‘Book is not a prop’ เมื่อหนังสือมีไว้ถ่ายรูป ไม่ได้มีไว้อ่าน
ในยุคที่คนทั่วโลกใช้เวลาว่างคลุกคลีกับโซเชียลมีเดียจนกลายเป็นงานอดิเรก ข้อมูลจาก Demand Sage ระบุว่าในปัจจุบันมีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในประเทศไทยถึง 54.7 ล้านคนจากจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 65 ล้านคน ไม่ว่าจะใช้เพื่อจุดประสงค์ในการทำงาน การเรียนหรือความบันเทิง เหตุผลอย่างหนึ่งของการใช้โซเชียลมีเดียก็เพื่อสอดส่องเรื่องราวที่กำลังเป็นที่นิยม เพื่อตามทันโลกที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่แทบจะทุกวัน
ด้วยเทรนด์การแชร์งานอดิเรกของตนเองผ่านช่องทางโซเชียลแพล็ตฟอร์ม ผู้ที่มีความสนใจในกิจกรรมคล้ายคลึงกันจึงก่อตั้งสร้างคอมมูนิตี้กันในโลกอินเทอร์เน็ต และแน่นอนว่าชมรมคนรักหนังสือเองก็ไม่มองข้ามการอาศัยช่องทางเหล่านี้เพื่อรู้จักผู้คนใหม่ ๆ และแชร์ความหลงใหลในหน้ากระดาษกับคนที่ชื่นชอบสิ่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น BookTube ทาง Youtube, Bookstagram ทาง Instagram และ BookTok ทาง TikTok ซึ่งกำลังมาแรงแซงทางโค้งที่สุดในบรรดาคอมมูนักอ่านทางโลกโซเชียลมีเดีย มีอิทธิพลถึงขนาดที่ว่าในร้านหนังสือต่างประเทศบางแห่งต้องมีการจัดโซน #BookTok เพื่อดึงดูดลูกค้าและกระตุ้นการขาย
หนังสือคือฉากหลัง
ในปัจจุบันที่ใคร ๆ ก็ใช้โซเชียลมีเดีย และมองการสร้าง Online Branding เป็นสิ่งสำคัญแล้วนั้น ในเวลาที่เทรนด์การอ่านหนังสือกำลังกลับมาแบบนี้ จะให้พลาดโอกาสสร้างภาพลักษณ์ดี ๆ ไปได้ยังไง
สิ่งที่น่าสนใจของวงการนักอ่านในสมัยนี้คือ การยกให้ Aesthetic เป็นสิ่งที่มีบทบาทต่อการเลือกซื้อหนังสือ โดยโฟกัสกับการสร้าง Visual Language เพื่อสื่อสารตัวตนที่เราอยากให้ผู้ติดตามทางโซเชียลมีเดียมองเห็นตรงกัน ยกตัวอย่างเช่น หากอยากให้คนมองเป็นคนจริงจังและภูมิฐาน ก็โพสต์ภาพที่ให้คนดูเห็นปก Sapiens, 1984 หรือ The Alchemist วางอยู่ใกล้ตัว และถ้าอยากดึงดูดผู้ติดตามชาว hopeless romantic ก็โพสต์คลิปที่เผยให้เห็นชั้นหนังสือที่มองเห็นสันปกนิยายรักดัง ๆ อย่าง Love Hypothesis, Pride and Prejudice และ Red, White & Royal Blue
แต่การซื้อหนังสือมาเพื่อถ่ายทำคอนเทนท์ จะอ่านหรือไม่อ่านก็ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อใคร ในทางกลับกันก็เป็นการช่วยเกื้อหนุนให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์ได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกประเภทที่มีกองหนังสือเป็นของประดับเพื่อถ่ายคลิปถ่ายรูปเท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจจะอ่านหรืออุดหนุนวงการหนังสือโดยตรง อย่างเช่น การไปเช็คอินตามห้องสมุดสาธารณะ โพสต์ท่าถ่ายรูปเสร็จสรรพ แล้วมานั่งตากแอร์ไถมือถือ ไม่ได้สนใจหยิบหนังสือมาอ่านจริง ๆ หรืออย่างการแวะไปร้านหนังสืออิสระเล็ก ๆ ที่เขารีวิวกันว่าน่ารัก บรรยากาศน่าเข้า และคว้าหนังสือที่ไร้ซีลพลาสติกหุ้มป้องกันมาถ่ายทำคอนเทนท์กันจนเยิน สุดท้ายหนังสือเล่มที่สภาพบอบช้ำก็มีโอกาสขายออกน้อยลง สร้างความลังเลใจให้คนที่ต้องการซื้อ ทำให้ร้านหนังสือ local บางแห่งเสียรายได้ตรงนี้ไปโดยไม่ตั้งใจ
เก็บเข้ากองดอง
จากสถิติยอดขายหนังสือในงานหนังสือแห่งชาติครั้งที่ 51 ในปี 2023 มียอดขายอยู่ที่ 350 ล้าน ซึ่งมากกว่าในปี 2022 ที่มียอดขายอยู่ที่ประมาณ 199 ล้าน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 ในปี 2022 มีจำนวนบูธอยู่ที่ 584 บูธ และจำนวนผู้เข้าชมงานราว ๆ 715,000 คน ซึ่งน้อยกว่างานในปี 2023 ที่มีบูธให้แวะเวียนถึง 902 บูธและมีผู้มาร่วมงานมากกว่า 1.1 ล้านคน ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในปี 2022 นั้นน้อยกว่าปี 2023 อันเนื่องมาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงสองปีก่อนหน้านั้น
ตัวเลขบอกได้ว่า ธุรกิจวงการหนังสือกำลังค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 อย่างก้าวกระโดด แต่การซื้อหนังสือ ไม่ได้เท่ากับการอ่านหนังสือ และผู้ซื้อก็ไม่เท่ากับผู้อ่าน จึงเกิดคำว่า ‘กองดอง’ ขึ้นมาเพื่อใช้เรียกกองหนังสือที่ซื้อมาแต่ไม่เปิดอ่านสักที เป็นพฤติกรรม Book Haul หรือ Book Shopping Spree โดยพฤติกรรมเน้นซื้อแต่ไม่เน้นอ่านที่ว่านี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วโลก จนเกิดคำศัพท์ที่น่าสนใจทั้ง Bibliomania และ Tsundoku แล้วสองคำนี้ต่างกันยังไง?
Bibiomania คืออาการบ้าหนังสือ เห็นแล้วเป็นต้องซื้อเพื่อสะสมมากกว่าอ่าน มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะตามล่าหนังสือหายากมาไว้ในครอบครอง ส่วน Tsundoku ใช้เรียกคนบ้าซื้อหนังสือเช่นกัน แต่เจตนาเบื้องต้นคือซื้อมาเพื่ออ่าน แต่ด้วยสถานการณ์อะไรก็ตามแต่กลายเป็นว่าหนังสือที่ซื้อมาถูกวางเก็บเข้าชั้น ถูกยัดเข้ากล่อง ไม่ได้ถูกเปิดอ่านอย่างที่ตั้งใจไปในท้ายที่สุด
สุดท้ายแล้ว ใครจะซื้อหนังสือมาเพื่อการใดก็สุดจะแล้วแต่ จะมีไว้ถ่ายรูป ตั้งโชว์ หรือสะสมก็ได้ทั้งนั้น ไม่มีกฎตายตัว ไม่มีใครทำผิดกฎหมาย แต่คุณค่าที่แท้จริงของหนังสือนั้น จะถูกเติมเต็มก็ต่อเมื่อมีคนเปิดอ่าน การสัมผัสจิตวิญญาณของผู้ประพันธ์จากตัวหนังสือที่เรียงร้อยบนหน้ากระดาษย่อมเป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่ไม่ควรถูกมองข้าม หากเราต้องการต่อลมหายใจวงการหนังสือกันจริง ๆ นอกจากสนับสนุนยอดขายหนังสือแล้ว ก็ควรเห็นความสำคัญของการเปิดหน้าหนังสือและตั้งใจอ่านมันดูจริง ๆ สักครั้งด้วยเช่นกัน
Reference: