ขุดแผ่นเสียงกับ ‘Baa Records’ เมื่อเพลงบ้าๆ หาไม่ได้ในแอปสตรีมมิง
~เคยบ้าอะไรมากๆ จนต้องพลิกแผ่นดินหามั้ย?
~สิ่งที่ว่านี้สำหรับ ปอ-ไพโรฒ ดำคง แห่ง ‘Baa Records’ คือซาวด์ดนตรีจากเพลงที่ถูกทอดทิ้งในยุคเก่า ทั้งเพลงที่ศิลปินทำเอง มิกซ์เอง อัดลงแผ่นไวนิล แต่ดันขายไม่ได้ ไม่มีคนฟัง เพราะไม่ใช่เพลงกระแสหลัก หรือเพลงยอดฮิต สุดท้ายต้องกลับไปอยู่ในลังของเก่าตามโกดังต่างๆ กลายเป็นแผ่นพลาสติกที่ไม่มีใครอยากปัดฝุ่นหรือลองหยิบมาฟัง เหมือนเป็นเพลงที่ไม่มีอยู่จริงในโลกดิจิทัล
~ก่อน EQ คุยกับปอ เราลองใช้ shazam หาเพลงไม่คุ้นหูที่อบอวลในบรรยากาศ แต่บนหน้าจอกลับแสดงข้อความ “No song found.” สะท้อนความตั้งใจของ Baa Records เป็นอย่างดี
~หนึ่ง-เพื่อแชร์แผ่นเสียงปีลึกหรือ ‘Lost Track’ แทร็คที่ไม่อยู่ในแพลตฟอร์มปัจจุบัน ถูกทิ้งในลังเก่าเก็บ แต่มีสัมผัสที่โดดเด่นซุกซ่อนอยู่ สอง-เพื่อสร้างวัตถุดิบทางดนตรีหรือคิวเรตเพลงให้ศิลปิน ดีเจ และบีต เมคเกอร์ สาม-เพื่อตามหาศิลปิน remaster และ reissue ให้เพลงกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
~หากไม่เห็นภาพว่าแทร็ค (ที่เคย) สูญหายเป็นอย่างไร ปอหยิบปกอัลบั้มเพลงลูกทุ่งที่มีหญิงสาวสวมม่อฮ่อมใส่งอบยิ้มสดใสบนฉากหลังสีบานเย็น ทันทีที่เข็มแตะไวนิล เพลงจังหวะกระฉับกระเฉงก็บรรเลงขึ้น
"น้องเป็นสาวขอนแก่นยังบ่เคยมีแฟน บ้านอยู่แดนอีสาน น้องเป็นสาววัยอ่อน ได้แต่นอนตะแคงยามเมื่อแลงฝันหวาน…."
~ใครจะเชื่อว่าแทร็ค ‘สาวอิสานรอรัก’ ฉบับนี้ ขับร้องโดย ‘Frances Yip’ ศิลปินฮ่องกงที่ร้องเพลงไทยลูกทุ่งในสไตล์ดิสโก้ ขณะที่บางแทร็คเป็นเพียง ‘radio slip’ หรือแผ่นแจกตามสถานีวิทยุที่ปรากฏเพียงตัวอักษร ไม่มีอาร์ตเวิร์ค การ dig หรือขุดหาเสียงที่ใช่ จึงต้องฟังทุกแผ่นเท่าที่หาได้อย่างตั้งใจ (และบ้าคลั่ง)
~ถัดจากนี้คือเรื่องราวการล่าเสียงดนตรีของปอ นักล่าดนตรีบ้าๆ ที่มีเครื่องเล่นแผ่นเสียงขนาดพกพาเป็นเพื่อนคู่ใจ ตามขุดซาวด์ล้ำๆ หาสุ้มเสียงที่ถูกลืม เพื่อชุบชีวิตอีกครั้ง
ปกหน้า : มนุษย์กินแดด ดื่มเพลง และเสพดนตรี
~ก่อนโปรเจกต์ Baa Records ปอยังเป็นดีเจเมื่อมีโอกาส เขาใช้ aka ว่า ‘Man Eats Sunshine’ (IG : @maneatsunshine) หมายถึง ‘คนกินแดด’ ซึ่งได้มาจากช่วงที่อาศัยในกรุงเทพฯ
~“ก่อนกลับสงขลา เราเคยอยู่กับเพื่อนบริเวณรัชดา ซึ่งหลังรัชดามีร้าน คล้ายร้านขายของเก่า เวลาเที่ยงเราจะขับรถมอเตอร์ไซค์ไปหาแผ่นเสียงและเทปคาสเซ็ตที่คนทิ้ง แล้วบังเอิญเห็นคนเก็บขยะฟังเพลง เขาดูมีความสุข เหมือนเขากำลังกินแดดอยู่ ซึ่งเหมือนเราที่มีความสุขในการหาเพลงใหม่ๆ
