ตั้งตี้ตีป้อมอยู่ดีๆ วันนี้อีสปอร์ตกลายเป็นกีฬาโอลิมปิก
~ใครจะไปคิดว่าอยู่ดีๆ ผู้ใหญ่ในสังคมจะมอง ‘เด็กติดเกม’ เปลี่ยนไปเป็น ‘นักกีฬา’ เกมเมอร์หลายคนคงจะคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า ‘อีสปอร์ต (Esports)’ เป็นอย่างดี หรือต่อให้จะเป็นคนที่ไม่เล่นเกมก็คงต้องเคยได้ยินผ่านหูมาบ้าง นั่นก็เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นนับได้ว่าเป็นยุคทองของอีสปอร์ต ซึ่งมีทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ในหลายเกม ผุดขึ้นอย่างมากมาย หากดูอัตราการเติบโตของธุรกิจอีสปอร์ตก็จะเห็นว่ามีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี ทั้งในแง่คนดูและเม็ดเงินที่หลั่งไหลเข้ามาก็โตบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
~การเติบโตอย่างต่อเนื่องนี้เองทำให้หลายคนอยากให้กีฬาอีสปอร์ตกลายเป็นการแข่งขันระดับชาติหรือถูกบรรจุในไว้การแข่งขันใหญ่ๆ อย่าง Asian Games หรือ Olympic ด้วย เพราะอยากให้กีฬาชนิดใหม่นี้มีพื้นที่มากขึ้น มีคนดูมากขึ้น เข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลายขึ้น และมีธุรกิจที่เติบโตขึ้นเท่าเทียมกับกีฬาอื่นๆ เรียกได้ว่าชาวเกมเมอร์ต้องมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีกิน มีใช้
อีสปอร์ตไม่ได้เพิ่งมี แต่เคยถูกบรรจุไว้ในกีฬาระดับชาติแล้ว
~หากย้อนไปเมื่อ 5-10 ปีก่อน หลายคนคงสงสัยและไม่คุ้นเคยกับคำศัพท์ใหม่อย่างคำว่าอีสปอร์ต เพราะกีฬาชนิดนี้ยังไม่ได้โด่งดังจนได้ยินกันหนาหูเหมือนทุกวันนี้ อีสปอร์ตในทุกวันนี้เรียกได้ว่ารุ่งเรืองจนได้บรรจุเข้าไปในกีฬาระดับชาติหลายรายการ
SEA Games
~เริ่มต้นกันที่การแข่งขันในภูมิภาคอย่าง SEA Games ซึ่งได้บรรจุอีสปอร์ตเป็นกีฬาครั้งแรกตอนปี 2019 ที่ฟิลิปินส์ ต่อมาคือปี 2021 ที่เวียดนาม และล่าสุดปี 2023 ที่กัมพูชา ด้วยเลือดเกมเมอร์ที่เข้มข้นของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายครั้งที่จัดมานั้นได้รับผลตอบรับในทางบวกและมีแนวโน้มที่จะจัดในปีต่อๆ ไป อีกทั้งการขยายกลุ่มผู้ชมที่มากขึ้น อัตราการเติบโตของธุรกิจอีสปอร์ตในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้จัดเอกชนหลายเจ้าเลือกที่จะเข้ามาจัดทัวร์นาเมนต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นโดยเฉพาะในสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ซึ่ง SEA Games ครั้งถัดไปที่กำลังจะจัดในปี 2025 นั้น โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ก็ได้แต่หวังว่าวงการอีสปอร์ตในไทยจะเติบโตขึ้นไปอีก
