FOR THIS BODY TO FEEL LIKE HOME
เมื่อร่างกายคือบ้านของเรา : การข้ามเพศของ non-binary อยู่ตรงไหนในระบบการเพศแผนปัจจุบัน
ทุกวันนี้การเทคฮอร์โมนถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เราพบเห็นได้ทั่วไป แต่ระบบสุขภาพยังคงรองรับเฉพาะการข้ามจากชายสู่หญิงหรือหญิงสู่ชาย เพื่อกลายเป็น transwoman และ transman หลักการนี้ยึดติดกับกรอบเพศแบบสองขั้ว (binary) และทำให้การข้ามเพศของ non-binary ยังเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงน้อยมากในปัจจุบัน
สิ่งที่ชาว non-binary พบเจอคล้ายๆ กันทั่วโลกคือ
หนึ่ง-แพทย์ไม่เข้าใจและไม่อนุญาต เพราะก่อนเริ่มเทคฮอโมนทุกครั้ง แพทย์จะต้องตรวจสอบอย่างแน่ชัดว่าผู้รับบริการสมควรควรได้รับฮอโมนหรือไม่ บางครั้งนำไปสู่การตั้งคำถามกับผู้รับบริการว่า “อยากเป็นผู้หญิง/อยากเป็นผู้ชายจริงๆ หรือ?” คำถามนี้ทำให้บุคคล non-binary ตั้งคำถามต่อตัวเองและเกิดความไม่สบายใจตั้งแต่กระบวนการปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับฮอโมนเบื้องต้น ส่งผลให้บางคนต้องแบ่งฮอร์โมนใช้กันเองหรือสั่งซื้อทางออนไลน์ ซึ่งแน่นอนว่าการเทคฮอร์โมนเองนับเป็นเรื่องอันตราย เพราะระดับฮอร์โมนสัมพันธ์กับค่าไต ค่าตับ ไขมัน ฯลฯ
สอง-โดสของฮอร์โมนไม่ตอบโจทย์ เพราะหากรับเอสโตรเจน เทสโทสเตอโรน หรือยาต้านฮอร์โมนเพศชายเต็มโดส นั่นหมายความว่าร่างกายจะเปลี่ยนเป็นหญิงชายชัดเจน ซึ่งไม่ใช่ลักษณะภายนอกที่ non-binary ยึดถือ
ดังนั้น การมีระบบทางการแพทย์ที่รองรับการข้ามเพศของ non-binary จึงเป็นสิ่งที่ non-binary กำลังมองหา
ทั้งนี้ การบำบัดด้วยฮอร์โมน (Hormone Replacement Therapy : HRT) ไม่ได้ใช้เฉพาะกับคนข้ามเพศเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้กับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือผู้ชายที่มีระดับเทสโทสเตอโรนต่ำด้วยเช่นกัน และสำหรับ non-binary แล้ว กระบวนการ HRT แบบไมโครโดส จะช่วยปรับลักษณะทางกายภาพและสรีระของร่างกาย ทำให้ร่างกายและจิตใจของผู้รับการรักษามีความสมดุล ร่างกายเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป รู้สึกเป็นตัวของตัวเองโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีลักษณะทางกายภาพเป็นชายจริงหญิงแท้
บทสนทนาของ non-binary
นี่คือบทสนทนาระหว่าง ตะวัน บัณฑิตจบใหม่ที่กำลังจะศึกษาต่อ ป.โท สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผู้มีเพศภาพเป็น intersex และนิยามตัวเองว่าเป็น non-binary (ที่เข้ารับไมโครโดสฮอโมน testosterone) และ อาร์ม วิดีโอครีเอเตอร์ คนทำหนัง ช่างสัก ผู้กำกับ และ trans-feminine non-binary (เข้ารับฮอร์โมน estrogen)