~“ไม่ว่าเราไปเที่ยวที่ไหน เราจะพกเครื่องเล่นไปด้วย แล้วเริ่มฟังเพลงภาษาต่างประเทศที่เราไม่รู้จัก อย่างเพลงจีน มาเลย์ อินเดีย หรือเพลงภาษาอื่นๆ ยิ่งผมกลับมาอยู่ที่นี่ (สงขลา) ยิ่งง่ายต่อการเดินทางไปมาเลเซีย ไปในวัฒนธรรมที่แตกต่าง มีทั้งเพลงอินเดีย จีน มุสลิม และฝรั่ง มันหลากหลายกว่า”
คิดว่าการฟังเพลงในสมัยเด็ก ส่งผลกับการอยากตามหาเพลงของเรารึเปล่า
~“ผมเป็นคนชอบฟังเพลง พ่อเป็นคนฟังเพลงจากสถานีวิทยุ แล้วเราเป็นคนนั่งข้างๆ มีสถานีวิทยุหนึ่งในท้องถิ่นที่เปิดเพลงไทย แต่ทำนองสากล ซึ่งทำให้เรารู้สึกแปลกใจมาก ทำไมฟังแล้วสนุก ดูทันสมัย ทำนองคล้ายกับเพลงฝรั่ง เราก็จดชื่อเพลงของศิลปินคนนั้น เมื่อเรามีโอกาสไปกรุงเทพฯ เราก็หาตามร้านขายแผ่นซีดี บังเอิญเจอร้านขายซีดีที่พันธุ์ทิพย์งามวงศ์วานที่เขาริป (rip) เพลงจากเทปคาสเซ็ตลงในแผ่นซีดี เราก็ซื้อเก็บไว้”
แล้วเปลี่ยนมาค้นไวนิลตั้งแต่เมื่อไหร่
~“ค้นเองเมื่อตอนแผ่นซีดีมีราคาแพงขึ้น แผ่นเสียงเริ่มถูกทิ้งออกท้องตลาด เมื่อก่อนแผ่นเสียงคือสื่อเดียวที่สามารถเปิดในคลับหรืองานวัด งานที่ใช้เสียงต้องใช้แผ่นเสียงทั้งนั้น พอมีแผ่นซีดีเข้ามา เทคโนโลยีเก่าถูกทิ้งออกท้องตลาด เราก็ต้องไปซื้อแผ่นเสียงมา เพราะมีราคาถูกกว่าแผ่นซีดีเยอะ”
Side A : Baa Records พื้นที่ของคน ‘บ้าเสียง คลั่งซาวด์’
~“คนเล่นแผ่นเสียงในระดับนึง เขาจะเรียกตัวเองว่าเป็น ‘คนบ้า’ ที่ไปทุกที่ที่มีแผ่นเสียง ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหนของโลก ถ้าเห็นแผ่นเสียง คุณจะวิ่งเข้าหาแผ่นเสียง”
เริ่มทำ Baa Records จากตรงไหน
~“Baa Records เริ่มตั้งแต่ผมกลับมาที่สงขลา (หลังโควิด-19) ตอนนั้นผมมีแผ่นเสียงเยอะมาก เพราะงานหลักของเราคือการซื้อแผ่นเสียงอยู่แล้ว เพลงของ Baa Records เป็นเพลงที่ไม่ได้รับความนิยม แต่เป็นเพลงที่แปลกดี เหมือนกับอาร์ต เหมือนงานศิลปะ แต่เป็นศิลปะที่ไม่มีชื่อเสียง เราคิดว่าน่าจะมีคนชอบเหมือนกับเรา เราเลยเริ่มบันทึกเพลงลงในอินสตาแกรม แล้วลงขายใน Baa Records
~“หลังจากนั้น เราเริ่มเจอคอลเลคเตอร์หรือนักสะสมที่มีความคิดเหมือนเรา มีการซื้อขายพูดคุยเกี่ยวกับดนตรีแนวนี้ มันคือเพลงที่ไม่มีคนพูดถึงในสมัยก่อน หรืออาจจะเป็นเพลงไซด์ B ที่หายไป หรือศิลปินอาจไม่ได้ถูกโปรโมท หรืออาจเป็นแผ่น low production