Asian Games
~ต่อมา Asian Games ซึ่งได้บรรจุกีฬานี้ไว้ในการแข่งขันเช่นกัน โดยจัดแข่งครั้งแรกในปี 2018 ในฐานะกีฬาสาธิต ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยให้บริษัทจัดแข่งกีฬาอย่าง Alisport เป็นผู้จัดการแข่งขันให้ การแข่งขันในครั้งนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นการเปิดโลกให้กับคนทั่วไปที่ไม่เล่นเกม ได้มีประสบการณ์และเรียนรู้เกี่ยวกับกีฬาอีสปอร์ต โดยเกมที่จัดแข่งขันนั้นก็มีเกมที่เราคุ้นเคยกันอย่าง Heartstone, League of Legends, Starcraft หรือเกมที่คนไทยคุ้นเคยกันดีอย่าง Arena of Valor (ROV) เป็นต้น
~เมื่อผ่านการเป็นกีฬาสาธิตมาแล้ว ครั้งต่อมาในปี 2022 ที่จัดขึ้นที่เมืองหางโจว ประเทศจีน อีสปอร์ตได้ถูกบรรจุเป็นกีฬาอย่างเป็นทางการ โดยเกมที่จัดแข่งนั้นมีทั้งหมด 7 เกม ซึ่งไทยได้เหรียญทองในเกม FIFA Online
~การบรรจุอีสปอร์ตเป็นกีฬา Asian Games นั้นส่งผลทางบวกในทำนองเดียวกันกับ SEA Games นั่นก็คือการเติบโตของธุรกิจอีสปอร์ต โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกอย่างจีนและเกาหลี อีกทั้งยังเป็นที่รู้กันดีว่ารัฐบาลทั้งสองประเทศนั้นให้ความสำคัญและสนับสนุนอุตสาหกรรมเกมที่รวมถึงอีสปอร์ตอีกด้วย
~หนึ่งอย่างที่เป็นที่ฮือฮาและกลายเป็นประเด็นถกเกียงในสังคมกันอย่างหนาหู เหตุการณ์ที่ รัฐบาลเกาหลีใต้ยกเว้นการเข้ารับราชการทหารภาคบังคับ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘เข้ากรม’ ให้กับนักกีฬาอีสปอร์ตอย่าง ‘Faker’ หรือ Lee Sang-hyeok และนักแข่งคนอื่นๆ ในทีมชาติเกาหลี ในกีฬาอีสปอร์ตเกม League of Legends ที่คว้าเหรียญทองได้ในการแข่ง Asian Games ครั้งล่าสุด เมื่อปี 2022 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน โดยการยกเว้นครั้งนี้ ได้รับความเห็นจากหลายฝ่ายทั้งคนที่เห็นด้วยมองว่าอีสปอร์ตเป็นกีฬาและควรได้รับผลประโยชน์เหมือนกับกีฬาอื่นๆ ในขณะที่บางคนกังขาว่าการนั่งอยู่หน้าคอมไม่ได้เป็นการออกกำลังกายด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้ว การยกเว้นครั้งนี้ก็ไม่ได้รับการยกเว้นแต่อย่างใด สิ่งที่เห็นได้นั้นก็คงจะเป็นการยอมรับจากภาครัฐและมองว่ากีฬาชนิดใหม่ที่ไม่ค่อยได้ใช้กำลังนี้ก็ต้องใช้ความสามารถ วินัย และการฝึกฝนไม่แพ้กัน
Olympic
ฝั่งเอเชียต่างก็นำอีสปอร์ตไปเป็นกีฬาแล้ว แล้วถ้าจะไประดับโลกอย่างโอลิมปิกล่ะ?
