข้อสังเกลว่า Autotune อาจจะเข้ามามีบทบาทของการเสริมสร้างตัวตนให้กับเสียงของศิลปินยุคใหม่ในตอนนั้น และหลังจากนั้นการใช้ Autotune ก็ได้รับความนิยมมากกว่าเดิมโดยเพราะในแนวเพลงแร็พ, แดนซ์, และป็อปที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นอย่าง 'กอล์ฟ & ไมค์' (Golf & Mike) , ‘ไทยเทเนียม’ (Thaitanium) ที่ในยุคนั้นมีการดึงเอาแรงบัลดาลใจมาจากศิลปินสากลค่อนข้างเยอะทำให้ไม่น่าแปลกใจกับการมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันยุคกว่าศิลปินอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีค่ายขวัญในวัยรุ่นที่ชื่อว่า ‘กามิกาเซ่’ (Kamikaze) ก็ได้มีการนำ Autotune มาใช้เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับศิลปินในค่าย ทำให้เสียงมีความน่าสนใจ และมีกลิ่นอายของความเป็นเพลงสมัยใหม่ (ในยุคนั้น) แบบที่วัยรุ่นหลายคนค้นหาในเพลงที่พวกเขาฟัง ทำให้ในเวลาเดียวกันการที่วัยรุ่นไทยเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น การฟังเพลง แชร์เพลง และพูดคุยเรื่องเพลงเป็นเรื่องง่ายขึ้น นำมาซึ่งบทบาทของวัยรุ่นไทยที่ก็มีมากขึ้นในวงการผู้ฟัง และศิลปินเช่นกัน ถึงตอนนี้การใช้ Autotune ในไทยก็ยังมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ แต่ในปัจุบันด้วยพัฒนาการของตัวโปรแกรมต่างๆ เองด้วยทำให้อาจจะจับฟังได้ยากขึ้นแม้จะถูกใช้อย่างกว้างขวางมากในช่วงหลายปีก่อน แต่เรื่อง Autotune ในไทยเองก็มีการถกเถียงกันอยู่เฉกเช่นเดียวกันกับในระดับสากลนั้นคือแนวคิดว่าการใช้ Autotune เป็นการไม่ได้แสดงฝีมือจริงๆ ของศิลปินเหมือนเมื่อก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่มองว่า Autotune เป็นเครื่องมือที่มีความน่าสนใจมากกว่าแค่การทำให้เสียงตรงคีย์ โดยข้อถกเถียงนี้มีมาตลอดตั้งแต่เมื่อมีการใช้ Autotune เป็นครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน ทั้งจากศิลปิน และจากผู้ฟัง
กระแสบวก-กระแสลบของ Autotune
การใช้ Autotune ที่เฟื่องฟูขึ้นในหมู่ศิลปินดังก็ทำให้เกิดกระแสต่อต้านของบรรดาแฟนเพลงบางส่วนที่มองว่า การใช้ Autotune เป็นการลดทอนคุณค่าความเป็น ‘ศิลปะ’ ของดนตรี อีกทั้งยังทำให้ศิลปินไม่ได้ใช้เสียงร้องของตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ แต่อาศัยโปรแกรมอิทรอนิกส์เข้ามาช่วย ทำให้เสียงร้องขาดความเป็นธรรมชาติเหมือนเสียงหุ่นยนต์มากกว่าเสียงมนุษย์ แม้แต่ในหมู่ศิลปินด้วยกันเองก็มีศิลปินบางส่วนที่แสดงออกถึงการต่อต้านการใช้ Autotune ตัวอย่างเช่น ในปี 2009 วง ‘Death Cab for Cutie’ วงร็อกสัญชาติอเมริกันได้เข้าร่วมงานประกาศรางวัล Grammy Awards ครั้งที่ 51 ด้วยการผูกริบบิ้นสีน้ำเงิน เพื่อประท้วงการใช้ Autotune ในอุตสาหกรรมเพลง ในปีเดียวกัน ‘เจย์-ซี’ (Jay-Z) ได้ปล่อยเพลง ‘D.O.A. (Death of Auto-Tune)’ ซึ่งเขาอธิบายว่าแต่งเพลงนี้เพราะอยากสื่อว่ามีการใช้ Autotune ในอุตสาหกรรมเพลงมากเกินไป ด้านนักร้องอาร์แอนบีตัวแม่อย่าง ‘คริสตินา อากีเลรา’ (Christina Aguilera) ก็เคยออกมาต่อต้านการใช้ Autotune ด้วยการสวมเสื้อยืดที่มีข้อความว่า ‘Auto Tune is for Pussies’ มาแล้ว แต่ที่ดูจะหนักสุดคือ ในปี 2010 นิตยสาร Time ได้จัดให้โปรแกรม Autotune เป็นหนึ่งใน ‘50 สิ่งประดิษฐ์ที่แย่ที่สุด’ จนกลายเป็นประเด็นดราม่าของวงการเพลงทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ยังมีศิลปินอีกหลายคนที่ออกมาสนับสนุนการใช้ Autotune เพราะมองว่ามีผลดีมากกว่าผลเสีย ตัวอย่างเช่น ‘โทมัส แบงกอลเตอร์’ (Thomas Bangalter) โปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศสที่ออกมาแสดงความเห็นว่า กระแสการต่อต้าน Autotune ทำให้เขานึกถึงวงการเพลงของฝรั่งเศสยุค 1970’s ที่มีการต่อต้าน ‘เครื่องสังเคราะห์เสียง’ (Synthesizer) เพราะเห็นแต่ผลเสียมากกว่าผลดี ทั้ง ๆ ที่อย่างหลังมีมากกว่า เช่นเดียวกับ ‘ที-เพน’ ผู้ให้กำเนิดกระแส ‘T-Pain Effect’ ที่ออกมาสนับสนุนการใช้ Autotune ว่า พ่อของเขาพูดเสมอว่าเสียงร้องของคนเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบของดนตรี บางยุคสมัยเพลงหนึ่งมีความยาวถึง 7 นาที แต่มีถึง 5 นาทีที่มีแต่เสียงเครื่องดนตรีล้วน ๆ ดังนั้น หากเขาใช้ Autotune เปลี่ยนเสียงร้องของตัวเองเป็นเสียงแซ็กโซโฟนหรือเสียงอื่น ๆ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา ด้าน ‘ชาร์ลี พูท’ (Charlie Puth) นักร้องป๊อปและอาร์แอนบีคนดังก็เคยออกมาสนับสนุนการใช้ Autotune โดยเขายอมรับว่า เพลงของเขาก็มีการใช้ Autotune และจะยังใช้ต่อไปเพราะว่าใช้แล้วผลงานออกมาดีมาก
เทคโนโลยี Autotune ในปัจจุบัน
เทคโนโลยี Autotune มีการพัฒนาก้าวล้ำไปจากยุคเริ่มแรกอย่างมาก ศิลปินไม่ได้ใช้ Autotune เฉพาะแค่ตอนบันทึกเสียงเท่านั้น แต่ยังมีการใช้ในขณะทำการแสดงสดเพื่อปรับความหนักเบาของเสียงให้ดูเป็นธรรมชาติ ทำให้เสียงร้องลื่นไหลไม่ติดขัด ตัวอย่างเช่น ‘เทย์เลอร์ สวิฟต์’ (Taylor Swift) นักร้องเสียงฟ้าประทานที่หลาย ๆ คนยกให้เป็น ‘เจ้าแม่เวิร์ลทัวร์’ ก็มีการใช้ Autotune ขณะขึ้นแสดงสดบนเวทีเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ในยุคที่เทคโนโลยี ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ ‘AI’ กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดอย่างในปัจจุบัน AI ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมเพลงเองก็มีการใช้ AI ด้วยเช่นกัน โดยเจ้า AI ที่ว่านี้ไม่ได้แค่ช่วยปรับระดับเสียงเหมือน Autotune ได้เท่านั้น แต่ยังทำได้แทบทุกอย่าง แม้แต่สร้างเสียงดนตรี หรือแต่งคำร้อง แต่งทำนอง ก็สามารถทำได้ ตัวอย่างเช่น ‘Google MusicLM’ ที่เป็น AI ของ Google ทีความสามารถในการสร้างเสียงดนตรีและแต่งเพลงจากข้อความ หรือ ‘Suno AI’ ที่สามารถแต่งเพลได้ทุกแนว ทั้ง ป๊อป ร็อค อิเล็กทรอนิกส์ คลาสสิก แจ๊ส และอื่นๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการสำรวจของ Ditto Musics เมื่อปี 2023 พบว่า เกือบ 60% จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนในอุตสาหกรรมเพลงกว่า 1,300 คน ยอมรับว่าพวกเขาใช้ AI เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตผลงานของพวกเขา แต่ที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้นคือ จากการสำรวจของ Pirate พบว่า นักดนตรีและโปรดิวเซอร์เพลงมากกว่า 50% ยอมรับว่าพวกเขาจะไม่แจ้งให้ผู้ฟังทราบหากพวกเขาใช้ AI ในการทำเพลง โดยสาเหตุหลักเป็นเพราะพวกเขากังวลว่าผู้ฟังจะรับไม่ได้หากรู้ว่าพวกเขาใช้ AI ในการทำเพลง ด้าน ‘เดบิวต์ บอร์รี่’ (David Borrie) ซีอีโอของ Pirate มองว่า การใช้ AI ในอุตสาหกรรมเพลงยุคปัจจุบันก็คล้ายกับการใช้ Autotune สมัยก่อน ในช่วงแรกที่มีการใช้ Autotune มีทั้งการต่อต้านและค่อนแคะศิลปินอย่างรุนแรง แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ได้รับการยอมรับมากขึ้นเพราะผู้คนตระหนักว่า Autotune มีผลดีมากกว่าผลเสีย ดังนั้น การเดินทางของ AI สู่การเป็นเครื่องมือมาตรฐานของอุตสาหกรรมเพลงอาจเป็นไปตามเส้นทางที่คล้ายกัน ต้องรอให้ศิลปินและคนฟังปรับตัวเข้ากับนวัตกรรมนี้
ที่มา
https://www.dabth.com/ออโต้จูนคืออะไร/
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1052876#google_vignette
https://www.salika.co/2023/11/02/ai-effect-in-music-industry/
https://www.thaipbs.or.th/news/content/90369
https://en.wikipedia.org/wiki/Auto-Tune
https://www.clearlakerecordingstudios.com/2019/11/19/the-history-of-auto-tune/
https://www.thaipbs.or.th/news/content/90369