ทั้งสองเห็นตรงกันว่าการพูดคุยในประเด็น trans non-binary เป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเวลาของเดือนไพรด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่บอกตัวเองว่าเป็น ‘Queer friendly’
.gif)
ตะวัน : ต้องเกริ่นก่อนว่า เราไม่ได้ตัดสินใจว่าจะรับฮอร์โมน เพราะเราไม่รู้มาก่อนว่ารับแบบไมโครโดสได้ เราแค่มีแพลนว่าอยากได้ฮอร์โมน แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง ตอนนั้น (มีนาคม 2568) เราเป็นลำไส้อักเสบ หมอจับ MRI เจาะเลือด ตรวจทุกอย่าง เขาพบว่าฮอร์โมนเราน้อยทั้งสองเพศ เหมือนร่างกายเราไม่ผลิตฮอร์โมนเพศอีกแล้ว ซึ่งคาบเกี่ยวกับการเป็น intersex ในตัวเองด้วย ตอนแรกหมอบอกว่าจะเพิ่มเอสโตรเจน เพราะหมอเห็นว่าเพศกำเนิดของเราเป็นผู้หญิง เราเลยบอกหมอว่าเราไม่สบายใจ เพราะรู้สึกว่าตัวเองรู้สึกไปทาง masculine มากกว่า เขาเลยแนะนำว่าสามารถเพิ่มเทสโทสเตอโรนแบบไมโครโดสได้ เราก็ขอไมโครโดสไปเรื่อยๆ ดีกว่า เพราะเราไม่ได้อยากเป็นผู้ชายข้ามเพศ 100% เรากับหมอค่อยๆ คุยกันจนเขาตัดสินใจไมโครโดสที่ 50 มิลลิกรัม แทนที่จะฉีด 200 ตามปกติ เราเริ่มฉีดฮอร์โมนมาเรื่อยๆ ฉีดทุก 2 อาทิตย์ แต่ผู้ชายข้ามเพศส่วนใหญ่ฉีดทุก 3 เดือน
เราแอบเสียดายที่ไม่ได้เริ่มเร็วกว่านี้ ตอนเด็กๆ เราเคยจะขอ puberty blocker แต่ตอนนั้นหมอมองว่าเราไม่ได้โตไว ก็เลยไม่ได้ให้ ประกอบกับยังไม่มีความเข้าใจเรื่อง non-binary เพราะยังไม่แพร่หลายในไทย แม้ตอนนี้จะเริ่มเข้าใจกันมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าไปขอ puberty blocker ก็ยังถูกมองว่าต้องเลือกสักทางอยู่ดี สุดท้ายต้องเลือกเพศใดเพศหนึ่งเต็มๆ แต่เราต่อรองง่ายหน่อย เพราะมีเงื่อนไขทางร่างกายที่ผลิตฮอร์โมนไม่ได้
.gif)
อาร์ม : ส่วนเราไม่รู้จักคำว่า ‘ไมโครโดส’ ไม่รู้ว่ามันคืออะไร เราไปคลินิกฮอร์โมนด้วยความรู้สึกอยากทำอะไรสักอย่างกับร่างกายตัวเอง เราไม่รู้สึกเข้ากันกับร่างกายแบบนี้
ซึ่งรอบแรกเรารับเยอะนิดนึง เพราะต้องบล็อกเทสโทสเตอโรนแบบวันเว้นวัน หมอถามตลอดว่า “พอใจกับตัวเองรึยัง” “พอใจในหน้าอกรึยัง” “อยากเพิ่มเอสโตรเจนมั้ย” แต่ตอนนั้นเรารู้สึกว่าพอใจแล้ว มันมีความยูโฟเรีย พอเทสโทสเตอโรนหายไป มันทำให้ไม่ค่อยมีอารมณ์ทางเพศ ซึ่งเราชอบมากที่ไม่ต้องมีอารมณ์ทางเพศทุกวันเหมือนปกติ แต่เราก็รู้สึกว่าเรายังอยากมีอยู่นิดหน่อย ก็เลยค่อย ๆ ต้องปรับกับหมอ ซึ่งดีที่หมอเข้าใจ แล้วก็ปรับให้ตามที่เราต้องการ แต่เราก็ยังไม่รู้จักไมโครโดสนะ จนกระทั่งตอนดูสารคดีของ DAZED เราก็ค้นพบว่า ว้าว สิ่งนี้คือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่หรือเปล่า เพราะมันเป็นการค่อย ๆ ดูการเปลี่ยนแปลง (soft change) และเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเพียงตามแบบที่เราต้องการ