~เมื่อพูดถึงอีสปอร์ตในโอลิมปิก รู้หรือไม่ว่าโอลิมปิกเคยจัดแข่งกีฬาที่เกือบจะเป็นอีสปอร์ตมาแล้ว เมื่อปี 2021 ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าทั้งโลกกำลังเผชิญกับ pandemic ครั้งใหญ่ ทำให้การจัดงานอีเวนต์ใหญ่ๆ และมีเข้าร่วมเยอะๆ อย่างโอลิมปิกนั้นเป็นไปได้ยาก ทางคณะกรรมการผู้จัดโอลิมปิกนั้นจึงได้ผุดไอเดียแข่งกีฬาในโลกจำลอง เรียกว่า ‘Olympic Virtual Series’ ที่จะให้นักกีฬานั้นเล่นกีฬาผ่านเครื่องจำลอง ซึ่งมีกีฬาทั้งหมด 5 ชนิด คือ เบสบอล ปั่นจักรยาน แข่งรถ พายเรือ และเรือใบ โดยการแข่งโอลิมปิกในครั้งนี้จะเป็นเหมือนการแข่งกีฬาทั่วไปแทบจะทุกอย่าง ยกเว้นก็แต่ไม่ได้ไปที่สนามแข่งจริงๆ ยกตัวอย่างการแข่งปั่นจักรยานที่จะมีเครื่องจำลองคล้ายกับจักรยานที่เราปั่นกันในฟิตเนส และมีโลกจำลองที่เราจะเห็นจักรยานนั้นวิ่งไปตามเส้นทางต่างๆ ซึ่งดูไปแล้วก็แอบคล้ายเกมที่เราเคยเล่นกันปกติในคอมพิวเตอร์หรือไม่ก็ Mario Kart
~จากการแข่งขันในครั้งนั้นที่ดูไปไม่สุดสักทางฝั่งคนเชียร์กีฬาทั่วไปก็งงกับระบบการแข่ง ฝั่งคนเชียร์อีสปอร์ตก็เชียร์ไม่สุดเพราะเกม(กีฬา)ที่เลือกมานี้ ก็ไม่ใช่เกมทั่วไปที่เป็นที่นิยมในวงการอีสปอร์ตนัก เพราะหากพูดถึงอีสปอร์ตภาพแรกที่เข้ามาในหัวก็คงจะเป็น เกม Multiplayer ที่เราคุ้นเคยกันอย่าง League of Legends, DOTA 2, Counter Stike, Valorant หรือเกมอื่นที่ใกล้กัน ไม่ก็แนววางแผนแบบใช้สมองขั้นสุดอย่าง Starcraft ซึ่งเหตุผลที่เกมเหล่านี้ไม่ได้ถูกใช้เป็นการแข่งในโอลิมปิกครั้งนั้นก็อาจจะเป็นเพราะโอลิมปิกมองว่าเกมเหล่านี้มีความรุนแรงซึ่งขัดต่อคอนเซปต์ความปรองดองของโอลิมปิก
ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวดีสำหรับชาวเกมเมอร์เพราะคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee;IOC) ได้ประกาศจัดการการแข่งขันโอลิมปิก อีสปอร์ตเกมส์ เป็นครั้งแรกในปี 2025 โดยมีเจ้าภาพเป็นซาอุดีอาระเบีย ทั้งนี้ยังไม่ได้ประกาศรายละเอียดอื่นๆ อย่างกฎหรือชนิดเกมที่จะใช้แข่งซึ่งหลายคนก็หวังว่าะได้เห็นเกมที่เป็นเกมจริงๆ ในการแข่งขัน
อีสปอร์ตในโอลิมปิก เป็นไปได้จริงหรือ?
~การมีอีสปอร์ตในโอลิมปิกก็ดูเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น แต่เมื่อกลับมามองธรรมชาติ แนวคิด และมายด์เซตของทั้งสองอย่างนั้นเหมือนอยู่กันคนละโลก ฝั่งโอลิมปิกก็ดูจะให้ความสำคัญกับความดั้งเดิม ประเพณีและธรรมเนียมต่างๆ กลับกันในฝั่งอีสปอร์ตที่ดูจะเป็นธุรกิจแบบเต็มรูปแบบมี ecosystem ที่ขับเคลื่อนด้วยเงิน อีกทั้งวัฒนธรรมปากแจ๋วที่ดูไม่ค่อยจะสร้างความสามัคคีตามที่โอลิมปิกอยากให้เป็นนัก โดยนักวิชาการด้านกีฬาจาก University of Prague ได้ให้ความเห็นว่าทำไมอีสปอร์ตจะไม่สามารถถูกบรรจุไว้ในโอลิมปิก ไว้ดังนี้
