ตอนนี้คือตอนนี้ และ 2024 จะผ่านไป
ท่ามกลางอากาศเย็นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมนึกตกใจหลังมุมล่างขวาบนจอคอมพิวเตอร์บอกเวลา 00.01 น. ของคืนหนึ่งในเดือนธันวาคม 2024
ผมหยีตา พูดกับตัวเองว่า New Year's resolution เมื่อต้นปียังทำไม่แล้วเสร็จ 2-3 ข้อ แต่ไม่เป็นไร ยังเหลือเวลาในเดือนธันวาคมอีกพักใหญ่
เมื่อย้อนมองทั้งปีที่ผ่านมา เวลาผ่านไปเร็วมาก เวลานี้ของปีที่แล้วผมนั่งง่วนกับงานชิ้นหนึ่งกับโน้ตบุ๊กเครื่องเก่า เวลานี้ของสองปีที่แล้วยังนั่งกินลาบอุบลแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ส่วนที่จำได้แจ่มชัดคือเวลานี้ของสี่ปีที่แล้ว ผมเป็นโควิด-19
ปีเก่ากำลังจะหมด ปีใหม่กำลังจะมา แม้มีเหตุการณ์มากมายระหว่างปี แต่กลับรู้สึกว่าทุกอย่างเกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นเนื้อเดียวกับปัจจุบันและมีเพียงเลขปีบนหน้าจอที่บอกความแตกต่างของแต่ละวัน
เคยสงสัยไหมว่าเป็นเพราะ ‘เวลา’ จริงๆ เหรอที่ผลักให้ชีวิตไปข้างหน้า หรือที่จริงแล้ว ตัวเรามีอำนาจตัดสินใจแค่ว่า เราพึงพอใจกับสิ่งที่ผ่านมามากน้อยแค่ไหนและจะใช้ชีวิตในเวลาที่มีอยู่อย่าง ‘จำกัด’ ยังไง เวลาคืออะไรกันแน่? และเราควรใช้ชีวิตในจังหวะไหนกัน?
01
“เวลาคือสสารที่สร้างผมขึ้นมา … เวลาคือแม่น้ำที่พัดพาผมไป แต่ผมนั่นเองคือแม่น้ำ เสือคือสิ่งที่คร่าชีวิตผม แต่ผมเองก็คือเสือตัวนั้น ไฟกลืนกินผม แต่ไฟนั้นก็คือผมเอง” – ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส จากหนังสือ ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ (2566, โอลิเวอร์ เบิร์กแมน) หน้า 198-199
ความน่าสนใจของพารากราฟข้างต้นมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นคำพูดของบอร์เฆส และส่วนที่เป็นหนังสือของเบิร์กแมน
สำหรับส่วนแรก ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส (Jorge Luis Borges, 1899-1986) นักเขียนชาวอาร์เจนตินาสายสัจนิยมมหัศจรรย์-เหนือจริง เขาเขียนประโยคข้างต้นไว้ในความเรียง A New Refutation of Time (1946) ซึ่งจะถูกรวบรวมไว้ใน Labyrinths (1962) หรือคอลเลกชันที่รวบรวมงานเขียนระดับขึ้นหิ้งของเขา
บอร์เฆสมองว่า เวลาเป็นสิ่งที่นักปรัชญาเริ่มหยิบยกขึ้นมาโดยเฉพาะในศตวรรษที่ 17 กวีหยิบยกขึ้นมาในศตวรรษที่ 19 นักวิทยาศาสตร์หยิบยกขึ้นมาในศตวรรษที่ 20 และเวลาในลักษณะที่เรารับรู้อาจไม่ได้มีอยู่จริง เราสัมผัสได้เพียง ‘ลำดับ’ เวลาของแต่ละเหตุการณ์เท่านั้น และยังมองว่าเวลาเป็น ‘วัฏจักร’ ที่ไม่สามารถแยกขาดจากสสาร จิตวิญญาณ และอวกาศได้ เพราะ ‘เวลา’ นี้เองที่ทำให้ภาษาในวรรณกรรมของมนุษย์งดงามสมบูรณ์ ทำให้ ‘วรรณกรรม’ สามารถบรรจุโชคชะตาของมนุษย์เอาไว้ราวเรื่องซ้ำๆ ซากๆ ที่แตกต่างเพียงรายละเอียดเล็กน้อย สิ่งนี้ถือเป็นกลิ่นอายที่อยู่ในบรรดาเรื่องสั้นของเขา
