Coraline หนัง Stop-motion ยุค 2000s ที่ฉีกกรอบงาน Production แบบเดิมๆ
~จากตัวอักษรบนหน้ากระดาษ สู่ตัวละครขยับได้บนหน้าจอ และตำนานที่ยังไม่ถูกลืมเลือน ‘Coraline’ (โครอลไลน์กับโลกมิติพิศวง) ภาพยนตร์ Stop-motion ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยาวชนของ Neil Gaiman ที่ถึงแม้จะสร้างมาเพื่อเด็ก ดีกรีความหลอนของงานภาพก็ยังทำให้ผู้ใหญ่ขนหัวลุกได้ ยิ่งได้รู้ถึงเบื้องลึกเบื้องหลังการทำงานของทีมกำกับ รวมถึงทีมสร้างตัวละคร พร็อพ และฉาก ความประทับใจที่ผูัชมมีต่อความทุ่มเทก็ทำให้ชื่อเสียงของมันยังคงเลื่องลือ แม้จะผ่านมาแล้วเป็นเวลา 15 ปี และในเดือนสิงหาคมนี้ Coraline เวอร์ชั่น Remastered 3D ก็จะกลับมาฉายอีกครั้ง ก่อนที่พวกเราจะซื้อตั๋วเข้าไปดู EQ ขอยกเบื้องหลังการสร้างมาให้ทุกคนได้เก็บดีเทล พร้อมฟินกันในโรงภาพยนตร์
~ก่อนอื่น เราคงจะต้องมาทวนเรื่องย่อกันสักเล็กน้อย ‘โครอลไลน์ โจนส์’ เด็กสาวอายุ 11 ปีได้ย้ายจากมิชิแกนมาสู่อพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่งในโอเรกอน ที่นั่น โครอลไลน์ก็ได้พบกับ ‘ไวบี้ โลแวท’ เพื่อนบ้านวัยไล่เลี่ยกันผู้มอบตุ๊กตาที่ดูคล้ายกับเธอให้ และไม่นานหลังจากนั้น เธอก็พบกับประตูบานเล็กเคลือบวอลเปเปอร์ในห้องนั่งเล่นของบ้านใหม่ ด้วยความเบื่อหน่ายที่พ่อแม่ต่างไม่มีเวลาว่าง โครอลไลน์ขอให้แม่ไขกุญแจปลดล็อกประตูบานนั้น แต่ก็พบว่าด้านหลังมีเพียงกำแพงอิฐว่างเปล่า จนกระทั่งตกกลางคืน พวกหนูก็พาเธอข้ามมิติผ่านช่องประตูที่นำไปสู่บ้านหลังเดิม แต่มี ‘แม่และพ่ออีกคน’ ผู้มีกระดุมแทนลูกตา และพร้อมต้อนรับเธอที่อีกฟากของประตูอยู่เสมอ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้โครอลไลน์ได้พบกับความแปลกประหลาดและปริศนาที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นคุณย่า
~หากได้ดู Coraline จบแล้ว หลายๆ คนจะไม่เชื่อเลยว่าผลงานชิ้นโบว์แดงนี้เคยถูกปฏิเสธมาก่อน Neil Gaiman และผู้กำกับ Henry Selick เคยนำเสนอไอเดียการสร้างให้กับสตูดิโอหลากหลายเจ้าในฮอลลีวูด แต่ไม่มีที่ไหนรับทำ เพราะ “พวกเด็กผู้ชายจะไม่อยากดูเรื่องที่ตัวละครหลักเป็นผู้หญิงแน่ แต่เนื้อเรื่องก็น่ากลัวเกินไปสำหรับเด็กผู้หญิง แถมไม่มีใครอยากดูงาน Stop-motion หรอก” บ้างก็บอกว่าพวกเขาควรทำให้ภาพยนตร์เป็นรูปแบบ Live action หรือใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างอย่างเรื่องอื่นๆ Gaiman และ Selick ได้ยินความคิดเห็นเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งได้มาเจอกับ Focus Features ที่ตกลงร่วมงานด้วยกันในที่สุด
~เพราะพวกเขายืนกรานที่จะทำตามความตั้งใจเดิม Coraline จึงได้เป็นภาพยนตร์ภายใต้การดูแลของ LAIKA Entertainment ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างผลงาน Stop-motion แน่นอนว่างานภาพก็ต้องอลังการสมชื่อ พวกเขาพาวงการอนิเมชั่นขยับไปอีกก้าวด้วยการใช้เครื่อง Stereoscopic 3D เพื่อสร้างมิติให้กับภาพแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เนื่องจากตัวเครื่องจะจับภาพถึง 2 ภาพต่อ 1 เฟรม โดยเลนส์หนึ่งเป็นภาพที่มองด้วยตาซ้าย และอีกเลนส์เป็นภาพที่มองด้วยตาขวา มิติของภาพจึงเด่นชัดกว่าการถ่ายทำของเรื่องอื่น ๆ ที่ใช้เพียงเลนส์เดียว
~นอกจากนี้สตูดิโอ LAIKA ยังเลือกถ่ายทำแบบ 24 เฟรมต่อวินาที ในขณะที่ภาพยนตร์ทั่วไปจะถ่ายทำแบบ 12 เฟรมต่อวินาที นั่นหมายความว่าอนิเมชั่น Coraline มีความละเอียดและลื่นไหลเป็นพิเศษ หลายคนจึงได้แปลกใจและแทบจะไม่เชื่อสายตาตัวเองว่านี่คือผลงาน Stop-motion จริงๆ ไม่ได้ใช้ CGI เป็นหลักแต่อย่างใด
“กระบวนการสร้าง Stop-motion นั้นง่าย แต่การจะทำให้ดีก็ถือว่ายากมาก การทำอนิเมชั่นรูปแบบอื่นมันซ้ำซากจำเจไปแล้ว แต่ Stop-motion ยังมีความก้าวหน้า เพราะเราเริ่มต้นที่จุดหนึ่ง และไปจบตรงอีกจุดหนึ่ง” - Travis Knight, CEO ของ LAIKA Entertainment
~อีกส่วนหนึ่งในขั้นตอนการสร้าง Coraline ที่พาให้ผู้ชมตื่นตะลึงมากที่สุดก็คือการผลิตหุ่นของตัวละครนั่นเอง ตัวละครต่างๆ ที่พวกเราเห็นกันผ่านหน้าจอนั้นมีขนาดเล็กกว่าที่คิดเอาไว้มาก อย่างตัวโครอลไลน์ที่ใช้ถ่ายทำเป็นหลักก็มีความสูงเพียง 9.5 นิ้วเท่านั้น การสร้างจึงยิ่งยากและใช้ความประณีตขั้นสูง เพียงแค่หุ่นของโครอลไลน์ 1 ตัว ยังใช้ฝีมือการปั้นของคน 10 คน ด้วยระยะเวลากว่า 3-4 เดือน – คราวนี้ลองคิดดูสิว่า ทีมสร้างต้องใช้หุ่นของโครอลไลน์ทั้งหมด 28 ตัวในขนาดที่แตกต่างกัน และต้องปั้นใบหน้าที่แสดงอารมณ์ต่างๆ อีกมากมายสำหรับหุ่นแต่ละตัว รวมเป็น 6,300 ชิ้นส่วนใบหน้า ไหนจะมือของหุ่นอีกนับพัน ถือเป็นงานที่ยากและใช้เวลานานทีเดียว
~เมื่อพูดถึงหุ่นแล้วก็ต้องพูดถึงเสื้อผ้า ทีมผู้สร้างเปิดเผยว่าพวกเขาต้องจ้าง Althea Crome ผู้เชี่ยวชาญด้านการถักเสื้อผ้าตุ๊กตาขนาดจิ๋วมาโดยเฉพาะสำหรับการเย็บชุดของตัวละครทุกตัว ด้วยขนาดที่เล็กมากเป็นพิเศษ ไม้ถักนิตติ้งสำหรับทำชุดนั้นจึงมีความบางเท่ากับเส้นผมของมนุษย์ หนังที่นำมาทำรองเท้าและชุดอื่นๆ ก็ต้องมีความบางพอสำหรับหุ่น อย่างรองเท้าบูธของมิสเตอร์โบบินสกี้ก็ยังใช้หนังจากถุงมือยุควิคตอเรียนเท่านั้น ยิ่งมีความเล็กและละเอียดก็ยิ่งต้องใช้เวลา Crome กล่าวว่าการสร้างชุดขึ้นมา 1 ตัวใช้เวลา 6 สัปดาห์ถึง 6 เดือนเลยทีเดียว