- อีสปอร์ตมีการใช้กำลังน้อย ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของโอลิมปิกที่อยากให้คนพัฒนาศักยภาพด้านร่างกาย
- อีสปอร์ตไม่มีมาตรฐานที่ตายตัว การแข่งขันอีสปอร์ตนั้นมมีในหลากหลายเกม แต่ละเกมหรือแต่ละทัวร์นาเมนต์นั้นมีกฎและระบบการเล่น เป็นของตัวเอง จึงทำให้จำกัดมาตรฐานของอีสปอร์ตไ้ด้ยาก
- อีสปอร์ตมีความเป็นธุรกิจสูง เรียกได้ว่าหายใจเข้าเป็นเงิน หายใจออกเป็นเงิน การจัดงานอีสปอร์ตนั้นเริ่มต้นด้วยเงินและเป้าหมายการจัดก็ทำเพื่อเงิน ซึ่งความทุนนิยมนี้ดูจะไม่เข้าคอนเซปต์ของโอลิมปิกที่วางตัวเป็นการแข่งขันไม่หวังผลกำไร
- ความรุนแรงซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่ฝังแน่นกับวงการเกมและอีสปอร์ต ทั้งเนื้อหาเกมที่รุนแรง ภาพในเกมที่อาจไม่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรม toxic ที่ติดตัวเหล่าเกมเมอร์มาในทุกยุคทุกสมัย
- ฐานผู้ชมที่ต่างกันทั้งโอลิมปิกและอีสปอร์ต อย่างที่ทราบกันว่าอีสปอร์ตนั้นมีผู้ชมที่เฉพาะกลุ่มเพราะต้องใช้ความเข้าใจเกี่ยวกับเกมนั้น ซึ่งส่วนใหญ่คนดูอีสปอร์ตนั้นจะเป็นคนที่อายุน้อย ในทางกลับกันกลุ่มผู้ชมโอลิมปิกนั้นจะมีความทั่วไปและกว้างกว่า อาจเป็นเพราะความเข้าใจง่ายและความคุ้นชินของกีฬาที่อยู่ในโอลิมปิก จึงทำให้คนทั่วไปสามารถดูโอลิมปิกแล้วสนุกไปกับการเชียร์กีฬาได้ง่ายกว่าอีสปอร์ต
อีสปอร์ตในโอลิมปิก ควรไปต่อหรือพอแค่นี้?
~จากการที่ IOC ประกาศจัดแข่งโอลิมปิกอีสปอร์ต ในปี 2025 ซึ่งดูจะเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับหลายคน แต่ก็ยังมีบางส่วนกังขาว่าโอลิมปิกจะทำออกมาได้ดีเท่าเอกชนหรือเจ้าของเกมทำหรือไม่
~เพราะอย่างที่บอกไปว่าของวงการอีสปอร์ตนั้นขับเคลื่อนด้วยเงิน ลักษณะวงการที่มีความเป็นธุรกิจมากๆ จนทำให้เสน่ห์ของการดูแข่งเกมนั้นก็คือเงินรางวัลที่สูงจนน่าติดตาม อย่างทัวร์นาเมนต์ The International 2021 ของเกม MOBA (multiplayer online battle arena) ในตำนานที่เรารักอย่าง DOTA 2 นั้นมีมูลค่ารางวัลรวมถึง 40 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ทำให้หลายคนสงสัยว่า หากจะให้ผนวกรวมเข้ากับโอลิมปิกที่ดูเป็นการกุศลและไม่แสวงผลกำไร อัตลักษณ์เหล่านี้ของอีสปอร์ตก็คงจะถูกลดไปด้วย
~นอกจากนี้ ความเรียบร้อยของโอลิมปิกก็เหมือนจะอยู่คนละฟากกับอีสปอร์ตพอสมควร เพราะเกมที่เราดูแข่งกันส่วนใหญ่นั้น หากมองในมุมผู้จัดโอลิมปิกก็อาจจะมองว่ามีความ ‘รุนแรง’ เกินไป อย่างเกม CS:GO ซึ่งได้เรท M (Mature) ในอเมริกา สำหรับผู้เล่นอายุ 17 ปีขึ้นไป โดยเกมนี้เป็นแนว FPS (First-person shooter) ที่จะให้เราสวมบทบาทเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายผู้ก่อการร้าย หรือฝ่ายต่อต้านผู้ก่อการร้าย