คุยกับ 4 ศิลปินต่างประเทศ จากงาน Diage Degree Vol.1 & Vol.2
“มองเห็นผ่านเสียง สัมผัสผ่านแสง ได้ยินผ่านภาพ” คือสามวรรคสั้นๆ ที่เราใช้นิยาม Diage Degree Vol.1 & Vol.2 เฟสติวัลเพลงอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลอาร์ต การได้ไปยืนอยู่ในฮอลล์แล้วปล่อยให้ทุกประสาทสัมผัสพาไป ร่างกายไหลไปกับการแสดงสุดตื่นตาของทั้งศิลปินไทยและต่างประเทศ ทำให้เราหยุดคิด แล้วตั้งคำถามว่า ‘ประสบการณ์ภาพและเสียงแบบ immersive’ ของแต่ละโชว์มันถูกออกแบบมายังไง ศิลปินเขาได้รับแรงบันดาลใจจากไหน?
เลยถือโอกาสแวะหลังเวที คุยกับเหล่าศิลปินจากต่างประเทศที่มาเยือน Diage Degree ปีนี้ ทั้ง Ryoichi Kurokawa, Caterina Barbieri & Ruben Spini และ LCY เรื่องแรงบันดาลใจในการสร้างงานและโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่กำลังทำอยู่ ตามไปคุยกับทั้งสามศิลปินกัน
A Talk with Ryoichi Kurokawa
Ryoichi Kurokawa ศิลปินจากญี่ปุ่นที่เป็นที่รู้จักจากการผสมผสานเสียงเพลงและรูปภาพ ทำให้ผู้ฟังดื่มด่ำกับประสบการณ์ของความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติและแสงสี เรียวอิจิวาดลวดลายการแสดง ‘Subassemblies’ ของเขาที่ Diage Degree ด้วยฉากภูมิทัศน์ของธรรมชาติ แล้วใช้เทคนิคการสแกนเลเซอร์อาคาร ร่วมกับการรับเสียงเท่ากันรอบทิศทาง (Multi-directional sound) ค่อยๆ แปรฉากเขียวขจีเป็นแสงสีจากเมืองใหญ่
ส่วนมากได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร?
ธรรมชาติเป็นแรงบันดาลใจของเรา มันเป็นอะไรที่กระตุ้นต่อมการทำงานของเรามาตลอด ไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์ผลงานอย่างเดียว แต่เรามักใช้ธรรมชาติเป็นแรงจูงใจในการทำอะไรหลายๆ อย่าง เพราะหัวใจของการสร้างงานของเราอยู่ที่ธรรมชาติ การรื้อและประกอบร่างสร้างธรรมชาติขึ้นใหม่
เรามักเอาภาพ เสียง และพื้นที่มาผสมผสานกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่กระตุ้นประสาทสัมผัสคนดูในทุกมิติ
ขั้นตอนในการสร้างงานแต่ละชิ้นของเราเริ่มจากตรงไหน?
อีกหนึ่งแกนสำคัญของเราคือการเน้นการมอบประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสหลากมิติและตัวผู้ชมเอง แกนหลักทั้งสองนี้ คือการสร้างธรรมชาติใหม่ และการมอบประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสหลากมิติ เป็นพื้นฐานในงานของเราเลย สำหรับขั้นตอนในการทำงาน เรามักจะเริ่มจากการมองภาพรวมของการออกแบบพื้นที่ แล้วผสมผสานเรื่องของเสียงและภาพเข้าไป แล้วร่างแนวคิดแบบหยาบๆ ขึ้นมา พอแบบร่างของเราเกิดเป็นภาพชัดเจนแล้ว เราก็จะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนรายละเอียด เช่น การสร้างเสียงและภาพ
คิดยังไงกับการทำงานร่วมกันของวิทยาศาสตร์และศิลปะ?