เพราะหมอก็แค่จูนเราให้เข้ากับร่างกาย ถ้าโอเคก็ตามนั้น ไม่ได้พูดถึงคำว่า ไมโครโดสหรือการข้ามเพศแบบนอนไบนารี่อะไรเลย
ตะวัน : ส่วนของเราไม่ได้เป็นโรงพยาบาลด้านนี้โดยเฉพาะ เพราะเรามีปัญหาเรื่องกระดูกและโรคทับซ้อนเยอะ หมอของเราต้องดูสุขภาพด้านอื่นด้วย เขากังวลที่ร่างกายของเราไม่ผลิตฮอร์โมนเอง เขาจึงเข้าใจว่าเราอยากเทคเยอะขึ้นเสมอ เขามักจะบอกว่า “ถ้ามอนิเตอร์แล้วร่างกายแข็งแรงก็เทคเพิ่มได้” จะมีหมอมาตั้งคำถามกับเราเสมอว่า “ทำไมไม่เทคเป็นผู้ชายไปเลย?” เราก็ต้องมานั่งอธิบายว่าเราเป็น non-binary ตอนแรกเขาสับสน โชคดีว่าเราหานักจิตวิทยาอยู่แล้วและรู้ว่าเราเป็น non-binary เลยให้นักจิตวิทยาช่วยเขียนใบรับรอง เพื่อให้หมอที่โรงพยาบาลจ่ายฮอร์โมนแบบไมโครโดสโดยไม่ต้องมีคำถามเยอะ
ล่าสุดที่ไปเช็คฮอร์โมนก็พบว่าไม่มีเอสโตรเจนแล้ว เทสโทสเตอโรนก็ไม่ได้สูงมาก เพราะร่างกายไม่ผลิตเอง แต่พอเทคเทสโทสเตอโรนไปก็ยังอยู่ในระดับที่ตรวจไม่พบ ต้องมอนิเตอร์กันไป แต่ถ้าได้ไปคลินิกฮอร์โมนจริงๆ มันน่าจะดีกว่า เพราะเราอยากผ่าตัดหน้าอก แต่คงต้องรอให้ที่บ้านเลิกกังวลก่อน แล้วค่อยจัดการตัวเอง
อาร์ม : แล้วหลังจากรับฮอร์โมนร่างกายเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง
ตะวัน : ช่วงแรกไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย แต่พอเดือนถัดมาเริ่มเปลี่ยนตรงสะโพก เรารู้สึกว่าตัวตรงขึ้น จับแล้วรู้สึกว่าสะโพกหายไป ส่องกระจกจะเห็นชัด พอมันจะไวก็ไวเลย ตื่นมาวันนึงมองกระจกแล้วรู้สึกแฮปปี้มาก
แล้วเราเป็นคนออกกำลังกายเยอะ ชอบวิ่ง ชอบเล่นเวท ซึ่งเราเล่นมานาน แต่กล้ามไม่ขึ้น พอเริ่มฉีดฮอร์โมน แขนก็เริ่มใหญ่ขึ้นมา ไม่ได้ใหญ่จนเห็นชัด แต่ตัวเราเองรู้ว่ามันเปลี่ยน อีกอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนคือเหงื่อออกเยอะมาก
ส่วนเสียง ถ้าเราพูดแบบไม่แอ๊บ เสียงก็เปลี่ยนนะ แต่เราพยายามดัดเสียงไม่ให้แมนมาก เพราะติดมาจากตอนเด็กๆ ที่โดนล้อ เพราะเสียงเราไม่เป็นผู้หญิงตั้งแต่เด็ก เวลาพูดกับคนอื่นก็จะดัดเสียง เพราะติดมานาน ถ้าพูดแบบสบายๆ เสียงก็เปลี่ยนระดับหนึ่ง
สำหรับเรา การเปลี่ยนแปลงตอนนี้โอเคนะ แต่ไม่ 100% บางอย่างก็ไม่ได้อยากให้เปลี่ยน เช่น อวัยวะเพศ ถ้าเป็นผู้ชายข้ามเพศคนอื่นอาจจะดีใจ แต่เราไม่อยากมี เราไม่ได้รู้สึกเป็นผู้ชาย แต่ก็ไม่อยากลดโดส เพราะกลัวร่างกายจะกลับไปเป็นแบบที่ไม่ชอบ ยังต้องประนีประนอมกับหมอและสิ่งต่างๆ ถ้าไม่นับตรงนั้น เราแฮปปี้
อาร์ม : ส่วนเรารู้สึกดีกับตัวเองแบบงงๆ ว่ามันเพราะอะไร แต่พอเราไม่ใช่ cisgender แล้วเรารู้สึกดี เหมือนการทรานสิชั่นของเรา มันมากกว่าแค่เรื่องร่างกาย มันคือการได้เข้าไปอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกที่แมทชกับตัวเองแล้วเราก็จะรู้สึกเองว่า นี่แหละใช่
เราไม่ได้คาดหวังหรือคิดในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกายขนาดนั้น แต่เราโฟกัสที่ Mentalข้างในมากกว่า พอเราเริ่มเทคฮอร์โมนความรู้สึกที่มันถูกสร้างขึ้นมาจาก testosterone มันหายไป เช่น การมีอารมณ์ทางเพศมาก ๆ แบบผู้ชาย แล้วเรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันไม่ใช่เรามาก พอมันหายไปเรารู้สึกว่า เราบาลานซ์และใช้ชีวิตได้สะดวกมากขึ้น อีกอย่างเรื่องการร้องไห้ ถึงแม้บางทีการรับฮอร์โมน estrogen จะทำให้เรา sensitive ขึ้น แต่เราก็รู้สึกว่าอารมณ์แบบนี้แหละมันใช่ ไม่ใช่เราชอบร้องไห้ แต่มันทำให้เราสามารถร้องไห้ได้ และพอได้ร้องไห้มันก็โล่งใจและดีขึ้น
เหมือนอารมณ์ข้างในเรามันแมทช์กับฮอร์โมนที่เราได้รับจริง ๆ
ตะวัน : จริง เรามีความรู้สึกนั้นเหมือนกัน
อาร์ม : ถึงแม้อารมณ์จะแปรปรวน เหวี่ยงนิดหน่อย แต่รู้สึกว่ามันใช่ขึ้น (หัวเราะ) แต่พอเรามีหน้าอก เราก็รู้สึกว่าชีวิตยากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าต้องเข้าห้องน้ำอะไร
ตะวัน : การเข้าห้องน้ำเป็นเรื่องที่ non-binary กังวลใจระดับหนึ่ง ถ้าเข้าห้องน้ำหญิงก็รู้สึกไม่ใช่ โดนแม่บ้านทัก ถ้าแต่งหญิงมากก็ไม่สบายใจอีก แต่พอจะเข้าห้องน้ำชายก็ไม่อยากไปยุ่งกับชายแท้ ในใจก็รู้สึกว่า “ฉันไม่สบายใจที่ต้องทำแบบนี้ แต่ฉันปวดฉี่ ฉันต้องเข้าห้องน้ำ”
อาร์ม : เมื่อก่อนเราไว้ผมยาวและยังไม่ได้รับยา มองเผินๆ เหมือนผู้หญิง เคยมีแม่บ้านทักว่า “นี่ห้องน้ำผู้ชายนะ” ต้องหันไปบอกว่า “ผู้ชายครับ” แล้วต้องทำเสียงใหญ่ๆ เศร้ามาก (หัวเราะ) พอเราครึ่งๆ กลางๆ แบบนี้ก็กลัวจะทำให้คนอื่นรู้สึกถูกคุกคาม
ตะวัน : เราว่ามันเป็นอีกเรื่องที่สังคมควรไปต่อ คือไม่ต้องกังวลว่าใครจะทำตัวแมนหรือออกสาว บางครั้งพอเราบอกคนอื่นว่าเป็น non-binary เขาจะดูกังวลมากไปหน่อย ซึ่งความกังวลนั้นมันก็ดี แต่จุดหนึ่งก็ทำให้เรารู้สึกว่าต้องทำตามที่เขาคาดหวัง
เรา come out ชัดเจนตอนมหาลัยว่าอยากให้ใช้สรรพนาม ‘they’ ซึ่งกลายเป็นปัญหา เพราะอาจารย์บางคนไม่เข้าใจ บางคนพยายามใช้ให้ถูก แต่บางคนมองว่ามันเป็นเรื่องตลก แล้ว misgender เราหนักกว่าเดิม สำหรับเรา เราแค่พยายามอธิบายกับคนใกล้ตัว เช่น คนที่บ้านหรือเพื่อนสนิท เพราะรู้สึกว่าน่าจะอธิบายง่ายกว่า
อาร์ม : เหมือนการรวมตัวกันของเควียร์ที่เพิ่มขึ้นจะไป trigger คนบางกลุ่ม?