เนื้อหาเกมนั้นหากมองในมุมมองคนทั่วไป ก็อาจมองได้ว่ามีความรุนแรงเพราะมีทั้งการโชว์อาวุธ เลือด และการต่อสู้ นอกจากนี้แล้วยังมีเกมอีกฝั่งที่เป็นแนว MOBA อย่าง League of Legends หรือ DOTA 2 ที่ถึงแม้เนื้อหา และกราฟิกจะมีความเป็น fictional ขึ้นมาระดับนึง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า (หากมองในมุมโอลิมปิก) ก็อาจะมีความรุนแรงทั้งในเชิงเกมเพลย์ที่ต้องต่อสู้กันและกราฟิกต่างๆ
~อีกทั้งอย่างที่บอกไปว่าวัฒนธรรมของอีสปอร์ตนั้นค่อนข้างจะปรองดองรักใคร่กลมเกลียวและพูดจากันไพเราะ(เกินไป) อย่างการพิมพ์ gg ez (good game, easy) ตอนท้ายเกมเพื่อให้เกียรติคู่ต่อสู้, การ trash talking ต่างๆ นานา, การกดย่อหรือที่เรียกกันว่า teabag เพื่อเย้ยศัตรู, การใช้สเปรย์ อีโมท(ท่าเต้น) หรืออะไรก็ตามที่เกมให้มาและแต่ละคนจะสรรหามาใช้เพื่อสร้างความเคืองใจให้กับฝั่งตรงข้าม ยิ่งไปกว่านั้นในทัวร์นาเมนต์ของบางเกม นักพากย์นั้นสามารถพูดคำหยาบอย่างคำว่า ‘f*ck’ หรือ ‘sh!t’ ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เช่น ทัวร์นาเมนต์ The International ของเกม DOTA 2 ซึ่งจัดโดย Valve บริษัทเจ้าของเกมที่ไม่ได้ห้ามและดูจะไม่แยแสเรื่องคำหยาบนัก จนบางครั้งวัฒนธรรมการให้เกียรติกันของเหล่าเกมเมอร์ ก็มากเกินไปจนรู้สึกว่าจะเข้ากับความเรียบร้อยของโอลิมปิกไม่ได้
~วัฒนธรรม toxic ในหมู่เกมเมอร์ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้นั่นก็คือความเป็นปิตาธิปไตย ที่ฝังรากลึกอยู่ในวงการเกมมาอย่างยาวนาน ซึ่งหากผู้หญิงคนไหนที่เคยเล่นเกมต่างก็ต้องเคยประสบกลิ่นอายความชายเป็นใหญ่นี้กันทุกคน ย้ำว่า ‘ทุกคน’ ทั้งการใช้เพศสร้างความเกลียดชังโดยพิมพ์หรือเปิดไมค์ด่าตรงๆ หรือจะเหยียดแบบเนียนๆ โดยการไล่ให้ไปเล่นซัพพอร์ต ยังไม่รวมถึงการคุกคามทางเพศทั้งเชิงคำพูดหรือในตอนเล่นเกม ที่กล่าวไปนั้นก็ดูจะขัดกับค่านิยมของโอลิมปิกที่พยายามจะผลักดันความเท่าเทียม อย่างที่เราเห็นในการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ที่ได้ให้โควต้านักกีฬาชายและหญิงในจำนวนเท่ากัน ซึ่งสังคมในอนาคตที่จะกลายเป็นโลกแห่งความหลาหลายอย่างเต็มตัว IOC ก็ดูจะจริงจังเรื่องความเท่าเทียมมากขึ้นไปอีกเช่นกัน
“Now we get it”
~คำพูดของคณะกรรมการโอลิมปิกจากคำบอกเล่าของ Alban Dechelotte ซีอีโอสังกัดทีม G2 Esports และเคยทำงานให้กับ Riot Games บริษัทเจ้าของเกม League of Legends ซึงอัลบาร์นเป็นคนให้คำแนะนำกับ IOC เกี่ยวกับการนำอีสปอร์ตเข้าสู่โอลิมปิกในครั้งนี้ เขายังบอกอีกว่าจุดที่ทำให้ IOC สนใจที่จะนำอีสปอร์ตเข้ามาก็คือช่วงปี 2022 ที่ Asian Games และ Commonwealth Games (การแข่งขันกีฬาเครือจักรภพ) ได้เริ่มจัดแข่งขันอีปอร์ตอย่างจริงจัง