~“แล้วส่วนใหญ่ สำเนาแผ่นเสียงมาจากสถานีวิทยุเก่า แผ่นเสียงมีทั้งปกที่มีรูปภาพและไม่มีรูปภาพศิลปิน ส่วนใหญ่แผ่นเกรดบี หรือแผ่นที่มีโปรดักชั่นถูกจะไม่มีรูปภาพของศิลปิน มีแค่ตัวหนังสืออย่างเดียว ซึ่งมักเป็นแผ่นที่คอลเลคเตอร์ไม่สะสม ไม่ได้รับความนิยม ไม่ได้ฟังกัน เราก็ต้องมานั่งฟังเพลงจากแผ่นพวกนี้
~“และแผ่นที่ได้มา บางครั้งเราซื้อมาโดยไม่รู้จักภาษา เราก็ดูจาก label จากนั้นนำมาล้าง ล้างเสร็จก็ฟัง ถ้าเป็นเพลงที่เราไม่ต้องการหรือไม่เข้าข่ายที่ตามหา ก็เก็บเอาไว้ก่อน ส่วนเพลงที่ใช่ เราจะเก็บแล้วไปตามล่าหาปกทีหลัง เพื่อให้ทราบว่าปกนี้มีหน้าตาแบบไหน มันจะง่ายต่อการหาครั้งต่อไป ไม่ต้องนั่งฟังซ้ำอีกครั้ง”
แทร็คแบบไหนที่ Baa Records ตามหา
~“เราเริ่มไล่ตั้งแต่ยุค 70s 80s และ 90s ซึ่งต้องเป็นแทร็คที่มีเมโลดี้หรือกรู๊ฟสวยงาม หรืออาจเป็นเทคนิควิธีการร้อง วิธีทางดนตรีที่แตกต่างจากเพลงที่เราเคยฟังมาก่อน
~“Baa Records โฟกัสเรื่องของซินธ์หรือดนตรียุคใหม่ อาจใช้เสียงซินธ์ที่มีราคาถูกหรือซาวด์เสียงที่มีราคาถูก บางครั้งเราเรียกว่าเป็นซินธ์ลูกทุ่ง แต่จริงๆ แล้ว ซินธ์ลูกทุ่งไม่ได้มีอยู่ใน genre นี้นะ เราค้นทุกแนวเพลง จะเป็นเร็กเก้ ฟังก์ หรือดิสโก้ เพราะใน 1 แผ่น อาจมี 1 แทร็คหรือ 2 แทร็คที่หลงเข้ามา ซึ่งอาจเป็นเพลงสไตล์อื่นกับอัลบั้ม
~“เพราะใน 1 อัลบั้ม จะมีการดีไซน์ทั้งเพลงช้าและเพลงเร็ว เราอาจเจอเพลงเร็วที่มีจังหวะเหมือนกับเฮ้าส์หรือดิสโก้แทร็ค ส่วนเพลงช้าอาจเป็น อาร์แอนบีหรือโซล
~“ยุค 70s เราเจอเพลงคล้ายๆ เพลงฮาวาย หรือเพลงไซเคเดลิก-ร็อก ไซเคเดลิก-โฟล์ค ที่อยู่ในเพลงไทย อาจเรียกว่าเพลงแนวเซิร์ฟมิวสิค รวมถึงศิลปินในช่วง 80s หรือ 90s เช่นเดียวกัน ที่อาจทำเพลงแดนซ์ ป๊อบ ซึ่งมีจังหวะทำนองเป็นดิสโก้หรือเฮ้าส์มิวสิคในปัจจุบัน เราก็บังเอิญค้นเจอ
~“เราจับเพลงไทยที่มีทำนองดิสโก้ โซล ฟังก์ หรือซินธ์ป๊อบ เหมือนเรา select เพลงมาให้ใน Baa Records”
Side B : หาเพลงที่สูญหาย ล่าเสียงที่ถูกลืม
~“เราอยากซื้อเพลงที่เราไม่รู้จัก เราต้องการเพลงที่ตกหล่น แต่มีจังหวะที่แปลกหรือผิดเพี้ยนจากเพลงอื่น”
ประสบการณ์การตามล่าเสียงเพลงเป็นยังไง
~“มันรู้สึกแปลกใจเมื่อได้ฟังเพลงจากสถานีวิทยุสมัยอยู่สงขลา น่าจะเป็น ดอน สอนระเบียบ คู่กับ ดาวใจ ไพจิตร ซึ่งนำเพลงทำนองฝรั่งของ Elvis Presley มาใช้ในชื่อเพลง ‘ร็อคเริงใจ’ เราก็จดชื่อเพลงนี้ลงกระดาษ พอมีโอกาสไปกรุงเทพฯ ก็ไปตามหาซื้อแผ่นซีดี แต่ไม่มี เราต้องหาตามร้านรับทำแผ่นซีดีที่เขาริปเพลงจากเทปลงสู่ซีดี