เราเคยทำงานกับนักวิทยาศาสตร์ เลยมองว่าเทคโนโลยีก็เป็นอีกส่วนสำคัญในการสร้างผลงานของเรา มันให้แรงบันดาลใจกับเราเยอะมาก พอพูดถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพ คนจะเริ่มแย่งกันใช้ทันที นั่นทำให้ทิศทางในการแสดงออกของผู้คนเริ่มคล้ายกันไปด้วย เราคิดว่าต่อให้คอนเทนต์ใหม่ ของใหม่ ต่างๆ จะถูกใช้อย่างรวดเร็ว แต่ผลผลิตจากการมีเทคโนโลยีก็ยังมีเพิ่มมาเรื่อยๆ ซึ่งมันช่วยส่งเสริมการสร้างสรรค์งานศิลปะให้โดดเด่นขึ้น เทคโนโลยีมันคือส่วนที่สำคัญสำหรับเรา
ชอบอะไรที่สุดในการทำงานนี้?
แน่นอนว่าทุกๆ ครั้งที่งานเสร็จ หรือมีการเปิดตัวผลงานของเราครั้งแรก มันรู้สึกภูมิใจ แต่สิ่งที่เราชอบที่สุดน่าจะเป็นช่วงที่เริ่มคิดโปรเจกต์แล้วมันค่อย ๆ เป็นรูปเป็นร่าง
A Talk with LCY
LCY ดีเจและโปรดิวเซอร์สายอันเดอร์กราวด์ ที่ดึงดูดผู้ชมด้วยแนวดนตรีสุดท้าทาย การแสดงที่เร้าใจ ผสมผสานเบสหนักแน่นกับการทดลองซาวด์เสียงแบบฟรีฟอร์ม ดันขีดจำกัดของดนตรี Industrial, Techno และ Ultra Progressive Underground อย่างเต็มที่ สร้างเป็นประสบการณ์ที่เปิดประสาทสัมผัสคนดู
ตอนนี้ทำโปรเจกต์อะไรอยู่?
ตอนนี้ทำเพลงอยู่สอง EP ทั้งสองอันใกล้จะเสร็จแล้ว และกำลังเตรียมงานภาพสำหรับซิงเกิลอีกสองเพลง ที่จะปล่อยปลายปีนี้ รอบนี้เรามิกซ์และมาสเตอร์ทุกอย่างโดยใช้หูฟัง Apple ของเราเอง เพราะเมื่อก่อนเราเคยใช้หูฟังคุณภาพสูงในการมิกซ์เพลง แต่ปรากฏว่าพอใช้หูฟังทั่วไปฟัง เสียงมันออกมาไม่ค่อยเพราะ คราวนี้เราเลยพยายามทำให้เสียงออกมาดีจากหูฟังนี้เลย จะได้มั่นใจว่าเพลงของเราจะออกมาเพราะไม่ว่าจะฟังด้วยหูฟังหรือลำโพงแบบไหน
สอง EP นี้ได้รับแรงบันดาลใจจากอะไร?
มันเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ก่อนหน้านี้ที่ตั้งใจให้เป็น Trilogy แต่ปีนี้เราพักไปช่วงหนึ่งเพื่อให้เวลาเยียวยาจากการสูญเสียเมื่อปีที่แล้ว เราได้พักและทำงานเพื่อสังคมด้วย ตอนนี้เราเลยรู้สึกพร้อมแล้วที่จะกลับมาทำสิ่งนี้ให้เสร็จ โปรเจกต์นี้เน้นแนวคิดเกี่ยวกับการควบคุมอะไรบางอย่าง เราสร้าง God สมมติขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกับ God มันสะท้อนประสบการณ์ส่วนตัวของเราเอง แต่สำหรับคนฟังทั่วไป อาจจะไม่ได้รู้สึกแบบนั้น เพราะภาพรวมของงานเป็นตัวอย่างการเลือกใช้เสียงที่สื่อถึงเรื่องราวในหัวของเรา
เห็นว่าเคยมาเล่นที่เอเชียแล้วด้วย ได้เก็บแรงบันดาลใจอะไรไปใส่ในงานบ้างไหม?