ถ้าเชื่อตามบอร์เฆส เวลาถือเป็นเนื้อเดียวกับร่างกายและระบบการรับรู้ของเรา ผมคิดว่าอาการของความรู้สึก “ปีนี้ผ่านไปเร็วจัง” เป็นการสะท้อนว่าชีวิตของเราเร่งรีบซะจนไม่มีเวลาคิดเกี่ยวกับเวลา พูดง่ายๆ คือ ความยาวนาน ความสั้นกุดของเวลา ขึ้นอยู่กับตัวเราล้วนๆ เหมือนคำกล่าวของนักบุญออกัสทีนที่ว่า “เมื่อฉันวัดเวลา ฉันกำลังวัดบางสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตัวเอง หากนี่ไม่ใช่เวลา ฉันก็ไม่รู้อีกต่อไปแล้วว่าเวลาคืออะไร”
ส่วนหนังสือ Four Thousand Weeks ของ โอลิเวอร์ เบิร์กแมน (Oliver Burkeman) คอลัมนิสต์แห่ง The Guardian ก็พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้าเรามีอายุขัยสัก 80 ปี นั่นเท่ากับว่าเรามีเวลาในชีวิตนี้เพียง 4,000 สัปดาห์เท่านั้น และภายในเวลาอันจำกัดนี้ เรากลับถูกเรียกร้องให้ใช้ชีวิตแบบมีประสิทธิภาพ ต้องกระตุ้นตัวเองตลอดเวลา ต้องเก่งรอบด้าน เบิร์กแมนเปิดมุมมองว่า เรามีเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดเวลาในการใช้ชีวิตมากมาย แต่กลับรู้สึกเสมอว่าตัวเองมีเวลาไม่พอ สิ่งนี้เป็นกับดักของชีวิตสมัยใหม่ ซึ่งเบิร์กแมนพยายามจะบอกว่าเราควรเลือกสิ่งที่มีความหมาย มีคุณค่ากับตัวเอง และโอบรับชีวิตภายใต้เวลาที่เรามีอยู่อย่างจำกัด
ความเจ๋งของหนังสือเล่มนี้คือมันสะกิดไหล่ พูดกับเราว่าการมีเวลาจำกัดไม่ได้หมายความให้เราใช้ชีวิตชนิดเอาคุ้ม ต้องไปโดดบันจี้จั๊มป์ เดินทางรอบโลก ลาออกจากงานแบบฟ้าแล่บหรืออะไรเทือกนั้น แต่เปิดให้เรามองเห็นความไม่สมบูรณ์ของชีวิตและมันโอเคถ้าเราจะพลาดอะไรไปบ้าง แค่ลองมีความสุขโดยที่ไม่ต้องให้ความสำเร็จใดใดนอกตัวเรามาบอกให้เราควรรู้สึกยังไง
“ผมรู้ว่าชีวิตควรจะสดใสเบิกบานกว่านี้ จริงแท้กว่านี้ มีความหมายกว่านี้ และโลกควรจะงดงามกว่านี้ เราไม่ควรจะต้องเกลียดวันจันทร์และมีชีวิตเพื่อรอคอยวันหยุด สุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เราไม่ควรต้องยกมือ ขออนุญาตไปฉี่ เราไม่ควรถูกขังอยู่แต่ในอาคารในวันที่ อากาศดีวันแล้ววันเล่า” ชาร์ลส์ ไอเซนสไตน์ จากหนังสือ ชีวิตเรามีแค่สี่พันสัปดาห์ (2566, โอลิเวอร์ เบิร์กแมน) หน้า 10
เอาล่ะ แล้วการบอกว่าเราควรมีชีวิตกับปัจจุบัน โดยที่โอบรับตอนนี้และเดี๋ยวนี้ ‘ปัจจุบัน’ มีหน้าตาแบบไหนกันแน่ ปัจจุบันของเราต้องเหมือนกันจริงรึเปล่า?
02
สำหรับคาร์โล โรเวลลี (Carlo Rovelli) นักฟิสิกส์ทฤษฎี ผู้เขียนหนังสือ The Order of Time (2017) อธิบายว่า ‘ปัจจุบัน’ ของเราไม่ได้แผ่คลุมทั่วเอกภพ มันเป็นเพียงฟองสบู่รอบตัวเราเท่านั้น แล้วขอบเขตของฟองสบู่ก็ขึ้นอยู่กับว่าการรับรู้เวลาของเราว่าแม่นยำขนาดไหน
ขณะเดียวกัน โครงสร้างของกาลเวลาและอวกาศไม่ได้เป็นชั้นๆ ชนิดที่จักรวาลเริ่มจากวินาทีที่ 0 ไปจนถึงวินาทีที่ n คำว่า ‘ตอนนี้’ จึงไม่สามารถใช้ได้ทั่วทั้งเอกภพ และในสายตาฟิสิกส์ เป็นความดื้ออย่างหนึ่งที่จะแยกอดีต ปัจจุบัน อนาคต เพราะจุดตัดมันเกิดขึ้นตลอดเวลา คิดง่ายๆ ถ้อยคำทั้งหลายที่กล่าวถึง ‘ตอนนี้’ ก็กลายเป็นอดีตนับตั้งแต่นาโนของนาโนของนาโนของนาโน… ของนาโนวินาทีที่เราเปล่งเสียงนั้นออกมา