~Deborah Cook คอสตูมดีไซน์เนอร์กล่าวว่า หุ่นตัวละครของพวกเขามีความสูงเท่ากับดินสอเท่านั้น แม้แต่ผ้าที่บางที่สุดจึงยังไม่ดูมีน้ำหนักมากพอ พวกเขาจึงต้องเลือกเนื้อผ้าที่เหมาะสม รวมถึงใส่ลวดเข้าไปตรงชายเสื้อเพื่อถ่วงน้ำหนักให้ผ้าทิ้งตัวเป็นธรรมชาติมากขึ้น และให้ผ้าถูกดัดได้อย่างเป็นอิสระ นอกจากนี้ หากเราสังเกตบางฉากให้ดี จะเห็นว่าผ้าตรงช่วงอกของโครอลไลน์ขยับขึ้นลงเพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวละครกำลังหายใจอีกด้วย
~เหล่าสัตว์ตัวเล็กๆ ที่เราได้เห็นผ่านหน้าจอก็ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความตั้งใจไม่แพ้กัน แมวของไวบี้นั้นมีหางที่สามารถดัดให้แสดงอารมณ์เหมือนกับแมวจริงๆ ได้ แต่หากถามถึงสัตว์ที่ต้องทุ่มแรงในการสร้างมากยิ่งกว่า คงเป็นหนูคณะละครสัตว์ทั้ง 61 ตัวที่ต้องทำการแสดงต่อตัวเป็นชื่อโครอลไลน์และเล่นดนตรี ไหนจะหมาพันธุ์ Scottish Terrier อีก 248 ตัวในโรงละครที่ขยับตัวไปมาบนเก้าอี้และร้องเห่า การจะทำให้สัตว์ที่เล็กยิ่งกว่าหุ่นคนขยับอย่างไหลลื่นได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
~ส่วนหนึ่งที่ประณีตไม่แพ้กับหุ่นคือพร็อพและฉาก โดยเฉพาะฉากสวนดอกไม้กลางคืนที่จะไม่พูดถึงเลยไม่ได้ เพราะสวนแห่งนี้ถูกปลุกให้มีชีวิตขึ้นมาด้วยการเคลื่อนไหว เพื่อให้ได้สวนสวยๆ พวกเขาใช้ขนปลอมแทนหญ้าเทียมที่มีความกว้างถึงครึ่งสนามเทนนิส (1,300 สแควร์ฟุต) ประดับด้วยของตกแต่งที่ไม่ใช่วัสดุพิเศษ แต่มันก็ทำให้การทำงานของทีม LAIKA น่าประทับใจยิ่งขึ้นไปอีก พวกเขาประยุกต์ใช้ของเล่นสุนัข ลูกปิงปอง ป๊อปคอร์น และปลอกนิ้วซิลิโคนในการสร้างเหล่าดอกไม้หลากหลายชนิด เมื่อรวมกันแล้ว ทางทีมได้สร้างดอกไม้ขึ้นมามากกว่า 3,500 ดอก ไม่นับพร็อพอื่นๆ และฉากวิวกับท้องฟ้าที่วาดด้วยมือล้วน 100% เหล่านี้ก่อร่างรวมกันเป็นฉากตระการตาทั้ง 150 ฉาก แถมทุกฉากจะต้องมี 2 เซต สำหรับทั้งโลกจริงและอีกโลกหนึ่ง
“ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกของโครอลไลน์จะต้องถูกสร้างขึ้นมาจากศูนย์ แม้แต่หญ้าสักต้นก็ผ่านการประดิษฐ์และลงสีมาแล้ว” – Bo Henry, ผู้กำกับศิลป์ของ LAIKA Entertainment
~สำหรับสิ่งของบางอย่างก็ต้องยกความดีความชอบให้กับเครื่องปริ้นท์ 3D เสียหน่อย ยกตัวอย่างเช่น มือเหล็กของแม่อีกคน ในการสร้างมือขึ้นมา 1 ชิ้นนั้นจะต้องสั่งเครื่องปริ้นท์ให้ทำโมเดลของมือ แล้วจึงใช้โมเดลสร้างแม่พิมพ์ ถึงจะเทวัสดุเข้าไปในแม่พิมพ์เพื่อสร้างมือแบบที่ต้องการ นอกจากนี้ ทีมงานยังใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิตใบหน้าของตัวละครต่างๆ อีกด้วย ทำให้ช่วยทุ่นแรงในการปั้นใบหน้าไปได้มาก ยิ่งมีใบหน้าที่หลากหลายก็ยิ่งทำให้การแสดงอารมณ์และการขยับริมฝีปากของตัวละครดูมีมิติมากขึ้น
~การประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นเพียงแค่ขั้นตอนเตรียมการถ่ายทำเท่านั้น การตระเตรียมใช้เวลาประมาณ 2 ปี เมื่อรวมกับเวลาที่ใช้สำหรับการถ่ายทำและตัดต่อจริงๆ ก็นับเป็นเวลา 4 ปี เพราะภายใน 1 สัปดาห์ อนิเมเตอร์แต่ละท่านสามารถถ่ายทำฟุตเทจได้ 2-7 วินาทีเท่านั้น จากคำบอกเล่าของอนิเมเตอร์หลัก Trey Thomas ในแต่ละเฟรมของการถ่ายทำแบบ 24 เฟรมต่อวินาที อนิเมเตอร์จะต้องขยับชิ้นส่วนมากกว่า 20 ชิ้นของแต่ละตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นใบหน้า มือ แขน ขา เส้นผม เสื้อผ้า และอื่นๆ ที่ต้องขยับทีละนิดละหน่อยด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้ได้ภาพที่ต่อกันแนบเนียนที่สุด ไม่ให้พลาดแม้แต่ช็อตเดียว ถ้าหากพลาดไปสักนิด ตัวละครก็จะดูไม่เหมือนกับมีชีวิตจริงๆ อย่างที่เราเห็นกันในภาพยนตร์
~ด้วยขั้นตอนการสร้างที่ใช้เวลานานเช่นนี้ ‘ระยะเวลา’ จึงถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำหรับ LAIKA เลยก็ว่าได้ เพราะไม่เพียงแค่ต้องใช้ทีมอนิเมเตอร์และทีมสร้างหุ่นกับพร็อพ แต่ยังมีทีมนักพากย์ที่เป็นกลุ่มคนสำคัญ ในช่วงเริ่มแรก Dakota Fanning ผู้ให้เสียงโครอลไลน์มีอายุเพียงแค่ 10 ปีเท่านั้น เธอจึงมีเสียงเล็กแหลมตามประสาเด็กสาว แต่เมื่อเวลาผ่านไป เธอก็เติบโตขึ้นพร้อมเสียงที่ทุ้มต่ำกว่าเดิม Fanning ที่ถูกเรียกกลับมาอัดเสียงสำหรับบทพูดที่มีการเพิ่มหรือปรับก็ต้องดัดเสียงเล็กลง เพื่อให้มีเสียงตรงกับตัวเองในอดีต เรื่องการพากย์ไม่เพียงแค่ยากสำหรับ Fanning แต่ยังเป็นประสบการณ์ใหม่สำหรับนักพากย์ท่านอื่นๆ เช่นกัน เพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในฉากการถ่ายทำของจริง ไม่มีพร็อพใดๆ แถมการอัดเสียงยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทีละเล็กละน้อยไปตามความคืบหน้าของการถ่ายทำ แต่กระบวนการนี้ก็มีส่วนช่วยในการทำงานของอนิเมเตอร์ให้เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครมากขึ้นด้วย
~เมื่อได้รับรู้ถึงการทำงานเบื้องหลังภาพยนตร์ Coraline แล้วก็เข้าใจทันทีเลยว่าทุนสร้างทั้งหมด 60 ล้านเหรียญสหรัฐนั้นคุ้มค่ามากขนาดไหน มันไม่เพียงทำเงินมากกว่า 120 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ยังส่งเสริมการขับเคลื่อนและเป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้กับวงการอนิเมชั่นทั่วโลก จากไอเดียที่ไม่มีใครอยากลงมือทำ สู่ภาพยนตร์ Stop-motion ที่โด่งดังจนได้นำกลับมาฉายอีกครั้งพร้อมเวอร์ชั่นใหม่ เราเองก็หวังว่าจะได้เห็นภาพยนตร์ Stop-motion ฝีมือชาวไทยในสักวันหนึ่ง เชื่อเลยว่าคนไทยทำได้ และจะทำถึงอย่างแน่นอน