เราได้รับแรงบันดาลใจจากการออกไปเปิดหูเปิดตาจริงๆ เราชอบ ความเปลี่ยนแปลง เพราะการได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ มันดีมาก โดยเฉพาะเรื่องความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ในตัวเรา ถ้าเราอยูแต่ที่เดิมๆ เจอหน้าคนเดิมๆ ไปเที่ยวที่เดิมๆ สมองเราจะไม่คิดอะไรใหม่ๆเราจะรู้สึกตันๆ น่ะ
การได้แบ่งไอเดียเรื่องเพลงและซาวด์ต่างๆ ก็ดีเหมือนกัน ปีที่แล้วตอนเราอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ดีเจที่นั่นเจ๋งมาก ดีเจที่เราเล่นด้วย ทั้งคนที่เปิดการแสดงก่อนหรือหลังเรา หรือเล่นในไลน์อัพเดียวกัน เขาโชว์ได้เยี่ยมมาก เขามาแบคกราวด์และกลุ่มโปรดิวเซอร์ที่ต่างจากเราโดยสิ้นเชิง เราเลยรู้สึกว่ามันดีมากที่ได้ทดลองทำงานกับกลุ่มคนที่แตกต่างจากเรา สมองมันได้มองเห็นอะไรที่กว้างขึ้นน่ะ
เล่าเรื่องค่ายเพลงที่ทำอยู่ให้ฟังหน่อยได้ไหม?
เราได้เจอและร่วมงานกับผู้คนที่น่าทึ่งมากมาย เราเจอและร่วมงานกับผู้คนเก่งๆ เยอะมาก มันทำให้เราได้รู้จักกับศิลปินที่เก่งสุดๆ ซึ่งหลายคนกลายมาเป็นเพื่อนสนิทเรา ส่วนมากมันเริ่มจากที่เราชอบเพลงของเขา เอาจริงๆ เราเคยมีปัญหาในการหาบาลานซ์ระหว่างการทำเพลงของตัวเองกับการดูแลค่าย แต่ปีหน้าเราวางแผนที่จะเปลี่ยนโครงสร้างค่ายเพลงแบบเดิมๆ ให้เป็นเหมือนสหกรณ์ เพื่อให้ทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งและได้รับส่วนแบ่งจากค่าย ตอนนี้แผนยังใหม่อยู่ มันน่าจะซับซ้อนนิดนึงในการปรับใช้
เดี๋ยวนี้วงการดนตรีปัจจุบัน ทุกคนสามารถเข้าถึงเพลงได้ง่าย คำถามคือ ‘ค่ายเพลงของเรามีอะไรที่แตกต่างจากค่ายอื่น?’ เรามักจะให้อิสระกับศิลปินของเราอย่างเต็มที่ ถ้าเรามีเพลง เราจะถามเขาว่าเขาอยากให้เพลงนี้ออกมาเป็นยังไง เราให้เขามีอิสระทางความคิดสร้างสรรค์ เมื่อก่อนเราเคยหงุดหงิดกับค่ายเพลงที่เข้มงวดว่าเพลงควรจะออกมาเป็นแบบนั้นแบบนี้ ซึ่งมักเป็นความคิดเห็นของคนคนเดียวที่ขับเคลื่อนทุกอย่างและสร้างการทำงานแบบมีลำดับชั้นขึ้นมา เราอยากจะเป็นขั้วตรงข้ามกับอะไรแบบนั้น อยากสร้างการทำงานร่วมกันอย่างอิสระมากขึ้นและสร้างสรรค์ไปด้วยกัน
ชอบอะไรที่สุดในการทำงานนี้?