ตะวัน : จากการที่เราทำเพจเกี่ยวกับ non-binary ด้วย เราว่าตอนนี้พวก incel เยอะขึ้น แล้วคนรุ่นใหม่บางส่วนมองว่า incel เป็นเรื่องโอเค คือสังคมยอมรับเควียร์มากขึ้น แต่กลุ่มสุดโต่งก็เพิ่มขึ้นพร้อมกัน ซึ่งมันน่ากลัว
อาร์ม : ขณะเดียวกัน บางคนก็มองว่าการยอมรับความหลากหลายคือมีเกย์หรือมีกะเทย ในขบวนก็พอแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังมีบุคคลหลากหลายในคอมมูที่มากกว่านั้น
ตะวัน : การยอมรับที่มีอยู่ก็ยังไม่สุด เช่น งานไพรด์จะมีธง non-binary, agender, genderfluid เพื่อให้ครบ เพื่อภาพลักษณ์ แต่ถามว่าเอาคนที่นิยามตัวเองแบบนั้นออกมาจริงไหม ก็ไม่เท่าไหร่

อาร์ม : กลับมาที่ HRT แบบไมโครโดส เราคิดว่าส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะสื่อหรือการแพทย์ไม่ได้ให้ข้อมูลมากพอเกี่ยวกับเรื่องนี้ เหมือนภาพประชาสัมพันธ์ของคลินิกก็ยังมีแค่ binary transwomen และ transmen
ตะวัน : ใช่ เราไม่เคยรู้จักไมโครโดสเลย ไม่เคยขอ เพราะไม่รู้ว่ามันคืออะไร เรามารู้จักจาก Reddit พิมพ์ว่า “Can non-binary take hormone?”
อาร์ม : เหมือนฝั่งการแพทย์กำลังพัฒนาเอสโตรเจนที่ทำให้ non-binary เทคโดยที่นมไม่ขึ้นด้วย เรียกว่า SERMs (Selective Estrogen Receptor Modulators) คือยากลุ่มหนึ่งที่ใช้ในทางการแพทย์เพื่อปรับหรือควบคุมการทำงานของ estrogen receptor ในร่างกาย โดยจะมีผลแตกต่างกันในแต่ละเนื้อเยื่อ บางที่กระตุ้นเอสโตรเจน บางที่ยับยั้ง แต่ข้อมูลจากงานวิจัยในกลุ่ม non-binary ยังน้อยมาก เกือบทั้งหมดยังเป็นแค่แนวความคิด ไม่ได้ผ่านการทดลองทางคลินิกเชิงลึก
เหมือนกับกรณีหัวนม เราไม่อยากให้นมใหญ่มากเกินไป สำหรับบางคนอาจพอใจ แต่สำหรับเรามันเยอะเกินไป แต่ไม่ถึงขั้น dysphoria นะ
คือตอนอยู่คนเดียวในบ้านเรารู้สึกว่ามันง่ายมากกับร่างกายเพราะไม่ได้ไปแทนค่าความหมายให้เรือนร่างภายนอก เรื่องนมที่ขึ้นเราก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นตัวแทนของเพศหญิงหรืออะไร เรารู้สึกเฉยๆ กับมัน แต่พอเริ่มเข้าไปในสังคมคนก็มองว่าเราเป็นผู้หญิง การที่เราเดินเข้าห้องน้ำชายก็จะรู้สึกแปลก ๆ ผู้ชายที่อยู่ในห้องน้ำบางคนก็รู้สึกงง ๆ
เราว่าการแพทย์ก็กำลังพยายามเรื่องนี้ แต่ขณะเดียวกันเราว่าห้องน้ำ all genders ก็เป็นเรื่องที่ควรทำ
ฝั่งเทสโทสเตอโรนก็น่าจะมีการพูดถึงการทำให้อวัยวะเพศชายมันไม่ขึ้นหรือเสียงแตกน้อยๆ แต่ถ้าบางคนหัวล้านก็คงทำอะไรไม่ได้ ต้องปลูกผมแทน ใช่ไหม?