~“ตอนนั้นเป็นยุคของเพลงแปลง คือเอาเนื้อร้องไทยใส่เข้าไปในทำนองฝรั่ง เวลานั้นมีศิลปินหลายท่าน เช่น ดอน สอนระเบียบ Royal Sprites ศักรินทร์ บุญฤทธิ์ ส่วนใหญ่จะร้องเพลงที่ใช้ทำนองฝรั่ง อาจคล้ายเพลงก็อปปี้ แต่เขาไม่ได้ก็อปปี้ เพียงแค่อยากได้ทำนองฝรั่ง แต่ร้องเป็นภาษาไทย
~“หลังจากนั้น เราฟังเพลงที่แปลกขึ้น ลึกขึ้น ค้นหามากขึ้น แค่มีความสงสัยว่า ทำไมมีแค่เพลงคนนี้ มันต้องมีคนอื่นด้วยสิ เราจึงศึกษาไปเรื่อยๆ จนเราเจอศิลปินที่ไม่ได้มีคนพูดถึงอีกจำนวนมาก ในสมัยนั้นเพลงไม่ได้มีในยูทูปหรือตามโซเชียลมีเดีย เราต้องหาจากเทปคาสเซ็ต หาจากแผ่นเสียงเท่านั้น เราเริ่มขุดแผ่น ซื้อม้วนเทป เพื่อตามหาเพลงที่เราชอบและเพลงที่แปลกกว่าคนอื่น
~“พอซื้อมาฟังเยอะขึ้น ก็มีก็อปปี้ที่ซ้ำ เราก็เอามาขาย เริ่มจากขายเพื่อนกันเองหรือในเว็บไซต์สำหรับคนรักแผ่นเสียง จากนั้น เราหาเพลงโดยระบุเจาะจงเพลงในประเทศของตัวเอง พอเริ่มเรียนรู้เพลงไทยก็รู้สึกแปลกใจ เฮ้ย มีเพลงแบบนี้อยู่ด้วย ซึ่งแตกต่างจากเพลงสากล”
ทราบมาว่ามี reissue จากการค้นพบเพลงที่หายไปแล้ว
~“ตอนนี้ได้ reissue มา 1 แผ่นของวงแผ่นดิน แทร็ค ‘ศีลห้า’ กับ ‘อุบัติเหตุ’ เรา reissue เพราะว่าเราเคยขายแผ่นออริจินอลของวงแผ่นดินจำนวนหนึ่ง มีไปยุโรปด้วย และเริ่มมีโปเจคต์ตามหาศิลปิน เริ่มสืบผ่านเฟซบุ๊ก โทรหาคนใกล้ชิดของศิลปิน เริ่มโทรไปถามตัวศิลปิน ซึ่งศิลปินคิดว่าเราเป็น call center (หัวเราะ) แล้วเขาก็ลืมไปแล้วว่ามีเพลงนี้อยู่ เพราะผ่านมา 30 ปีแล้ว เขารู้สึกงง ช็อก
~“เรามีลิสต์รายชื่อศิลปินไว้สำหรับจะตามหาเพื่อทำใหม่ เพราะแผ่นออริจินอลมีจำนวนน้อยลง ถูกทำลาย ถูกทิ้งตามระยะเวลา เราอยากตามหาศิลปินที่เคยสร้างผลงานมาก่อนหน้านี้ เพื่อทำใหม่ในรูปแบบของ reissue และ composition ในอนาคต”
แล้วเราจะตามหา Lost Track ได้ที่ไหน
~“ต้องผ่านจากการ dig หาแผ่นเสียง หรือฟังเพลงจากทุก format ซึ่งเราจะไม่ทราบข้อมูลของศิลปินจากการ dig เรารู้จักผ่านจากการฟังอย่างเดียว โดยใช้ศาสตร์ของสไตล์เพลงที่มีอยู่แล้ว อาจเป็นบีท หรือเทคนิคในการร้อง เทคนิคของท่าดนตรี แต่ใช้เทสตัวเองเป็นตัวตั้งด้วยก็ได้"
เสน่ห์ของ Lost Track คืออะไร
~“เหมือนเพลงเก่า แต่ความรู้สึกใหม่ เรารู้สึกพิเศษมากที่เจอเพลงไม่มีภาพปก เราปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพกับเสียงไม่ได้ไปคนละทาง บางครั้งเราชอบศิลปิน เพลงมันเลยดี แต่การฟังเพลงจากแผ่นเสียง จาก radio slip เราไม่รู้จักศิลปิน มันมีแค่ตัวหนังสือที่เขียนอยู่บนปก ที่เหลือไม่มีอะไรเลย บางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าเขียนอะไร เราใช้ความรู้สึกของเราอย่างเดียวในการตามหา”
Bonus Track : เมนูใหม่ๆ จากวัตถุดิบทางดนตรีสุดคราฟต์
~“Baa Records จะเน้นทาง 80s หรือ 90s พูดถึงเพลงที่มีความทันสมัย เป็น electronic Music เป็นเพลงที่มีเมโลดี้ มีความเป็นสากล มีกรู๊ฟที่ฟังง่าย เพื่อส่งต่อให้กับศิลปิน ดีเจ หรือนักสะสม ให้นำเพลงพวกนี้ไปเป็นวัตถุดิบทำงานต่อไป”
ทำไมเราต้องตามหาเพลงแปลกๆ เพลงเก่าๆ เพลงหายาก ทั้งที่ปัจจุบันเราฟังอะไรก็ได้
~“ปัจจุบันมีแอปพลิเคชันที่เราสามารถหาเพลงที่อยากฟังใช่มั้ย แต่เพลงเก่ามากๆ มันไม่สามารถหาจากแอปได้ ดีเจก็ต้องการเพลงจากผมเพื่อไปทำ set ของเขา เป็นการโชว์สกิลการหาเพลง เหมือนการ show set หรือ radio set เราควรเปิดเพลงที่คนหาไม่เจอ
~“เพราะเมื่อแอปจับได้ 10 เพลงต่อ 1 เซต หรือ 20 เพลงต่อ 1 เซต ก็หมายความว่าทุกคนสามารถเปิดเพลงได้ ถ้าคนนี้ทำเพลง 1 เซต 20 เพลง ผมเพียงแค่ดูด 20 เพลงจากเซตนี้ แล้วเปิดต่อที่อื่น ผมก็เป็นดีเจได้
~“ดังนั้น สำหรับการเป็นดีเจไวนิล การหาเพลงมีความสำคัญมาก หรือถ้าเป็นบีทเมคเกอร์ ศิลปินหลายคนจะซื้อเพลงตรงนี้ไป เพื่อจะตัดลูปตรงนี้ตรงนั้นทำเพลงอีกเพลงหนึ่ง”
การค้นหาวัตถุดิบใหม่ๆ สำคัญยังไง
~“เพราะในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ทุกคนสามารถทำดนตรีแบบฟรีสไตล์ เหมือนทดลองสิ่งใหม่ๆ เขาไม่ได้ดูยูทูป เขาไม่มีวิธีการ เขาใส่ความครีเอทของเขาจริงๆ
~“เทคนิคของคนสมัยก่อนจึงแตกต่างจากคนสมัยนี้ที่มีสื่อ มันรวดเร็วไปซะหมด แต่สมัยก่อน มันต้องเพิ่ม ต้องมีความครีเอทใส่เข้าไปพร้อมกับการทดลอง
~“เพราะฉะนั้น มันสำคัญตอนที่ได้ค้นหา ได้ขุดแผ่น พอเราเจอ เรารู้สึกดีใจ เราอยากแชร์เข้าไปใน Baa Records อยากให้คอลเลคเตอร์ได้เจอ ได้ลองฟังเพลงแปลกที่อยู่ในประเทศไทย มันมีการผสมระหว่างไทยและความเป็นตะวันตกเข้าไปในเพลงนั้น ถึงฟังดูเชย แต่มีความพิเศษอยู่”
ร่วม dig ไวนิลและตามหาเพลงเก่ามันๆ ได้ที่
IG : @baa.records
Soundcloud : Baa Records
ติดตามร้านขายแผ่นเสียงและคอลเลกชั่นอื่นๆ ของปอได้ทาง
IG : @nusatara.ska , @nakhonnok
Soundcloud : Man eat Sunshine.