เราว่าทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกับผู้คน จริงๆ เราคิดว่าเพลงคงจะไม่เหมือนเดิมเลยถ้าไม่มีผู้คน เพลงที่เราชอบที่สุดมักจะมีองค์ประกอบของความเป็นมนุษย์อยู่เสมอ เช่น กลอง–มันความเป็นตัวตนของคนที่เล่นมัน การได้พบปะผู้คน ฟังเรื่องราวของพวกเขา และได้สัมผัสกับสิ่งที่ความคิดสร้างสรรค์ของคนเหล่านั้นถ่ายทอดออกมา มันน่าทึ่งมาก มันน่ายินดีที่มีผู้คนเป็นหัวใจหลักของทุกสิ่งทุกอย่าง
A Talk with Caterina Barbieri & Ruben Spini
Caterina Barbieri นักแต่งเพลงชาวอิตาลี ที่ผสมผสานเสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์เข้ากับวิชวลพริ้วไหวมีชีวิตชีวาของ Ruben Spini ให้ผู้ชมได้ร่วมดื่มด่ำกับความเย้ายวนของบรรยากาศหลากมิติ ผลงานของทั้งคู่พาเราเข้าสู่โลกที่ภาพและเสียงร้อยเรียงกันอย่างไม่มีอะไรมาตีกรอบ รูปร่างและเส้นเสียงอยู่เหนือกาลเวลา ทำให้เราลืมไปว่าโลกกำลังหมุนอยู่
ส่วนมากได้แรงบันดาลใจมากจากอะไร?
Caterina: เราสนใจในการทำงานกับเวลาและพื้นที่ โดยการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของทั้งสองสิ่งนั้น เราใช้การทำซ้ำเพื่อดึงเอาลักษณะเฉพาะของเวลามาใช้ มักจะสำรวจสภาวะของการทำสมาธิ การเพ่งจิตอย่างลึกซึ้ง และความเข้มข้นของอารมณ์ในห้วงเวลาหนึ่ง
มันคือการเอาเสียงและภาพมาเล่าเรื่องราว?
Caterina: เรามักทำงานกับเวลาในรูปแบบที่ไม่เป็นเส้นตรง ใช้เสียงเพื่อเล่นกับการรับรู้ของเวลา หรือแม้แต่ทำให้มันเหมือนหยุดนิ่ง ด้วยดนตรีของเรา เราชอบที่จะสร้างสถานการณ์ที่เวลาเหมือนจะหยุดเดิน แต่เราสัมผัสได้ว่ามันยังเคลื่อนไหวอยู่ เราไม่ใช้เครื่องเคาะจังหวะอย่างพวกกลอง แต่เราใช้วิธีสร้างแพทเทิร์นให้กับจังหวะที่มันรวดเร็ว เพื่อให้มันต่อเนื่อง เราอยากเล่นกับความเป้นเส้นตรงของเวลา
Ruben: เราก็ทำงานในประเด็นเกี่ยวกับการรับรู้ทางประสาทสัมผัส วิธีที่ภาพถูกนำเสนอ แหล่งที่มา และการใช้ภาพโต้ตอบกับเสียงดนตรี จริงๆ มันมักจะมีการด้นสดระหว่างแสดงสด เราเตรียมภาพและเสียงไว้หลายแบบ เอามันมาโต้กันบ้าง ต้านกันบ้าง ทำงานด้วยกันบ้าง แต่เราพยายามไม่เล่าเรื่องราวแบบตรงไปตรงมา แต่เน้นให้คนโฟกัสที่เอเนอร์จีทีได้และอารมณ์มากกว่า
ช่วงนี้ได้ลองอะไรใหม่ๆ กับงานบ้างไหม?