ตะวัน : เรื่องนั้นเรายังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง เพราะยังไม่เกิดกับตัวเอง แต่ถ้าเกิดก็คงต้องหาวิธีกันไป แต่สิ่งที่เรากังวลคือค่าไต ค่าตับ เพราะทุกครั้งที่ไปตรวจ เราจะรู้สึกกลัวตาย เหมือนเราต้องดูแลสุขภาพมากกว่าคนทั่วไป แล้วบางคนซื้อเอสโตรเจนมาใช้เอง หรือเทคโดยที่ไม่มีระบบดูแลสุขภาพรองรับ พออายุมากขึ้นก็อาจเป็นโรคตับหรือไขมันในเลือดสูง ทั้งที่เราดูแลร่างกายแบบคนปกติ เราควรรู้เรื่องความเสี่ยงนี้ และควรมีหมอและรัฐมาช่วยดูแล
อาร์ม : ใช่ การทรานส์เองมันไม่ปลอดภัยสุดๆ เพราะนอกจากรับฮอร์โมนแล้ว มันต้องติดตามระดับฮอโมนเป็นประจำทุก 2-3 เดือนกับหมอเพื่อที่จะเอาเลือดไปตรวจ ล่าสุดเราไปตรวจ ค่าเอสโตรเจนขึ้นไป 500 ทั้งๆ ที่ควรจะอยู่แค่ 200 หมอก็ต้องช่วยปรับให้ลด คือไม่ใช่เป็นแค่เรื่องของการรับฮอร์โมน แต่เป็นเรื่องการติดตามฮอร์โมนเพื่อปรับให้ดีต่อสุขภาพในระยะยาวด้วย
ตะวัน : ผู้ชายวัยทองยังได้รับการรักษาและรัฐช่วยด้วยนะ เพราะการรักษาให้ร่างกายกลับสู่สภาวะคงที่ทำให้เขาใช้ชีวิตได้โดยไม่เครียดเหมือนคนวัยทอง ถ้ามองในมุมนี้ คนทรานส์ก็เหมือนคนที่เข้าสู่วัยทองเร็ว เพราะฮอร์โมนไม่ตรงกับตัวเอง
เหมือนผู้หญิงที่เป็นภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ก็ได้รับฮอร์โมนแอสโตรเจน เพราะฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล หรือผู้หญิงที่มีเทสโทสเตอโรนเยอะเกินไป แต่ใบเกิดบอกว่าเป็นผู้หญิง เขาก็ได้เอสโตรเจนรักษา เหมือนทุกอย่างตัดสินที่ใบเกิด ถ้าเราเกิดเป็นผู้ชายแต่มีเทสโทสเตอโรนต่ำ หมอก็ไม่ถามไถ่มากมาย รีบหาทางรักษา ต่างกับคนทรานส์ที่ต้องไปหาจิตแพทย์ ต้องนั่งคุยเยอะแยะ คนทรานส์บางคนก็มีจิตแพทย์ดูแลอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่มีเงินมากพอก็ต้องไปนั่งคุยใหม่ซ้ำไปซ้ำมา
เราหาข้อมูลมาว่า cisgender ใช้ HRT ได้ง่ายมากเลย คือถ้าเกิดคุณเป็น cisgender และมีปัญหาเรื่องฮอร์โมน หมอก็ให้คุณเหมือนกัน
อาร์ม : เรารู้สึกว่ามี non-binary หลายคนที่อยากเข้ารับฮอร์โมนไม่กล้าไปทรานส์ เพราะ visibility ในสื่อยังมีไม่มาก เราเห็นตอนนี้มี คลินิกสุขภาพเพศของโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่พูดถึงการทรานส์ในนอนไบรี่ เราชอบที่เขาบอกว่า “ชาวนอนไบนารี สามารถมาปรึกษาที่คลินิกเพื่อรับบริการที่เหมาะสมได้ แพทย์จะรับฟังว่าเป้าหมายของบริการที่อยากได้คืออะไรแล้วเราจะไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร มีอะไรที่น่าจะต้องขบคิดก่อนตัดสินใจบ้างแล้วเราก็จะเริ่มเดินทางปรับเปลี่ยนร่างกายของเราไปด้วยกัน” เพราะนอนไบนารี่ และทรานส์ทุกคนเลยแหละ มีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงร่างกายที่ไม่เหมือนกัน บางที่ก็บอกประมาณว่า “เป็นการเข้ารับฮอร์โมนแบบเฉพาะบุคคลเพื่อปรับให้เหมาะกับความต้องการของร่างกายแต่ละคน” ซึ่งเราคิดว่าคำนี้ก็ดีเลยนะ แต่เราอยากให้คนตระหนักรู้ในตัวตนและพูดถึงการข้ามเพศของ Non-binary มากขึ้น เพราะเราไปครั้งแรกก็รู้สึกว่าต้อง commit ว่าตัวเองอยากเป็นผู้หญิง รู้สึกเหมือนต้องเลือกฝั่งตลอด สิ่งนี้คงจะหมดไปถ้าทุกคนเข้าใจว่า Non-binary ที่อยากข้ามเพศหรือรับฮอร์โมนก็สามารถเข้าสู่กระบวนการได้
ตะวัน : เรื่อง commitment เป็นอีกเรื่องที่ non-binary ไม่สบายใจที่จะทำ คำถามคือเราควรได้บริการอะไรบ้างในการเป็นทรานส์ คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าการเป็นทรานส์คือเรื่องความรู้สึก แต่จริงๆ มันเกี่ยวข้องทั้งความรู้สึกและร่างกายรวมกัน