~อย่างไรก็ดี สิ่งที่กล่าวไปทั้งหมดนั้นคือความตรงข้ามกันของโอลิมปิกและอีสปอร์ต ซึ่งถ้าจะทำให้อีสปอร์ตเป็นโอลิมปิกจริงๆ ก็มีความเป็นไปได้ หากแต่ว่าฝั่งวงการเกมก็น่าจะต้องลดความรุนแรงอย่างการด่ากันแบบวอดวายราวกับไปก่ออาชญากรรมมา และลดความเป็นปิตาธิปไตยลงเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เล่นและผู้ชมที่หลากหลายได้เข้าร่วม
~อีกทั้งโอลิมปิกไม่ควรจะลบอัตลักษณ์ของอีสปอร์ตอย่างความไม่ตามขนบ ความกวน (แบบพอดี) การเย้ยคู่ต่อสู้ (แบบพอดี) อีกทั้งความเป็นธุรกิจของวงการเกมที่ดูจะแยกออกจากกันยากเพราะตัวเกมคงจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีผู้พัฒนาซึ่งเป็นเอกชน และแฟนๆ ก็คงจะไฮป์กันน้อยลงหากเห็นว่ารางวัลของผู้ชนะนั้นเป็นเป็นเพียงมงกุฎช่อมะกอกหรือในปัจจุบันที่ IOC ให้รางวัลเป็นเพียงแค่เหรียญรางวัล(หากไม่รวมเงินสนับสนุนจากรัฐบาลหรือสปอนเซอร์ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละเคส) ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเป็นเสน่ห์และสีสันของวงการเกมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้แฟนๆ ติดตามรับชมและทำให้อีสปอร์ตยังคงรุ่งเรือง
~หาก IOC หวังจะให้มีการแข่งขันอีสปอร์ตจริงๆ ในปี 2025 และผู้จัดนั้น ‘เก็ต’ แก่นความเป็นอีสปอร์ตจริงๆ ตามที่พูดไป ณ เวลานี้ ที่ยังไม่ได้ประกาศชนิดเกมที่จะใช้แข่ง ก็ได้แต่หวังว่าจะเราไม่ต้องดูแข่ง Mario Kart หรือให้นักกีฬามาแข่งปั่นจักรยานในโลกเสมือนอย่างที่เคยจัดเมื่อปี 2021 เชื่อเหลือเกินว่า IOC จะเลือกเกมที่ดูเป็นอีสปอร์ตจริงๆ และมีฐานคนดูแน่นจริงๆ ซึ่งเป็นเกมที่มีการจัดแข่งกันอย่างจริงจัง
~สุดท้ายแล้วนั้นก็ไม่มีอะไรสามารถคงอยู่ในรูปแบบเดิมตลอดเวลา โอลิมปิกอันเก่าแก่ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป อีสปอร์ตเองที่ถึงแม้จะเพิ่งมีมาได้ไม่นานแต่ก็มีแนวโน้มจะโตและเป็นที่นิยมมากขึ้นในอนาคตก็ต้องปรับลดข้อเสียของตัวเองเพื่อให้เป็นมิตรกับทุกคนเพื่อสร้างความเท่าเทียมจริงๆ ให้กับสังคม และหวังจริงๆ ว่าอีสปอร์ตกับโอลิมปิกจะไปได้ไกลกว่าที่เคยเป็นในตอนนี้
GG WP! (good game, well played)
อ้างอิง
- https://olympics.com/ioc/news/ioc-enters-a-new-era-with-the-creation-of-olympic-esports-games-first-games-in-2025-in-saudi-arabia
- https://www.bbc.com/thai/international-58475327
- https://www.bbc.com/news/articles/cm52d2n5er5o
- https://www.statista.com/outlook/amo/esports/worldwide#revenue
- https://fulcrum.sg/seeing-the-national-in-gaming-and-e-sports-in-southeast-asia/
- https://www.researchgate.net/publication/353211608_Esports_Will_Not_Be_at_the_Olympics