Caterina: เราลองเล่นกับซินธิไซเซอร์และเสียงตัวเองมากขึ้น เอาไอเดีย ‘ความเป็นแม่’ มาสร้างเป็นสัญญะซ่อนๆ ในงานบ้าง การทำดนตรีก็เหมือนเราให้กำเนิดคำและเสียง เป็นเหมือนการสร้างจักรวาลๆ หนึ่ง เราว่ามันเปรียบเทียบกับไอเดีย ‘ความเป็นแม่’ ในทางหนึ่ง
Ruben: เราลองอะไรเยอะมากๆ ในวิชวลของเรา บางอย่างก็เป็นนามธรรม บางอย่างวนเวียนกลับมาเป็นหัวข้อเดิมๆ ตอนนี้มันอยู่กึ่งกลางระหว่างสองสิ่งนี้ เหมือนการภาพวาดในบางฉาก ในบางช่วงคุณจะเห็นตัวละครหลักหรือสัญลักษณ์ที่เราทั้งคู่ชอบอยู่ในงานด้วย
Caterina: รังนกเป็นสัญลักษณ์ที่ Ruben ชอบใช้! เขาเอาสัญลักษณ์รังนกมาใช้อยู่บ่อยๆ จริงๆ มันก็เหมือนมดลูก แทนความเป็นแม่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นรังนกที่ว่างเปล่า
Ruben: เราทำงานกับภาพของรังนกทั้งที่มีนกอยู่ข้างใน มีชีวิต และรังนกที่ถูกทิ้งร้าง เราได้ภาพพวกนี้มาจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เขาติดตั้งเว็บแคมบนรังนกไว้สังเกต บางครั้งรังนกพวกนั้นก็ว่างตลอดทั้งปี
ชอบอะไรที่สุดในการทำงานนี้?
Caterina: การแสดงสด เราว่ามันคือการแบ่งปันดนตรีของเราให้คนอื่นๆ สิ่งนี้สำคัญมากๆ ในงาน เรา การแสดงสดมันช่วยให้เราได้ฝึกสกิล เราสนุกกับการได้แลกเปลี่ยนเอเนอร์จีกับคนดู บางทีเราด้นสด อาจจะเสี่ยงหน่อยที่จะพลาด แต่การพลาดนี่แหละคือส่วนส่วนหนึ่งของโชว์ มันเป็นวิธีที่เราพัฒนาตนเองใน และรู้จักตัวเองมากขึ้น
Caterina: การเล่นดนตรีทำให้เราโตขึ้นอีกระดับ ตรงนั้นมีคุณค่ากับเรามาก ดนตรีเป็นการปลดปล่อยอารมณ์ที่อยู่ข้างใน เราได้ถ่ายทอดความรู้สึกหนักๆ เช่น ความเศร้า และเปลี่ยนมันให้เป็นความงดงาม และสิ่งนี้เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่เรายังส่งต่อมันให้ผู้อื่นได้ เยียวยาเขาผ่านดนตรีของเรา
Ruben: สำหรับเราก็คล้ายๆ กัน มันคือการค้นคว้าและแลกเปลี่ยนอะไรบางอย่างกับคนดู เราสนุกกับการแสดงดนตรีในหลายๆ ที่ หลายๆ บรรยากาศนะ เราได้ประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งประสบการณ์เหล่านั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานภาพที่เรานำเสนอ ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน เป็นประสบการณ์ที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา
Ruben: นี่เป็นครั้งแรกที่เรามาประเทศไทยด้วย เราไม่เคยมาที่นี่เลย ขอบคุณมากๆ สำหรับโอกาสครั้งนี้มากๆ
หลังจากจบโชว์ทั้งสองวันแล้ว หัวเรายังคงมีคำว่า ‘Immersive’ ลอยอยู่เต็มไปหมด พร้อมกับภาพวิชวลคละคลุ้งไปด้วยซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ที่กระตุ้นให้เราอยากเปิดโลกการดูคอนเสิร์ตหรือการไปเฟสติวัลมากขึ้น แล้วเจอกันอีกที่ Diage ปีหน้า!