เมื่อ trans non-binary ยังต้องรอการปลดแอกจากการแพทย์ต่อไป

เพื่อไขข้อข้องใจกับคำถามที่ว่า กระบวนการข้ามเพศของ non-binary อยู่ตรงไหนในการแพทย์แผนปัจจุบัน เรานัดคุยกับ การ์ฟิลด์-พิชชาภา เกษมทรัพย์ อดีตผู้เข้าประกวด Miss Tiffany 2022 เภสัชกร และเจ้าของช่อง @ggarfield.p ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวการใช้ฮอร์โมนฉบับเข้าใจง่าย ด้วย #สาระฮอร์โมน
การ์ฟิลด์บอกกับเราว่า แม้เธอจะไม่เคยมีกลุ่ม non-binary มาปรึกษาเรื่องการเทคฮอร์โมน แต่เธอเคยเจอกลุ่มน้องเก้งที่มาปรึกษาอยากรับฮอโมนเพื่อให้ตัวเองมีความละมุนขึ้น เธอแนะนำให้ใช้ยากดฮอร์โมนเพศชาย เช่น ยา Cyproterone Acetate ที่มีปริมาณเริ่มต้น 1/4 เม็ด เหมาะกับคนที่ไม่ต้องการมีขน กล้ามเนื้อ หนวด หรือมีปัญหาสิวผิวมันจากการมีฮอร์โมนเพศชาย การทานยานี้จะเห็นผลชัดเจน เพราะจะกดฮอร์โมนเพศชายที่อัณฑะ แต่ข้อเสียคือหากทานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อาจเกิดภาวะเป็นหมันในอนาคต
ขณะเดียวกัน ตัวรับเอสโตรเจน (Estrogen receptor) ของแต่ละคนไม่เท่ากันและการตอบสนองของร่างกายต่อยาก็แตกต่างกัน บางคนทานยาฮอร์โมนเพศหญิงเพียงเม็ดเดียว ระดับฮอร์โมนก็ใกล้เคียงกับผู้หญิงปกติ ในขณะที่บางคนทาน 3 เม็ด ค่าฮอร์โมนกลับต่ำมาก ปริมาณของฮอร์โมนจึงขึ้นอยู่กับการความสามารถในการดูดซึมยาผ่านตับของแต่ละคนด้วย เพราะฉะนั้น การข้ามเพศของ non-binary ที่อาจคาดหวังการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเพียงบางอย่างจึงขึ้นอยู่กับความต้องการและร่างกายของแต่ละบุคคล สิ่งสำคัญคือต้องอาศัยการพูดคุยและปรึกษากับแพทย์ด้วย ตนจึงสามารถแนะนำยาที่เหมาะกับคนนั้นๆ ได้
“เรื่องนี้ละเอียดอ่อน แม้แต่ไกด์ไลน์การเทคฮอร์โมนฟรีสำหรับทรานส์โดย สปสช. ก็ยังต้องหารือกันหลายครั้งว่าจะจ่ายยาตัวไหน แบบไหน ปริมาณเท่าไร เนื่องจากส่งผลกระทบทุกอย่าง เพราะหากแพทย์เริ่มจ่ายยาฮอร์โมนให้เด็กแล้ว เขาต้องรับผิดชอบในการจ่ายยานั้นด้วย เพราะถือเป็นการรักษาที่เข้าสู่ระบบ สปสช. สมมุติเกิดผลข้างเคียงหรือเด็กอยากกลับไปเป็นแบบเดิม หมอก็ต้องเซฟตัวเองด้วย ต้องให้เซ็นยินยอมก่อนจ่ายยา การตัดสินใจเรื่องนี้จึงสำคัญมาก”
นอกจากนี้ การใช้ยาแบบไมโครโดสหมายความว่า ยาที่เหลือหลังจากใช้งานต้องถูกทิ้งไปโดยปริยาย เช่น non-binary ที่เปลี่ยนจากหญิงสู่ชาย (Female to Male) แต่บางบุคคลต้องการเพียง 50 มิลลิกรัม จากยาหนึ่งขวดที่มีทั้งหมด 250 มิลลิกรัม ในปริมาตร1 มิลลิลิตร สิ่งนี้ไม่ใช่เพียงเฉพาะการเพิ่มขยะทางการแพทย์ แต่หมายถึงค่าใช้จ่ายที่ non-binary ต้องแบกรับจนหลังแอ่น อย่างไรก็ตาม การสร้างยาปริมาณน้อยจัดว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ต้องอาศัยความแม่นยำสูง อาศัยการประเมินในเชิงชีวภาพและกายภาพ ซึ่งอาศัยต้นทุนที่สูงจึงอาจไม่คุ้มทุนในมุมมองของผู้ผลิตยา
การ์ฟิลด์อธิบายว่า ผู้ผลิตต้องพิจารณาการผลิตยาจากความต้องการของตลาด ในกรณียาฮอร์โมนแบบไมโครโดส นอกจาก non-binary แล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องการใช้ยาโดสต่ำกว่านี้อีกหรือไม่ เช่น ผู้หญิงที่มีภาวะมะเร็งเต้านมที่ต้องการฮอร์โมนแต่ใช้ปริมาณสูงไม่ได้ หรือผู้หญิงวัยทองที่มีภาวะมะเร็งที่อยากเสริมฮอร์โมนแต่ใช้ปริมาณสูงไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้มีความคุ้มค่าในการผลิตมากขึ้น เพราะกลุ่ม non-binary อาจจะยังไม่ได้มีจำนวนมากพอในเชิงการวิจัย ซึ่งส่วนใหญ่การวิจัยจะมาจากโซนอเมริกามากกว่า