สำหรับมุมมองทางจิตวิทยาแล้ว การใช้สติกับปัจจุบัน (Mindfulness) ต่างหากที่เราสามารถทำได้เลยผ่านการโฟกัสแค่ลมหายใจของตัวเราเอง การค่อยๆ หายใจจะช่วยลดความกังวลเกี่ยวกับอนาคต เพราะมันช่วยลดการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติกซึ่งมีหน้าที่ตอบสนองต่อความเครียด และแน่นอนว่าการออกกำลังกายสามารถช่วยหลั่งสารเอนดอร์ฟินที่เพิ่มความสุขให้ชีวิตปัจจุบันของเรา
คำแนะนำของบรรดาจิตแพทย์ทำให้เรารู้สึกจัดการกับ ‘ปริมาณเวลา’ ของตัวเองได้ ทั้งยังลดภาวะหมดไฟ ทำให้เราไม่ติดแหง็กกับการครุ่นคิดกับอดีตที่ผ่านมาและปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้น นั่นก็น่าจะเพียงพอแล้วที่ทำให้เราได้มีจังหวะของตัวเอง
03
เมื่อเร็วๆ นี้ผมเห็นโพสต์หนึ่งในโซเชียลที่พูดทำนองว่า ถ้าเราผ่านความซัฟเฟอร์ในชีวิตทำงานหนึ่งปีมาได้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะจัดการปัญหาได้ดีขึ้น เพราะไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เราจะเจอปัญหาใหม่และความซัฟเฟอร์แบบใหม่แทน
สิ่งนี้ดูเหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ แต่ต่างกันก็เพียงรายละเอียดดั่งคำของบอร์เฆส แต่ถ้าจักรวาลหยิบยื่น ‘ปริมาณเวลา’ มาให้เราจัดการธุระมากมายแล้ว ผมก็ได้แต่สงสัยว่า แล้วทำไมเราไม่จัดการกับความรู้สึกซัฟเฟอร์ด้วยล่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันมักมาจากภายนอกตัวเราเอง
ถึงแบบนั้น สิ่งที่มาจากภายในตัวเราเองอย่างปณิธานปีใหม่ก็ทำให้เรากดดันได้เหมือนกัน ผลสำรวจจาก Drive Research เผยว่า คนสหรัฐอเมเริกา 3 ใน 10 ตั้งปณิธานปีใหม่และกว่า 62% รู้สึกกดดันที่ต้องทำตาม To do list ที่ตัวเองปั้นขึ้นมา
ผมคิดเลยเถิดไปถึงตัวเองในช่วงต้นปี ตอนนั้นผมเคว้งคว้างเพราะงานฟรีแลนซ์ไม่พอยาไส้ แต่ปณิธานปีใหม่ยังคงเป็นการหางานที่เรารู้สึกใช่กับมัน เมื่อทำได้ตามนั้นในกลางเดือนสิงหาคม ผมกลับรู้สึกว่ามันไม่ได้ทำให้ความรู้สึกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นลดลงหรือทำให้ตัวเองรู้สึกได้เป็นดอกไม้ที่ผลิบานตามจังหวะตัวเอง (เหมือนที่เรามักให้กำลังใจเพื่อนหรือใครต่อใครที่กำลัง struggle)
จริงอยู่ที่ความรู้สึกดดันเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเฮลตี้นัก แต่มันทำให้ชีวิตช่วงหนึ่งพอมีทิศทางกับเขาบ้าง และการค่อยๆ ทำความเข้าใจสิ่งเดิมๆ ในแต่ละปี เรียนรู้ว่าทุกสิ่งมีทางไปต่อของมัน สิ่งสำคัญที่ได้จากปีนี้จึงเป็นความมั่นใจที่ว่าชีวิตไม่สามารถเดินย้อนเส้นทางเดิมได้ แม้รายการวันหยุดเทศกาลทั้งปีจะคล้ายเดิมก็ตาม
การแก้ไขปัญหาไปเรื่อยๆ มันทำให้ผมผ่านทั้งความยาวนานและสั้นกุดของเวลา ผมรับรู้ว่าจังหวะชีวิตที่ควรเป็นจึงมีหน้าตาเหมือนสิ่งที่ผมเห็นอยู่ตรงหน้า หายใจเข้าลึกๆ ซึมซับกับมัน ไม่ว่ามันจะมีสมการใดใดทางฟิสิกส์แฝงอยู่ ไม่ว่ามันจะมีความเศร้าหรือความสุขก็ตาม
ว่าแล้วผมก็เขียนอีเมลลางานไปดมกลิ่นต้นตีนเป็ดที่บ้านยายสักหน่อย
อ้างอิง
- readcommend.com
- themarginalian.org
- brandthink.me
- ooca.co
- โรเวลลี, คาร์โล. ความลี้ลับของเวลา: ถอดปริศนาแห่งเวลาในสายตาควอนตัมฟิสิกส์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ซอลท์, 2565. 216 หน้า