“ในอนาคตการแพทย์ควรมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องนี้ แต่รวมถึงทุกโรค หากมีความต้องการเพิ่มขึ้นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ ยาไมโครโดสเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ ที่จะให้ปริมาณต่ำที่สุดเท่าที่ผู้รับฮอร์โมนต้องการรับ หรือไม่ให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สุดโต่ง หรืออย่างน้อยก็ค่อย ๆ ปรับจูนในแบบที่บุคคลนอนไบนารี่ต้องการและพึงพอใจกับร่างกายและจิตใจของตัวเอง” การ์ฟิลด์ทิ้งท้าย

หลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ได้เพียง 8 วัน Reuters รายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ลงนามคำสั่งจำกัดการดูแลเรื่องเพศของเยาวชอายุต่ำกว่า 19 ปี ยุติการให้งบสนับสนุนทางการแพทย์ที่ช่วยเหลือการผ่าตัดแปลงเพศเด็กและเยาวชน ซึ่งรวมถึงยารักษาด้วยฮอร์โมนและยาชะลอวัยเจริญพันธุ์ นับเป็นหนึ่งในคำสั่งที่มีเป้าหมายโจมตีกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หลังจากคำสั่งก่อนหน้าคือห้ามคนข้ามเพศเข้ารับราชการในกองทัพ
คำสั่งข้างต้นมีผลให้นโยบายของสหรัฐฯ ที่ส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมหรือ DEI ได้รับผลกระทบทั่วโลก เพราะมีหลายองค์กรที่ได้รับเงินสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบาย DEI หนึ่งในนั้นคือคลินิกฮอร์โมนแห่งหนึ่งกลางกรุงเทพฯ ที่เรียกเก็บค่าบริการตรวจฮอร์โมนเพิ่มขึ้นเนื่องจากคำสั่งทรัมป์
มกราคม 2568 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อนุมัติงบประมาณจำนวน 145.63 ล้านบาท เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยเน้นการสนับสนุนยาฮอร์โมนบำบัดสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ เพื่อดูแลกลุ่มเป้าหมายจำนวนกว่า 200,000 รายทั่วประเทศ ให้ได้รับบริการทางสุขภาพและจิตใจอย่างปลอดภัย
แม้งบประมาณดังกล่าวจะครอบคลุมทั้งระดับนโยบาย กฎหมาย การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ การสร้างความตระหนักรู้ ฯลฯ แต่คู่มือยาฮอร์โมนบำบัดยังไม่ได้กล่าวถึงคนข้ามเพศกลุ่ม non-binary มากไปกว่านั้น ข้อมูลจาก The101.world ระบุว่า งบประมาณข้างต้นอาจทำให้คนข้ามเพศได้รับการสนับสนุนเฉลี่ยเพียงคนละ 725 บาท ซึ่งเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง การเทคฮอร์โมนต้องทำต่อเนื่องทุกเดือนและต้องตรวจระดับฮอร์โมนในร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกๆ 3 เดือน-1 ปี ซึ่งค่าใช้จ่ายเริ่มต้น 500-1,000บาทต่อครั้ง ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายระยะยาว
ปัจจุบัน ฮอร์โมนฟรีเป็นสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมเฉพาะผู้ใช้สิทธิบัตรทอง คนที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพอื่น เช่น ประกันสังคมหรือสิทธิข้าราชการ จึงยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์นี้ได้ และนโยบายนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังความเห็นจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง